นับตั้งแต่นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม) รายสองเดือนถูกตีพิมพ์ ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนพี่น้องชาวอาเซียนและบรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน ตลอดจนได้รับความชื่นชมจากหลากหลายวงการ ซึ่งนิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ภาษาอาเซียน ฉบับที่ 33 (เดือนเมษายน พ.ศ.2564) มีหัวข้อหลักคือ “กลุ่มคนชาวฮากกา” แบ่งออกเป็น 4 บทความ คือ “จังหวะดนตรีที่สอดคล้องกับชีพจรแผ่นดิน วงดนตรี Sheng-Xiang & Band”, “แก่นแท้แห่งวัฒนธรรมฮากกา เจิ้งหรงซิง-ผู้ฟื้นฟูอุปรากรฮากกา”, “คิดนอกกรอบ อัตลักษณ์และความโดดเด่นของละครภาษาฮากกา” และ “ไต้หวัน-ศูนย์กลางฮากกาศึกษาของโลก การค้นคว้าที่หลากหลายนำไปสู่พันธมิตรทางวิชาการทั่วโลก” เพื่อแนะนำให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีชาวฮากกาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากได้รู้จักกับชาวฮากกาที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน ทั้งในด้านดนตรี การแสดง และผลงานวิจัยทางวิชาการ
“ภาพยนตร์และโทรทัศน์” เป็นสื่อในการเผยแพร่วัฒนธรรมข้ามพรมแดนมาโดยตลอด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซีรีส์ไต้หวันให้ความสำคัญกับเนื้อหา มุมมอง และความหลากหลายของสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานให้ก้าวหน้าขึ้น จนได้รับการชื่นชมจากหลากหลายเวทีในระดับนานาชาติ ดังนั้นในฉบับนี้จึงขอนำเสนอบทความชื่อว่า “ซีรีส์ไต้หวัน “โก” อินเตอร์ PTS ผู้สร้างดินแดนอันสมบูรณ์ในวงการทีวี” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศักยภาพของซีรีส์ไต้หวันที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ
นอกจากนี้ ยังมีคอลัมน์เกี่ยวกับ “อาเซียน” ซึ่งฉบับนี้เป็นบทความพิเศษชื่อ “รักษ์ไทย รักไต้หวัน คณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้า” รายงานเรื่องราวการก่อตั้งคณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้าในไต้หวัน ทำให้การแสดงนาฏศิลป์ไทยแบบดั้งเดิมเป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนทางด้านศาสนาและวัฒนธรรมระหว่างไต้หวันกับไทย
นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ภาษาอาเซียน ยังคงยืนหยัดในการทำหน้าที่ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้มีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสืบไป