อนุรักษ์ขุนเขาฉาซาน
รักษาความยั่งยืนให้ระบบนิเวศ
เนื้อเรื่อง‧เจิงหลันสู ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧ธีระ หยาง
สิงหาคม 2020
我們隨著茶山保育協會創會會長蔡奕哲,走訪阿里山太和村的茶園,從復育的生態茶園,發現與大自然共生共榮的美好;從坪林有機耕種的茶園,看見保護水源的理想,採自生態茶園的茶菁,經過發酵、烘焙做出來的茶,喝得到土地的滋味。
เราติดตามคุณไช่อี้เจ๋อ (蔡奕哲) นายกสมาคมอนุรักษ์ภูเขาฉาซาน เดินทางไปเยี่ยมเยือนสวนชาในหมู่บ้านไท่เหอ ซึ่งตั้งอยู่บนเขาอาลีซาน จากการฟื้นฟูระบบนิเวศของสวนชา ทำให้เราค้นพบความงดงามของการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ และจากสวนชาอินทรีย์ในเขตผิงหลิน ทำให้เราได้เห็นถึงอุดมการณ์ในการปกป้องแหล่งน้ำ เมื่อเราได้ดื่มชาที่ชงจากใบชาซึ่งได้มาจากการเก็บยอดใบชาจากสวนชาที่ใช้วิธีการปลูกแบบปล่อยไปตามธรรมชาติก่อนจะนำไปหมักและอบ จะทำให้เราได้มีโอกาสดื่มด่ำไปกับรสชาติอันชุ่มฉ่ำของผืนแผ่นดิน
จากทางหลวงหมายเลขไถ 18 เมื่อผ่านแถบเฟิ่นฉี่หูแล้ว จะวิ่งวนคดเคี้ยวเข้าไปสู่อ้อมกอดของภูเขา ภายใต้บรรยากาศอันเงียบสงบและร่มรื่นที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของภูเขาอาลีซาน มักจะทำให้เรารู้สึกว่าป่าสนอันเขียวขจีค่อยๆ โอบล้อมเข้ามา เมื่อมาถึงหมู่บ้านไท่เหอ ที่ตั้งอยู่บนความสูง 1,445 เมตรจากระดับน้ำทะเล ภาพของสวนชาน้อยใหญ่ที่สะท้อนเข้าสู่ม่านตา ทำให้เรารู้สึกได้ทันทีถึงความสดชื่นและเบิกบาน
เส้นทางที่อยู่ลึกเข้าไปในเขา พาเราไปถึงสวนชาสายธรรมชาติอย่าง “สือเหย่” (食野 : อาหารป่า) ที่ปกติแล้วคุณเจี่ยนเจียเหวิน (簡嘉文) ผู้เป็นเถ้าแก่ ไม่เปิดรับอาคันตุกะจากภายนอก และจะให้การต้อนรับเฉพาะผู้ที่มีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเท่านั้น การไปเยือนที่นี่ทำให้ความคิดของเราเกี่ยวกับสวนชาต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ต้นชาที่ปลูกแบบธรรมชาติ กลิ่นหอมของน้ำชา รสชาติอันหลากหลายที่มีอยู่เปี่ยมล้น ทำให้แม้จะเติมน้ำในกาเป็นครั้งที่ 7 หรือครั้งที่ 8 ก็ยังสามารถได้ลิ้มรสหวานชุ่มคอของน้ำชาที่ชงออกมา สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับเรายิ่งนัก
ชาภูเขาไต้หวันและต้นชาอูหลงของคุณเจี่ยนเจียเหวิน แฝงตัวอยู่ท่ามกลางดงพังแหร (Trema orientalis) ต้นหนิวจาง (Cinnamomum kanehirae) และต้นจำปีไต้หวัน (Michelia compressa) โดยมีเถาของดอกบัวตอง (Tithonia diversifolia) และดอกเบญจมาศป่าอาลีซาน (Dendran-thema arisanense) พันเกี่ยวไปตามลำต้นของต้นชา ซึ่งมีความสูงตั้งแต่ 6 เมตร ไปจนถึง 13 เมตร ทำให้ต้องใช้การปีนบันไดขึ้นไปเพื่อจะเด็ดใบชา ต้นชาเหล่านี้ได้ผสมผสานและกลมกลืนไปกับป่าเขาลำเนาไพรที่อยู่โดยรอบ จนกลายเป็นทิวทัศน์แห่งขุนเขาอันแปลกตา
สวนชาแห่งนี้ใช้วิธีปลูกแบบปล่อยตามธรรมชาติ ไม่มีการตัดแต่งกิ่งต้นชา ไม่ใส่ปุ๋ย และไม่ฉีดยาฆ่าแมลง ผืนดินที่ใช้ในการปลูกก็ผ่านการฟื้นฟูสภาพมานานนับสิบปี ภายในสวนชาจะมีโอกาสได้เห็นกบต้นไม้มอลเทร็คส์ (Moltrecht’s green tree frog) ที่มีความอ่อนไหวต่อมลภาวะในถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก รวมไปจนถึงแมงมุมที่เป็นนักล่าในชั้นบนของห่วงโซ่อาหาร พร้อมทั้งได้ยินเสียงร้องของนกกระรางสเตียร์ (Steere’s Liocichla) และนกหางรำหูขาว (White-eared Sibia)
คุณไช่อี้เจ๋อที่สวมเสื้อผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการปลูกชาแบบตามธรรมชาติบอกกับเราว่า “เหล่านก แมลง และพืชพรรณสารพัดชนิดที่มีอยู่ ถือเป็นประกาศนียบัตรชั้นดีที่มีต่อระบบนิเวศของสวนชา”
ปล่อยให้ผืนดินเป็นผู้บอกกับเรา
สำหรับคุณเจี่ยนเจียเหวินและคุณเย่เหรินโซ่ว (葉人壽) ชาวสวนชาผู้เลือกใช้วิธีการปลูกแบบตามธรรมชาติแล้ว จุดเริ่มต้นของสิ่งเหล่านี้เริ่มมาจากพายุไต้ฝุ่นมรกตที่พัดถล่มเขาอาลีซานในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.2009 (หรือที่เรียกกันว่าเหตุวาตภัย 8 สิงหาคม) ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาภายในช่วงระยะเวลาเพียง 5 วัน มีจำนวนเทียบเท่ากับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวมกันตลอดทั้งปี ทำให้เกิดเหตุดินถล่ม ภูเขายุบตัว รวมไปจนถึงภูเขาเคลื่อนตัว วาตภัยที่เกิดขึ้นทำให้บ้านเกิดเมืองนอนต้องพังทลายและเสียหายอย่างหนัก ส่งผลให้คนเริ่มหันมาย้อนคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับผืนแผ่นดิน คุณเจี่ยนเจียเหวินจึงไม่ฟังคำทัดทานของสมาชิกในครอบครัว และหันมาทำการเพาะปลูกต้นชาแบบปล่อยไปตามธรรมชาติ
หลังจากเวลาผ่านไป 4-5 ปี ระบบนิเวศของสวนชาก็มีความสมบูรณ์ นักล่าที่กินแมลงเป็นอาหารมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับต้นชาที่ปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติก็ได้มีการสร้างระบบป้องกันตัวเองขึ้นตามใบและกิ่งก้านสาขาต่างๆ ใบชาที่ปลูกออกมาจึงมีรสชาติของดิน นี่คือแนวทางของการใช้วิถีทางธรรมชาติมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งคุณเจี่ยนเจียเหวินบอกกับเราว่า “ธรรมชาติช่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก”
แรงบันดาลใจในการทำการเพาะปลูกแบบปล่อยไปตามธรรมชาติของคุณเย่เหรินโซ่ว ชาวสวนชาอีกผู้หนึ่ง ก็มาจากเหตุวาตภัยที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดยในช่วงที่เกิดเหตุวาตภัย 8 สิงหาคมนั้น คุณเย่เหรินโซ่วได้เห็นญาติมิตรเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา สวนชาที่มีอายุกว่า 30 ปี ก็ถูกดินถล่มลากลงไปด้านล่างจากเดิมเกือบ 200 เมตร คาดไม่ถึงว่าต้นชาจากสวนของตัวเองซึ่งเปลี่ยนไปอยู่ในที่ดินของคนอื่น กลับสามารถเจริญงอกงามได้ดีแม้ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทำให้คุณเย่เหรินโซ่วเริ่มคิดได้ ก่อนจะหันมาทดลองใช้วิธีการปล่อยให้ต้นชาในสวนของตนเติบโตตามธรรมชาติบ้าง โดยเริ่มจากที่ดินเพียง 2,000 ตร.ม. ก่อนจะขยายเป็น 1 เฮกตาร์ (10,000 ตร.ม.) ในเวลาต่อมา
การที่ใบชาถูกแมลงกิน ดูแล้วไม่สวย ใต้ต้นชามีแต่วัชพืช สิ่งเหล่านี้ในสายตาของชาวสวนชาร้อยละ 90 ในหมู่บ้านไท่เหอแล้ว เป็นอะไรที่เหลือเชื่อมาก ส่วนใหญ่ต่างก็คิดว่าคุณเย่เหรินโซ่วต้องบ้าไปแล้ว หรือไม่ก็ละทิ้งการปลูกชาไปแล้วแน่ๆ สิ่งที่คุณเย่เหรินโซ่วทำได้ ก็มีเพียงแต่การบอกกับตัวเองอยู่ในใจว่า “เรายังปกติดีอยู่นะ”
แนวทางในการให้ความเคารพต่อธรรมชาติของคุณเจี่ยนเจียเหวินและคุณเย่เหรินโซ่ว ทำให้ทั้งคู่ต่างก็เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงหลักในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ พวกเขาเข้าใจว่าพลังแห่งธรรมชาติมิได้มีแต่เพียงพลังแห่งการทำลายล้างและทำให้เกิดการสูญเสีย แต่ยังมีพลังแห่งชีวิตใหม่ที่เหมือนเป็นของขวัญจากฟ้ารวมอยู่ด้วย
ขอยกตัวอย่างการปลูกชาฤดูหนาวในปี 2018 ของคุณเย่เหรินโซ่ว โดยในปีนั้น ชาวสวนชาที่ทำการเพาะปลูกในแบบดั้งเดิมได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสภาพอากาศที่หนาวเหน็บอย่างกะทันหัน ทำให้ผลผลิตชาลดลงอย่างถ้วนหน้า แต่ผลผลิตจากสวนชาของคุณเย่เหรินโซ่ว ไม่เพียงแต่ไม่ลดลง หากแต่กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ด้วยอานิสงส์จากการที่เขาได้ปล่อยให้ผืนดินได้มีโอกาสฟื้นฟูสภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นชาสามารถต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี ซึ่งคุณเย่เหรินโซ่วบอกกับเราว่า สวนชาที่ใช้วิธีการปลูกแบบปล่อยไปตามธรรมชาติ กลับสามารถต่อกรกับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้เป็นอย่างดี
ยืนหยัดเคียงข้างชาวสวนชา ฟื้นฟูสภาพขุนเขาแห่งชา
“การดื่มชาก็เหมือนการดื่มสิ่งแวดล้อมของต้นชา” คุณไช่อี้เจ๋อที่หยัดยืนอยู่เคียงข้างชาวสวนชามาเป็นเวลานานกว่า 20 ปีกล่าวขึ้นด้วยจังหวะพอดีๆ
ในปี 1996 ขณะที่คุณไช่อี้เจ๋อกำลังอยู่ระหว่างมองหาใบชาดีๆ ในแถบปี่สือของตำบลซิ่นอี้ในเมืองหนานโถวนั้น พายุไต้ฝุ่นเฮิร์บ (Herb) ที่พัดถล่มเกาะไต้หวันทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเฉินโหย่วหลันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เหตุดินถล่มที่เกิดขึ้นทำให้โรงนาที่ตั้งอยู่ข้างกายพังทลาย คุณไช่อี้เจ๋อที่รอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิดต้องติดค้างอยู่กลางภูเขาและขาดการติดต่อกับโลกภายนอกนานถึง 10 กว่าวัน
