จากภูเขาสูงลงสู่พื้นราบ
เยลลี่ฟิก พันธุ์เหมียวลี่ 1
เนื้อเรื่อง‧เจิงหลันสู ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧แสงชัย กิตติภูมิวงศ์
มิถุนายน 2020
試問誰最愛台灣?種植愛玉子的農夫、研究隱花果的學者專家有共同的答案:「愛玉小蜂最愛台灣!」由於愛玉小蜂只能在台灣散播花粉與繁衍,帶來台灣獨家的特產──愛玉。
與愛玉小蜂互利共生的野生愛玉子,總是攀緣著樹幹生長,結成果實,高不可攀,採摘危險。苗栗區農業改良場開發出苗栗一號、二號的平地愛玉,產量高,採摘又更為便利;還發現愛玉子胚細胞具有美白功效,進一步研發推廣美白產品,提高愛玉子的應用價值。
หากถามว่าใครรักไต้หวันมากที่สุด เกษตรกรปลูกเยลลี่ฟิกไต้หวันและผู้เชี่ยวชาญวิจัยการขยายพันธุ์ลูกฟิกมีคำตอบตรงกันคือ แมลงตัวเล็กที่เรียกว่า “ต่อเยลลี่ฟิก” รักไต้หวันมากที่สุด เนื่องจากต่อเยลลี่ฟิกอยู่อาศัยแพร่พันธุ์ได้เฉพาะในไต้หวันและช่วยผสมเกสรให้แก่ผล “เยลลี่ฟิก” ( Jelly Fig, Ficus Awkeotsang) ทำให้ลูกฟิกมีความโดดเด่นและเป็นของดีประจำถิ่นของไต้หวัน
เยลลี่ฟิก เป็นพืชเถาเลื้อย มักจะเลื้อยไปตามต้นไม้ใหญ่ ออกผลบนยอดไม้ที่สูงลิ่ว การปีนป่ายขึ้นไปเก็บมีอันตรายมาก สถานีวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืชเขตเหมียวลี่ (Miaoli District Agricultural Research and Extension Station - MDARES) จึงได้พัฒนาเยลลี่ฟิกปลูกบนพื้นราบพันธุ์เหมียวลี่ 1 และ เหมียวลี่ 2 เป็นลูกฟิกให้ผลผลิตสูง เก็บผลง่าย และพบว่าเซลล์ต้นอ่อนของเยลลี่ฟิก สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เพิ่มมูลค่าเยลลี่ฟิกได้มากขึ้นอีกด้วย
เรือนเพาะต้นกล้าแห่งนี้ไม่เปิดต่อบุคคลภายนอก ดูแล้วไม่น่าสนใจ แสงอาทิตย์กำลังสาดส่อง ระบบรดน้ำอัตโนมัติหมุนรดน้ำต้นกล้า ที่นี่คือ MDARES ช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ได้สะสมพันธุ์เยลลี่ฟิก 115 ชนิดไว้ในธนาคารพันธุ์พืช ซึ่งมาจากแหล่งภูเขาสูงไปจนถึงท้องทุ่ง
คุณหลิวเม่าหรง (劉茂榮) เจ้าหน้าที่เทคนิค ทำงานที่ MDARES 30 กว่าปีแล้ว หากเขาได้ข่าวว่าที่ไหนมีเยลลี่ฟิกที่มีลักษณะเฉพาะก็จะมุ่งไปเสาะหาทันที อย่างเช่นสายพันธุ์หนึ่งที่เก็บในธนาคารพันธุ์พืชมาจากหน้าผาเฉาหลิ่ง (草嶺) ในเมืองหยุนหลิน ต้นเดิมมีอายุนับร้อยปี คุณหลิวบอกว่า “เยลลี่ฟิกนี้ ทายาทรุ่นที่ 3 ของนักเก็บเยลลี่ฟิกเป็นผู้นำทางจึงได้พบ ต้นเดิมมีผลดกมาก เฉพาะต้นเถามีขนาดเท่ากับเท่ากับลำแขนเลยทีเดียว” แต่เมื่อนำมาปลูกในที่ราบ ไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศจึงให้ผลผลิตไม่มาก
เยลลี่ฟิกในธนาคารพันธุ์พืชมีหลากหลายสายพันธุ์ ชื่อต่างกัน คุณสมบัติต่างกัน แต่เยลลี่ฟิกที่มาจากแหล่งต่างๆ เหล่านี้สู้พันธุ์เหมียวลี่ 1 และ เหมียวลี่ 2 ที่ MDARES พัฒนาขึ้นมาไม่ได้ ไม่ว่าในด้านปริมาณเยลลี่ต่อผล การปรับตัวเข้ากับภูมิอากาศภาคเหนือ กลาง และใต้ของไต้หวัน
ปรับปรุงพันธุ์ให้ผลผลิตมากและเก็บง่าย
ในการเพาะพันธุ์เยลลี่ฟิก MDARES ต้องอาศัยต่อเยลลี่ฟิกเป็นผู้ช่วยผสมเกสร ในอดีต MDARES เป็นสถานีวิจัยผึ้งและแมลงที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้ รวมทั้งวิจัยต่อเยลลี่ฟิก คุณอู๋เติงเจิน (吳登楨) รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ในขณะนั้นจึงได้นำทีมงานวิจัยเยลลี่ฟิกด้วย และได้พบสิ่งที่แตกต่างกันคือ ผึ้งผสมเกสรในสภาพกลางแจ้ง แต่ต่อเยลลี่ฟิกต้องมุดเข้าไปในผลเยลลี่ฟิก ทำการผสมพันธุ์และวางไข่
ปกติต้นเยลลี่ฟิกเกิดตามธรรมชาติในป่าลึก เลื้อยไปตามต้นไม้ใหญ่ ยิ่งเลื้อยสูงก็ยิ่งมีผลดก ทำให้การขึ้นไปเก็บอันตรายมาก
MDARES ได้คัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี และทำการปรับปรุง เพื่อไม่ต้องปีนเก็บบนที่สูง และได้ผลผลิตมากขึ้น ในปีค.ศ.2012 และ 2013 ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์เหมียวลี่ 1 และเหมียวลี่ 2 เป็นสายพันธุ์ที่เติบโตได้เร็วบนพื้นที่ราบ ให้ผลผลิตสูงและมีปริมาณเยลลี่ต่อผลมาก
เยลลี่ฟิกพันธุ์เหมียวลี่ 1 ที่มียีนต้านแมลง หรือเหมียวลี่ 2 ที่ออกผลเร็ว ทั้ง 2 พันธุ์นี้ปลูกโดยให้เลื้อยเสาซีเมนต์สูงประมาณ 10 ฟุต เก็บผลโดยใช้มีดยืดหดแบบเดียวกับที่ใช้เก็บผลหมาก ไม่ต้องใช้บันไดก็เก็บผลได้ง่ายและเป็นการปลูกบนพื้นที่ราบ
อย่างไรก็ตาม แผนการถ่ายทอดเทคนิคให้แก่เกษตรกรของ MDARES ไม่ว่าจะพันธุ์เหมี่ยวลี่ 1 หรือ 2 แพ็กเกจรวมมูลค่า 400,000 เหรียญไต้หวัน ซึ่ง MDARES จะให้ต้นเยลลี่ฟิก 1,000 ต้น แนะนำการบริหารเพาะปลูก การผสมเกสรด้วยต่อเยลลี่ฟิก แต่ยังไม่รวมค่าเสาซีเมนต์ต้นละประมาณ 1,000 เหรียญไต้หวัน หลังจากปลูกต้นกล้าจนโตให้ผลได้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี อย่างช้า 5 ปี จึงจะมีผลผลิตที่สม่ำเสมอ ทำให้เกษตรกรหลายคนไม่กล้าลงทุน
เกษตรกรผู้กลับสู่บ้านเกิด บุกเบิกการปลูกเยลลี่ฟิก
ฟ่านเจิ้นไห่ (范振海) เจ้าของสวนเยลลี่ฟิก ที่เขตอวี้หลี่ (玉里) เมืองฮัวเหลียน ถือเป็น “วีรบุรุษผู้มองการณ์ไกล” ปีค.ศ.2013 เมื่อเขาได้ยินข่าวว่า MDARES เปิดการถ่ายทอดเทคนิคปลูกเยลลี่ฟิกพันธุ์เหมียวลี่ 1 จึงเข้าเซ็นสัญญาทันที กลายเป็นเกษตรกรคนแรกที่ได้รับการถ่ายทอดเทคนิค หลังผ่านความพยายามมาเป็นเวลา 5 ปี เขาได้กลายเป็นพรีเซนเตอร์ที่ดีที่สุดของเยลลี่ฟิกสายพันธุ์เหมียวลี่ 1 ไปแล้ว
ฟ่านเจิ้นไห่เคยไปทำงานที่จีนแผ่นดินใหญ่ 10 กว่าปี ที่ดินมรดกจากพ่อแม่ปล่อยไว้รกร้าง ในปีค.ศ.2005 เขาได้ว่าจ้างคนอื่นให้ปลูกต้นอบเชย แม้ได้ผลดี แต่มีปัญหาในการขาย ตามกฎระเบียบการค้าสมุนไพรยาจีนแผนโบราณ อบเชยที่อบแห้งแปรรูปจะต้องซื้อขายผ่านร้านยาจีนแผนโบราณเท่านั้น ผลอบเชยสดขายให้พ่อค้าคนกลางไม่คุ้มต้นทุน ฟ่านเจิ้นไห่ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มเกษตรเขตอวี้หลี่บอกว่า เขาเคยคิดปลูกต้นเมล็ดชา แต่ที่กวางสีในจีนแผ่นดินใหญ่มีผู้ปลูกต้นเมล็ดชาเต็มภูเขา คงสู้ราคาต่ำของจีนไม่ได้ ทางเลือกจึงมีหนึ่งเดียวคือเยลลี่ฟิกของไต้หวัน
หลังปลดเกษียณแล้ว ฟ่านเจิ้นไห่ตัดใจโค่นต้นอบเชยหันมาปลูกเยลลี่ฟิก และตัดสินใจปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ใน 2 ปีแรกเห็นหนอนกินต้นเยลลี่ฟิก ในใจเกิดความสับสนอยากฉีดยาฆ่าแมลง แต่ก็ได้แต่ใช้น้ำแรงดันสูงฉีดหนอนแมลงตกลงมา เขายังได้หาผู้ช่วยโดยเลี้ยงไก่เพื่อเก็บกินแมลงที่ตกลงมา ทำให้ไก่อ้วนดี แต่ต้นเยลลี่ฟิกยังผอมโซ
ผ่านมา 5 ปี ได้มีการเพาะปลูกและดูแล แก้ปัญหาหนอนแมลง รับมือสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงวิธีการเพาะปลูกและเวลาการเก็บผล ในสภาวะแวดล้อมเกษตรอินทรีย์ที่ดี ต่อเยลลี่ฟิกและผลเยลลี่ฟิกพึ่งพาอาศัยซึ่งกัน จึงได้ผลเยลลี่ฟิกที่แน่นและมีเยลลี่ต่อผลในปริมาณมาก
ฟ่านเจิ้นไห่บอกว่า “เยลลี่ฟิกเป็นสิ่งล้ำค่าของไต้หวัน ความฝันของผมก็คือทำให้เยลลี่ฟิกเหมือนกับกีวีของนิวซีแลนด์ที่จำหน่ายออกไปทั่วโลก”
ต่อเยลลี่ฟิก อาศัยอยู่ได้ในไต้หวันเท่านั้น
กล่าวได้ว่าฟ่านเจิ้นไห่เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองเห็น “หนึ่งเดียวในไต้หวัน” ซึ่งก็คือ เยลลี่ฟิก เป็นลูกฟิกที่มีเฉพาะในไต้หวัน โดยต้องอาศัยต่อเยลลี่ฟิกเท่านั้นในการช่วยผสมเกสร
หลินเมิ่งจวิน (林孟均) รองนักวิจัย MDARES บอกว่า “การขยายพันธุ์เยลลี่ฟิก ต้องอาศัยต่อเยลลี่ฟิกซึ่งไม่ต่อยคน ลำตัวยาวเพียง 0.3 ซม. เป็นผู้ผสมเกสร เมื่อเยลลี่ฟิกออกผลขนาดเล็กที่ส่วนปลายจะเปิดรูออก 0.3 ซม. กลิ่นหอมพิเศษแพร่กระจายดึงดูดต่อเยลลี่ฟิกมุดเข้าไป”
ในขณะที่ต่อตัวเมียที่บินออกมาจากผลเยลลี่ฟิกที่มีเกสรตัวผู้ จะนำพาเกสรเกาะติดอยู่ตามตัวออกมาด้วย เมื่อมุดเข้าในผลฟิกที่เป็นดอกเกสรตัวเมียทำให้เกิดการผสมเกสร ผลฟิกจะเจริญต่อไปจนสมบูรณ์ ในขณะเดียวต่อตัวเมียอาจจะวางไข่ในผลฟิกเกสรตัวผู้ ก็จะเป็นการแพร่พันธุ์ต่อไม่ขาดสาย นี่คือการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างตัวต่อกับผลฟิก เป็นความอัศจรรย์ในธรรมชาติ
เมื่อ 20 ปีก่อน มีเกษตรกรในไต้หวันนำเอาต้นเยลลี่ฟิกไปปลูกที่จีนแผ่นดินใหญ่หรือเอเชียอาคเนย์ และยังนำต่อเยลลี่ฟิกไปด้วย แต่เมื่อต่อไปถึงที่นั่น ต่อเหล่านั้นก็ตายหมด เพราะปรับตัวเข้ากับดินฟ้าอากาศไม่ได้
คุณหลินเมิ่งจวินอธิบายว่า ปัจจุบันทั่วโลกยังไม่พบวิธีการเพาะเลี้ยงต่อเยลลี่ฟิกด้วยการผสมเทียม ที่จีนแม้มีลูกฟิกที่เรียกกันว่าครีบปิ้งฟิก (Creeping Fig) ซึ่งเป็นพืชในสกุลมะเดื่อ เช่นเดียวกับเยลลี่ฟิกของไต้หวัน แต่มีเยลลี่น้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้ มีคนทดลองใช้ต่อครีบปิ้งฟิกผสมเกสรแทนต่อเยลลี่ฟิก แต่เนื่องจากต่อทั้งสองเป็นคนละสายพันธุ์ ผลเยลลี่ฟิกของไต้หวันที่ปลูกในจีนไม่สามารถดึงดูดให้ต่อครีบปิ้งฟิกมุดเข้าไปในผลได้ การปลูกเยลลี่ฟิกในจีนจึงไม่สำเร็จ
ในช่วงที่ผ่านมา จีนเลียนแบบพันธุ์ผลไม้ไต้หวันได้หลายชนิด เช่น น้อยหน่าสับปะรด กล้วยหอม ลิ้นจี่พันธุ์อวี้เหอเปา มีเพียงเยลลี่ฟิกที่ยังเลียนแบบและปลูกไม่ได้ ถือเป็นของขวัญที่สวรรค์ประทานให้กับไต้หวันโดยแท้
เพื่อเสริมความแข็งแกร่งต่อการพัฒนาเยลลี่ฟิก MDARES ได้เลือกพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการสกัดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และพบว่าเซลล์ต้นอ่อนเยลลี่ฟิก สามารถลดฝ้าจุดด่างดำ เสริมการสร้างโปรตีน จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย China Medical University ในไทจง ทดลองในเซลล์และในสัตว์ ยืนยันมีสรรพคุณทำให้ผิวนวลงามและช่วยซ่อมแซมผิวหนัง
หลูเหม่ยจวิน (盧美君) ชี้ว่า ปกติเยลลี่ฟิก 1 ผล นำมาคั้นจะได้เยลลี่ 200 มิลลิลิตรสำหรับการทำวุ้นอ้ายอวี้ (Aiyu Jelly) หากผ่านการสกัดด้วยกระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพ ทำเป็นมาสก์บำรุงผิวหน้าได้ 500 แผ่น หรือได้เซรัมบำรุงผิว 400 ขวด ขณะนี้ MDARES กำลังจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ เมื่อผลิตเป็นสินค้าสำเร็จแล้ว ถือเป็นการส่งเสริมเกษตรกรปลูกเยลลี่ฟิก และที่สำคัญ นี่จะเป็นผลิตภัณฑ์ความงาม “หนึ่งเดียวจากไต้หวัน” ด้วย