ทะลุมิติ ย้อนเวลา ข้ามภพ
ทัศนียภาพไถหนานในซีรีส์ไต้หวัน “Someday or One Day”
เนื้อเรื่อง‧เฉินฉวินฟาง ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧อัญชัน ทรงพุทธิ์
ตุลาคม 2023
“Someday or One Day” ซีรีส์ไต้หวัน โด่งดังในเวทีโลก สถานที่ถ่ายทำละครกลายเป็นจุดท่องเที่ยว
ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว (ภาพจากเฟซบุ๊ก Someday or One Day)
曾囊括金鐘獎多項大獎的台劇《想見你》,2022年底同名電影上映,劇中演員所到之處無不造成轟動。這股《想見你》旋風,帶動了取景地點的旅遊風潮。
“Someday or One Day” ละครโทรทัศน์ของไต้หวันที่เคยกวาดรางวัลระฆังทองคำ (Golden Bell Awards) หลายสาขามาครอง ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โดยใช้ชื่อเดียวกันและเข้าฉายเมื่อปลายปี ค.ศ. 2022 สถานที่ทุกแห่งที่ตัวละครไปเยือนสร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก กระแส “Someday or One Day” ที่โหมกระพือขึ้น กระตุ้นให้เกิดกระแสการเดินทางท่องเที่ยวไปชมสถานที่ถ่ายทำ
ซีรีส์ “Someday or One Day” เปิดฉากแรกด้วยบทเพลงที่ชื่อว่า Last Dance ของอู๋ไป่ (伍佰) ร็อกเกอร์ชื่อดังของไต้หวัน ด้วยน้ำเสียงห้าวทุ้มปนแหบนิด ๆ อันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของอู๋ไป่ และติดสำเนียงแบบคนไต้หวันแท้ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงบริบทของไต้หวันที่แฝงอยู่ในละครเรื่องนี้
พล็อตเรื่องนำเสนอแก่นแท้ของความเป็นไต้หวัน
เค้าโครงเรื่องของ “Someday or One Day” กล่าวถึงนางเอกชื่อหวงอวี่เซวียน (黃雨萱) สูญเสียชายคนรักไป จับพลัดจับผลูย้อนเวลาทะลุมิติ กลายร่างเป็นเฉินยุ่นหรู (陳韻如) ที่รูปร่างหน้าตาคล้ายกันราวกับฝาแฝดแต่นิสัยต่างกันราวฟ้ากับดิน และยังได้พบเจอกับชายคนหนึ่งที่หน้าตาเหมือนกับชายคนรักของเธอไม่มีผิด ซึ่งได้นำไปสู่เรื่องราวความรักและความเป็นเพื่อนระหว่างหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ขณะเดียวกันในพล็อตเรื่องยังเป็นแนวสืบสวนสอบสวนและติดตามตัวฆาตกร จึงเป็นซีรีส์ที่ทำให้ผู้ชมต้องใช้สมองคิดตามไปด้วย
ในขั้นตอนของการวางพล็อตเรื่อง ทีมครีเอทีฟมีการนำเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไต้หวันใส่ลงไปในผลงานและเสริมความชัดเจนของการย้อนเวลาข้ามภพ อาทิ เทปเพลงคาสเซ็ทที่ปรากฏอยู่ในละครทั้งเรื่อง จงใจเลือกเพลงในหน้า B ที่ไม่ใช่เพลงเปิดตัวอัลบั้ม แต่กลับได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะเสียงของอู๋ไป่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทำให้แยกแยะได้ง่าย คุณเจี่ยนฉีเฟิง (簡奇峯) นักเขียนบทกล่าวว่า “ตอนที่เราเขียนบท “Someday or One Day” ก็ต้องการให้ผู้ชมที่ได้ฟังและได้เห็นเพียงแค่แว็บแรกก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นผลงานของไต้หวัน”
