ไม้ไผ่ไต้หวัน กับการฟื้นฟูศิลปวิทยา
วิถีชีวิตแห่งวัฒนธรรมไม้ไผ่และหน่อไม้
เนื้อเรื่อง‧กัวเหม่ยอวี๋ ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧ธีระ หยาง
ธันวาคม 2024
ต้นไผ่อันเรียวงามจะเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาตลอดทั้งปี ซึ่งหลานอินติ่ง (藍蔭鼎) จิตรกรผู้เลื่องชื่อของไต้หวันได้ถ่ายทอดวิถีชีวิตชนบทในหมู่บ้านที่รายล้อมไปด้วยต้นไผ่ไว้ในภาพสีน้ำชื่อ “พันไผ่ล้อมบ้าน” อันโด่งดัง
ไต้หวันมีทรัพยากรป่าไผ่อันอุดมสมบูรณ์ ในสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิม ไผ่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น การใช้ประโยชน์จากไผ่ก็พัฒนาจากความเรียบง่ายสู่ความทันสมัย และยังยกระดับจนกลายเป็นวิถีชีวิตในแบบเฉพาะตัวอีกด้วย
หน่อไม้ของไผ่หยกมีมากในฤดูร้อน รสชาติอ่อนนุ่มและหวานเหมือนลูกแพร์ เป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยมประจำฤดูกาล โจวเหลียงฝู่ (周良富) ผู้ใหญ่บ้านของแขวงเหล่าฉวน ในเขตมู่จ้า กรุงไทเป ซึ่งเป็นชาวไร่หน่อไม้ได้พาพวกเราเข้าไปในป่าไผ่เพื่อขุดหาหน่อไม้ โดยก่อนอื่นต้องผูกยาจุดกันยุงไว้ที่เอว และสวมปลอกแขน เพื่อป้องกันยุงให้เรียบร้อยก่อนจะเดินเข้าไปในป่าไผ่เพื่อค้นหา “สหายหน่อไม้” กัน
หน่อไม้เป็นหน่อไม้ไผ่อ่อนที่เติบโตจากเหง้าของต้นไผ่ก่อนจะกลายเป็นต้นไผ่เต็มวัย การเก็บเกี่ยวหน่อไม้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไผ่ เช่น หน่อไม้ไผ่หวานอ่างขาง (Dendrocalamus latiflorus) สามารถเก็บเกี่ยวได้หลังจากโผล่พ้นดิน แต่หน่อไม้ไผ่หยกต้องเก็บก่อนจะโผล่พ้นดิน เพราะเมื่อยอดหน่อโผล่ขึ้นมาสัมผัสกับแสง มันจะเริ่มสังเคราะห์แสง ซึ่งจะทำให้เนื้อของหน่อไม้มีรสขม โจวเหลียงฝู่กล่าวว่า ต้นไผ่ชอบความชื้น เมื่อต้องการเก็บหน่อไม้ไผ่หยกจะสามารถดูได้ว่าดินที่คลุมยอดหน่อมีรอยแตกหรือไม่ และพื้นดินมีความชื้นหรือไม่ ในช่วงฤดูหน่อไม้ การขุดหน่อมักจะไม่ผิดหวัง เพราะจะเห็นสัญญาณบนพื้นดินมากมายที่บ่งบอกว่าด้านล่างมีหน่อไม้งอกอยู่ เขาใช้มือเปล่าขุดดินด้านบนออก จนเผยให้เห็นส่วนหนึ่งของหน่อ แล้วจึงใช้มีดขุดดินออกจนเห็นหน่อไม้ที่ดูเหมือนเขาวัว ทันทีที่พบตำแหน่งที่เหมาะสม เขาก็ใช้มีดตัดลงไปตรงตำแหน่งที่ต้องการอย่างแม่นยำ พอเราได้ยินเสียงดัง “ชวับ” หน่อไม้ไผ่หยกก็ถูกขุดขึ้นมา หนึ่งหน่อ สองหน่อ สามหน่อ... เขาสามารถขุดหน่อไม้ได้เกือบ 20 หน่อจากป่าไผ่กอนี้ ถือเป็นการเก็บเกี่ยวอันอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก
ในฤดูร้อน ความต้องการหน่อไม้ไผ่หยกมีมากกว่าปริมาณที่สามารถจัดหาได้ โจวเหลียงฝู่กล่าวว่า เมื่อเก็บมาใหม่ ๆ และส่งไปตลาด หน่อไม้จะขายหมดอย่างรวดเร็วและขายได้ราคาดี หน่อไม้ไผ่หยกที่ต้มพร้อมเปลือกแล้วนำไปแช่เย็น ก่อนจะราดด้วยมายองเนส ถือเป็นอาหารแบบเย็นที่ให้ทั้งความสดชื่นและอร่อยเป็นอย่างมาก
