นับตั้งแต่นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม) รายสองเดือนถูกตีพิมพ์ออกมา ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนพี่น้องชาวอาเซียน และบรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน ตลอดจนได้รับความชื่นชมจากหลากหลายวงการ
นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ภาษาอาเซียนฉบับที่ 51 (เดือนเมษายน พ.ศ. 2567) รายงานในหัวข้อหลักคือ “ปลุกชีวิต ชุบชีวา ให้เมืองเก่า” โดยแบ่งออกเป็น 4 บทความ ประกอบด้วย ปลุกเมืองเก่ามาเล่าเรื่อง การฟื้นฟูศิลปวิทยาการย่านเมืองเก่าไทจง, เหยียนเฉิง : ย่านการค้าที่ถือกำเนิดจากท่าเรือ กับความสง่างามที่ผสมผสานความเก่าและใหม่อย่างลงตัว, เมืองที่ทะยานขึ้นจากแผนที่โบราณ ความสงบผ่อนคลายในซินกั่งของเจียอี้, การหลอมรวมวัฒนธรรมและธรรมชาติ อดีตและปัจจุบันของไถเจียง ซึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับย่านเมืองเก่าที่นครไทจง, เขตเหยียนเฉิง นครเกาสง, ตำบลซินกั่ง เมืองเจียอี้ และอุทยานแห่งชาติไถเจียง นครไถหนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ชมวิว 4 แห่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสีสันของวัฒนธรรม มนุษยศาสตร์และธรรมชาติ ที่นอกจากจะมีบริบทการพัฒนาย่านเมืองเก่าแล้ว ยังได้นำเสนอถึงเสน่ห์ของภูมิทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์ของสถานที่ดังกล่าวอีกด้วย
สำหรับคอลัมน์ “รู้จักไต้หวัน” ในฉบับนี้ เป็นบทความเรื่อง “พาไปดื่มด่ำรสชาติกาแฟไต้หวัน กับมินิทริปตะลอนไร่กาแฟชั้นนำระดับโลก” ที่รายงานถึงพัฒนาการกาแฟระดับพรีเมียมของไต้หวัน และครั้งแรกกับการจัดแข่งขันประกวดกาแฟคุณภาพสูง (COE, Cup of Excellence) ของไต้หวันและองค์กรพันธมิตรความเป็นเลิศด้านกาแฟ (Alliance for Coffee Excellence, ACE) ประจำปี ค.ศ. 2023 โดยในบรรดากาแฟ 20 รายการที่ถูกคัดเลือก มีถึง 13 รายการที่มาจากอาลีซาน บทความนี้ยังได้แนะนำไร่กาแฟที่มีความพิเศษอีกหลายแห่ง และเชิญชวนเพื่อนผู้อ่านชาวอาเซียนมาดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟที่ไต้หวัน
นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์พิเศษเกี่ยวกับประเทศในอาเซียน ซึ่งฉบับนี้เป็นบทความเรื่อง “ยิ่งรู้จัก ยิ่งรักเธอ ย้อนอดีตความผูกพันไต้หวัน-เวียดนาม” ที่รายงานถึงการเดินทางไปเยือนประเทศเวียดนามของทีมงาน “นิตยสารไต้หวันพาโนรามา” ลงพื้นที่สัมภาษณ์และสังเกตการณ์ในพื้นที่จริง โดยไต้หวันเป็นผู้ลงทุนใหญ่อันดับที่สี่ในเวียดนาม ประกอบกับในไต้หวันมีแรงงานชาวเวียดนามกว่า 250,000 คน และลูกหลานผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จากเวียดนามอีกกว่า 100,000 คน ดังนั้นการแลกเปลี่ยนไปมาหาสู่กันระหว่างสองประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจการค้าและวัฒนธรรม จึงมีความแน่นแฟ้นเป็นอย่างยิ่ง บทความนี้ จะแนะนำความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ระหว่างไต้หวันกับเวียดนาม และแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ
นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ภาษาอาเซียน ยังคงยืนหยัดในการทำหน้าที่เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ให้มีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสืบไป