ป้องกันกลลวงมิจฉาชีพ ด้วยเทคโนโลยี TrustTech
Gogolook และ Authme
เนื้อเรื่อง‧เจิงหลานซ ภาพ‧Gogolook แปล‧วิรทัต ศรีสมบัติ
สิงหาคม 2024
Merriam-Webster พจนานุกรมชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ยกให้คำว่า “authentic” เป็น “คำแห่งปี ค.ศ. 2023” สะท้อนให้เห็นว่าในยุคสมัยที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เฟื่องฟู ผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่ท่ามกลางสังคมที่แยกไม่ออกว่าอะไรคือของจริงหรือถูกสร้างขึ้น ต่างแสวงหาความ “Authentic” หรือ สิ่งที่ “เป็นของแท้” มากยิ่งขึ้น
Gogolook บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไต้หวัน ใช้เทคโนโลยี AI และฐานข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลเพื่อกรองสายเรียกเข้า SMS ตลอดจนเว็บไซต์ที่น่าสงสัย ขณะที่ Authme ผนวก AI เข้ากับเทคโนโลยี passive liveness detection สร้างระบบการยืนยันตัวตน ให้ผู้คนในโลกยุคหลังความจริง (post-truth era) ที่แฝงไปด้วยเทคโนโลยีการปลอมแปลงเสียงและใบหน้า (Deepfake) สามารถเชื่อมั่นได้ว่า “สิ่งนี้คือของจริง”
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 CNN รายงานข่าวกลลวงมิจฉาชีพที่เกิดขึ้นในฮ่องกง หลังเสร็จสิ้นการประชุมวิดีโอคอลกับบริษัทแม่ที่สหราชอาณาจักร พนักงานฝ่ายการเงินของบริษัทแห่งหนึ่งถูกหลอกให้โอนเงิน 200 ล้านเหรียญฮ่องกง (หรือประมาณ 800 ล้านเหรียญไต้หวัน) ให้ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ภายหลังจึงได้ทราบว่าประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินที่เข้าประชุมด้วยนั้น แท้จริงแล้วคือมิจฉาชีพที่ใช้เทคโนโลยี deepfake สวมรอย
“กลลวงของมิจฉาชีพ นับวันมีแต่จะพัฒนาและเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น” คุณไช่เมิ่งหง (蔡孟宏) ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัท Gogolook เผยว่า มิจฉาชีพอาศัยความโลภและความตื่นตระหนก ซึ่งเป็นจุดอ่อนตามธรรมชาติของมนุษย์ หลอกล่อให้เหยื่อคลายความระมัดระวัง จนสุดท้ายโอนเงินออกจากบัญชีโดยลืมที่จะตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อน
Whoscall คือผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท Gogolook ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยคัดกรองสายเรียกเข้าหรือ SMS จากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่รู้จัก ปัจจุบันแอปพลิเคชันดังกล่าวมียอดดาวน์โหลดสูงถึง 100 ล้านคน-ครั้ง ให้บริการครอบคลุม 9 ประเทศในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไต้หวัน ซึ่งมีผู้ใช้งานเฉลี่ยสูงถึง 50% บริษัท Gogolook ก่อตั้งขึ้นใน ปี ค.ศ. 2012 นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผลประกอบการของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี ค.ศ. 2023 บริษัททำรายได้สูงถึง 770 ล้านเหรียญไต้หวัน เติบโตขึ้น 83% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าในยุคที่มิจฉาชีพออกอาละวาดอย่างหนัก ขณะเดียวกันธุรกิจเทคโนโลยีป้องกันมิจฉาชีพก็กำลังเติบโตขึ้นอย่างน่าพึงพอใจ
ด่านสุดท้ายก่อนมิจฉาชีพจะหลอกเอาเงินได้สำเร็จ คือต้องโทรศัพท์ติดต่อคุณหรือส่งข้อความ SMS หาคุณ Gogolook จะเตือนคุณว่า นี่คือสายเรียกเข้าหรือข้อความที่ “มีความเสี่ยงสูง”
Whoscall กับชื่อเสียงที่ขจรขจาย
Whoscall โด่งดังในชั่วข้ามคืน หลังถูกกล่าวถึงโดยเจ้าพ่อแห่งวงการเทคโนโลยีอย่าง Eric Schmidt ทำให้นอกจากจะมีสื่อมาติดต่อขอสัมภาษณ์อย่างมากมายแล้ว ยังมีนักลงทุนหลั่งไหลมาติดต่อร่วมลงทุนอย่างไม่ขาดสาย เดิมคุณเจิ้งเซิ่งเฟิง (鄭勝丰) คุณกัวเจี้ยนฝู่ (郭建甫) และคุณซ่งเจิ้งหวน (宋政桓) เป็นเพียง “Slasher” หรือพนักงานพาร์ตไทม์ที่ประกอบหลายอาชีพ ในปี ค.ศ. 2012 ทั้ง 3 ตัดสินใจลาออกจากงานและหันมาทุ่มเทกับบริษัทอย่างเต็มตัว หลังจากสังเกตเห็นผู้คนพลางเดินพลางจ้องโทรศัพท์มือถือ จึงได้ผุดไอเดียตั้งชื่อบริษัทเป็นภาษาอังกฤษว่า “Gogolook” และใช้ “走著瞧” (โจ่วเจอะเฉียว) เป็นชื่อบริษัทในภาษาจีน ซึ่งมีความหมายว่า “เดินไปจ้องไป”
คุณกัวเจี้ยนฝู่ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท Gogolook ได้รับรางวัล Presidential Innovation Award ครั้งที่ 4
การทำงานร่วมกับผู้ใช้ แจ้งเตือนภัยด้วยเทคโนโลยี
จากบริษัทที่แทบจะไม่มีใครรู้จัก กลายเป็นบริษัทที่ดังเปรี้ยงปร้างในชั่วข้ามคืน จากกิจการที่ดูกระท่อนกระแท่น จู่ ๆ ดันไปเตะตา บริษัท Naver (ผู้เป็นเจ้าของแอปพลิเคชัน LINE) และได้ร่วมลงทุนเป็นจำนวนเงินกว่า 529 ล้านเหรียญไต้หวัน จุดแข็งของ Gogolook คือความสามารถในการขจัดความไม่สมมาตรของข้อมูล และความกังวลที่มีต่อข้อความหรือสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก
“เทคโนโลยีของเรามีฐานข้อมูลที่เป็นเหมือนหัวใจสำคัญ และหมายเลขโทรศัพท์ก็เปรียบเสมือนข้อมูลที่เป็นปราการปกป้อง ปัจจุบัน Gogolook มีข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ถึง 2.6 พันล้านชุด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มขยายบริการครอบคลุมเว็บไซต์ กลายเป็นคลังข้อมูลการป้องกันมิจฉาชีพที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออก” คุณไช่เมิ่งหงกล่าว ทั้งนี้ ราว 20% ถึง 30% ของฐานข้อมูลมาจากการรายงานโดยผู้ใช้ ทำให้ Gogolook กลายเป็นสังคมออนไลน์ที่ร่วมมือกับผู้ใช้
บริษัท Gogolook มีกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางของไต้หวันเป็นพันธมิตรหลักในประเทศ คุณไช่เมิ่งหง ยกตัวอย่างว่า เมื่อผู้ใช้งานติดต่อกับมิจฉาชีพที่อยู่ในคราบผู้ให้บริการผ่อนชำระสินค้าออนไลน์ Whoscall จะปรากฏข้อความเตือนว่า “นี่คือหมายเลขโทรศัพท์ที่มีความเสี่ยงสูง” เรียกสติให้ผู้ใช้งานตรวจสอบรายละเอียดก่อนที่จะมีการโอนเงินออกไป
ดังนั้น แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังแนะนำให้ผู้สูงอายุที่มักจะตกเป็นเหยื่อจากการหลอกให้โอนเงินให้ “ติดตั้งแอปพลิเคชัน Whoscall ในโทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยคัดกรองเบอร์โทรศัพท์มิจฉาชีพได้”
คุณไช่เมิ่งหงผู้จัดการบริษัท Gogolook กล่าวว่า “ปัจจุบัน Gogolook มีพนักงานรวมเกือบ 200 คน ในจำนวนนี้มี 100 คนที่รับผิดชอบดูแลฐานข้อมูลและส่วนหลังบ้าน (Back End) ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่บริษัททั้งภาครัฐหรือเอกชนอื่น ๆ จะทำได้”
(ภาพ: จวงคุนหรู)
พนักงานถ่ายรูปร่วมกันหน้าตลาดหลักทรัพย์หลัง Gogolook กลายเป็นบริษัทซอฟต์แวร์แห่งแรกที่ได้จดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรม
แอปพลิเคชันที่แนะนำโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศไทย
นอกจากหน่อยงานตำรวจของไต้หวันแล้ว ยังมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง ต่างแนะนำให้ประชาชนติดตั้งแอปพลิเคชัน Whoscall ในโทรศัพท์มือถือเช่นกัน
คุณไช่เมิ่งหงเผยว่า ในช่วงปี ค.ศ. 2020 ถึง 2021 คดีฉ้อโกงจากแก๊งคอลเซนเตอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ขณะเดียวกัน Whoscall เริ่มเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย ทั้งยังมีการแนะนำต่อ ๆ กันจนยอดติดตั้งแอปพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง
Gogolook ได้มีโอกาสร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (NCSA) ของประเทศไทย “แม้แต่ตำรวจไทยยังแนะนำให้ประชาชนใช้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall ซึ่งสำหรับผมแล้ว ถือเป็นการแนะนำที่มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่สามารถซื้อได้” คุณไช่เมิ่งหงกล่าว