ประสบการณ์เฉียดตายในครั้งนี้ ทำให้คุณไช่อี้เจ๋อตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสภาพแวดล้อมของแผ่นดินและผืนน้ำ รวมทั้งทำให้เขารู้ว่าการอนุรักษ์ภูเขาฉาซานเป็นสิ่งที่ไม่อาจรอได้อีกต่อไป “การอนุรักษ์เขาฉาซานมีจุดเริ่มต้นจากการให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมเคียงข้างเหล่าชาวสวนชา” คุณไช่อี้เจ๋อลองผิดลองถูกอยู่นานหลายปี และค่อยๆ ผลักดันแนวคิดนี้ให้กับสวนชาในไต้หวันทีละแห่งสองแห่ง จากผิงหลินไปจนถึงสือติ้ง จากตำบล
หมิงเจียนในหนานโถวไปจนถึงทะเลสาบสุริยันจันทรา รวมทั้งจากเขาอาลีซานไปจนถึงแถบเกาไถในเมืองไถตง “แทนที่จะบอกว่าเป็นการอยู่เคียงข้าง น่าจะเรียกว่าเป็นการปลุกความทรงจำของเหล่าชาวสวนชาสมัยนี้ให้รำลึกถึงวิธีการปลูกชาในแบบที่อากงอาม่าของพวกเขาเคยทำ พร้อมทั้งช่วยฟื้นฟูสภาพดินด้วยการใช้วิธีแบบธรรมชาติที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีและไม่ใช้ยาฆ่าแมลง” การใช้วิธีปลูกชาแบบตามธรรมชาติได้ผ่านบททดสอบแล้วว่า สามารถสร้างจุดสมดุลระหว่างการผลิตกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
สวนชาอินทรีย์กับการอนุรักษ์ระบบนิเวศ
“ผมไม่ได้ปลูกชา ผมแค่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” คุณอวี๋ซานเหอ (余三和) หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและจำหน่ายชารุ่นที่ 7 ของเขตผิงหลิน นครนิวไทเป ได้หยิบเอาใบชาฤดูหนาวที่เพิ่งจะทำเสร็จออกมาให้ดู พร้อมบอกกับเราด้วยประกายตาอันสุกใสว่า “การที่ผมเปลี่ยนมาทำการเกษตรอินทรีย์ ไม่เพียงแต่ช่วยรักษาสภาพแวดล้อม แต่ยังทำให้ผมได้ผลผลิตใบชาฤดูหนาวที่มีค่าในปริมาณมากด้วย”
คุณอวี๋ซานเหออธิบายว่า ในช่วงแรกที่เปลี่ยนมาใช้วิธีปลูกชาแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากผลผลิตจะลดลงแล้ว ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือมลภาวะจากสวนรอบข้าง คุณอวี๋ซานเหอเล่าให้เราฟังว่า “เมื่อ 4-5 ปีก่อน มีเพื่อนชาวสวนคนนึงบอกกับผมว่า เขาพ่นยาฆ่าแมลงถึง 3 ครั้ง กว่าที่ใบชาจะงอกออกมา ผมก็เลยรู้ว่า ที่แท้เป็นเพราะเขาพ่นยาฆ่าแมลงเยอะขนาดนี้ พวกแมลงเลยหนีมากินใบชาที่สวนของผมจนหมดต้น” เพื่อแก้ปัญหาเรื่องผลกระทบจากการพ่นยาฆ่าแมลงของสวนที่อยู่โดยรอบ คุณอวี๋ซานเหอจึงไม่เก็บใบชาในเดือนสิงหาคม โดยจะรอจนถึงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่สวนชาที่อยู่ข้างๆ จะพ่นยาฆ่าแมลง เมื่อถึงตอนนั้นใบชาจะเริ่มแก่ หนอนและแมลงที่หนีมาจากสวนโดยรอบก็จะไม่ชอบกินใบแก่ และจะรอจนถึงเดือนตุลาคมที่จะมีการแตกใบอ่อนอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการเก็บใบชาฤดูหนาวพอดี
