ชีวิตโลดแล่น บนเส้นทางจักรยาน
เนื้อเรื่อง‧เฉินฉวินฟาง ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧อัญชัน ทรงพุทธิ์
มิถุนายน 2017
關於旅行,有人喜歡行程滿滿,有人偏好閒散慢步,不論搭乘高鐵、火車、客運等交通工具,移動的路線由他人決定,而單車將主權取回,移動的路線、速度、時間全由自己作主。一百位單車旅人,一百種上路理由,不論疾騁慢騎、路途崎嶇平坦,眼前的一切,全屬他們的人生風景。
เมื่อเอ่ยถึงการเดินทางท่องเที่ยว บางคนชอบที่จะจัดโปรแกรมท่องเที่ยวจนแน่นเอี๊ยด ขณะที่บางคนชอบเที่ยวแบบไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน แต่ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบใดย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องอาศัยยานพาหนะในการเดินทาง อาทิ รถไฟความเร็วสูง รถไฟธรรมดา หรือรถบัสประจำทาง ซึ่งการโดยสารยานพาหนะของระบบขนส่งมวลชนเหล่านี้จะมีการกำหนดเส้นทางไว้อย่างแน่นอนตายตัว ต่างจากการเดินทางด้วยจักรยานที่อำนาจการตัดสินใจในการใช้เส้นทาง ความเร็ว หรือเวลา ล้วนอยู่ในมือของเราเอง
นักปั่นจักรยานท่องเที่ยว (Touring Bike) 100 คน มีเหตุผลของการเดินทางที่ต่างกันไป 100 เหตุผล ไม่ว่าจะปั่นเร็วหรือปั่นช้า ผ่านเส้นทางขรุขระหรือราบเรียบ ทุกสิ่งที่รออยู่เบื้องหน้า ล้วนเป็นฉากหนึ่งในชีวิตของพวกเขา
ไต้หวันมีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ภาคตะวันตกเป็นที่ราบกว้าง ภูเขาสูงชัน ที่ราบลุ่มและชายหาดแนวยาวเลียบไปตามฝั่งทะเล ขณะที่ภาคตะวันออกซึ่งถูกกั้นไว้ด้วยเทือกเขาที่พาดผ่านใจกลางเกาะไต้หวัน มีหุบเขาฮัวตงและท้องทะเลสีครามสดใส ยิ่งไปกว่านั้น จากความแตกต่างกันของฤดูกาลทั้งสี่ ทำให้เกาะเล็กๆ แห่งนี้ควรค่าแก่การเดินทางมาท่องเที่ยวผจญภัยเป็นอย่างยิ่ง
ใช้ความอึดแลกกับการได้ชมทัศนียภาพแสนสวย
ปี 2015 โครงการ ìเส้นทางรอบเกาะหมายเลข 1î (Cycling Route No.1) โดยกระทรวงคมนาคมไต้หวัน ได้เชื่อมเส้นทางจักรยานทั่วเกาะเข้าด้วยกัน รวมถึงมีการติดตั้งเครื่องหมายจราจรสำหรับจักรยานบนทางหลวงและจัดตั้งจุดซ่อมบำรุงจักรยาน หลังดำเนินการแล้วเสร็จลง เส้นทางจักรยานรอบทะเลสาบสุริยันจันทราที่สามารถชมเงาสะท้อนของภูเขาเขียวขจีบนผิวน้ำในทะเลสาบที่มีสีเขียวมรกตได้รับการจัดอันดับจาก CNN ให้เป็น 1 ใน 10 เส้นทางจักรยานที่สวยงามที่สุดในโลก
ทางหลวงหมายเลข 193 ที่ได้รับสมญานามว่า เป็นเส้นทางในฝันของนักปั่นจักรยาน มีจุดเริ่มต้นทางตอนเหนือสุดของทางหลวงสายนี้อยู่ที่ตำบลซิ่วหลิน (秀林) เมืองฮัวเหลียน (花蓮) ตัดผ่านตำบลซินเฉิง (新城) จี๋อาน (吉安) โซ่วฟง (壽豐) ไปสุดทางที่ตำบลอวี้หลี่ (玉里) เมืองไถตง (台東) ระยะทางทั้งสิ้น 110.5 กม. โดยช่วงถนนเล่อเต๋อ (樂德公路) ซึ่งก็คือทางหลวงหมายเลข 193 กิโลเมตรที่ 87 ในเขตตำบลรุ่ยซุ่ย (瑞穗) ถึงกิโลเมตรที่ 110.5 ในเขตตำบลอวี้หลี่ อยู่ติดริมฝั่งทะเล เทือกเขาและแม่น้ำซิ่วกูหลวนซี (秀姑巒溪) แทบไม่มีผู้คนและรถราผ่านไปมา สองข้างทางนอกจากท้องทุ่งนาและเสียงนกร้องเจื้อยแจ้วไม่ขาดสาย ยังมีทุ่งดอกราชพฤกษ์ ดอกเรพ และดอกหางนกยูงที่บานสะพรั่งสลับกันไปตลอดทั้งสี่ฤดู
เกาะไต้หวันแม้จะเล็ก การปั่นจักรยานรอบเกาะใช้เวลาประมาณ 9 วัน แต่ละวันต้องปั่นให้ได้ระยะทาง 100 กว่ากิโลเมตร ถือเป็นบททดสอบพละกำลังและความอดทนของนักปั่นได้ดีที่สุด ก้าวลงจากรถยนต์ เปลี่ยนมาปั่นจักรยาน สัมผัสกับความรู้สึกของลมที่โชยมาปะทะใบหน้าและสูดดมกลิ่นของน้ำฝนกับกลิ่นเหงื่อที่ผสมปนเปกัน ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการได้ปฏิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพียงหนึ่งรอยยิ้ม หรือเสียงเชียร์ให้กำลังใจเพียงหนึ่งเสียง ก็สามารถสร้างความอิ่มเอมใจให้แก่นักปั่นจักรยานท่องเที่ยวได้อย่างมากมาย
Holger และ Dietmar เป็นวิศวกรชาวเยอรมัน ที่คลั่งไคล้การเดินทางด้วยจักรยานเพราะทำให้สามารถสัมผัสกับธรรมชาติและผู้คนได้โดยตรง ทุกปีพวกเขาจะนัดกันเดินทางไปขี่จักรยานรอบเกาะต่างๆ ทั่วโลก ปีนี้ทั้งสองเดินทางมาไต้หวัน พวกเขาปั่นจักรยานไปเที่ยวชมอาทิตย์อัสดงและคลื่นทะเลที่ชายหาดตำบลฟังซาน (枋山) เมืองผิงตง และยังได้ย่ำเท้าไปตามตรอกซอกซอยน้อยใหญ่ทั่วไต้หวัน เพื่อสัมผัสกับกลิ่นอายของแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ทัศนียภาพที่สวยงามคือความสุขทางใจ
ของนักปั่นจักรยาน
การปั่นจักรยานรอบเกาะไม่เพียงต้องอาศัยความตั้งใจจริง ท้าทายความอดทนและขีดจำกัดของร่างกายนักปั่นจักรยานเท่านั้น แต่ยังต้องใช้ความพยายามอย่างสุดกำลังความสามารถเพื่อให้บรรลุถึงหลักชัยที่กำหนดไว้ในใจ หลักแล้วหลักเล่าอีกด้วย
หวงถิงอิน (黃亭茵) นักปั่นจักรยานทีมชาติไต้หวันที่เข้าร่วมการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ในโอลิมปิกเกมส์ ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล มาจากครอบครัวนักกีฬา มารดาเป็นอดีตนักซอฟต์บอลทีมชาติ ดังนั้น สำหรับหวงถิงอินแล้ว ทักษะการเล่นกีฬาของเธอจึงดูเหมือนจะเป็นไปโดยธรรมชาติ เดิมเธอเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ แต่ตอนที่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทางโรงเรียนประกาศยุบทีมว่ายน้ำ ทำให้เธอเคว้งคว้างอยู่ระยะหนึ่ง แต่ต่อมาได้รับการชักชวนจากโค้ชหยางตงเจิน (楊東蓁) เพื่อนสนิทของมารดาให้เข้าร่วมทีมนักปั่นจักรยานประเภทลู่ของโรงเรียนมัธยมศึกษาหนานจื่อ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตของหวงถิงอินโลดแล่นไปบนเส้นทางนักปั่นจักรยาน
การฝึกว่ายน้ำเป็นประจำทำให้หวงถิงอินมีปอดที่แข็งแรง ประกอบกับได้ร่วมฝึกฝนอย่างหนักกับนักปั่นชายในทีมจักรยาน ทำให้หวงถิงอินสามารถออกไปโชว์ฝีมือในการแข่งขันระดับนานาชาติได้ในเวลาอันรวดเร็ว เดิมเธอมุ่งไปที่การแข่งขันระยะสั้น แต่เพราะต้องการยกระดับตนเอง จึงหันไปประลองฝีมือในเวทีแข่งขันจักรยานทางไกล
ในการแข่งขัน ยู.ซี.ไอ. เวิลด์แชมเปี้ยนชิป (หญิง) ประเภทถนนชิงแชมป์โลกปี 2016 รายการปั่นรอบเกาะฉงหมิง นครเซี่ยงไฮ้ที่จีนแผ่นดินใหญ่ หวงถิงอินซึ่งสวมชุดสีชมพูสามารถเอาชนะนักปั่นจากทั่วโลก เป็นม้ามืดคว้าอันดับที่ 1 ของการแข่งขันในช่วงแรกและช่วงที่ 3 มาครองอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด และสุดท้ายคว้าเหรียญเงินประเภทคะแนนรวม ทำให้เธอได้รับสมญานามว่า ìPink Cannonballî และเป็นการนำพาตนเองขึ้นสู่เวทีนักปั่นจักรยานมืออาชีพระดับนานาชาติ ต่อมา เธอได้เข้าร่วมทีม Servetto Footon ซึ่งเป็นทีมนักปั่นหญิงของอิตาลี แต่การก้าวขึ้นสู่เวทีโลกนั้นหมายถึงต้องเผชิญกับความท้าทายที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า อันเป็นบททดสอบจิตใจและความอดทนของเธอ
เดือนกรกฎาคม ปี 2016 หวงถิงอินเข้าร่วมการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ชิงแชมป์โลกรายการปั่นรอบอิตาลี ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ใช้เวลาแข่งขัน 10 วัน รวมระยะทาง 800 กว่ากิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นรายการแข่งขันมหาโหด เส้นทางปั่นที่คดเคี้ยวและสูงชันจนเกือบจะเป็นแนวตั้งฉาก ทำให้นักปั่นหลายรายเลิกล้มความพยายาม แต่หวงถิงอินยังอดทนสู้ต่อ ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นนักปั่นหญิงคนแรกของไต้หวันที่ประสบความสำเร็จในการปั่นจักรยานรอบประเทศอิตาลี หวงถิงอินปัจจุบันอายุ 26 ปี ตั้งปณิธานว่าจะผจญภัยด้วยการเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกต่อไป และเธอจะปั่นจักรยานตระเวนชมทัศนียภาพที่สวยงามแห่งแล้วแห่งเล่าโดยไม่หยุดหย่อน
โจวเพ่ยหนี (周佩霓) เจ้าของฉายา ìราชินีปั่นลงเนินî ท้าทายขีดจำกัดของร่างกายตนเองจากการแข่งขันจักรยานเสือภูเขา (Cross-country) เดิมโจวเพ่ยหนีเป็นนักกรีฑาประเภทลู่ ที่คว้าแชมป์รายการต่างๆ มาครองเป็นประจำ แต่ต่อมาเพราะรูปร่างของเธอ ทำให้โค้ชย้ายเธอมาเล่นกรีฑาประเภทลาน ทั้งขว้างจักรและพุ่งแหลน คงเป็นเพราะไม่ชอบจึงทำคะแนนจากการแข่งขันได้ไม่ดีพอ ภายใต้การชักชวนของรุ่นพี่ ทำให้โจวเพ่ยหนีที่ประสบกับความพ่ายแพ้จากสนามแข่งกรีฑา ตัดสินใจเปลี่ยนมาลองปั่นจักรยานเสือภูเขาดูบ้าง ซึ่งได้กลายเป็นจุดพลิกผันชีวิตนักกีฬาของเธอ โจวเพ่ยหนีเล่าว่า ìช่วงนั้นหลังเลิกเรียนตอนบ่ายสี่โมงก็จะดิ่งขึ้นไปบนภูเขาทันที หรือไม่ก็โดดเรียนไปฝึก หลงใหลคลั่งไคล้การปั่นจักรยานมากî ธรรมชาติบนภูเขาและการปั่นขึ้นเนิน ลงเนิน ปั่นกระโดดลอยตัวข้ามสิ่งกีดขวางที่ตื่นเต้นและท้าทายสุดขีด ทำให้โจวเพ่ยหนีค้นพบเวทีที่ทำให้เธอได้แสดงความสามารถของตนเอง
การแข่งขันจักรยานเสือภูเขา (Cross-country) ต้องอาศัยเทคนิคและสมดุลของร่างกาย เส้นทางบนภูเขาที่คดเคี้ยว สภาพถนนและความลาดชันจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นการทดสอบเทคนิคและสมดุลของร่างกายนักปั่นตลอดเส้นทาง แม้การแข่งขันจักรยานประเภทเสือภูเขาจะใช้เวลาไม่นานเหมือนการแข่งจักรยานประเภทถนน แต่บั่นทอนพละกำลังของนักปั่นได้ไม่แพ้กัน
ìไม่เคยเสียใจที่ละทิ้งชีวิตการเป็นนักกรีฑาแล้วหันมาปั่นจักรยาน ถ้าฉันยังคงเล่นกรีฑาต่อไป คงไม่มีโอกาสคว้าเหรียญรางวัลมากมายจากการแข่งจักรยานเสือภูเขาและเหรียญทอง 2 เหรียญจากการแข่งปั่นลงเนินอย่างแน่นอนî โจวเพ่ยหนีกล่าว
ปีที่แล้ว โจวเพ่ยหนีสมัครเข้าร่วมการแข่งขันจักรยานเสือภูเขาชิงแชมป์เอเชีย ระหว่างฝึกฝนข้อเท้าขวาพลิก ทำให้เอ็นร้อยหวายฉีกขาดจนต้องยกเลิกการเข้าร่วมแข่งขัน แม้ข้อเท้าจะบาดเจ็บแต่ก็ไม่ได้ทำให้ความคลั่งไคล้ที่มีต่อจักรยานเจือจางลงแม้แต่น้อย โจวเพ่ยหนีกล่าวพลางยิ้มว่า เธอจะปั่นไปเรื่อยๆ จนกว่าตนเองจะไม่มีแรงปั่น
ชั่วชีวิตมีจักรยานเคียงข้าง
วงจิ้นเป่า (黃進寶) ผู้ก่อตั้ง Bike Family หรือสมาคมนักปั่นจักรยานรอบเกาะไต้หวัน เดิมเป็นนักกีฬา Extreme Sports หรือการออกกำลังกายแบบสุดขั้ว ต่อมา มีโอกาสคลุกคลีกับการปั่นจักรยานทำให้เส้นทางชีวิตของเขาแปรเปลี่ยนไป อาชีพเดิมของหวงจิ้นเป่าคือช่างเหล็ก การบาดเจ็บจากงานที่สั่งสมมานานหลายปีทำให้ กลายเป็นโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท แพทย์แนะนำให้เขาทำกายภาพบำบัดด้วยการปั่นจักรยาน ซึ่งได้ทำให้ชีวิตของเขาพลิกผันไปจากเดิมอย่างที่คาดคิดไม่ถึง
แรกเริ่มเดิมทีเป็นการปั่นเพื่อสุขภาพ จากนั้นจึงพาภรรยาและลูกๆ มาปั่นด้วย ต่อมา ได้ไปปั่นรอบเกาะ แล้วก็ปั่นไปถึงยุโรป สุดท้ายเขาใช้เวลา 400 กว่าวันในการเดินทางท่องเที่ยวรอบโลกด้วยจักรยาน จากที่ได้เริ่มปั่นครั้งแรก เขาก็หยุดตัวเองไว้ไม่ได้ อีกทั้งต่อมาได้ก่อตั้ง Bike Family เพื่อช่วยทำให้ความฝันของผู้คนจำนวนมากที่อยากจะปั่นรอบเกาะไต้หวันกลายเป็นความจริง หวงจิ้นเป่าใช้ประสบการณ์ของตนเองที่สั่งสมมานาน อธิบายเส้นทางที่กำหนดไว้อย่างละเอียด พยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ต้องขึ้นเขาลงห้วย เพื่อให้สมาชิกของ Bike Family ไม่ว่าชายหรือหญิง เด็กเล็กหรือคนชราก็สามารถเข้าร่วมการปั่นรอบเกาะไต้หวันได้ และสมาชิกที่ปั่นรอบเกาะได้สำเร็จมีอัตราส่วนสูงถึง 95% ทำให้นักเดินทางจากทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากแสดงความประสงค์และเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้
