ฮัลโหล! ลิตเติ้ล มะนิลาแห่งไทเป
เปิดประตูวิเศษไปสู่ฟิลิปปินส์
เนื้อเรื่อง‧ซูลี่อิ่ง ภาพ‧หลินหมิ่นเซวียน แปล‧แสงชัย กิตติภูมิวงศ์
สิงหาคม 2023
00:00
日光煦暖的早晨,林蔭遮天的中山北路三段,湧現了許多成群結伴的異國臉孔,他們打扮得光潔亮眼,口裡穿插著他加祿語與英語,賣店與攤商兜售著平時不常見的南洋貨品與小吃,氣氛閒適又溫馨。
ในเช้าวันที่แดดจ้า บนถนนจงซานเป่ยลู่ ตอนที่ 3 ซึ่งมีต้นไม้ปกคลุมร่มเย็น ผู้คนซึ่งใบหน้าบ่งบอกว่าเป็นชาวต่างชาติปรากฏตัวเป็นกลุ่ม ๆ พวกเขาแต่งตัวสะอาดสะอ้านด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส พูดจาภาษาตากาล็อกสลับกับภาษาอังกฤษ ร้านค้าและแผงลอยในละแวกนี้ขายสินค้าอาเซียนที่ไม่ค่อยพบเห็นได้ทั่วไป บรรยากาศเปี่ยมไปด้วยความผ่อนคลายและแฝงด้วยความอบอุ่น
ที่นี่คือ "ลิตเติ้ลมะนิลาแห่งไทเป" ตั้งอยู่บริเวณถนนจงซานเป่ยลู่ (中山北路) ตอนที่ 3 เริ่มจากแยกถนนหมินจู๋ตงลู่ (民族東路) ไปจนถึงช่วงกลางระหว่างแยกถนนหนงอัน (農安) และแยกถนนเต๋อหุ้ย (德惠) สถานที่รู้จักกันดีในละแวกนี้ คือ โบสถ์คาทอลิก St. Christopher, King Wan Wan Shop Mall, ซูเปอร์มาร์เก็ตแบบเชนสโตร์รายใหญ่ 2 ร้านคือ EEC และ RJ และยังมีร้านค้ากับร้านอาหารฟิลิปปินส์กว่า 100 แห่ง รวมตัวกันอยู่ที่นี่
ลิตเติ้ลมะนิลาแห่งไทเป เป็นสถานที่ในไต้หวันที่มีมนต์เสน่ห์ของวัฒนธรรมฟิลิปปินส์มากที่สุด ในภาพเป็นการจัดงาน MassKara Festival ในย่านลิตเติ้ลมะนิลา (ภาพโดย หลินเก๋อลี่)
เพื่อไปสัมผัสประสบการณ์เชิงลึก เราได้ขอให้คุณหวงฉีหนี (黃琦妮) ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จากฟิลิปปินส์เป็นผู้นำทาง เธออาศัยอยู่ในไต้หวันมาเกือบ 16 ปีแล้ว และเป็นผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มโซเชียล "Hello PhilTai (PhilTai The Voice)" โดยเธอมีความเคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นในหมู่ชุมชนชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวันและคุ้นเคยกับลิตเติ้ลมะนิลาเป็นอย่างดี
มองชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวัน เริ่มจากสถานี MRT หยวนซาน
ในการเจาะลึกลิตเติ้ลมะนิลาจากมุมมองของชาวฟิลิปปินส์ พวกเรานัดพบกับคุณหวงฉีหนี ที่สถานี MRT หยวนซาน เธอบอกว่าที่นี่มีความสำคัญในหลายด้านสำหรับชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน
"ชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวันแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น นักท่องเที่ยว แรงงานทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญ หรือแรงงานระดับไวท์คอลลาร์ ชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีน และผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวฟิลิปปินส์ที่แต่งงานกับชาวไต้หวันหรือแต่งงานกับชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีน" คุณหวงฉีหนีแจกแจงให้ฟัง
สถานี MRT หยวนซาน เป็นจุดนัดพบของชาวฟิลิปปินส์เพื่อไปยังลิตเติ้ลมะนิลาด้วยกัน และยังเป็นสถานีรับส่งนักท่องเที่ยวชาวฟิลิปปินส์ที่มาไต้หวันเพื่อไป Grand Hotel
