Home

เที่ยวรอบเกาะ

สูตรลับสีดำที่ช่วยดับกระหายและแก้ร้อนใน

สูตรลับสีดำที่ช่วยดับกระหายและแก้ร้อนใน

หญ้าแห่งเซียนกับเรื่องราวของเฉาก๊วย

เนื้อเรื่อง‧เติ้งหุ้ยฉุน ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧ ธีระ หยาง

เมษายน 2025

นี่ไม่ใช่การท้าทายความกล้า และไม่ใช่อาหารลึกลับ แต่เครื่องดื่มสีดำทึบแก้วนี้คือ “เฉาก๊วย” ของแท้จากไต้หวัน ซึ่งในฤดูร้อนนิยมดื่มกันในแบบเย็น โดยเฉาก๊วยที่แช่เย็นจะมีความนุ่มหนึบหนับลื่นในปาก ส่วนในฤดูหนาวนิยมรับประทานแบบร้อน โรยด้วยถั่วลิสงแห้ง จะช่วยเพิ่มรสชาติให้กลมกล่อมยิ่งขึ้น

หากต้องการสัมผัสรสชาติของไต้หวัน ก็ไม่ควรพลาด “น้ำจับเลี้ยง” ที่เหมาะกับการดับร้อนในฤดูร้อน น้ำจับเลี้ยงถือเป็นเครื่องดื่มพื้นบ้านของไต้หวัน สูตรในการปรุงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ แต่ส่วนผสมสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “เฉาก๊วย” ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่ต้องมีในน้ำจับเลี้ยงของทุกร้าน

ในอดีต การคมนาคมในไต้หวันยังไม่สะดวก การเดินทางของผู้คนระหว่างเหนือและใต้ต้องอาศัยการเดินเท้า ชาวบ้านบางคนจึงตั้งจุดพักริมทางเพื่อ “บริการน้ำชา” ให้กับนักเดินทางที่เหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียจากความร้อน จนมีเรื่องเล่าโดยทั่วไปว่า น้ำจับเลี้ยงอันทรงคุณค่าที่ช่วยบรรเทาความร้อนนี้ ถือเป็นของขวัญจากเซียน จึงเรียกสมุนไพรที่ช่วยลดความร้อนนี้ว่า “เซียนเฉ่า (仙草)” ซึ่งมีความหมายว่า “หญ้าแห่งเซียน” แต่ในภาษาไทยมีชื่อเรียกอีกอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีว่า “เฉาก๊วย” และนี่คือที่มาของชื่อเฉาก๊วยในตำนานนี้

 

 พัฒนาสายพันธุ์ใหม่

น้ำเฉาก๊วยมีสีดำสนิทเป็นเอกลักษณ์ ทำไมถึงมีลักษณะสีดำเช่นนี้? เย่หย่งหมิง (葉永銘) ผู้ช่วยนักวิจัยจากสถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรสาขาซินผู่ สังกัดศูนย์พัฒนาการเกษตรเขตเถาหยวน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเซียนเฉ่าหรือเฉาก๊วย อธิบายว่า ในต้นเฉาก๊วยมีสารเจลชนิดหนึ่งอยู่ภายในเซลล์ของพืช เมื่อนำต้นเฉาก๊วยมาต้ม ผนังเซลล์ของพืชจะถูกทำลาย และสารเจลดังกล่าวจะถูกสกัดออกมา ส่งผลให้เฉาก๊วยมีสีดำเข้มอย่างที่เราเห็นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ต้นเฉาก๊วยเองไม่ได้มีสีดำ เย่หย่งหมิงได้พาเราไปชมต้นเฉาก๊วยที่ปลูกอยู่ในแปลง พร้อมอธิบายว่า ต้นเฉาก๊วยมักเจริญเติบโตในลักษณะแผ่เลื้อยไปตามพื้นหรือกึ่งตั้งตรง รูปลักษณ์ของต้นเฉาก๊วยอาจทำให้สับสนกับต้นสะระแหน่ได้ง่าย แต่สะระแหน่จะมีกลิ่นหอม ในขณะที่เฉาก๊วยมีผิวหยาบและรู้สึกสากมือ เมื่อลองสัมผัส

