คนเล่าเรื่องประจำเกาะ
ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับต้นไม้
เนื้อเรื่อง‧เติ้งฮุ่ยฉุน ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧ ธีระ หยาง
กุมภาพันธ์ 2024
ต้นมะม่วงติดตามคนฮอลแลนด์มาลงหลักปักฐานในไต้หวันมานานแล้ว จนกลายเป็นทิวทัศน์ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามชนบทของไต้หวัน
「各位先生、女士,本航班即將降落桃園國際機場,目前地面溫度是舒爽的攝氏24度,正好是春暖花開的春季,台灣各城市的行道樹部分正在換新裝,以不同的色彩妝點城市的路徑,觀光之餘,建議可留意他們的春夏新款。我們準備去一探台灣樹的故事,希望這趟台灣樹之旅,能豐富您對台灣樹木的視野,更認識台灣的多姿多采。」
“ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทุกท่าน เที่ยวบินของเรากำลังจะลงจอดที่สนามบินนานาชาติเถาหยวน ขณะนี้อุณหภูมิภาคพื้นดินมีความเย็นสบายอยู่ที่ระดับ 24 องศาเซลเซียส ถือเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิที่มวลหมู่บุปผชาติกำลังเบ่งบาน ต้นไม้บางส่วนตามท้องถนนทั่วไต้หวันกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนโฉม เพื่อแต่งแต้มสีสันให้กับถนนหนทางต่าง ๆ ทั่วเมือง ท่านสามารถใช้เวลานอกเหนือจากการท่องเที่ยว ลองสังเกตรูปโฉมในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนของต้นไม้เหล่านี้ เราจะมาร่วมสำรวจเรื่องราวเกี่ยวกับต้นไม้ในไต้หวันกัน หวังว่าทริปการเที่ยวชมต้นไม้ในไต้หวันของท่านในครั้งนี้ จะสามารถทำให้ท่านมีมุมมองใหม่เกี่ยวกับต้นไม้ในไต้หวัน และช่วยให้ท่านมีความเข้าใจถึงความหลากหลายของไต้หวันได้มากยิ่งขึ้น”
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1624 ซึ่งชาวฮอลแลนด์ได้ก้าวขึ้นบนแผ่นดินของต้าหยวน (ปัจจุบันคือ นครไถหนาน) ภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าของพวกเขาคือทิวเขาที่เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจีสุดลูกหูลูกตา ปัจจุบัน ตั้งแต่สนามบินไปจนถึงตัวเมืองไทเป หรือขณะเดินเล่นอยู่ในไทเป คุณสังเกตเห็นไหมว่า จะมีอุโมงค์สีเขียวขนาบข้างอยู่ตลอดทาง ถนนจงซานเป่ยลู่ คือถนนแห่งต้นเมเปิลที่มีชื่อเสียง ถนนอ้ายกั๋วซีลู่ที่อยู่ใกล้กับอนุสรณ์สถานเจียงไคเชก ก็มีต้นประดู่ส้มไต้หวันปลูกอยู่ตามท้องถนนเต็มไปหมด ที่ถนนเหรินอ้ายลู่ก็มีต้นการบูรปลูกอยู่มากมาย ทำให้ทิวทัศน์ของที่นี่มีความแตกต่างกันไปในทั้ง 4 ฤดู เมื่อเราไปรับประทานอาหารไต้หวันแสนอร่อยที่ศาลเจ้าฉือเซิ่งกงในแถบต้าเต้าเฉิง ร่มเงาที่ลานกว้างหน้าศาลเจ้าก็เกิดจากต้นไทรช่วยบังแสงแดดเอาไว้ ตลอดทางที่ผ่านมานี้ คุณอาจไม่รู้สึกเลยว่า ได้พบกับต้นไม้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น 4 จตุรเทพแห่งไต้หวัน คือ ต้นไทร ต้นการบูร ต้นประดู่ส้ม และต้นเมเปิล ในสถานที่ทั้ง 4 แห่งนี้ไปแล้ว
ทิวทัศน์ทั้ง 4 ฤดู
ต้นไม้ที่ปลูกตามท้องถนนทำให้บรรยากาศของเมืองเปี่ยมด้วยสีเขียวสดใสดูแล้วสบายตา แถมยังมีส่วนช่วยปรับอุณหภูมิ ช่วยฟอกอากาศ ช่วยดูดเสียงรบกวน อนุรักษ์แหล่งน้ำ และที่เด่นชัดที่สุดคือ ช่วยแต่งแต้มภูมิทัศน์ของตัวเมืองให้ดูสดใสมีชีวิตชีวา
ผศ. ดร. หยางจื้อข่าย (楊智凱) แห่งคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์พื้นบ้านบอกกับเราว่า ต้นไม้ไม่เพียงแต่จะเป็นอาหารตาที่มีความสวยงาม หากแต่ชนพื้นเมืองในไต้หวันได้ใช้ต้นไม้มาเป็นเครื่องบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล โดย ดร. หยางจื้อข่ายได้ยกเอาข้อความที่ปรากฏอยู่ใน “ฟานเซ่อช่ายฟงถู” (番社采風圖-หนังสือโบราณตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับชนพื้นเมืองของไต้หวัน) ว่า “ชนพื้นเมืองไม่รู้จักการแบ่งฤดูกาล แต่จะนับช่วงเวลา 1 ปีจากการออกดอกของต้นปาริชาติ” ถือเป็นหลักฐานที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่า ชนพื้นเมืองของไต้หวันใช้ลักษณะเด่นของต้นไม้มาเป็นตัวแทนเพื่ออ้างอิงการนับช่วงเวลา
เมื่อใดก็ตามที่ดอกปาริชาตสีแดงสดเบ่งบาน ก็จะถือว่าเป็นการมาถึงของปีใหม่ เมื่อชนเผ่าอามิส (Amis) และพินูยูมายัน (Pinuyumayan) เห็นผลมะริดสีน้ำตาลก็จะรู้ได้ทันทีว่า ฤดูร้อนมาถึงแล้ว ส่วนตัวแทนของฤดูใบไม้ร่วง คือ Taiwan Golden Rain Tree ซึ่งใน 4 ฤดู จะมีสีที่เปลี่ยนแปลงจากที่มีเฉพาะใบสีเขียว ก็จะมีดอกสีเหลืองก่อนจะให้ผลเป็นสีชมพู ที่จะแห้งกรอบกลายเป็นสีน้ำตาลแก่แล้วร่วงหล่นลงพื้น สีสันที่สวยสะดุดตาทำให้มันถูกเรียกว่าเป็น “ต้นไม้ 4 สี”
เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่สีสันเปลี่ยนแปลงไปในทั้ง 4 ฤดู ทำให้ต้น Taiwan Golden Rain Tree ถูกบันทึกชื่อเป็นหนึ่งใน “ต้นไม้และดอกไม้เขตร้อนที่มีชื่อเสียงทั่วโลก” ซึ่งในตัวเมืองไทเป เช่น บริเวณถนนตุนฮั่ว และถนนจงเฉิง จะเห็นภาพของ Taiwan Golden Rain Tree ที่ถูกปลูกไว้เรียงรายเป็นแนวยาว
ตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นภาพของทิวทัศน์จากต้นไม้ที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองของไต้หวัน แต่ในช่วงที่ไต้หวันถูกปกครองโดยชาวฮอลแลนด์ (ค.ศ. 1624–1661) ชาวฮอลแลนด์ได้นำต้นงิ้ว ต้นลีลาวดี ต้นชัยพฤกษ์เข้ามาปลูกในไต้หวันด้วย ส่วนช่วงที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน (ค.ศ. 1895–1945) ก็มีการนำต้นหางนกยูงฝรั่ง และต้นปาล์มขวดเข้ามาปลูกเช่นกัน ต้นไม้ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเข้ามาปลูกในไต้หวันเหล่านี้ ได้เชื่อมโยงไต้หวันกับโลกภายนอกเข้าไว้ด้วยกัน และทำให้พันธุ์ไม้บนเกาะแห่งนี้มีความหลากหลายมากขึ้น
ต้นงิ้ว
ต้นเหลืองเชียงราย (Handroanthus chrysotrichus)
ต้นเลี่ยน (Melia azedarach)
ข้ามน้ำข้ามทะเลมาพบกัน
ในปัจจุบัน การรับประทานมะม่วง ฝรั่ง หรือชมพู่ อาจถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน “แต่ที่จริงแล้ว ผลไม้ที่หวานฉ่ำแสนอร่อยเหล่านี้ ถูกนำเข้ามาบนเกาะแห่งนี้โดยบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย จนทำให้ไต้หวันกลายเป็นอาณาจักรแห่งผลไม้เช่นในปัจจุบัน” ดร. หยางจื้อข่ายกล่าว เขาชี้ว่า ในปี ค.ศ. 1624 บริษัทดัตช์อีสต์อินเดียได้ใช้ไต้หวันเป็นฐานที่มั่นสำคัญ จากหลักฐานทางวิชาการชี้ว่า Martinus Sonck ผู้บริหารคนแรกของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียในไต้หวันขณะนั้น ได้เขียนจดหมายถึงสำนักงานใหญ่ที่อยู่ในบาตาเวีย (ปัจจุบันคือ จาการ์ตาของอินโดนีเซีย) โดยเนื้อความตอนหนึ่งระบุว่า “….ขอให้ส่งต้นอ่อนขององุ่น มะม่วง ลิ้นจี่ และทุเรียนมาด้วย” จากนั้น ต้นของผลไม้เหล่านี้จึงถูกนำเข้ามาบนเกาะแห่งนี้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของทิวทัศน์ที่พบเห็นได้ทั่วไปตามชนบท มีหลักฐานด้วยว่า ในสมัยแรก ๆ บริเวณฟานจ่ายตู้โถว (番仔渡頭) ในแถบกวนเถียน จะเห็นต้นมะม่วงที่คนฮอลแลนด์ปลูกเอาไว้ขึ้นเป็นทิวแถว ถือได้ว่าเป็นต้นไม้ริมถนนยุคแรกของไต้หวันเลยทีเดียว
“ผลไม้ที่คนฮอลแลนด์นำเข้ามาปลูก มีการคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยในทางยุทธศาสตร์ด้วย ถ้าไม่ใช่เพื่อใช้เป็นอาหาร ก็จะถูกนำไปใช้ทางการทหาร หรือใช้สำหรับการช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และใช้เป็นยารักษาโรค” ดร. หยางจื้อข่ายที่มองเหล่าต้นหมากรากไม้เป็นเสมือนสมบัติล้ำค่าประจำบ้านยกตัวอย่างว่า ผลฝรั่งสามารถนำมารับประทานได้ ใบของมันสามารถบรรเทาอาการท้องเสียและลดความดันโลหิต แม้แต่กิ่งก็สามารถนำมาใช้ทำยาได้
ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ต้นชัยพฤกษ์ที่มีอยู่ทั่วไต้หวันจะออกดอกเป็นรวงสีเหลืองทอง ดร. หยางจื้อข่ายกล่าวเสริมว่า “การที่บริษัทดัตช์อีสต์อินเดียนำต้นชัยพฤกษ์มาปลูกในไต้หวัน เพื่อประโยชน์ทางการทหาร” โดยในตอนนั้น มีความต้องการไม้จำนวนมากเพื่อใช้ในการทำฐานปืนใหญ่ ต้นชัยพฤกษ์เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เนื้อไม้มีน้ำหนักมาก จึงสามารถถ่วงน้ำหนักได้ดีและมีความเสถียรเป็นอย่างมาก “ต้นชัยพฤกษ์ที่เราเห็นว่ามีปลูกอยู่มากมายตามท้องถนนในไต้หวัน แท้จริงแล้ว มันกลับบอกเล่าเรื่องราวของคนฮอลแลนด์มากกว่า”