เราเดินช้า ๆ จากสถานี MRT เข้าสู่ Flora Expo Park ที่มีผู้คนพลุกพล่าน เดินต่อไปยังศูนย์อาหาร Maji Square ซึ่งเคยมีร้านอาหารตามสั่งของฟิลิปปินส์ตั้งอยู่ จุดต่อไปที่น่าสนใจคือ Expo Hall (Butterfly Pavillion) เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ Rodrigo Duterte เคยมาเยือนที่นี่ในปี ค.ศ.2016 จึงกลายเป็นสถานที่ที่โด่งดังมากในหมู่ชาวฟิลิปปินส์ และเนื่องจากเป็นพื้นที่กว้างซึ่งมีหลังคากำบังแดดและฝน ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากจึงมารวมตัวกันที่นี่ในวันหยุดเพื่อปิกนิก ฝึกซ้อมเต้นสตรีทแดนซ์และการเดินบนเวที
ลิตเติ้ลมะนิลา คลาคล่ำไปด้วยผู้คนในวันสุดสัปดาห์ แฝงด้วยกลิ่นอายแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่น้อย
คุณหวงฉีหนี อยู่ในไต้หวันเกือบ 16 ปีแล้ว เป็นผู้ที่มีความเคลื่อนไหวอย่างกระตือรือร้นในหมู่ชุมชนชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวัน กำลังกินน้ำแข็งไส "Halo-halo" ในร้านอาหารฟิลิปปินส์ Halo-halo เป็นหนึ่งในของหวานยอดนิยมอย่างหนึ่งของฟิลิปปินส์
กล่องบรรจุของที่เปี่ยมด้วยหยาดเหงื่อและความรัก
บริษัทขนส่งสินค้าร่วมมือกับร้านค้าปลีก เช่น EEC ให้บริการขนส่งพัสดุไปยังฟิลิปปินส์ พัสดุที่จัดส่งต้องบรรจุในกล่องขนาดที่กำหนด ขนาดใหญ่สุดเท่ากับตัวคน ราคาสูงสุดไม่เกิน 5,000 เหรียญไต้หวัน รวมค่าจัดส่งซึ่งถือว่าไม่แพง เนื่องจากพัสดุมีขนาดใหญ่ ผู้ให้บริการมีบริการรับฝากไว้ที่ร้านหรือไปรับสินค้าที่บ้านด้วย แรงงานต่างชาติจะอาศัยเวลาในวันหยุดหาซื้อเสื้อผ้า ช็อกโกแลต ของเล่น และของขวัญอื่น ๆ แพ็คส่งให้ญาติมิตรในฟิลิปปินส์ เนื่องจากกล่องนี้เต็มไปด้วยความรักที่มีต่อบ้านเกิด ที่ได้มาจากการทำงานอย่างพากเพียรเหน็ดเหนื่อยในต่างแดน ชาวฟิลิปปินส์จึงเรียกกล่องนี้ว่า "กล่องศักดิ์สิทธิ์ (Holy box)"
คุณหวงฉีหนี ชี้ไปที่ภัตตาคารไห่ป้าหวัง (海霸王) ซึ่งอยู่ถัดจาก Expo Hall ที่นี่มักเป็นตัวเลือกแรกของฟิลิปปินส์เชื้อสายจีนสำหรับการเลี้ยงฉลองแต่งงานและงานเลี้ยงอื่น ๆ" เธอกล่าวในฐานะเคยเป็นพิธีกรงานมงคลสมรส
แหล่งพักพิงทางใจของผู้เดินทาง
พวกเราเดินมาถึงสถานที่มีผู้คนหนาแน่น - - โบสถ์ St. Christopher ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยต้าถง ที่นี่เป็นศูนย์กลางความศรัทธาของชาวฟิลิปปินส์ในไต้หวันได้อย่างแท้จริง ทำไมจึงกล่าวเช่นนี้? ทั้งนี้ ในแต่ละศาสนามักจะมีเทพซึ่งคุ้มครองผู้เดินทางโดยเฉพาะ อาทิเช่น เจ้าแม่มาจู่เป็นเทพคุ้มครองผู้เดินทางที่มีชื่อเสียงที่สุดในความเชื่อของชาวไต้หวัน ในส่วนของชาวคาทอลิกถือว่า "St. Christopher" เป็นผู้คุ้มครองผู้เดินทางเช่นกัน
