คาบสมุทรเหิงชุน ลำนำเพลงเก่าร้องใหม่
ปั่นไปในไต้หวันตามทางหลวงหมายเลข 26
เนื้อเรื่อง‧เซี่ยอี๋ถิง ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧แสงชัย กิตติภูมิวงศ์
กุมภาพันธ์ 2021
00:00
台26線是一條環繞恆春半島的濱海公路,騎行時轉頭一望,淡藍的天空與大海連成一片,另一邊則是高聳亮綠的山際線。騎進小鎮晃晃,像是翻開一頁從未讀過的台灣歷史,多元民族在這塊土地互動,留下珍貴的遺跡與故事。
ทางหลวงหมายเลข 26 เป็นเส้นทางวนรอบคาบสมุทรเหิงชุน ระหว่างปั่นจักรยานหากมองออกไปด้านหนึ่งจะเห็นท้องฟ้าสีคราม ท้องทะเลและแผ่นฟ้าที่เชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน แต่ถ้ามองไปอีกด้านหนึ่งจะเห็นภูเขาเขียวชอุ่มที่สูงตระหง่าน ขณะปั่นจักรยานโยกขาบิดเอวเข้าไปในเมืองเล็ก ก็จะให้ความรู้สึกราวกับเปิดหน้าประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยอ่านมาก่อน ผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ดำรงชีพอยู่ที่นี่ ทิ้งร่องรอยและเรื่องราวที่น่าสนใจไว้มากมาย
การท่องเที่ยวด้วยจักรยานครั้งนี้เริ่มต้นจากเมืองเก่าเหิงชุน กำแพงเมืองทั้ง 4 ด้าน สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง เป็นกำแพงเมืองเก่าแก่สมบูรณ์ที่สุดที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในไต้หวัน คนในท้องถิ่นจะแบ่งเขตในเมืองและนอกเมืองเพื่อใช้ระบุตำแหน่งว่าจะไปที่ไหน หรือใช้ในการบอกทิศทางให้แก่คนต่างถิ่น สิ่งก่อสร้างอายุ 100 กว่าปีนี้ แม้ข้างนอกจะดูเก่าแก่ทรุดโทรม แต่ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในปัจจุบัน
ธรรมชาติแต่ละชุมชนบนคาบสมุทรเหิงชนมีความอุดมสมบูรณ์ ในภาพคือกวางดาวที่สวนสาธารณะเซ่อติ่ง
คนหนุ่มสาวที่ร้าน Lishan Ecotourism
Gift Shop
เมื่อปั่นจักรยานเข้าใกล้ประตูตะวันตกจะเห็นร้าน Lishan Ecotourism Gift Shop (森社場所) สะดุดตาอยู่ริมถนน
Lishan Ecotourism Gift Shop ขายสินค้าและบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวธรรมชาติ ในร้านจำหน่ายของฝาก สินค้าเกษตรของเด่นในคาบสมุทรเหิงชุน ลูกค้าสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับโปรแกรมท่องเที่ยวได้ด้วย ทีมงานนิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ได้เคยมาที่ร้านนี้เมื่อปี 2016 และได้สัมภาษณ์คุณหลินจื้อหย่วน (林志遠) เจ้าของบริษัทหลี่ซาน อีโค (里山生態 – Lishan Eco) ซึ่งได้เล่าเรื่องราวการก่อตั้งและการบริหารร้าน Lishan Ecotourism Gift Shop
บริษัทหลี่ซาน อีโค ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.2012 ตั้งอยู่ในท้องถิ่น 15 ปีแล้ว ได้ช่วยพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว 46 สาย และอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่น 113 คน ให้แก่ชุมชน 11 แห่ง นักท่องเที่ยวที่รับบริการเริ่มจาก 10 กว่าคน ปัจจุบันมีจำนวนหลายพันคน คุณหลินจื้อหย่วนบอกว่า “ยอดรายได้เฉพาะการเข้าชมชุมชนเซ่อติ่ง (社頂) แห่งเดียว ในปีที่แล้วคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านเหรียญไต้หวัน รายได้ไหลเข้าสู่ชุมชนทั้งหมด สามารถเลี้ยงคนรุ่นใหม่ที่กลับมาทำงานในท้องถิ่นได้เป็นจำนวนมาก”
คุณเฉินจวิ้นหรง (陳俊融) ซึ่งรับผิดชอบในการฝึกอบรมมัคคุเทศก์เปิดเผยว่า มัคคุเทศก์ท้องถิ่นจะมีอายุระหว่าง 40-65 ปี พวกเขามีเรื่องเล่าและมีความรู้มากมายเกี่ยวกับท้องถิ่น เมื่อได้รับการฝึกอบรมโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ก็จะช่วยเสริมความรู้ในด้านวิชาชีพซึ่งเป็นส่วนที่ขาดไป ทำให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น
ทีมงานของบริษัทหลี่ซาน อีโค นอกจากช่วยฝึกอบรมชาวบ้านรุ่นอาวุโส ยังได้ร่วมสร้างสรรค์โครงการโดยใช้มุมมองของคนรุ่นใหม่ในการนำเสนอมรดกวัฒนธรรมดั้งเดิม คุณหลินจื้อหย่วนยกตัวอย่างบทเพลงพื้นเมืองบอกว่า “คำร้องบรรยายความเป็นอยู่สมัยก่อน บรรพชนอพยพบุกเบิกไต้หวัน ชีวิตลำบากแร้นแค้น ดีดพิณวงเดือนผ่อนคลายอารมณ์ ซึ่งคนปัจจุบันยากที่จะเข้าใจท่วงทำนองแห่งความเศร้ารันทด” ดังนั้น คุณอวี๋หยางซินผิง (余楊心平) สมาชิกของทีมจึงได้ดัดแปลงบทเพลงพื้นเมือง และร่วมกลุ่มกับคุณป้าทั้งหลายจัดตั้งวงดนตรีขับร้องประกอบการดีดพิณวงเดือน ร่วมแสดงในเทศกาลดนตรี “Hear Hear” ที่คาบสมุทรเหิงชุนด้วย
ในภาพคือ ดักแด้ในถุงเหลืองของผีเสื้อ large tree nymph ในสวนสาธารณะ เซ่อติ่ง
สร้างเมืองเหิงชุน ยกระดับสถานะ
ปั่นจักรยานมุ่งสู่ประตูตะวันตก ค้นหาประวัติศาสตร์การสร้างเมืองเหิงชุนต่อไป
พวกเราได้เชิญผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่าง อาจารย์เนี่ยนจี๋เฉิง (念吉成) มาเล่าประวัติศาสตร์เมืองเก่าเหิงชุนและนำชมสภาพโดยรอบ ห้องทำงานของ
อาจารย์เนี่ยน มีชื่อเรียกว่า “หลางเจี้ยว (瑯嶠)” ซึ่งเป็นชื่อเรียกคาบสมุทรเหิงชุนโดยชนเผ่าไพวันสมัยก่อน อาจารย์เนี่ยนเล่าเรื่องเหิงชุนในมุมมองของชนพื้นเมือง ซึ่งไม่ใช่แค่มุมมองจากชาวฮั่น
หลางเจี้ยว ในสมัยราชวงศ์ชิงถือเป็นเขตภายนอกที่ทางการไม่ใส่ใจดูแล แต่หลังเกิดเหตุชาวต่างชาติใช้อาวุธรุกรานบ่อยครั้ง เช่น เหตุการณ์ Rover Incident และ Mudan Incident เป็นต้น ราชวงศ์ชิงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของที่นี่ จึงได้จัดตั้งหน่วยงานปกครองระดับเมืองขึ้น เสินเป่าเจิน (沈葆楨) ข้าหลวงใหญ่ซึ่งเป็นผู้แทนราชสำนักชิงประจำไต้หวันเห็นว่า สภาพของที่นี่เหมือนเป็นฤดูใบไม้ผลิตลอดทั้งปี จึงเปลี่ยนชื่อเรียก หลางเจี้ยว เป็น เหิงชุน (恆春) ซึ่งแปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ
ตลอดกาล การเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่สะท้อนว่า เหิงชุนได้รับความใส่ใจจากทางการ และเป็นจุดเริ่มต้นที่วัฒนธรรมชาวฮั่นเริ่มหลั่งไหลเข้ามามากขึ้น