ในอดีต มักจะพบต้นเฉาก๊วยได้ทั่วไปตามริมทุ่งนา แปลงผัก หรือสวนผลไม้ของชาวบ้าน ตามบันทึกโบราณระบุว่า เฉาก๊วยเป็นพืชที่มีสรรพคุณช่วยดับร้อน ดับกระหาย และใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นอาหารและยา ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงมักเก็บเกี่ยวเฉาก๊วยแล้วนำไปตากแห้งไว้ในบ้าน เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว เมื่อจำเป็นก็จะนำมาต้มเป็นน้ำเฉาก๊วยช่วยดับกระหาย ในช่วงที่ต้องทำงานหนักกลางทุ่งนา ซึ่งต้องการน้ำเพื่อเติมความสดชื่นและป้องกันอาการร้อนใน เฉาก๊วยจึงถือเป็นตัวเลือกที่ขาดไม่ได้

เริ่มมีการเพาะปลูกเฉาก๊วยอย่างจริงจังในไต้หวัน ตั้งแต่ช่วงปี 1960 เป็นต้นมา โดยพื้นที่เพาะปลูกหลักจะอยู่ในแถบกวนซีของเมืองซินจู๋ ถงหลัวในเมืองเหมียวลี่ และสุ่ยซ่างในเมืองเจียอี้ ซึ่งเย่หย่งหมิง อธิบายว่า เฉาก๊วยที่ชาวไร่ผลิตส่วนใหญ่จะถูกซื้อโดยสหกรณ์เกษตร โดยเกณฑ์การรับซื้อของสหกรณ์จะพิจารณาจากน้ำหนักของเฉาก๊วยที่แห้งสนิท ดังนั้น ชาวไร่จึงมุ่งหวังปลูกเฉาก๊วยพันธุ์ที่มีความหนาแน่นและเจริญเติบโตได้ดีเพื่อให้ได้ราคาที่ดี ศูนย์พัฒนาการเกษตรฯ จึงพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร

เย่หย่งหมิงยังอธิบายว่า เฉาก๊วยสายพันธุ์ “เถาหยวนหมายเลข 1” มีประวัติยาวนานกว่า 20 ปี มีลักษณะเด่นคือ ใบเป็นทรงรี ก้านสีแดง และมีเอกลักษณ์พิเศษ คือ เจลของมันสามารถจับตัวเป็นก้อนได้ดี จากนั้นเขาชี้ไปยังสายพันธุ์เถาหยวนหมายเลข 2 ซึ่งได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2014 เรียกว่าเซียงหัว (香華) ตามชื่อที่บ่งบอกถึงความโดดเด่นด้านกลิ่นหอม เหมาะสำหรับการผลิตน้ำเฉาก๊วย ส่วนพันธุ์เถาหยวนหมายเลข 3 หรือที่เรียกว่า “เซียนฟง” เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาจากการผสมข้ามพันธุ์ ระหว่างเถาหยวนหมายเลข 1 และเถาหยวนหมายเลข 2 ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งการจับตัวเป็นก้อนของเจล กลิ่นหอม และให้ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับการนำไปทำทั้งน้ำเฉาก๊วยและเฉาก๊วยแบบเยลลี่ ซึ่งนิยมรับประทานกันในประเทศไทย

 

เฉาก๊วยสดที่เก็บเกี่ยวใหม่จะต้องผ่านกระบวนการตากลมและปล่อยให้พักตัว เพื่อลดกลิ่นเหม็นเขียว ทำให้เฉาก๊วยบ่มตัวตามธรรมชาติ เมื่อนำมาต้มจะได้เฉาก๊วยที่มีกลิ่นหอมมากขึ้น

ชาชิวสุ่ยสำหรับดับร้อนและแก้กระหายเป็นเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้ในครอบครัวของเหล่าเกษตรกรในอดีต และยังเป็นเครื่องดื่มที่พบได้บ่อยตามจุดบริการน้ำชาริมทาง