เหลียวมองดูทั่วไต้หวันในปัจจุบัน มีเพียงโบสถ์ St. Christopher เท่านั้น ที่จัดพิธีมิสซาได้หลายรอบขนาดนี้ ในวันอาทิตย์ เริ่ม 09.00 น. ถึง 18.00 น. จัดห่างกันรอบละ 1 ชั่วโมงครึ่ง มีบาทหลวงพำนักอยู่ 10 รูป ซึ่งมาจากฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย นอกจากการพิธีมิสซาที่ใช้ภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีภาษาตากาล็อก เวียดนาม เป็นต้น
จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้โบสถ์แห่งนี้มีผู้คนหลั่งไหลมาไม่ขาดสายตลอดทั้งวันในวันอาทิตย์ นอกจากชาวฟิลิปปินส์แล้วยังมีชาวตะวันตกอีกไม่น้อย หวงจีหม่า (黃姬瑪) เลขาธิการโบสถ์ St. Christopher กล่าวว่า “เนื่องจากมีพิธีมิสซาหลายรอบ จึงสะดวกสำหรับแรงงานต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวที่เวลาของพวกเขามีค่าอย่างยิ่ง" ตามสถิติ โบสถ์คาทอลิกแห่งนี้มีผู้เข้าออกเกินกว่า 3,000 คนในวันอาทิตย์ “โดยเฉพาะสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สองในแต่ละเดือนหลังเงินเดือนออก จะมีคนมากันเยอะมาก แรงงานต่างชาติหลายคนมาโอนเงินที่ร้านค้า พวกเขาจะถือโอกาสเข้าโบสถ์ด้วย แม้ผู้ที่ไม่ใช่คาทอลิก พวกเขาก็จะเข้ามาพร้อมกับเพื่อน” คุณหวงจีหม่าตั้งข้อสังเกต
หากไม่สะดวกในการเข้าร่วมพิธีมิสซา ผู้ศรัทธายังสามารถจุดเทียนเพื่ออธิษฐานขอพรได้ที่แท่นบูชาด้านนอกซึ่งเปิดตลอด 24 ชั่วโมง
เทวรูปแห่งคาทอลิกที่มีความหมายต่างกันบนแท่นบูชา
บนแท่นบูชาด้านนอกโบสถ์ มีเทวรูปแห่งคาทอลิกต่าง ๆ ประกอบด้วยพระเยซูดำ (Black Nazarene) ซึ่งเป็นที่นิยมมากในฟิลิปปินส์, Baby Jesus เป็นสัญลักษณ์วัยเด็กของพระเยซู,
พระเยซูผู้ฟื้นคืนพระชนม์ และพระแม่มารีย์ในชุดสีน้ำเงินและสีขาว
ชาวคาทอลิกฟิลิปปินส์ร่วมพิธีมิสซาภาษาตากาล็อกที่โบสถ์ St. Christopher
คุณหวงจีหม่า (黃姬瑪) เลขาธิการโบสถ์คาทอลิก St. Christopher
จุดเทียนหน้าแท่นบูชาและอธิษฐานขอพร
นอกจากกิจกรรมทางศาสนาแล้ว โบสถ์คาทอลิกยังเปิดห้องครัว ห้องเรียน และพื้นที่อื่น ๆ ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ใช้ประโยชน์อีกด้วย คุณหวงจีหม่าบอกว่า มีการแบ่งออกเป็น 17 กลุ่มตามสถานภาพ เช่น คนงานในโรงงาน ผู้อนุบาล ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีน และแม้แต่ชาวเวียดนาม หากเดินขึ้นบันไดไปที่ชั้นสองของโบสถ์ จะเห็นกลุ่มต่าง ๆ เข้าเรียนแบ่งตามพื้นที่ หรือจัดงานวันเกิดให้เพื่อน ๆ เป็นต้น กล่าวได้ว่าโบสถ์คาทอลิก St. Christopher ดูแลชาวต่างชาติเหล่านี้เป็นอย่างดี ทั้งทางจิตใจและทางวัตถุ
King Wan Wan Shop Mall บ้านอีกแห่งของชาวฟิลิปปินส์
เมื่อออกจากโบสถ์ St. Christopher มุ่งหน้าไปทิศใต้ตามถนนจงซานเป่ยลู่ เดินผ่านร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าอาเซียนแบบเชนสโตร์ชื่อดัง 2 แห่งคือ EEC และ RJ Supermart ในร้านมีสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวันและอาหารอาเซียนที่ชาวฟิลิปปินส์คุ้นเคย รวมทั้งของฝากยอดนิยมหลากหลาย กล่าวได้ว่ามีสินค้าอย่างครบครัน จึงมีลูกค้าเข้ามาจับจ่ายซื้อของในร้านไม่ขาดสาย
สำหรับ King Wan Wan Shop Mall แทรกตัวอยู่ระหว่างอาคารที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ เป็นสถานที่ซึ่งคุณหวงฉีหนีบอกว่า มาที่นี่มีความพิเศษคือ "เหมือนกลับถึงบ้าน" ชอปปิงมอลล์เล็ก ๆ แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ในอดีตมีชื่อเสียงในการขายสินค้านำเข้า หลังการค้าซบเซาผู้คนย้ายออกไป ชาวฟิลิปปินส์เชื้อสายจีนเล็งเห็นโอกาส จึงได้เข้ามาทำธุรกิจขนาดเล็กขึ้นที่นี่
ในชอปปิงมอลล์ 2 ชั้นนี้ จะเห็นสินค้าวางเรียงรายหนาแน่นทั้งในแนวราบและบนหิ้ง ชั้นล่างของตึกขายอุปกรณ์สื่อสารและโทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้าและเครื่องประดับร่างกาย รวมทั้งทองรูปพรรณ "ชาวฟิลิปปินส์เห็นว่าการซื้อทองคำเก็บไว้ เป็นการรักษามูลค่าทรัพย์สิน” คุณหวงฉีหนีอธิบาย บนชั้นสองมีร้านอาหารบุฟเฟต์ที่บริการอาหารพื้นบ้านของฟิลิปปินส์ และมีร้านขายของชำ อาหารปรุงสด เสื้อผ้า ของเล่น แถมยังมีร้านทำผมและร้านทำเล็บด้วย
ที่น่าสนใจคือ ของที่ขายตามร้านค้าที่นี่ค่อนข้างคล้ายกัน มองดูไม่ต่างกันมาก เมื่อก้าวเข้ามาใน King Wan Wan Shop Mall จึงเหมือนเดินเข้าไปในเขาวงกตเล็ก ๆ ชาวฟิลิปปินส์ซึ่งมาที่นี่ จะไปซื้อของในร้านค้าที่รู้จักกันหรืออาจจะมีญาติหรือเพื่อนแนะนำ พวกเขาจะเดินตรงไปยังร้านที่คุ้นเคยอย่างชำนาญ นอกจากมาจับจ่ายซื้อของแล้ว พวกเขาจะพูดคุยสัพเพเหระ ทำให้บรรยากาศของที่นี่ดูมีชีวิตชีวาและอบอุ่น การมาที่ King Wan Wan Shop Mall จึงเหมือนกับ “การกลับถึงบ้าน” ที่สุขสบายและอบอุ่น เมื่อได้เห็นภาพแบบนี้แล้ว พวกเราจึงเข้าใจความหมายตามคำพูดของคุณหวงฉีหนีได้ในทันที
มาร้องเพลงฟิลิปปินส์กันเถอะ !
เมื่อเดินอยู่ในลิตเติ้ลมะนิลา คุณมักจะได้ยินเสียงร้องเพลงล่องลอยมา ชาวฟิลิปปินส์มีนิสัยสนุกสนานเป็นกันเอง เมื่ออยู่รวมกันจะพากันร้องเพลง ตามร้านอาหารมักจะติดตั้งเครื่องคาราโอเกะแบบง่าย ๆ ที่ Maya Bistro ร้านอาหารทันสมัยซึ่งอยู่ติดกับสวนสาธารณะซวงเฉิง (雙城) คุณ Maya เจ้าของชาวฟิลิปปินส์ได้ติดตั้งอุปกรณ์คาราโอเกะที่ครบครันในห้องเก็บเสียง มีทั้งเพลงจีน สากลและเพลงฟิลิปปินส์ ไว้คอยให้บริการ ยินดีต้อนรับชาวไต้หวันมาร่วมสนุกด้วยกัน
ขนมหวานฟิลิปปินส์ ของดีที่มีจำนวนจำกัด
อาหารฟิลิปปินส์เป็นอาหารปรุงง่าย ส่วนใหญ่ใช้วิธีตุ๋นหรือย่าง แต่ของหวานจะมีความหลากหลายมาก ชาวฟิลิปปินส์มักตั้งแผงขายบนถนนในย่านลิตเติ้ลมะนิลา พวกเขาจะใช้เวลาว่างหลังเลิกงาน มาทำของหวานซึ่งมีจำนวนจำกัด คุณหวังหรุ่ยหมิน (王瑞閔) นักวิจัยเกี่ยวกับพืช
เขตร้อนอธิบายว่า ในของหวานชาวฟิลิปปินส์
สีแดงส้มที่สะดุดตามาจากการย้อมด้วยคำแสด และสีม่วงคือมันเทศสีม่วง
ชาวฟิลิปปินส์ฝึกการเต้นรำในสวนสาธารณะในช่วงวันหยุด
ชื่อร้านค้าทั้งหมดใน King Wan Wan Shop Mall ปรากฏอยู่บนผนัง ชาวฟิลิปปินส์จะเลือกไปที่ร้านค้าที่รู้จักผ่านทางโซเชียลมีเดีย