อาจารย์เนี่ยนได้นำเอาหนังสือโบราณออกมาชี้ให้ดูแผนที่เทียบเคียงกับสถานที่จริง อธิบายเป็นฉากเป็นตอน “การตั้งเมืองที่เหิงชุน เพราะว่าทำเลดี ข้างหลังมีภูเขา 3 ลูก ด้านซ้ายมีบึงหลงหลวน (龍鑾潭) ด้านขวามีภูเขาหู่โถว (虎頭山) ด้านหน้ามีภูเขาซีผิง (西平山) เป็นแนวกั้นขวาง” ในยุคนั้นผู้มีอำนาจอาศัยอยู่ในเมือง ชาวบ้านทั่วไปอาศัยอยู่นอกเมือง
เมื่ออาจารย์เนี่ยนถูกถามว่า ทำไมรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์มากมาย อาจารย์เนี่ยนตอบปนเสียงหัวเราะว่า “ผมไม่รู้ไม่ได้ สมองผมมีเรื่องราวมากมาย” เมื่อหลายปีก่อน อาจารย์เนี่ยนพบภาพขาวดำปึกหนึ่งในตู้หัวเตียงของคุณแม่ เขามีความอยากรู้เรื่องราวจึงทุ่มเทศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมคาบสมุทรเหิงชุน หลังการค้นคว้าเขาพบว่า ภาพเหล่านั้นเป็นเหตุการณ์ยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน บุคคลในภาพเป็นชาวไต้หวันที่ถูกระดมพลส่งไปสมรภูมิในเอเชียอาคเนย์ กำลังเข้าแถวรวมตัวหน้าศาลาว่าการเหิงชุน ในจำนวนนั้นมีคนหนึ่งเป็นสามีคนแรกของแม่ และอีกคนคือบิดาบุญธรรมของอาจารย์เนี่ยน ซึ่งเป็นผู้ดูแลประภาคารเอ๋อหลวนปี๋ (鵝鑾鼻) เพราะฉะนั้นจึงได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ทำให้รอบรู้ประวัติศาสตร์คาบสมุทรอย่างลึกซึ้งไปโดยปริยาย
ปูบกที่ชุมชนหมั่นโจว
มัคคุเทศก์นำชมระบบนิเวศในสวนสาธารณะ
เซ่อติ่ง
พวกเราปั่นจักรยานไปตามทางหลวงหมายเลข 26 จนถึงสวนสาธารณะเซ่อติ่ง ก่อนจะเข้าร่วมการนำเที่ยวชมธรรมชาติในชุมชน
คุณไล่หย่งหยวน (賴永源) ซึ่งได้รับการขนานนามจากนักท่องเที่ยวว่า ดอกเตอร์ไล่ แนะนำพืชพรรณต่างๆ เชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ฟังรู้สึกคุ้นเคยกับพืชพรรณเหล่านี้ แต่สำหรับพวกเราที่อาศัยอยู่แต่ในเมือง เสมือนเข้าชมอุทยานต้ากวนหยวน รู้สึกว่าทุกอย่างตื่นตาตื่นใจไปเสียทั้งหมด โดยเฉพาะในขณะเดินผ่านช่องแนวปะการังที่แยกจากกัน ทำให้ได้เห็นความอัศจรรย์ที่เกิดจากการบีบอัดตัวของเปลือกโลกเมื่อ 300,000-500,000 ปีก่อน
“นี่คือรอยเท้ากวางดาวใช่หรือไม่” นักท่องเที่ยวถามขึ้น ขณะก้มหัวดูอย่างละเอียด เห็นร่องรอยบนโคลนตม พร้อมคาดหวังอยากเห็นกวางดาวด้วยตาตนเอง พวกเราเดินลัดเลาะตามไปเรื่อยๆ ก่อนจะพบว่ารอยเท้าหายไปในป่าไม้ ขณะที่ผู้คนพากันผิดหวัง คุณไล่ได้พาพวกเราไปยังอีกฟากหนึ่งของป่าไม้ ที่นั่นมีกวาง 2 ตัว เงยหัวขึ้นมาจ้องมองพวกเรา หลายคนรู้สึกตะลึงระคนด้วยความดีใจ และพากันกระซิบบอกว่า อย่าทำให้กวางตกใจ
บริษัทหลี่ซาน อีโค ช่วยอบรมมัคคุเทศก์ภาษาอังกฤษเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในภาพคนซ้ายสุดคือ มัคคุเทศก์ไล่หย่งหยวน แห่งสวนสาธารณะเซ่อติ่ง
นักสำรวจปูบก เจียเล่อสุ่ย
ปั่นจักรยานต่อมุ่งลงไปทางใต้
ในยามค่ำคืน พวกเราไปชมดาวที่ชายหาดเจียเล่อสุ่ย (佳樂水) ได้พบกับชายคนหนึ่งสวมไฟฉายคาดหัว มือหนึ่งถือคีมคีบยาว อีกมือหนึ่งหิ้วถังน้ำ กำลังก้มศีรษะสำรวจบนพื้น เมื่อเข้าไปทักทายจึงได้สังเกตเห็นว่าบนเสื้อของเขามีรูปปู ซึ่งชายผู้นี้คือ คุณกู่ชิงฟาง (古清芳) เป็นนักสำรวจปูบก
แต่ก่อนเขาเป็นพรานล่าเหยี่ยวตัวฉกาจ ทระนงในความแม่นปืนของตัวเอง เขาเคยสร้างความปวดหัวให้แก่สำนักงานบริหารอุทยานแห่งชาติอย่างมาก ทุกครั้งที่เสียงปืนดังขึ้นก็ไม่เคยจับตัวเขาได้ ต่อมาคุณกู่ชิงฟางตระหนักว่าคนในบ้านรู้สึกกังวลมาก โดยเฉพาะลูกสาวซึ่งได้เรียนเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติจากที่โรงเรียน ในใจเขารู้สึกสับสน ทำให้ตัดสินใจแขวนปืนเพื่อไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกจับกุม
ในตอนแรก คุณกู่บอกว่ารู้สึกคันไม้คันมือเป็นอย่างมาก แต่หลังผ่านการต่อสู้ทางจิตใจ เขาเอาชนะความอยากในการออกล่าได้ และหันมาเป็นอาสาสมัครอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเต็มตัว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาได้ติดตามนักวิชาการไปที่เกาะคริสต์มาสของออสเตรเลีย และได้ติดต่อแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยเพื่อเรียนรู้วิธีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันเขาได้ทุ่มเทกับการสำรวจและอนุรักษ์ปู แม้กระทั่งนักศึกษาปริญญาโทยังได้ตั้งชื่อปูสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบว่า ปูตระกูลกู่ (ku) เพื่อแสดงความขอบคุณต่อการอุทิศตนเพื่อสร้างคุณประโยชน์ด้านนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การปั่นจักรยานบนทางหลวงหมายเลข 26 ช่วงเอ๋อหลวนปี๋ถึงเจียเล่อสุ่ย จะเห็นสองข้างทางมีแต่ไม้พุ่มและหญ้าที่ทนความแห้งแล้งได้ เนื่องจากอยู่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกและมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน
วัฒนธรรมหลากหลายในแถบชายฝั่งตะวันออก
ที่ตำบลหมั่นโจว (滿州鄉) มีเส้นทางโบราณสายหนึ่งที่เชื่อมต่อระหว่างหมั่นโจวกับฉาซาน (茶山) เรียกกันว่า “ทางโบราณหมั่นฉา” (滿茶) ในอดีตชนพื้นเมืองเผ่าเซอกาลุ (Seqalu) ใช้เส้นทางนี้ไปจับปลาที่ชายฝั่ง ในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน นักเรียนประถมจะต้องเดินผ่านทางนี้ไปเรียนภาษาญี่ปุ่น ดังนั้น เส้นทางนี้จึงถูกเรียกว่า “ทางจับปลา” และ “ทางนักเรียน” ด้วย ในสมัยญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ทั่วประเทศมีโรงเรียนญี่ปุ่น 14 แห่ง หมั่นโจวถือเป็นแห่งแรกที่มีการจัดตั้งโรงเรียนญี่ปุ่น ในตอนนั้นผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเมืองเหิงชุนก็คือ ซางาระ นางัต
ซึนะ (Sagara Nagatsuna) อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยครูโอกินาวา แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นในการให้การศึกษาแก่ชนพื้นเมือง เพื่อกลืนกลายทางวัฒนธรรมอย่างจริงจัง
ปั่นจักรยานมุ่งเหนือต่อไปยังชุมชนซวี่ไห่ (旭海) ไปสัมผัสวัฒนธรรมชนพื้นเมืองที่นั่น
พานเฉิงชิง (潘呈清) ประธานสมาคมพัฒนาชุมชนซวี่ไห่บอกว่า “ในช่วงฤดูหนาว มีผู้ปั่นจักรยานมาที่นี่มากมายเพื่อแช่น้ำแร่ เสียเงินครั้งละ 150 เหรียญไต้หวันเท่านั้น ถือว่าราคาถูกมาก” ในปีค.ศ.1887 จาการุชิ กุริ บุนเกียต (Jagarushi Guri Bunkiet) หัวหน้าเผ่าเซอกาลุ (Seqalu) ได้พานักสำรวจชาวอังกฤษ จอร์จ เทย์เลอร์ (George Taylor) มายังเมืองไถตง ระหว่างทางได้พบว่ามีน้ำแร่ไหลออกมาจากร่องหิน ต่อมา มีชาวบ้านเข้ามาตั้งรกรากและพัฒนาจนกลายเป็นเขตน้ำแร่ไปในที่สุด คุณพานเฉิงชิงบอกว่า เนื่องจากโรงเรียนประถมอยู่ใกล้ธารน้ำแร่ บรรดาคุณแม่จะบอกให้เด็กๆ อาบน้ำแร่ก่อนกลับบ้าน ดังนั้น ก่อนออกจากบ้านในตอนเช้า จึงมีนักเรียนหัวใสพากันทาแชมพูติดไว้บนเส้นผม เมื่อเลิกเรียนแล้วก็กระโดดลงลำธารอาบน้ำ สระผมได้เลย
จุดสุดท้าย พวกเราไปที่ทางโบราณ Alangyi มีมัคกุเทศก์ท้องถิ่นอย่างคุณหรังหรั่ง (穰懹) เป็นผู้นำชม ก่อนขึ้นภูเขาจะต้องผ่านชายหาดลี่ทัน (礫灘) ความยาว 750 เมตร คลื่นจากมหาสมุทรแปซิฟิกกระทบเข้าฝั่งเสียงดัง ไม่ขาดสาย คุณหรัง
หรั่งบอกว่า ในแต่ละฤดูกาล โขดหินจะถูกคลื่นซัดสาดจนเกิดสภาพที่แตกต่างกัน และมีขยะล่องลอยอยู่ในทะเลถูกซัดเข้ามาหาฝั่งในจุดที่ต่างกันด้วย
เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง พวกเรามาถึงจุดสูงสุด มองลงไปเห็นเต่า 2 ตัวลอยอยู่ในทะเลสีคราม คุณหรังหรั่งพูดติดตลกว่า “การจะถ่ายรูปที่นี่ให้ดูน่าเกลียด เป็นเรื่องยากมาก”
มองไปในท้องทะเลกว้างใหญ่ นึกทบทวนเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ได้เห็นได้ฟังในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกว่า ความงดงามของคาบสมุทรเหิงชุน ไม่เพียงแค่ภูเขาที่สูงใหญ่ ท้องทะเลอันกว้างไกล ยังมีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์อยู่ร่วมกันและคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ล้ำค่า สร้างให้พื้นที่แห่งนี้มีเอกลักษณ์และมนต์เสน่ห์อย่างไม่เสื่อมคลาย
ชายหาดเจียเล่อสุ่ยมีชุมชนน้อย บรรยากาศมืดมิดเหมาะกับการชมดาว
ทางโบราณ Alangyi เชื่อมระหว่างตำบลต๋าเหริน (達仁) เมืองไถตง และ ชุมชนซวี่ไห่ (旭海) เมืองผิงตง เป็นหนึ่งในเส้นทางส่วนน้อยที่ยังไม่มีการสร้างทางรถยนต์ (ภาพ: จวงคุนหรู)
บนทางโบราณ Alangyi ชมภาพสวยงามตระการตาของ มหาสมุทรแปซิฟิกในมุมมองใกล้ชิด