พลังแห่งลมเดือน 9 เครื่องอบแห้งตามธรรมชาติ

เฉาก๊วยเป็นพืชในวงศ์ Lamiaceae สกุลเฉาก๊วย (Mesona) มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น จีน ไต้หวัน และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย โดยมักพบในพื้นที่ภูเขาที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลค่อนข้างต่ำ ในแต่ละภูมิภาคจะมีชื่อเรียกเฉาก๊วยที่แตกต่างกันออกไป ในภาษากวางตุ้งเรียกว่า “หญ้าเหลียงฟุ่น” ในแถบแต้จิ๋วเรียกว่า หญ้าเฉาก๊วย (草粿草) ชาวเผ่าไท่หย่าของไต้หวันเรียกว่า Supurekku ส่วนชาวเผ่าไผวันเรียกว่า Ryarikan ส่วนในประเทศไทย เฉาก๊วยเป็นที่รู้จักในชื่อ “เฉาก๊วย” (Chokai)

เมื่อกล่าวถึงเฉาก๊วย ก็ต้องพูดถึงบ้านเกิดของเฉาก๊วยอย่าง กวนซี เมืองซินจู๋ เฉินจิ้นสี่ (陳進喜) ผู้อำนวยการสหกรณ์เกษตรกวนซี เล่าว่า ปัจจุบันในกวนซีมีพื้นที่ปลูกเฉาก๊วยประมาณ 50 เฮกตาร์ (เท่ากับประมาณ 312 ไร่ 2 งาน) คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 70% ของผลผลิตทั้งประเทศ และยังได้สร้างแบรนด์เฉพาะของตัวเองจนเป็นที่รู้จักไปทั่วอีกด้วย

การปลูกเฉาก๊วยจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนของทุกปี และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมของปีเดียวกัน “ช่วงเก็บเกี่ยวเฉาก๊วย จะตรงกับช่วงที่มีลมเดือนเก้าอันมีชื่อเสียงในซินจู๋ ซึ่งถือเป็นเครื่องอบแห้งตามธรรมชาติ” เฉินจิ้นสี่กล่าว ก่อนการเก็บเกี่ยว เกษตรกรที่มีสัญญากับสหกรณ์ จะต้องตรวจสอบสารเคมีตกค้างหลายรอบ เพื่อให้มั่นใจว่าเฉาก๊วยไม่มีสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง จากนั้นจะตัดเฉาก๊วยที่ราก แล้วพลิกต้นขึ้นมาวางไว้บนแปลงนา แล้วปล่อยให้ลมเดือนเก้าพัดตากลมพอให้แห้งประมาณ 3-4 วัน เมื่อแห้งประมาณ 70-80% จึงนำเข้ามาในอาคาร เพื่ออบแห้งต่อจนแห้งสมบูรณ์

ทำไมต้องใช้ต้นเฉาก๊วยที่ตากให้แห้ง? เฉินจิ้นสี่ อธิบายว่า “เฉาก๊วยที่เก็บเกี่ยวและทำให้แห้งทันทีจะมีกลิ่นเหม็นเขียวของหญ้า จึงต้องตากลมเอาไว้สักพัก เพื่อปล่อยให้มันระบายกลิ่นออกไป และทำให้มันสุกงอมตามธรรมชาติ โดยจะดูดซับความชื้นจากอากาศ คล้ายกับการเก็บชาเก่า ด้วยการระบายอากาศตามธรรมชาติ เมื่อทิ้งไว้ประมาณสองปี ก็จะสุกมากขึ้น กลิ่นเหม็นเขียวจะหายไป และน้ำเฉาก๊วยที่ต้มออกมาจะหอมมากขึ้น”

 

เย่หย่งหมิงอธิบายว่า เซียนเฟิง หรือเถาหยวนหมายเลข 3 เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์พัฒนาการเกษตรฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร โดยมีคุณสมบัติเด่น คือ มีความสามารถในการสร้างเจลสูง มีกลิ่นหอม และให้ผลผลิตในปริมาณมาก

โรงงานแปรรูปเฉาก๊วยในกวนซีใช้กระบวนการสกัดน้ำเฉาก๊วยเข้มข้นด้วยไอน้ำแรงดันสูง

ชาชิวสุ่ยแห่งตระกูลหลัว ชาที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคม

เฉาก๊วยสามารถนำมาต้มเดี่ยว ๆ เพื่อทำเป็นน้ำเฉาก๊วยได้ แต่ในย่านเมืองเก่าของนครไทจง มีเครื่องดื่มสมุนไพรที่ถือเป็นตำนานมายาวนานกว่า 60 ปี นั่นคือ ชาชิวสุ่ยแห่งตระกูลหลัว (羅氏秋水茶) ซึ่งเป็นน้ำจับเลี้ยงสูตรผสมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน

หลัวม่งจื่อ (羅孟芷) ทายาทรุ่นที่สามของตระกูลหลัว เล่าถึงภูมิลำเนาของครอบครัวที่มีถิ่นกำเนิดมาจากฮกเกี้ยน และมีอาชีพเป็นแพทย์แผนโบราณสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แต่จู่ ๆ ก็เกิดการระบาดของโรคติดต่อ บรรพบุรุษของตระกูลคือ หลัวชิวสุ่ย ได้คิดค้นสูตรยาน้ำเพื่อแบ่งปันให้ชาวบ้านในละแวกนั้น ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาการระบาดของโรค จึงได้เกิดชื่อ “ชาชิวสุ่ย” ขึ้นมา

หลัวฮั่นผิง คุณปู่ของหลัวม่งจื่อ ได้อพยพมายังไต้หวันพร้อมกับรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ก่อนจะมาตั้งถิ่นฐานในไทจง ท่านได้นำสูตรยาสมุนไพรของครอบครัวมาปรับให้เข้ากับสภาพอากาศของไต้หวัน โดยทำให้เหมาะสมกับทุกสภาพร่างกาย พร้อมทั้งเพิ่มชาอูหลงที่ปลูกบนเขาสูงของไต้หวันเข้าไปในสูตร “ชาวฮั่นมีความเชื่อเรื่องการบำรุงร่างกายด้วยอาหาร และในเปิ๋นเฉ่ากังมู่ (ตำราสมุนไพรจีน) ชายังถือว่าเป็นสมุนไพรที่ดีในการช่วยลดอาการร้อนในได้อีกด้วย” หลัวม่งจื่ออธิบาย

“ในขณะนั้น เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว มีแรงงานจำนวนมากต้องทำงานกลางแจ้ง คุณปู่คิดว่าชาชนิดนี้เหมาะที่สุดสำหรับผู้ใช้แรงงานที่ต้องทำงานท่ามกลางแสงแดดจัด เพื่อช่วยดับร้อนและเติมความสดชื่น แต่เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นชนชั้นแรงงาน ราคาจึงต้องไม่สูงมากนัก ดังนั้นจึงเลือกใช้กลยุทธ์ขายในราคาถูก โดยเน้นการขายในปริมาณมาก”

ในช่วงแรก ชาชิวสุ่ยแห่งตระกูลหลัวฯ วางจำหน่ายผ่านร้านขายหมากริมถนน ผู้คนมักมารวมตัวกันที่ร้านหมากเพื่อพูดคุยและดื่มอะไรเย็น ๆ คลายร้อน หลัวม่งจื่อเล่าว่า คุณปู่หลัวฯ ที่เป็นผู้มองการณ์ไกลได้คิดค้นกลยุทธ์ที่ล้ำสมัยในยุคนั้น โดยสั่งผลิตตู้เย็นจำนวนหนึ่งและเจรจาตกลงกับร้านขายหมากเหล่านั้นว่า “ขอเพียงขายชาชิวสุ่ยในร้าน ก็จะให้ยืมตู้เย็นเพื่อแช่เครื่องดื่มอื่น ๆ ได้ด้วย” ด้วยวิธีนี้ คุณปู่สามารถขยายช่องทางการขายชาชิวสุ่ยไปยังร้านขายหมากกว่า 500 แห่งในไทจง แสดงให้เห็นถึงความเฉียบแหลมในด้านการตลาดของคุณปู่หลัวฯ

