รสหวานปนเค็มของขนมอบสไตล์ไต้หวัน
สำรวจต่อมรับรสอันไร้ขอบเขต
เนื้อเรื่อง‧หลี่อวี่ซิน ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧มณฑิรา ไชยวุฒิ
สิงหาคม 2024
วัตถุดิบที่เป็นของคาวกับไส้หวานในโลกของขนมอบ เป็นการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติที่ทำให้เกิดความหลากหลาย
เมื่อหั่นขนมเปี๊ยะชิ้นใหญ่ จึงพบว่าไส้ถั่วแดงด้านในมีหมูหย็องกับโมจิผสมอยู่ด้วย ในสมองจึงเกิดความสับสนขึ้นมาทันทีว่า รสเค็มกับรสหวานจะมาอยู่รวมกันในขนมอบชิ้นเดียวได้จริงหรือ?
ไม่ว่าจะเป็นพิธีเซ่นไหว้ งานแต่งงาน หรือเทศกาลประจำปีต่าง ๆ ขนมอบถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในวัฒนธรรมของไต้หวัน และยังเป็นความทรงจำที่คนไต้หวันมีร่วมกันด้วย การรับประทานขนมเปี๊ยะชิ้นใหญ่ 1 คำ ที่ไส้มีความหอมหวานของสับปะรดและถั่วเขียวบด รสหวานนั้นทำให้ใบหน้าของคนปรากฏรอยยิ้มขึ้นมาได้ และเมื่อเติมไข่แดง หมูหย็องหรือหมูสับลงไปแล้ว สัดส่วนของส่วนผสมที่มีรสเค็มแตกต่างกัน ก็จะให้ประสบการณ์รสสัมผัสที่มีความหลากหลายเกิดขึ้นภายในปาก
นอกจากชื่นชมความอัศจรรย์ของรสชาติขนมอบที่มีทั้งรสหวานและรสเค็มแล้ว พวกเรายังรู้สึกฉงนว่า ทำไมเชฟทำขนมถึงเลือกใส่รสเค็มเข้าไปผสมในขนมอบที่มีรสหวาน? คุณจางจุนเจิน (張尊禎) ผู้ทำงานในแวดวงด้านวัฒนธรรมคิดว่า น่าจะมีบางอย่างเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการของยุคสมัย เธอกล่าวว่า “ในยุคแรก ๆ ขนมอบส่วนใหญ่จะมีรสชาติของแป้งและน้ำตาล โดยหลังจากมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงเริ่มใส่เนื้อสัตว์ ไข่แดง แม้กระทั่งเห็ดหอม ซึ่งเป็นส่วนผสมที่มีรสเค็มเพิ่มลงไป”
หวาน-เค็ม เต็มไปด้วยรสสัมผัสที่หลากหลาย
เห็ดหอมผสมหมูพะโล้ เป็นรสชาติคลาสสิกของขนมเปี๊ยะจีนแบบดั้งเดิม หั่นเห็ดหอมและเนื้อหมูเป็นชิ้น ๆ ผสมกับถั่วดำกวน จากนั้นเชฟก็จะใช้มือปั้นไส้ห่อลงในแป้งขนมเปี๊ยะสไตล์กวางตุ้ง น้ำพะโล้สูตรเฉพาะของ Jiu Zhen Nan Bakery ได้มาจากการตุ๋นวัตถุดิบที่เป็นของคาวนาน 6-7 ชั่วโมง และเมื่อนำมาผสมกับถั่วดำกวน นอกจากเพิ่มความเคี้ยวหนึบแล้ว ก็เสมือนกับการประกบคู่ในละครที่บ่อยครั้งดูเหมือนจะไม่ค่อยเข้ากัน แต่นั่นกลับเป็นปฏิสัมพันธ์ที่ช่วยเสริมโดยไม่มีการแย่งซีนของกันและกัน
อีกหนึ่งความสมดุลของรสชาติหวานและเค็มในขนมอบแบบคลาสสิก คือขนมเปี๊ยะไส้ถั่วเขียว ที่สอดไส้ถั่วเขียวบดไว้ข้างใน ไส้ถั่วบดมีกลิ่นหอมและละเอียดนุ่ม เมื่อจับคู่กับแป้งด้านนอกจะละลายในปากทันที
