ไต้หวัน ดินแดนแห่งความฝันของผู้กำกับภาพยนตร์เชื้อสายจีน
เหอเว่ยถิงและหลีหย่งเชากับชีวิตคนทำหนังข้ามชาติ
เนื้อเรื่อง‧ ซูเฉินอวี ภาพ‧ จวงคุนหรู แปล‧ ธีระ หยาง
มิถุนายน 2022
說起台灣電影,一定離不開侯孝賢、楊德昌、李安等大導演。近年來,台灣電影除了這些大師名導,也開始出現國際導演的名字,馬來西亞的何蔚庭,緬甸的李永超、趙德胤等青年導演正快速崛起,並在國際影壇受到矚目。他們以不同的異國視角在台灣進行創作,為台灣電影注入全新的風貌。
「在台灣做電影,容易被人看見。」曾拿下坎城影展、西班牙加泰隆尼亞國際奇幻影展、羅馬尼亞國際影展、金馬獎等獎項的馬來西亞導演何蔚庭,紐約大學畢業後來台發展,拍出不少影展得獎作。
เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ไต้หวัน ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ทั้งโหวเสี้ยว
เสียน (侯孝賢), หยางเต๋อชัง (楊德昌) และอังลี (李安) เป็นต้น แต่ในวงการภาพยนตร์ไต้หวันช่วงหลายปีมานี้ นอกจากผู้กำกับคนดังเหล่านี้แล้ว ยังมีชื่อของผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่จากนานาชาติหลายคน เช่น เหอเว่ยถิง (何蔚庭) จากมาเลเซีย รวมถึงหลีหย่งเชา (李永超) และจ้าว
เต๋ออิ้ง (Midi Z) จากเมียนมา ซึ่งผงาดขึ้นมาจนกลายเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์ระดับโลก พวกเขาใช้มุมมองของคนต่างชาติที่มีความแตกต่าง มาสร้างสรรค์ผลงานขึ้นในไต้หวัน และกลายเป็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่แต่งเติมความสดใสและเปิดศักราชใหม่ให้กับวงการภาพยนตร์ของไต้หวัน
“การทำหนังในไต้หวัน ทำให้กลายเป็นที่รู้จักได้ง่าย” เหอเว่ยถิงผู้กำกับภาพยนตร์ชาวมาเลเซีย ได้เดินทางมาทำงานในไต้หวันหลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ก่อนจะสร้างผลงานอันโดดเด่นมากมายที่คว้ารางวัลระดับนานาชาติมาแล้วหลายเวที ทั้งจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เทศกาลภาพยนตร์จินตนิมิตนานาชาติแห่งกาตาลุญญาของสเปน เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโรมาเนีย รวมถึงรางวัลม้าทองคำด้วย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภาพยนตร์เรื่อง Terrorizers ของเหอเว่ยถิงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลม้าทองคำครั้งที่ 58 ถึง 5 สาขา แถมยังมีข่าวดีจากการเข้าร่วมประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ที่แคนาดา, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่นและอิตาลี จนทำให้ได้รับความสนใจจากนานาชาติ Terrorizers เป็นภาพยนตร์แนวแฟนตาซีในสไตล์ของเหอเว่ยถิง ที่เขายึดมั่นมาโดยตลอด แม้ว่าชื่อของหนังจะเหมือนภาพยนตร์ตลาด แต่พล็อตเรื่องกลับพูดถึงปัญหาชีวิตของคนรุ่นใหม่ทั้งชายและหญิงที่อยู่ในกลุ่มเจน Z ไม่ว่าจะเป็นความสับสนระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน การติดเกมออนไลน์ โดยในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็มีฉากบนเตียงอันวาบหวิวหลายฉากที่อาจทำให้ผู้ชมเขินอายจนหน้าแดงได้ พร้อมทั้งหยิบยกประเด็นร้อนเกี่ยวกับฆาตกรรมไม่เลือกหน้า การถ้ำมอง ความรักแบบเลสเบี้ยน และกามารมณ์ระหว่างชายหญิง มานำเสนอในเชิงลึก
เหอเว่ยถิง ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง (ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Terrorizers)
เสรีภาพแห่งการสร้างสรรค์ภาพยนตร์
“ธีมของภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นสิ่งต้องห้ามในหลาย ๆ ประเทศ เช่น มาเลเซีย ส่วนที่สิงคโปร์และฮ่องกง ผู้ชมจะต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไปจึงจะเข้าชมได้” ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของผู้กำกับเหอเว่ยถิงได้พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับกามารมณ์และเลสเบี้ยน ซึ่งไม่สามารถออกฉายได้ในประเทศอนุรักษนิยมอย่างมาเลเซีย แต่ในไต้หวันกลับถูกจัดอยู่ในระดับ 6+ ซึ่งห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบรับชม โดยผู้ที่มีอายุ 6-12 ปี ต้องรับชมพร้อมผู้ปกครอง ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของทั้งสองประเทศ และแสดงให้เห็นถึงการให้ความเคารพต่อการสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมของไต้หวัน
เหอเว่ยถิงเริ่มเขียนบทความวิจารณ์ภาพยนตร์ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ในแต่ละปีเขาจะดูภาพยนตร์มากกว่า 50 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดีหรือแย่ก็จะดูทั้งหมด ทำให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ในสายตาของเพื่อน ๆ “ช่วงนั้นจะอ่านหนังสือเกี่ยวกับภาพยนตร์ที่อาจารย์เจียวสงผิง (焦雄屏) เป็นผู้เขียนเยอะมาก” และหนังสือชุดนี้ได้กลายมาเป็นจุดเริ่มในการก้าวเข้าสู่วงการภาพยนตร์ของเหอเว่ยถิง เขาได้มีโอกาสรู้จักกับ French New Wave รวมไปจนถึงผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง Akira Kurosawa และ Federico Fellini เป็นต้น แถมยังมีโอกาสได้รู้จักโรงเรียนสอนภาพยนตร์ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาได้อ่านนิตยสาร Sinorama (ปัจจุบันคือนิตยสาร Taiwan Panorama) ซึ่งได้แนะนำเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพและการเปิดกว้าง จึงทำให้เขามีความตั้งใจที่จะไปเข้าเรียนที่นี่ให้ได้ ก่อนจะตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศตะวันตก
หลังจากสำเร็จการศึกษา เหอเว่ยถิงเดินทางกลับมาทำงานในเอเชีย ซึ่งเขาได้ย้อนรำลึกถึงช่วงที่ยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กว่า ทางมหาวิทยาลัยจะจัดเทศกาลภาพยนตร์ไต้หวันเป็นประจำ “ตอนนั้น ทั้งโหวเสี้ยวเสียน ไช่หมิงเลี่ยง (蔡明亮), หยางเต๋อชัง และหว่องกาไว (王家衛), ต่างก็เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่กำลังโด่งดังมาก ผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Vive l’Amour ของ อ. ไช่หมิงเลี่ยงที่พิพิธภัณฑ์ Museum of Modern Art (MoMA) และตอนที่ Lincoln Center จัดเทศกาลภาพยนตร์ของ อ. โหวเสี้ยวเสียน ผมได้มีโอกาสชมผลงานทั้งหมดของท่านที่เอามาฉายด้วยฟิล์ม 35 มม. ด้วย ทำให้ผมมีความเคารพต่อวงการภาพยนตร์ของไต้หวันมาก”
เหอเว่ยถิง (ซ้าย) ได้ถ่ายทอดภาพของไต้หวันและเรื่องราวของสิ่งละอันพันละน้อยบนเกาะแห่งนี้ ผ่านเลนส์ของเขา (ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Terrorizers)
เรียนรู้แรงบันดาลใจจากท้องถนนในไทเป
การถ่ายทำภาพยนตร์ในไต้หวันมีเสรีภาพสูงและมีข้อจำกัดค่อนข้างน้อย เหอเว่ยถิงมักจะเดินไปตามท้องถนนในไทเปเพื่อหาแรงบันดาลใจในการถ่ายทำภาพยนตร์ “เขตจงซาน อนุสรณ์สถานเจียงไคเช็ค เขตว่านหัว ถนนก่วงโจวเจีย ถนนเหอผิงตะวันตก เขตเมืองเก่าเหล่านี้ มิได้เป็นตัวแทนของความยากจน หรือตกยุค ดังนั้น ในภาพยนตร์ ผมจึงจินตนาการถึงโลกของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่อยู่ในเขตตะวันตกของไทเป โดยไม่รู้สึกว่ามันมีความขัดแย้ง แต่กลับเห็นว่ามันคือสิ่งที่มีความเป็นไต้หวัน ผมชอบความรู้สึกแบบนี้”
ในขณะที่เหอเว่ยถิงเสาะหาโลเคชั่นสำหรับการถ่ายทำ เขามักจะจัดฉากขึ้นเฉพาะสำหรับตัวละครบางตัว “เมืองในไต้หวันมีความเป็นภาพยนตร์สูงมาก ดูเท่และมีความวุ่นวาย ตรอกซอกซอยแต่ละแห่ง ทุกมุมถนน ต่างก็สร้างความประหลาดใจให้คุณได้ ในซอยที่เงียบสงบ จะมีกำแพงเตี้ยและดอกไม้อันสวยงาม พอเลี้ยวไปอีกมุม จะเห็นอาคารสูงที่ทันสมัยและหรูหรา นี่ก็คือความสนุกของไต้หวัน”
เหอเว่ยถิงใช้ชีวิตในไต้หวันมานานกว่า 20 ปี เขามักจะได้แรงบันดาลใจจากข่าวในโทรทัศน์ที่มีความบันเทิงค่อนข้างสูง และชอบความมีชีวิตชีวาและการยอมรับผู้อื่นของที่นี่ “เราเคยถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับตำรวจที่คอร์รัปชัน สถานที่ในการถ่ายทำอยู่ที่ชั้นสองของสถานีตำรวจ ทุกวันที่เดินเข้าไปในสถานีตำรวจ จะทักทายกับตำรวจที่ทำงานอยู่ชั้นล่างก่อน แล้วจึงจะเดินขึ้นไปถ่ายทำที่ชั้นสอง แต่ตำรวจไม่เคยเดินขึ้นมาดูหรือพูดห้ามโน่นห้ามนี่แม้แต่ประโยคเดียว”
เหอเว่ยถิงบอกกับเราแบบขำ ๆ ว่า ตัวเองชอบภาพยนตร์แนวแอ็กชันเป็นอย่างมาก แต่ภาพยนตร์ที่เขาถ่ายทำออกมา กลับสามารถทำให้คนฉุกคิดอะไรบางอย่างได้ “ถ้าเราใส่ไอเดียหรือมุมมองบางอย่างเข้าไป แล้วทำให้คนดูสามารถมีแนวคิดบางอย่างได้ ก็ถือว่าคุ้มค่าต่อทั้งเวลา แรงกายแรงใจ และเงินทุนที่เสียไป”
เหอเว่ยถิง (ซ้าย) ได้ถ่ายทอด
ภาพของไต้หวันและเรื่องราวของสิ่งละอันพันละน้อยบนเกาะแห่งนี้ ผ่านเลนส์ของเขา (ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Terrorizers)
ผู้กำกับรุ่นใหม่ของไต้หวันโลดแล่นในวงการภาพยนตร์ระดับนานาชาติ
สภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างในไต้หวัน ทำให้ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย หลีหย่งเชาก็คือหนึ่งในนั้น เขาถือกำเนิดในหมู่บ้านเกษตรกรทางตอนเหนือของเมียนมา ผลงานของหลีหย่งเชาจะให้ความสำคัญกับคนระดับรากหญ้าของเมียนมา ทำให้มักจะพูดถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งภาพยนตร์เรื่อง Blood Amber ซึ่งกล่าวถึงเรื่องราวของชาวบ้านในแถบเมียนมาตอนเหนือ ที่ยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อแสวงหาความร่ำรวยจากการทำเหมืองแร่อำพัน โดยเขาได้เดินทางไปถ่ายทำในป่าลึกทางเหนือของเมียนมา ซึ่งเกิดการสู้รบกันบ่อยครั้ง เพื่อถ่ายทำสภาพอันน่าโศกเศร้าที่เกิดขึ้นในเหมืองซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 เหมืองอำพันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ส่วน The Bad Man ก็เป็นภาพยนตร์สารคดีที่ใช้เวลาในการถ่ายทำอย่างประณีตนานถึง 2 ปี เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของหนุ่มติดยาชาวคะฉิ่นที่ฆ่าคนเป็นว่าเล่น โดยภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ ถือเป็นภาพยนตร์จากไต้หวันเพียงสองเรื่องที่เคยถูกคัดเลือกให้เข้าฉายในช่วงสัปดาห์นักวิจารณ์ (Semaine de la critique) ของเทศกาลภาพยนตร์โลการ์โน (Locarno Film Festival)