นี่คือชาที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ในช่วงแรกเริ่ม ชาชิวสุ่ยมีรูปแบบเป็นชาอัดก้อน ให้ลูกค้าซื้อกลับไปชงเองที่บ้าน ต่อมาเมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเริ่มมองหาความสะดวกสบายและต้องการดื่มเครื่องดื่มสำเร็จรูป ชาชิวสุ่ยจึงเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์แบบขวดแก้ว แต่การใช้ขวดแก้วมักจะมีปัญหาในการขนส่ง เพราะแตกง่ายและมีข้อกังวลด้านสุขอนามัย ในช่วงกว่า 30 ปีก่อน จึงเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์แบบถุงอะลูมิเนียมฟอยล์แทน แต่ถุงอะลูมิเนียมฟอยล์สามารถเก็บรักษาได้เพียง 5 วันเท่านั้น ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบกระป๋องเปิดง่าย (Easy-open can) ที่สามารถเก็บรักษาได้นานถึง 2 ปี บรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกับกระบวนการที่ไม่เหมือนกัน ทำให้รสชาติเปลี่ยนไปเล็กน้อย

การใช้กระป๋องเหล็กเคลือบดีบุกแบบเปิดง่าย (Easy-open can) ต้องผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูง ซึ่งทำให้น้ำตาลทรายในชาชิวสุ่ยถูกความร้อนจนไหม้ ส่งผลให้รสชาติเปลี่ยนแปลงไป เพื่อแก้ปัญหานี้ ทางร้านจึงเปลี่ยนไปใช้น้ำตาลกรวดที่มีจุดหลอมเหลวสูงกว่าน้ำตาลทรายแทน

ส่วนผสมของชาชิวสุ่ยนั้นเรียบง่าย ประกอบด้วย มะระขี้นก, เฉาก๊วย, ฮอว์ธอร์น, เปลือกส้มแห้ง, ใบสะระแหน่ ที่ล้วนมีสรรพคุณช่วยดับร้อนและแก้ร้อนใน และเพิ่มชาอูหลงที่ปลูกในไต้หวันเข้าไปเพื่อเพิ่มรสชาติ แต่ความยุ่งยากอยู่ที่กระบวนการผลิต หลัวม่งจื่ออธิบายว่า หลังจากได้วัตถุดิบมาแล้ว ต้องแบ่งออกมาล้างทีละส่วน จากนั้นนำไปตากแดดในช่วงฤดูร้อน “ไม่เหมาะที่จะอบในเตาอบหรือใช้รังสีอินฟราเรด หรือแม้แต่การคั่วในเตาไฟฟ้า ต้องใช้วิธีตากแดดเท่านั้น หากไม่ตากแดด รสชาติจะเพี้ยนไป”

ดังนั้นวัตถุดิบทั้งหมดต้องเตรียมไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ฤดูร้อนของปีก่อน หลังจากฟังเรื่องราวเบื้องหลังจากหลัวม่งจื่อแล้ว เราจึงเข้าใจว่าการจะรักษารสชาติดั้งเดิมที่ต้นตระกูลได้คิดค้นเอาไว้ ต้องอาศัยความพยายามและความมุ่งมั่นมากเพียงใด

 

เฉาก๊วยยังสามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้ เช่น ซุปไก่เฉาก๊วย ทั้งนี้ ในภาพคือ หมี่เย็นเฉาก๊วย

ชาชิวสุ่ยของตระกูลหลัวคือตำนานแห่งเขตเมืองเก่าของไทจงที่สืบทอดกันมานานกว่า 60 ปี วางจำหน่ายในรูปแบบบรรจุภัณฑ์หลากหลาย เช่น ชาแบบซอง, แบบถุงฟอยล์ และ กระป๋องแบบเปิดง่าย

หลัวม่งจื่อโชว์ตู้เย็นที่คุณปู่ของเธอทำขึ้นในสมัยนั้น เพื่อให้ร้านขายหมากยืมไปใช้งาน ตอกย้ำถึงความเฉลียวฉลาดทางธุรกิจของคุณปู่ ที่ใช้วิธีนี้ในการกระจายสินค้าไปยังร้านขายหมากได้มากกว่า 500 แห่งทั่วเมืองไทจง

ชาวไต้หวันชื่นชอบเฉาก๊วยเป็นอย่างมาก จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น น้ำเฉาก๊วยชนิดผงชงได้ทันที, ชาเฉาก๊วย, เฉาก๊วยแบบเยลลี่ และเฉาก๊วยต้มชนิดผงสำเร็จรูป