หลังจากผสมหมูพะโล้ลงไปแล้ว ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีรสชาติอีกแบบหนึ่ง และเพื่อให้เข้ากับรสสัมผัสที่ละเมียดละไมของถั่วเขียวบด Jiu Zhen Nan Bakery จึงเลือกใช้เนื้อหมูส่วนที่เป็นขาหลังมาหั่นเป็นก้อนสี่เหลี่ยมลูกเต๋า แล้วนำไปตุ๋นหลายชั่วโมงจนเข้ารส จากนั้นนำไส้หวานมาผสมเข้าด้วยกัน แล้วห่อด้วยแป้งพัฟ คุณกัวเนี่ยนซิน (郭念鑫) ผู้จัดการแบรนด์ของบริษัท Jiu Zhen Nan Bakery เผยว่า เนื้อหมูส่วนที่เป็นขาหลังมีเนื้อกับไขมันในสัดส่วนที่พอเหมาะ ดังนั้นไม่เพียงรักษารสสัมผัสของเนื้อติดมันไว้ได้อย่างเหมาะสม แต่หลังจากนำไปผสมรวมกับถั่วเขียวบดแล้ว นอกจากจะช่วยเพิ่มความเคี้ยวหนึบ ยังทำให้มีรสชาติหวานกลมกล่อมยิ่งขึ้นด้วย
ส่วนรสเค็มมาจากไข่เค็ม เมื่อผ่าขนมเปี๊ยะไส้ถั่วเขียวที่ถูกเรียกว่า “หมิงเยว่” ก็จะเห็นสีอ่อน ๆ ของถั่วบดเป็นพื้นหลัง ตัดกับไข่แดงที่มีสีสันสดใสเป็นพิเศษ เนื่องจากผ่านการหมักจนมีความมันเยิ้มและมีความเค็มที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ รสชาติที่สัมผัสได้จึงมีความเข้มข้นและไม่รู้สึกเลี่ยน ไข่แดงเค็มถือเป็นส่วนผสมอเนกประสงค์สำหรับขนมอบหวานทุกประเภท เพราะไม่ว่าจะนำมาผสมกับขนมพายสับปะรด จนกลายเป็นขนมพายสับปะรดไข่เค็ม หรือจะนำมาผสมกับถั่วบดชนิดต่าง ๆ เพื่อให้กลายเป็นขนมเปี๊ยะไข่เค็ม ก็ล้วนทำให้มีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นรสชาติเก่าแก่ที่อยู่ในความทรงจำของผู้ใหญ่หลายคน แต่ก็อาจจะไม่ใช่รสชาติที่คนทั่วไปยอมรับได้ คุณกัวเนี่ยนซินจำได้ว่า คุณปู่ของเธอชื่นชอบขนมเปี๊ยะแบบดั้งเดิมที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมมาก แต่สำหรับเธอเมื่อครั้งเป็นเด็กนั้น ขนมอบที่มีรสหวานและเค็มอยู่ด้วยกัน เป็นรสชาติที่เธอไม่อาจจะเข้าใจได้ เธอหัวเราะแล้วพูดว่า “แต่อากงของฉันมักพูดว่า เธอไม่เข้าใจนะซิว่า การรับประทานแบบนี้ช่างหอมหวนมากจริง ๆ”
ในสมัยก่อนมักใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากไม้มาทำขนมเปี๊ยะยักษ์ (ภาพจากร้านขนม Jiu Zhen Nan)
ความสมดุลที่ละเอียดอ่อน มากไปหรือน้อยไปก็ไม่ได้
ทำไมเค็มกับหวานจึงผสมรวมกันไม่ได้? คำตอบของคนส่วนใหญ่คือ “ไม่คุ้นเคย” หรือเป็น “รสชาติที่แปลกมาก” ซึ่งการจับคู่ของรสเค็มและหวาน อาจจะเป็นการผสมรวมกันที่พบเห็นได้ยากใช่หรือไม่? ที่จริงแล้วคือไม่ใช่
“คนจีนนิยมนำอาหารหลายชนิดมาผสมเข้าด้วยกัน ทำให้ปรากฏรสชาติที่มีความแตกต่าง” เจิงผิ่นชาง (曾品滄) ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันวิจัยประวัติศาสตร์ไต้หวันของ Academia Sinica อธิบายว่า ยกตัวอย่างเวลาที่คุณแม่ทำกับข้าว ในขั้นตอนการทำหมูพะโล้ ก็จะเติมน้ำตาลกรวดลงไป ส่วนซี่โครงหมูผัดเปรี้ยวหวานจะใส่น้ำตาลทรายลงไป ดังนั้น “ขนมอบที่ใส่วัตถุดิบที่มีรสเค็ม” หวังจะเพิ่มความหวานอย่างมีระดับ
เมื่อเป็นเช่นนั้น ถ้าหากต้องการทราบกุญแจสำคัญของอัตราส่วนการผสมวัตถุดิบแบบเค็มและหวาน ควรจะต้องทำอย่างไร?
คุณเฉินจิ้งอี๋ (陳靜宜) นักเขียนด้านอาหารมองว่า ความเค็มและความหวานมีบุคลิกแตกต่างกัน “ความเค็มเป็นรากฐานที่ทำให้รสชาติเข้มข้นขึ้น ถ้าความเค็มไม่พอรสชาติก็จะดูจืดชืด ขณะที่ความหวานคือสารที่นำมาตัดรสชาติ ดังนั้นหากเจอรสเผ็ดมาก เค็มมาก หรือเปรี้ยวมาก เมื่อเติมความหวานลงไปก็จะทำให้รสชาติอ่อนลง” แต่เธอก็เตือนว่า หากหวานไปเสียทั้งหมดจะทำให้รู้สึกเลี่ยนได้ง่าย ดังนั้นเติมความเค็มเข้าไปนิดหน่อย จะช่วยตัดความเลี่ยนได้
สรุปคือถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป จะไม่สมดุลและชนะใจผู้คนได้ ระหว่างความเค็มกับความหวานจึงมีระยะห่างที่คลุมเครือกันอยู่ “ถ้าจับจุดไม่ถูกจะน่าสะอิดสะเอียนเลย” เธอจึงถือโอกาสยกตัวอย่างขนมเปี๊ยะไส้หมูผสมฟักเขียว โดยอธิบายว่าความยากลำบากของมันอยู่ที่ “วัตถุดิบแบบเค็มมีไขมันเป็นส่วนประกอบ ไขมันจึงอาจกลบรสเค็มไว้ และหากความเค็มเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามส่วนผสมอื่น ก็จะส่งผลกระทบต่อรสชาติสุดท้ายของขนมที่มีความเค็มกับความหวาน และระดับความกลมกล่อม เมื่อเข้าไปอยู่ในปากด้วย” จะเห็นได้ว่าในอดีต การทำขนมอบแบบหวานที่มีวัตถุดิบที่มีรสเค็มผสมอยู่ด้วยกัน ส่วนใหญ่จำเป็นต้องอาศัยทักษะความชำนาญของเชฟทำขนมอบ ที่มีต่อมรับรสที่แม่นยำ และมีความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัด
ความมุ่งมั่นที่จะสืบสานและสืบทอดวัฒนธรรมขนมอบสไตล์จีน ทำให้ Jiu Zhen Nan ไม่เพียงเป็นร้านขายขนม แต่ยังจัดกิจกรรมสัมผัสประสบการณ์การทำขนมอีกด้วย (ภาพจากร้านขนม Jiu Zhen Nan)
ขนมเปี๊ยะจู๋เชี่ยนที่ห่อเนื้อสัตว์ไว้ข้างใน
ขนมเปี๊ยะจู๋เชี่ยน (Zhuqian) เป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะของเมืองซินจู๋ ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน โดยคุณอู๋จางห้วน (吳張換) ผู้ก่อตั้งร้านขนมซินฟู่เจิน (Hsin Fu Jean) ที่มีความคิดอยากนำเอาแป้งมาห่อหอมแดงเจียว น้ำมันหมู กับส่วนผสมอื่น ๆ รวมเข้าไว้ด้วยกัน
เราตามคุณอู๋ชั่นจ้ง (吳璨仲) ผู้จัดการร้านขนมซินฟู่เจิน เข้าไปในครัว เชฟส่วนใหญ่แต่งกายด้วยเครื่องแบบของเชฟเบเกอรี่สมัยใหม่ ขณะที่มือก็กำลังยุ่งอยู่กับการผสมวัตถุดิบเพื่อทำเป็นไส้ขนม นี่คือวิวัฒนาการตามยุคสมัยของร้านขนมซินฟู่เจิน ซึ่งหนึ่งในนั้น ยังคงรักษาขั้นตอนการทำด้วยมือเอาไว้ เขากล่าวว่า “เพราะการใช้เครื่องจักรช่วยผสมวัตถุดิบ จะทำให้ไม่รู้สึกถึงอุณหภูมิของน้ำมันหมู และหากกวนมากเกินไปก็ยังทำให้มีน้ำมันออกมาด้วย”
เช่นเดียวกันกับขั้นตอนการผลิต ก็คือส่วนผสมเหล่านี้ที่ล้วนเป็นสูตร ซึ่งได้รับการสืบทอดมาจากคนรุ่นก่อน โดยน้ำมันหมูเป็นหนึ่งในไม่กี่อย่าง ที่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับรสชาติของคนยุคปัจจุบัน คุณอู๋ชั่นจ้งอธิบายว่า ขนมเปี๊ยะจู๋เชี่ยนแบบดั้งเดิมให้ความสำคัญกับรสสัมผัส รู้สึกถึงความเข้มข้นของมันหมูที่แตกซ่านกระเซ็นภายในปาก จึงมีการใส่มันหมูหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าที่มีขนาดใหญ่และหนาลงไป แต่เนื่องจากในยุคปัจจุบัน เน้นความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้การตัดด้วยเครื่องจักรที่ให้ขนาดเล็กกว่ามาก ทำให้เมื่อรับประทานขนมไปแล้วไม่รู้สึกเลี่ยน และคงกลิ่นหอมหวนแบบดั้งเดิมเอาไว้
ขนมเปี๊ยะกลม ๆ เล็ก ๆ แต่ละชิ้นที่ถูกตัดแต่งแล้ว จะถูกส่งเข้าไปอบในเตาที่อุณหภูมิ 300 องศาเซลเซียส ทุกขั้นตอนจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเชฟ ที่มีประสบการณ์ยาวนานหลายสิบปี
หลังจากนั้น 15 นาที ขนมเปี๊ยะที่อบเสร็จแล้วจะถูกนำออกมาจากเตา กลิ่นหอมเข้มข้นของขนมเปี๊ยะไส้เนื้อสัตว์อบอวลไปทั้งห้อง แต่คุณอู๋ชั่นจ้งกล่าวว่า ขนมเปี๊ยะจะต้องทิ้งไว้ให้เย็นสนิทจริง ๆ จึงจะได้เนื้อสัมผัสกรอบร่วนที่หลายคนคุ้นเคย
เมื่อฉีกซองบรรจุภัณฑ์ออก จะได้กลิ่นหอมอ่อน ๆ ของน้ำมันหมูโชยมาก่อน และเมื่อรับประทานจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นหอมของงากรุ่นกระจายไปทั่วทั้งปาก ตามด้วยกลิ่นหอมแดงเจียว มันหมูเป็นชิ้นที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยก่อน และเม็ดน้ำตาลฟักเขียว ที่ผสมผสานกันอยู่ในขนมเปี๊ยะได้อย่างลงตัว กลิ่นหอมทั้งสามนี้เป็นกุญแจสำคัญของรสชาติที่ติดปากชาวซินจู๋มาหลายชั่วอายุคน
หลังจากขนมเปี๊ยะจู๋เชี่ยนได้รับความนิยมแพร่หลายไปจนถึงเมืองเหมียวลี่ ก็ทำให้เชฟขนมเบเกอรี่ในท้องถิ่นเน้นเพิ่มความหอมของน้ำมันหมูและหอมเจียวให้มากขึ้น ไม่เพียงใส่มันหมูชิ้นใหญ่ ที่ราวกับจะทะลุแป้งขนมด้านนอกออกมาเท่านั้น หอมแดงเจียวยังส่งกลิ่นหอมออกมาจากบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มไว้ด้วย ขนมเปี๊ยะไส้เนื้อสัตว์เขตจู๋หนานมีรสชาติโดดเด่นและไร้กรอบจำกัด ซึ่งตรงกันข้ามกับขนมเปี๊ยะจู๋เชี่ยนของร้านขนมซินฟู่เจิน ที่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังคงภาพลักษณ์ของความประณีตและสง่างามไว้อย่างชัดเจน
ไส้ของขนมเปี๊ยะจู๋เชี่ยนต้องใช้มือผสม จึงจะสามารถหลีกเลี่ยงน้ำมันหมูที่ละลายออกมาเนื่องจากคนมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงการอบที่เป็นขั้นตอนถัดไป
ขนมเค้กแบบเค็ม
ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วห้าชนิด
นอกจากจะมีขนาดประมาณฝ่ามือแล้ว ร้านขนม Hsin Fu Jean ยังเปิดตัวขนมเปี๊ยะจู๋เชี่ยนก้อนเล็ก ที่มีน้ำมันน้อย ไขมันต่ำ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการอาหารสุขภาพของคนในยุคปัจจุบัน
ขนมเปี๊ยะไส้หมูผสมฟักเขียว
ขนมเปี๊ยะไส้ไข่เค็ม
สัมผัสได้ถึงรสเค็มที่แตกต่างกันในทุกคำ
ในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ท่าเรือจีหลงเคยเป็นท่าเรือระหว่างประเทศที่มีความสำคัญ แกงกะหรี่ถูกทหารเรือที่นำวัฒนธรรมอาหารต่างถิ่นเข้ามาเผยแพร่ รวมกับซอสซาฉากลายเป็นส่วนผสมของขนมอบ สร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นขนมเปี๊ยะแกงกะหรี่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น
ขับรถห่างออกจากตลาดกลางคืนจีหลงเมี่ยวโขว่ประมาณห้านาที จะเจอร้านขนมต้าซิน (Dashin Pastry Shop) ที่ตั้งอยู่บนถนนจงฉวน โดยในช่วงเช้ามืด กลิ่นหอมของแกงกะหรี่โชยมาเป็นระยะ ๆ นั่นคือขนมเปี๊ยะแกงกะหรี่ที่เพิ่งอบเสร็จเป็นล็อตแรกในตอนเช้า และกำลังวางบนชั้นให้เย็นตัว ขณะที่ชั้นสองของโรงงานก็กำลังขะมักเขม้นอยู่กับ การปรุงไส้ของขนมเปี๊ยะแกงกะหรี่
คัดเอาเนื้อขาหมูส่วนหลังซึ่งมีมันและเนื้อเท่า ๆ กัน มาทำการตุ๋นด้วยน้ำพะโล้หลายรอบ จากนั้นนำไปผัดเพื่อล็อกรสเค็ม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญให้คงไว้ จากนั้นปล่อยไว้ให้แห้งและเย็น แล้วจึงค่อยนำมาผสมเข้ากับไส้ถั่วเขียวบด และห่อด้วยแป้งพัฟแกงกะหรี่ ต่อไปเชฟก็จะปั้นให้เป็นรูปร่างขนมเปี๊ยะ และประทับตราสีแดงลงไป เตาอบจะถูกปรับอุณหภูมิให้สอดคล้องตามสภาพอากาศก่อน แล้วท้ายที่สุดจึงค่อยนำขนมเปี๊ยะใส่เข้าไปอบ
ขั้นตอนที่ดูง่าย ๆ เหล่านี้ ความจริงแล้วทั้งหมดได้มีการออกแบบมาอย่างพิถีพิถันโดยคุณเฉินเฉาจง (陳朝宗) ซึ่งเป็นเถ้าแก่รุ่นแรก จากสัดส่วนของน้ำพะโล้กับถั่วเขียวบด ไปถึงจนส่วนประกอบของแป้งพัฟแกงกะหรี่ ล้วนเป็นสูตรพิเศษที่ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน แม้แต่คุณเฉินเจี้ยนหง (陳建宏) ซึ่งเป็นลูกชายก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการศึกษาเรียนรู้
