พิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่ว ณ ตีนดอยจิ๋วจิ่ว
เนื้อเรื่อง‧ซูลี่อิ่ง ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧อัญชัน ทรงพุทธิ์
สิงหาคม 2021
一對發願「一輩子做一件有意義的事」的企業家夫婦,遇上一個勇敢作夢、言出必行的藝術家,共同成就了一座人間至美的美術館的誕生。它,是啟動美感覺知的場域,也是台灣社會的無價餽贈,更是天地大美的具體化身。
เมื่อสามี-ภรรยานักธุรกิจคู่หนึ่งที่ตั้งปณิธานไว้ว่า “ในชีวิตนี้ ต้องทำอะไรสักอย่างที่มีความหมาย” โคจรมาพบกับศิลปินที่มีความกล้าหาญในการสานฝันและต้องทำทุกอย่างให้ได้ดังที่เอ่ยปากออกไป พวกเขาร่วมกันก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้มาเยือนได้ตระหนักรู้ถึงความงดงามของศิลปะ และยังเป็นการตอบแทนสังคมไต้หวันอย่างประเมินค่ามิได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังจัดได้ว่าเป็นตัวแทนความงามแห่งพื้นพิภพอีกด้วย
เมื่อหลายปีก่อน จู่ๆ ก็มีเสียงร่ำลือกันในหมู่เพื่อนฝูงที่ชื่นชอบศิลปะและวรรณคดีว่า มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งเปิดตัวอยู่ในชนบทที่ห่างไกลและยากจะเดินทางไปถึง แต่ที่น่าแปลกก็คือ แม้ว่าหนทางจะยากลำบากเพียงใด ผู้ที่เคยไปเยือนสถานที่แห่งนี้ต่างมิเคยลืมเลือนและหวนรำลึกถึงอยู่เสมอ อีกทั้งยังคาดหวังอยู่ตลอดเวลาว่า สักวันหนึ่งจะได้กลับไปเยือนอีกสักครั้ง
อะไรที่ทำให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งสามารถสร้างความประทับใจให้แก่ผู้คนได้มากถึงขนาดนี้ เป็นเพราะความยิ่งใหญ่และงดงามตระการตาของสถาปัตยกรรม หรือเป็นเพราะความวิจิตรประณีตและล้ำค่าหายากของวัตถุที่นำมาจัดแสดง? ทีมงานไต้หวันพาโนรามา อำลาความวุ่นวายจอแจในเมืองใหญ่เดินทางไปยังบริเวณเชิงเขาจิ๋วจิ่ว หรือภูเขาร้อยยอด (九九峰) อันเงียบสงบ ในตำบลเฉ่าถุน เมืองหนานโถว เราจะไปค้นหาคำตอบกัน
ทีมงานพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ผลักดันให้มีความเป็นเลิศในทุกรายละเอียด และทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้กลายเป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑ์ขนาดกลางและขนาดย่อม
พิพิธภัณฑ์ศิลปะกลางขุนเขา
พิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่ว (Yu-Hsiu Museum of Art) ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านผิงหลิน ตำบลเฉ่าถุน เมืองหนานโถว มีประชากรเพียง 400 ครัวเรือน นอกจากเทือกเขาที่อยู่ไกลออกไป บ้านเรือนของเกษตรกรที่ตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจาย ต้นองุ่นและลิ้นจี่จำนวนนับไม่ถ้วนที่ปลูกอยู่บนผืนดินที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะซึ่งตั้งอยู่ที่สุดสายถนนเล็กๆ ในหมู่บ้าน จำกัดจำนวนผู้เข้าชมเพียงวันละ 180 คน และยังต้องนัดเวลาล่วงหน้าก่อนด้วย ที่ต้องใช้วิธีควบคุมจำนวนคนอย่างเข้มงวดเช่นนี้ เพราะต้องการรักษาคุณภาพในการชมนิทรรศการ อีกทั้งต้องการรับเฉพาะผู้ชมที่มีความชื่นชอบและรสนิยมตรงกันเท่านั้น
เราเดินผ่านระเบียงที่ขนาบข้างด้วยกำแพงคอนกรีตเปลือยและทางเดินเล็กๆ ที่คดเคี้ยวกลางป่าไผ่ที่เงียบสงัด จนกระทั่งมาถึงสุดทางเดินจึงรู้สึกราวกับได้เปิดประตูออกสู่โลกกว้าง ค่อยๆ เลื่อนระดับสายตาขึ้นไปตามจังหวะการก้าวเดินบนขั้นบันไดที่ทอดขึ้นสู่เบื้องบน และในที่สุดก็ได้เห็นอาคารที่ใช้สำหรับจัดแสดงผลงานของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ กลุ่มอาคารสถาปัตยกรรมที่สร้างลดหลั่นไปตามเนินเขา มีขนาดเล็กกะทัดรัดและเรียบง่ายไม่หวือหวา เล่ากันว่าความเงียบสงบซึ่งเป็นเอกลักษณ์พิเศษของที่นี่ มีต้นกำเนิดมาจากผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ซึ่งก็คือ คุณเย่-อวี้ซิ่ว (葉毓繡)
นอกตัวอาคารใช้สีเทา เรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความทันสมัย แม้ไม่โดดเด่นแต่มีความละเอียดประณีตในทุกส่วนของรายละเอียด พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,000 ผิง (坪 คือหน่วยวัดพื้นที่ของไต้หวัน 1 ผิง 坪 เท่ากับ 3.33 ตารางเมตร) แต่ใช้พื้นที่ในการก่อสร้างอาคารเพียง 1,000 ผิงเท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่เหลือเต็มไปด้วยต้นไม้เขียวชอุ่มพุ่มไสว ยามที่เยื้องย่างอยู่ท่ามกลางทัศนียภาพอันแสนสบายตาและบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น จึงเปรียบดังกำลังก้าวเข้าสู่แดนสุขาวดี หรือปานประหนึ่งได้ประสบพบเจอกับที่พักพิงทางจิตวิญญาณที่มวลมนุษย์ต่างแสวงหา
พืชพรรณเฉพาะถิ่นในไต้หวัน หลังผ่านการจัดวาง และประดับตกแต่งโดย Janet Laurence ให้ความรู้สึกที่เปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งกวีนิพนธ์
หลี่จู๋ซินกับเย่-อวี้ซิ่ว
ตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่ว “ว่างลงโดยไม่แต่งตั้งคนใหม่” มาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีแล้ว เสมือนเป็นการไว้อาลัยให้แก่คุณหลี่จู๋ซิน (李足新)
คุณหลี่จู๋ซินเป็นจิตรกร นักการศึกษา และยังเป็นนักจินตนาการที่ให้กำเนิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้ ในตอนแรกเขาได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งในหมู่บ้านผิงหลิน ตำบลเฉ่าถุน เมืองหนานโถว เมื่อปีค.ศ.2010 เพื่อใช้สร้างสตูดิโอของตนเอง ชุมชนที่เงียบสงบแห่งนี้นอกจากดึงดูดคุณหลี่จู๋ซินแล้ว ยังได้ดึงดูดศิลปินอีกจำนวนมากเข้ามาพำนักอาศัย จากปัจจัยหลายอย่างที่สั่งสมรวมกันทำให้ที่นี่ถูกเลือกเป็นสถานที่ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะในเวลาต่อมา
บุญสัมพันธ์ระหว่างคุณหลี่จู๋ซินกับคุณเย่-อวี้ซิ่ว เริ่มจากการพบกันครั้งแรกในห้องเรียนวาดรูปของสโมสรโรตารี ในสถานะของครูกับศิษย์ เมื่อคุณหลี่จู๋ซินได้รู้จักกับคุณโหวอิงหมิง (侯英蓂) และคุณเย่-อวี้ซิ่ว ซึ่งเป็นคู่สามี-ภรรยานักธุรกิจที่ให้เงินอุดหนุนกิจกรรมของเหล่าศิลปินมาเป็นเวลายาวนาน จากการที่คุณหลี่จู๋ซินเป็นคนกล้าคิดในสิ่งที่คนทั่วไปไม่กล้าแม้แต่จะฝัน เขาจึงกล้าที่จะเสนอต่อคุณเย่-อวี้ซิ่วว่า “เรามาสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะกันสักแห่งไหม” ซึ่งก็ได้รับการตอบรับในทันที
หลังจากซื้อที่ดินได้แล้ว การก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะก็เริ่มขึ้น แต่ชะตาชีวิตของคนเรานั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หลังดำเนินการก่อสร้างได้เพียง 2 ปี คุณหลี่จู๋ซินก็ล้มป่วยลงด้วยโรคมะเร็งและอาการไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ยังคงทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างต่อจนกระทั่งแล้วเสร็จลงและเปิดดำเนินการในปีค.ศ.2016 ก่อนที่คุณหลี่จู๋ซินจะเสียชีวิตลงในปีค.ศ.2019
คุณเย่-อวี้ซิ่วยืนหยัดที่จะ “ใช้เวลาที่เหลือตลอดชีวิตนี้เพื่อปกป้องดูแล” พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่สร้างขึ้นจากหยาดเหงื่อ แรงกายและแรงใจในช่วงบั้นปลายชีวิตของคุณหลี่จู๋ซิน แม้ว่าผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ท่านนั้นจะอำลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่พิพิธภัณฑ์ศิลปะยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ นิทรรศการต่างๆ ที่จัดแสดงสามารถนำออกโชว์บนเวทีโลกได้อย่างไม่เป็นรองใคร นอกจากจัดแสดงผลงานด้านศิลปะแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมด้านสุนทรียศึกษา เพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เสมือนดั่งจิตวิญญาณของคุณหลี่จู๋ซินที่ยังคงอยู่คู่กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้ตลอดไปและไม่เคยห่างหายไปไหน
นำพาเด็กนักเรียนก้าวเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เปรียบดังการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งสุนทรียศาสตร์บนผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะหยั่งรากลึกและเติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา(ภาพจาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่ว)
ก้าวเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ
เมื่อก้าวเข้าสู่ภายในห้องจัดแสดงที่กำลังจัดนิทรรศการ “ความทรงจำของต้นไม้ในสวนที่รกชัฏ” (Entangled Garden for Plant Memory) ของเจเน็ต ลอเรนซ์ (Janet Laurence) ศิลปินชาวออสเตรเลีย ที่ใช้เวลาในการวางแผนและเตรียมการนานนับ 2 ปีเต็ม จากความร่วมแรงร่วมใจกันของพิพิธภัณฑ์และภัณฑารักษ์ (Curator) ทำให้นิทรรศการครั้งนี้สามารถจัดแสดงผลงานศิลปะในรูปแบบอินสตอลเลชัน (Installation art) หรือศิลปะจัดวางโดยสร้างสรรค์ผลงานในรูปของวิดีโอและเก็บตัวอย่างจากซากต้นไม้แร่ธาตุพืชและสัตว์วัตถุดิบเหล่านี้นอกจากบางส่วนที่ศิลปินเจ้าของผลงานนำมาจากออสเตรเลียแล้วส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบแปรรูปที่หาได้จากในไต้หวัน
การที่นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่วมีความน่าสนใจและสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าชมเป็นอย่างมากนั้น เหตุผลสำคัญประการแรกมาจากจุดยืนที่เปิดกว้างของคุณเย่-อวี้ซิ่วที่ยินดีให้เหล่าศิลปินใช้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้เป็นเวทีแสดงผลงานและอนุญาตให้ประชาชนเข้าชมได้ ส่วนเหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ การที่คุณหลี่จู๋ซินได้กำหนดสถานะของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ใช้เผยแพร่ “ศิลปะสัจนิยมร่วมสมัย” นั่นเอง
ศิลปะสัจนิยมไม่ได้มีความหมายแคบๆอย่างที่คนทั่วไปคิดไม่ใช่ความคลาสสิกและไม่ใช่ความเรียบง่ายยิ่งไม่ใช่สิ่งที่คร่ำครึล้าสมัยแต่สัจนิยมเป็นพื้นฐานของศิลปะและเป็นภาพสะท้อนของจิตวิญญาณโดยเฉพาะในมุมมองของผู้ชมเนื่องจากศิลปะสัจนิยมเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันทำให้ผู้ชมเข้าใจความหมายที่แฝงอยู่ในงานศิลปะและสามารถเข้าถึงจิตใจของผู้คนได้โดยง่ายไม่เหมือนกับศิลปะเชิงนามธรรมและศิลปะเชิงแนวคิดที่ยากจะเข้าใจความหมายและแตกแขนงย่อยออกไปมากมาย
จากการมีรากฐานที่ดีเช่นนี้ ประกอบกับทัศนคติของทีมงานที่กล้าเผชิญหน้ากับความล้มเหลวโดยไม่โยนความผิดให้ผู้อื่น คุณหวงเสียง (黃翔) ผู้กำกับศิลป์พิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่ว กล่าวว่า “แม้พิพิธภัณฑ์ของเราจะมีขนาดเล็ก แต่ก็หวังว่าจะผนึกกำลังของทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันสร้างความยิ่งใหญ่”
แม้พิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่วจะจัดอยู่ในประเภทของพิพิธภัณฑ์ขนาดกลางและขนาดย่อม แต่กลับมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ศิลปินที่เลือกเชิญให้มาเปิดนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินทั้งจากในและต่างประเทศ ล้วนเป็นศิลปินระดับแนวหน้าทั้งสิ้น ในส่วนของการวางแผนจัดนิทรรศการก็ใช้ความละเอียดอ่อนและประณีต จึงมักทำให้ต้องใช้เวลาเตรียมการนานนับปี สำหรับสถานที่จัดนิทรรศการจะขึ้นอยู่กับความต้องการของศิลปินเจ้าของผลงาน โดยพิพิธภัณฑ์จะจัดหาสถานที่ให้ตรงตามความต้องการ ทั้งนี้ เพื่อให้สิ่งที่นำมาจัดแสดงหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันกับสถานที่จัดแสดง
นิทรรศการ “ความทรงจำของพืชในสวนที่รกชัฏ”ของ Janet Laurence ที่จัดแสดงอยู่ในขณะนั้น จัดเป็นหนึ่งในนิทรรศการที่ต้องใช้ “ความเพียรพยายาม” มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยก่อนเปิดงานนิทรรศการ 1 ปี Janet Laurence ได้เดินทางมาดูสถานที่จัดนิทรรศการในไต้หวัน หลังจากที่เธอเดินทางกลับประเทศไปแล้ว ทีมงานจัดนิทรรศการต้องเริ่มจัดหาสิ่งของต่างๆ ตามบัญชีรายการวัตถุดิบที่เธอต้องการ โดยได้ยืมจากพิพิธภัณฑ์สัตววิทยา (Museum of Zoology) พิพิธภัณฑ์สมุนไพร (Herbarium) และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา (Geo-specimen Cottage) ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University, NTU) รวมถึงสถาบันวิจัยสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น (Endemic Species Research Institute) ของคณะกรรมการการเกษตร (Council of Agriculture, COA) จนกระทั่งก่อนเปิดงานนิทรรศการ 2 สัปดาห์ Janet Laurence จึงเดินทางมาไต้หวันอีกครั้งเพื่อจัดเตรียมผลงานศิลปะที่จะนำออกแสดงถือเป็นความท้าทายที่มีความเสี่ยงสูงแต่ก็สามารถเนรมิตผลงานออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง
นำพาเด็กนักเรียนก้าวเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เปรียบดังการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งสุนทรียศาสตร์บนผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะหยั่งรากลึกและเติบโตขึ้นเป็นต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา(ภาพจาก พิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่ว)
ปฏิบัติการเพื่อสุนทรียศึกษา
มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่า พิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่วยังมีภารกิจอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ การเผยแพร่สุนทรียศึกษาในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นการสืบทอดปณิธานของคุณหลี่จู๋ซินในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ “ไปปลูกต้นไม้กัน นำเอาเมล็ดพันธุ์แห่งสุนทรียศาสตร์ปลูกฝังลงไปในจิตวิญญาณของเด็กทุกคน สักวันหนึ่งในอนาคต มันจะกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แตกกิ่งก้านสาขาสร้างความร่มรื่นให้แก่ผู้คน” นี่คือเจตนารมณ์ของคุณหลี่จู๋ซินที่บันทึกไว้ในงานประพันธ์ชิ้นหนึ่งของเขา และเจตนารมณ์ดังกล่าวผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่วเริ่มจัดทำโครงการ “ห้องเรียนศิลปะของฉันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ”
การศึกษาเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและต้องใช้เวลายาวนานทีมงานที่แบกรับภารกิจสำคัญในระยะยาวนี้ยังคงเน้นเรื่องความละเอียดอ่อนและประณีตตลอดจนมุ่งให้เข้าถึงเบื้องลึกในจิตใจซึ่งเป็นการสานต่อสไตล์การทำงานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่วที่ยึดถือมาโดยตลอดโดยได้ให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดตั้งแต่การออกแบบแผนการเรียนการสอนและทำอย่างไรจึงจะให้สอดรับกับช่วงเวลาที่มีการจัดนิทรรศการนอกจากนี้ยังต้องมีการสื่อสารกับทางโรงเรียนก่อนเข้าชมนิทรรศการการฝึกอบรมครูผู้สอนและอาสาสมัครนำชมนิทรรศการรวมถึงการประสานงานหลังเสร็จสิ้นภารกิจและการสานต่อโครงการเป็นต้น
ทีมงานคาดหวังให้เด็กเข้าใจมารยาทในการเข้าชมงานนิทรรศการและยังหวังว่าจะเป็นการชักจูงให้เด็กสนใจเข้ามาสัมผัสและชื่นชมผลงานศิลปะโดยผ่านการนำชมที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็จะพบว่า “พิพิธภัณฑ์ศิลปะก็มีอะไรที่น่าสนใจมากมาย” และจากความประทับใจที่เด็กๆ ได้รับ จะกระตุ้นให้เกิดความชื่นชอบในสุนทรียศาสตร์ คุณหลิวซินหยุน (劉昕昀) เจ้าหน้าที่แผนกประชาสัมพันธ์และการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่ว กล่าวถึงอุดมการณ์ของตนเองว่า “ไม่ใช่ต้องการจะให้อะไรแก่เด็ก แต่ต้องการให้เด็กค้นพบอะไรบางอย่างที่นี่ด้วยตนเอง”
อย่างเช่นเมื่อครั้งที่มีการจัดนิทรรศการ “ความเวิ้งว้างที่เงียบสงบ” (Tranquil Vastness) ศิลปินเจ้าของผลงานคือคุณหยางเป่ยเฉิน (楊北辰) ซึ่งเป็นช่างแกะสลักไม้ ได้จัดแสดงผลงานการแกะสลักไม้ที่ดูไม่ออกว่าเป็นของจริงหรือของปลอม อาทิ กระเป๋าทรงบอสตัน หนังสือโบราณ และเสื้อหนัง ซึ่งล้วนเป็นการชุบชีวิตให้กับของเก่าในรูปลักษณ์ใหม่ที่เต็มไปด้วยประกายแห่งความอบอุ่น แต่แฝงไว้ด้วยเสน่ห์ของร่องรอยแห่งกาลเวลา อีกทั้งยังมีนัยยะบ่งบอกถึงความรู้สึกที่ลึกซึ้งระหว่างมนุษย์กับวัตถุ ซึ่งยากที่จะใช้ภาษามาสื่อถึงกันได้
หลังเสร็จสิ้นการชมนิทรรศการ คุณครูได้นำนักเรียนไปเฝ้าสังเกตและให้จินตนาการว่า “เจ้าของกระเป๋าคือใคร” ซึ่งเป็นการตั้งคำถามเพื่อท้าทายจินตนาการของนักเรียนรวมถึงช่วยให้นักเรียนปลดปล่อยความคิดให้หลุดจากกรอบของวิถีชีวิตประจำวันและจินตนาการได้อย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
เริ่มจาก “การเฝ้าสังเกต” ซึ่งจะนำไปสู่ “การจินตนาการ” ในที่สุดก็จะเป็น “การสร้างสรรค์ผลงาน” และนี่ก็คือขั้นตอนของการรังสรรค์ผลงานศิลปะทั้งหลายนั่นเอง
“ห้องเรียนศิลปะของฉันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ” เป็นการดำเนินการตามอุดมการณ์แรกเริ่มของพิพิธภัณฑ์ศิลปะอวี้ซิ่วที่ต้องการบอกกับทุกคนว่า การชมงานศิลปะไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไรนักหนา ความงาม มีต้นกำเนิดมาจากการใส่ใจต่อชีวิตและรู้จักชื่นชม ซึ่งในที่สุดแล้ว สิ่งที่ได้รับกลับคืนมาก็คือ ชีวิตที่มีคุณค่ามากขึ้นนั่นเอง
เพราะต้องการคืนพื้นที่ให้กับธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ศิลปะจึงสร้างขึ้นท่ามกลางขุนเขาและแมกไม้เขียวขจี