ปัจจุบัน Gogolook ได้ขยายขอบเขตการให้บริการไปยัง 9 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และบราซิล เป็นต้น นอกจากไต้หวันแล้ว Gogolook ยังมีอัตราการเข้าถึงตลาดมากเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทยและฮ่องกง นอกจากนี้ ยังคาดว่าจำนวนผู้ใช้งานในประเทศไทยปีนี้ จะเพิ่มขึ้นแซงหน้าไต้หวันอีกด้วย และในปี ค.ศ. 2023 Gogolook ได้เข้าร่วมองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก GASA (The Global Anti- Scam Alliance) ในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้ง กลายเป็นสะพานที่เชื่อมต่อความร่วมมือด้านการป้องกันภัยมิจฉาชีพระหว่างเอเชีย ยุโรปและอเมริกา
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2024 Gogolook ได้ร่วมมือกับเครือข่ายร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง StoreFront ที่มีหน้าร้านมากกว่า 2,000 แห่ง เชื่อมต่อฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ของ Gogolook ให้บริการคัดกรองหมายเลขโทรศัพท์ในท้องถิ่น
ในปี ค.ศ. 2023 Gogolook เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดการป้องกันการฉ้อโกงแห่งเอเชีย Anti-Scam Asia Summit (ASAS) ครั้งที่ 1 โดยได้เชิญสำนักงานตำรวจจากหลากหลายประเทศ และองค์กรอิสระมาร่วมหารือและ แลกเปลี่ยนความเห็น
Gogolook ร่วมมือกับ StoreFront เครือข่ายร้านค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่น ให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาบริการแจ้งเตือนเบอร์แปลกแบบส่วนตัว (ซ้ายคือคุณกัวเจี้ยนฝู่ ประธานกรรมการบริหารบริษัท Gogolook ขวาคือ คุณ Hideaki Okada ประธานกรรมการบริหารบริษัท StoreFront)
Gogolook ลงนามบันทึกความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (NCSA) ของประเทศไทย
ผู้นำธุรกิจเทคโนโลยีต่อต้านการฉ้อโกง
ในปี ค.ศ. 2023 คณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน (National Development Council หรือ NDC) ยกให้บริษัท Gogolook เป็นบริษัทสตาร์ทอัพดาวรุ่งพุ่งแรงของรายการ “Startup Island TAIWAN NEXT BIG” พร้อมทั้งยังได้กลายเป็นบริษัทซอฟต์แวร์แห่งแรกที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมอีกด้วย
“เราในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) มีความมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหาการฉ้อโกงให้หมดไป” คุณไช่เมิ่งหงกล่าว ในฐานะบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาการฉ้อโกงผ่านช่องทางโทรคมนาคม Gogolook ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กลไกด่านสุดท้ายก่อนมิจฉาชีพจะหลอกเอาเงินได้สำเร็จ คือต้องติดต่อกับเหยื่อผ่านการต่อสายโทรศัพท์หรือส่งข้อความ SMS อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันมิจฉาชีพในเบื้องต้นเท่านั้น สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือทุกคนต้องระมัดระวังและตื่นตัวอยู่เสมอ
Authme ใช้เทคโนโลยี passive liveness detection ตรวจจับว่าบุคคลที่อยู่ตรงหน้าเลนส์กล้องใช่มนุษย์ที่มีชีวิตจริงหรือไม่ หากมีการใช้ “ภาพเคลื่อนไหว” ทดแทน ระบบจะปรากฏคำเตือนว่าบุคคลดังกล่าวไม่ใช่มนุษย์จริง (ภาพ: จวงคุนหรู)
Authme
“authenticate” หรือ “การยืนยันว่าสิ่งนั้นคือของจริง” คือคำกริยาของคำว่า “authentic” ซึ่งเป็นศัพท์แห่งปี ค.ศ. 2023 ของพจนานุกรม Merriam-Webster Authme เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ตั้งชื่อจากการย่อวลี “Authenticate me” ซึ่งมีความหมายว่า “ยืนยันตัวตนฉัน” โมเดลธุรกิจของ Authme มุ่งเน้นไปที่บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล โดยอาศัย AI ในการดักจับเทคโนโลยี Deepfake เพื่อยืนยันตัวตนที่แท้จริง
การยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า
