ปรัชญาบรมครูขงจื๊อ
ประจักษ์พยานแห่งการผสมผสานระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
เนื้อเรื่อง‧หลินซันเหวย ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧ธีระ หยาง
มิถุนายน 2019
儒學宛苦歷史浪濤的中流砥柱,是社會祥和進化的樞紐。
大成至聖先師孔子2,568週年誕辰,孔廟以釋奠古禮,「禮、樂、佾、饌」儀程齊備。台灣目前最具規模的台北孔廟,更以尋根始業式、風雅文化季,邁出廟堂,植根沃土,老幹新枝,欣欣向榮。
ปรัชญาขงจื๊อได้ผ่านกระแสและความผันแปรแห่งประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ก่อนจะกลายมาเป็นเสมือนศูนย์กลางของพัฒนาการทางสังคม
บรมครูขงจื๊อผู้ยิ่งใหญ่ ถือกำเนิดเมื่อ 2,568 ปีก่อน ซึ่งทางศาลขงจื๊อได้จัดพิธีบวงสรวงอย่างยิ่งใหญ่ตามประเพณีโบราณ ทั้งพิธีกรรม ดนตรี การร่ายรำ และอาหารต่างๆ ถูกจัดเตรียมขึ้นอย่างพิถีพิถันตามขนบธรรมเนียมประเพณี ในช่วงเทศกาลวัฒนธรรมขงจื๊อ ศาลขงจื๊อไทเปซึ่งถือเป็นศาลขงจื๊อที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน ได้ทำการจัด “ปฐมพิธี” ขึ้น ณ จุดที่เป็นที่ตั้งดั้งเดิมของศาลขงจื๊อไทเป และยังมีการจัดกิจกรรมอีกมากมายที่นำพาเอาสุนทรียภาพของเทศกาลแห่งวัฒนธรรมดั้งเดิมออกไปสู่โลกภายนอกและแตกหน่อต่อยอดออกไปอย่างไม่รู้จบ ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคปัจจุบัน
พิธีกรรมโบราณอันยิ่งใหญ่ตระการตา
ศาลขงจื๊อไทเป ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนพื้นที่กว่า 4,000 ผิง (ประมาณ 8.25 ไร่) เป็นเวลาเกือบ 80 ปีมาแล้ว ที่นี่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานระดับจังหวัดในปี 1990 คุณเฉินจงเหว่ย (陳宗緯) เลขาธิการคณะกรรมการบริหารศาลขงจื๊อไทเปบอกกับเราว่า “อาคารสไตล์หมิ่นหนานและบรรยากาศแบบศาลเจ้าฝ่ายบุ๋น ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของที่นี่”
“พิธีบวงสรวงขงจื๊อในช่วงฤดูใบไม้ร่วงถือเป็นงานใหญ่ประจำปีของศาลขงจื๊อ” คุณเฉินจงเหว่ยกล่าว พิธีกรรม ดนตรี การร่ายรำ และอาหาร ต่างก็ถูกจัดเตรียมขึ้นอย่างพิถีพิถัน เพื่อใช้ในพิธีการที่ถือได้ว่าเป็นพิธีระดับชาติิ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายนของทุกปี โดยพิธีกรรมมีมากถึง 37 ขั้นตอน ตั้งแต่การจัดเตรียม การต้อนรับเทพ การบูชา การส่งเทพ และพิธีจบการบวงสรวง ซึ่งแต่ละขั้นตอนดำเนินไปอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา พิธีกรรมต่างๆ และดนตรีที่ใช้ ควรค่าแก่การศึกษาและทำความเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง
พลังแห่งการกล่อมเกลา ที่ไม่สามารถบรรยายออกมาด้วยคำพูด
เหล่านักดนตรีที่สวมชุดยาวสีแดงและนักร่ายรำที่สวมชุดยาวสีเหลือง ถือเป็นจุดเด่นของพิธีบวงสรวงขงจื๊อที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง “การฝึกซ้อมนักดนตรีต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี” โดยในช่วงหลายปีมานี้จะใช้นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นฉงชิ่งเป็นผู้รับหน้าที่นี้
พิธีกรรมต่างๆ และโน้ตดนตรีที่ใช้ถูกถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากสมัยราชวงศ์ซ่ง คุณซุนรุ่ยจิน (孫瑞金) ครูผู้ฝึกสอนดนตรีให้กับเหล่านักดนตรีเหล่านี้ มีความรู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าต่อไปจะหาผู้สืบทอดไม่ได้้ “ผมไม่อยากให้ดนตรีสำหรับบูชาขงจื๊อต้องสูญหายไปในยุคของผม” แม้จะไม่ใช่ผู้สืบสายเลือดของตระกูลข่ง หากแต่การสืบทอดและถ่ายทอดสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต่อให้กับคนรุ่นต่อไป ถือเป็นภารกิจใหญ่ของคุณซุนรุ่ยจินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
“การเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีโอกาสได้ฝึกฝนตนเอง คือแรงผลักดันที่ช่วยสนับสนุนให้ผมก้าวเดินต่อไปได้อย่างไม่ท้อถอย” การฝึกซ้อมที่ต้องกินเวลาทั้งปิดภาคเรียนฤดูร้อนและฤดูหนาว ถือเป็นการฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กๆ ซุนรุ่ยจินรู้สึกได้อย่างลึกซึ้งว่า ความเข้มงวดของพิธีกรรมทางดนตรีหล่อหลอมให้เด็กๆ มีจิตใจที่รู้สำนึกถึงความรับผิดชอบและความภาคภูมิใจ
“มีเด็กคนหนึ่งเกือบไม่จบการศึกษาในระดับมัธยมต้น” และหลังจากเวลาผ่านไปนานถึง 10 ปี จู่ๆ ซุนรุ่ยจินก็ได้รับโทรศัพท์ของนักเรียนคนนั้น บอกเล่าถึงการทำงานของตัวเองในปัจจุบัน จึงรู้สึกว่าต้องมีพลังอะไรที่ยากจะบรรยาย แต่สามารถดึงให้เด็กคนหนึ่งที่กำลังจะก้าวเดินทางผิดให้หันหลังกลับมาได้ “ผมจึงถามเขาว่า ใครเป็นคนที่ช่วยกล่อมเกลาและทำให้เธอคิดได้” นักเรียนคนนั้นตอบกลับมาว่า คือขงจื๊อ พอได้ยินดังนั้น ผมถึงกับน้ำตาไหลพรากออกมาเลยทีเดียว” ณ วินาทีนั้น ปรัชญาของขงจื๊อไม่ใช่เป็นเพียงแค่บทความเก่าคร่ำครึที่อยู่ในหนังสือโบราณที่ร้อยด้วยเส้นด้าย หากแต่กลายมาเป็นการตกผลึกของปัญญาอันกว้างไกลที่ช่วยส่องนำทางให้กับผู้คน
ตั้งแต่ปีค.ศ1931 เป็นต้นมา นักเรียนจากโรงเรียนประถมศึกษาต้าหลงจะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นักร่ายรำในพิธี ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสืบต่อกันตลอดช่วง 87 ปีที่ผ่านมา ท่วงท่าต่างๆ ของแขนขาที่ขยับไปตามเสียงดนตรี ต่างก็แสดงให้เห็นถึงความสุขุมและสง่างาม ทุกก้าวย่างเป็นไปตามระเบียบแบบแผน ตั้งแต่สายตาไปจนถึงการก้าวเดินต่างแสดงถึงการฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจอย่างหนัก
อาหารขงจื๊ออันมีชื่อเสียงได้สืบทอดตามคำสอนที่ว่า “อาหารต้องประณีต การรับประทานต้องพิถีพิถัน” ได้รับการจัดเตรียมขึ้นอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้สมกับเป็นแบบอย่างของวัฒนธรรมอาหารจีน โดยอาหารที่ใช้ในพิธีจะปรุงขึ้นตามประเพณีโบราณ โดยเน้นความสมัครสมานเป็นสำคัญ ซึ่งนับตั้งแต่ปีค.ศ.2007 เป็นต้นมา ได้มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของนักเรียนจากโรงเรียนคหกรรมไคผิงเป็นผู้รับผิดชอบ จนทำให้ได้รับฉายาว่าเป็น “พ่อครัวใหญ่ของขงจื๊อ” โดยพวกเขาจะต้องจัดเตรียมอาหารต่างๆ 27 ประเภท รวมทั้งหมด 189 รายการ เพื่อใช้ในพิธี
การผสมผสานระหว่างอดีตและปัจจุบัน เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของเหล่านักเรียน
ศ.หลี่เฉียนหล่าง (李乾朗) จากมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติ (國立臺灣藝術大學) กล่าวว่า “เดิมทีศาลขงจื๊อไทเปตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งไทเป (Taipei First Girls’ High School, TFGHS) ในปัจจุบัน” หลังผ่านวันเวลามา 110 ปี ในค.ศ.2017 เทศกาลวัฒนธรรมขงจื๊อไทเป ก็ได้เริ่มการเดินทางเพื่อข้ามเวลาหาอดีต
โดยในปีนี้ Chinese Association of Confucius (中華大成至聖先師孔子協會) ได้ร่วมกับศ.เย่กั๋วเหลียง (葉國良) และศ.หวงฉี่ซู (黃啟書) จากภาควิชาภาษาจีนของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University, NTU) จัดตั้ง “คณะวิจัยด้านพิธีกรรม” และได้วางแผนร่วมกันที่จะนำเอา “ปฐมพิธี” ของการจัดพิธีบวงสรวงขงจื๊อกลับมาจัดขึ้นที่ TFGHS อีกครั้งในวันที่ 21 กันยายนของปี 2018 โดยมีนายหยางซื่อรุ่ย (楊世瑞) ครูใหญ่ของโรงเรียนเป็นประธานในพิธี เชื่อว่าพิธีมอบม้วนไผ่ท่ามกลางเสียงดนตรีโบราณเปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์นี้ จะทำให้เหล่านักเรียนรุ่นใหม่มีความรู้สึกซาบซึ้งถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์และมีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียน เพื่ออนาคตอันสดใสของตัวเองในวันข้างหน้า
บรรยากาศสุนทรีย์กลางฤดูใบไม้ร่วง กับการจิบชาเคล้าบทกวี
ในปี 2018 เทศกาลศาลขงจื๊อได้จัดกิจกรรมด้านกวีและวรรณกรรมขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย เริ่มเปิดฉากตั้งแต่วันที่ 22 กันยายนกับการแสดงของ Tianlai Poetry Reading Society ซึ่งก่อตั้งขึ้นเป็นเวลานับร้อยปีมาแล้วตั้งแต่ในช่วงที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ภายใต้ฟ้าหลังฝนอันสดใส พวกเขาได้ขับร้องโคลงกลอนโบราณเพื่อชื่นชมความงามของพระจันทร์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเสียงขับกล่อมด้วยทำนองโบราณของพวกเขาได้ปกคลุมไปทั่วทั้งบริเวณ ตั้งแต่ประตูตะวันออกไปจนถึงประตูตะวันตกเลยทีเดียว
ในช่วงเช้าของวันที่ 23 กันยายน เหล่านักชงชาซึ่งประกอบด้วย ข่งอีหรู (孔一如) ผู้สืบเชื้อสายรุ่นที่ 73 ของขงจื๊อ จ้าวหุ้ยหมิ่น (趙惠敏) วังจินสี (汪金習) และเคอหลีเย่ว์ (柯黎月) ได้ร่วมกันจัดแสดงพิธีชงชาขงจื๊อ
ช่วงบ่ายเป็นการแสดงดนตรีของวง Artsblooming Ensemble โดยนักเปียโนชื่อดังอย่าง ดร.ข่งเหวยเหลียง
(孔維良) ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายรุ่นที่ 78 ของขงจื๊อ และดร.ไช่อีเสวียน (蔡依璇) นักไวโอลินเลื่องชื่อ มาร่วมกันบรรเลง โดยใช้ท่วงทำนองแบบโบราณมาขับกล่อมบทเพลงสมัยใหม่ให้เราได้ฟังกันด้วย
พันธกิจแห่งวงศ์ตระกูลในการนำความรุ่งโรจน์มาสู่ตระกูลข่ง
ศาลขงจื๊อคือศาลบูชาบรรพบุรุษของบุตรหลานตระกูลข่ง และถือเป็นรากฐานแห่งจิตวิญญาณ การที่สมาชิกตระกูลข่งเข้ามีส่วนร่วมในเทศกาลวัฒนธรรมศาลขงจื๊อ จึงถือเป็นสิ่งที่มีความหมายเป็นอย่างมาก “เชื่อว่าคงมีเพียงแต่ตระกูลข่งเท่านั้นที่สามารถย้อนดูบันทึกการสืบเชื้อสายประจำตระกูลซึ่งย้อนกลับไปจนถึง 2,500 กว่าปีก่อนได้” คุณข่งฉุยฉาง (孔垂長) ผู้สืบเชื้อสายของขงจื๊อรุ่นที่ 79 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินพิธีบวงสรวงขงจื๊อเพียงหนึ่งเดียวในโลกกล่าว
ข่งฝานหลิน (孔繁麟 ผู้สืบเชื้อสายของขงจื๊อรุ่นที่ 74) เห็นว่า “ผมหวังว่าจะอาศัยโอกาสนี้ ช่วยปลุกจิตสำนึกที่มีต่อพันธกิจอันติดตัวมาแต่กำเนิดของเหล่าลูกหลานตระกูลข่งให้ตื่นขึ้นมา” ความสมัครสมานสามัคคีจะช่วยเกิดเป็นกระแสแห่งความกลมเกลียวและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการเผยแพร่ปรัชญาขงจื๊อให้ขจรขจายออกไปให้มากที่สุด
กิจกรรมในครั้งนี้ เหล่าบุตรหลานตระกูลข่งต่างก็พร้อมใจเข้ามีส่วนร่วมกันอย่างแข็งขัน ข่งเสียงหยุน (孔祥雲 ผู้สืบเชื้อสายของขงจื๊อรุ่นที่ 75) กล่าวว่า “แม้ว่าพวกเราแต่ละคนจะมีกำลังเพียงน้อยนิด หากแต่เมื่อนำเอากำลังอันน้อยนิดนี้มารวมเข้าด้วยกัน ก็จะกลายเป็นพลังที่สามารถนำความรุ่งโรจน์กลับมาสู่ตระกูลข่งได้อีกครั้ง”
“หลังจากที่ผมไปอยู่ที่อเมริกาแล้ว ทุกครั้งที่ได้พบเห็นรูปปั้นของขงจื๊อก็จะมีความรู้สึกตื้นตันเป็นอย่างมาก และจะบอกกับตัวเองอยู่เสมอว่าต้องพยายามให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้บรรพบุรุษต้องขายหน้า” ข่งเหวยเหลียง (孔維良) กล่าว สายเลือดที่ตัดยังไงก็ไม่ขาด ไม่ว่าจะอยู่ในแห่งหนใดก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ข่งอีหรู (孔一如) ที่นำเอาปรัชญาขงจื๊อมาผสมผสานเข้ากับพิธีชงชากล่าวว่า “พิธีชงชาคือการแสดงออกถึงปรัชญาขงจื๊อในด้านความนุ่มนวล ความดี การให้ความเคารพ ความมัธยัสถ์ และการอ่อนน้อมถ่อมตน ถือเป็นการฝึกฝนตนเองอย่างหนึ่งที่ผสมผสานเข้ากับชีวิตประจำวัน”
เข็มทิศแห่งชีวิต จากอดีตจนปัจจุบัน
“หากขงจื๊อมิได้กำเนิดมา ทุกวันเวลาก็คือราตรีกาล” ถือเป็นคำยกย่องขงจื๊อขั้นสูงสุดโดยจูสี (朱熹) นักปรัชญาคนดังสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ และหลังจากผ่านการทดสอบของยุคสมัยที่ผ่านมานานถึง 2,568 ปีจนทุกวันนี้ ปรัชญาขงจื๊อก็ยังคงเปรียบเสมือนเป็นเข็มทิศแห่งชีวิตประจำวันในสังคมปัจจุบัน ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกยกย่องและสรรเสริญแนวความคิดของสุดยอดปรมาจารย์ผู้นี้
ข่งฉุยฉาง (孔垂長) รู้สึกได้ถึงภาระหน้าที่อันหนักหน่วงของประวัติศาสตร์และวงศ์ตระกูล “หลังจากได้สวมใส่ชุดยาวของผู้ดำเนินพิธีตั้งแต่ปีค.ศ.2009 เป็นต้นมา ก็รับรู้ได้ถึงความยิ่งใหญ่ของภารกิจอันถือเป็นภาระที่หนักหน่วงซึ่งเหล่าบรรพชนได้มอบหมายให้” ซึ่งข่งฉุยฉางก็ได้เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อเผยแพร่ปรัชญาขงจื๊อตามแบบอย่างของบรรพชน “รู้สึกได้ถึงความเคารพนบนอบที่ชาวญี่ปุ่น เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้มีต่อปรัชญาขงจื๊อ”
มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้ คงอยู่ได้เพราะคำว่า “เมตตากรุณา” จริงๆ เราสามารถนำเอาจิตใจซึ่งเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่มีต่อสรรพสิ่งทั่วหล้ามาใช้ในการกำหนดจิตในชีวิตประจำวัน ด้วยแนวคิดที่ว่า “จงอย่าปฏิบัติต่อผู้อื่น ในสิ่งที่ไม่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา” ซึ่งข่งฉุยฉางยังเสริมอีกว่า “จิตวิญญาณทั้ง 5 ตามปรัชญาขงจื๊อคือ เมตตากรุณา ความยุติธรรม จารีตประเพณี ปัญญา และความซื่อสัตย์ ไม่เพียงแต่จะเป็นแนวทางการดำรงชีวิตที่สำคัญ หากแต่ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการปกครองบ้านเมือง” ปรัชญาขงจื๊อจึงไม่เพียงแต่เป็นสมบัติล้ำค่าของคนเชื้อสายจีน หากแต่ยังมีอิทธิพลต่อมวลมนุษยชาติอย่างกว้างไกล
การศึกษาและทำความเข้าใจจากดนตรีและพิธีกรรม ก็เหมือนกับเป็นผู้นำทางที่มีอยู่ทุกแห่งหน ซึ่งคอยจุดโคมประทีปแห่งชีวิตให้ส่องสว่าง ปรัชญาขงจื๊อที่ก้าวข้ามผ่านวันเวลานานกว่า 25 ศตวรรษ ไม่เพียงแต่จะไม่ใช่สิ่งล้าสมัย หากแต่กลับกลายเป็นยาดีที่คอยช่วยแก้ไขปัญหาของสังคม ซึ่งก็เหมือนกับปรัชญาขงจื๊ออันเป็นแนวทางที่เหล่าผู้ดำเนินพิธีได้ยึดถือสืบต่อกันมาว่า “แบกรับภาระของทั่วหล้า นำพาสันติสุขสู่มวลมนุษย์”