หลังผ่านช่วงเวลาที่ผลผลิตลดลงและขาดทุนจนต้องกู้ยืมเงินจากสหกรณ์การเกษตรมาใช้ประทังชีวิต คุณอวี๋ซานเหอก็ได้พบกับฟ้าหลังฝนอันสดใสจนได้ ก็เหมือนกับใบชาที่ออกมาจากสวนของคุณอวี๋ซานเหอที่แฝงรสชาติเอาไว้อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะชาขาวและชาเหลือง ซึ่งในน้ำชาสีจางๆ ที่ชงออกมา เปี่ยมไปด้วยรสชาติอันนุ่มละมุน และยังคงส่งกลิ่นหอมอบอวลไปทั่วปาก แม้น้ำชาจะผ่านลงคอไปพักหนึ่งแล้วก็ตาม
ปัจจุบันร้อยละ 90 ของสวนชา รวมประมาณ 7,500 ไร่ในเขตผิงหลินและสือติ้ง ซึ่งอยู่บริเวณต้นน้ำของเขื่อนเฟ่ยชุ่ย ยังคงใช้การปลูกชาในแบบเดิมๆ ซึ่งใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจำนวนมากเป็นเวลานานๆ ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรด และมีโอกาสที่จะเร่งให้เกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชันของน้ำในเขื่อน นอกจากคุณอวี๋ซานเหอแล้ว ในกลุ่มเกษตรกรชาฯ รุ่นที่ 7 และรุ่นที่ 8 จำนวน 30 คน ต่างก็ร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟูสภาพของระบบนิเวศในสวนชาของตน เพื่อช่วยกันลดการเกิดมลภาวะจากการทำการเกษตรแบบเดิมจนส่งผลกระทบต่อเขื่อนเฟ่ยชุ่ย
นอกจากนี้ ยังมีคุณหวงปั๋วจวิน (黃柏鈞) ผู้ก่อตั้งสวนชาสาลิกาสีน้ำเงินไต้หวัน ที่ผลักดันแนวคิดการฟื้นฟูสภาพลุ่มแม่น้ำ ซึ่งตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา คุณหวงปั๋วจวินก็เริ่มชักชวนให้ชาวสวนชาจำนวน 3 ราย ในแถบผิงหลินเข้าเป็นแนวร่วมในโครงการไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง โดยในปัจจุบันมีชาวสวนเข้าร่วมโครงการจำนวน 14 รายแล้ว
คุณหวงปั๋วจวินใช้ “ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มาเป็นเสมือนแบรนด์ของตน ก่อนจะต่อยอดทางการตลาดไปสู่การขอสปอนเซอร์จากบริษัทห้างร้าน และผลักดันการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ไม่น่าเชื่อว่าการสร้างความร่วมมือกับองค์กรที่มีนโยบายด้าน CSR (Corporate Social Responsibility - ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร) รวมไปจนถึงการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคที่ถือเป็นภาคประชาชน จะสามารถทำให้การดื่มชากลายมาเป็นการอุทิศตนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย
การดื่มชาคือการกลับมาอีกครั้งของวิถีชีวิตแห่งธรรมชาติ และถือเป็นสุนทรียศาสตร์ในการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง โดยสิ่งที่ธรรมชาติตอบแทนให้กับการอนุรักษ์เขาฉาซานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็คือชาดีๆ แก้วหนึ่ง ที่มีแต่เปี่ยมไปด้วยพลังชีวิตอันสดใสเอ่อล้นอยู่ภายใน