“การยกตัวอย่างจากสถานการณ์ในชีวิตจริง จะทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น” คุณหลินอวิ้ถิง (林郁庭) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัท Authme กล่าว การเปิดบัญชีออนไลน์กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน แต่สถาบันทางการเงินจะสามารถยืนยันได้อย่างไรว่าบัตรประชาชนที่อัปโหลดลงไปในระบบนั้นคือของจริง แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้ทำธุรกรรมคือคนเดียวกันกับบุคคลในบัตรประจำตัวประชาชน หรือแม้กระทั่งผู้ที่กำลังทำธุรกรรมอยู่นั้นเป็นมนุษย์จริงหรือไม่
“นี่คือสิ่งที่สถาบันการเงินเรียกว่า KYC (Know Your Customer หรือการทำความรู้จักกับลูกค้า) ทั้งนี้ ในทุกกระบวนการทำงานของสถาบันการเงิน ต่างมีโอกาสสัมผัสกับกลโกงมิจฉาชีพ” คุณหลินอวิ้ถิงกล่าว ในการตรวจสอบการสวมรอยหรือปลอมแปลงบัตรประชาชน Authme จะใช้เทคโนโลยี AI ตรวจสอบสัญลักษณ์ป้องกันการปลอมแปลง เช่น ตราเลเซอร์บนบัตรประชาชนเพื่อยืนยันว่าบัตรประชาชนนั้นเป็นของจริงหรือไม่
ในปัจจุบันมี AI Software ที่สามารถปลอมแปลงภาพถ่ายเซลฟี่ เช่น ChatGPT หรือ Sora เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะสามารถยืนยันตัวตนได้อย่างไร? ในขั้นต้น Authme จะใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้าด้วย AI เพื่อยืนยันว่าใบหน้าของบุคคลตรงกับภาพถ่ายบนบัตรประชาชนหรือไม่ จากนั้นจึงใช้เทคโนโลยี passive liveness detection ประมวลผลว่า บุคคลที่อยู่ตรงหน้าเลนส์กล้องมีลักษณะเหมือนมนุษย์ที่มีชีวิตหรือไม่ โดยการตรวจจับการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยบริเวณใต้ตาหรือบนผิวหนังเป็นต้น แม้กระบวนการทั้งหมดนี้จะฟังดูค่อนข้างซับซ้อน แต่อันที่จริงแล้วขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาเพียง 1 นาทีเท่านั้น
คุณหลี่จี้กว่าง ประธานกรรมการบริหารบริษัท Authme ผู้คิดค้นวิธีแก้ปัญหาระบบยืนยันตัวตนผ่านมุมมองการเป็นแฮกเกอร์
(ภาพ: จวงคุนหรู)
แฮกเกอร์หมวกขาว กับการค้นพบโอกาสทางธุรกิจครั้งใหม่
คุณหลี่จี้กว่าง (李紀廣) หนึ่งในผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท Authme เดิมเคยเป็นแฮกเกอร์หมวกขาว (White Hat Hackers) หรือวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่ได้รับอนุญาตให้แฮกระบบอย่างถูกกฎหมายมาก่อน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม Authme จึงค้นพบโอกาสทางธุรกิจด้านเทคโนโลยียืนยันตัวตนในหลาย ๆ แห่งที่อาจมีการฉ้อโกงเกิดขึ้น ในปี ค.ศ. 2016 คุณหลี่จี้กว่างได้สร้างแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินเสมือนขึ้น เขาได้ลองใช้มุมมองของแฮกเกอร์วิเคราะห์หาช่องโหว่ที่ง่ายต่อการถูกโจมตีแบบ spoofing หรือ การปลอมแปลงตัวตน และในที่สุดก็ค้นพบว่า ขั้นตอนการยืนยันตัวตนมีปัญหาหลัก ๆ 2 ประการ
ประการแรกคือขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ประการที่ 2 คือ หลายบริษัทต่างใช้มนุษย์เป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งแน่นอนว่า ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าล้ำสมัย สายตามนุษย์ไม่อาจตรวจจับภาพที่ผ่านการปลอมแปลงได้อย่างแม่นยำอีกต่อไป
หลังจากที่คุณหลี่จี้กว่างได้เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจ เขาจึงได้ชักชวนคุณสวี่ไหน่เฮ่อ (許迺赫 หรือ Dalton) ผู้ซึ่งเป็นแฮกเกอร์หมวกขาวเช่นเดียวกับตน และคุณเจิงกั๋วจ่าน (曾國展) นักธุรกิจผู้ซึ่งเปี่ยมด้วยอุดมการณ์ที่อยากจะผลักดันให้เกิด Financial Inclusion หรือความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางการเงิน พวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Authme ขึ้นในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลด้วย AI และประจวบเหมาะที่ในขณะนั้น ไต้หวันกำลังเริ่มเปิดตัวธนาคารดิจิทัลไร้สาขา (Virtual Bank หรือ Internet Only Bank) ทำให้ Authme ได้มีโอกาสร่วมงานกับ LINE BANK ซึ่งเป็นธนาคารดิจิทัลไร้สาขา ที่ได้รับใบอนุญาตดำเนินกิจการเป็นแห่งแรก จนถึงปัจจุบันนี้ Authme ให้บริการยืนยันตัวตนไปแล้วกว่า 3 ล้านครั้ง
คุณหลินอวิ้ถิง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดบริษัท Authme เผยว่าเทคโนโลยี AI สามารถตรวจจับเอกสารเท็จได้อย่างรวดเร็ว
(ภาพ จวงคุนหรู)
ตลาดต่างประเทศและแนวคิด Financial Inclusion
เมื่อพิจารณาตลาดต่างประเทศ คู่แข่งสำคัญที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีจดจำใบหน้า ได้แก่ประเทศแถบยุโรปและอเมริกา คุณหลินอวี้ถิงเผยว่าชาวตะวันตกมีโครงสร้างใบหน้าที่แตกต่างจากชาวเอเชีย ดังนั้นข้อได้เปรียบของ Authme คือคลังข้อมูลที่เก็บรวบรวมใบหน้าของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่าล้านใบหน้า ซึ่งคลังข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการฝึกฝนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของโมเดล AI ให้สามารถจดจำใบหน้าได้แม่นยำสูงถึง 99.7%
นอกจากเทคโนโลยีจดจำใบหน้าแล้ว Authme ยังมีฟังก์ชันการตรวจสอบและยืนยันเอกสารประจำตัว Authme จะใช้เทคโนโลยี “การรู้จำอักขระด้วยแสง” (Optical Character Recognition หรือ OCR) สแกนข้อมูลส่วนบุคคลบนหนังสือเดินทาง จากนั้นใช้ฟังก์ชัน NFC (Near Field Communication หรือ การสื่อสารไร้สายระยะใกล้) บนโทรศัพท์มือถืออ่านชิปของหนังสือเดินทาง คุณหลินอวี้ถิงกล่าว ว่า ปัจจุบัน Authme ได้จดสิทธิบัตรเทคโนโลยีดังกล่าวในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เรียบร้อยแล้ว หวังว่าใน อนาคตจะสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
คุณเจิงกั๋วจ่านประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท Authme เดิมเคยประกอบธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประเทศอินโดนีเซีย หลังเล็งเห็นว่าหลายพื้นที่ห่างไกลในอินโดนีเซียไม่ค่อยมีธนาคาร ดังนั้นประชาชนในพื้นที่เหล่านั้นจึงขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินและโอกาสในการยื่นขอสินเชื่อ และเนื่องจากปัจจุบันชาวอินโดนีเซียทุกคนต่างมีโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นพวกเขาควรมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม โดยอาศัยโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี อย่างเช่นเทคโนโลยีการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล เป็นต้น
Authme สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการพัฒนา AI โมเดลให้สอดคล้องกับอัตราการถ่ายโอนข้อมูลของอินเทอร์เน็ตในแต่ละท้องที่
ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลกำลังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น การยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลจึงเป็นปราการสำคัญด่านแรกที่จะขัดขวางมิให้มิจฉาชีพกระทำการฉ้อโกงได้สำเร็จ คุณหลี่จี้กว่างกล่าวว่า “นี่เป็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญ ซึ่งไต้หวันก็มีความเป็นเลิศในด้านนี้ เนื่องจากตำแหน่งภูมิรัฐศาสตร์จึงทำให้ไต้หวันมักถูกโจมตีอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ตามเรามีเทคโนโลยีที่เป็นพลังอำนาจอันแข็งแกร่ง การหาวิธีแก้ไข ก็เท่ากับการได้เผยแพร่หนทางนี้ออกไปสู่ทั่วโลก”
Authme ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจดจำใบหน้าของชาวเอเชีย เทคโนโลยี “คุณคือใคร” ของ Authme นอกจากจะสามารถจดจำใบหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังสามารถตรวจจับ deepfake ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตามนุษย์ (ภาพ : Authme)