ร้านอาหาร Hukuisu ยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน
บันทึกแห่งการฟื้นคืนชีพของอาหารข้ามวัฒนธรรม
เนื้อเรื่อง‧หวงสูจือ ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧กฤษณัย ไสยประภาสน์
กุมภาพันธ์ 2019
「華燈初上,門前川流不息的人力車載來衣著光鮮的達官顯要,及自新町轉介而來的藝妓。『鶯料理』雖是料亭酒家,實則扮演著昭和年間台南地區地下決策中心的重要角色,與府城近代的歷史發展息息相關。」(台南市政府文化局)
“แสงไฟยามอาทิตย์อัสดงส่องสว่าง รถลากที่วิ่งไปตามถนนเลียบแม่น้ำบรรทุกผู้โดยสารเจ้าใหญ่นายโตสวมเสื้อผ้าอาภรณ์สะดุดตา และเกอิชาที่ย้ายมาจากชินมาชิ (Shinmachi) แม้ร้านอาหาร Hukuisu จะเป็นเพียงร้านเหล้าเล็กๆ แต่ก็มีบทบาทเป็นศูนย์ใต้ดินกำหนดนโยบายเขตพื้นที่ไถหนานในยุคจักร
พรรดิโชวะแห่งญี่ปุ่น และไม่อาจแยกออกจากการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงเก่าแห่งนี้”
อาหารทลายกำแพงขวางกั้นทางวัฒนธรรม
ร้านอาหาร Hukuisu ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1912 เป็นร้านอาหารหรูในไถหนานยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์ราชการ จึงถูกขนานนามว่า “ศูนย์บัญชาการใต้ดิน” หลังจากที่รกร้างมานานหลายปี และเป็นประเด็นถกเถียงว่าควรจะรื้อถอนหรือคงอยู่ต่อไป ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติและตกอยู่ในวังวนแห่งสถานะความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมหรือไม่? ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านพ้นไปกว่า 100 ปี ในปีค.ศ.2018 จึงเปิดบริการอีกครั้ง ด้วยโฉมใหม่ที่มีสีสันไม่แพ้ในอดีต
คุณหลิงจงขุย (凌宗魁) นักวิจัยวัฒนธรรมได้ระบุไว้ในผลงานเขียนที่มีชื่อว่า “หมู่บ้านเมจิบนแผ่นกระดาษ” โดยนำเอาร้านอาหาร Hukuisu กับร้านอาหารจี้โจวอัน หรือ Kishu An เปรียบเสมือนวัฒนธรรมการกินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยประวัติศาสตร์ในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน แม้ร้านอาหาร Hukuisu จะไม่มีวิวทิวทัศน์ริมน้ำที่สวยงามเช่นเดียวกับร้านอาหาร Kishu An ก็ตาม แต่ก็งดงามตามสไตล์ของญี่ปุ่น และเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศแบบเซ็นและปรัชญาชินโต สะกดให้ผู้คนทอดน่องซึมซับบรรยากาศเหล่านี้ ปล่อยวาง รวบรวมสมาธิ เหมาะที่จะใช้เป็นสถานที่ในการแลกเปลี่ยนและดูดซับข่าวกรองทางการเมืองระหว่างกัน
ภาคเหนือมีร้านอาหาร Kishu An ภาคใต้มีร้านอาหาร Hukuisu เป็นเสมือนตัวแทนแห่งกำแพงขวางกั้นแห่งวัฒนธรรมอาหารการกินยุคจักรพรรดิโชวะปกครองไต้หวันที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ร้านอาหารทั้งสองแห่งนี้มีชะตากรรมคล้ายคลึงกัน เป็นสิ่งก่อสร้างในความทรงจำทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน
หนทางฟื้นตัวอันเลี้ยวลดคดเคี้ยว
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หน่วยงานของรัฐได้เข้าดูแลทั้งหมด โดย Kishu An เคยถูกนำมาใช้เป็นหอพักของข้าราชการมณฑลไต้หวันในขณะนั้น ต่อมาในยุคทศวรรษที่ 1990 อาคารหลักและอาคารอื่นๆ ถูกไฟไหม้เสียหาย เหลือเพียงกระท่อมหลังเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น ส่วนร้านอาหาร Hukuisu เคยถูกนำมาใช้เป็นหอพักของโรงเรียนมัธยมที่ 1 ไถหนาน ต่อมาในปีค.ศ.2008 ถูกพายุไต้ฝุ่นถล่มจนตัวอาคารได้รับความเสียหายยับเยิน เหลือเพียงโครงของอาคารเท่านั้น จึงถูกปล่อยให้รกร้างอยู่ช่วงหนึ่ง จนกระทั่งชาวบ้านต่างเรียกร้องให้รื้อถอน แต่ด้วยเหตุที่ช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีการรณรงค์เติมแต่งวัฒนธรรมพื้นเมืองลงไปในงานออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ ได้รับการจับตามองจากกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นเมืองเป็นอย่างมาก จึงมีการเรียกร้องให้อนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
ปีค.ศ.2004 อาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการวางแผนผังเมือง มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ประสบความสำเร็จในการขอขึ้นทะเบียนอาคารที่เหลืออยู่ของ Kishu An เป็นโบราณสถานระดับนคร ต่อสำนักวัฒนธรรม กรุงไทเป และปีเดียวกัน สำนักวัฒนธรรม นครไถหนาน ก็ได้เปิดการประชุมคณะกรรมการพิจารณาสิ่งปลูกสร้างโบราณสถานและประวัติศาสตร์ ผ่านมติรับรองให้ร้านอาหาร Hukuisu เป็นโบราณสถานระดับนคร ในปีค.ศ.2005 แต่เนื่องจากขั้นตอนยังไม่สมบูรณ์นัก จึงถูกยกเลิกสถานะการเป็นโบราณสถานในปีค.ศ.2006 หลังจากนั้น ในปีค.ศ.2009 เทศบาลนครไถหนานได้กำหนดให้ร้านอาหาร Hukuisu เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนครไถหนาน และทำการบูรณะซ่อมแซมกลับสู่สภาพเดิม โดยอนุรักษ์โครงสร้างที่เสียหายบางส่วนเอาไว้ ซึ่งแล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้แล้วในปลายปีค.ศ.2013
3 ขั้นตอนแก้อุปสรรคการบูรณะฟื้นฟูร้านอาหาร Hukuisu
ด้วยข้อจำกัดของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทำให้การปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยในร้านอาหาร Hukuisu ทำอะไรได้ไม่มากนัก นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมได้เฉพาะส่วนของตัวอาคาร สวน และสิ่งของเครื่องใช้ที่จัดแสดงที่อาคารกลางเท่านั้น แตกต่างกับที่คาดหวังไว้เป็นอย่างมากว่า ร้านอาหาร Hukuisu จะต้องมีอาหารไว้คอยให้บริการด้วย
เพื่อขจัดอุปสรรคที่ประสบอยู่ สำนักวัฒนธรรม นครไถหนาน จึงเริ่มจากการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มต้นจากการจัดทำร่าง “หลักปฏิบัติว่าด้วยการจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาสิ่งปลูกสร้างที่มีความสำคัญเชิงรำลึก นครไถหนาน” ในปีค.ศ.2014 ต่อมาจึงออกระเบียบว่าด้วยการอนุญาตบูรณะฟื้นฟูซ่อมแซมอาคารที่มีความสำคัญเชิงรำลึก นครไถหนาน” เพื่อเปลี่ยนสถานะของร้านอาหาร Hukuisu เป็นสถานที่สำหรับการศึกษาทางสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนผังเมืองนครไถหนาน ผ่อนปรนระเบียบที่ห้ามต่อเติมหรือสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่บนลานของบริเวณอาคารดังกล่าว
การอาศัย 3 ขั้นตอน แก้ปัญหาการบูรณะฟื้นฟูร้านอาหาร Hukuisu ทำให้ในปีค.ศ.2015 อาคารไม้ภายใน ถูกเทศบาลนครไถหนานกำหนดให้เป็นสิ่งปลูกสร้างเชิงรำลึกแห่งแรกในนครไถหนาน และในปีค.ศ.2016 สิ่งปลูกสร้างสีขาวที่หลงเหลืออยู่ ถูกภัตตาคารอาเสีย (阿霞飯店) ที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นภัตตาคารที่มีประธานาธิบดีแวะมาเยือนมากที่สุด ได้รับสัมปทานบริหารจัดการ ซึ่งเริ่มปรับปรุงซ่อมแซมในปีค.ศ.2017 ก่อนจะแล้วเสร็จในปีค.ศ.2018 ด้วยทุนนับสิบล้านเหรียญไต้หวัน ปรับปรุงประสมประสานความเก่าและความใหม่เป็นอาคารสองชั้น โดยคุณอู๋เจี้ยนหาว (吳健豪) ผู้บริหารรุ่นที่ 4 ของภัตตาคารอาเสียเป็นผู้ตั้งชื่อว่า “จิ้วหลิ่งสือซื่อ” หรือ ร้านอาหาร Eagle Hill เป็นอาคารที่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 44 เมตร เมื่อบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จก็บริจาคให้แก่เทศบาลนครไถหนาน และรับผิดชอบดูแลอาคารและสวนของร้านอาหาร Hukuisu โดยจัดเป็นพื้นที่จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ และเป็นส่วนของพื้นที่ในการจัดการแสดงต่างๆ ด้วย เพื่อเป็นโฟกัสแห่งใหม่ของแหล่งท่องเที่ยวในนครไถหนาน
จุดประกายใหม่แหล่งอารยะแห่งนครไถหนาน
คุณอู๋เจี้ยนหาว ซึ่งเติบโตจากซอยเล็กๆ บนถนนจงอี้ในนครไถหนาน เล่าให้ฟังว่า ร้านอาหาร Hukuisu เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของตน ทำให้ภารกิจแห่งการบูรณะฟื้นฟูชื่อเสียงของร้านอาหาร Hukuisu ให้กลับมามีชีวิตชีวาและดึงดูดผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการชุบชีวิตอีกครั้ง กลายเป็นความท้าทายของเขา
นอกจากการบูรณะตัวอาคารแล้ว วิธีที่ดีที่สุดก็คือการอาศัยอาหารเลิศรสมาดึงดูดผู้คน คุณอู๋เจี้ยนหาวจึงได้นำเอาปลาไหลมาประสมประสานปรุงแต่งกับขนมข้าวเหนียวเลิศรสของภัตตาคาร ใช้ใบของต้นท้อห่อเป็นข้าวมัด เพื่อรำลึกถึง “ข้าวปลาไหล” ซึ่งเป็นอาหารรสเด็ดของร้านอาหาร Hukuisu ในสมัยนั้น เด็ดผลสดๆ จากต้นเกาลัดไทยในสวนที่มีอายุเกินกว่า 90 ปี มาปรุงแต่งให้กลายเป็น “ขนมข้าวเหนียวเกาลัดไทย” ที่มีการทำขายตามฤดูกาลเท่านั้น โดยใช้การประดิดประดอยอย่างสวยงามและเลิศรส “ผมยังเคยทดลองทำเป็นขนมมองบลังค์ โดยใช้เกาลัดไทยด้วย รสชาติและสีที่ทำออกมาก็ไม่เลวจริงๆ แต่น่าเสียดายที่บางคนอาจจะไม่ชอบรสชาติของเกาลัดไทย จึงต้องล้มเลิกความคิดนี้” คุณอู๋บอกกับเราด้วยน้ำเสียงที่ไม่รู้สึกเสียดายแต่อย่างใด
คุณอู๋เจี้ยนหาว ในฐานะเจ้าของภัตตาคาร เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และรักการทำอาหารเป็นชีวิตจิตใจ และเป็นเด็กดื้อในสายตาของผู้ใหญ่ ยืนหยัดที่จะเข้าร่วมประมูลจนได้รับสัมปทานการบริหารจัดการร้านอาหาร Hukuisu แห่งนี้ ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า ทำกำไรได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็ยังพยายามเชื้อเชิญคุณจางอวี้หวง (張玉璜) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานให้มาร่วมงานด้วย ทำให้งบประมาณที่ตั้งไว้เดิม 4 ล้านเหรียญไต้หวัน ถีบตัวสูงขึ้นเป็น 10 ล้านเหรียญไต้หวัน คุณอู๋ชี้ไปที่รายละเอียดของการบูรณะซ่อมแซมอาคารแล้วบอกอย่างติดตลกว่า “เมื่อเริ่มสระผมแล้ว ยังไงก็ต้องสระให้เสร็จ” และยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เล่าไม่รู้จบสิ้น เดินเข้าไปยังชั้นล่าง จะเห็นเคาน์เตอร์และพื้นลายขนนก ส่วนชั้น 2 ประดับด้วยโคมไฟรูปนกต่างๆ ด้านปลายของคานบนหลังคาลาดเอียงเป็นรูปโครงร่างของนก เต็มไปด้วยบรรยากาศของ “นก” ซึ่งนกอุงุอิสุ หรือนกกระจิบญี่ปุ่นก็คือที่มาของชื่อร้าน “Hukuisu”
เมื่อร้านอาหารจิ้วหลิ่ง หรือ Eagle Hill ได้หยิบเอาแก่นแท้ของอาหาร Hukuisu แบบข้ามวัฒนธรรมมาใช้ดึงดูดผู้คนให้ก้าวเข้าสู่ดินแดนที่ประสมประสานสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ไว้ด้วยกัน เดินชมสวน ชมอาคาร ฟังดนตรี ดื่มน้ำชา ชิมขนมมองบลังค์ที่ทำจากเกาลัดไทย และจิบชาชมพู่ขาวสักอึก ในยามฝนปรอยก็นั่งฟังเสียงฝนอยู่ใต้หลังคา ยามค่ำก็ชมแสงจากโคมไฟในสวน ทำให้ร้านอาหาร Hukuisu กลายเป็นจุดประกายใหม่ของไถหนาน ชุบชีวิตให้แก่ประวัติศาสตร์ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง