ตั้งแต่นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม) รายสองเดือน ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นต้นมา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่านทั้งมิตรชาวอาเซียน และผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน ตลอดจนได้รับเสียงชื่นชมจากวงการต่างๆ มากมาย
“ไต้หวันพาโนรามา” ภาษาอาเซียน ฉบับที่ 34 (ประจำเดือนมิถุนายน 2564) ฉบับนี้ นำเสนอในหัวข้อหลัก “ลองลิ้มชิมรสไอศกรีม-น้ำแข็งไสไต้หวัน” มีทั้งสิ้น 4 บทความ ได้แก่ “ลิ้มรสความสดชื่นของไอศกรีมผลไม้ประจำท้องถิ่น ไอศกรีมกระบองเพชรเผิงหูและไอศกรีมมะม่วงอวี้จิ่ง”, “รสชาติดั้งเดิมของร้านน้ำแข็งไสเก่าแก่ ร้านหลงฉวนในหมาโต้วและร้านฉางเหม่ยที่ฉีซาน”, “1982 de Glacée กับ Justice Ice Cream ทำไอศกรีมด้วยใจรัก หวังจักเปลี่ยนแปลงโลก” และ “ตั้งชื่อแบรนด์ด้วยชื่อตัวเอง ศิลปะแสนอร่อยบนจานขนมหวานเย็น” เนื้อหาแต่ละบทนำพาผู้อ่านไปรู้จักร้านน้ำแข็งไสเก่าแก่ในนครไถหนานและเกาสง ซึ่งอาจจะสะกิดให้นึกถึงความทรงจำในอดีต การนำของดีประจำท้องถิ่นมาผลิตเป็นขนมหวานเย็นที่รับผิดชอบต่อสังคมในเมืองฮัวเหลียนและเผิงหู การสร้างสรรค์พัฒนาขนมหวานเย็นขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ อ่านแล้วจะทำให้รู้ว่าในขนมหวานเย็นชามหนึ่ง แฝงไว้ด้วยเรื่องราวของบุคคลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ในคอลัมน์ “รู้จักไต้หวัน” ของนิตยสารฉบับนี้ นำเสนอบทความพิเศษ “ถ่ายทอดวัฒนธรรมไซต์งาน” สะท้อนวัฒนธรรมไซต์งานจากมุมมองนักเขียน ผู้สร้างละคร และพิพิธภัณฑ์ จะได้เห็นถึงพลังชีวิตของผู้คนที่ดิ้นรนโดยไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาวัฒนธรรมของคนรากหญ้าที่ใกล้เคียงกันระหว่างไต้หวันกับชาวอาเซียน
ยังมีเรื่องราวของการจัดเสวนานักแปล โดย นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ที่มหาวิทยาลัยซือต้า (NTNU) ซึ่งจบลงอย่างราบรื่น เนื้อหาการเสวนาประกอบด้วยเทคนิคและประสบการณ์จริงในงานแปล ความท้าทายและการเรียนรู้วัฒนธรรมข้ามชาติ อาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมปลายสตรีจงซัน (中山女中) โรงเรียนมัธยมปลายหมิงหลุน (明倫高中) และโรงเรียนมัธยมปลายเจี้ยนกั๋ว (建國中學) เป็นต้น ได้มาร่วมกิจกรรมกับวิทยากร 3 ท่าน คือ โรเบิร์ต ฟ็อกซ์ (ชาวอเมริกัน), ยูกินะ ยามากุจิ (ชาวญี่ปุ่น) และเตมมี วิรยาวัน (ชาวอินโดนีเซีย) พูดคุยด้วยความสนุกสนาน ทำให้บรรดาอาจารย์และนักเรียนให้ความสนใจอย่างมาก
“ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน จะยึดมั่นในการทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเสริมสร้างมิตรภาพอันดีงามระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีความรุ่งเรืองร่วมกันสืบไป