ผู้สืบทอดคำสอนขงจื๊อแห่งศตวรรษ
กิจกรรมรำลึกครบรอบ 100 ปี ข่งเต๋อเฉิง
เนื้อเรื่อง‧หลี่ซันเหว่ย ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧รุ่งรัตน์ แซ่หยาง
มิถุนายน 2019
末代衍聖公,首任奉祀官,前考試院院長孔德成,是孔子第77代嫡長孫,歷經時代風雨,堅守命脈道統,刻寫世紀傳奇。
ข่งเต๋อเฉิง (孔德成) อดีตประธานสภาสอบคัดเลือกของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทายาทสายตรงรุ่นที่ 77 แห่งตระกูลขงจื๊อ ผู้สืบทอด “เหยียนเซิ่งกง” (衍聖公) คนสุดท้าย ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ที่ยกย่องความยิ่งใหญ่ของต้นตระกูลขงจื๊อจากฮ่องเต้ และได้รับการแต่งตั้งเป็นเฟิ่งซื่อกวน (奉祀官) หรือประธานพิธีบวงสรวงบรมครูขงจื๊อเป็นคนแรก ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายมาอย่างโชกโชน ประกอบกับเป็นผู้ที่ยึดมั่นในแนวลัทธิคำสอนของขงจื๊อ เรื่องราวของท่านจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นการบันทึกระดับตำนานแห่งศตวรรษ
กิจกรรมรำลึก 100 ปี และนิทรรศการข่งเต๋อเฉิง จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2562 ณ หอประชุมใหญ่ บริษัทการปิโตรเลียมไต้หวัน (CPC Corporation) และหอศิลป์ป๋ออ้ายหรือหอศิลป์แห่งภราดรภาพในอนุสรณ์สถานดร.ซุนยัดเซ็น ในกรุงไทเป
กิจกรรมรำลึกในครั้งนี้ได้จัดทำ “หนังสือข่งเต๋อเฉิง ฉบับรวมเล่ม” รวบรวมวรรณกรรม งานเขียน บันทึกประจำวัน และหนังสือด้านกฎหมายต่างๆ ไว้ด้วยกัน นับเป็นหนังสือชุดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และหาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรงบประมาณกว่าสิบล้านเหรียญไต้หวัน เพื่อถ่ายทำสารคดีชุด “孔德成傳記紀錄片:風雨一盃酒” สารคดีชีวประวัติของข่งเต๋อเฉิง โดยเดินทางไปถ่ายทำยังสถานที่จริงในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญยิ่งในการวิจัยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
ทายาทสายตรงถือกำเนิดขึ้นในตำหนักขงจื๊อ
แสงจากดวงอาทิตย์ในช่วงฤดูหนาวกำลังสาดส่อง สร้างความอบอุ่นไปทั่วท้องถนนซงเหริน กลางกรุงไทเป อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ภายในหอประชุมใหญ่ของบริษัท CPC Corporation คราคร่ำไปด้วยบุคคลสำคัญมากมาย อาทิ อดีตประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่ว แห่งไต้หวัน สาธารณรัฐจีน, เติ้งเจียจี รองผู้ว่าการกรุงไทเป, หลินชิงฉี อธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, หลันซื่อชง ผู้อำนวยการสำนักการปกครอง กรุงไทเป และตัวแทนสำนักลัทธิขงจื๊อจากประเทศต่างๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตลอดจนทายาทตระกูลข่งหลายร้อยคนจากทั่วโลก ที่พากันเดินทางมาร่วมรำลึก ข่งเต๋อเฉิง บัณฑิตแห่งศตวรรษ ท่ามกลางบรรยากาศภายในงานที่ดูเคร่งขรึมแต่อบอวลไปด้วยความอบอุ่น
ด้านอนุสรณ์สถานดร.ซุนยัดเซ็น ได้จัดนิทรรศการพิเศษขึ้นที่หอศิลป์ป๋ออ้าย ภายในนิทรรศการได้นำเอกสารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ มาจัดแสดงจำนวนมาก อาทิ ภาพเขียนตัวอักษรศิลป์คำว่า “萬世師表” อันหมายถึง บรมครูผู้เกรียงไกร ซึ่งเป็นภาพเขียนตัวอักษรศิลป์จากลายพระหัตถ์ของจักรพรรดิคังซีที่ตระกูลข่งมอบให้กับพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (กู้กง) ของไต้หวันมาจัดแสดงด้วย นอกจากนี้ยังมีร่างเอกสารหรือหนังสือที่มีคุณค่าจำนวนมาก และบันทึกช่วงอพยพย้ายไปยังนครฉงชิ่ง เป็นต้น อีกทั้งยังมีการจัดแสดงสิ่งของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์อื่นๆ มากมาย ทั้งข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น หนังสือรับรอง, ตราประทับส่วนราชการ, เหรียญเกียรติยศ, ภาพถ่ายอันล้ำค่า และหนังสือกฎหมายต่างๆ เป็นต้น
เสื้อคลุมผ้าไหมลายพญางูห้าเล็บ สันนิษฐานว่าได้รับพระราชทานจากจักรพรรดิกวงซวี่ในราชวงศ์ชิง ชุดดังกล่าวจัดแสดงคู่กับสายสร้อยประคำราชสำนัก ทำจากไม้ต้นโพธิ์ หยก และทัวร์มาลีน และผ้าปักลายบอกขุนนางระดับชั้นสูงสุดฝ่ายบุ๋นของราชสำนัก แสดงให้เห็นถึงการยกย่องและให้เกียรติในตระกูลข่งและบิดาของข่งเต๋อเฉิง ซึ่งก็คือข่งลิ่งหยีเป็นอย่างสูง
สารคดีชีวประวัติข่งเต๋อเฉิงถูกนำมาฉายในงานรำลึกและในนิทรรศการพร้อมกัน โดยถ่ายทอดเรื่องราวในช่วงศตวรรษที่แล้วราวปีที่ 9 ของการก่อตั้งสาธารณรัฐจีน (ค.ศ.1920) ในวันที่ 4 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติ ขณะนั้นตำหนักขงจื๊อ ในเมืองชวีฟู่ มณฑลซานตง มีการป้องกันอย่างเข้มงวดทั้งภายในและภายนอกของตำหนัก ทุกคนต่างเฝ้ารออย่างสงบ ในที่สุดหนูน้อยข่งเต๋อเฉิงก็ร้องไห้ลืมตาดูโลก กลายเป็นทายาทผู้รับหน้าที่สืบทอดสายเลือดตระกูลขงจื๊อที่มีมายาวนาน 2,500 ปี
เอกสารสำคัญที่นำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกต่อสาธารณชนอีกชิ้นหนึ่ง คือ หนังสือคำสั่งสีแดง/เหลืองของสวีซื่อชาง (徐世昌) ประธานาธิบดีในยุครัฐบาลเป่ยหยาง เป็นคำสั่งแต่งตั้งตำแหน่งเหยียนเซิ่งกงให้แก่ข่งเต๋อเฉิง ซึ่งในขณะนั้น คุณชายน้อยในชุดผ้าอ้อมท่านนี้ เกิดมาได้เพียงหนึ่งร้อยวันก็ได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ที่ยกย่องความยิ่งใหญ่ของต้นตระกูลขงจื๊อ และต้องแบกรับภาระหน้าที่อันหนักอึ้งของตระกูลข่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ข่งเต๋อเฉิง ผู้มีความแน่วแน่ท่ามกลางไฟสงคราม
ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง คือหลักฐานที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนมอบให้แก่ข่งเต๋อเฉิงเป็นกรณีพิเศษ โดยในปีค.ศ. 1935 ข่งเต๋อเฉิงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ต้าเฉิงจื้อเซิ่งเซียนซือเฟิ่งซื่อกวน” หรือประธานพิธีบวงสรวงขงจื๊อ บรมครูผู้เกรียงไกร โดยได้เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวัย 15 ปีที่นครหนานจิง
ทะเบียนสมรสที่ได้รับการเก็บรักษาไว้อย่างดียิ่งฉบับนี้ เป็นอีกหนึ่งเอกสารสำคัญที่บันทึกเรื่องราวการสมรสของข่งเต๋อเฉิง เขาได้เข้าพิธีวิวาห์ท่ามกลางไฟสงครามลุกโชน ทำให้มีความสุขและอบอุ่นจากการใช้ชีวิตคู่ จิตใจไม่เงียบเหงาว้าเหว่อีกต่อไป
เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปีค.ศ.1938 ขณะที่ข่งเต๋อเฉิงมีอายุ 18 ปี เขาได้รับคำสั่งให้เดินทางลงใต้ในทันที ขณะที่ซุนฉีฟางผู้เป็นภรรยาท้องแก่ใกล้คลอด ทำให้เขาตัดสินใจลำบากยิ่งว่า จะเดินทางลงใต้ตามคำสั่งหรือไม่ แต่ความกังวลที่ตกเป็นหุ่นเชิดให้กับผู้อื่น ทำให้เขาลังเลไม่ได้ที่จะต้องตัดสินใจออกเดินทางในคืนนั้นทันที และหลังจากนั้นเพียงหนึ่งชั่วยาม กองทัพทหารญี่ปุ่นได้บุกเข้ามาถึงเมืองชวีฟู่ การตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวทำให้บันทึกหน้าประวัติศาสตร์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
คณะของสองสามีภรรยาข่งเต๋อเฉิง อาจารย์ลวี่จินซัน และหลีปิ่งหนาน เลขานุการ รวม 8 คน ตกอยู่ในอาการหวาดกลัวและหวั่นวิตกตลอดการเดินทาง 3 วัน หลังจากนั้นพวกเขาเดินทางถึงเมืองฮั่นโข่ว ทั่วแผ่นดินจีนตกอยู่ท่ามกลางสงครามเป็นเวลามากกว่า 5 วัน และในตอนนั้นเองที่ข่งเต๋อเฉิงได้ต้อนรับการถือกำเนิดของบุตรสาวคนโตชื่อ ข่งเหวยเอ้อ
หลังอพยพมาอยู่ยังนครฉงชิ่ง บ้านพักถูกโจมตีด้วยระเบิดถึง 2 ครั้ง จนกระทั่งย้ายเข้าไปอยู่ในภูเขาเกอเล่อซาน จึงได้อยู่อย่างเงียบสงบช่วงหนึ่ง และบุตรชายของเขาคือข่งเหวยอี้ ได้ถือกำเนิดที่นี่เมื่อปีค.ศ.1939
พลัดถิ่นแต่ไม่พลัดบ้าน
ข่งเต๋อเฉิงพูดถึงชีวิตของท่านแบบติดตลกว่า ชั่วชีวิตนี้ไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนเลย โดยหลังจากที่ท่านย้ายมาอาศัยในไต้หวันแล้ว มหาวิทยาลัยในเอเชียหลายแห่งได้มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้กับท่าน อาทิ Sungkyunkwan University เกาหลีใต้, Reitaku University ญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) เป็นต้น
เมื่อครั้งที่ท่านยังเล่าเรียนอยู่ในตำหนักขงจื๊อ ท่านได้รับการอบรมสั่งสอนจากครูอาจารย์ที่มีความสามารถหลายท่าน อาทิ หวังหมิ่นหัว, จวงไกหลัน, อู๋ป๋อเซียว, จันเฉิงชิว และหลังจากที่อพยพไปพำนักอาศัยอยู่ที่เขาเกอเล่อซาน ท่านได้รับการอบรมสั่งสอนจากลวี่จินซันและติงเหวยเฝิน ทำให้มีวิชาความรู้พื้นฐานในศาสตร์ต่างๆ มากมาย ทั้งทางวิชาการ ดนตรี และภาษา เช่น การศึกษาคัมภีร์โบราณ, อักษรศาสตร์, สัทวิทยาภาษาจีนโบราณ, อักษรบนเครื่องทองสัมฤทธิ์, การเขียนพู่กัน, ภาษาอังกฤษ และกู่ฉิน เครื่องดนตรีจีนโบราณ เป็นต้น เมื่อปีค.ศ.1948 ท่านได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เพื่อรับแนวคิดการศึกษาวิชาความรู้แบบตะวันตก และยอมรับในคุณค่าของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ระหว่างนั้นยังได้รับคำแนะนำจากฟู่ซือเหนียน ปัญญาชนผู้มีความรู้และเป็นที่เคารพยกย่องในความมีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นอย่างยิ่ง
ในช่วงชีวิตของการเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ข่งเต๋อเฉิงได้ใช้เงินส่วนตัวถ่ายทำภาพยนตร์ขาวดำเรื่อง “พิธีกรรม และพิธีการแต่งงาน” ทะลุกรอบจำกัดของตนเองและแหวกออกจากสิ่งเก่าๆ โดยลูกศิษย์ผู้ที่รับบทเป็นนักแสดงภาพยนตร์ในขณะนั้น ได้มาเข้าร่วมงานนิทรรศการดังกล่าว เพื่อรำลึกถึงความทรงจำในอดีตร่วมกัน
ข่งเต๋อเฉิงเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเขียนอักขระจีนโบราณทั้ง 5 แบบ ฝากผลงานเขียนไว้มากมาย ซึ่งหนังสือเหล่านี้ถือว่าเป็นเอกสารสำคัญในงานนิทรรศการครั้งนี้ด้วย
ในฐานะผู้สืบเชื้อสายของตระกูลขงจื๊อ ข่งเต๋อเฉิงเป็นคนที่นอบน้อมถ่อมตนและควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีมาตั้งแต่วัยเด็ก ประพฤติปฏิบัติตนโดยยึดมั่นความถูกต้อง จริงใจ คุณธรรม และความรักความสามัคคีในครอบครัว เป็นกฎเกณฑ์ในการดำรงชีวิตตลอดมา สะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะของมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ นิทรรศการครั้งนี้ได้นำภาพเขียนตัวอักษรศิลป์คำว่า “忠信篤敬” อันหมายถึง ความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดี และการเคารพนับถือ มาจัดแสดงด้วย ซึ่งคำดังกล่าวถือเป็นข้อคิดเตือนใจที่ลูกหลานตระกูลข่งยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาในวงศ์ตระกูล
ช่วงระหว่างที่ข่งเต๋อเฉิงต้องผจญกับมรสุมชีวิตต่างๆ นานา ท่านแสดงบทบาทในฐานะนักวิชาการเพียงอย่างเดียว แม้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ รวมทั้งดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เช่น ประธานสภาสอบคัดเลือก ที่ปรึกษาทำเนียบประธานาธิบดี ตลอดจนตำแหน่งทูตพิเศษในฐานะผู้สืบเชื้อสายขงจื๊อ เป็นต้น แต่ท่านยังคงยึดมั่นในหลักปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีดั้งเดิมที่สืบทอดต่อกันมา
ในระยะแรกที่อพยพมาพำนักอยู่ในไต้หวัน ท่านได้เดินทางไปเป็นประธานประกอบพิธีบวงสรวงบรมครูขงจื๊อในประเทศต่างๆ หลายต่อหลายครั้ง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ท่านยังมีโอกาสสนทนากับสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ในปีค.ศ.1984 การพบกันของบุคคลสำคัญจากโลกตะวันตกและโลกตะวันออกในครั้งนั้น กลายเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวขานกันมากในรอบศตวรรษ
ปีค.ศ.1949 รัฐบาลสาธารณรัฐจีนในขณะนั้นได้ขนย้ายโบราณวัตถุและสมบัติต่างๆ ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (กู้กง) หอสมุดกลางหนานจิง และพิพิธภัณฑ์หนานจิงมายังไต้หวัน และนำไปเก็บรักษายังคลังเก็บวัตถุโบราณที่สร้างขึ้นใหม่บริเวณอู้ฟงในปีค.ศ.1955 โดยศิลปวัตถุล้ำค่าต่างๆ ของตำหนักขงจื๊อจากเมืองชวีฟู่ก็ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ยังสถานที่เดียวกัน ภายหลังมีการปรับหน่วยงานทั้งสามแห่งรวมเป็นสำนักบริหารพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (กู้กง) โดยข่งเต๋อเฉิงเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการในปีถัดมา
ระหว่างดำรงตำแหน่ง ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ จัดแยกหมวดหมู่ บันทึกประวัติความเป็นมา และขั้นตอนการผลิตของศิลปวัตถุต่างๆ รวมทั้งนำวัตถุล้ำค่าเหล่านี้ไปจัดแสดงที่สหรัฐอเมริกา สร้างความตื่นตาตื่นใจ และส่งผลให้สหรัฐอเมริกาจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติ (กู้กง) ย่านไว่ซวงซี เขตซื่อหลิน ในกรุงไทเปอีกด้วย
ครูผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อลูกศิษย์
สมาคมบรมครูขงจื๊อจงหัว กองการปกครอง กรุงไทเป ศาลเจ้าขงจื๊อกรุงไทเป และอนุสรณ์สถานดร.ซุนยัดเซ็น ได้ร่วมกันบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของข่งเต๋อเฉิงผ่านงานนิทรรศการรำลึกในครั้งนี้
ข่งเต๋อเฉิงเคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) มหาวิทยาลัยครุศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University) มหาวิทยาลัยแห่งชาติจงซิง (National Chung Hsing University) มหาวิทยาลัยฝู่เหริน (Fu Jen Catholic University) และมหาวิทยาลัยตงอู๋ (Soochow University) โดยสอนในวิชา “ซานหลี่” หรือธรรมเนียมปฏิบัติโบราณ 3 ประการ วิชาอักษรโบราณจินเหวิน และอักษรบนเครื่องสัมฤทธิ์ยุคราชวงศ์อิ๋นและราชวงศ์โจว บุคลิกเคร่งขรึมแต่เปี่ยมด้วยความเมตตาเป็นภาพลักษณ์ของข่งเต๋อเฉิง ที่เหล่าลูกศิษย์หลายๆ คน อย่าง เจิงหย่งอี้ จังจิ่งหมิง หวงฉี่ฟาง และเย่กั๋วเหลียง ยังคงรำลึกเสมอมา
ข่งเต๋อเฉิง เป็นคนปฏิบัติต่อตนเองด้วยความเข้มงวดเคร่งครัด แต่ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความอะลุ่มอล่วยให้อภัย ท่านมักจะเชิญนักเรียนที่ฐานะครอบครัวไม่ดีนักมารับประทานอาหารร่วมกันหลังเลิกเรียน เพื่อให้พวกเขาได้รับประทานอาหารที่ดีและอิ่มท้อง แต่กับครอบครัวของท่านเองแล้ว กลับมัธยัสถ์เป็นอย่างมาก บางมื้อก็รับประทานหมั่นโถวเพียงชิ้นเดียว
ชีวิตที่ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนของข่งเต๋อเฉิง
บุตรชายคนโตของข่งเต๋อเฉิงลาจากโลกไปเมื่อท่านอายุได้ 69 ปี นับเป็นความโศกเศร้าที่สร้างความเจ็บปวดให้กับท่านอย่างมากกับการจากไปก่อนวัยอันควรของลูกชาย ประสมประสานกับชะตาชีวิตอันลำเค็ญ และบรรพบุรุษถูกเหยียบย่ำ ยิ่งทำให้เขายากที่จะกลั้นน้ำตาที่ทะลักออกมาด้วยความเศร้าระทมต่อหน้าญาติมิตรในครอบครัว
บันทึกประจำวันเล่มหนึ่งที่ถูกนำมาจัดแสดงภายในงาน ตัวหนังสือเขียนด้วยลายมือค่อนข้างหวัด ได้บันทึกเรื่องราวของพี่สาวคนโตผู้ลาจากโลกนี้ไป ความโศกเศร้าอาดูรที่เกิดจากการสูญเสียถูกถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือได้อย่างหมดจด นอกจากนี้ยังมี “ตุ้ยเหลียน” หรือคำโคลงคู่ ซึ่งเป็นของขวัญที่ท่านมอบให้กับพี่สาวคนที่สองหลังจากกันมานานกว่า 42 ปี และได้กลับมาพบกันอีกครั้ง คำโคลงคู่ที่ว่าคือ 風雨一盃酒,江山萬里心 (เฟิงอวี่อี้เปยจิ่ว เจียงซันวั่นหลี่ซิน) สื่อความหมายถึงความคิดถึงบ้านเกิดและพี่สาวที่ต้องพลัดพรากจากกันเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตของข่งเต๋อเฉิง
ข่งเต๋อเฉิง ผู้เชี่ยวชาญด้านรีต ธรรมเนียมปฏิบัติโบราณของจีน ได้ใช้ชีวิตของท่านเขียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พร้อมๆ กับการปฏิบัติตนอย่างมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์ และเพื่อประโยชน์ของประชาชน
หลังจากที่ข่งเต๋อเฉิงถึงแก่อสัญกรรมได้สามปี ข่งฉุยฉางหลานคนโตที่สืบเชื้อสายของตระกูลข่ง ทายาทรุ่นที่ 79 เข้ารับหน้าที่ประธานประกอบพิธีบวงสรวงบรมครูขงจื๊อคนต่อไป สืบสานอุดมการณ์ของข่งเต๋อเฉิง ข่งฉุยฉางก้าวไปบนหนทางเส้นเดียวกับที่ข่งเต๋อเฉิงเคยก้าวผ่านมานานกว่า 60 ปี ครั้งสุดท้ายที่เขาเดินผ่านทางแห่งเทพหน้าศาลเจ้าขงจื๊อที่มีความยาวกว่า 1,300 เมตร เสียงระฆังที่ดังก้องกังวาน เสมือนแนวความคิดของปรัชญาขงจื๊อที่สอดคล้องกับยุคสมัยจะได้รับการสานต่อไปตราบนานเท่านาน.