การพบพาน คือจุดเริ่มต้นของความเข้าใจ สัมผัสวัฒนธรรมการเกษตรไทย ผ่านงานมหกรรมการเกษตรเถาหยวน เนื้
เนื้อเรื่อง‧กัวอวี้ผิง ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧กาญจน์ญาณ์ กฤษณ์ชญาคมน์
สิงหาคม 2018
深入桃園農業博覽會,遠遠就看到層層田壟的花圃景觀,打造越南、印尼、菲律賓及泰國四國共有的水稻梯田縮影,正是博覽會25個展館中獲民眾喜愛票選第一名的「四國文化館」。
เมื่อย่างก้าวเข้ามาในพื้นที่จัดงานมหกรรมการเกษตรเถาหยวน ก็สามารถมองเห็นทัศนียภาพของแปลงดอกไม้ทอดยาวเป็นชั้นๆ ได้แต่ไกล รวมทั้งแปลงนาข้าวแบบขั้นบันไดที่ถูกย่อส่วนลงมาเพื่อใช้ในการจัดแสดงให้เห็นถึงลักษณะการทำนาขั้นบันไดที่กระจายอยู่ใน 4 ประเทศ ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย และนี่ก็คือ อาคารวัฒนธรรมสี่ชาติ ที่ได้รับการโหวตจากประชาชนให้เป็นขวัญใจมหาชนอันดับ 1 จากบรรดาอาคารจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด 25 แห่งภายในงานนี้
นครเถาหยวนเป็นเมืองที่มีแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในไต้หวัน รวมกับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ มีประมาณ 130,000 คน อาคารวัฒนธรรมสี่ชาติจึงถูกออกแบบเพื่อจัดแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมของอาเซียน และเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เดินชมความงดงามของนาขั้นบันไดเช่นเดียวกับในบ้านเกิด แม้จะอาศัยอยู่ในไต้หวัน
"สวัสดีค่ะ!" เจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการชาวไทยในชุดไทย ใช้ภาษาบ้านเกิดกล่าวทักทายต้อนรับแขกที่มาทำความรู้จักกับวัฒนธรรมสี่ชาติ พร้อมกับประนมมือไหว้และค้อมตัวลงเล็กน้อย นอกจากเจ้าหน้าที่ที่สวมชุดประจำชาติไทยแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการซึ่งมาจากอีกสามประเทศ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ต่างก็สวมชุดประจำชาติของตนเองเช่นกัน ทุกคนในที่แห่งนี้รู้สึกราวกับว่ากำลังอยู่ท่ามกลางบรรยากาศงานเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว
แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมห้าชาติ
ท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวนเป็นจุดแรกของไต้หวันที่ชาวต่างชาติรู้จัก ส่วนงานมหกรรมการเกษตรเถาหยวนนอกจากจะทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักไต้หวันแล้ว ยังทำให้ชาวไต้หวันได้รู้จักเอกลักษณ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย
ภายใน "อาคารวัฒนธรรมสี่ชาติ" ของมหกรรมการเกษตรเถาหยวนมีการแนะนำภาพรวมของการพัฒนาด้านการเกษตรและวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของ 4 ประเทศ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย นครเถาหยวนเป็นเมืองที่มีจำนวนแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในไต้หวันประมาณ 110,000 คน ขณะเดียวกันยังมีผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่อีกประมาณ 19,000 ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากบ้านเกิดมาอาศัยอยู่ในเถาหยวน โดยมีสัดส่วนของผู้ที่มาจากทั้งสี่ประเทศ ได้แก่ เวียดนามอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มากที่สุด
แรงงานข้ามชาติในไต้หวันส่วนใหญ่ทำงานในภาคสวัสดิการสังคม ภาคการผลิตและการก่อสร้าง เพราะฉะนั้นชาวไต้หวันจึงมีโอกาสสัมผัสคนจากสี่ประเทศนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่กลับไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสกับวัฒนธรรมทางการเกษตรของประเทศเหล่านี้มากนัก การจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้จึงทำชาวไต้หวันได้มีความรู้ความเข้าใจต่อประเทศแม่ของแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้แรงงานข้ามชาติและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ได้เห็นภาพบ้านเกิดของตนในไต้หวันด้วย
"พวกเขาอยากจะเข้าใจเรา พวกเรายิ่งอยากจะเข้าใจพวกเขา" คุณหวังอันปัง (王安邦) ผอ.กองแรงงาน เทศบาลนครเถาหยวนกล่าว ในการวางแผนการจัดแสดงอาคารวัฒนธรรมสี่ชาตินั้น เป็นการวางแผนโดยใช้แนวคิดของ ห้าชาติ ซึ่งรวมถึงไต้หวันอยู่ด้วย ทั้งห้าประเทศได้ชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมและมีการปลูกข้าวเหมือนกัน แต่ข้าวที่ปลูกมีมากมายหลายพันธุ์ ทั้งข้าวขาว ข้าวเหลือง ข้าวดำ ไปจนถึงข้าวชมพู ไม่ว่าจะเป็นพืชผลหรือวิธีการทำเกษตรกรรมก็มีความแตกต่างกัน ไม่ได้เหมือนกันไปเสียทั้งหมด จากยุคของการทำเกษตรดั้งเดิมในสมัยโบราณ ทุกคนต่างมีพิธีบูชาแสดงความขอบคุณเทพเจ้าที่สืบเนื่องมาจากการทำเกษตรเช่นเดียวกัน และยังครอบคลุมไปถึงด้านดนตรี งานฝีมือ และหุ่นตุ๊กตา
"เราได้นำวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาสู่สถานที่จัดงานแห่งนี้" คุณเฉินเป่าจื้อ (陳寶自) นักออกแบบการจัดนิทรรศการกล่าว ไม่ว่าจะเป็นข้าว เครื่องปรุง และหุ่นตุ๊กตาที่นำมาจัดแสดงล้วนนำมาจากท้องถิ่นดั้งเดิม เขาเคยเห็นแรงงานอินโดนีเซียแอบเช็ดน้ำตาอยู่ด้านหลังของฉากหนังตะลุงอย่างเงียบๆ "อาจเป็นเพราะเขาคิดถึงบ้านหรือไม่ก็ซาบซึ้งที่พวกเราเคารพให้เกียรติวัฒนธรรมของพวกเขา แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ต่างก็ถือเป็นความสำเร็จของนักออกแบบอย่างพวกเรา"
มีเครื่องปรุงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ประชาชนได้ทดลองดม กลิ่นแบบใกล้ๆ
สร้างบ้านแห่งเอเชียอาคเนย์
ในช่วงแรกของการออกแบบนิทรรศการ คุณเฉินเป่าจื้อใช้ความคิดอย่างมากในการมองหาสิ่งที่ประเทศทั้งห้ามีร่วมกัน ในที่สุด เขาพบว่าเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ล้วนมีการทำนาแบบขั้นบันได นอกจากนี้ ทั้งหมดยังได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 นาขั้นบันไดขนาดใหญ่ที่สวยที่สุดในโลกจาก "TRAVEL+LEISURE" นิตยสารด้านการท่องเที่ยวชื่อดังของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ในจำนวนนี้นาขั้นบันไดของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียยังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ประกอบกับที่ตำบลฟู่ซิงนครเถาหยวนก็มีนาขั้นบันไดเย๋เฮิง (爺亨) ด้วย ภาพของแปลงดอกไม้ที่เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆและรูปแบบของอาคารก็พรั่งพรูออกมาในสมองของเขา
วิธีการปลูกสร้างเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สื่อถึงความเหมือนในความต่าง คุณเฉินเป่าจื้อเลือกใช้วัสดุไม้ไผ่จำนวนมาก "ไม้ไผ่เป็นวัสดุที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้กันอย่างแพร่หลายมาก ไต้หวันเองก็เช่นกัน ดังนั้นผมจึงพบสิ่งที่เชื่อมโยงไต้หวันเข้ากับสี่ประเทศนี้" คุณเฉินเป่าจื้อออกแบบโดยให้โครงสร้างหลักของอาคารทำด้วยไม้ไผ่จากจู๋ซัน เมืองหนานโถว ส่วนหลังคาทำด้วยงานจักสานไม้ไผ่และใบจากซึ่งนำเข้าจากอินโดนีเซีย ก่อสร้างจนกลายเป็นอาคารไม้ไผ่สุดพิเศษที่มีกลิ่นอายของสไตล์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเต็มเปี่ยม สามารถรับลมได้ดี ทำให้ผู้คนรู้สึกเย็นสบาย
เจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการก็เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มาจากประเทศทั้งสี่ เจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการซึ่งเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เหล่านี้ พวกเขาทุกคนต่างสวมชุดประจำชาติมาให้บริการ คุณเฉินเป่าจื้ออธิบายว่า พวกเขาเสนอที่จะสวมชุดประจำชาติมากันเอง ก็คล้ายกับงานแฟชั่นโชว์ แต่ละวันสวมชุดไม่เหมือนกันโดยไม่กลัวว่าจะยุ่งยากลำบากอะไร เจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการชาวไทยคนหนึ่งกล่าวว่า นี่เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมของบ้านเรา ดิฉันก็ต้องพยายามเต็มที่แน่นอนค่ะ อาศัยการออกแบบในการนำบ้านของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งไว้ยังสถานที่แห่งนี้ เมื่อสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น จึงจะให้ความรู้สึกเหมือนได้กลับบ้านจริงๆ
เพื่อที่จะออกแบบตกแต่งอาคารวัฒนธรรมสี่ชาติ คุณเฉินเป่าจื้อต้อง บินไปแต่ละประเทศอยู่บ่อยครั้งเพื่อเก็บรวบรวมสิ่งของต่างๆ มาใช้ ประดับตกแต่ง โดยไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย
งอบของไทยที่ไม่เหมือนใคร
สิ่งที่ต้องจากบ้านเกิดมาไกลอีกอย่างคือ หมวกงอบจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ที่คุณเฉินเป่าจื้อนำกลับมาไต้หวัน งอบไม่ใช่แค่หมวกที่เอาไว้บังแดดหรือบังฝนเท่านั้น ยังมีอะไรที่พิเศษอีกเล่า? เมื่อนำงอบทั้ง 4 ใบมาวางเรียงกัน ก็จะเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่าเป็นหมวกที่มีความแตกต่างซ่อนอยู่ภายใน เวียดนามให้ความสำคัญกับงอบยอดแหลมที่มีประสิทธิภาพในการบังฝนและระบายอากาศ ใช้ใบจากหรือใบลานมาสานให้เป็นวงทั้งหมด 16 วง งอบของอินโดนีเซียก็มียอดแหลมเช่นเดียวกัน แต่สานด้วยไม้ไผ่และจะต้องเก็บขอบงอบด้วย งอบของฟิลิปปินส์มีรูปร่างเหมือนกับของไต้หวัน มุมคล้ายกับรูปทรงของบ๊ะจ่าง ในจำนวนงอบทั้งหมด มีเพียงงอบดั้งเดิมของไทยเท่านั้นที่ยอดหมวกเป็นทรงแบน ด้านในเป็นโครงสูง สานด้วยไม้ไผ่ ทำให้บังแดดและระบายอากาศได้ดียิ่งขึ้น
"ผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เกษตรกรสวมงอบ" คุณเฉินเป่าจื้ออธิบายถึงการออกแบบ "ต้นไม้ผลผลิตการเกษตร" ที่เป็นการนำงอบของทั้งสี่ชาติมาผูกเรียงแขวนไว้กลางอากาศ งอบก็เหมือนกับผลไม้ของต้นไม้ผล และผลไม้เหล่านี้ก็มาจากการที่เกษตรกรสวมงอบและลงมือเพาะปลูกด้วยตัวเองนั่นเอง
โชคดีที่เกษตรกรใช้ความพยายามในการเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของทั้งสี่ประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการผลิตหรือปริมาณการส่งออกล้วนมีชื่อเสียงโด่งดังติดอันดับโลก สร้างตำนาน มหัศจรรย์แห่งทองคำสีเขียว เช่น ยางพาราของไทยและพริกไทยดำของเวียดนามที่มีปริมาณการส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คุณเฉินเป่าจื้อบอกว่าที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือการจัดอันดับประเทศที่มีปริมาณการผลิตข้าวสูงสุด ประเทศไทยติดอันดับที่ 7 แต่สามารถทลายกรอบนั้นได้ "ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยมากเป็นอันดับ 1 ของโลก"
เมื่อใดก็ตามที่มีการเก็บเกี่ยว แน่นอนว่าก็ต้องมีการเฉลิมฉลองควบคู่กัน อย่างเช่นประเทศไทยมีวันพืชมงคล ฟิลิปปินส์มีเทศกาลเก็บเกี่ยว เวียดนามมีพิธีเซ่นไหว้บูชากำมะถันแดง และอินโดนีเซียมีวันรำลึกเกษตรกรรม แม้จะมีชื่อเรียกที่ต่างกันและมีวิธีการเซ่นไหว้บูชาแตกต่างกัน แต่ล้วนแล้วเป็นการแสดงออกถึงความขอบคุณต่อฟ้าดินและเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวเช่นเดียวกัน
ใช้ธีมหลักคือนาขั้นบันได สร้างอาคารหลักและบรรยากาศสวนดอกไม้ ของอาคารวัฒนธรรมสี่ชาติ
มหกรรมการเกษตรครั้งแรกของเถาหยวน
หากเพียงแค่มองอาคารนิทรรศการขนาดใหญ่แต่ละหลังในงานมหกรรมการเกษตรเถาหยวน คงยากที่จะจินตนาการว่า เมื่อสองปีที่แล้วที่นี่เป็นเพียงท้องทุ่งที่รกร้างว่างเปล่า แต่จากความร่วมมือร่วมใจของคณะกรรมการการเกษตร เทศบาลนครเถาหยวน และสมาคมชลประทาน จึงทำให้เกิดสวนสาธารณะขนาดใหญ่สำหรับจัดงานมหกรรมการเกษตร ซึ่งมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ด้วยระยะเวลาจัดงานที่ยาวนานจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้ามาก แต่เราสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง cover ทั้งหมด คุณชิวผิ่นฟาง (邱品方) ผอ.สนง.มหกรรมการเกษตรเถาหยวนกล่าว
บริษัทธุรกิจในท้องถิ่นจำนวนมากที่เข้าร่วมงานนี้ก็มีส่วนช่วยเติมเต็มให้การจัดงานในครั้งนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น เช่น ศาลาชงชาไฮเทคที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในไต้หวัน โดยงานมหกรรมการเกษตรเถาหยวน ร่วมกับบริษัทต้าถง (Tatung Company) นำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ผลิตน้ำจากอากาศ ซึ่งเป็นกระบวนการดึงมวลน้ำในอากาศผ่านการกรอง 3 ชั้น จนกลายเป็นน้ำอัลคาไลน์ที่สะอาด เมื่อเปิดก๊อกน้ำก็สามารถใช้ดื่มได้โดยตรง เพียงในอากาศมีความชื้นเพียงพอ แต่ละวันสามารถผลิตน้ำได้ในปริมาณที่คนวัยผู้ใหญ่ต้องการต่อวันได้สำหรับ 1,200 คน
แขกผู้เข้าชมงานมหกรรมการเกษตรมาจากทั่วสารทิศในโลก และเนื่องในวัน ทูตสากล กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน สาธารณรัฐจีน ได้เรียนเชิญคณะทูตานุทูตร่วมขบวนเพื่อชมงานมหกรรมการเกษตร และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาด้านเกษตรกรรมของไต้หวัน แขกที่มาชมงานต่างบอกว่ารู้สึกประทับใจวิทยาการและอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ห้องควบคุมอุณหภูมิอัจฉริยะ, การเพาะเลี้ยงประมงและพืชน้ำในแนวตั้งด้วยวัฏจักรแบบพึ่งพาอาศัยกัน, เครื่องปอกสับปะรดภายใน 4 วินาที และเครื่องมือทางการเกษตรอย่างเครื่องเด็ดใบมันเทศ เป็นต้น
อาคารวัฒนธรรมสี่ชาติยังเปิดให้ชมต่อเนื่อง
แม้ว่างานมหกรรมการเกษตรเถาหยวน 2018 จะปิดฉากลงไปแล้ว แต่ยังมีหลายโซนของงานนี้ที่ยังคงเก็บรักษาไว้บนพื้นที่เดิม ในจำนวนนี้อาคารวัฒนธรรมสี่ภาคยังคงเปิดให้เข้าชมต่อไป ให้ประชาชนได้มาสัมผัสและรู้จักกับทั้งสี่ประเทศนี้มากยิ่งขึ้น
"ไต้หวันไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ทำงานที่ดีแห่งหนึ่งเท่านั้น" คุณหวังอันปังขอบคุณประชาชนจากประเทศทั้งสี่ที่ช่วยเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนไต้หวัน และยินดีต้อนรับแรงงานข้ามชาติ "หากมีโอกาสลองมาเดินเล่นเที่ยวชมเพื่อรู้จักไต้หวันมากยิ่งขึ้น และทำให้พวกเราพลเมืองเถาหยวนได้รู้จักวัฒนธรรมจากสี่ประเทศนี้มากยิ่งขึ้นด้วย"
ไปชมงานมหกรรมการเกษตรเถาหยวน นั่งเล่นที่ศาลาของอาคารวัฒนธรรมสี่ชาติ ไปต่อที่ท่าเรือหย่งอัน เขตซินอู เพื่อสักการะศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ท่าเรือแห่งนี้ ยังมีอาเซียนสแควร์ที่หลังสถานีรถไฟเถาหยวนอีกด้วย การมาเถาหยวนจึงเสมือนได้เดินทางมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมของกลุ่มออสโตรนีเซียนไปในตัว