การเจาะจงเลือกนครไถหนานเป็นโลเคชันหลักของละครก็เกิดจากแนวคิดเดียวกันนี้ คุณเจี่ยนฉีเฟิงเปิดเผยว่า เมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ไถหนานเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์พิเศษของไต้หวัน อาคารบ้านเรือนเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ซ่อนตัวอยู่ตามตรอกซอกซอยในเมืองเก่าแห่งนี้ อย่างร้านขายแผ่นเสียง 32 Records ที่จำลองขึ้นเพื่อใช้เป็นฉากในละครและบ้านของเฉินยุ่นหรู ล้วนถ่ายทำในตรอกซอกซอยทำให้มีภาพของวัดวาอารามต่าง ๆ เข้าซีนละครมาด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มเอกลักษณ์ของไต้หวันเข้าไปโดยปริยาย
ย้อนเวลากลับสู่ไถหนานในอดีต
ทีมงานไต้หวันพาโนรามาเชิญคุณเซี่ยซื่อยวน (謝仕淵) ผู้อำนวยการกองวัฒนธรรม นครไถหนาน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและศึกษาวิจัยเรื่องอาหารและประวัติศาสตร์ ได้อธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมในตรอกซอกซอยของไถหนานว่า “การออกแบบผังเมืองของไถหนานสืบทอดมาจากยุคราชวงศ์ชิง ได้อนุรักษ์เค้าโครงเดิมของชุมชนในแต่ละยุคสมัยเอาไว้ เมื่อเข้าสู่ตรอกซอกซอยของไถหนาน จะพบว่าถนนอาจไม่ตรงและไม่ได้กว้างเสมอไป และจะไม่ได้เห็นตึกแถวเรียงรายที่สร้างขึ้นตามแบบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่จะเป็นบ้านที่สร้างขึ้นตามพื้นที่ว่างในตรอกซอกซอย” ในสายตาของคุณเซี่ยซื่อยวน จากวัฒนธรรมในตรอกซอกซอยทำให้พบว่า คนไถหนานมีทัศนคติอย่างไรในการสร้างและตกแต่งบ้านของตนเอง เริ่มจากลวดลายของเหล็กดัดหน้าต่าง และต้นไม้ที่ปลูกไว้ที่หน้าประตูบ้าน ฯลฯ ล้วนสะท้อนถึงการยืนหยัดและยอมรับในวิถีชีวิตของผู้คน
หลายคนมาไถหนานเพื่อลิ้มลองอาหารเลิศรส จึงวางโปรแกรมตระเวนกินไว้เต็มเอี๊ยดเพื่อจะได้กินอย่างเต็มที่ คุณเซี่ยซื่อยวนซึ่งย้ายมาอาศัยอยู่ที่ไถหนานหลายปีแล้ว หัวเราะแล้วกล่าวว่า “มันเป็นการตัดสินใจที่ยากมากเลยนะ” ที่ไถหนานคุณต้องปรับจังหวะชีวิตให้ช้าลง จังหวะชีวิตในเมืองแห่งนี้ไม่ได้ถูกควบคุมจากสังคมอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบัน “ความแตกต่างของจังหวะชีวิตแบบนี้นี่เองที่ทำให้ผมพบว่า วิถีชีวิตในไถหนานแตกต่างจากที่อื่น”
ไถหนานเป็นแหล่งรวมผู้ย้ายถิ่นมาแต่โบราณกาล สั่งสมสุนทรียศาสตร์
ในแต่ละยุคสมัย อันจะเห็นได้จากสถาปัตยกรรมต่างๆ
อันผิงในแต่ละยุคสมัย
ไถหนานในซีรีส์ “Someday or One Day” เป็นช่วงปี ค.ศ. 1998 เนื้อเรื่องตอนหนึ่งกล่าวถึงพระเอกเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ชื่อหลี่จื่อเหว่ย (李子維) บังเอิญเจอกับนางเอกชื่อหวงอวี่เซวียน (黃雨萱) อายุแค่ 6 ขวบที่กำลังหลงทาง เด็กหญิงตัวน้อยอธิบายเกี่ยวกับบ้านอาม่าให้พี่ผู้ชายตัวโตฟังว่า “มีตึกสีขาว ๆ สูง ๆ หลังคาสีแดงแหลม ๆ แล้วก็มีทะเลด้วย” หลี่จื่อเหว่ยจึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นป้อมปราการอันผิงที่ตั้งอยู่ในเขตอันผิงนั่นเอง ระหว่างที่ทั้งสองคนขี่จักรยานไปตามหาทางกลับบ้านอาม่า ก็แวะดื่มเครื่องดื่มเย็น ๆ แก้วหนึ่งที่หน้าศาลเจ้าคายไถเทียนโห้วกง (開台天后宮) อีกสักพักหนึ่งก็ไปแวะทำทอฟฟี่ตังเมรังผึ้ง (Honeycomb Toffee) และเล่นปาจิงโกะ บรรยากาศระคนด้วยความสนุกสนานและอาหารอร่อย ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนใจอันผิงมากขึ้น
ทีมงานไต้หวันพาโนรามาได้เชิญคุณเซี่ยหมิงโย่ว (謝銘祐) โปรดิวเซอร์เพลง (Music producer) ซึ่งเติบโตที่อันผิง มาช่วยเป็นมัคคุเทศก์นำทาง เขากล่าวขณะที่ยืนอยู่หน้าป้อมปราการอันผิงว่า “ไต้หวันในยุคแห่งการสำรวจ (Age of Discovery) เต็มไปด้วยสีสันจริง ๆ” ในศตวรรษที่ 17 บริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (Dutch East India Company) ได้พัฒนาอันผิงเป็นศูนย์กลางการค้าขาย ปี ค.ศ. 1624 ได้ก่อสร้างป้อมปราการขึ้น ตอนแรกตั้งชื่อว่า Fort Orange ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Zeelandia จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1662 เจิ้งเฉิงกง ขุนพลแห่งราชวงศ์หมิงได้ขับไล่ชาวฮอลันดาออกไปจากไต้หวันและเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองอันผิง พร้อมตั้งฐานที่มั่นขึ้นที่นี่ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เรียกป้อมปราการแห่งนี้ว่า ป้อมราชา (王城)
หลังผ่านการเปลี่ยนอำนาจการปกครองหลายครั้งหลายหน ป้อม Zeelandia เสื่อมโทรมลงเหลือเพียงซากกำแพงอิฐที่หักพังเท่านั้น ป้อมปราการอันผิงที่เห็นในปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน และต่อมาเทศบาลไถหนานยังได้มีการบูรณะซ่อมแซมใหม่ โดยต่อเติมส่วนของหลังคาที่มียอดแหลมและทากำแพงด้วยสีขาว อันเป็นรูปลักษณ์ของป้อมปราการอันผิงในปัจจุบัน คุณเซี่ยหมิงโย่วเปิดเผยว่า ถ้าอยากเห็นกำแพงอิฐในยุคฮอลแลนด์ปกครองไต้หวัน ให้สังเกตบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่รอบ ๆ ป้อมปราการ บางทีอาจจะได้พบเห็นโดยไม่คาดคิดก็ได้
สถาปัตยกรรมในยุคฮอลแลนด์ปกครองไต้หวันไม่มีการใช้ปูนซีเมนต์ แต่ใช้เปลือกหอยนางรมมาทุบให้ละเอียดจนกลายเป็นผง แล้วผสมน้ำข้าวเหนียวกับน้ำตาลในการก่อและฉาบอิฐ ดังนั้นบนกำแพงอิฐแดงในยุคนี้จะสามารถพบเห็นสีขาว ๆ ของผงเปลือกหอยนางรมที่บริเวณรอยต่อของก้อนอิฐ และหากได้เห็นก้อนอิฐแดงบนกำแพงอิฐที่อันผิงมีความหนาแตกต่างกัน ไม่ต้องสงสัย นั่นแสดงว่าไม่ได้สร้างขึ้นในยุคเดียวกันอย่างแน่นอน
จากการสังเกตกำแพงอิฐในเขตอันผิงทำให้สามารถรับรู้ถึงประวัติศาสตร์ได้ หากพบความหนาของก้อนอิฐแดงต่างกัน แสดงว่าไม่ได้สร้างขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน
ตลอด 400 ปีที่ผ่านมา ป้อมปราการอันผิงเป็นแหล่งสะสมเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ
ความเชื่อทางศาสนาในอันผิง
อันผิง ในฐานะที่เป็นเวทีสำหรับการก้าวไปสู่สากลของไต้หวัน มีผู้ย้ายถิ่นที่มาจากทั่วทุกสารทิศ ซึ่งต่างนำพาความเชื่อทางศาสนาจากดินแดนของตนเข้ามาด้วย คุณเซี่ยหมิงโหย่วอธิบายว่า อันผิงเป็นแหล่งกำเนิดวัฒนธรรม kak-thâu ของไต้หวัน คำว่า kak-thâu ในภาษาฮกเกี้ยนหรือภาษาไต้หวันหมายถึง ชุมชน “สิ่งสำคัญที่สุดของวัฒนธรรม kak-thâu คือ พวกเราล้วนกราบไหว้บูชาเทพองค์เดียวกันและจะมีการจัดพิธีเซ่นไหว้ร่วมกัน” อย่างเทพเจ้าไคจังเซิ่งหวัง (開漳聖王) และเทพเจ้าเป่าเซิงต้าตี้ (保生大帝) เป็นต้น ในยามที่เกิดข้อพิพาทระหว่างชุมชนก็จะมีศาลเจ้าอันผิงไคไถเทียนโห้วกง มาทำหน้าที่ผดุงความยุติธรรม สำหรับสาเหตุที่ศาลเจ้าแห่งนี้ได้รับการยกย่องและถูกตั้งชื่อว่า ศาลเจ้าไคไถเทียนโห้วกง (開台天后宮) มีความหมายว่า ศาลเจ้าแม่แห่งการบุกเบิกไต้หวัน เนื่องจาก ภายในศาลเจ้าประดิษฐานเทวรูปของเจ้าแม่มาจู่ที่ถูกอัญเชิญจากเมืองเหม่ยโจวในประเทศจีนให้คอยปกป้องคุ้มครองกองทัพของขุนพลเจิ้งเฉิงกง
คุณเซี่ยหมิงโย่วแนะนำว่า วิธีเดินทางท่องเที่ยวในเขตอันผิงที่ดีที่สุดคือการเดินเท้า เวลาที่มีเพื่อนมาเยี่ยม เขาจะพาเพื่อนไปเดินเที่ยวชมตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ ในย่านถนนโบราณ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวของศาลเจ้าในแต่ละชุมชนให้เพื่อน ๆ รับรู้
หากเงยหน้าขึ้นมองสำรวจอย่างละเอียด ยังอาจได้พบเห็นเทพสิงโตแห่งลม (Wind Lion God) บนหลังคาบ้านเรือนของชาวบ้าน ในอดีตชาวบ้านในเขตอันผิงบูชาเทพสิงโตแห่งลม และจะหันหน้าของเทพสิงโตแห่งลมไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปากสิงโตจะอ้ากว้าง สื่อความหมายว่าเทพสิงโตจะกลืนกินลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ชาวประมง ที่หางเทพสิงโตจะมีช่องเล็ก ๆ เมื่อมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดโชยมา จะทำให้เกิดเสียง “หูว หูว หูว” ดังขึ้น ราวกับเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมาเยือน สามารถจับปลากระบอกได้แล้ว
คุณเซี่ยหมิงโย่ว โปรดิวเซอร์เพลงซึ่งเติบโตที่อันผิงเปิดเผยว่า เดินไปตามตรอกซอกซอยในอันผิงก็เหมือนกับเดินเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้คนตกอยู่ท่ามกลางอีกบรรยากาศหนึ่งที่ต่างจากโลกปัจจุบัน
มาเที่ยวอันผิง อย่าลืมสังเกตให้ดี จะได้เห็นเทพสิงโตแห่งลมบนหลังคาบ้านและหน้ากากสิงโตคาบกระบี่ เป็นการเพิ่มสีสันให้แก่การเดินทางท่องเที่ยว
อาหารไถหนานที่มีความพิถีพิถัน
การเดินทางมาท่องเที่ยวที่ไถหนาน จะพลาดชิมอาหารเลิศรสของที่นี่ไม่ได้เป็นอันขาด จากการสำรวจภาคสนามและวางแผนอย่างละเอียดของทีมถ่ายทำซีรีส์“Someday or One Day” พบว่าอาหารเลิศรสในไถหนานมีมากมาย อย่างขนมไป๋ถังกั่ว (白糖粿) ที่หลี่จื่อเหว่ย พระเอกซีรีส์นี้ ซื้อที่หน้าศาลเจ้าอันผิงเหมี่ยวโซ่วกง (妙壽宮) ได้มีการถ่ายทอดขั้นตอนการทำขนมผ่านเลนส์กล้อง โดยเริ่มจากการนวดก้อนข้าวเหนียวแล้วบิดเป็นเกลียว จากนั้นนำไปทอดในกระทะแล้วนำขึ้นมาคลุกน้ำตาลและถั่วลิสงป่น
รสชาติของขนมไป๋ถังกั่ว กรอบนอกนุ่มใน คล้ายกับขนมโมจิ คุณเซียซื่อยวน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านอาหารการกินตามวิถีชีวิตของผู้คน อธิบายว่า “ขนมไป๋ถังกั่วเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ยอมศิโรราบให้แก่อาหาร” ขนมไป๋ถังกั่วที่ทอดใหม่ ๆ จะอร่อยที่สุด ผู้คนจำนวนมากจึงไปห้อมล้อมแผงขายขนม เพื่อเข้าคิวรอซื้อขนมที่เถ้าแก่เพิ่งทอดเสร็จ จะได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยกันในทันที
นอกจากนี้ อาหารที่ดึงดูดแฟนคลับซีรีส์ “Someday or One Day” แห่ไปชิมกันยังมีนาเบะยากิบะหมี่ไข่ (鍋燒意麵) หากจะกล่าวถึงเอกลักษณ์พิเศษของนาเบะยากิบะหมี่ไข่ของไถหนาน นักเขียนที่ถนัดในเรื่องอาหารการกิน นามว่า หมีกั่ว
(米果) กล่าวว่า มาตรฐานเกี่ยวกับนาเบะยากิบะหมี่ไข่ที่ตนเองตั้งไว้คือต้องเสิร์ฟมาในหม้อเหล็กขนาดเล็ก จากนั้นนำไปวางไว้กลางกล่องไม้ที่ประกอบขึ้นจากไม้สี่แผ่นและต้องเสิร์ฟในขณะที่น้ำซุปกำลังเดือด
คุณเซี่ยซื่อยวนกล่าวว่า “นาเบะยากิบะหมี่ไข่ของไถหนานอร่อยมาก แม้แต่น้ำซุปก็ไม่เหมือนที่อื่น” ทางร้านทุ่มเทเวลาในการเคี่ยวน้ำซุปและอัดแน่นไปด้วยวัตถุดิบชั้นดี ใส่ใจกับความอร่อยทุกคำ ยกตัวอย่างเช่น ร้านเสียนฉิงหมิงผิ่นอู (閒情茗品屋) ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ “Someday or One Day” เถ้าแก่เนี้ยเปิดเผยว่า น้ำซุปต้องเคี่ยวตั้งแต่ตีห้ากว่า ใช้วัตถุดิบที่สดใหม่และปลาคัตสึโอะ ในชามบะหมี่ใส่ชิ้นปลาอินทรีบั้งที่สดใหม่ทุกวัน ทางร้านจะหั่นเนื้อปลาเป็นชิ้นแล้วทอดเอง “รุ่นพ่อแม่ของฉันก็จะทำแบบนี้ ตอนนี้รุ่นของเราก็ยังยืนหยัดที่จะทำแบบนี้ต่อไป” เถ้าแก่เนี้ยกล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
แน่นอนโลเคชันที่ใช้ถ่ายทำซีรีส์ “Someday or One Day” ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีพระอาทิตย์ขึ้นที่เอ้อเหลียว (二寮) ในเขตจั่วเจิ้น (左鎮) ร้านน้ำแข็งไสหลงเฉวียน (龍泉) ที่เขตหมาโต้ว และบะหมี่ปลาไหลที่เป็นเมนูทดสอบฝีมือการผัดของพ่อครัว ฯลฯ อาศัยกระแสซีรีส์มาช่วยเผยแพร่ให้ขจรขจายออกไปทั่วทุกหนแห่งและดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยให้เดินทางมาเยือน
ดั่งที่คุณเซี่ยซื่อยวนเคยกล่าวไว้ว่า “สำหรับนักท่องเที่ยวไถหนานควรค่าแก่การมาเยือนปีละ 3 ครั้ง” และคนทั่วไปสามารถมาเยือนได้บ่อย ๆ เพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดลงได้บ้างและยังสามารถถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ได้ด้วย
มนต์เสน่ห์แห่งไถหนานสอดรับกับเนื้อเรื่องตอนหนึ่งของซีรีส์ “Someday or One Day” ที่ใช้ชื่อว่า “ให้ฉันยืมเวลาของคุณสักนิด เพื่อให้ฉันมีความทรงจำอันงดงามที่ยากจะลืมเลือน”
ขอเชิญชวนทุกท่านเดินทางไปสัมผัสกับทัศนียภาพของไถหนาน ตามกระแสซีรีส์ “Someday or One Day” กันเถอะ!
ตอนหนึ่งของซีรีส์“Someday or One Day” มีการถ่ายทำแผงขายขนมไป๋ถังกั่วที่หน้าศาลเจ้าเหมี่ยวโซ่วกง เถ้าแก่เนี้ยพูดยิ้ม ๆ ว่า มีแฟนคลับจากเกาหลีจำนวนมากโหนกระแสซีรีส์แห่มาซื้อกัน
ที่ไถหนาน นาเบะยากิบะหมี่ไข่ทุกชามอัดแน่นไปด้วยความพิถีพิถันและความใส่ใจในการเคี่ยวน้ำซุปและคัดสรรวัตถุดิบของทางร้าน ซึ่งรวมถึงร้านเสียนฉิงหมิงผิ่นอู ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์“Someday or One Day” ด้วย
เนื่องจากเป็นโลเคชันถ่ายทำซีรีส์“Someday or One Day” ทำให้เกิดมิติใหม่แห่งการท่องเที่ยวไถหนาน ในภาพเป็น 2 พระเอกในซีรีส์ กำลังรับประทานอาหารอยู่ในร้านบะหมี่ ภาพวาดบนฝาผนังก็เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์พิเศษ
ร้านน้ำแข็งไสหลงเฉวียนเป็นร้านในใจของคนท้องถิ่น ลูกค้าจำนวนมากกินมาตั้งแต่เล็กจนโต (ภาพจากหลินหมินเซวียน)