“ทองคำดำ” จากผืนดิน
ถั่วลิสงผิวดำและเห็ดทรัฟเฟิลไต้หวัน
เนื้อเรื่อง‧หลี่อวี่ซิน ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧ธีระ หยาง
เมษายน 2025

เห็ดทรัฟเฟิลซึ่งภายนอกดูธรรมดา แต่กลับมีคุณค่าอย่างยิ่งและถูกเรียกว่าเป็น “เพชรบนโต๊ะอาหาร” ในภาพคือเห็ดทรัฟเฟิลที่ถูกค้นพบที่ ต. ไท่หมาหลี่ เมืองไถตง โดยทีมงานของ ดร. ฟู่ชุนซวี่ และ ดร. หลินเจี้ยหลง
ไม่ว่าจะเป็นถั่วลิสงผิวดำ (ถั่วลิสงพันธุ์เฮยจินกัง) ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของไต้หวันในเวทีระดับนานาชาติ หรือเห็ดทรัฟเฟิลไต้หวัน ที่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและรอการสนับสนุนเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น “ทองคำดำ” อันล้ำค่าที่เกิดจากผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ของเกาะไต้หวัน

รูปตัว Y ที่เห็นอยู่นี้ แสดงให้เห็นว่า การเพาะเชื้อในการปลูกต้นอ่อนของไมคอร์ไรซา (mycorrhizae) ประสบความสำเร็จ
ถั่วลิสงผิวดำ : ของขวัญที่ฟ้าประทานแด่ไต้หวัน
บทกวีชื่อ “ถั่วลิสง” โดยเฉินจินพัว (陳金波) กวีชาวไต้หวัน เขียนไว้ว่า “สกัดเป็นน้ำมันเพื่อเติมในตะเกียง เป็นกับแกล้มชั้นเลิศเมื่อกินกับสุรา” ได้ถ่ายทอดภาพชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับถั่วลิสง ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ธัญพืชแห่งความเป็นอมตะ” และกลายเป็นขนมขบเคี้ยวยอดนิยมของชาวไต้หวัน รวมถึงสกัดเป็นน้ำมันสำหรับจุดไฟ
ในบรรดาถั่วลิสงที่ปลูกในไต้หวัน “หยิวโต้ว” (油豆 แปลตรงตัวคือ ถั่วน้ำมัน) ซึ่งมีเปลือกสีน้ำตาลอ่อนถือเป็นชนิดที่ปลูกมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีถั่วลิสงเปลือกแดง “หงเหริน” (紅仁) ถั่วลิสงลายเสือ “ฮัวเหริน” (花仁) และ “เฮยจินกัง” (黑金剛 คิงคองดำ) ที่เยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีดำขลับ

ทีมวิจัยพยายามแพร่พันธุ์สปอร์เห็ดทรัฟเฟิล เพื่อรักษาสายพันธุ์อันมีค่า และปลูกเชื้อต้นอ่อนต่าง ๆ เพื่อทดสอบการเพาะเชื้อ โดยนอกเหนือจากการรวบรวมข้อมูลการเจริญเติบโตต่าง ๆ ของเห็ดทรัฟเฟิลแล้ว พวกเขายังเตรียมความพร้อมสำหรับทำการผลิตจำนวนมากในอนาคตด้วย
ของขวัญที่สวรรค์ประทานให้แก่ตำบลหยวนจ่าง
มีการถกเถียงกันอย่างมาก เกี่ยวกับต้นกำเนิดของถั่วลิสงเฮยจินกัง ซึ่งเฉินกั๋วเสี้ยน (陳國憲) นักวิจัยประจำศูนย์พัฒนาการเกษตร เขตไถหนาน ที่เป็นผู้ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสายพันธุ์ของถั่วลิสงมาอย่างยาวนาน เล่าว่า คำอธิบายที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือคือ ในขณะที่ชาวไร่กำลังปลูกถั่วลิสงพันธุ์ฮัวเหริน พวกเขาได้พบเมล็ดถั่วลิสงที่มีลักษณะเป็นสีดำล้วน ชาวไร่เกิดความสงสัยจึงเก็บรักษาเมล็ดถั่วพิเศษนี้ไว้ด้วยความเชื่อว่า นี่คือของขวัญจากธรรมชาติ จากจุดเริ่มต้นของความบังเอิญและความใส่ใจนี้ ทำให้ตำบลหยวนจ่าง ในเมืองหยุนหลิน กลายมาเป็นบ้านเกิดของถั่วลิสงเฮยจินกัง ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผลผลิตสุดพิเศษของไต้หวัน

ดร. ฟู่ชุนสวี้ (ที่ 1 จากขวา) ดร. หลินเจี้ยหลง (ที่ 1 จากซ้าย) และทีมงาน ได้เดินทางไปเรียนรู้ประสบการณ์จากแหล่งผลิตเห็ดทรัฟเฟิลทั่วโลก เพื่อส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเห็ดทรัฟเฟิลในไต้หวัน
ถั่วลิสงสีดำที่ดูแลยาก
เมื่อเดินผ่านทุ่งนาในตำบลหยวนจ่าง จะเห็นภาพตามบทกวีของเฉินจินโป ที่บรรยายว่า “พื้นดินราวกับปูพรมหนาทึบด้วยใบไม้เขียว ทุ่งนาเต็มไปด้วยดอกไม้สีเหลืองที่ดูราวกับผีเสื้อ” ในทุ่งถั่วลิสงที่เพิ่งปลูกใหม่ ยอดอ่อนสีเขียวแทรกด้วยดอกถั่วลิสงสีเหลืองดอกเล็ก ๆ ที่ดูน่ารัก
สำหรับชาวไร่อย่าง อู๋ฉี่หลู (吳啟魯) คุณพ่อของอู๋เหวินชิน (吳文欽) เจ้าของแบรนด์ “สี่เสี้ยวฮัวเซิง” ช่วงที่ถั่วลิสงเริ่มออกดอก คือช่วงเวลาสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ในการดูแลพืชผลเหล่านี้ อันถือเป็นงานที่ต้องใช้ความใส่ใจและประสบการณ์ของเกษตรกรอย่างมาก
ที่มาของชื่อ “ลั่วฮัวเซิง” (落花生) ซึ่งหมายถึง “ถั่วลิสง” มีที่มาจากกระบวนการเจริญเติบโตของพืชชนิดนี้ หลังจากดอกถั่วลิสงบาน ผสมเกสรและร่วงโรยลง ส่วนฐานรังไข่จะเกิดเป็น “เข็ม” ที่จะเจาะลงไปในดิน (เรียกว่าการลงเข็ม) และเติบโตเป็นผลถั่วลิสงที่เราคุ้นเคย
ในช่วงเวลานี้ ถั่วลิสงต้องการสารอาหารในปริมาณมาก จึงเป็นช่วงที่ชาวไร่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ถั่วลิสงเติบโตและพัฒนาเป็นผลผลิตที่สมบูรณ์
ถั่วลิสงผิวดำมีระยะเวลาการเจริญเติบโตประมาณ 110 ถึง 120 วัน ในช่วงเวลานี้ ชาวไร่ต้องใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง และต้องคอยเฝ้าสังเกตความสูงของลำต้นและใบไม้บนดินอยู่เสมอ
การเจริญเติบโตของส่วนบนดินที่มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของผลถั่วลิสงใต้ดิน ดังนั้น การควบคุมให้พืชเติบโตอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาคุณภาพและปริมาณของผลผลิต

ผลของเห็ดทรัฟเฟิลที่เก็บมาจากที่ต่าง ๆ มีขนาดตั้งแต่ไม่ถึง 1 เซนติเมตร ไปจนถึง 7 เซนติเมตร
ความใส่ใจในเมล็ดถั่วลิสง ภายใต้เยื่อหุ้มสีดำ
ดังที่ เฉินจินพัว ได้รำพึงไว้ในบทกวีของเขา “ฉันรักวันที่เก็บเกี่ยวฝักในฤดูใบไม้ร่วง กลิ่นหอมยังคงตราตรึงในรสสัมผัส” ไม่ว่าจะเป็นขนมถั่วลิสง ขนมถั่วลิสงต้มน้ำตาล หรือ ถั่วลิสงในบ๊ะจ่าง อาหารหวานและคาวที่ทำจากถั่วลิสงในรูปแบบต่าง ๆ มักจะเรียกน้ำย่อยและทำให้ใครหลายคนต้องน้ำลายสอเสมอ
สำหรับถั่วลิสงผิวดำ หรือ “เฮยจินกัง” ที่มีสารแอนโทไซยานินซึ่งละลายน้ำได้ง่าย การนำมาปรุงอาหารอาจเสี่ยงที่จะทำให้อาหารเปลี่ยนเป็นสีดำ ด้วยเหตุนี้ รูปแบบการจำหน่ายที่พบได้บ่อยที่สุดของถั่วลิสงเฮยจินกังคือ ถั่วลิสงไม่แกะเปลือก
ถั่วลิสงที่เพิ่งเก็บเกี่ยวมาใหม่ ต้องผ่านการตากแดดประมาณสิบวัน โดยทุกครั้งที่มีผลผลิตออกมาอย่างมากมาย ก็จะถูกนำมาปูไปบนถนนตามเรือกสวนไร่นาจนเกิดเป็นภาพของ “ถนนถั่วลิสง” อันตระการตา “การตากถั่วลิสงไม่ใช่แค่วางทิ้งไว้เฉย ๆ ต้องพลิกไปมาอย่างน้อยวันละสองครั้ง หากขยันหน่อยก็พลิกทุกสองชั่วโมง” อู๋เหวินชิน (บุตรชายของอู๋ฉี่หลู) กล่าวเพิ่มเติมว่า ถั่วลิสงเฮยจินกังที่ผ่านการอาบแดด จะมีรสชาติกรอบในแบบที่การอบด้วยเครื่องจักรไม่สามารถเทียบได้ หลังจากตากแดดแล้ว ถั่วลิสงต้องถูกนำมาคัดแยกสิ่งสกปรก คัดเลือก และจัดเกรด ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการคั่วในกระทะพร้อมกับทราย อู๋เหวินฉินยังเล่าอีกว่า การคั่วด้วยทรายจะช่วย “เสริมความงาม” ให้กับเปลือก และยังทำให้ถั่วลิสงสุกอย่างทั่วถึงอีกด้วย
ถั่วลิสงเฮยจินกังทุกฝักที่เมล็ดมีสีดำหรือมี “หัวใจสีดำ” ซึ่งรวมถึงถั่วลิสงผิวดำแบรนด์ “สี่เสี้ยวฮัวเซิง” (Happy Peanut) ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นของครอบครัวที่สืบทอดกันมาสามรุ่น และความตั้งใจที่จะปกป้องถั่วลิสงเฮยจินกังของตำบลหยวนจ่างเอาไว้อย่างเต็มกำลัง

การตรวจสอบว่าสปอร์ของเห็ดทรัฟเฟิลโตเต็มที่หรือยัง ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์เท่านั้น
เห็ดทรัฟเฟิลไต้หวัน อัญมณีที่เปล่งประกายจากดิน

สปอร์ของเห็ดทรัฟเฟิลขาว
เห็ดทรัฟเฟิลดำที่อยู่ใต้ผืนแผ่นดินของไต้หวัน
ในปี ค.ศ. 2023 ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยป่าไม้ของกระทรวงเกษตรไต้หวันได้ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลดำสายพันธุ์ใหม่ของโลก ตั้งชื่อว่า “เห็ดทรัฟเฟิลดำไถตง” เนื่องจากถูกค้นพบที่อำเภอไท่หมาหลี่ในเมืองไถตง โดยเห็ดสายพันธุ์นี้ พบได้ที่ความสูง 300 ถึง 600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์เห็ดทรัฟเฟิลที่พบในไต้หวัน ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ
ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 2021 มีการค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลขาวพันธุ์ Tuber lithocarpii หรือ “เสี่ยวซีซื่อสือลี่” (小西氏石櫟松露) รวมถึงการค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลขาวพันธุ์ Tuber elevatireticulatum หรือ “เซินม่าย” (深脈松露) ในปี ค.ศ. 2018 และพันธุ์ Hydnotrya tulasnei หรือ “ถูซื่อเชียงไขว้จวิ้น” (涂氏腔塊菌) ในปี ค.ศ. 2016 รวมทั้งสิ้นในระยะเวลา 7-8 ปี ไต้หวันได้ประกาศค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลพันธุ์ใหม่ประมาณ 5 ชนิด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลงานของทีมวิจัยจากกลุ่มวิจัยการปกป้องป่าแห่งสถาบันวิจัยป่าไม้ โดยมีนักวิจัยหลักคือ ดร. ฟู่ชุนซวี่ (傅春旭) และผู้ช่วยนักวิจัย ดร. หลินเจี้ยหลง (林介龍)
ดร. ฟู่ชุนซวี่ เปิดเผยว่า พวกเขาได้ใช้ข้อมูลพื้นฐานจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ร่วมกับข้อมูลภูมิประเทศของไต้หวันที่จัดทำโดยทีมสำรวจดินในป่าไม้ของกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรไต้หวัน เพื่อระบุพื้นที่เป้าหมาย หลังจากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับพื้นที่กระจายตัวของเชื้อราที่อยู่ใต้ดิน ซึ่งสรุปโดยศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ หูหงเต้า (胡弘道) จากภาควิชาป่าไม้และทรัพยากรสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน เมื่อ 30 ปีก่อน สุดท้าย ทีมงานได้เจาะจงพื้นที่สำคัญ 2 ถึง 3 แห่ง เพื่อเป็นเป้าหมายในการค้นหาร่องรอยของเห็ดทรัฟเฟิล (Truffle) โดยอาศัยการวิจัยที่มีความแม่นยำ
ดร. ฟู่ชุนซวี่ เล่าว่า สายพันธุ์เห็ดทรัฟเฟิลที่อยู่ในพื้นที่ระดับความสูง 1,200 ถึง 1,300 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ส่วนสายพันธุ์ที่อยู่ในระดับความสูง 2,500 เมตร จะสามารถเก็บได้ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่บึงเหลียนหัวฉือ (蓮華池) ซึ่งอยู่ในระดับความสูง 576 ถึง 925 เมตรนั้น สภาพการเจริญเติบโตกลับผิดปกติและไม่แน่นอน ทำให้ยากที่จะระบุช่วงเวลาเก็บเกี่ยวได้อย่างชัดเจน จากการวิจัยของทีมงานพบว่า ดินที่มีความเป็นด่างและภูมิอากาศเย็น เป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของเห็ดทรัฟเฟิล แต่เมื่อเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งมีระดับความสูงต่ำ ผลการวิจัยเดิมจะไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด ทำให้รูปแบบการเจริญเติบโตของเห็ดทรัฟเฟิล เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่สามารถคาดเดาได้

สปอร์ของเห็ดทรัฟเฟิลดำ
การประกาศสายพันธุ์ใหม่ของเห็ดทรัฟเฟิลไม่ใช่เรื่องง่าย
หลังจากขุดพบเห็ดทรัฟเฟิลแล้ว ยังมีเงื่อนไขอีกมากที่ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน เพื่อทำการ “ยืนยันตัวตน” ว่าถูกต้อง
ทีมวิจัยเปิดเผยว่า การประกาศสายพันธุ์ใหม่ของเห็ดทรัฟเฟิลในระดับสากล จำเป็นต้องมีรายงานที่ครอบคลุมรายละเอียดหลายประการ ได้แก่ จำนวนสปอร์ ขนาดของสปอร์ ลักษณะทางกายภาพโดยรวม นอกจากนี้ ยังต้องทำการวิเคราะห์แผนภูมิลำดับสายพันธุ์ (phylogenetic tree) เพื่อยืนยันว่าเห็ดทรัฟเฟิลที่ค้นพบใหม่นี้ มีความแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับสายพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันในระดับใดบ้าง เมื่อข้อมูลทั้งหมดได้รับการตรวจสอบและวิเคราะห์อย่างครบถ้วนแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถเล่า “เรื่องราว” ของเห็ดทรัฟเฟิลสายพันธุ์ใหม่นี้ได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ การยืนยันความสมบูรณ์ของสปอร์ เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุด ดร. หลินเจี้ยหลงเล่าว่า มีอยู่ปีหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ทีมงานของเขาได้เก็บตัวอย่างเห็ดทรัฟเฟิล 10 ลูกจากบริเวณบึงเหลียนหัวฉือ ในเมืองหนานโถว และนำกลับไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ แต่กลับพบว่าสปอร์ของเห็ดยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ พวกเขาจึงต้องกลับไปสำรวจใหม่อีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม รวมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป แต่ก็ไม่สามารถเก็บตัวอย่างที่มีสปอร์สมบูรณ์ได้
เมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เห็ดทรัฟเฟิลขาว (White Truffle) มีลวดลายบนสปอร์ที่ดูคล้ายกระดองเต่า ซึ่งแตกต่างจากเห็ดทรัฟเฟิลดำ (Black Truffle) ที่มีลักษณะคล้ายหนามแหลมบนพื้นผิวอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองลักษณะนี้ ล้วนถือเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันว่า เห็ดทรัฟเฟิลมีความสามารถในการแพร่พันธุ์หรือไม่

เมื่อแกะเปลือกถั่วลิสงเฮยจินกังออก สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือ สีดำขลับราวกับถ่านที่ตัดกับ สีเหลืองสดใสของดินอย่างชัดเจน
เส้นทางการวิจัยเห็ดทรัฟเฟิลของไต้หวันเริ่มขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
หากจะพูดถึงงานวิจัยที่โดดเด่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราไม่อาจมองข้ามผลงานของทีมวิจัยของ ศาสตราจารย์หูหงเต้า ซึ่งเป็นผู้วางรากฐานสำคัญสำหรับการศึกษาเห็ดทรัฟเฟิลในไต้หวันเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งทีมงานของ ศ. หูหงเต้า ได้เริ่มทำการสำรวจและเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกระจายตัวของเห็ดทรัฟเฟิลในภูมิภาคต่าง ๆ ของไต้หวัน รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ที่ยังคงเป็นพื้นฐานสำคัญ สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ในการพัฒนางานวิจัยด้านนี้
ในปี ค.ศ. 1992 ทีมวิจัยของ ศ. หูหงเต้า ได้ประกาศการค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลสายพันธุ์แรกของไต้หวัน ซึ่งมีชื่อว่า Taiwan Truffle ต่อมาในปี ค.ศ. 2009 ได้มีการประกาศค้นพบอีก 1 สายพันธุ์ใหม่คือ เห็ดทรัฟเฟิลพันธุ์ Tuber furfuraceum หรือเซวี่ยซงลู่ (屑松露) นอกจากนี้ ในช่วงปี ค.ศ. 1990 ศาสตราจารย์หูหงเต้า ยังได้ก่อตั้งฟาร์มทรัฟเฟิลเทียมแห่งแรกในเอเชียขึ้น ภายในป่าเพื่อการทดลองของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน
แม้ว่าจะมีช่วงเวลาหลายสิบปีที่การวิจัยหยุดชะงัก แต่ด้วยความพยายามของนักวิจัยรุ่นใหม่อย่าง ศาสตราจารย์ ฟู่ชุนซวี่ และผู้ช่วยนักวิจัย ดร. หลินเจี้ยหลง ที่สานต่อ “ความฝันทรัฟเฟิลแห่งไต้หวัน” ทำให้มีการค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลสายพันธุ์ใหม่อีก 5 ชนิด พวกเขายังเชื่อว่าไต้หวันมีศักยภาพมากกว่านี้ โดยคาดการณ์ว่า ภายใต้เงื่อนไขทางธรรมชาติของไต้หวัน อาจจะมีเห็ดทรัฟเฟิลอีกมากถึง 15 สายพันธุ์ ที่ยังคงรอคอยการถูกค้นพบ
เห็ดทรัฟเฟิลมีความเปราะบางในระบบนิเวศ มันชอบเจริญเติบโตในดินที่มีความเป็นด่าง โดยในยุโรปมักพบในพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์ (Karst) ซึ่งประกอบด้วยหินปูนเป็นหลัก ดร. หลินเจี้ยหลง ชี้ว่า นอกเหนือจากพื้นที่โดยรอบของทะเลสาบสุริยันจันทราและตำบลผูหลี่ในเมืองหนานโถว รวมถึงแถบลี่เจีย ไท่หมาหลี่ และป่าเขตตะวันออกเฉียงใต้ของอันซั่วในเมืองไถตง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีพืชดึกดำบรรพ์จากยุคน้ำแข็งอาศัยอยู่ พื้นที่เหล่านี้ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะค้นพบเห็ดทรัฟเฟิล นอกจากนี้ ดร. หลินเจี้ยหลง ยังเชื่อว่า ภูมิประเทศที่เป็นหินปูนในภาคตะวันออกของไต้หวัน ซึ่งตรงกับเงื่อนไขของดินที่มีความเป็นด่างก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีเห็ดทรัฟเฟิลสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยถูกค้นพบในโลกแอบซ่อนอยู่
สิ่งที่น่าสนใจคือ ป่าบนพื้นที่ภูเขาสูงของไต้หวันที่มีลักษณะเด่นคือ มีชั้นดินที่มีฮิวมัสอยู่หนาแน่นและอุดมสมบูรณ์ ทำให้เห็ดทรัฟเฟิลสายพันธุ์ใหม่บางชนิดสามารถพบได้ในดินที่มีความเป็นกรด ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หายาก ดร. หลินเจี้ยหลงเห็นว่า ดินที่พบเห็ดทรัฟเฟิลดำในไต้หวันมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ระหว่าง 5 ถึง 6 เท่านั้น และไม่เคยมีค่ากรด-ด่างเกิน pH7 ที่ถือว่าเป็นกลาง คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเห็ดทรัฟเฟิลสายพันธุ์ใหม่ในไต้หวัน ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนจากทรัฟเฟิลในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่มักเจริญเติบโตในดินที่มีความเป็นด่าง

