ทิวทัศน์ทะเล ที่ราบลุ่ม แม่น้ำและป่าเขา
ทริปสองล้อท่องไปในอี๋หลาน
เนื้อเรื่อง‧หลิวถิงจวิน ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧ธีระ หยาง
ตุลาคม 2024
“ถ้ามีจักรยานสักคัน ก็ไม่เสียชาติเกิด” นี่คือคำพูดของ มาร์ค ทเวน นักเขียนชื่อดังชาวสหรัฐฯ ซึ่งชั่วชีวิตของเขาได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยและท่องเที่ยวไว้มากมาย เมื่อเทียบกับในสมัยนั้นแล้ว ปัจจุบัน การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก ทำให้ผู้คนคำนึงถึงแต่การไปถึงจุดหมายให้เร็วที่สุด จนค่อย ๆ ลืมไปว่า เรายังสามารถดื่มด่ำไปกับทิวทัศน์ตลอดสองข้างทางได้ด้วย ในครั้งนี้ เราจะใช้จักรยานสองล้อท่องเที่ยวไปในดินแดนของเมืองอี๋หลาน ด้วยความเร็วแบบพอดีไม่รีบร้อน
ถนนโบราณโถวเฉิง ความเก่าและใหม่ที่อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว
เราเริ่มต้นกันที่ถนนโถวเหวยเจีย (ปัจจุบันคือถนนเหอผิงเจีย) ซึ่งเป็นย่านที่มีการพัฒนาก่อนพื้นที่อื่นในแถบโถวเฉิง ตระเวนชมอาคารเก่าแก่ที่หลบมุมอยู่ในซอยคดเคี้ยว ซึ่งมีตั้งแต่อาคารสไตล์หมิ่นหนานในยุคปลายราชวงศ์ชิง อาคารทรงฝรั่งที่ก่ออิฐถือปูนในช่วงกลางของยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ไปจนถึงอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอาคารยุคแรกบนถนนเหอผิงเจีย ที่แม้จะมีตะไคร่จับเต็มไปหมดบนผนังอิฐ แต่ที่นี่เคยเป็นชุมชนใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมทะเลในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งในสมัยโบราณ โถวเหวยคือถนนที่คึกคักที่สุดในเมืองอันดับ 1 ของการบุกเบิกหลันหยาง
ออกจากท้ายถนนเหอผิงเจีย ก็จะเห็นว่า ในซอยแคบ ๆ ยาว ๆ นี้ เป็นที่ตั้งของ “ซอยศิลปะ” และ “ซอยวรรณกรรม” ซึ่งเหล่าคนทำงานสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรมได้ใช้วิธีของศิลปะร่วมสมัย ในการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของโถวเฉิงเอาไว้ โดยได้มีการจัดแสดงผลงานของนักวรรณกรรมท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง คือ หลี่หรงชุน (李榮春) นักเขียนชื่อดังชาวโถวเฉิงผู้ล่วงลับ รวมถึงหยิวเซี่ยงซิน (游象新) กวีผู้เป็นสมาชิกคนสุดท้ายของชมรมกวีเติงอิ๋ง (登瀛吟社) แห่งโถวเฉิง
บทกวีที่นักวรรณกรรมท้องถิ่นแต่งให้บ้านเกิดที่ถือเป็น “เมืองแห่งแรกในแถบหลันหยาง” ถูกนำมาจารึกและประดับไว้บนเส้นทางวรรณกรรมแห่งแสงและเงา
เส้นทาง 20 กิโลเมตรกับ 3 ทิวทัศน์อันน่าหลงใหลที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดทาง
เลี้ยวซ้ายหลังข้ามแม่น้ำเอ้อหลงเหอ ก็จะมาถึงเส้นทางที่มีจุดเริ่มจากกำแพงกันคลื่นจู๋อัน โดยเส้นทางขี่จักรยานที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้คือ “เส้นทางขี่จักรยานเลียบชายฝั่งอี๋หลานตอนเหนือ” ซึ่งเส้นทางส่วนใหญ่จะทอดขนานไปตามทางหลวงหมายเลข ไถ 2 ตลอดทางสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเกาะกุยซาน หรือเกาะเต่าที่อยู่ไกลออกไป ช่วงกลางจะขี่ผ่านเข้าไปในป่าสำหรับป้องกันลมที่อยู่บนเนินทรายจวงหยวน มีต้นไม้ปกคลุมตลอดทาง ตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ มีป้อมรักษาการณ์ ซึ่งเคยเป็นที่มั่นในการป้องกันศัตรูยกพลขึ้นบกกระจายตัวอยู่เป็นระยะ ในช่วงท้ายของเส้นทางจักรยานจะมองเห็นทิวทัศน์อันตระการตาของ บริเวณปากแม่น้ำหลันหยางซี ที่ไหลมาลงทะเลที่นี่ ทำให้เราได้เห็นภาพของทะเล ป่าไม้ และแม่น้ำ พร้อมทั้งสัมผัสกับลมทะเล กลิ่นหอมของต้นไม้ และแสงแดดไปตลอดทาง
จากนั้น เราก็เปลี่ยนจากเส้นทางจักรยานมาสู่ทางหลวง เพื่อค้นหากาแฟสักแก้วที่ไม่มีโอกาสได้ชิมในวันธรรมดาทั่ว ๆ ไป “ฟาร์มฟักทองวั่งซาน” ที่อยู่ไม่ไกล ใช้ฟักทองบดมาแทนนมสดในการปรุงกาแฟลาเต้ ดื่มแล้วลื่นคอ ในฟาร์มวั่งซานแห่งนี้ ปลูกฟักทองที่ได้รับความนิยมทั่วโลกครบทั้ง 5 สายพันธุ์ เผิงสูหุ้ย (彭淑惠) สะใภ้รุ่นที่ 2 ของฟาร์มฟักทอง ได้เล่าให้ฟังถึงความยึดมั่นในระบบนิเวศแบบหมุนเวียนตามธรรมชาติของฟาร์มวั่งซาน “ใช้วิธีการปลูกในตะกร้าที่ยกสูงจากพื้น เพื่อให้เถาของฟักทองสามารถพันกับรั้วเหล็กที่สร้างขึ้น ทำให้เห็นเป็นภาพของอุโมงค์ที่มีฟักทองห้อยอยู่เต็มไปหมด”
ในศูนย์นักท่องเที่ยวเนินทรายจ้วงเหวย ซึ่งออกแบบโดยสำนักงานสถาปนิกหวงเซิงหย่วน จัดนิทรรศการ “จ้วงเหวยในความทรงจำ” ของไช่หมิงเลี่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์คนดัง ซึ่งได้นำเอาความงดงามของเนินทรายที่อยู่กลางแจ้ง มาจัดแสดงในอาคาร
ศูนย์รวมจิตศรัทธาของชาวเมือง
เมื่อเดินทางไปตามทางหลวงสายย่อยหมายเลข ไถ 7 ปิ่ง เพื่อหาของกินอร่อย ๆ ในตำบลหลัวตง เราได้เห็นโบราณสถานอันแปลกตาที่ซ่อนตัวอยู่ในตลาดนัดกลางคืนหลัวตง คือ ศาลเจ้า เหมี่ยนหมินถัง ซึ่งทำให้เราต้องชะงักและหยุดเดินเพื่อชื่นชมความงดงามของอาคารแห่งนี้ ศาลเจ้าเหมี่ยนหมินถังตั้งอยู่บนพื้นที่ไม่ใหญ่นัก แต่ถือเป็นศูนย์รวมจิตศรัทธาที่สำคัญทางตะวันออกของไต้หวันที่สร้างขึ้นโดยราชสำนักชิง กฎระเบียบต่าง ๆ ของศาลเจ้าแห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณที่เขียนขึ้นด้วยอักษรจีนอันงดงามตามแบบราชสำนักชิงยังคงติดอยู่บนกำแพง เพื่อระบุถึงหน้าที่อันสำคัญของศาลเจ้าแห่งนี้ นอกจากจะเคยเป็นสถานที่สำหรับบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมของการเผยแพร่ลัทธิขงจื๊อในสมัยนั้นอีกด้วย ภายในศาลเจ้าไม่มีการแกะสลักอิฐประดับกำแพงอย่างหรูหรา และมีสีสันที่เรียบง่าย แม้แต่เก้าอี้ของเทพเจ้าทั้ง 3 องค์ (ซานเอินจู่ – เทพกวนอู เทพหลวี่ต้งปิน และเทพเจ้าเตา) ซึ่งถูกตั้งไว้บูชาอยู่ภายใน ก็เป็นเพียงเก้าอี้ไม้ธรรมดา 3 ตัวเท่านั้น แต่ศาลเจ้าเหมี่ยนหมินถัง มีสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และมีเพียงแห่งเดียวในไต้หวัน คือ “9 ประตู 3 หน้าต่าง” การออกแบบเช่นนี้ ในสมัยราชวงศ์ชิงถือเป็นสถาปัตยกรรมสำหรับอาคารของสถานที่ราชการเท่านั้น แต่ในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ศาลเจ้าเหมี่ยนหมินถังได้ถูกอนุรักษ์เอาไว้ในฐานะที่เป็นศาสนสถาน
เราออกเดินทางต่อ คราวนี้ เป้าหมายคือการไปเยี่ยมชมสวนวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์จงซิง ซึ่งสามารถขี่จักรยานไปได้แบบสบาย ๆ
ที่ฟาร์มฟักทองวั่งซาน นอกจากจะพบเห็นเถาไม้เลื้อยพันกับโครงเหล็กจนกลายเป็นอุโมงค์ฟักทองแล้ว ยังจะได้เห็นเหล่าผึ้งน้อยบินว่อนช่วยผสมเกสรอย่างขะมักเขม้น
ไปชมการประสมประสานกันระหว่างศิลปะแห่งแสงและเงา
ในอดีต สวนวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์จงซิง คือ บริษัทกระดาษจงซิง ซึ่งในยุครุ่งเรือง มีกำลังการผลิตมากที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังเลิกกิจการ ก็เหลือแต่กำแพงและกลายเป็นอาคารรกร้าง ต่อมาในปี ค.ศ. 2015 จึงถือกำเนิดขึ้นใหม่ในฐานะที่เป็นสวนจัดแสดงผลงานศิลปวัฒนธรรม โดยในช่วงเวลากลางวัน อาคารทุกแห่งที่อยู่ภายในจะเปิดให้เข้าชมได้ทั้งหมด งานศิลปะที่จัดแสดงอยู่เปี่ยมไปด้วยความสนุกสนานแบบเด็ก ๆ แต่เมื่อเข้าสู่ยามราตรี ภายในสวนจะมีแสงไฟส่องสว่างอยู่ประปราย ทำให้ภาพของตัวอาคารที่ถูกความมืดปกคลุมบางส่วน เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ที่น่าตื่นตาตื่นใจในอีกรูปแบบหนึ่ง
สระน้ำความลึกไม่มากในสวนปูพื้นด้วยกรวด ทำให้แสงและเงาที่ตกสะท้อนมองดูแล้วราวกับเต้นระบำไปบนผิวน้ำ โคมไฟทรงกลมสีขาวที่แขวนอยู่บนศีรษะ พลิ้วไหวไปตามสายลมอยู่เป็นระยะ ทิวทัศน์ของโคมไฟจากริมสระน้ำนี้ ราวกับเป็นภาพจากบทกวีชุด “ทิวทัศน์แห่งคิมหันต์” ของอู๋เหว่ยถิง กวีหญิงคนดังชาวอี๋หลาน แสงสีขาวสะท้อนบนผิวน้ำดูเหมือนมวลหมู่ดวงดาราที่ส่องประกายระยิบระยับ แสงสีเหลืองเปรียบเหมือนภาพวาดและภาพแกะสลักบนเสาและคาน ผิวน้ำที่กระเพื่อมทำให้แสงไฟพลิ้วไหวไปมา
กลิ่นหญ้าที่ลอยมาตามสายลมโชยเย็น ริมแม่น้ำ เสียงกระซิบอันแผ่วเบาของใบต้นไซเปรสหัวล้าน การขี่จักรยานไปตามเส้นทางเลียบริมแม่น้ำอันหนงซีทำให้รู้สึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ
ปะทะกับสายลมบนเส้นทางจักรยานริมแม่น้ำอันหนงซี
ท้องฟ้าสว่าง สายหมอกจางหาย ภาพของแม่น้ำอันหนงซีที่อยู่นอกหน้าต่างดูงดงามใต้แสงแดด เราได้ขี่จักรยานไปตามเส้นทางจักรยานที่อยู่บนทำนบเลียบริมแม่น้ำ ทำให้มองเห็นทิวทัศน์อันแปลกตา เพราะด้านหนึ่งจะเป็นภาพของทุ่งนาเขียวขจี โดยอีกข้างหนึ่งคือแม่น้ำอันหนงซี สายน้ำไหลเชี่ยวสลับกับไหลเอื่อย ๆ
ถนนอันคดเคี้ยวได้พาเราผ่านมวลหมู่ต้นสนไซเปรสหัวล้านที่ใบของมันเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม ก่อนจะลัดเลาะไปจนเข้าใกล้กับช่วงต้นน้ำของแม่น้ำอันหนงซี ที่นี่คือแหล่งเพาะปลูกต้นหอมซานซิงชงที่มีชื่อเสียง ทุ่งต้นหอมเขียวขจี ซึ่งมีลมจากภูเขาพัดผ่าน ทำให้ใบยาว ๆ ของต้นหอมโบกสะพัดไปมาราวกับจะทักทายกับผู้คนที่ผ่านไปมา ภาพของทิวเขาที่อยู่ไกลออกไปมีลักษณะเป็นลูกคลื่นที่เชื่อมต่อกับขอบฟ้าทำให้เกิดทิวทัศน์ที่สวยงาม ตลอดเส้นทางนี้ เหมือนกับว่าเราได้ฟังเสียงน้ำที่ไหลหลากไปพร้อมกับการสนทนากับเหล่าแมกไม้สูงใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
หอรำลึกการก่อตั้งเมืองอี๋หลานที่ตั้งอยู่ในตัวเมืองอี๋หลาน ยังอนุรักษ์สวนญี่ปุ่นดั้งเดิมเอาไว้ โดยภายในยังมีการเก็บรักษาข้อมูลเก่าของเมืองไว้ด้วย ถือเป็นประจักษ์พยานแห่งประวัติศาสตร์มากกว่าร้อยปีของอี๋หลาน
ความงามของศาลเจ้า อยู่ที่ความเรียบง่าย
มุ่งหน้าไปทางเหนือ ตามเส้นทางเล็ก ๆ ริมแม่น้ำหลันหยางซี ก่อนจะเลี้ยวซ้ายกลับมาบนทางหลวงย่อยสาย ไถ 7 ปิ่ง ก็จะเข้าสู่ตัวเมืองอี๋หลาน เราขี่ไปถึง “ศาลเจ้าเจาอิ้งกง” ศาลเจ้าโบราณแห่งแรกทางภาคตะวันออกของไต้หวัน ที่นี่เราได้พบกับเยี่ยหย่งเสา (葉永韶) ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ซึ่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโบราณสถานที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม คุณเยี่ยฯ บอกกับเราว่า แม้ศาลเจ้าเจาอิ้งกงจะมีขนาดไม่ใหญ่ แต่ถือเป็นศาลเจ้าที่งดงามที่สุดในใจของเขา
“ศาลเจ้าในแต่ละยุคสมัย จะสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกเกี่ยวกับความงามในยุคนั้นได้ดีที่สุด ความงามของศาลเจ้าเจาอิ้งกง อยู่ที่การตกแต่งซึ่งเน้นความเรียบง่าย นี่ก็คือความพิเศษของศาลเจ้าแห่งนี้” เยี่ยหย่งเสาได้อธิบายทิศทางการตั้งของศาลเจ้าเจาอิ้งกงว่า “การที่สักการะเจ้าแม่มาจู่เป็นหลัก ศาลเจ้าจึงควรจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คือหันหน้าสู่ทะเลใช่ไหม?” พอได้ยินคุณเยี่ยฯ พูดแบบนี้ เราจึงเพิ่งสังเกตเห็นว่า ศาลเจ้าเจาอิ้งกงที่เป็นสถาปัตยกรรมจีนแบบ 3 ตอน 3 ประตู กลับหันหน้าเข้าภูเขาเสียอย่างนั้น
“ในรัชสมัยเต้ากวงฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งต้องทำการบูรณะศาลเจ้าเจาอิ้งกงครั้งใหญ่ ซินแสที่เป็นผู้ดูฮวงจุ้ยมาเห็นแล้วกลับบอกให้รักษาทิศของศาลเจ้าในแบบเดิม คือหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเอาไว้ รับรองว่าจะมีเงินทองไหลมาเทมาไม่ขาดสายแน่นอน แต่หากเปลี่ยนเป็นหันหน้าไปทางทิศตะวันตก โดยให้หันหน้าเข้าหาภูเขา จะมีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง และมีคนเก่ง ๆ เกิดขึ้นมามากมาย” คำทำนายของซินแสท่านนี้ ทำให้การบูรณะครั้งใหญ่ของศาลเจ้าเจาอิ้งกงในปี ค.ศ. 1834 มีการปรับเปลี่ยนทิศของศาลเจ้าใหม่ จนกลายเป็นศาลเจ้าของเจ้าแม่มาจู่เพียงแห่งเดียวในไต้หวันที่หันหน้าเข้าหาภูเขา “การออกแบบสถาปัตยกรรมในรัชสมัยเต้ากวงฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิง จะนิยมความงามแบบคลาสสิก” เยี่ยหย่งเสาเดินไปที่ข้างเสามังกร แล้วแนะนำให้เรารู้ถึงวิธีการชื่นชมความงดงามของศาลเจ้า “ถ้าเราดูที่เสามังกรก็จะเห็นได้อย่างชัดเจน เสาต้นนี้มีมังกรที่ดูแล้วมีชีวิตชีวาเป็นอย่างมาก ไม่มีการตกแต่งอย่างอื่น การแกะสลักเช่นนี้ได้แฝงความวิจิตรไว้ในความเรียบง่าย ทำให้ความงดงามโดยรวมมีความสมดุล เรียบเนียนและลงตัวเป็นอย่างมาก”
เราจะได้เห็นพืชน้ำจำนวนมากที่พบเห็นได้ยากในบึงน้ำธรรมชาติ ภาพของ “บัวสายไต้หวัน” ที่ออกสีเหลือง เป็นพันธุ์เฉพาะถิ่นที่ถือเป็นสมบัติประจำชาติของไต้หวัน คือหนึ่งในทิวทัศน์อันงดงามที่สุดของบึงแห่งนี้
ภายในสวนพฤกษศาสตร์เขาฝูซานมีพืชและสัตว์นานาพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ลองหยิบกล้องส่องทางไกลขึ้นมา พร้อมกับทำจิตใจให้สงบ และก้าวเดินอย่างช้า ๆ เพื่อชื่นชมกับความงามแห่งธรรมชาติ
ภายในสวนพฤกษศาสตร์เขาฝูซานมีพืชและสัตว์นานาพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ลองหยิบกล้องส่องทางไกลขึ้นมา พร้อมกับทำจิตใจให้สงบ และก้าวเดินอย่างช้า ๆ เพื่อชื่นชมกับความงามแห่งธรรมชาติ
ภายในสวนพฤกษศาสตร์เขาฝูซานมีพืชและสัตว์นานาพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ลองหยิบกล้องส่องทางไกลขึ้นมา พร้อมกับทำจิตใจให้สงบ และก้าวเดินอย่างช้า ๆ เพื่อชื่นชมกับความงามแห่งธรรมชาติ
สวนพฤกษศาสตร์ที่ถูกห้อมล้อมด้วยป่าหมอก
หลังจากขี่จักรยานออกจากเมืองอี๋หลาน ไปยังทางหลวงย่อยสาย ไถ 7 ติง เรามุ่งหน้าไปยังสวนพฤกษศาสตร์เขาฝูซานที่ต้องจองคิวล่วงหน้า สวนแห่งนี้มีถนนที่ติดต่อกับโลกภายนอกเพียงเส้นเดียว อีกทั้งยังเป็นถนนแคบ ๆ และค่อนข้างชัน ทำให้ต้องใช้พลังงานในการขี่สูงมาก หลังจากเข้าไปภายในสวนแล้ว ก็ต้องเดินเท้าเท่านั้น
สวนพฤกษศาสตร์เขาฝูซานเป็นสวนสำหรับการอนุรักษ์ ค้นคว้าวิจัยและการศึกษา ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของที่นี่ ดึงดูดให้ผู้คนกลับมาเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า บริเวณทางเข้าเราจะเห็นต้นไม้กลายเป็นหินซึ่งผ่านวันเวลามาอย่างยาวนาน เราพกกล้องส่องทางไกลแล้วเดินตามทางเดินที่สร้างขึ้นจากแผ่นไม้เพื่อเข้าไปในสวน
สิ่งแรกที่เห็นคือบึงพืชน้ำ ซึ่งมีพืชน้ำที่หลากหลายงอกงามอยู่เต็มบึง และสามารถดึงดูดเหล่าปักษานานาพันธุ์ให้เข้ามาหา ว่ากันว่าบรรยากาศของบึงแห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพอากาศ ในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส เราจะเห็นเหล่านกเป็ดผีตัวน้อย ดำผุดดำว่ายจนน้ำในบึงสาดกระเซ็น เป็นภาพที่สวยสดใส ในวันที่ฝนตก จะมีหมอกปกคลุมไปทั่ว ดูแล้วน่าหลงใหลยิ่งนัก หลินเจี้ยนหรง (林建融) ผู้ช่วยนักวิจัยที่กำลังสำรวจพันธุ์ไม้ในบึงบอกกับเราว่า “ช่วงฤดูหนาว ยังมีโอกาสได้เห็นเป็ดแมนดารินหนีหนาวมาหากินแถวนี้ด้วย”
ด้วยเหตุที่ในแถบนี้มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีอยู่ที่ 4,000 – 5,000 มิลลิเมตร ประกอบกับตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก ทำให้สวนพฤกษศาสตร์เขาฝูซานเป็นเหมือนสวรรค์ของเหล่ากาฝากทั้งหลาย “เราจะเรียกต้นไม้ใหญ่ที่ถูกกาฝากเกาะอยู่เต็มไปหมดว่า “ต้นอะพาร์ตเมนต์” ถือเป็นปรากฏการณ์ของการอยู่ร่วมกันที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในระบบนิเวศแบบป่าฝน” หลินเจี้ยนหรงกล่าว
หลินเจี้ยนหรงยังบอกกับเราอีกว่า มาถึงที่นี่ต้องใช้การเดินเท้า เพราะเราอาจพบเห็นพืชและสัตว์ในป่าที่อยู่บนความสูงจากน้ำทะเลในระดับต่ำได้ทุกเมื่อ ข้างหน้าเราไม่กี่เมตร ก็มีเก้งหลายตัวก้มหัวลงหาอาหาร บนผืนหญ้าก็มีฝูงลิงแสมไต้หวันกำลังจับกลุ่มนั่งอาบแดดยามบ่ายอย่างสบายใจ แถมยังเห็นพังพอนกินปูสองสามตัววิ่งผ่านริมบึงไปอย่างรวดเร็ว ทริปการเดินทางแบบสองเท้าบวกสองล้อในครั้งนี้ เป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบไม่ได้เตรียมการอะไรมากมาย นอกจากทางหลวง ทิวทัศน์ ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมแล้ว เรายังได้ท่องไปตามเส้นทางเลียบชายฝั่ง ขึ้นภูเขา เข้าป่า พานพบสัตว์ต่างๆ กินอาหารอร่อย และสร้างความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน
ภายในสวนพฤกษศาสตร์เขาฝูซานมีพืชและสัตว์นานาพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ลองหยิบกล้องส่องทางไกลขึ้นมา พร้อมกับทำจิตใจให้สงบ และก้าวเดินอย่างช้า ๆ เพื่อชื่นชมกับความงามแห่งธรรมชาติ
ภายในสวนพฤกษศาสตร์เขาฝูซานมีพืชและสัตว์นานาพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ลองหยิบกล้องส่องทางไกลขึ้นมา พร้อมกับทำจิตใจให้สงบ และก้าวเดินอย่างช้า ๆ เพื่อชื่นชมกับความงามแห่งธรรมชาติ