หลีหย่งเชาชอบดูภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก และมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ไต้หวันหลายเรื่อง เช่น The Kung-Fu Kids และ Shaolin Popey II: Messy Temple เป็นต้น ในช่วงชีวิตวัยเด็ก เขาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านทางตอนเหนือของเมียนมา ซึ่งมี “โรงภาพยนตร์” อยู่เพียงแห่งเดียว ที่สร้างขึ้นในแบบหลังคามุงจาก ภายในมีโทรทัศน์และเครื่องฉายวิดีโอ ม้านั่งตัวเล็ก ๆ ที่วางเรียงรายอยู่ ก็คือที่นั่งใน “โรงหนัง” แห่งนี้ ชีวิตประจำวันของชาวบ้าน นอกจากจับปลาล่านกแล้ว การชม “ภาพยนตร์” ถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่ชาวบ้านชื่นชอบมากที่สุด “ทุกครั้งที่มีหนังใหม่ ๆ มาฉาย พ่อค้าแม่ค้าก็จะมาตั้งหาบเร่แผงลอย ขายป๊อปคอร์นที่พวกเขาทำกันเอง” กว่าที่หนุ่มน้อยหน้ามนอย่างหลีหย่งเชา จะมีโอกาสได้สัมผัสกับภาพยนตร์จริง ๆ ก็คือหลังจากที่เขาสามารถสอบเข้าเรียนต่อในคณะการออกแบบสื่อดิจิทัล ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหยุนหลิน เริ่มจากการถ่ายทำภาพยนตร์สั้นส่งประกวด ก่อนจะค่อย ๆ ก้าวขึ้นสู่เวทีของภาพยนตร์ระดับโลก
The Bad Man ผลงานที่หลีหย่งเชาใช้เวลาถึง 2 ปีในการถ่ายทำ ได้เข้าไปสัมผัสกับโลกส่วนลึกในจิตใจของหนุ่มชาวคะฉิ่นของเมียนมา นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความสิ้นหวังในการที่จะต่อกรกับวงล้อแห่งกาลเวลาของชาวเมียนมาแล้ว ยังสื่อให้เห็นถึงพลังบวกของสัญชาตญาณแห่งความดีของมนุษยชาติด้วย ในภาพคือฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง The Bad Man
การศึกษาของไต้หวันช่วยบ่มเพาะบุคลากรให้วงการภาพยนตร์
“สำหรับชาวเมียนมาเชื้อสายจีนแล้ว การมีโอกาสได้มาไต้หวัน ถือเป็นความหวังของทุกคน เหล่าคุณครูในโรงเรียน มักจะพูดถึงไต้หวันว่าเป็น 1 ใน 4 เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย ตอนที่พวกเราได้ยินก็รู้สึกว่า มันเป็นอะไรที่เท่มาก” ก่อนอายุ 20 ปี หลีหย่งเชาที่เป็นหนุ่มขี้อาย ไม่เคยได้มีโอกาสสัมผัสกับคอมพิวเตอร์มาก่อนเลย ครั้งแรกที่ได้เล่นคอมพิวเตอร์คือตอนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว และเริ่มเรียนรู้การพิมพ์ตัวอักษร “เพื่อน ๆ ต่างก็เก่ง ๆ กันทั้งนั้น ทั้งการวาดภาพแอนิเมชัน ออกแบบกราฟิก และออกแบบเว็บไซต์ ส่วนผมแม้แต่จะวาดรูปตัวเองก็ยังทำไม่ได้ เลยได้แต่วาดเป็นเส้นกับหัวกลม ๆ”
จากการที่ได้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาในไต้หวัน และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ หลีหย่งเชาที่เป็นลูกหลานทหารกองทัพสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พลัดถิ่นในเมียนมา จึงมีโอกาสได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมา “ผมคิดว่าตัวเองโชคดีมาก ๆ คนเมียนมาที่มาอยู่ไต้หวันส่วนใหญ่ จะได้แต่หาเช้ากินค่ำ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวที่อยู่ในเมียนมา แต่ผมกลับมีโอกาสได้อยู่ในความฝันแห่งภาพยนตร์” เมื่อครั้งถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Bad Man หลีหย่งเชามีโอกาสได้ใกล้ชิดกับทหารหนุ่มชาวคะฉิ่นที่ฆ่าคนมาแล้วนับไม่ถ้วน ทุกครั้งที่กล้องจับไปบนใบหน้าของเขา ก็รู้สึกได้ถึงความน่ากลัว “ตอนที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ทุกครั้งที่บินไปเมียนมา ผมจะรู้สึกหวาดวิตกเป็นอย่างมาก” ตอนแรกหลีหย่งเชาตั้งใจจะถ่ายทำเรื่องราวของหนุ่มน้อยคนอื่นในสถานบำบัดยาเสพติด แต่หลังจากที่ได้พบกับหนุ่มคะฉิ่นผู้นี้แล้ว หลีหย่งเชาตัดสินใจเปลี่ยนเรื่องราวของเขาใหม่ทันที โดยได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสถานีโทรทัศน์ PTS ของไต้หวัน
หลีหย่งเชา ใช้เทคนิคการเล่นแสงและเงา รวมทั้งตั้งกล้องให้จับภาพอยู่กับที่ในการถ่ายทำ เพื่อบันทึกเรื่องราวของคนรากหญ้าในเมียนมา เพื่อที่จะสื่อสารถึงแนวคิดที่ว่ามนุษย์ต่างก็มีสัญชาตญาณของความเป็นคนดี ซึ่งตามระบบการพิจารณาภาพยนตร์แล้ว ผลงานของเขาไม่สามารถเข้าฉายในเมียนมาได้ แต่สภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและยอมรับความเห็นที่แตกต่างของไต้หวัน ทำให้เขาสามารถถ่ายทำผลงานตามความต้องการของตัวเองได้ จนสามารถถ่ายทอดสภาพของเมียนมาได้ตามความเป็นจริง และเป็นกระบอกเสียงในอีกรูปแบบหนึ่งให้แก่เมียนมาบนเวทีโลก พร้อมเป็นประจักษ์พยานแห่งยุคสมัย
สภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างและอิสระในการถ่ายทำของไต้หวัน
หวังจวินฉี (王君琦) ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเห็นว่า “สภาพแวดล้อมในการสร้างสรรค์ผลงานของไต้หวัน มีจุดเด่นอย่างหนึ่งคือ สภาพแวดล้อมที่มีเสรีภาพและประชาธิปไตย ทำให้มีโอกาสที่เปิดกว้างในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระ ซึ่งรวมถึงสภาพแวดล้อมในการถ่ายทำภาพยนตร์ด้วย” สภาพแวดล้อมเช่นนี้เอง ที่ทำให้ไช่หมิงเลี่ยง เหอเว่ยถิง ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน และจ้าวเต๋ออิ้ง (Midi Z) มีโอกาสได้แสดงฝีมือเมื่อมาอยู่ในไต้หวัน
ในปี ค.ศ. 2018 อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไต้หวันมีมูลค่า 224,730 ล้านเหรียญไต้หวัน ทั้งอุตสาหกรรมถ่ายทำภาพยนตร์และอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ต่างก็มีการขยายตัวจากปีก่อนหน้า เฉพาะปี ค.ศ. 2018 มีภาพยนตร์ไต้หวันจำนวน 323 เรื่องที่ไปเข้าร่วมในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก และมีอยู่ไม่น้อยที่เป็นภาพยนตร์ซึ่งเป็นความร่วมมือแบบข้ามชาติ นอกจากการผลิตและถ่ายทำจะมีความคึกคักแล้ว รัฐบาลและนโยบายด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่เปิดกว้าง ก็ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการหาความร่วมมือและเงินทุนจากต่างประเทศมาใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์
ภาพยนตร์เกี่ยวกับเลสเบี้ยนของเหอเว่ยถิง รวมไปจนถึงการศึกษาเรื่องราวแห่งความเป็นคนรากหญ้าของหลีหย่งเชา แสดงให้เห็นถึงความเปิดกว้างและยอมรับต่อประเด็นอันหลากหลายของไต้หวัน “ภาพยนตร์ไต้หวัน” ที่เติบโตขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมด้านการเมืองและเศรษฐกิจอันพิเศษในช่วงแรก ๆ ได้กลายมาเป็นจุดหมายที่เหล่าคนทำหนังจากทั่วโลกเดินทางมาตามหาความฝัน ที่นี่มีสภาพแวดล้อมที่ยอดเยี่ยมสำหรับการสร้างสรรค์ มีบุคลากรชั้นเลิศ มีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัย จึงทำให้เหล่าผู้กำกับระดับนานาชาติต่างก็สามารถมาแสดงฝีมือของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทั่วโลก