ภาพวาดชนบทจากปลายพู่กันจิตรกรชาวยูเครน
Ivan Yehorov หลงมนต์เสน่ห์ไต้หวัน
เนื้อเรื่อง‧เติ้งฮุ่ยฉุน ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧ไสยประภาสน์
ธันวาคม 2019
牽引藝術家伊凡‧葉何羅夫從逾8,000公里外的烏克蘭來到台灣的,是他與台灣女子林秀娟的姻緣。自此,這位棕髮碧眼、輪廓深邃的斯拉夫友人,將紅磚老屋、寺廟、香蕉、稻穗等,這些極富台灣意象的元素收入他的畫布,為台灣的鄉村風光留下一張張印刻在腦海中、久久不忘的紀錄。
แรงดึงดูดให้ Ivan Yehorov จิตรกรชาวยูเครนข้ามน้ำข้ามทะเลกว่า 8,000 กม. มายังเกาะไต้หวันแห่งนี้ ก็คือพรหมลิขิตที่เขาได้สมรสกับ
สาวไต้หวันที่มีชื่อว่า หลินซิ่วเจวียน (林秀娟) นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ชาวสลาฟ ผมทอง ตาน้ำข้าว หน้าตาคมเข้มผู้นี้ ได้นำเอาภาพบ้านเก่า
อิฐแดง วัด กล้วยหอม หรือรวงข้าว ที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์อันสมบูรณ์
แบบของชนบทไต้หวัน วาดลงไปบนผืนผ้า เป็นภาพวิวทิวทัศน์ในชนบท
ไต้หวัน ที่สร้างความประทับใจมิรู้ลืมให้แก่ผู้คน
เมื่อย่างกรายสู่บ้านพักของ Ivan และหลินซิ่วเจวียน ซึ่งตั้งอยู่บนถนนตงไห่อี้ซู่ เขตหลงจิ่ง นครไทจง การแบ่งสัดส่วนภายใน ไม่แตกต่างไปจากชาวบ้านทั่วไป สิ่งเดียวที่แตกต่างก็คือ การใช้พู่กันสีสันหลากหลาย บรรจงประดิษฐ์ภาพดอกกุหลาบและใบเขียวขจี บนบานประตูไม้ ภาพวาดวิวทิวทัศน์ที่ตั้งวาง และแขวนเรียงรายอยู่บนกำแพง บรรยากาศภายในบ้านทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า เจ้าของบ้านกำลังดื่มด่ำกับโลกแห่งศิลปะ
จิตรกรรมเป็นอาชีพในอุดมคติ
Ivan Yehorov เกิดเมื่อปี ค.ศ.1968 ที่ Yampol Vinnitsa ประเทศยูเครน ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำนีสเตอร์ที่กั้นระหว่างประเทศยูเครนกับสาธารณรัฐมอลโดวา จังหวัด Vinnitsa เป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของยูเครน Ivan เติบโตในชนบท ทำให้เขามีความอ่อนไหวและเทิดทูนธรรมชาติอย่างที่สุด
Ivan ส่อแววจิตรกรมาตั้งแต่วัยเด็ก เขาออกแบบตู้โชว์ให้แก่ห้างสรรพสินค้า เมื่ออายุได้เพียง 16 ปี ต่อมาเขาก็ยึดอาชีพผู้จัดการงานศิลปะและจิตรกร ใช้เวลาในยามว่างจากการทำงาน ตระเวนไปตามที่ต่างๆ ในรัสเซีย กลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมของเขา
สหภาพโซเวียตในยุคปีทศวรรษที่ 1980 การใช้คอมพิวเตอร์วาดภาพและเครื่องพิมพ์ ที่ตอบสนองงานพิมพ์ขนาดใหญ่ยังไม่แพร่หลาย ผลงานการออกแบบเชิงพาณิชย์ ป้ายโฆษณาส่วนใหญ่ต้องอาศัยการวาดด้วยฝีมือของจิตรกร ทำให้คุณ Ivan มีโอกาสสั่งสมประสบการณ์การสร้างสรรค์ผลงานของเขา ให้มีความช่ำชองและละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น
รักในฝันแห่งยุค 90
Ivan Yehorov และหลินซิ่วเจวียนรู้จักกัน ในปลายยุคสังคมนิยมสหภาพโซเวียตล่มสลาย
ในปีค.ศ.1990 หลินซิ่วเจวียนกับเพื่อนชาวเดนมาร์ก ตระเวนท่องเที่ยวไปทั่วโลก เธอจำได้ว่า ตอนนั้นสหภาพโซเวียต มีการติดต่อไปมาหาสู่กับโลกภายนอกไม่มากนัก ทุกอย่างจะมีแต่ภาษารัสเซีย เกือบจะไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้เลย แม้เธอจะจบสาขาภาษาต่างประเทศ และมีประสบการณ์ท่องเที่ยวด้วยตนเอง อย่างโชกโชนก็ตาม ก็ยังยากที่จะเอาความรู้ที่เรียนมามาใช้ได้ ประจวบเหมาะกับที่หลินซิ่วเจวียนได้รู้จักกับ Ivanที่กำลังทำงานอยู่ในมอสโก Ivan จึงขันอาสาพาเที่ยว ทั้งสองเริ่มต้นจากการถามทาง จนพัฒนาไปสู่การคบหาเป็นแฟนกัน ทาง
จดหมาย
ความรักของทั้งสองมั่นคงมากขึ้น แต่สถานการณ์ภายนอกพลิกผันเป็นอย่างมาก ในปี 1991 สหภาพโซเวียตซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ล่มสลายลง และในปีเดียวกัน ยูเครนบ้านเกิดของ Ivan ก็ประกาศเอกราช ทั้งสองจับมือก้าวไปด้วยกัน แวะท่องเที่ยวยังสถานที่ต่างๆ หน่วยงานที่เคยประทับตราบนหนังสือเดินทางของพวกเขา ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่ทั้งสองยังเคียงบ่าเคียงไหล่ก้าวไปด้วยกัน จากมอสโกมาจนถึงไต้หวัน ตั้งรกรากที่ชิงสุ่ย นครไทจง สร้างครอบครัว มีลูกที่นี่ ทำให้พวกเขาทะนุถนอมครอบครัวที่ได้มาไม่ง่ายนักนี้ จนทำให้ผู้คนมีความรู้สึกว่า เรื่องราวเหล่านี้เสมือนหนึ่ง “รักในฝันแห่งยุค 90”
ชิงสุ่ยสะกดสายตาจิตรกรให้หยุดนิ่ง
ทั้งสองได้สมรสและตั้งถิ่นฐานที่ไต้หวัน เมื่อปี ค.ศ.1996 Ivan ย้ายตามมาอยู่ยังบ้านเกิดของภรรยาที่ชิงสุ่ย ไทจง ทำให้ชิงสุ่ยเมืองเล็กๆ แห่งนี้ มักจะกลายเป็นภูมิหลังสำคัญในผลงานของเขา
เขาได้บันทึกเรื่องราวเขตพื้นที่ชุ่มน้ำเกาเหม่ย ที่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักมากนัก ตอนนั้นยังไม่มีทางเดินไม้ยกระดับ ไม่มีกังหันปั่นไฟขนาดยักษ์ มีเพียงประภาคารรูปแปดเหลี่ยม ศาลเจ้าแม่มาจู่ที่คอยปกปักคุ้มครองชาวประมง ป้อมยามและนกกระยางขาวกับนกที่บินมาตามฤดูกาล ซึ่งกำลังหากินอยู่ริมชายหาดเท่านั้น ภาพบรรยากาศอันเงียบสงบชวนให้ผู้คนหวนหา ตลอดช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เขาสร้างสรรค์ผลงานภาพเขตพื้นที่ชุ่มน้ำเกาเหม่ย 4 ฤดู ยามเช้า และยามพระอาทิตย์อัสดงแล้ว 40 กว่าภาพ เขาจดจ้องความงามของเขตชุ่มน้ำเกาเหม่ย อย่างไม่กะพริบตาเลยทีเดียว
“คุณทราบไหมว่ามุมไหนของเขตชุ่มน้ำเกาเหม่ยสวยที่สุด” หลินซิ่วเจวียนถาม “ช่วงเดินไปบนเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ แล้วหันกลับมาชำเลืองมองบ้านเกิด” มุมมองของ Ivan น้อยคนนักจะมองเห็น แต่มันเต็มไปด้วยกลิ่นอายอัตลักษณ์ไต้หวัน
เมื่อมองผลงานของคุณ Ivan เผินๆ แล้ว น้อยคนทีเดียวที่จะดูออกว่าคือไต้หวัน ที่มาจากผลงานของชาวต่างชาติ หลินซิ่วเจวียนมองจากวงนอก รู้สึกว่า “สิ่งที่มีค่าที่สุดในตัวของ Ivan ก็คือ เขาจะไม่ยัดเยียดความคิดใส่ลงไปในผลงานของตน แต่กลับจะสร้างผลงานในแบบของไต้หวัน”
บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าเขาพยายามที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับที่นี่ จึงพบบ้านเก่าอิฐแดงประสมประสานกับดอกบวบเหลืองอร่าม เข้ากันจริงๆ และยังมีลูกแตงโมอิ่มเอิบกองเรียงรายอยู่ในสวน สร้างความรู้สึกแห่งความสุขให้แก่ผู้พบเห็น ดอกเหลืองอร่ามของผักกาดก้านขาวกำลังบานสะพรั่งสุดกำลัง เมื่อร่วงหล่นจะกลายเป็นโคลน ในฤดูใบไม้ผลิหล่อเลี้ยงดอกไม้ต่อไป วิวทิวทัศน์ที่เต็มไปด้วย “สีสันไต้หวัน” เช่นนี้ ทิวทัศน์ที่มีความเรียบง่ายในชนบทของไต้หวัน ซึ่งกำลังสูญหายลง อย่างค่อยเป็นค่อยไป กลับถูกจิตรกรชาวยูเครนผู้นี้บันทึกเอาไว้
ผลงานภาพวาดของ Ivan เป็นผลงานภาพแนวอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) สร้างผลงานภาพวาดนอกสถานที่ (Outdoor Sketching) บรรยายชีวิตธรรมดาๆ ของผู้คน และยังบันทึกการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยต่างๆ ไว้ในผลงานภาพวาดของตน พัฒนาการในฝีมือการวาดของเขา ก็พัฒนาจากเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) ในช่วงวัยรุ่น สู่สไตล์อิมเพรสชันนิสม์ แล้วพัฒนาสู่สไตล์ Nature Minder ปัจจุบันผลงานของเขา มิได้ตั้งใจให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด เขามักจะซ่อนตัวอยู่มุมเงียบสงบในท้องทุ่ง สร้างสรรค์ผลงานความงดงามของไต้หวันในสายตาของตน วาดออกมาจากหัวใจ วิวทิวทัศน์ในผลงานของ Ivan สะท้อนถึงชะตาชีวิตสถานที่ที่เขาเดินผ่านพบผืนแผ่นดินที่เขาจะฝากใจไว้ได้ สีสันแห่งชนบทและท้องทุ่งไต้หวันผลงานเหล่านี้ของเขา ได้ดึงดูดให้เพื่อนๆจากสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่นเก็บสะสมไว้ชื่นชม
การวาดภาพก็เป็นวิธีการหนึ่ง ที่เขาใช้ในการคลายความคิดถึงบ้านเกิด “หลอมละลายตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่นี่ รักธรรมชาติของที่นี่ ก็จะไม่รู้สึกคิดถึงบ้านเกิดมากนัก” นั่นเป็นความรู้สึกจากใจของ Ivan
สดุดี “เสรีภาพ”
ในปีนั้น หลินซิ่วเจวียนกำลังอยู่ระหว่างการท่องเที่ยว ในสหภาพโซเวียต มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นชาวคาซัคสถาน ส่วนพ่อบุญธรรมที่เธอพักอาศัยอยู่ด้วยที่เยอรมนี ก็มักจะเข้าใจผิดว่าเกาะไหหลำก็คือไต้หวัน ในปัจจุบันผืนแผ่นดินที่อยู่อีกซีกหนึ่งของโลก ก็ยังคงรู้จักไต้หวันไม่มากนัก Ivan และหลินซิ่วเจวียนได้พยายามทำตัวเป็นสะพานเชื่อมสองซีกโลก แนะนำให้ผู้คนรู้จักไต้หวันมากขึ้น เรื่องราวในไต้หวันของ Ivan เคยถูกนำไปตีพิมพ์ ในสื่อสิ่งพิมพ์ของยูเครน และยังมีสถานีโทรทัศน์มาถ่ายทำเรื่องราวของเขาที่ไต้หวันด้วย นอกจากนี้ Ivan ยังเคยจัดงานแสดงผลงานของตนในไต้หวันหลายครั้ง โดยในปีค.ศ.1998 ได้จัดการแสดงผลงานที่ศูนย์วัฒนธรรมเกาสง โดยตั้งชื่อว่า “ยูเครนสีทอง” ปีค.ศ.2003 “ยูเครนของฉัน” ที่ศูนย์วัฒนธรรมจางฮั่ว และปี 2012 “ส่งใจถึงยูเครน” ที่หอวิจิตรศิลป์เมืองซินจู๋ ทำให้ชาวไต้หวันมีโอกาสอาศัยสายตาของจิตรกรชาวยูเครนผู้นี้ พินิจพิเคราะห์บ้านเกิดของตนเองอีกครั้ง นอกจากนี้ ในปีค.ศ.2000 เขายังได้จัดงานแสดงผลงาน “ชิงสุ่ยในสายตาจิตรกรชาวยูเครน” ที่ศูนย์ศิลปะเขตท่าเรือไทจง ชิงสุ่ย และเมื่อปีที่แล้ว (2018) ได้จัดงานแสดงผลงาน “ใจไต้หวันอันงดงาม” ที่ศูนย์วัฒนธรรมไถหนาน อาศัยภาพวาดเป็นสื่อ เชื่อมให้ประชาชนของทั้งสองประเทศ รู้จักและเข้าใจกันลึกซึ้งยิ่งขึ้น
วันที่เราได้คุยกับ Ivan เป็นวันเกิดของเขาพอดี Ivan ต้อนรับพวกเราด้วยอาหารเพื่อสุขภาพแบบง่ายๆ อาหารหลัก ได้แก่ จมูกข้าว สลัด กุ้ง และซุปไก่ เราคุยกันตั้งแต่เรื่องของอาหารการกิน ไปจนถึงปัญหาการตัดแต่งพันธุกรรมพืช จนถึงบ้านเก่าในภาพวาดของ Ivan ตลอดจนความคาดหวังต่อไต้หวันของเขา ซึ่ง Ivan เห็นว่า ชาวไต้หวันควรให้ความสนใจกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศให้มากกว่านี้ และให้ความจริงใจต่อการอนุรักษ์บ้านโบราณ ให้มากสักหน่อย ชีวิตในครอบครัวของเขา เป็นไปอย่างเรียบง่าย ใช้ทั้งภาษาจีน อังกฤษ และภาษารัสเซียในการสื่อสารกัน คุยกันได้ทุกเรื่องตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตั้งแต่พื้นดินจนถึงท้องฟ้า ไม่ต้องการเสพสุขทางวัตถุมากนัก แต่ด้านจิตใจสมบูรณ์
มาก Ivan มีความชอบที่หลากรูปหลายแบบ คุณแม่เป็นแม่ครัว เขาจึงเรียนวิธีการทำอาหารจากคุณแม่จนมีฝีมือ
ยอดเยี่ยม เขาจะออกไปเก็บไม้ที่ลอยอยู่ในแม่น้ำ มาทำเป็นผลงานหัตถกรรมน่ารัก ๆ เราคุยกันอย่างสนุกสนาน Ivan หยิบไวน์ที่เขาหมักเองออกมารับรองพวกเราอย่างอารมณ์ดี ฮัมเพลงด้วยเสียงใสกังวาน เขาต้องเป็นนักร้อง
ด้วยเป็นแน่
ผู้มากด้วยความสามารถหลากหลายอย่าง Ivan ต้องมีชีวิตหันเห เพราะได้พบเนื้อคู่อย่างคุณหลินซิ่วเจวียน
เลือกลงหลักปักฐานในไต้หวัน เมื่อยูเครนเป็นเอกราชแล้ว Ivan ที่กำลังทำงานอยู่ที่มอสโก ก็ถูกมองว่าเป็นชาว
ต่างชาติ ถูกลดเงินเดือน ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น ประกอบกับในช่วงนั้นเศรษฐกิจย่ำแย่ ชาวยูเครนต้องอพยพ
กระจายไปทำงานในประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป ดังนั้น คุณหลินซิ่วเจวียนจึงอธิบายให้ฟังถึงสาเหตุการเลือกมาตั้ง
ถิ่นฐานในไต้หวันของเขา ส่วน Ivan เสริมอยู่ข้างๆ ด้วยประโยค “Freedom”
23 ปีในไต้หวัน ทำให้ไต้หวันกลายเป็นบ้านเกิดแห่งที่ 2 ของเขา มีบัตรประจำตัวประชาชนของไต้หวัน กลายเป็นชาวไต้หวันอย่างเต็มตัว เขาจับตาความก้าวหน้าในทุกๆ ด้านของไต้หวัน “เสรีภาพ” ของไต้หวัน เป็นมาตรฐานต่ำสุดที่ไม่อาจแลกเปลี่ยนได้
“ดื่มอีกแก้วไหม” Ivan ชวนพวกเราดื่มอีกแก้ว ความหอมของไวน์ช่างเย้ายวนจิตใจผู้คน จิบแรกที่กลืนลงคอให้ความรู้สึกหอมหวนยิ่งนัก จึงขอชนแก้ว ขอสดุดี “เสรีภาพ” ของไต้หวัน