หมู่บ้านหล่าวเฉวียนในเขตมู่จ้า กรุงไทเป เปิดให้ประชาชนเข้ามาเก็บหน่อไม้ได้ ถือเป็นกิจกรรมที่ให้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน
ขณะเก็บหน่อไม้ จะสามารถระบุตำแหน่งของหน่อไม้ได้จากรอยแตกบนพื้นดินที่ปกคลุมยอดหน่อไม้ และจากความชื้นบนพื้นดิน
ภาพลักษณ์ของต้นไผ่ในวัฒนธรรมตะวันออก
ต้นไผ่เป็นพืชในวงศ์หญ้าชนิดหนึ่งที่เขียวชอุ่มตลอดปี มีหลายพันสายพันธุ์ทั่วโลก นอกจากทวีปยุโรปแล้ว ต้นไผ่พบได้ในทุกทวีป โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น ซึ่งร้อยละ 80 ของต้นไผ่ทั้งหมดกระจายตัวอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ต้นไผ่ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมตะวันออก
ต้นไผ่มีทั้งประเภทที่ขึ้นเป็นกอและกระจายตัว มันสามารถเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ยแล้วสามารถสูงขึ้นได้ถึง 18 เซนติเมตรต่อวัน หรือมากกว่านั้น และใช้เวลาเพียง 3 ถึง 5 ปีก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ต้นไผ่ช่วยลดการพังทลายของดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสามารถในการแพร่พันธุ์สูง ยิ่งตัดไผ่แก่ทิ้งมากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยให้หน่อใหม่เจริญเติบโตและเพิ่มคุณภาพของไผ่ได้มากขึ้น ต้นไผ่ส่วนใหญ่จะออกดอกเพียงครั้งเดียวในชีวิตและจะตายไปหลังจากออกดอก แต่เหง้าใต้ดินยังคงอยู่ และหลังจากผ่านไป 5 ถึง 10 ปี ก็จะงอกต้นอ่อนใหม่ กลายเป็นป่าไผ่สีเขียวสดใสอีกครั้ง
ตั้งแต่โบราณกาล ต้นไผ่มีความผูกพันกับชีวิตประจำวันของผู้คนเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และการพักผ่อน ส่วนต่าง ๆ ของต้นไผ่ ทั้งราก ลำต้น หน่อ กาบไผ่ ลำไผ่ กิ่ง และใบของต้นไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ หน่อไม้รับประทานได้ กาบไผ่ใช้ทำหมวกงอบ ใบไผ่ใช้ห่อบ๊ะจ่าง กิ่งไผ่ใช้ทำไม้กวาด ตะเกียบ แมลงปอไม้ไผ่ ส่วนลำต้นทำขลุ่ยไผ่ สร้างบ้าน ทำเสลี่ยง และเผาเป็นถ่านไผ่ได้ ดังนั้น ต้นไผ่จึงเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนมาโดยตลอด
ทรัพยากรป่าไผ่ของไต้หวัน
ลวี่จิ่นหมิง (呂錦明) ผู้เชี่ยวชาญด้านไผ่ของไต้หวัน กล่าวว่า ไต้หวันมีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นและปริมาณน้ำฝนเพียงพอ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ และตั้งแต่พื้นที่ราบจนถึงภูเขาสูง ต้นไผ่และหน่อไม้เติบโตได้ดีมาก บนภูเขาเหอฮวนที่ระดับความสูง 3,000 เมตร ยังเต็มไปด้วยไผ่ชนิดพิเศษของไต้หวัน คือไผ่ลูกศรอวี้ซาน (Yushan Arrow Bamboo หรือ Fargesia yushanensis)
จากการสำรวจของกระทรวงเกษตรไต้หวันพบว่า ไต้หวันมีไผ่มากกว่า 89 ชนิด ซึ่ง 25 ชนิดเป็นสายพันธุ์ท้องถิ่น โดยไผ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไต้หวัน 6 ชนิด ได้แก่ ไผ่หวานอ่างขาง (Dendrocalamus latiflorus) ไผ่โมโซ (Phyllostachys edulis) ไผ่หนาม (Bambusa stenostachya) ไผ่เขียว (Bambusa oldhamii) ไผ่กิ่งยาว (Dendrocalamus asper) และไผ่มากินอย (Phyllostachys makinoi) ซึ่งเป็นไผ่ลำเดี่ยวสายพันธุ์เฉพาะของไต้หวัน
“หมูป่าคือตัวการสร้างขยะในภูเขา หน่อไม้ที่เพิ่งงอกขึ้นมาก็โดนมันกินหมด” เจิงชงเหยา (曾聰堯) นักวิจัยด้านไผ่จากสถาบันวิจัยป่าไม้ของกระทรวงเกษตรไต้หวันกล่าวขณะที่พบเปลือกหน่อไม้กระจัดกระจายอยู่ใต้ป่าไผ่หม่าจู๋ เขายังกล่าวอีกว่า หมูป่าก็ชอบกินหน่อไม้ บางครั้งลิงก็จะมากินด้วย
ไผ่ลูกศรไต้หวันซึ่งอยู่ในวงศ์ไผ่ลูกศร เจริญเติบโตอย่างหนาแน่นใต้ร่มเงาของต้นไม้ ทั้งไผ่ลูกศรอวี้ซานและไผ่ลูกศรเปาทั่ว (Fargesia robusta) ต่างก็เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นของไต้หวัน เจิงชงเหยากล่าวว่า ไผ่ลูกศรอวี้ซานกระจายตัวตามพื้นที่ภูเขาสูงในแถบเทือกเขาใจกลางไต้หวัน ส่วนไผ่ลูกศรไต้หวันและไผ่ลูกศรเปาทั่วจะพบตามพื้นที่ในภูเขาที่มีความสูงระดับกลางและต่ำ
ลำไผ่ลูกศรมีความบางแต่แข็งแรง ชาวพื้นเมืองในสมัยก่อนใช้ทำก้านลูกศรสำหรับล่าสัตว์ จึงได้ชื่อว่าไผ่ลูกศร หน่อไผ่ลูกศร หรือที่เรียกว่าหน่อลูกศร รับประทานได้ โดยในเขตหยางหมิงซาน ไผ่ลูกศรเปาทั่วจะเติบโตอยู่ในเขตอนุรักษ์ ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติหยางหมิงซานได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการเก็บหน่อไผ่ลูกศรไว้
เจิงชงเหยากล่าวว่า ต้นไผ่ที่มีอายุ 3 ถึง 4 ปีเริ่มมีความสมบูรณ์ เป็นช่วงเวลาที่ดีในการนำมาใช้ประโยชน์ ต้นไผ่ที่มีอายุเกิน 4 ปีจะกลายเป็นไผ่แก่ ดังนั้นจึงมีหลักการจัดการป่าไผ่ว่า “เก็บ 3 ตัด 4 ไม่เอา 7” ซึ่งต้องมีการตัดแต่งไผ่แห้งและไผ่แก่เป็นประจำเพื่อรักษาความแข็งแรงของป่าไผ่
ก่อนทศวรรษ 1980 อุตสาหกรรมไผ่ในไต้หวันเฟื่องฟูมาก แต่เมื่อผลิตภัณฑ์พลาสติกเข้าสู่ตลาด ขนาดของอุตสาหกรรมไผ่ในไต้หวันก็เริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมหน่อไม้และเศรษฐกิจหน่อไม้ยังคง “อยู่เหนือกาลเวลา”
โจวเหลียงฟู่ (周良富) ชาวสวนหน่อไม้ กล่าวว่า หน่อไม้ไผ่เขียวที่เก็บเกี่ยวในฤดูร้อนมีเนื้อละเอียดและรสชาติหวานกลมกล่อมคล้ายกับลูกแพร์
ไม้ไผ่มีประโยชน์ที่หลากหลายและสามารถนำมาใช้ได้หลายรูปแบบ ไม้ไผ่ที่โตเต็มที่สามารถนำมาทำเป็นงานหัตถศิลป์ ส่วนหน่อไม้อ่อนสามารถนำมาทำเป็นอาหารรสเลิศได้ เช่น หน่อไม้ดอง (หมูพะโล้หน่อไม้แห้ง)
วัฒนธรรมหน่อไม้
