หลังจากนิตยสารราย 2 เดือน "ไต้หวันพาโนรามา" ฉบับภาษาอาเซียน (ภาษาอินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม) ออกวางตลาด แต่ละฉบับล้วนได้รับความสนใจและความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มชาวอาเซียนผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน ตลอดจนบุคคลในวงการต่างๆ
สำหรับฉบับที่ 17 (ประจำเดือนสิงหาคม 2018) นำเสนอในหัวข้อ "เสียงเพรียกจากไต้หวัน" ประกอบด้วย 4 เรื่อง "Taiwan Smile Folksong ชุบชีวิตใหม่ให้ เพลงแจ๊สสไตล์ไต้หวัน" "คำสนทนาระหว่างเพลงและบทกวี-หลัวซือหรงที่เดินอยู่บนทางกลับบ้าน" "คณะนักร้องประสานเสียงเยาวชน Puzangalan-เสียงแห่งสวรรค์ที่ถ่ายทอดมายังโลกมนุษย์" "บทเพลงจากริมฝีปาก-คู่ดูโอพ่อลูกจับมือสร้างสรรค์เพลงผิวปากสู่นานาชาติ" เป็นการนำเสนอเสียงร้องบรรเลงที่หลากหลายของชาติพันธุ์ในไต้หวันให้ชาวอาเซียนได้รู้จัก
สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในฉบับนี้นำเสนอ "หนานฟังอ้าว" ซึ่งเป็นบริเวณที่กระแสน้ำสีดำ (Kuroshio Current) ไหลผ่าน เป็นจุดที่จับปลาซาบะได้มากที่สุดในไต้หวัน นอกจากนี้ ยังแนะนำอาหารเลิศรส การอนุรักษ์ทะเล และวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่
จากการที่นครเถาหยวนจัดงานมหกรรมการเกษตรเถาหยวน (Taoyuan Agriculture Expo) มีการจัดแสดงวัฒนธรรมอาหารการกินและพัฒนาการด้านการเกษตรของเวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ใน อาคารวัฒนธรรม 4 ชาติ ถือเป็นการให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมประเทศแม่ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานจาก 4 ประเทศนี้ คุณเฉินเป่าจื้อ (陳寶自) ซึ่งเป็นผู้วางแผนการจัดแสดง ได้นำเอางอบจากเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทยมาจัดแสดง จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีจุดเด่นแตกต่างกันไป ซึ่งของไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีรูปทรงแบบยอดแบน ภายในมีโครงไม้ไผ่ครอบศีรษะเพื่อยกงอบให้สูงขึ้น ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดีในขณะที่ใช้บังแสงแดด อุดมไปด้วยวัฒนธรรมที่น่าสนใจของชาวอาเซียน ซึ่งรอผู้อ่านมาตระเวนชม
"ไต้หวัน พาโนรามา" นิตยสารฉบับภาษาอาเซียนจะทำหน้าที่เป็นสะพานมิตรภาพเพื่อเชื่อมวัฒนธรรมและเสริมสร้างความรุ่งเรืองระหว่างไต้หวันกับประเทศอาเซียนสืบไป