ความอลังของใบเมเปิลสีแดง
กับทริปขี่จักรยานท่องไปตามขุนเขา
เนื้อเรื่อง‧เจิงหลันสู ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧ธีระ หยาง
ตุลาคม 2020
騎行宜蘭至梨山的台七甲線,翻過思源埡口後,便是從宜蘭進入了台中,從46K還淋著大雨,又溼又冷。往前踩踏到49K,卻是晴空萬里,從冷風刺骨到風和日暖,短短不到十分鐘,人生的經歷也不過如此劇烈!
เมื่อขี่จักรยานจากอี๋หลานไปยังภูเขาหลีซานตามทางหลวงหมายเลขไถ 7A หลังผ่านจุดที่เรียกว่า ซือหยวนย่าโข่ว (思源埡口) ไปแล้ว ก็จะข้ามจากอี๋หลานเข้าสู่ไทจง จากกิโลเมตรที่ 46 เรายังเปียกปอนและหนาวเหน็บจากสายฝนที่โปรยปรายลงมาอยู่เลย แต่เมื่อมาถึงกิโลเมตรที่ 49 กลับได้พบกับท้องฟ้าอันแจ่มใส จากลมเย็นอันเหน็บหนาวกลายมาเป็นสายลมอันอบอุ่น ในช่วงเวลาแค่เพียงไม่ถึง 10 นาที ทำให้อดนึกย้อนไม่ได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคนเรา ก็มักจะเป็นอะไรที่ผันผวนในแบบเดียวกันนี้แหละ
ทริป “ขี่ไปในไต้หวัน” ของเราในครั้งนี้ เริ่มต้นจากตำบลต้าถง ในเมืองอี๋หลาน โดยเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข ไถ 7A โดยมีแสงแดดอ่อนๆ ของฤดูหนาว กับทิวเขาเขียวขจีและแม่น้ำหลันหยางซีอันกว้างใหญ่คอยอยู่เคียงข้าง ขี่ไปได้เพียง 2 กิโลเมตร รู้สึกว่าเพิ่งจะทำการอบอุ่นร่างกายเท่านั้น ก็มาถึงชีหลันซานจวง (Cilan Resort) ซึ่งเป็นแหล่งที่มีต้นสนพันปีอยู่รวมกันมากที่สุดในทวีปเอเชีย
ต้นสนพันปีแห่งชีหลัน ตระหง่านสู้ลมยืนยงสู้ฟ้า
อุทยานต้นสนพันปีในเขาชีหลันซานที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเทือกเขาเสวี่ยซาน มีป่าสนพันปีที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 15,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 150 ไร่) ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันได้ยกให้เป็นจุดที่มีศักยภาพที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จึงถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องแวะไปชมให้ได้บนทางหลวงหมายเลข ไถ 7A และเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้สัมผัสกับผืนป่าแห่งนี้อย่างใกล้ชิดคณะกรรมการกิจการทหารผ่านศึกจึงได้ทำการขยายเส้นทางมู่หม่าเต้าที่เดิมทีใช้สำหรับการขนไม้ในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวันให้กลายเป็นทางเดินสำหรับใช้ในการขึ้นเขาพร้อมทั้งตั้งชื่อให้กับต้นสนพันปีแต่ละต้นด้วยการนำชื่อของเหล่านักปราชญ์เมธีและบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่มีอายุใกล้เคียงกับต้นไม้แต่ละต้นมาใช้ในการตั้งชื่อเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน
เมื่อเดินขึ้นบันไดไประยะหนึ่ง ก็จะมาถึงต้นสนไต้หวัน (Taiwan Cypress) ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเขตสนพันปีที่มีชื่อว่า “ขงจื๊อ” ต้นสนไซเปรสแดงที่มีอายุมากกว่า 2,500 ปีต้นนี้ ขณะที่ยังเป็นต้นอ่อนอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่ขงจื๊อมีชีวิตอยู่ และบังเอิญเป็นอย่างยิ่งว่า ที่อยู่ด้านหน้าของต้นสนโบราณต้นนี้ มีเถาใหญ่ๆ ของต้นไฮเดรนเยีย (Hydrangea integrifolia) งอกงามอยู่ ทำให้เมื่อมองดูแล้ว ช่างคล้ายกับเป็นไม้เท้าของขงจื๊อจริงๆ โดยในบริเวณนี้ยังมีต้นสนพันปีที่เส้นรอบวงมีความยาวมากถึง 20 เมตร และมีลักษณะแปลกตาเพราะเกิดการผุกร่อนที่ช่วงล่างของลำต้น จนทำให้กลายเป็นช่องโหว่ซึ่งดูแล้วเหมือนกับว่าต้นไม้ยืนอยู่บนขาสองข้าง และด้วยความที่สนพันปีต้นนี้เริ่มแตกหน่อกลายเป็นต้นอ่อนในรัชสมัยของจักรพรรดิจิ่งตี้แห่งราชวงศ์ฮั่น (ระหว่าง 157 – 141 ปีก่อนคริสตกาล) จึงถูกตั้งชื่อว่าต้นซือหม่าเชียนอันเป็นชื่อของเป็นนักประวัติศาสตร์ชื่อดังในสมัยนั้นซึ่งเป็นผู้ที่เคยถูกลงทัณฑ์อย่างหนักเนื่องจากพยายามแก้ต่างให้กับแม่ทัพหลี่หลิง
พื้นที่แถบนี้คือบริเวณของสายหมอกที่มีความชื้นสูงที่สุดในไต้หวัน ทำให้บนต้นสนพันปีมีต้นมอสและไลเคนขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก และช่วยเพิ่มความงดงามอันละเมียดให้กับภาพที่อยู่เบื้องหน้าไม่น้อย มูลสัตว์ขนาดต่างๆ ซึ่งกองอยู่ตามทางเดิน ทำให้เราพอจะคาดเดาได้ว่าเส้นทางสายนี้เป็นทางเดินของสัตว์ป่า เช่น แพะป่า หรือ เก้งจีน ด้วยเช่นกัน ต้นเทพทาโรอันล้ำค่าคืออาหารสุดโปรดของผีเสื้อหางติ่งมาลาโฮ (Papilio maraho) ซึ่งเป็นพันธุ์หายากที่มีเฉพาะในไต้หวัน ก็มีให้เห็นอยู่ในป่าโบราณอันเงียบสงบแห่งนี้ การอยู่ร่วมกันของป่าไม้ใบกว้างและป่าสน ทำให้เกิดเป็นความหลากหลายของระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ การมีเวลาเยือนที่นี่เพียงสั้นๆ ใน 2 ชั่วโมง ทำให้เรารู้สึกว่ายังดื่มด่ำกับธรรมชาติได้ไม่เต็มอิ่มเลย
ฟ้าหลังฝนอันสดใสกระจ่างตา
เมื่อเราขี่จักรยานต่อไปจนถึงกิโลเมตรที่ 23 ก็เริ่มมีเม็ดฝนโปรยปรายลงมา เส้นทางเริ่มคดเคี้ยวมากขึ้น แถมยังต้องคอยหลบรถขนกะหล่ำปลีที่ขนสินค้าลงเขาอยู่เป็นระยะ ถือเป็นด่านทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกายที่แฝงไว้ด้วยอันตรายไม่น้อยเลยทีเดียว
เราหยุดพักชั่วคราวที่ชุมชนซื่อจี้ปู้ลั่ว (Qalang Skikun) ที่นี่เราได้พบกับคุณเฉินจงลี่ (陳忠利) ผู้ประพันธ์หนังสือ Taiwan: At Its Most Beautiful from a Bicycle โดยคุณเฉินจงลี่รับหน้าที่เป็นไกด์พา Ciprut Ethan และ Edo Ganot สองหนุ่มชาวอิสราเอล และ Atsushi Haruta อีกหนึ่งหนุ่มจากญี่ปุ่น ที่ต่างก็ตั้งใจมาขี่จักรยานและเดินเขาท่องเที่ยวในไต้หวันโดยเฉพาะ พวกเขาเริ่มต้นขี่จากไทเปไปจนถึงอู่หลิ่งที่อยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเล 3,275 เมตรในเขตไทจง ในทริป 3 วันของพวกเขา ได้รวมถึงการเดินเขาในแถบทะเลสาบชุ่ยฟงหูบนภูเขาไท่ผิงซานและการปีนยอดตะวันออกของภูเขาเหอฮวนซาน ซึ่งถือเป็นโปรแกรมสำหรับนักผจญภัยมืออาชีพจริงๆ เฉินจงลี่ชี้ว่า ชาวต่างชาติที่ตั้งใจมาขี่จักรยานเที่ยวในไต้หวันเหล่านี้ ถ้าขี่ในเส้นทางเลียบริมทะเลก็เพื่อชื่นชมกับทิวทัศน์อันงดงามของภูเขาและทะเล แต่หากเลือกขี่ในเส้นทางภูเขาสูงแล้ว ต่างก็มีเป้าหมายที่ต้องการเอาชนะตัวเอง พร้อมดื่มด่ำไปกับความงามอันสุดยอดของไต้หวันด้วย
แม้แต่นักขี่จักรยานท่องเที่ยวมืออาชีพยังอยู่บนทางหลวงหมายเลขไถ 7A ทำให้เรามีกำลังใจที่จะขี่จักรยานต่อไป เมื่อมาถึงชุมชนหนานซานปู้ลั่ว (Pyanan) บนกิโลเมตรที่ 29 ในเวลา 9 โมงเช้า เราก็ได้เจอกับสายหมอกที่ปกคลุมไปทั่ว ตลอดทางยังเห็นไร่กะหล่ำปลีเรียงรายอยู่เป็นระยะ ที่นี่คือแหล่งปลูกกะหล่ำปลีภูเขาสูงที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน
เมื่อขี่จักรยานขึ้นไปเรื่อยๆ เส้นทางอันคดเคี้ยวและความลาดชันทำให้ทั้งร่างกายและจิตใจเริ่มสัมผัสได้ถึงความอ่อนล้า ทำให้ยิ่งขี่ยิ่งช้า และต้องหอบหายใจเป็นระยะ ก่อนที่จะมาถึงกิโลเมตรที่ 46 ของทางหลวงสาย 7A ซึ่งก็คือซือหยวนย่าโข่ว (Siyuan Pass) ที่ถือเป็นสันปันน้ำของแม่น้ำสองสายคือ แม่น้ำหลันหยางซีและแม่น้ำต้าเจี่ยซี และเป็นจุดที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพัดพาเอาความชื้นมาจากทะเลเข้ามาในบริเวณนี้ ทำให้ซือหยวนย่าโข่วกลายเป็นเสมือนอุโมงค์ลมที่มีลมกระโชกแรง สายลมอันหนาวเหน็บเมื่อบวกเข้ากับความเร็วของรถตามเส้นทางลงเนินและสายฝนที่โปรยปรายลงมา ทำให้เรารู้สึกหนาวจนตัวสั่นกันเลยทีเดียว
เมื่อผ่านซือหยวนย่าโข่วมาแล้ว ก็จะเข้าสู่เขตลุ่มน้ำต้าเจี่ยซีในไทจง บนกิโลเมตรที่ 48.5 เรายังคงต้องขี่จักรยานฝ่าสายฝน แต่เมื่อถึงกิโลเมตรที่ 49 สายหมอกก็หายไป ถนนแห้งสนิท และเมื่อเราปล่อยให้รถจักรยานไหลลงเนินไปเรื่อยๆ ก็ได้พบกับแสงแดดแล้ว ต้นไม้เขียวขจีห้อมล้อมอยู่รอบกาย โดยมีทั้งต้นเมเปิลและต้นซากุระดอยเรียงรายตลอดทาง จากเส้นทางที่ต้องฝ่าลมฝนมาสู่ฟ้าหลังฝนอันสดใส ทำให้เราเหมือนได้อบซาวน่ามาพักใหญ่ ก่อนที่ความรู้สึกอันสดใสและเบิกบานจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน อันถือเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของเฉินจงลี่ นักเขียนและนักขี่จักรยานท่องเที่ยวที่ว่า “ไต้หวันจะสวยที่สุดเมื่อขี่จักรยานเที่ยวชม” ได้เป็นอย่างดี
ฟ้าสีคราม ขุนเขาเขียวขจี และใบไม้สีแดง
จากกิโลเมตรที่ 52.5 เราเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข จง 124 เพื่อมุ่งหน้าสู่ฟาร์มอู่หลิง ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าคือ มวลหมู่ดาวเรืองสีเหลืองสดใส ตัดกับดอกสีม่วงของต้นเม็กซิกันเสจ และทุ่งผักกาดก้านขาวที่ออกดอกเหลืองอร่าม ภาพที่เห็นจากกล้องของเรา มีแบ็กกราวด์เป็นขุนเขาสูงตระหง่าน กับสีเหลืองทองของต้นสนผลัดใบ (Bald Cypress) ที่ขึ้นเรียงรายอยู่ เมื่อตกแต่งด้วยบ้านสีอิฐหลังเล็กๆ ทรงสามเหลี่ยมที่อยู่ในบริเวณที่ตั้งแคมป์ ทำให้กลายเป็นภาพที่งดงามราวกับภาพวาด จนทำให้เราอดไม่ได้ที่จะหยุดการขี่จักรยานลงชั่วคราว เพื่อดื่มด่ำไปกับทิวทัศน์ที่มองเห็นอยู่ตรงหน้า
ฟาร์มอู่หลิงที่เริ่มจากการเป็นไร่กะหล่ำปลี เดิมทีก่อตั้งขึ้นเพื่อที่จะผลิตอาหารป้อนให้กับเหล่าทหารผ่านศึกที่มาทำงานตัดทางหลวงข้ามเกาะ แต่หลังจากที่มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเสวี่ยป้าขึ้นในปี 1992 ฟาร์มอู่หลิงก็เริ่มเข้าสู่เส้นทางสายอนุรักษ์ธรรมชาติด้วยการเปลี่ยนจากการเพาะปลูกพืชไร่มาเป็นปลูกป่าแทน โดยไม่ปลูกกะหล่ำปลีอีกต่อไป แต่ยังคงปลูกชาภูเขาสูง แอปเปิล และลูกท้อ เพื่อสืบทอดหน้าที่แห่งประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
เต้นแทงโกกับลิง การหาจุดสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับระบบนิเวศ
ในช่วงหลายปีมานี้ ลิงแสมไต้หวันได้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วในแถบฟาร์มอู่หลิง พวกมันมักจะมาขโมยลูกท้อและแอปเปิลที่เหล่าเกษตรกรปลูกขึ้นมาอย่างยากลำบาก แถมยังถอนต้นทิวลิป กว่า 9,600 ต้นที่เพิ่งปลูกเสร็จขึ้นมา เพราะเข้าใจผิดคิดว่ารากของทิวลิปคือหัวมัน ทำเอาเหล่าคนทำงานทั้งหลายถึงกับอยากจะร้องไห้ออกมาเมื่อเห็นภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งในปี 2016 ฝูงลิงได้สร้างความเสียหายทางการเกษตรมากกว่า 6 ล้านเหรียญไต้หวันเลยทีเดียว
เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการเพาะปลูก คุณหยวนถูเฉียง (袁圖強) ผู้อำนวยการฟาร์ม ได้เริ่มใช้วิธี “เต้นแทงโกกับลิง” ขึ้น ด้วยกลยุทธ์ “เอ็งมา ข้าถอย” โดยเลิกปลูกผลผลิตทางการเกษตรที่ลิงชอบกิน เปลี่ยนมาปลูกในสิ่งที่ลิงไม่ชอบกินแทน ในปี 2014 ทางฟาร์มได้เริ่มปลูกดอกเบญจมาศก่อนจะพบว่า ลิงไม่ชอบกลิ่นของดอกไม้ชนิดนี้จึงไม่กิน ทำให้มีการปลูกเบญจมาศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนได้ผลผลิตมากถึง 500 กิโลกรัมในปี 2019
คุณหวังเหรินจู้ (王仁助) หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรชี้ว่า เนื่องจากบนภูเขาสูง ความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนจะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ในช่วงเวลากลางวัน พืชจะได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตที่มาพร้อมกับแสงแดดในปริมาณมาก ประกอบกับน้ำที่ใช้ในการรดก็เป็นน้ำบริสุทธิ์ที่มาจากภูเขาเสวี่ยซาน ทำให้เบญจมาศของที่นี่มีกลีบดอกที่ใหญ่ และมีสีสันสดใส โดยในการไปจัดแสดงในนิทรรศการครั้งหนึ่ง ดอกเบญจมาศของฟาร์มอู่หลิงเคยถูกใส่ร้ายว่าพ่นสีและฉีดฮอร์โมนจนทำให้สีสันสวยงามสะดุดตา เจ้าหน้าที่ของฟาร์มอู่หลิงยังพูดเล่นกับเราว่า “หากมีการพ่นยา รับรองว่าปลาแซลมอนไต้หวัน (Oncorhynchus masou formosanus) ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำชีเจียวันคงจะลอยขึ้นมาหมดแล้ว”
เมื่อพูดถึงปลาแซลมอนไต้หวันที่ถือเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเสวี่ยป้า หลังผ่านการอนุรักษ์และฟื้นฟูมาเป็นเวลาถึง 20 ปี ก็ไม่ได้มีการปล่อยปลาลงในแม่น้ำชีเจียวันอีกแล้วตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน ปัจจุบัน ปริมาณปลาแซลมอนไต้หวันในแม่น้ำมีจำนวนที่เสถียรเป็นอย่างมาก ในการนับจำนวนเมื่อปีค.ศ.2019 มีประมาณ 5,800 กว่าตัว ศูนย์ระบบนิเวศปลาแซลมอนไต้หวันมีความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก จึงพยายามให้ความช่วยเหลือปลาแซลมอนไต้หวันที่กลัวร้อนแต่ไม่กลัวหนาวเหล่านี้ ให้ว่ายออกจากแม่น้ำชีเจียวัน ไปยังแม่น้ำหลัวเย่เหว่ยซีและแม่น้ำเหอฮวนซี งานในการอนุรักษ์จึงยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้
ภายใต้ท้องฟ้าสีครามและแสงแดดอันแรงกล้าที่แผดเผา เราขี่จักรยานไปจนถึงทางขึ้นภูเขาเสวี่ยซาน จากจุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบอันงดงามตระการตาของยอดเขาเสวี่ยซานและแนวสันเขาทางตอนเหนือไปจนถึงภูเขาต้าป้าเจียนซานรวมถึงเขาหนานหูต้าซาน ไม่นึกเลยว่าการเดินทางเที่ยวไปในเขตขุนเขาเพื่อสัมผัสกับความอัศจรรย์ อันตราย สูงตระหง่าน และตระการตา จะมารวมอยู่ในที่เดียว ณ ฟาร์มอู่หลิงแห่งนี้
เส้นทางโบราณของนักล่าจากเผ่าอตายาล
บนเส้นทางสู่ภูเขาหลีซาน เราได้ผ่านหมู่บ้านของชนเผ่าอตายาลคือชุมชนหวนซาน (Sqoyaw) และชุมชนเจียหยาง (Slamaw) ภาพของทิวทัศน์สองข้างทางถูกแทนที่ด้วยมวลหมู่ต้นแพร์และต้นพลับที่ปลูกเรียงรายกันอยู่ ทีมงานของไต้หวันพาโนรามาได้เดินทางไปหาคุณจางโหย่วเหวิน (張有文 - Buyang Mekax) ซึ่งเป็นผู้อาวุโสของชนเผ่าอตายาล ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารจัดการอุทยานท่องเที่ยวซานซาน เพื่อขอให้ช่วยนำทางและพาเราไปเที่ยวชมดินแดนลึกลับของหินบะซอลต์ในชุมชนซงเม่า (Tabuk) และทางเดินป่าโซวลู่
จางโหย่วเหวินขี่รถจักรยานยนต์นำพวกเราไปยังทางเดินป่าโซวลู่ ซึ่งในอดีตเป็นเส้นทางที่ชนเผ่าพื้นเมืองใช้ในการล่าสัตว์ พวกเราเลี้ยวออกจากทางหลวงหมายเลขไถ 7A บริเวณกิโลเมตรที่ 66.5 เข้าสู่จุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินเขาต้าเจี้ยนซาน ทางที่ปูด้วยกรวดก้อนเล็กๆ ถือเป็นสิ่งที่เหมาะมากสำหรับการขี่จักรยานบนภูเขา และยังมีทางอีกช่วงหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสกับความหนานุ่มของใบสนที่ร่วงหล่นอยู่เต็มไปหมดราวกับขี่จักรยานอยู่บนพรม เราเดินทางไปต่อจนกระทั่งถึงจุดที่เคยเป็นสถานที่เกิดเหตุทหารญี่ปุ่นสังหารหมู่ชนเผ่าพื้นเมืองเมื่อประมาณปี 1920 ตลอดทางเราได้มีโอกาสก้มมองทิวทัศน์อันงดงามของแนวหุบเขาเลียบแม่น้ำต้าเจี่ยซี และแล้วเราก็มาถึงดินแดนลึกลับแห่งหินบะซอลต์ที่รออยู่ข้างหน้า เมื่อลัดเลาะไปเรื่อยๆ ตามทางเล็กๆ ที่มีความชันไม่น้อย ก็จะลงไปจนถึงในหุบเขาด้านล่าง จางโหย่วเหวินหยิบเอาฮาร์โมนิกาออกมาเป่า ก่อนจะเล่าประวัติความเป็นมาในการถือกำเนิดของชาวเผ่า
อตายาล ที่มีอยู่ถึง 4 แบบ 4 เรื่องให้เราฟัง แต่เรื่องราวที่สร้างความประทับใจให้กับเรามากที่สุด กลับเป็นเรื่องของประสบการณ์ ที่พระเจ้าได้ช่วยชีวิตของเขาเอาไว้
เมื่อเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว (2019) จางโหย่วเหวินได้เดินทางมาตกปลาที่นี่ ก่อนจะตกลงไปในหุบเขาด้านล่างที่มีความลึกประมาณ 70 เมตร เราสัมผัสได้ถึงร่องรอยแห่งความกลัวของเขาขณะที่เล่าให้เราฟังว่า “ตอนนั้นรอบๆ ตัวมีแต่หินแหลมๆ ผมโชคดีมากที่หล่นลงไปบนแท่นหินที่มีเพียงแค่จุดเดียวตรงนั้นเท่านั้น หลังจากที่ฟื้นคืนสติ จึงอธิษฐานขอให้พระเจ้าคุ้มครอง ตอนนั้นรู้สึกแต่เพียงว่าเจ็บไปทั้งตัว โทรศัพท์ก็ไม่ได้พกไป ในภูเขาก็ไม่มีคน จึงต้องใช้เวลาถึงสองชั่วโมงในการคลานออกมาเป็นระยะทางถึง 150 เมตรเพื่อขอความช่วยเหลือ” และหลังจากที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว ก็ตรวจพบว่ากระดูกซี่โครงของเขาหักถึง 5 ซี่
หลังจากได้ฟังเรื่องราวเฉียดตายของจางโหย่วเหวินแล้ว ทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าและความทรหดของชีวิต ทำให้เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางของทางหลวงสายไถ 7A ที่โรงแรมหลีซานปินก่วน (Lishan Guesthouse) แล้ว เรายังคงรู้สึกว่าการเดินทางของเรายังไม่จบลงเพียงแค่นี้ เพราะแม้เราจะได้ดื่มด่ำไปกับจิตวิญญาณของต้นไม้พันปี ได้อยู่ในอ้อมกอดขุนเขาแมกไม้อันงดงาม รวมทั้งได้รับพลังบวกจากธรรมชาติอย่างเปี่ยมล้น หากแต่เราก็ยังคงรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย ที่จะได้วางแผนการเดินทางในทริปถัดไป