ไร่ถั่วลิสงเขียวชอุ่มถูกแต่งแต้มด้วยดอกถั่วลิสงเล็ก ๆ แสนน่ารัก
ก้าวต่อไปของงานวิจัยทองคำดำ
การค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับเห็ดทรัฟเฟิล ไม่เพียงแต่ช่วยเปิดเผยความลับของเห็ดชนิดพิเศษนี้ แต่ยังช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในไต้หวันอีกด้วย โดยนอกจากสิ่งมีชีวิตบนพื้นดินแล้ว ยังมีความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตใต้ดินและแบคทีเรีย ซึ่งคิดเป็น 70% ของชีวมวลทั้งหมดของโลกด้วย
แม้ว่าสิ่งมีชีวิตใต้ดินเหล่านี้มักจะถูกมองข้าม เพราะเราไม่สามารถมองเห็นได้โดยตรง แต่พวกมันมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม การศึกษาเห็ดทรัฟเฟิลจึงไม่ใช่เพียงแค่การค้นหาทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกระดับ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนระบบนิเวศของโลกให้สมบูรณ์
นอกเหนือจากบทบาทในการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว เห็ดทรัฟเฟิลยังมีความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมที่เฉพาะเจาะจงและมีมูลค่าเศรษฐกิจสูง ทำให้มันกลายเป็นตัวเลือกที่มีศักยภาพในเศรษฐกิจใต้ผืนป่า ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าไม้และการเพิ่มพื้นที่ปกคลุมป่า จุดเด่นของเห็ดทรัฟเฟิลอยู่ที่ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันอย่างเกื้อกูล (Mutualistic Symbiosis) ระหว่างทรัฟเฟิลและพืชที่เป็นโฮสต์ เชื้อราจากทรัฟเฟิลจะดูดซึมคาร์โบไฮเดรตและสารอาหารอื่น ๆ จากรากของพืช ในขณะที่พืชจะได้รับน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นจากโครงสร้างของเชื้อรา
อย่างไรก็ตาม หากใช้วิธีทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่มีการใช้สารเคมี จะส่งผลให้ความสมดุลของจุลินทรีย์ในดินถูกรบกวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเห็ดทรัฟเฟิล ด้วยเหตุนี้ ดินที่สามารถเพาะเห็ดทรัฟเฟิลได้ จึงต้องมีความสมบูรณ์และปราศจากมลพิษ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเห็ดทรัฟเฟิลและพืชโฮสต์
ดร. ฟู่ชุนซวี่เตือนว่า อุตสาหกรรมเห็ดทรัฟเฟิล ควรให้ความสำคัญกับการ “ปลูกให้เหมาะสมกับที่ดิน” ซึ่งหมายถึงการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกเห็ดทรัฟเฟิล เพราะเห็ดทรัฟเฟิลไม่ใช่พืชที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทันที การปลูกเห็ดทรัฟเฟิลต้องใช้เวลาและความอดทนในการดูแล พร้อมทั้งต้องรดน้ำและบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง การเพาะปลูกเห็ดทรัฟเฟิลในไต้หวัน ต้องใช้เวลาในการสร้างฐานการวิจัยที่มั่นคง และการรอคอยจนกว่าจะถึงช่วงที่มันพร้อมจะผลิดอกออกผล เพียงแค่นั้นก็จะทำให้งานวิจัยเห็ดทรัฟเฟิลของไต้หวัน สามารถบานสะพรั่งในเวทีสากล รวมทั้งได้รับความสนใจและการยอมรับจากทั่วโลก


อู๋เหวินเซิ่ง (ที่ 1 จากซ้าย) และอู๋เหวินชิน (ที่ 1 จากขวา) สืบทอดกิจการครอบครัวจากคุณพ่ออู๋ฉี่หลู (ที่ 2 จากขวา) คุณแม่อู๋จางกงหลี่ (ที่ 2 จากซ้าย) พร้อมก่อตั้งแบรนด์ สี่เสี้ยวฮัวเซิง (Happy Peanut) และขยายช่องทางการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ถั่วลิสงเฮยจินกังได้รับความสนใจมากขึ้น