หน่อไม้เป็นอาหารที่มีไฟเบอร์สูง แคลอรีต่ำ และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ จึงเป็นเมนูยอดนิยมบนโต๊ะอาหาร หลังจากวันวสันตวิษุวัตในฤดูใบไม้ผลิ สายฝนแห่งฤดูใบไม้ผลิก็เริ่มโปรยปรายลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีหน่อไม้ผุดขึ้นตามมา คำว่า “หน่อไม้หลังฝน” จึงมีที่มาจากช่วงเวลาเช่นนี้เอง โดยจะมีหน่อไผ่ลูกศรเกิดขึ้นในช่วงก่อนและหลังเทศกาลเช็งเม้ง จากนั้นก็จะเป็นช่วงของหน่อไผ่มากินอย หน่อไผ่เจี้ยวเกา หน่อไผ่เขียว หน่อไผ่เขียวเปลือกดำ หน่อไผ่หวานอ่างขาง และหน่อไผ่หก ส่วนหน่อไผ่โมโซหรือที่เรียกว่า “หน่อไม้ฤดูหนาว” จะมีในช่วงหลังจากเดือนตุลาคมตามปฏิทินจันทรคติ
หลี่จิ่นหมิงกล่าวว่า “หน่อไม้ทุกชนิดสามารถกินได้ แต่ต้องรู้วิธีการเตรียม” หน่อไม้ต้องถูกแช่น้ำเพื่อให้คงความสด จากนั้นสะเด็ดน้ำออกเก็บในถุงแช่เย็น แล้วค่อยนำไปปรุงอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะผัดกับเนื้อหมูหรือทำเป็นซุปก็อร่อยทั้งนั้น
คนไต้หวันมีฝีมือในการปรุงอาหารอย่างยอดเยี่ยม ทำให้ “วัฒนธรรมหน่อไม้” มีความหลากหลาย เชฟของโรงอาหารพนักงานสถาบันวิจัยป่าไม้เหลียนฮัวฉือ ใช้หน่อไม้หลากหลายชนิดในการทำเมนูหน่อไม้พื้นบ้าน : หน่อไผ่หยกหั่นเต๋าที่จัดจานเสิร์ฟเป็นเมนูหน่อไม้เย็นที่มีรสหวานและเนื้อนุ่ม ซุปซี่โครงหมูกับหน่อไผ่หวานอ่างขางเป็นเมนูที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างชื่นชอบ หน่อไม้ต้มกับผักดอง เป็นเมนูที่พบได้บ่อยในร้านอาหารริมทางและในข้าวกล่องหมูพะโล้ หน่อไผ่หกที่นำมาผัดกับเห็ดหูหนูและเนื้อ รวมถึงเมนูใหญ่ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น หมูสามชั้นตุ๋นกับหน่อไม้แห้ง ไข่เจียวหน่อไม้ดองที่เป็นเมนูขึ้นชื่อของแถบจู๋ซาน
เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ลี่ซิงเฉิน (李星辰) เกษตรกรปลูกหน่อไม้รุ่นที่สองได้พัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปสุญญากาศที่ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ทำให้สามารถส่งออกหน่อไม้ไปยังตลาดคนเชื้อสายจีนในสหรัฐฯ และแคนาดา
หน่อไม้ฤดูหนาวมีปริมาณการผลิตน้อยและเป็นหน่อไม้ที่มีราคาสูงที่สุดในบรรดาหน่อไม้ทั้งหมด พื้นที่จู๋ซานและลู่กู่ในเมืองหนานโถวเป็นแหล่งผลิตหน่อไม้ฤดูหนาวที่มีชื่อเสียง และเป็นไม่กี่พื้นที่ในไต้หวันที่มีตลาดหน่อไม้โดยเฉพาะ ตลาดหน่อไม้ลู่กู่เน้นการขายหน่อไม้ในฤดูหนาว ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมในหน่อไม้ชนิดนี้
ตำบลจู๋ซานถือเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไผ่ในไต้หวัน ในช่วงปีใหม่ครอบครัวของชาวบ้านในจู๋ซานจะมีเมนูอาหารป่าและอาหารทะเลชั้นเลิศเสิร์ฟบนโต๊ะอาหารอยู่เสมอ สำหรับชาวจู๋ซานแล้ว “อาหารจากป่า” หมายถึงหน่อไม้ฤดูหนาวอย่างแน่นอน หลินอวี้เหริน (林裕仁) นักวิจัยจากฝ่ายจัดสรรทรัพยากรป่าไม้ของสถาบันวิจัยป่าไม้ไต้หวัน เล่าจากความทรงจำว่า “สำหรับชาวจู๋ซานแล้ว ถ้าไม่มีเมนูเด็ดอย่างหน่อไม้ตุ๋นพะโล้และซุปหน่อไม้ใส่ปลาหมึก และต้นกระเทียมบนโต๊ะอาหารในวันตรุษจีน ก็ไม่ถือว่าเป็นการฉลองตรุษจีน”
นอกจากนี้ อาหารบ้าน ๆ ของชาวจู๋ซานอย่างหน่อไม้ดอง คือการนำหน่อไผ่หวานอ่างขางมาหั่นเป็นท่อน หมักด้วยเกลือ กากถั่วเหลือง และชะเอมเทศ ทำให้ได้รสชาติที่ไม่มีความสากของเนื้อหน่อไม้หลงเหลือแม้แต่น้อย เป็นเครื่องเคียงที่นิยมรับประทานพร้อมกับข้าว
หน่อไม้มากินอยผัดผักดอง
หน่อไม้หวานผัดเห็ดหูหนู
หน่อไม้เย็นราดมายองเนส
นวัตกรรมที่ประยุกต์จากไม้ไผ่
ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การใช้ไม้ไผ่ได้พัฒนาจากความเรียบง่ายไปสู่ความทันสมัย ห้องทำงานของหลินอวี้เหรินได้จัดแสดงเครื่องจักสานไม้ไผ่ ของเล่นไม้ไผ่ ถ่านไม้ไผ่ และเม็ดเชื้อเพลิงชีวมวลจากไม้ไผ่ เหมือนกับการใช้ไทม์แมชชีนเพื่อส่องอดีตและปัจจุบันของไม้ไผ่
หลินอวี้เหริน ที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมไม้ไผ่กล่าวว่า ไผ่มากินอยของไต้หวันมีความเหนียวเป็นเลิศและไม่แตกหักง่าย เป็นวัสดุสำหรับทำดาบไม้ไผ่ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมใช้ หากนำมาเผาด้วยอุณหภูมิสูงจะเป็นถ่านไม้ไผ่ที่มีคุณสมบัติสามารถฟอกอากาศได้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ “จุดประกาย” ให้กับไม้ไผ่ หลินอวี้เหรินกล่าวว่า ตามระยะเวลาการปลูกป่าที่กินเวลารอบละ 20 ปี แต่ไม้ไผ่สามารถนำไปใช้เป็นไม้ได้ภายใน 3-5 ปี ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนมีมากกว่าต้นไม้ 3-4 เท่า ไม้ไผ่จึงถือเป็นทรัพยากรหมุนเวียนที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้มากที่สุด รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมให้วิสาหกิจสนับสนุนการปลูกป่าไผ่ ส่งผลให้อุตสาหกรรมไม้ไผ่ได้รับการฟื้นฟู ก่อให้เกิดเป็นวัฏจักรที่ดีของการปลูกป่าและภาคอุตสาหกรรม
“อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการส่งเสริมให้มีการใช้ไม้ไผ่ในปริมาณมาก ๆ ก็จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการสร้างอาคารไม้ไผ่ให้มากขึ้น” หลินอวี้เหรินกล่าว
หลินอวี้เหริน (林裕仁) นักวิจัยจากแผนกการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์ป่าไม้ของสถานีวิจัยป่าไม้ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับไม้ไผ่อย่างลึกซึ้ง
ตะกร้าไม้ไผ่
การแปรรูปไม้ไผ่จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับไม้ไผ่ โดยเฉพาะถ่านไม้ไผ่ที่เผาในอุณหภูมิสูง ซึ่งสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้
จากไม้ไผ่สู่สถาปัตยกรรมไม้ไผ่
ในไต้หวัน กานหมิงหยวน (甘銘源) และหลี่ลวี้จือ (李綠枝) สองสถาปนิกชื่อดัง ถือเป็นผู้บุกเบิกรุ่นแรกที่นำแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนของสถาปัตยกรรมไม้ไผ่สมัยใหม่มาใช้
ในปี ค.ศ. 2011 กานหมิงหยวนและหลี่ลวี้จือ เป็นผู้ริเริ่มการวิจัยเกี่ยวกับการนำไม้ไผ่มาใช้ในการก่อสร้างอาคารเป็นครั้งแรกของไต้หวัน “ไต้หวันมีพายุไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง และมีข้อกำหนดมากมายด้านความปลอดภัยของอาคาร” พวกเขาและกลุ่มผู้รักการใช้ไม้ไผ่ได้ร่วมกันก่อตั้ง “สมาคมไม้ไผ่ไต้หวัน” เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรไม้ไผ่ โดยร่วมมือกับภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และนักวิชาการในการศึกษาการใช้ไม้ไผ่และค้นหาวิธีทำให้แห้งด้วยอุณหภูมิสูงเพื่อป้องกันเชื้อรา กันมอด กันแตก และเพิ่มความทนทาน
เพื่อทำให้รูปร่างโครงสร้างของไม้ไผ่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หลากหลาย การดัดไม้ไผ่จึงกลายเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญและมีความจำเป็นในกระบวนการทำให้สถาปัตยกรรมไม้ไผ่มีความทันสมัย กานหมิงหยวนและสมัครพรรคพวกร่วมกันพัฒนาการเชื่อมต่อของไม้ไผ่ เช่น การผูก การสลัก การประสานเข้าด้วยกัน และการใช้โครงสร้างเป็นตัวกลาง ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการสร้างสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ขนาดใหญ่ พวกเขาได้ตีพิมพ์ความรู้ที่สะสมเกี่ยวกับวัสดุและข้อต่อไม้ไผ่ลงในหนังสือ เพื่อแบ่งปันแนวคิดในการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ ได้แก่ หอประชุม CJCU แห่งมหาวิทยาลัยคริสเตียนฉางหรง และศาลาสวนจู๋ ซึ่งเป็นงานศิลปะสาธารณะในสวนป่าต้าหนาน เขตปาเต๋อ นครเถาหยวน ศาลาแห่งนี้มีหลังคาไม้ไผ่ที่หุ้มด้วยทองแดง ทำให้ผู้คนสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ด้านล่างในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ใต้ร่มเงา และถือเป็นการเปิดบริบทใหม่ของการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับไม้ไผ่ และคนกับสิ่งแวดล้อม
กานหมิงหยวนกล่าวว่า “สิ่งที่แตกต่างจากบ้านไม้ก็คือ บ้านไม้ไผ่มีความเป็นธรรมชาติมากกว่าเล็กน้อย” แม้ว่าไม้ไผ่จะต้องการการดูแลรักษาอย่างสม่ำเสมอ แต่ประสบการณ์จากการที่มีโอกาสได้ใช้วัสดุธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์และคุ้มค่าเป็นอย่างมาก
ความเรียบง่ายของไม้ไผ่ได้สร้าง “ความฝันแห่งไม้ไผ่” อันแท้จริงและบริสุทธิ์ บนเส้นทางสู่ความยั่งยืน ไม้ไผ่ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดแห่งวิถีชีวิต
สถาปัตยกรรมไม้ไผ่ไม่เพียงแต่มีความสวยงาม แต่ยังมีคุณค่าในความเป็นสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืนด้วย