ในสมัยเจิงเฉิงกงในยุคสมัยของราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1661–1683) ก็ได้มีการนำต้นไม้จากแถบตอนใต้ของจีนเข้ามาปลูก เช่น พีช พลัม ต้นบ๊วย พอถึงสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1683-1895) ก็เป็นผลไม้ที่เราคุ้นเคย เช่น ลำไย ลิ้นจี่ รวมไปจนถึงไผ่โมโซ
ในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ได้มีการนำต้นไม้เข้ามา ทดลองปลูกในไต้หวันเป็นจำนวนมาก เช่น มะพร้าว พญาสัตบรรณ แปะก๊วย เสม็ดขาว รวมถึงมะฮอกกานีใบใหญ่และต้นสัก ทั้งหมดนี้ได้เขียนบริบทใหม่ในเรื่องราวของต้นไม้กับชาวไต้หวัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ ดร. หยางจื้อข่ายจะพูดว่า “ต้นไม้คือคนเล่าเรื่องประจำเกาะ”
ต้นมะฮอกกานีใบใหญ่
ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์
Taiwan Golden Rain Tree (ภาพโดยเฉินเหม่ยหลิง)
ความผูกพันของคนกับต้นไม้
แม้การเข้ามาของพืชต่างถิ่นจะทำให้ไต้หวันมีความหลากหลายทางพฤกษศาสตร์ แต่เรื่องราวและความเชื่อมโยงทางอารมณ์ และความรู้สึกเกี่ยวกับพืชพื้นเมือง ก็มีความน่าสนใจและน่าประทับใจไม่น้อย
“คุณรู้ไหมว่า ใครเป็นคนคิดวิธีกักตัว 7 วันเพื่อป้องกันโรคที่เก่าแก่ที่สุดของไต้หวัน คำตอบคือชาวเผ่าไพวัน” จู่ ๆ ดร. หยางจื้อข่ายก็พูดเรื่องนี้ขึ้นมา ในอดีตทางเข้าหมู่บ้านของชนเผ่าไพวัน (Paiwan) จะปลูกต้นไม้สองชนิดไว้ใช้สำหรับแบ่งเขตแดน หนึ่งคือต้นประดู่ส้ม อีกหนึ่งคือต้นไกร ซึ่งต่างก็เป็นต้นไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปที่ความสูงจากน้ำทะเลในระดับต่ำถึงปานกลาง ทำให้มันกลายเป็นสัญลักษณ์ในการแบ่งเขตแดนไปโดยปริยาย โดยพวกเขาจะปลูกกระท่อมไว้ใต้ต้นไม้ หากมีคนต่างถิ่นต้องการจะเข้าไปในหมู่บ้าน ก็จะต้องกักตัวอยู่ที่กระท่อมก่อนเป็นเวลา 7 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายไม่มีความผิดปกติ จึงจะเข้าไปในหมู่บ้านได้ ดร. หยางจื้อข่ายหัวเราะแล้วพูดกับเราว่า “มันไม่ใช่มาตรการของรัฐบาลอะไรเลย แต่เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีมาตั้งแต่โบราณของชนเผ่าไพวัน”
เมื่อกล่าวถึงต้นประดู่ส้ม ผิวที่กิ่งของมันมีสีเทาอมน้ำตาล และมักมีส่วนยื่นออกมาคล้ายเนื้องอกบนลำต้นของต้นไม้ที่มีอายุเก่าแก่ ถือเป็นลักษณะเด่นที่ใช้ในการแยกแยะ คนโบราณกล่าวไว้ว่า “หากมีอะไรก็พูดมา แต่หากไม่มีอะไรจะพูดก็ไปนั่งเล่นใต้ต้นประดู่ส้มได้” ดร. หยางจื้อข่ายได้บรรยายถึงภาพของการนัดเพื่อนไปนั่งเล่นใต้ต้นประดู่ส้มว่า หากคนที่นัดไว้ยังไม่มา ก็นั่งนิ่ง ๆ มองดูต้นประดู่ส้ม ลองพูดคุยกับมัน ก็เหมือนกับมีเพื่อนอยู่ด้วย “สิ่งที่กล่าวมานี้ ได้พูดถึงความผูกพันระหว่างคนกับต้นไม้ที่มีความเกี่ยวพันกันเป็นอย่างมาก เพราะต้นไม้จะให้พลังแห่งความสงบ ผมคิดว่านี่เป็นแนวคิดที่มีความเป็นปรัชญาแบบหนึ่ง เป็นการอิงแอบทางจิตวิญญาณระหว่างกัน”
ดร. หยางจื้อข่าย ยังได้แนะนำให้เราได้รู้จักกับต้นเลี่ยนที่เป็นพืชพื้นเมืองของไต้หวัน รูปทรงของต้นไม้มีความสวยงาม ดอกของมันมีขนาดเล็กและออกเป็นพุ่ม มีสีม่วงอ่อนอันโรแมนติก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนของทุกปี มองดูแล้วเหมือนมีเมฆสีม่วงปกคลุมไปทั่วทั้งต้น ให้ความรู้สึกที่ทั้งสง่างามและโรแมนติก ทุกส่วนของต้นเลี่ยนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หากเด็ดใบของมันมาคลุมผลกล้วย จะทำให้กล้วยสุกเร็วขึ้น หากนำใบมาสกัดหรือต้มน้ำ จะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ สามารถนำมาใช้ทำยารักษาโรคผิวหนัง ดอกเลี่ยนสามารถนำมาสกัดน้ำมันหอม ผลสีเหลืองทองของมัน ถือเป็นสมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง และในยุคปัจจุบันที่ผู้คนนิยมถ่ายภาพเช็คอินกับดอกไม้ตามฤดูกาล ที่ต่างประเทศมีดอกซากุระ แต่ในไต้หวันคุณก็สามารถตามถ่ายภาพสวย ๆ ของดอกเลี่ยนได้เช่นกัน
ในไต้หวัน มีสถานที่หลายแห่งที่ตั้งชื่อตามต้นไม้ ทำให้เราสามารถนึกภาพแห่งประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้น ๆ ได้ ในขณะที่ Francine Houben สถาปนิกชาวฮอลแลนด์ทำการออกแบบศูนย์ศิลปะแห่งชาติ นครเกาสง (National Kaohsiung Center for the Arts) หรือเว่ยอู่อิ๋ง (衛武營) ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากกิ่งก้านสาขาอันคดเคี้ยวและรากอากาศที่พันเกี่ยวกันไปมาของเหล่าต้นไทรในพื้นที่ จนนำมาออกแบบเป็นลานบันยันพลาซ่า (Banyan Plaza) ที่ทั้งกว้างขวางและเปิดกว้าง เพื่อให้ผู้คนเข้าออกได้ตลอดเวลา
ในช่วงนี้ ได้มีการนำภาพยนตร์เรื่อง “A City of Sadness” กลับมาเข้าฉายใหม่ ทำให้เมืองเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่าจิ่วเฟิ่น (九份) กลายมาเป็นที่สนใจของผู้คนอีกครั้ง จริง ๆ แล้วชื่อของเมืองแห่งนี้ก็มีความเกี่ยวพันกับต้นการบูร ไต้หวันเคยเป็นอาณาจักรแห่งการบูรของโลก และในแถบจิ่วเฟิ่นเคยมีต้นการบูรขึ้นอยู่เต็มไปทั้งภูเขา ซึ่งในอดีตการผลิตการบูร จะต้องใช้เตาเผามาทำการเผาไม้จากต้นการบูร โดยจะนับว่า 10 เตาเป็น 1 ชุด (份 อ่านว่า เฟิ่น) ชื่อจิ่วเฟิ่นจึงหมายถึงเตาเผาเก้าชุด ทำให้ประมาณกันได้ว่า มีเตาเผาในแถบนั้นประมาณ 90 เตา ที่ใช้ในการผลิตการบูร เรื่องราวที่ ดร. หยางจื้อข่ายเล่าให้เราฟังนี้ ทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่า หากชื่อของสถานที่แห่งใดมีคำว่า “เฟิ่น” ส่วนใหญ่ก็จะมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตการบูรเช่นกัน
ดร. หยางจื้อข่ายมักจะพูดว่า “ต้นไม้ คือคนเล่าเรื่องประจำเกาะ”
ดอกเลี่ยนจะบานสะพรั่งในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ดอกสีม่วงอ่อนของมันจะบานปกคลุมไปทั่วทุกกิ่งก้าน ถือเป็นพืชพื้นเมืองของไต้หวัน
การเปิดใจยอมรับเหล่ามวลหมู่แมกไม้
ไต้หวันอาจไม่ได้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แต่หากคุณยอมที่จะเปิดใจเพื่อทำความรู้จักกับเกาะแห่งนี้และลองฟังเรื่องราวของมัน “แม้ว่าเราจะเป็นเพียงเกาะเล็ก ๆ หากแต่เรามีส่วนเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์มาโดยตลอด” ดร. หยางจื้อข่ายกล่าวอย่างภูมิใจ “เช่นเมื่อพูดถึงบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย ที่เคยถือเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกในขณะนั้น ใครจะไปนึกว่าไต้หวันเคยเป็นฐานสำคัญแห่งหนึ่งของพวกเขา แถมพวกเขายังปฏิบัติต่อไต้หวันเป็นอย่างดี จนส่งผลต่อทิวทัศน์ตามท้องถนนของไต้หวันด้วย”
“ผมคิดว่าเกาะแห่งนี้ใจกว้างเป็นอย่างมาก ขอเพียงอยากใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ก็จะมีชีวิตที่ดีไม่น้อย ลองดูจากต้นไม้บนเกาะก็ได้” ไต้หวันมีความใจกว้างซึ่งเป็นสิ่งที่พิเศษมาก และยังมีเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม เขายกตัวอย่างจากมะม่วงว่า เริ่มจากคนฮอลแลนด์นำเข้ามาปลูก ก่อนที่คนไต้หวันจะทำการพัฒนาให้ดีขึ้น จนปัจจุบันนี้ มีพันธุ์ที่หลากหลาย ทั้งเซี่ยเสวี่ย (夏雪) จินหวง (金煌) ไถจงหมายเลข 1 (台中一號) ไถหนงหมายเลข 2 (台農二號) เป็นต้น ซึ่งมีตัวอย่างแบบนี้อีกมากมาย แถมยังสามารถเก็บรักษารสชาติของมะม่วงพื้นเมืองดั้งเดิมเอาไว้ได้ด้วย นั่นก็คือรสเปรี้ยวอมหวานของมะม่วงเขียวไต้หวัน ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์ของไต้หวัน
ต้นไม้คือคนเล่าเรื่องประจำเกาะ คุณสามารถรับฟังเรื่องราวของเกาะแห่งนี้ที่ถูกซ่อนเอาไว้ ผ่านกิ่งก้านสาขาอันงดงามของมวลหมู่แมกไม้ หรือเพียงแค่อยู่เคียงข้างอย่างเงียบสงบ “หากมีอะไรก็พูดมา แต่ถ้าไม่มีอะไรจะพูดก็ไปนั่งเล่นใต้ต้นประดู่ส้มได้” สำหรับคนกับต้นไม้ แค่นี้ก็เป็นอะไรที่เพียงพอแล้ว
ต้นไม้ที่ปลูกตามท้องถนนทำให้บรรยากาศของเมืองเปี่ยมด้วยสีเขียวสดใสดูแล้วสบายตา แถมยังมีส่วนช่วยปรับอุณหภูมิ และช่วยฟอกอากาศได้ด้วย