แต่ด้วยความที่เป็นสูตรลับเช่นนี้ จึงกลายมาเป็นรสชาติของบ้านเกิดที่คนในท้องถิ่นจะไม่มีวันลืม กลิ่นหอมเข้มข้นของแกงกะหรี่ก็ทำให้ผู้คนน้ำลายไหล ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มรับประทาน เมื่อกัดคำแรกเข้าไป ก็จะสัมผัสได้ถึงแป้งที่กรอบร่วน รสชาติของถั่วเขียวบดที่มีความนุ่มละมุน จากนั้น จึงตามมาด้วยรสชาติของไส้เค็ม และในที่สุดรสชาติเครื่องเทศของแป้งพัฟแกงกะหรี่ ก็จะหวนกลับคืนสู่ลิ้นอีกครั้ง เป็นรสชาติอันหลากหลายที่คลุกเคล้าวนเวียนอยู่ในปาก
ที่น่าสนใจคือ หากกัดไปโดนส่วนที่มีถั่วเขียวบดค่อนข้างมาก ก็จะได้ลิ้มรสชาติของถั่วเขียวบดที่มีกลิ่นหอมและความหวานเข้มข้น หากคำต่อไปกัดไปโดนส่วนที่มีเนื้อสัตว์มาก ก็จะได้สัมผัสกับไส้ถั่วบดที่ซ่อนอยู่หลังรสเค็ม จากนั้น จึงค่อยดึงเอารสชาติของน้ำพะโล้และแกงกะหรี่ กลับคืนสู่ต่อมรับรส ซึ่งเปรียบเสมือนกับการชมการแสดงของรสชาติที่ยอดเยี่ยมและงดงาม
รสชาติอันแสนอร่อยนี้ ทำให้คนที่ชอบขนมเปี๊ยะ รู้สึกตกหลุมรักทันทีที่ได้รับประทาน และยังทำให้คนที่ไม่รับประทานขนมเปี๊ยะเปลี่ยนใจอีกด้วย โดยในวันสัมภาษณ์มีลูกค้าจากรุ่ยฟาง เข้ามาในร้านก็บอกว่าต้องการซื้อ 15 กล่อง ซึ่งที่จริงแล้ว เขาขับรถมาที่นี่โดยเฉพาะ ก็เพราะอยากซื้อขนมไปเฉลิมฉลองที่อี๋หลานกับเพื่อน ๆ “เดิมทีเพื่อนของฉันไม่กินขนมเปี๊ยะ แต่หลังจากกินขนมเปี๊ยะแกงกะหรี่แล้ว ก็กินทีเดียวจนหมดกล่องเลย” เขามีความสุขที่ได้แชร์ประสบการณ์หลากหลายอันน่ามหัศจรรย์ของขนมเปี๊ยะจากร้านขนมต้าซิน
เมื่อพวกเราถามถึงว่า เขาคิดว่าขนมเปี๊ยะแกงกะหรี่ที่มีทั้งรสเค็มและหวาน มีส่วนไหนที่ดึงดูดผู้คน ใบหน้าของเขาก็ปรากฏรอยยิ้มที่แฝงไปด้วยความลึกลับ และบอกว่า “คุณต้องรับประทานก่อน แล้วก็จะรู้เอง”
เนื้อเป็นชิ้นที่ถูกตุ๋นเคี่ยวไปมาในน้ำพะโล้สูตรเฉพาะของ ร้านขนม Hsin Fu Jean ได้ดูดซึมน้ำซอสเข้าไปอย่างเต็มที่ และเปล่งประกายความมันวาวออกมา
แม้ขั้นตอนการฝึกเรียนทำขนมกับคุณพ่อจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่คุณเฉินเจี้ยนหง เถ้าแก่รุ่นที่ 2 ของร้านขนม Dashin Pastry ได้นำเอาความลำบากมาเป็นกำลังใจ โดยหวังจะสามารถสืบทอดความอร่อยของขนมเปี๊ยะแกงกะหรี่ต่อไป
ในอดีตรสเค็มของขนมเปี๊ยะแกงกะหรี่จะได้มาจากหอมแดงเจียว แต่เมื่อสังคมมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จึงค่อย ๆ เริ่มมีการเติมเนื้อหมูลงไปในไส้