กาแฟกองพล 93 สืบสานตำนานบรรพบุรุษ
เนื้อเรื่อง‧หลงเพ่ยหนิง ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧กาญจน์ญาณ์ กฤษณ์ชญาคมน์
ตุลาคม 2017
台灣作家柏楊創作的戰爭小說,在1990年改編成同名電影《異域》與李立劭導演的紀錄片《那山人 這山事》,正訴說著這群近凋零、漸被遺忘「泰北孤軍」故事。
5月18日的午後,正逢台北市萬安演習,警報聲響起前,一群咖啡愛好者早已齊聚在一起,參與「泰北咖啡分享會」,一邊喝著來自泰北「93 師莊園」有機種植的手沖咖啡,一邊聽著主辦人、孤軍第三代沈培詩分享土地認同的故事。
หนังสือนวนิยายแนวสงครามของป๋อหยาง (柏楊) นักเขียนชาวไต้หวัน ได้ถูกมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเรื่องเดียวกันว่า A Home Too Far
(異域) ในปีค.ศ.1990 ซึ่งมีชื่อภาพยนตร์เป็นภาษาไทยว่า ท้าย่ำ และยังกลายเป็นผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Stranger in The Mountains
(那山人這山事) ของผู้กำกับภาพยนตร์หลี่ลี่เส้า (李立劭) ที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มคนที่มีชื่อว่า กองพล 93 ซึ่งใกล้จะโรยรา และค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป
ช่วงบ่ายของวันที่ 18 พ.ค. 2017 ในช่วงเวลาก่อนที่สัญญาณเตือนการซ้อมหลบภัยทางอากาศรหัสว่านอัน (萬安) ในกรุงไทเปจะดังขึ้นนั้น กลุ่มคอกาแฟได้รวมตัวกันร่วมงานสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านกาแฟภาคเหนือของไทย ซึ่งจะได้ดื่มกาแฟแบบดริปจาก ไร่กองพล 93 ที่ปลูกแบบออร์แกนิกไปพร้อมๆ กับฟังเรื่องราวที่คุณชไมพร เจริญทั้งสมบัติ หรือ เสิ่นเผยซือ (沈培詩) ที่เป็นทั้งผู้จัดงานและอยู่ในฐานะลูกหลานรุ่นที่ 3 ของกองพล 93 มาบอกเล่าแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับแดนดินถิ่นกำเนิดแห่งนี้
คุณชไมพรเกิดที่ดอยผาตั้ง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เธอเป็นลูกหลานรุ่นที่ 3 ของกองพล 93 แห่งกองทัพจีนคณะชาติ (ก๊กมินตั๋ง) ที่ถอยร่นมาตั้งรกรากทางภาคเหนือของไทย
ปีนี้เธอมีอายุ 27 ปี ชอบสวมเสื้อสีเขียวขี้ม้าแบบทหารอยู่เสมอ และสวมกำไลที่มีสัญลักษณ์รูปดวงตาขนาดใหญ่สีฟ้าเป็นเครื่องรางนำโชค เธอผู้ซึ่งมีรูปร่างบอบบาง ไว้ผมสั้นประบ่า และพูดภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่วคนนี้ ช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ที่ไต้หวันเคยสมัครเข้าไปทำงานพาร์ทไทม์ในร้านกาแฟ Lao Chai Cafe (老柴咖啡館) ที่ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย หลังจากกลับเมืองไทย ก็นำเมล็ดกาแฟผลผลิตจากบ้านเกิดมาเปิดร้านกาแฟชื่อว่า 93army coffee ที่กรุงเทพฯ โดยใช้ความหอมกรุ่นของกาแฟช่วยสืบสานตำนานของบรรพบุรุษตน กองพล 93 ให้คงอยู่ต่อไป
ชีวิตที่ผันเปลี่ยนของกองพล 93 มาปลูกกาแฟที่ภาคเหนือของไทย
93army coffee ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพและรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีเอกมัย บรรดาผู้มาเยือนผลักประตูร้านเข้ามาตามกลิ่นหอมของกาแฟ บรรยากาศร้านอบอวลไปด้วยการตกแต่งสไตล์ทหารและสไตล์ลอฟท์ดูเตะตา ภายในร้านประดับประดาด้วยสิ่งของเกี่ยวกับทหาร เสมือนได้เดินเข้าสู่ระเบียงประวัติศาสตร์กองพล 93
