นับตั้งแต่นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม) รายสองเดือนถูกตีพิมพ์ออกมา ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนพี่น้องชาวอาเซียนและบรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน ตลอดจนได้รับความชื่นชมจากหลากหลายวงการ
นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ภาษาอาเซียนฉบับที่ 43 (เดือนธันวาคม พ.ศ.2565) มีหัวข้อหลักคือ “ความยั่งยืน เทคโนโลยี การลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์” โดยแบ่งออกเป็น 4 บทความคือ “การวิจัยพัฒนาเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียวของไต้หวัน : คลังสินค้าอัจฉริยะกับสารสีจากจุลินทรีย์” “การตลาดแบบยืดหยุ่นเฉพาะบุคคล ข้อได้เปรียบของเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจากไต้หวัน” “เส้นทางของวัฏจักรในธรรมชาติ : จรวดเอนไซม์ของหยางชิวจง” และ “จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของอุตสาหกรรมออปโตอิเล็กทรอนิกส์ : ระบบรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์แบบ 100%” ซึ่งจะพาคุณไปรู้จักในด้านต่าง ๆ ทั้ง “เทคโนโลยี AI” “เครื่องชาร์จแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า” “เอนไซม์ธรรมชาติ” “การรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์” แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาคการศึกษาของไต้หวัน ล้วนมีความพยายามแสวงหาและนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาแบบต่าง ๆ ของทั่วโลกที่มุ่งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน
สำหรับคอลัมน์ “รู้จักไต้หวัน” ในฉบับนี้ เป็นบทความที่มีชื่อว่า “ทางรถไฟสายป่าไม้อายุนับร้อยปีแห่งเขาอาลีซาน : ทิวทัศน์ทางวัฒนธรรมที่ร่วมแบ่งปันไปทั่วโลก” ที่จะนำผู้อ่านชาวอาเซียนไปทำความรู้จักกับความเป็นมาของการพัฒนาและอนุรักษ์ทางรถไฟไต้หวันตั้งแต่พื้นที่ราบไปจนถึงพื้นที่ภูเขาสูงอย่างสมบูรณ์ พร้อมกับเสนอความงดงามของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และทิวทัศน์ทางธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังมี “คอลัมน์พิเศษเกี่ยวกับอาเซียน” ซึ่งฉบับนี้เป็นบทความเรื่อง “นักเขียนมาเลเซียเชื้อสายจีนในไต้หวัน : กับวรรณกรรมเมืองร้อนของพวกเขา” ผ่านการสัมภาษณ์คุณจางกุ้ยซิง (張貴興) และคุณหลีหย่งผิง (李永平) ในฐานะที่เป็นนักเขียนไต้หวัน นำเสนอวงการสร้างสรรค์ผลงานของนักเขียนในไต้หวันกับอิทธิพลที่มีต่อโลกของวรรณกรรมจีน
นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน ยังคงยืนหยัดในการทำหน้าที่เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้มีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสืบไป