ร้อยแปดพันเก้าศิลปะไม้ไผ่
วิวัฒนาการการออกแบบร่วมสมัย ที่ปรับเปลี่ยนจากความดั้งเดิม
เนื้อเรื่อง‧ซูลี่อิ่ง ภาพ‧หลินหมินซวน แปล‧ธีระ หยาง
ธันวาคม 2024
ผลงานการออกแบบงานศิลปะไม้ไผ่ของ ฟ่านเฉิงจง ชื่อว่า “เฉวียนอู” (筌屋) เป็นการดัดแปลงมาจากเทคนิคการทำ “ไซ” หรือกับดักปลาแบบดั้งเดิมของชาวเผ่าเส้าของไต้หวัน (ภาพโดย ฟ่านเฉิงจง)
ในสังคมแห่งการค้าที่เปี่ยมด้วยความมั่งคั่งทางวัตถุ มักมีผลิตภัณฑ์มากมายรอให้ผู้บริโภคได้เลือกสรร อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูของใช้ในชีวิตประจำวันยุคการทำเกษตรแบบดั้งเดิม จะพบว่ามันยังคงมีความงามที่เรียบง่ายและทรงคุณค่าอย่างยาวนาน
ในวันที่อากาศร้อนระอุของฤดูร้อน เราได้มาเยือนศูนย์วิจัยและพัฒนาหัตถศิลป์ที่ตั้งอยู่ในเขตเฉ่าถุน เมืองหนานโถว (ต่อไปนี้เรียกว่า ศูนย์หัตถศิลป์) การได้นั่งบนเก้าอี้ไม้ไผ่ที่มีชื่อว่า “เก้าอี้ 43” ซึ่งทำจากแผ่นไม้ไผ่โมโซสายพันธุ์ไต้หวันทั้งหมด 43 ชิ้น โดยไม้ไผ่แต่ละแผ่นถูกดัดให้มีความโค้งที่แตกต่างกัน และจัดเรียงกันจนเกิดเป็นเส้นโค้งที่ลื่นไหลและสอดคล้องกับหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) ดีไซน์ของเก้าอี้แบบ Cantilever Chair (เก้าอี้ที่มีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งจะไม่มีขาหลัง) ตัวนี้ ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมของวัสดุที่เคยใช้ เช่น เหล็กกล้าไร้สนิมและพลาสติก เมื่อได้นั่งลงไป จะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกที่คนไต้หวันคุ้นเคย คล้ายกับการนอนบนเสื่อไม้ไผ่ที่เย็นสบาย
การแสดงเรื่องราวของไม้ไผ่
คุณเฉินเตี้ยนหลี่ (陳殿禮) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาหัตถศิลป์ เล่าให้เราฟังว่า งานหัตถกรรมเป็นสะพานที่ช่วยเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรรมกับสังคมพาณิชย์ และเป็นต้นแบบของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในยุคที่ยังไม่มีการผลิตด้วยเครื่องจักร ของใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนมักทำขึ้นมาจากวัสดุท้องถิ่น ทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และความบันเทิง ล้วนถูกล้อมรอบด้วยหัตถกรรม หากมองย้อนกลับไป หัตถกรรมที่ทำขึ้นเอง ขายเอง ใช้เอง มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณต่ำ รักษาสิ่งแวดล้อม และใช้วัสดุที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิด ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) ในปัจจุบัน
ในบรรดาวัสดุเหล่านี้ ไม้ไผ่ถือได้ว่าเป็นวัสดุที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไต้หวันมากที่สุด ตัวอย่างเช่น ชื่อโบราณของเมืองซินจู๋ “จู๋เชี่ยน” (竹塹) ได้ชื่อมาจากไผ่สีสุก (刺竹) หรือแถบจู๋ซาน (竹山) ในเมืองหนานโถว ก็มีชื่อเสียงจากการปลูกต้นไผ่ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งระหว่างต้นไผ่กับวิถีชีวิตของชาวไต้หวัน ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่งานสัมมนาและนิทรรศการไม้ไผ่โลกประจำปีนี้ (2024) ถูกจัดขึ้นในไต้หวัน คุณสวี่ฟงฉี (許峰旗) หัวหน้าฝ่ายออกแบบของศูนย์วิจัยและพัฒนาหัตถศิลป์ นำพวกเราไปเยี่ยมชมงานนิทรรศการพิเศษ “ร่องรอยของไม้ไผ่+” บนชั้นแรกของงานจัดแสดง เปิดฉากด้วยเก้าอี้ไม้ไผ่ที่ออกแบบโดยเหยียนสุ่ยหลง ซึ่งนำเก้าอี้ไม้ไผ่แบบดั้งเดิมมาปรับให้ง่ายขึ้น พร้อมร่างแบบออกมา โดยผลงานที่มีชื่อเสียงอย่าง “เก้าอี้รับแขกไม้ไผ่” ที่มีพื้นเก้าอี้เอียงเล็กน้อย เส้นสายเรียบง่าย และการจัดเรียงของปล้องไม้ไผ่อย่างเป็นระเบียบ ถือเป็นความพยายามครั้งแรกในการผสมผสานระหว่างหัตถกรรมดั้งเดิมและการออกแบบสมัยใหม่
จากนั้นมีการจัดแสดงผลงานหัตถกรรมแบบดั้งเดิมของบรรดาครูช่างระดับปรมาจารย์หลายคน เช่น หวงถูซาน (黃塗山) หลี่หรงเลี่ย (李榮烈) และจางเสี้ยนผิง (張憲平) เมื่อขึ้นไปยังชั้นสอง จะได้พบกับงานออกแบบไม้ไผ่ร่วมสมัย รวมถึงแบรนด์ “Yii” ที่ทางศูนย์หัตถศิลป์ได้เปิดตัวขึ้นในช่วงหลายปีก่อน ซึ่งนอกจากเก้าอี้ “43” ที่โดดเด่นแล้ว ยังมีผลงานที่เคยปรากฏบนปกนิตยสารอิตาลีอย่าง “Bubble Sofa” ซึ่งออกแบบโดยโจวอวี้รุ่น (周育潤) โซฟานี้ทำจากการสานไม้ไผ่เป็นลูกบอล นอกจากนี้ยังมี “Bambool” ม้านั่งไม้ไผ่ที่ออกแบบร่วมกันระหว่างโจวอวี้รุ่น และซูซู่เริ่น (蘇素任) ราวแขวนเสื้อ “แผ่นไม้ไผ่” ที่ออกแบบโดยจู้จื้อคัง และเยี่ยจีเสียง รวมไปจนถึงของเล็ก ๆ เช่น กระปุกพริกไทยและกระปุกเก็บของที่ทำจากไม้ไผ่ลามิเนต ออกแบบโดยราเชลล์ ดักนาลัน และหลิวเหวินหวง แห่ง “Dahe Bamboo Crafts Workshop” ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ที่เข้าไปชมนิทรรศการได้มองเห็นการประยุกต์ใช้ไม้ไผ่ในมุมมองใหม่ที่น่าสนใจ
คุณเฉินเตี้ยนหลี่ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาหัตถศิลป์ไต้หวัน ย้ำว่า หัตถกรรมมีความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและสอดคล้องกับหลักการ ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล)
นิทรรศการพิเศษ “Bamboo Traces+” จัดแสดงผลงานศิลปะงานไม้ไผ่ระดับมรดกแห่งชาติ
“เก้าอี้ 43” ที่ทำจากไม้ไผ่ไต้หวัน 43 แผ่นที่โค้งงอ เป็นเก้าอี้ไม้ไผ่แบบ Cantilever Chair ที่มีลักษณะพิเศษเป็นหนึ่งเดียวในโลก
เก้าอี้รับแขกไม้ไผ่ที่ออกแบบโดย อ.เหยียนสุ่ยหลง เป็นความพยายาม ขั้นต้นในการผสมผสานระหว่างงานหัตถกรรมดั้งเดิมกับการออกแบบร่วมสมัย
ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ผ่านการทดสอบของกาลเวลา
จากประเพณีสู่ความทันสมัย “คุณรู้ไหม หลายคนคิดว่าหัตถกรรมแบบดั้งเดิมนั้น 'ลำบาก' แต่จริง ๆ แล้วมัน 'ชาญฉลาด' มาก” คำพูดของ ฟ่านเฉิงจง (范承宗) กินใจเราเป็นอย่างมาก
ผลงานชื่อว่า “Flow” ของฟ่านเฉิงจง ได้ถูกจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ “ร่องรอยของไม้ไผ่+” เก้าอี้ไม้ไผ่ตัวนี้มีฐานที่ประกอบจากตะกร้อไม้ไผ่สามแกน ส่วนของที่นั่งทำจากไม้ไผ่ที่ถูกเผาไฟจนเป็นเส้นโค้งที่ลื่นไหล นำมาประกอบเข้ากันกลายเป็นเก้าอี้นอนที่ดูมีความพลิ้วไหว
อ.ฟ่านเฉิงจง เรียนทางด้านการออกแบบอุตสาหกรรม และใช้ทักษะงานหัตถกรรมสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง ผลงานส่วนใหญ่ในปัจจุบันเน้นงานศิลปะสำหรับการตกแต่งและประติมากรรม สำหรับเขาแล้ว ไม้ไผ่คือวัสดุที่หลากหลายและมีความสำคัญต่อการเริ่มต้นเส้นทางการสร้างสรรค์ผลงานของเขา
เมื่อพูดถึงหัตถกรรม ฟ่านเฉิงจงย้ำว่า หัตถกรรมไม่เหมือนกับที่คนทั่วไปคิด หากเราเข้าใจวิธีการทำของงานแต่ละชิ้นอย่างลึกซึ้ง จะพบว่ากระบวนการผลิตมักจะเรียบง่าย ช่างฝีมือที่มีความชำนาญจะพยายามใช้เครื่องมือให้น้อยที่สุด ใช้วัสดุที่เรียบง่ายที่สุด และใช้แรงให้น้อยที่สุดในการผลิต “นี่คือภูมิปัญญาที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านระบบอาจารย์ - ลูกศิษย์ จนถึงจุดที่ไม่สามารถปรับปรุงได้อีกแล้ว มันคือการตกผลึกทางปัญญาที่สะสมมาตลอดหลายร้อยหรือหลายพันปี” ฟ่านเฉิงจงกล่าว
ฟ่านเฉิงจง ผู้สร้างสรรค์ผลงานแบบข้ามสายงานระหว่างการออกแบบอุตสาหกรรม งานหัตถกรรม และศิลปะ ในภาพเป็นผลงานกระจกไม้ไผ่ชื่อ “Circle” ซึ่งผสมผสานเทคนิคของงานหัตถกรรมไม้ไผ่ระหว่างเทคนิคที่ใช้ในการทำเก้าอี้ไม้ไผ่และซึ้งนึ่ง
เมื่อการออกแบบสมัยใหม่พานพบกับหัตถกรรมดั้งเดิม
ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่มีเอกลักษณ์ มีคำโบราณกล่าวไว้ว่า “ตัดอายุสาม ทิ้งอายุสี่ ไม่เหลืออายุเจ็ด” หมายถึงไม้ไผ่สามารถเติบโตและพร้อมจะถูกนำไปใช้งานภายในสี่ปี เมื่อเทียบกับโลหะหรือเซรามิก ไม้ไผ่มีต้นทุนที่ต่ำและหาได้ง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการทำงานกับไม้ไผ่ก็เรียบง่ายเช่นกัน สำหรับ อ.ฟ่านฯ แล้ว ไม้ไผ่เป็นเหมือนกระดาษวาดภาพที่เข้าถึงได้ง่าย ทำให้ในช่วงเริ่มต้นการสร้างสรรค์ผลงาน เขาจึงกล้าที่จะทดลองอะไรได้มากมาย อ.ฟ่านฯ กล่าวด้วยความตื้นตันว่า “หากไม่ใช่เพราะความอิสระที่ไม้ไผ่มอบให้ ก็คงยากที่จะเริ่มต้นในตอนนั้น”
ไม้ไผ่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของเขา และด้วยเหตุนี้ ผลงานของ Studio Kao Gong Ji ที่เขาก่อตั้งขึ้น ยังคงใช้วัสดุจากไม้ไผ่ในสัดส่วนถึงร้อยละ 40 เช่น “Circle” กระจกไม้ไผ่ชิ้นแรก ๆ ของเขา ซึ่งผสมผสานเทคนิคหัตถกรรมดั้งเดิมสองแบบ คือ “การพันท่อ” ที่ใช้กับเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ และ “การใส่ห่วง” ที่ใช้ในการทำซึ้งนึ่ง
นอกจากนี้ อ. ฟ่านฯ ยังได้เรียนรู้วิธีการทำ ไซดักปลา (เครื่องมือจับปลาดั้งเดิมที่ทำจากไม้ไผ่) จากผู้อาวุโสของเผ่าเส้าที่อาศัยอยู่ริมทะเลสาบสุริยันจันทรา ซึ่งเกือบสูญหายไป และนำเทคนิคนี้มาปรับเป็นงานศิลปะสำหรับการตกแต่งขนาดใหญ่ที่สวยงาม ไซดักปลาจะปล่อยให้ปลาเข้าไปได้ แต่จะออกมาไม่ได้ สิ่งที่น่าอัศจรรย์คือ อ. ฟ่านฯ ได้ดัดแปลงรูปแบบนี้มาเป็นผลงานศิลปะที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ โรงละคร สถานที่กลางแจ้ง หรือร้านบูติก ผลงานขนาดใหญ่ที่เบาและโปร่งนี้ มีความงดงามจนสามารถตรึงสายตาของผู้ชม ทำให้คนที่มองมาไม่สามารถละสายตาออกไปได้
ผลงานของฟ่านเฉิงจงในงานเทศกาลศิลปะทางรถไฟฟู่กังที่ชื่อว่า “ลั่วไหลจั้ว” (落來坐) เป็นตะกร้อขนาดยักษ์ที่สร้างเลียนแบบตะกร้อไม้ไผ่ ภายในมีการจัดวางเก้าอี้ไม้ไผ่หลายตัว เพื่อดึงดูดให้ผู้คนมาเยี่ยมชมและนั่งพักผ่อน (ภาพโดย ฟ่านเฉิงจง)
ผลงานของฟ่านเฉิงจงในงานเทศกาลศิลปะทางรถไฟฟู่กังที่ชื่อว่า “ลั่วไหลจั้ว” (落來坐) เป็นตะกร้อขนาดยักษ์ที่สร้างเลียนแบบตะกร้อไม้ไผ่ ภายในมีการจัดวางเก้าอี้ไม้ไผ่หลายตัว เพื่อดึงดูดให้ผู้คนมาเยี่ยมชมและนั่งพักผ่อน (ภาพโดย ฟ่านเฉิงจง)
ฟ่านเฉิงจงร่วมมือกับเฉินอวี้เตี่ยน ผู้กำกับละครเวทีของละครเรื่อง “การลอกคราบ” (脱殼) โดยใช้ท่อนไม้ไผ่ที่มีข้อต่อเรียงร้อยกันเลียนแบบรูปร่างของสัตว์ทะเล เช่น กุ้งมังกร (ภาพโดย ฟ่านเฉิงจง ถ่ายภาพโดย ฉินต้าเปย)
การค้นหาภาษาศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของไต้หวัน
วัสดุไม้ไผ่เริ่มเป็นที่สนใจในวงการออกแบบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อ 20 ปีก่อน การที่ศิลปินด้านศิลปะภูมิทัศน์อย่าง หวังเหวินจื้อ (王文志) ได้ทดลองใช้ไม้ไผ่สร้างสรรค์งานศิลปะสำหรับการตกแต่งขนาดใหญ่ ยังคงเป็นเรื่องที่พบเห็นได้น้อย
หวังเหวินจื้อเล่าถึงความเชื่อมโยงระหว่างเขากับไม้ไผ่ ในฐานะนักศึกษาด้านศิลปะ หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาได้เดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อศึกษาศิลปะ แต่ในใจของเขากลับรู้สึกถึงความห่างเหินกับศิลปะตะวันตกอยู่เสมอ “ผมค้นหามาตลอดว่าภาษาของประติมากรรมและการสานในไต้หวันคืออะไร” หวังเหวินจื้อย้อนรำลึกถึงความคิดของเขาในอดีต จนกระทั่งปี 1993 เมื่อเขากลับมาจากยุโรปสู่ไต้หวัน จึงได้ตัดสินใจกลับไปบ้านเกิดที่เมืองเจียอี้เพื่อค้นหาคำตอบ
หวังฯ มีความแตกต่างจากศิลปินทั่วไปที่มักเน้นการค้นหาตัวเองและแยกตัวอยู่ลำพัง เขาชอบนอนอยู่ในผลงานของตัวเองเพื่อสัมผัสกับศิลปะผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า และชอบมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน เขาหวังให้ผลงานของเขาเหมือนสถาปัตยกรรมที่สามารถเชื่อมต่อและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมได้
ปัญหาคือ เป็นเรื่องยากที่จะสร้างสรรค์ผลงานขนาดใหญ่ด้วยตัวคนเดียว สิ่งนี้ทำให้เขาหวนคิดถึงประสบการณ์ในวัยเด็กที่อาศัยอยู่บนภูเขาเหมยซาน ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ตอนนั้นเขามักจะไปตัดไม้บนภูเขาร่วมกับพี่ชายที่เป็นหัวหน้าช่างและกลุ่มคนงาน ประสบการณ์การทำงานร่วมกันนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนารูปแบบการสร้างสรรค์ของตัวเอง เขาเริ่มใช้ไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ทั่วไปในไต้หวัน และชักชวนทีมงานให้มาร่วมกันสร้างผลงานแบบเป็นกลุ่ม
ในปี 1999 เขาได้จัดแสดงผลงานศิลปะสำหรับการตกแต่งขนาดใหญ่ชิ้นแรกของเขา ชื่อว่า “จิ๋วจิ่วเหลียนหวน” ที่ศูนย์กิจกรรมเยาวชนเฉ่าถุน ณ เชิงเขาจิ๋วจิ่วฟงในเมืองหนานโถว โดยได้เชิญช่างสานผู้ชำนาญมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานด้วยกัน และยังนำเทคนิคการสานกระเป๋าแบกหลังของชนพื้นเมืองมาผสมผสาน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ปูทางให้กับงานศิลปะภูมิทัศน์ขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นจากงานสานไม้ไผ่ของเขาในเวลาต่อมา
หวังเหวินจื้อ มีความหลงใหลเป็นพิเศษในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่เน้นการมอบประสบการณ์ในการเข้าใช้พื้นที่ให้กับผู้มาเยี่ยมชม ผลงานของเขามักจะเชิญชวนให้ผู้คนมาสัมผัสและมีปฏิสัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ที่เขาออกแบบ
ผลงานของหวังเหวินจื้อที่เข้าร่วมจัดแสดงในเทศกาลศิลปะ Woodford ของออสเตรเลีย ชื่อว่า “ความฝันแห่งบ้านต้นไม้” (樹屋夢) ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและผสมผสานเข้ากับภูมิทัศน์ของธรรมชาติ ผลงานนี้ทำให้ผู้คนที่เดินเข้าไปข้างในรู้สึกผ่อนคลายเป็นอย่างมาก (ภาพจาก Young Leaf Art Studio)
วัสดุธรรมชาติที่เชื่อมโยงผู้คนและข้ามพรมแดน
ปัจจุบัน หวังเหวินจื้อเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติจากผลงานศิลปะสานขนาดใหญ่ อันเนื่องมาจากผลงานมากมายที่เขาได้สร้างสรรค์ขึ้นในงานเทศกาลศิลปะนานาชาติเซโตอุจิที่เกาะโชโดะชิมะ เช่น “บ้านแห่งโชโดะชิมะ” “แสงแห่งโชโดะชิมะ” “ความฝันที่ถักทอด้วยมะกอก” รวมถึงผลงานในงานเทศกาลศิลปะ Woodford ในออสเตรเลียอย่าง “ผืนฟ้าทอฝัน” “เมฆลอย” และ “บ้านต้นไม้ในฝัน”
หวังฯ มักจะใช้ไม้ไผ่โมโซที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงเป็นโครงสร้างหลัก แล้วใช้ไผ่มากินอยในการสาน โดยใช้เทคนิคการสานทั้งแบบสุ่มที่ไม่เป็นระเบียบ และการสานแบบเป็นระเบียบ มาผสมผสานกัน
เมื่อพูดถึงกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น หวังเหวินจื้อเล่าว่า ระหว่างการเข้าร่วมเทศกาลศิลปะเซโตอุจิ เขาได้ขอความร่วมมือจากชาวบ้านในท้องถิ่นให้จัดหาไม้ไผ่พื้นเมืองมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยเขายังนำชาวบ้านจากเจียอี้ที่ร่วมงานกับเขามานาน พร้อมด้วยอาสาสมัครจากทั่วโลก ทั้งจากบราซิล ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น มาร่วมกันสร้างผลงานด้วย
เขาเล่าว่าการสร้างผลงานร่วมกันช่วยแก้ไขความ ขัดแย้งที่ยาวนานระหว่างสองหมู่บ้านบนเกาะที่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กัน เมื่อผลงานเสร็จสิ้น ทุกคนได้ร่วมกันดื่มชาอูหลงและทานขนมพายสับปะรดที่เขานำมาจากไต้หวันใต้โดมไม้ไผ่ที่พวกเขาช่วยกันสร้างขึ้น อีกทั้งผลงานของเขายังดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืนบนเกาะเพื่อรอชมความงดงามของผลงานขณะเปิดไฟในยามค่ำคืน
แม้ว่างานศิลปะจากไม้ไผ่ธรรมชาติจะมีอายุการใช้งานเพียง 2-3 ปีเท่านั้น และปัจจุบันผลงานเหล่านั้นก็ได้สลายไปตามกาลเวลาแล้ว แต่ความทรงจำที่งดงามยังคงอยู่ในใจของทุกคน ผ่านภาษาสากลของไม้ไผ่ที่ข้ามผ่านวัฒนธรรมและพรมแดน ทำให้ผู้คนสามารถร่วมมือกันก้าวไปสู่เส้นทางแห่งธรรมชาติได้
หวังเหวินจื้อได้เข้าร่วมเทศกาลศิลปะนานาชาติเซโตอุจิมานานหลายปี ผลงานในภาพคือ “แสงแห่งเกาะโชโดะ” (小豆島之光) ที่สร้างขึ้นในปี 2013 ซึ่งใช้ไม้ไผ่ประมาณ 5,000 ท่อนมาสานเป็นสถาปัตยกรรมโดมขนาดใหญ่ (ภาพจาก Young Leaf Art Studio)
งานสานไม้ไผ่ที่มีการประดับไฟในตอนกลางคืน ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาพักบนเกาะ ในภาพคือ “Return to the Spirit” ที่สร้างสรรค์โดยหวังเหวินจื้อในปี 2022 เมื่อครั้งเข้าร่วมในเทศกาลศิลปะนานาชาติเซโตอุจิ