รูปเครื่องหมายการค้าของกาแฟกองพล 93 เป็นรูปเหมือนของ พลเอกเสิ่นเจียเอิน (沈加恩) ผู้บัญชาการกองพลทหารที่ 93 ของกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีนช่วงสงครามกลางเมืองของจีนในปี 1949 กองทัพจีนคณะชาติบางส่วนเคลื่อนพลจากมณฑลยูนนานเดินทางบุกป่าฝ่าดง ระเหระหน กระจัดกระจายกันไปตามชายแดนไทย-พม่า เป็นที่มาของคำภาษาจีนที่ใช้เรียกกองพล 93 กันในทุกวันนี้ว่า "ไท่เป่ยกูจวิน" (泰北孤軍) อันหมายถึงกองพลทหารที่มาปักหลักตั้งรกรากอย่างโดดเดี่ยวที่ภาคเหนือของไทย จนกระทั่งปี 1979 กองพล 93 ได้ช่วยเหลือกองทัพไทยในการทำสงครามต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ปกปักรักษาพื้นที่ภาคเหนือของไทยไว้ได้ จึงได้รับสัญชาติไทยเป็นการตอบแทนให้สามารถพำนักในภาคเหนือของไทยได้อย่างสบายใจ หลังจากสงครามยุติลง จากที่พวกเขาเคยเป็นทหารถือปืนต่อสู้ในสงคราม ก็ได้กลายมาเป็นชาวไร่ชาวนาถือจอบขุดดินแทน
ภาคเหนือของไทยได้รับสมญานามว่า สามเหลี่ยมทองคำ เคยเป็นสถานที่เพาะปลูกต้นฝิ่นซึ่งเป็นวัตถุดิบในการสกัดฝิ่น อย่างไรก็ตาม ต้นฝิ่นไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับสากล ยังส่งผลกระทบต่อการรักษาสภาพดินของสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอีกด้วย ช่วงก่อนปี 1969 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่ภาคเหนือ และก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวง (Thailand Royal Project Foundation)
โครงการหลวง (Royal Project) เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้ร่วมมือกับกลุ่มเทคโนโลยีการเกษตรไต้หวัน สาธารณรัฐจีน จนถึงทุกวันนี้ ในการให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการเกษตรแก่ชาวบ้านในภาคเหนือ โดยเปลี่ยนมาเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจแทนการปลูกฝิ่น
คุณพ่อของคุณชไมพร คือ คุณเสิ่นชิ่งฟู่ (沈慶復) มีชื่อไทยว่านายสมชาย เจริญทั้งสมบัติ เป็นทายาทกองพล 93 รุ่นที่ 2 เคยเดินทางมาศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาและปริญญาตรีในไต้หวัน จนกระทั่งปี 2009 ได้นำเข้าต้นกล้ากาแฟ และใช้ชื่อของพลเอกเสิ่นเจียเอินก่อตั้ง ไร่กาแฟกองพล 93 ถือเป็นโชคชะตาที่ได้เริ่มผูกพันกับกาแฟ
พอมาถึงคุณชไมพรซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ก็ได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อให้มาเรียนหนังสือที่ไต้หวันเช่นกัน โดยเลือกศึกษาในสาขาบริหารธุรกิจ และเนื่องจากบ้านเกิดของตนที่ภาคเหนือเพาะปลูกกาแฟ คุณชไมพรจึงไปสมัครงานพาร์ทไทม์ระหว่างเรียนที่ร้านกาแฟ Lao Chai Coffee (老柴咖啡館) ซึ่งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย ทำให้ได้รู้จักกาแฟจากประสบการณ์จริง หลังจากเรียนจบ เธอจึงวางแผนเปิดร้านกาแฟที่บ้านเกิด
ที่มาของการริเริ่มธุรกิจ ชาวไร่กาแฟดื่มกาแฟไม่ลง
กาแฟที่บ้านเกิดบนดอยผาตั้งปลูกอยู่บนภูเขาสูง 1,200-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล และเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกมีขนาดไม่ใหญ่นัก ทำให้ปริมาณผลผลิตมีจำกัดจนไม่สามารถแข่งขันทางธุรกิจในด้านปริมาณผลผลิตได้ ประกอบกับราคารับซื้อและราคาขายเมล็ดกาแฟหลังผ่านการอบมีราคาต่างกันมากหลายเท่า กาแฟแต่ละแก้วที่จำหน่ายในร้านกาแฟมีราคาสูงเกินร้อยบาท สำหรับชาวไร่กาแฟแล้ว กาแฟกลับกลายเป็นเครื่องดื่มแสนแพงที่ดื่มไม่ลง
คุณชไมพรตระหนักดีว่ากาแฟภาคเหนือของไทยยังเป็นที่รู้จักในวงจำกัดเฉพาะในประเทศไทย แหล่งผลิตกาแฟในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งอินโดนีเซียและเวียดนามมีชื่อเสียงมากที่สุด ขณะให้สัมภาษณ์คุณชไมพรพูดด้วยน้ำเสียงปนเศร้าเล็กน้อย แต่นั่นก็ยิ่งทำให้ภารกิจของเธอในการโปรโมทกาแฟภาคเหนือของไทยต้องทวีคูณเพิ่มขึ้น เพื่อให้โลกได้ตามรอย กาแฟดี สู่ไร่กาแฟที่ภาคเหนือของไทย
ชาวไร่มีทักษะเชี่ยวชาญในการปลูก แต่รายได้หลังจากหักลบต้นทุนการผลิตแล้วแทบไม่เหลืออะไรเลย ผลกำไรถูกพ่อค้าคนกลางและบริษัทธุรกิจอาหารข้ามชาติควบคุมหมด คุณชไมพรผู้ตั้งใจจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในบ้านเกิด มีวิสัยทัศน์ว่าจะต้องทำให้ผู้คนรู้จักพื้นที่ภาคเหนือและกาแฟชั้นดีจากภาคเหนือของไทยให้จงได้
ตั้งแต่เริ่มปลูกจนกลายมาเป็นกาแฟที่หอมกรุ่นสักแก้วหนึ่งจะต้องอาศัยความชำนาญทุกขั้นตอน ชาวไร่กาแฟมีทักษะในการเพาะปลูก ตั้งแต่ขั้นตอนคัดเลือกเก็บเกี่ยวจนกระทั่งจำหน่าย สามารถใช้ทักษะต่างๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าของกาแฟได้ และทักษะความเชี่ยวชาญเหล่านี้ก็คือสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากไต้หวันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารธุรกิจ การตลาด การจัดการกับเมล็ดกาแฟ และการคัดแยก เป็นต้น กว่าจะกลายมาเป็นกาแฟดีได้นั้นจะต้องให้ความสำคัญในทุกขั้นตอน
คุณชไมพร ผู้ซึ่งวัยเพียง 20 กว่าปี ไม่เคยวางแผนใดๆ เลยว่าจะเปิดร้านกาแฟ เมื่อเธอนึกย้อนไปถึงช่วงที่ไฟแรงอยากเปิดร้านตอนนั้นยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องที ่เสี่ยงมาก เธอผู้ไม่มีประสบการณ์ใดๆ มาก่อนยอมรับว่าเคยคิดอยากจะล้มเลิกเหมือนกัน
ดื่มกาแฟเป็น ไม่ได้แปลว่าจะเปิดร้านกาแฟได้ เรียนบริหารธุรกิจมา ไม่ได้แปลว่าจะทำธุรกิจรอด คุณชไมพรกัดฟันอดทนยืนหยัดสู้ต่อไป โดยทำไป เรียนรู้ไป และปรับเปลี่ยนไปทีละขั้น นับจากเริ่มเปิดธุรกิจเมื่อเดือนตุลาคม 2014 จนถึงทุกวันนี้ ที่ร้านกาแฟ 93army coffee ไม่เพียงแต่จะให้บริการกาแฟสายพันธุ์อาราบิกาแท้ๆ ที่ปลูกแบบออร์แกนิกจากภาคเหนือของไทย ยังมีแฮมเบอร์เกอร์สไตล์ไต้หวันหรือที่เรียกว่า กว้าเปา (刈包) ให้ได้ลิ้มลองอีกด้วย
ทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ ต้องค้าขายอย่างเป็นธรรม
คุณชไมพรไม่ลืมเจตนารมณ์ในตอนแรกที่อยากจะสร้างแบรนด์กาแฟของบ้านเกิด เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพของเมล็ดกาแฟให้ดียิ่งขึ้น
ฤดูกาลเก็บเกี่ยวเป็นช่วงที่เกษตรกรยุ่งตัวเป็นเกลียว จำนวนคนงานที่เก็บเกี่ยวมักมีไม่พอต่อความต้องการ เมล็ดกาแฟที่กำลังแน่นเป็นพวงจะต้องแยกเด็ดเมล็ดสีแดงที่สุกเต็มที่แล้วอย่างระมัดระวัง ส่วนเมล็ดอื่นที่ยังสุกแค่ครึ่งเดียวหรือยังไม่สุกจะต้องรอจนกว่าจะสุกแล้วค่อยเด็ด เมื่อเทียบกับค่าจ้างรายวันที่น้อยนิด การเก็บเกี่ยวที่คัดแยกแบบนี้จึงเสียค่าใช้จ่ายและเวลา ถือว่าไม่มีประสิทธิภาพนัก
หากเมล็ดกาแฟที่เก็บเกี่ยวมีระดับความสุกไม่เท่ากันจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของกาแฟขณะที่อบ ดังนั้น คุณชไมพรผู้พิถีพิถัน ไม่เพียงแต่ให้ความรู้แก่เกษตรกรว่าจะต้องเก็บเกี่ยวอย่างไร ยังประกาศหาอาสาสมัครจากต่างประเทศผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้เดินทางขึ้นเขาไปด้วยกัน นำบรรดาคนรักกาแฟมาสัมผัสประสบการณ์จริงว่ากว่าจะมาเป็นกาแฟดีๆ สักแก้วได้นั้นต้องผ่านกระบวนการอันแสนยากลำบาก จึงสมควรแก่การได้รับยกย่องว่าเป็นกาแฟดี และในขณะเดียวกันก็มีหลักการด้วยว่า ทำธุรกิจอย่างยั่งยืนได้ ต้องค้าขายอย่างเป็นธรรม
คุณชไมพรเป็นสมาชิกของสมาคมกาแฟพิเศษไทย (Specialty Coffee Association of Thailand, SCATH) โดยร่วมกับสมาชิกและอาสาสมัครของสมาคมเดินทางไปช่วยเหลือชาวไร่กาแฟในท้องถิ่นบนภูเขาภาคเหนือของไทยเป็นประจำ พวกเขากางเต็นท์ในป่าอย่างง่ายๆ กลางวันไปที่ไร่กาแฟเพื่อมอบต้นกล้ากาแฟและช่วยปลูกด้วย แต่ด้วยสภาพอากาศของพื้นที่ภูเขาแต่ละแห่งตั้งอยู่ในละติจูดที่แตกต่างกัน ทำให้สายพันธุ์ของกาแฟที่เหมาะสมกับสภาพอากาศแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกัน บางครั้งจำเป็นต้องปลูกไปก่อน หลังจากปลูกจึงจะสามารถประเมินได้ว่าเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ หรือไม่ และสิ่งเหล่านี้ยังจำเป็นต้องอาศัยการรอคอยเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน
ปฏิสัมพันธ์กับเกษตรกรในท้องถิ่นที่ก่อตัวขึ้นนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขาย คุณชไมพรสวมเสื้อกันฝน นั่งยองๆ มือหนึ่งถือต้นกล้ากาแฟ อีกมือหนึ่งจับเสียมขุดดิน แต่ละต้นที่ลงมือปลูกด้วยตนเองนั้นเปรียบเสมือนตัวแทนของความหวังในอนาคต
คุณชไมพรทำให้ไร่กาแฟภาคเหนือของไทยเจริญรอยสู่กาแฟชั้นดี เมล็ดกาแฟที่ขึ้นชื่อว่ามาจากไร่กาแฟกองพล 93 ล้วนอยู่บนแนวคิดการรักษาสมดุลระหว่างคุณภาพกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เบื้องหลังผลผลิตกาแฟแต่ละแก้ว คือความจริงใจอย่างเปิดเผย ผ่านทั้งกระบวนการและระยะเวลามาจากพื้นที่ภูเขาแห่งนั้น สำหรับเกษตรกร ก็ให้ราคาซื้อขายอย่างเป็นธรรม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในท้องถิ่น ก็ยิ่งทำให้พวกเขาตั้งอกตั้งใจในการดูแลเมล็ดกาแฟมากขึ้น ผู้บริโภคก็จะได้ดื่มกาแฟที่มีคุณภาพดี นี่คือสิ่งที่ได้รับกลับคืน และยังเป็นการช่วยสนับสนุนเกษตรกรอีกด้วย
คุณชไมพรเดินทางไปมาระหว่างไต้หวันกับไทยเป็นประจำ นอกจากเข้าร่วมงานนิทรรศการเกี่ยวกับกาแฟแล้ว ปัจจุบันยังจัดกิจกรรม งานสัมมนาแลกเปลี่ยนด้านกาแฟ ซึ่งเคยจัดที่กรุงไทเป และประกาศว่า กาแฟกองพล 93 ได้นำเข้ามาจำหน่ายในไต้หวันอย่างเป็นทางการแล้ว ในอนาคตหวังว่าจะสามารถเปิดสาขาร้านกาแฟในไต้หวันได้ กาแฟกองพล 93 ไม่เพียงแต่เป็นการสืบสานเรื่องราวตำนานชีวิตของทหารกองพล 93 อีกทั้งยังทำให้เกิดความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการเกษตรระหว่างไต้หวันกับไทยให้แน่นแฟ้นขึ้น และเป็นรูปแบบการบริโภคสินค้าเกษตรที่ทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และค้าขายอย่างเป็นธรรม