หวงจิ้นเป่าบอกว่า ไต้หวันมี 4 ฤดู และทัศนียภาพของเส้นทางจักรยานในไต้หวันทั้ง 4 ฤดู ก็แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้เขาจัดกิจกรรมปั่นรอบเกาะไต้หวันไม่ใช่ทัศนียภาพที่สวยงาม แต่เป็นสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างหาก เขาเล่าว่า ìทุกคนก็เหมือนกับหนังสือ 1 เล่ม มีทั้งยากและง่าย บางเล่มอ่านแล้วสนุก บางเล่มอ่านแล้วน่าเบื่อ แต่ชีวิตของคนเราทุกคนล้วนมีคุณค่าî มีสมาชิกคนหนึ่งตลอดระยะเวลา 9 วันของการปั่นรอบเกาะ หากเจอศาลเจ้าวัดวาอาราม ไม่ว่าจะน้อยหรือใหญ่ เขาจะต้องเข้าไปกราบไหว้ หลังจากสอบถามจึงได้รู้ว่าแฟนสาวของเขาป่วยหนัก เขาจึงเข้าไปขอพรให้แฟน ทำให้หวงจิ้นเป่ารู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างมาก
สมาชิกของ Bike Family มาจากทั่วทุกมุมโลก อาทิ เยอรมนี เกาหลี ฮ่องกง และญี่ปุ่น จากที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน หลังจากอยู่ร่วมกันหลายวัน ทุกคนสามารถก้าวข้ามอุปสรรคด้านภาษา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ต่างกัน ระหว่างที่ปั่นจักรยานก็จะคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้นักปั่นจักรยานจากต่างชาติเหล่านี้ ไม่เพียงได้ชมทัศนียภาพที่สวยงาม ยังได้สัมผัสกับความอบอุ่นจากน้ำใจของชาวไต้หวันอีกด้วย
เมื่อไม่มีเบรกก็ปั่นต่อไป อย่าได้หยุดยั้ง
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไต้หวันเกิดกระแสความนิยม จักรยานฟิกซ์เกียร์ (Fixed Gear) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากการใช้จักรยานรุ่นนี้ในการส่งเอกสารหรือส่งพัสดุด่วนของแมสเซนเจอร์ ซึ่งสามารถซอกซอนไปตามช่องว่างระหว่างรถยนต์ที่แออัดบนท้องถนนและกลายเป็นทัศนียภาพที่แปลกตาของมหานครต่างๆ ในต่างประเทศ ความพิเศษของจักรยานฟิกซ์เกียร์ คือ ตัวเฟืองหลังหรือสเตอร์จะหมุนไปทางเดียวเท่านั้นและไม่มีเบรค ทำให้สามารถพัฒนาเป็นเทคนิคการปั่นจักรยานในลักษณะต่างๆ เช่น ปั่นถอยหลัง หมุนแฮนด์ เป็นต้น ประกอบกับโครงเฟรมหรือตัวรถที่เรียบง่าย ทำให้สามารถเลือกตัวเฟรม แฮนด์จักรยานหรือสีสกรูน็อต ตามความชอบส่วนบุคคลได้ จักรยานฟิกซ์เกียร์ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมเสรีแห่งท้องถนน (Street Culture)
ìผู้คนส่วนใหญ่ขี่จักรยานฟิกซ์เกียร์เพราะเห็นว่ามันเท่ดีî เซี่ยเหว่ยต๋า (謝偉達) นายกสมาคม FIXED STYLE ซึ่งเป็นกลุ่มนักปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์ในไต้หวันกล่าว
เซี่ยเหว่ยต๋าเริ่มสัมผัสกับจักรยานฟิกซ์เกียร์เมื่อปี 2010 เพราะรูปลักษณ์ของจักรยานรุ่นนี้โดนใจเขามาก ในตอนนั้นกลุ่มนักขี่จักรยานฟิกซ์เกียร์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นโดยร้านจำหน่ายจักรยานแต่ละแห่ง ร้านใครร้านมัน หากไม่ได้ซื้อจักรยานจากร้านเหล่านี้ก็ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้ ดังนั้นเซี่ยเหว่ยต๋าจึงชักชวนเพื่อนฝูงมาตั้งกลุ่มนักปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์ขึ้น ซึ่งในตอนแรกมีไม่ถึง 10 คน แต่ต่อมาหลังจากสร้างแฟนเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มขึ้นมา รวมถึงมีการโพสต์ภาพถ่าย คลิปวิดีโอต่างๆ ทำให้มีคนสนใจเข้ามาชม และมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 20,000 ราย
FIXED STYLE เป็นกลุ่มนักปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์ในไทเปกลุ่มแรกที่ไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นรถจักรยานจากร้านไหน จุดมุ่งหมายในการจัดตั้ง คือ ต้องการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการปั่นจักรยานเป็นกลุ่ม เพื่อให้นักปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์มือใหม่สามารถหาข้อมูล ทำความรู้จักกับผู้ที่มีรสนิยมเดียวกัน และได้สนุกสนานกับการปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์ร่วมกัน ทุกวันศุกร์พวกเขาจะนัดรวมตัวกันที่ซีเหมินติงเพื่อปั่นเป็นกลุ่มในช่วงกลางคืน ซึ่งนอกจากจักรยานฟิกซ์เกียร์ ยังมีคนจำนวนมากที่ใช้ชนิดอื่นเช่น จักรยาน Ubike หรือจักรยานเสือหมอบมาร่วมปั่น ทุกปียังจัดกิจกรรม 100 ผีนักปั่นยามราตรีในคืนวันฮาโลวีน ซึ่งสามารถดึงดูดนักปั่นจักรยานนับ 100 คน สวมชุดที่ออกแบบเป็นพิเศษให้เข้ากับบรรยากาศวันฮาโลวีน ออกมาปั่นบนท้องถนนในยามค่ำคืน นักปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์ส่วนใหญ่นิยมประดับประดาหรือพ่นสีเฟรมจักรยานตามสไตล์ที่ตนชื่นชอบ แม้แต่ชุดที่สวมใส่เวลาออกปั่นก็พิถีพิถันเป็นพิเศษ ทำให้บรรดานักปั่นจักรยานฟิกซ์เกียร์เหล่านี้ นอกจากจะได้ชมทัศนียภาพที่สวยงามระหว่างทางที่ปั่นผ่านแล้ว ตัวรถจักรยานฟิกซ์เกียร์กับเจ้าของรถจักรยาน อีกทั้งเทคนิคการปั่นด้วยความเร็วสูงกับสไตล์การแต่งตัวของพวกเขายังกลายเป็นทัศนียภาพที่น่าชมในสายตาของผู้อื่นอีกด้วย
ไม่ว่าเหตุผลของการปั่นจักรยานคืออะไร ปลดปล่อยความต้องการที่อยากจะทะยานไปข้างหน้าซึ่งซ่อนเร้นอยู่ภายในใจออกมาให้หมด มาปั่นจักรยานเพื่อสร้างโลกอันสวยงามน่าหลงใหลให้แก่ชีวิตตนเองกันเถอะ