ดอกเฉาก๊วยบานสะพรั่ง

ตามโครงการ “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” ที่รัฐบาลไต้หวันได้เริ่มส่งเสริมในปี 1989 กวนซีได้เปลี่ยนเฉาก๊วยจากผลผลิตในท้องถิ่น ให้กลายเป็นสินค้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียง พร้อมกับพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์เฉาก๊วยหลายประเภท เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ให้มีความหลากหลายมากขึ้น

ท่ามกลางเสียงเครื่องจักรที่กำลังทำงานหนัก เฉินจิ้นซีพาเราเข้าไปในโรงงานแปรรูปเฉาก๊วย ในยุคก่อน การต้มเฉาก๊วยเป็นกระบวนการที่ต้องทำด้วยมือทั้งหมด ใช้เวลานานและใช้แรงงานมาก แต่ปัจจุบัน ขั้นตอนเหล่านี้ได้กลายเป็นแบบกึ่งอัตโนมัติไปแล้ว โดยใช้ไอน้ำเพื่อสกัดด้วยความดันสูง น้ำเฉาก๊วยที่ได้จากกระบวนการสกัดทั้งหมดจะถูกส่งผ่านท่อไปยังถังเก็บ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการระเหยเพื่อลดปริมาณน้ำ กลายเป็นน้ำเข้มข้นในรูปแบบกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งจะถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตในขั้นตอนต่อไป

ปัจจุบัน สหกรณ์เกษตรกวนซีได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากเฉาก๊วยออกมามากกว่า 20 ชนิด โดยหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมคือเฉาก๊วยชนิดผงที่สามารถชงได้ทันที ซึ่งในช่วงแรก ๆ ได้ประสานความร่วมมือกับศูนย์พัฒนาการเกษตรเถาหยวน และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองการท่องเที่ยวในเขตตัวเมือง สหกรณ์ฯ ได้จัดงานเทศกาลดอกเฉาก๊วยในแหล่งปลูกเฉาก๊วยต่าง ๆ เช่น ที่เขตหยางเหมย ในนครเถาหยวนและ ต.สุ่ยช่าง เมืองเจียอี้ ซึ่งทุ่งดอกไม้สีชมพูม่วงที่สวยงาม กลายเป็นสถานที่ยอดนิยมในการไปถ่ายรูป ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างไปเยี่ยมชมและถ่ายภาพกันอย่างคึกคัก

หลัวหย่งหมิงหัวเราะและกล่าวว่า “เมื่อก่อนถ้าเห็นเฉาก๊วยออกดอก เกษตรกรรุ่นเก่ามักจะบ่นว่า เป็นอะไรที่สิ้นเปลืองเกินเหตุ แทนที่จะปล่อยให้มันออกดอก ทำไมไม่ขายเฉาก๊วยไปซะ?” เพราะหลังจากที่ต้นเฉาก๊วยออกดอก สารอาหารในลำต้นจะถูกส่งไปที่เมล็ด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรสชาติของเฉาก๊วย เมื่อเฉาก๊วยออกดอก ก็จะมีความโรแมนติกแอบแฝงอยู่ ดอกเล็ก ๆ สีชมพูม่วง มีรูปร่างคล้ายดอกลาเวนเดอร์ ทำให้ที่นี่กลายเป็นทุ่งดอกไม้ที่นักท่องเที่ยวมักจะนำไปเปรียบเทียบกับแถบโปรวองซ์ของฝรั่งเศส ความแตกต่างของเครื่องดื่มสีดำกับดอกไม้สีม่วงชมพู ก็อาจจะเป็นเสน่ห์อีกรูปแบบหนึ่งของเฉาก๊วยก็เป็นได้

สหกรณ์เกษตรกวนซีได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเฉาก๊วยขึ้นหลากหลายรูปแบบ

ดอกเฉาก๊วยที่บานเต็มที่จะมีสีชมพูม่วงอ่อนสุดโรแมนติก และกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการถ่ายภาพเช็กอินบนโซเชียลมีเดีย (ถ่ายภาพโดย หลินเก๋อลี่)

บทความเพิ่มเติม

บทความยอดนิยม