รสชาติความหวาน บนปลายลิ้น
เรื่องราวของขนมสไตล์ไต้หวัน
เนื้อเรื่อง‧เติ้งฮุ่ยฉุน ภาพ‧หลินเก๋อลี แปล‧อัญชัน ทรงพุทธิ
สิงหาคม 2024
ความอร่อยที่ไม่แพ้ช็อกโกแลตของวิลลี่ วองก้า (Willy Wonka ตัวละครเอกของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Wonka) อีกทั้งยังเต็มไปด้วยร่องรอยแห่งความทรงจำและเรื่องราวมากมายยิ่งกว่าขนมเค้กมาเดอลีน (Madeleine Cakes) ในมือของมาร์แซล พรุสต์ (Marcel Proust นักเขียนนวนิยายชื่อดังชาวฝรั่งเศส) ขนมสไตล์ไต้หวัน หนึ่งในรสชาติแห่งความหวานของไต้หวันที่ปรับปรุงสูตรมาจากขนมโบราณของจีน และใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาเป็นส่วนผสม เพื่อสร้างสรรค์รสชาติแห่งความทรงจำที่เป็นเอกลักษณ์ของไต้หวัน
ขนมเปี๊ยะไส้เนยเวอร์ชัน 5.0 ของร้านอวี้เจินซิน มีการวิจัยและพัฒนาแป้งขนมชั้นนอกให้เป็นรูปทรงรังผึ้งซึ่งทำให้ไม่ร่วนซุยง่าย
รสหวาน : กุศโลบายทางศาสนาของคนโบราณ
คุณเจิงผิ่นชาง (曾品滄) นักวิชาการที่ศึกษาวิจัยด้านวัฒนธรรมอาหารของไต้หวันเปิดเผยว่า “น้ำตาลกับขนมเป็นของคู่กัน และเกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างใกล้ชิด”
คุณเจิงผิ่นชางเล่าถึงความเป็นมาว่า มีการค้นพบบันทึกเกี่ยวกับกรรมวิธีการผลิตน้ำตาลอ้อยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ซึ่งพบในประเทศอินเดีย ในขณะเดียวกันอินเดียก็เป็นต้นกำเนิดของศาสนาพุทธ พระภิกษุในอินเดียใช้น้ำตาลมาทำขนมเพื่อดึงดูดประชาชนให้เข้ามาในวัด ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธเผยแผ่เข้าสู่ประเทศจีน ทางวัดก็ได้ใช้ของหวานมาเป็นเครื่องดึงดูดผู้มีจิตศรัทธา โดยมีการจัดตั้งโรงเจขึ้นภายในวัด เพื่อบริการขนมแก่เหล่าศาสนิกชนจากแดนไกลที่เดินทางมาสักการะ และการที่ร้านขนมโบราณในไต้หวันหลายแห่ง นิยมตั้งชื่อร้านโดยมีคำว่า ไจ (齋 หมายถึง เจ) รวมอยู่ด้วย แท้ที่จริงแล้วก็มีต้นกำเนิดมาจากอดีตกาลอันไกลโพ้นนั่นเอง
นานวันเข้า ขนมสามารถใช้ประโยชน์ได้สองทาง ประการแรกใช้ในการบูชาเทพเจ้า ประการที่สองเพื่อให้รางวัลแก่ตนเอง กล่าวได้ว่า ขนมถือเป็นสิ่งของที่ใช้ในการเซ่นไหว้บูชาและเป็นของขวัญได้ด้วย
ขนมสไตล์ไต้หวันสืบทอดมาจากขนมโบราณของจีน และมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของไต้หวัน
ขนม : ทำหน้าที่เชื่อมมนุษยสัมพันธ์
ในไต้หวัน ขนมยังทำหน้าที่ในการเชื่อมมนุษยสัมพันธ์ด้วย คุณเจิงผิ่นชางกล่าวว่า “ในอดีต ไต้หวันเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชน ทำให้มีการสู้รบกันด้วยกำลังอาวุธบ่อย ๆ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้แล้ว เรายังมีการพัฒนาวิธีสร้างความปรองดองระหว่างกลุ่มชน โดยการแสดงความเป็นมิตรต่อผู้อื่นด้วย” อาทิ ในช่วงเทศกาลสำคัญอย่างเทศกาลตรุษจีนหรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ จะมีการส่งมอบขนมให้แก่กัน
คุณเจิงผิ่นชางได้ยกตัวอย่างประเพณีการแต่งงาน ในงานแต่งงานของลูกสาวต้องมีการเลี้ยงโต๊ะจีน ผู้ที่ถูกเชิญจะต้องตอบแทนด้วยการใส่อั่งเปาให้ เจ้าภาพจะรู้สึกไม่สบายใจที่ทำให้ผู้ถูกเชิญต้องเสียเงิน ดังนั้น เจ้าภาพจะถามก่อนว่า “ฉันจะหมั้น (ลูกสาว) แล้ว จะให้ส่งขนมไปให้คุณไหม” ในเวลานี้ การส่งมอบขนมหมั้นกลายเป็นวิธีการยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงการบุ่มบ่ามจนเสียมารยาท การปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายจะยังคงสืบสานต่อไป “นี่คือการก่อตัวขึ้นของโลกแห่งประเพณี การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างกันของมนุษย์ให้คงอยู่ต่อไป” ซึ่งขนมก็คือสัญลักษณ์สำคัญของประเพณีในไต้หวัน
นวัตกรรมยุคญี่ปุ่นยึดครองไต้หวัน
ในอดีต ไต้หวันมีผู้ย้ายถิ่นฐานใหม่จากเมืองแต้จิ๋วหรือเฉาโจว (潮州) ซัวเถาหรือซ่านโถว (汕頭) จางโจว (漳州) และเฉวียนโจว (泉州) ซึ่งได้นำขนมจากพื้นที่เหล่านี้เข้ามายังไต้หวันด้วย ปี ค.ศ. 1895 ไต้หวันถูกถ่ายโอนไปอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น คนทำขนมโบราณของจีนได้ปรับกลยุทธ์การตลาดหันมาผลิตขนมที่มีรสชาติถูกปากชาวญี่ปุ่น และมีคนทำขนมบางคนเดินทางไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น อาทิ เหยียนซินฟา (顏新發) และเป่าเฉวียน (寶泉) เป็นต้น เมื่อเดินทางกลับไต้หวันก็ได้นำแนวคิดเกี่ยวกับขนมหวานแบบตะวันตกติดตัวมาด้วย
คุณจางจุนเจิน (張尊禎) ซึ่งตระเวนชิมขนมมาแล้วทุกร้าน เล่าถึงอิทธิพลจากภายนอกที่มีต่อขนมสไตล์ไต้หวัน อาทิ ขนมถ้วยฟูน้ำตาลทรายแดงของเผิงหู เลียนแบบสูตรการทำขนมอาการาซา (Agarasaa) ของช่างทำขนมชาวริวคิวของญี่ปุ่น เค้กมันเทศฮัวเหลียนก็เป็นการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างมันเทศของไต้หวันกับวากาชิ (wagashi) ซึ่งเป็นขนมหวานโบราณของญี่ปุ่น ส่วนร้านขนมซานเสียเฉิง (三協成餅舖) ที่เขตต้านสุ่ย นครนิวไทเป เนื่องจากมีญาติทำงานอยู่ที่สถานกงสุลอังกฤษ จึงได้เรียนรู้วิธีการทำแป้งพายแบบตะวันตก แป้งชั้นนอกของขนมเปี๊ยะจึงแข็งกรอบ รสชาติค่อนไปทางตะวันตก นอกจากนี้ อวี้เจินไจ (玉珍齋) ร้านขนมชื่อดังในเขตลู่กั่ง เมืองจางฮั่ว ก็เปิดตัว “เค้กไส้ถั่วแดงขนาดพอดีคำ” (紅豆粒) เพื่อเอาใจชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบรสชาติของถั่วแดง
กรรมวิธีการทำขนมสไตล์ไต้หวันมีความซับซ้อน แต่ก็มีเทคนิคพิเศษที่ทำให้รสชาติขนมมีความเป็นเอกลักษณ์
ความหวานในแบบฉบับของไต้หวัน
แล้วความหวานในแบบฉบับของไต้หวันเป็นยังไงกันแน่? คุณจางจุนเจินให้คำตอบว่า “ฉันคิดว่า ความหวานของไต้หวันมี 2 แบบ แบบแรก ความหวานจากการแบ่งปัน กับอีกแบบหนึ่งคือ ความหวานจากการปกปักรักษาของเทพเจ้า”
ดูเหมือนคุณจางจุนเจินต้องการปกป้องและเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ขนมไต้หวัน เธอกล่าวว่า “แต่ไหนแต่ไรมา ขนมสไตล์ไต้หวันไม่ใช่ให้คุณกินคนเดียวจนหมด แต่ให้หั่นเป็นชิ้น ๆ แล้วแบ่งปันให้แก่ทุกคน” หากลองไตร่ตรองดูก็น่าจะจริง การสั่งทำขนมในสมัยก่อนจะคิดราคาตามน้ำหนักที่ชั่งเป็นกิโลหรือเป็นขีด ก้อนใหญ่ขนาดนี้ กินคนเดียวคงท้องอืดแน่ ๆ
คุณเฉินอิ๋งเจิ้ง (陳穎政) ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านอวี้เจินซิน (裕珍馨) ซึ่งเป็นต้นตำรับขนมเปี๊ยะไส้เนย ในเขตต้าเจี่ย นครไทจง ได้แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับขนมเปี๊ยะว่า ทางภาคกลางของไต้หวันนิยมใช้ขนมเปี๊ยะเป็นขนมแต่งงาน เจ้าภาพจะนำขนมเปี๊ยะไปแจกให้แก่คนทั้งหมู่บ้าน ถือเป็นการแบ่งปันความสุขด้วยการเชิญทุกคนกินของหวาน
คุณจางจุนเจินอธิบายว่า “การถือกำเนิดขึ้นของขนมหลายชนิดเกี่ยวข้องกับการเซ่นไหว้” เธออธิบายต่อว่า ขนมที่ใช้เซ่นไหว้ ถือเป็นสื่อกลางที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า ตามประเพณีดั้งเดิม ขนมบนโต๊ะบูชาในเทศกาลต่าง ๆ ล้วนแฝงไว้ด้วยความหมายของความมั่งคั่งร่ำรวย ความเป็นสิริมงคลและความสุข หลังเซ่นไหว้เสร็จก็จะนำขนมมาแบ่งปันให้แก่ญาติมิตร ประหนึ่งเป็นการแบ่งปันพรจากเทพเจ้า
ของหวานเป็นกุศโลบายทางศาสนาของคนโบราณ วัดกับร้านขนมมักตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน
ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วเขียว รสชาติแห่งความทรงจำที่ยาวนานนับร้อยปี
ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วเขียวหรือภาษาจีนเรียกว่า ลวี่โต้วเพิ่ง (綠豆椪) ตั้งชื่อจากรูปทรงของขนมที่พองตัวขึ้นเมื่อถูกอบด้วยอุณหภูมิสูง (คำว่า 椪 อ่านว่า เพิ่ง ในภาษาฮกเกี้ยนแปลว่า พองตัว มีเสียงและความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า 膨 ที่อ่านว่า เผิง) แต่ต้นกำเนิดของขนมชนิดนี้มาจากความบังเอิญ
ร้านเหล่าเสวี่ยฮัวไจ (老雪花齋) ในเขตเฟิงหยวน นครไทจง เป็นต้นตำรับขนมเปี๊ยะไส้ถั่วเขียว ผู้ก่อตั้งคือคุณลวี่สุ่ย (呂水) หรือเชฟอาสุ่ย ซึ่งสืบทอดฝีมือการทำขนมจากอาจารย์คือคุณเฉินฉู่ (陳踀) ซึ่งเป็นช่างทำขนมจากเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง และยังได้รับเงินทุนสนับสนุนในการเปิดร้านจากคุณเฉินเต๋อ ฉวน (陳德全) คหบดีที่ได้รับการนับหน้าถือตาในเขตเฟิงหยวน คุณลวี่หงเหริน (呂弘仁) ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวเล่าถึงประวัติความเป็นมาของลวี่โต้วเพิ่งให้พวกเราฟัง
ลวี่โต้วเพิ่งเป็นขนมเปี๊ยะสไตล์ไต้หวัน ทำจากแผ่นแป้งที่นวดผสมกับน้ำมันพืช (แป้งชั้นใน) กับแผ่นแป้งที่นวดผสมกับน้ำและน้ำมันพืช (แป้งชั้นนอก) ม้วนเข้าด้วยกันแล้วรีดก้อนแป้ง จนกลายเป็นแผ่นแป้งที่มีหลายชั้น จากนั้นนำไปห่อไส้ขนม ซึ่งประกอบด้วย ถั่วเขียวกวน และหมูพะโล้บด เป็นต้น “เอกลักษณ์ของขนมสไตล์ไต้หวันก็คือ เปลือกบาง ไส้เยอะ ขนมที่เปลือกบางไส้เยอะ ไส้ขนมที่ต้องทำไว้ก่อนจะอยู่ในสภาพที่สุกแล้ว ดังนั้นการทำขนมแบบดั้งเดิมของจีนจะอบแป้งชั้นนอกของขนมเป็นหลัก” ในสมัยโบราณจะอบขนมด้วยเตาถ่านซึ่งควบคุมไฟยาก คนทำขนมจะต้องเฝ้าอยู่หน้าเตาไฟตลอดเวลา และต้องพลิกก้อนขนมไปมาเพื่อให้รับความร้อนอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ “แต่ก็มักจะมีบางก้อนที่ลืมพลิก”
ขนมที่ลืมพลิกจึงได้รับความร้อนเพียงด้านเดียว ทำให้อีกด้านหนึ่งพองขึ้น แป้งชั้นนอกที่ไม่ได้สัมผัสกับถาดอบที่ทำจากเหล็กจะมีสีขาวราวกับหิมะ เชฟอาสุ่ยเห็นว่า รูปลักษณ์ของขนมมีศักยภาพทางการค้า จึงทดลองทำอีกหลายครั้ง เถ้าแก่เนี้ยซึ่งก็คือภรรยาของเชฟอาสุ่ย เห็นรูปทรงของขนมคล้ายกับลูกปิงปอง จึงเรียกมันว่า “ลวี่โต้วเพิ่ง” นับจากนั้นเป็นต้นมาชื่อนี้ก็กลายเป็นที่เลื่องลือระบือไกล ในปี ค.ศ. 1925 (ศักราชไทโชที่ 14 ซึ่งเป็นการนับปีแบบญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นยุคที่ไต้หวันตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น) ลวี่โต้วเพิ่ง ได้เข้าร่วมการประกวด “นิทรรศการขนมไต้หวัน” ที่จัดขึ้นในเมืองไทจง แข่งกับขนมวากาชิหลากหลายชนิดของญี่ปุ่น สุดท้ายสามารถคว้าเหรียญทองแดงมาครอง
ในปัจจุบัน ลวี่โต้วเพิ่งหรือขนมเปี๊ยะไส้ถั่วเขียวเป็นผลิตภัณฑ์ที่ร้านขนมทุกร้านมีวางขาย แต่ละร้านจะมีไส้ขนมที่เป็นเอกลักษณ์และมีเทคนิคการอบขนมของตนเอง สามารถกล่าวได้ว่า ลวี่โต้วเพิ่งเป็นขนมไหว้พระจันทร์สไตล์ไต้หวันที่มีชื่อเสียงที่สุด
ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วเขียวหรือลวี่โต้วเพิ่ง เป็นขนมเปี๊ยะสไตล์ไต้หวันที่ทำจากแผ่นแป้ง ที่นวดผสมกับน้ำมันพืช (แป้งชั้นใน) กับแผ่นแป้งที่นวดผสมกับน้ำและน้ำมันพืช (แป้งชั้นนอก) ม้วนเข้าด้วยกันแล้วรีดก้อนแป้งจนเป็นแผ่นแป้งที่มีหลายชั้น จากนั้นนำไปห่อไส้ขนมซึ่งประกอบด้วย ถั่วเขียวกวน และหมูพะโล้บด เป็นต้น
คุณลวี่หงเหริน ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านเหล่าเสวี่ยฮัวไจเล่าว่า ความจริงแล้วขนมเปี๊ยะไส้ถั่วเขียวเกิดจากความบังเอิญที่ลืมพลิกขนมในเตาอบ
พายสับปะรด ทองคำก้อนเล็ก ๆ ที่สร้างรายได้ให้ แก่ไต้หวัน
พายสับปะรด เป็นขนมที่แฝงไว้ด้วยความหมายของความเป็นสิริมงคล เพราะในภาษาฮกเกี้ยน สับปะรด มีชื่อเรียกว่า ônglâi ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า วั่งไหล (旺來) ในภาษาจีนกลาง ที่แปลว่า ความรุ่งโรจน์ พายสับปะรดเป็นของฝากที่มีชื่อเสียงของไต้หวัน ได้รับฉายาว่า “ทองคำแท่งที่นำมาซึ่งเงินตราต่างประเทศ” ต้นกำเนิดของพายสับปะรดอยู่ที่นครไทจง โดยมีร้านเหยียนซินฟา (顏新發) ร้านขนมอายุร้อยปีเป็นผู้นำมาปรับปรุงและคิดค้นสูตรขึ้นมาใหม่
คุณเหยียนหรงฉิ่ง (顏榮慶) ทายาทรุ่นที่ 4 ของร้านเหยียนซินฟาเล่าว่า ตระกูลของเขาเริ่มทำธุรกิจขนมมาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดคือคุณเหยียนผิ่ง (顏瓶) ต่อมาอากงหรือคุณปู่ คือ คุณเหยียนซู่มู่ (顏樹木) เป็นผู้ริเริ่มปรับปรุงสูตรพายสับปะรดหลังกลับจากการเดินทางไปเรียนการทำขนมที่ญี่ปุ่นจนมีความเชี่ยวชาญ คุณเหยียนหรงฉิ่งอธิบายว่า เดิม พายสับปะรดคือขนมเปี๊ยะแบบโบราณที่ไส้ขนมเป็นสับปะรดกวน คุณปู่ของเขาได้เปลี่ยนแปลงรูปทรงของขนมจากทรงกลมมาเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ จากนั้นได้ใช้แป้งทำขนมคุกกี้ที่มีเนยเป็นส่วนผสมหลักมาทำเป็นแป้งชั้นนอก แต่ไส้ขนมยังคงใช้สับปะรดกวนรวมกับฟักเขียวซึ่งเป็นไส้ขนมเปี๊ยะแบบดั้งเดิม
คุณเหยียนซินผิง (顏欣平) น้องสาวของคุณเหยียนหรงฉิ่ง อธิบายว่า “เนื่องจากเส้นใยสับปะรดค่อนข้างหยาบ รสชาติก็ค่อนข้างเปรี้ยวและบาดลิ้น ในยุคของอากง ผู้คนนิยมรับประทานของที่รสสัมผัสมีความละเมียดละไม ฟักเขียวเป็นส่วนผสมที่ช่วยทำให้ไส้ขนมที่เป็นสับปะรดกวนนุ่มลิ้นและลื่นคอ เป็นรสชาติที่ผู้คนในยุคนั้นชื่นชอบ”
ปี ค.ศ. 2009 การเปิดตัวขึ้นของพายสับปะรดยี่ห้อ Sunny Hills ที่ชูรสชาติอมเปรี้ยวนิด ๆ และเส้นใยธรรมชาติของสับปะรดพื้นเมือง สร้างกระแสใหม่ในตลาดพายสับปะรด คุณเหยียนหรงฉิ่งกล่าวว่า กระแสนิยมนี้ทำให้เขาหลงทางไปพักหนึ่ง ผลิตตามกระแสนิยม แต่ลูกค้าเก่าสะท้อนว่า ยังคงชื่นชอบ “รสชาติหวาน ๆ เนียน ๆ นุ่ม ๆ” แบบดั้งเดิม ทำให้เขามีความมั่นใจที่จะยืนหยัดรสชาติเดิมของครอบครัวต่อไป
คุณเหยียนหรงฉิ่ง ทายาทรุ่นที่ 4 ของร้านเหยียนซินฟา ยังคงยืนหยัดที่จะทำพายสับปะรดรสชาติดั้งเดิมเพื่อเอาใจลูกค้าเก่า
ขนมเปี๊ยะไส้เนยอัดแน่นไปด้วยพรจากเจ้าแม่ม่าจู่
คุณเป็นอีกคนหนึ่งใช่ไหมที่ยังแยกไม่ออกว่า อันไหนคือขนมเปี๊ยะ บิสกิตไส้แบะแซ หรือขนมเปี๊ยะพระอาทิตย์? คุณเฉินอิ๋งเจิ้ง (陳穎政) ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านอวี้เจินซิน (裕珍馨) ร้านต้นตำรับขนมเปี๊ยะไส้เนยบอกกับทีมงานของเราว่า คุณหลินเหิงเต้า (林衡道) นักประวัติศาสตร์ชาวไต้หวันที่ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว เคยวิเคราะห์ไว้ว่า “ขนมเปี๊ยะคืออากงของขนมเปี๊ยะพระอาทิตย์”
จากการสำรวจของคุณหลินเหิงเต้าพบว่า ขนมเซาปิ่งสไตล์ฮกเกี้ยนถูกนำเข้าสู่ไต้หวันโดยบรรพบุรุษ ที่เดินทางข้ามกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากในช่องแคบไต้หวันมายังเกาะไต้หวัน นอกจากได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่มาจู่จากบ้านเกิดของตนเองมาด้วยแล้ว ยังพกขนมเซาปิ่งสไตล์ฮกเกี้ยนที่เป็นของไหว้เจ้าแม่มาจู่ติดตัวมาด้วย เพื่อใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ
เดิมที ขนมเปี๊ยะได้รับความนิยมในพื้นที่เลียบชายฝั่งทางภาคกลาง ต่อมาแพร่เข้าสู่พื้นที่แถบภูเขา อาทิ เขตเฟิงหยวนที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ต่อมาถูกพัฒนาไปเป็นบิสกิตไส้แบะแซ อาจกล่าวได้ว่า ขนมเปี๊ยะพระอาทิตย์มีต้นกำเนิดมาจากบิสกิตไส้แบะแซ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า คุณเว่ยชิงไห่ (魏清海) หรือเชฟอาหมิงเป็นผู้ปรับปรุงสูตรการทำบิสกิตไส้แบะแซ และพัฒนามาเป็น “ขนมเปี๊ยะพระอาทิตย์” ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และกลายเป็นของฝากขึ้นชื่อของนครไทจง
ร้านขนมอวี้เจินซินที่ตั้งอยู่ข้างศาลเจ้าเจิ้นหลันกงในเขตต้าเจี่ย นครไทจง ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1966 คุณเฉินอิ๋งเจิ้งเล่าว่า ความจริงแล้วอากงของเธอ ซึ่งก็คือคุณเฉินจีเจิ้น (陳基振) ไม่มีความรู้เรื่องการทำขนมแต่อย่างใด อาศัยความพยายามในการวิจัยและพัฒนาของคนในตระกูลถึง 3 รุ่น ปัจจุบันขนมเปี๊ยะไส้เนยถูกจัดให้เป็น 1 ใน 3 ของดีประจำเขตต้าเจี่ย
คุณเฉินอิ๋งเจิ้งกล่าวขณะที่ถือขนมเปี๊ยะไส้เนยไว้ในมือว่า “ขนมเปี๊ยะในปัจจุบันเป็นเวอร์ชัน 5.0” แต่ละเวอร์ชันมีวิวัฒนาการอย่างไรบ้าง? เวอร์ชัน 1.0 เป็นขนมเปี๊ยะแบบดั้งเดิมที่คิดราคาตามน้ำหนักของขนม เวอร์ชัน 2.0 แต่ละชิ้นมีขนาดมาตรฐาน เวอร์ชัน 3.0 มีการปรับปรุงสูตรเพื่อเอาใจลูกค้าที่เป็นมังสวิรัติ โดยใช้เนยแทนน้ำมันหมู และนี่ก็คือที่มาของชื่อขนมเปี๊ยะไส้เนย
เวอร์ชัน 4.0 เป็นการก้าวตามการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ตอบสนองความต้องการของผู้คนในยุคปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและไม่พิสมัยรสหวาน โดยมีการใช้โอลิโกแซคคาไรด์ (Oligosaccharide) ที่เป็นสารให้รสหวานแทนน้ำตาลทั่วไป รสชาติไม่เปลี่ยน แต่ช่วยลดภาระให้แก่ร่างกายเพราะให้พลังงานต่ำ ส่วนขนมเปี๊ยะไส้เนยเวอร์ชัน 5.0 เป็นการปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตแป้งชั้นนอก โดยได้รับแรงบันดาลใจจากรังผึ้งที่มีรูปทรงหกเหลี่ยม การปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของแป้งชั้นนอกเป็นรูปทรงรังผึ้ง ช่วยแก้ไขปัญหาแป้งขนมเปี๊ยะที่ร่วนซุยได้
ความจริงการทำแป้งขนมเปี๊ยะสูตรดั้งเดิมจะใช้วัตถุดิบง่าย ๆ ได้แก่ น้ำมันหมู แป้งและแบะแซเท่านั้น แต่การที่ร้านอวี้เจินซิน มุ่งมั่นตั้งใจในการทำขนมเปี๊ยะมากถึงขนาดนี้ก็เพราะ “บทกลอนในใบเซียมซีบทหนึ่งกับเส้งโป้ย* 6 ครั้ง” ในการเสี่ยงทายเมื่อครั้งอดีต จึงได้ก่อตั้งธุรกิจขนมเปี๊ยะอวี้เจินซินขึ้นตามคำมั่นสัญญาที่มีต่อเจ้าแม่มาจู่
(* เส้งโป้ย (聖筊) คือผลของการเสี่ยงทายโดยการโยนไม้ ปั๊วะโป้ยออกมาเป็นคว่ำ-หงาย ซึ่งหมายความว่า เทพเจ้าเห็นด้วย แสดงว่าสิ่งที่ตั้งจิตอธิษฐานจะเป็นไปตามปรารถนา)