ภารกิจช่วยเหลือชาวฟิลิปปินส์
พลังความอบอุ่นจากไต้หวัน
เนื้อเรื่อง‧ เติ้งฮุ่ยฉุน ภาพ‧ หลินเก๋อลี่ แปล‧รุ่งรัตน์ แซ่หยาง
ตุลาคม 2024
ฟาร์มตัวอย่างของทีมผู้เชี่ยวชาญไต้หวัน หรือ Taiwan Technical Mission (TTM) ซึ่งเปิดตัวที่ฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 2023 ได้ช่วยพัฒนาการดำรงชีวิตของเกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่นให้ดีขึ้น มูลนิธิช่วยเหลือเด็กและครอบครัวไต้หวัน หรือ Taiwan Fund for Children and Families (TFCF) ประจำฟิลิปปินส์ ได้ให้ความช่วยเหลือชาวฟิลิปปินส์ ในการสร้าง “ชุมชนทรหด” ขึ้น นอกจากนี้ มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในฟิลิปปินส์ ที่ลงหลักปักฐานในฟิลิปปินส์มานานกว่า 30 ปี ได้ช่วยเหลือและรักษาพยาบาลชาวฟิลิปปินส์มาแล้วจำนวนนับไม่ถ้วน
ภายใต้การแนะนำของทีม TTM ไต้หวัน เกษตรกรมีการหมุนเวียนปลูกพืชแล้วสามรอบ และมีรายได้เป็นเงินสดกลับมาภายในระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้พวกเขารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง
ทีมผู้เชี่ยวชาญไต้หวัน TTM ในฟิลิปปินส์
แบ่งปันประสบการณ์จากไต้หวัน
ฟาร์มตัวอย่างของทีมผู้เชี่ยวชาญ TTM ที่ตั้งอยู่ในเมืองทาร์ลัค (Tarlac) เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2023 ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่าง International Cooperation and Development Fund (หรือ Taiwan ICDF) และกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่น Susan Yap ผู้ว่าการจังหวัดทาร์ลัค ได้กล่าวยกย่องโครงการดังกล่าวว่า “เป็นของขวัญวันคริสต์มาสที่ดีที่สุดสำหรับชาวจังหวัดทาร์ลัค”
ฟาร์มเกษตรตัวอย่างแห่งนี้ประกอบด้วยฟาร์มกลางแจ้งและโรงเรือนอัจฉริยะสองแห่ง หลี่ไท่ชาง (李泰昌) หัวหน้าทีมของ TTM ได้เล่าถึงความท้าทายทางการเกษตรของฟิลิปปินส์ในระหว่างที่นำเราเดินชมไปรอบ ๆ ว่า ฟิลิปปินส์มีสภาพอากาศแบบเขตร้อน จึงมีอากาศร้อนตลอดทั้งปี แบ่งออกเป็นฤดูฝน (เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม) และฤดูแล้ง (เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของปีถัดไป) เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีพายุไต้ฝุ่นเฉลี่ยปีละกว่า 20 ลูก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการผลิตทางการเกษตร
ทีม TTM ของไต้หวัน มีภารกิจสำคัญหลายประการ หลี่ไท่ชาง สรุปให้ฟังว่า ภารกิจที่หนึ่งคือการปรับปรุงปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร สองคือการเปลี่ยนแปลงวิธีการเพาะปลูกของเกษตรกรในท้องถิ่น และสามคือเรื่องของการจำหน่ายสินค้า
จริง ๆ แล้ว ปัญหาส่วนใหญ่ของเกษตรกรหนีไม่พ้นเรื่องของการใช้ปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร รวมถึงการจัดการพื้นที่แปลงปลูก พวกเขาหวังว่าจะสามารถใช้การสื่อสารแนวคิดและการสาธิตการเพาะปลูกมาปรับเปลี่ยนความเคยชินและพฤติกรรมของเกษตรกรได้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสมและการเพิ่มการใช้ปุ๋ยหมักอินทรีย์ เขาย้ำว่า “เราไม่ได้ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด แต่ตราบใดที่เราเดินหน้ามุ่งสู่การทำเกษตรอินทรีย์ ผืนดินจะตอบแทนให้เรา”
ทีม TTM ยังมีการทดลองและสาธิตการปลูกพืช เช่น มะระ บวบ และพริกหวานด้วย หลี่ไท่ชางอธิบายว่า “เราพยายามหาสายพันธุ์ที่สามารถทนต่อสภาพอากาศในท้องถิ่นได้ดีขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีตัวเลือกของสายพันธุ์ที่มีความหลากหลาย และยังแนะนำการจัดการการเพาะปลูกในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง รวมทั้งปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช”
คณะผู้เชี่ยวชาญได้ติดตั้งสถานีตรวจอากาศเพื่อรวบรวมข้อมูลจากแปลงเกษตร โดยเผิงหยวนชิ่ง (สวมหมวกสีน้ำเงิน) จะจัดประชุมทบทวนเพื่ออธิบายให้เกษตรกรได้รับรู้ถึง การนำข้อมูลต่าง ๆ มาใช้ ผ่านการวิเคราะห์และแปลผลข้อมูล
สอนเกษตรกรฟิลิปปินส์ทำฟาร์มอัจฉริยะ
ขับรถมุ่งหน้าไปยังสหกรณ์การเกษตร Tabon San Jose ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดปัมปังกา (Pampanga) ซึ่ง เผิงหยวนชิ่ง (彭元慶) นักเทคนิคของทีม TTM ไต้หวัน และเกษตรกรของสหกรณ์รอพวกเราอยู่ซักพักใหญ่ ๆ แล้ว
เผิงหยวนชิ่ง เล่าว่า ผักกาดขาวและมะระ เป็นผลผลิตหลักของสหกรณ์การเกษตรแห่งนี้ โดยทีม TTM ได้ช่วยเหลือแนะนำการเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร เราเห็นกองดินที่ตั้งเรียงกันอยู่บนพื้น ด้านบนปกคลุมด้วยตาข่าย และใกล้ ๆ กัน เป็นแปลงปลูกผักกาดขาวที่กำลังเติบโตเขียวขจี ระหว่างแปลงผักกาดขาว มีเถาของมะระที่เลื้อยพันขึ้นไปตามเชือกที่โยงไว้บนค้าง เผิงหยวนชิ่งอธิบายว่า “ที่เห็นอยู่นี้เป็นวิธีการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมด้วยการปลูกพืชหมุนเวียน สาเหตุประการหนึ่งเนื่องมาจากเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่มีพื้นที่ในการทำเกษตรไม่มาก เราจึงอาศัยเทคนิคดังกล่าวเพื่อเพิ่มรายได้ต่อหน่วยพื้นที่ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด”
ทีม TTM ได้ช่วยเกษตรกรในท้องถิ่นจัดทำ “ปฏิทินการเพาะปลูก” โดยสลับการปลูกพืชต่างประเภทกัน ข้อดีคือพืชแต่ละชนิดจะพบปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชไม่เหมือนกัน วิธีนี้จึงช่วยลดการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชให้น้อยลง เผิงหยวนชิ่งย้ำว่า จริง ๆ แล้ว การทำเกษตรเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยทักษะความชำนาญและความประณีต ต้องมีการวางแผนเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ไม่เฉพาะเรื่องของสภาพอากาศ แต่ยังต้องคำนึงถึงราคาของผลผลิตอีกด้วย
มูลนิธิช่วยเหลือเด็กและครอบครัวไต้หวันในฟิลิปปินส์
การสร้างชุมชนที่มีความทรหด
มูลนิธิเด็กและครอบครัวไต้หวันประจำฟิลิปปินส์ (Taiwan Fund for Children and Families Philippines , TFCF Philippines) เรียกสั้น ๆ ว่า “ศูนย์ TFCF” ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 จางข่ายลี่ (張凱莉) ผู้อำนวยการ TCFC ประจำฟิลิปปินส์ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ได้เดินทางไปตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อค้นหาครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นหลายอย่างในช่วงหนึ่งปีถัดมา
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2020 ภูเขาไฟตาอัล (Taal Volcano) ทางตอนใต้ของกรุงมะนิลาเกิดการปะทุขึ้น และในเดือนกุมภาพันธ์ได้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนั้นเขต Addition Hills ในเมืองมันดาลูยอง (Mandaluyong) เป็นชุมชนหลักที่ศูนย์ TFCF ให้ความช่วยเหลืออยู่ ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนแออัดที่มีประชากรยากจนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นกว่า 410,000 คน จางข่ายลี่จำได้ว่าการระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยในวันที่ 12 มีนาคม รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ประกาศใช้มาตรการกักกันชุมชน โดยเริ่มการกักกันตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ทำให้จางข่ายลี่และทีมงานมีเวลาที่จำกัดเพียงแค่สองวันเท่านั้น ในการเร่งจัดหาสิ่งของเพื่อป้องกันโรค เพื่อให้สามารถแจกจ่ายได้ทันภายในวันที่ 14 มีนาคม
เมืองเข้าสู่ภาวะล็อกดาวน์ในวันรุ่งขึ้น...
การปิดเมืองดำเนินมานานถึงสองเดือนกว่า โดยที่มาตรการล็อกดาวน์ได้ถูกยกเลิกราวปลายเดือนพฤษภาคม พวกเขาได้กลับไปแจกจ่ายสิ่งของเป็นครั้งที่สองในวันที่ 2 มิถุนายน และพบว่ามีผู้คนจำนวนมากเดินเตร็ดเตร่ไปมาตามท้องถนน จึงได้ทราบว่าคืนก่อนหน้านั้นเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นในชุมชน และได้เผาทำลายบ้านเรือนเสียหายเกือบ 900 หลัง มีผู้คนกว่า 4,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย
จางข่ายลี่ตระหนักดีถึงภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชุมชนในฟิลิปปินส์ และคิดที่จะทำให้การดำเนินงานของศูนย์ TFCF ในฟิลิปปินส์มุ่งไปสู่การส่งเสริมความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น โดยยึดรูปแบบของ “ชุมชนทรหด” มาเป็นแนวคิดในการพัฒนา
แม้ว่าภารกิจของศูนย์ TFCF จะมุ่งเน้นในเรื่องของการสนับสนุนช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เด็กยากจนเป็นหลัก แต่ในฟิลิปปินส์ แม้แต่ “การดำรงชีวิต” ก็ยังเป็นปัญหา ดังนั้น ศูนย์ TFCF จึงตัดสินใจที่จะจัดสรรทรัพยากรบางส่วนเพื่อช่วยเหลือในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชุมชน พร้อมกับเสริมสร้างศักยภาพผู้ปกครองในชุมชนให้กลายเป็น “เมล็ดพันธุ์” ในการส่งเสริมชุมชน
ในช่วงแรกที่ศูนย์ TFCF ติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้รับความสนใจและความร่วมมือมากนัก จางข่ายลี่จึงติดต่อกับหน่วยดับเพลิงด้วยตนเอง โดยจัดฝึกอบรมผู้ปกครองในชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันภัยพิบัติ ด้วยความพยายามและมุ่งมั่นอย่างไม่ลดละ ทำให้หน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยท้องถิ่นเห็นถึงความตั้งใจจริงของศูนย์ TFCF ที่ต้องการจะช่วยเหลือชุมชน จึงเริ่มจัดสรรทรัพยากรมาช่วยเหลือและร่วมกันพัฒนาแผนที่ชุมชน เพื่อให้ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนดังกล่าวมีความเข้าใจว่าจะสามารถรับมือกับเหตุอัคคีภัยได้อย่างไร พร้อมกันนี้ ยังได้เชิญหน่วยงานภาครัฐร่วมกันปรับปรุงบ้านพักอาศัยที่ทรุดโทรมและเสี่ยงต่ออันตราย โดยเปลี่ยนวัสดุในการก่อสร้างมาเป็นคอนกรีตเพื่อทดแทนการใช้ไม้ซึ่งติดไฟได้ง่าย อันเป็นการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้มีความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม
จางข่ายลี่ตระหนักดีถึงภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชุมชนในฟิลิปปินส์ และคิดที่จะทำให้การดำเนินงานของศูนย์ TFCF ในฟิลิปปินส์มุ่งไปสู่การส่งเสริมความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น โดยยึดรูปแบบของ “ชุมชนทรหด” มาเป็นแนวคิดในการพัฒนา
(โดยมูลนิธิ TFCF)
ศูนย์ TFCF ได้ผลักดันให้หน่วยงานบรรเทาสาธารณะภัยของสำนักงานเขตยอมจัดสรรทรัพยากรออกมาช่วยเหลือ และร่วมกันวางแผนจัดทำแผนที่ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านทราบวิธีการรับมือเมื่อเกิดเพลิงไหม้ (โดยมูลนิธิ TFCF)
หลี่เหว่ยซง ผู้รับผิดชอบศูนย์จักษุ มักจะใช้ภาษาตากาล็อกพูดคุยกับประชาชนด้วยความเป็นกันเอง แม้ศูนย์จักษุจะยุ่งและมีงานเยอะ แต่บรรยากาศภายในศูนย์ฯ มักจะเป็นไปแบบสบาย ๆ และเป็นกันเอง
มูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในฟิลิปปินส์
ตรวจรักษาฟรีโดยไม่ปฏิเสธผู้ป่วยแม้แต่รายเดียว
เราเดินทางถึงมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในฟิลิปปินส์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขต Sta. Mesa ในตอนเช้าตรู่ บริเวณด้านนอกของศูนย์จักษุ คลาคล่ำไปด้วยผู้คน หลี่เหว่ยซง (李偉嵩) ผู้รับผิดชอบศูนย์จักษุอธิบายถึงสถานการณ์การให้บริการตรวจรักษาฟรีว่า “ประชาชนจำนวนมากจะมารอคิวตั้งแต่ตีห้า และวันนี้มีคนมาเข้าคิวประมาณ 200 กว่าคน”
เหล่าจิตอาสาของฉือจี้ได้พูดคุยกับพวกเราถึงจุดเริ่มต้นของมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในฟิลิปปินส์ ผู้อำนวยการคนแรกของมูลนิธิพุทธฉือจี้ต้องการให้มีการให้บริการทางการแพทย์ คุณแม่ของนายแพทย์เคอซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของมูลนิธิจึงยกมือขึ้นพร้อมกล่าวว่า ลูกชายของฉันเป็นหมอ ขณะที่นายแพทย์เคอเสียนจื้อ (柯賢智) ที่กำลังนั่งพักอยู่ข้าง ๆ ได้กล่าวเสริมขึ้นว่า “คุณแม่ก็เลยบริจาคผมให้กับมูลนิธิพุทธฉือจี้”
เขาเล่าถึงเรื่องราวของการตรวจรักษาฟรีให้ฟังอย่างค่อยเป็นค่อยไปว่า ในช่วงแรกทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องขอยืมโรงเรียนเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับการตรวจรักษา ใช้โต๊ะทำงานเป็นโต๊ะผ่าตัด ต้องถอดไฟตามผนังออกมาใช้เป็นไฟสำหรับการผ่าตัด
การให้บริการตรวจรักษาฟรีในฟิลิปปินส์เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 และประสบความสำเร็จในการดำเนินงานเป็นอย่างมาก จนทำให้ หลินจวิ้นหลง (林俊龍) ประธานบริหารมูลนิธิพุทธฉือจี้ (CEO) รู้สึกแปลกใจและเดินทางไปยังฟิลิปปินส์เพื่อดูการดำเนินงานด้วยตนเอง “เป็นการทำงานที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่พวกเขาสามารถสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่น”
เราได้เห็นการรักษาผู้ป่วยในเคสที่รักษายากจากการตรวจสุขภาพฟรีในฟิลิปปินส์ นายแพทย์เคอเสียนจื้อ อธิบายว่า ในฟิลิปปินส์ เนื่องจากผู้คนไม่มีเงินไปหาหมอ บ่อยครั้งที่โรคเล็ก ๆ กลายเป็นโรคร้ายแรง ดังนั้นทุกครั้งที่ไปเปิดบริการรักษาฟรีในพื้นที่ห่างไกล บรรดาแพทย์จึงพยายามตรวจรักษาผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การตรวจรักษาไม่ใช่เพื่อการแข่งขัน แต่เพราะไม่ต้องการทำให้ผู้ป่วยผิดหวัง และไม่ต้องการให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในการรักษา
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2023 ท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียน ผู้ก่อตั้งมูลนิธิพุทธฉือจี้ ได้ให้พรแก่โครงการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ของมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในฟิลิปปินส์ และเป็นข่าวดีที่จิตอาสาฉือจี้ได้แจ้งให้พวกเราทราบด้วยความปลาบปลื้ม
จริง ๆ แล้วแผนการสร้างโรงพยาบาลมีมาตั้งแต่หลายปีก่อนหน้านี้ นามบัตรของนายแพทย์เคอเสียนจื้อ นอกจากชื่อตำแหน่ง ยังมีคำว่า MD MBA และ MHM ด้วย เขาอธิบายว่า MD หมายถึงแพทยศาสตรบัณฑิต MBA หมายถึงการบริหารธุรกิจ และ MHM หมายถึงการบริหารจัดการทางการแพทย์ เขาคิดว่า ทั้งหมดนี้คงเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับตัวเขาเองเพื่อให้มีคุณสมบัติที่จำเป็นทั้งหมด ด้วยอายุย่างเข้าวัย 70 ปีหมาด ๆ เขาตั้งใจที่จะนำพาทีมงานจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งใหม่ให้สำเร็จ
เรื่องราวที่สะสมมาตลอด 28 ปียังมีอีกมากมาย เราจึงต้องกดปุ่มหยุดไว้ชั่วคราวก่อน รอให้โรงพยาบาลสร้างเสร็จ เราค่อยกลับไปฟิลิปปินส์เพื่อฟังเรื่องราวอื่น ๆ กันอีก
กลุ่มแพทย์ทำการตรวจรักษาฟรีในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก บุคลากรทางการแพทย์ให้ความช่วยเหลือโดยไม่มีการแบ่งแยก และไม่ต้องการให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในการได้รับการรักษา (โดย เคอเสียนจื้อ)
ศูนย์จักษุได้ให้บริการตรวจรักษาตาฟรีมานานถึง 17 ปีแล้ว โดยมอบการดูแลรักษาด้านจักษุวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญสูงสุด เพื่อให้ผู้ที่ประสบปัญหาสามารถกลับมามองเห็นได้ชัดเจนอีกครั้ง