นับตั้งแต่นิตยสารไต้หวันพาโนรามาฉบับภาษาอาเซียน (ภาษาไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม) รายสองเดือนมีการตีพิมพ์เป็นต้นมา ทุกฉบับล้วนได้รับความสนใจและเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนบรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน อีกทั้งได้รับเสียงชื่นชมจากทุกภาคส่วน
คุณจางจุนเจิน (張尊禎) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ร้านขนมเปี๊ยะแห่งความสุขของฉัน” กล่าวขณะให้สัมภาษณ์แก่นิตยสารไต้หวันพาโนรามาว่า “ฉันคิดว่าความหวานของไต้หวันมี 2 แบบ แบบแรกคือเป็นความหวานจากการแบ่งปัน อีกแบบหนึ่งคือความหวานจากการปกปักรักษาของเทพเจ้า” ในอดีต “น้ำตาล” ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไต้หวัน และนำมาซึ่งเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาล ขนมหวานในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ได้กลายเป็นรสชาติแห่งความทรงจำอันงดงามของผู้คนจำนวนมากอีกด้วย
ภาพหน้าปกของนิตยสารฉบับนี้ เริ่มจากขนมโบราณ (หม่าเหล่า ขนมเปี๊ยะ ลูกกวาดซินกั๋ง) ขนมโบราณสไตล์สร้างสรรค์ (พายสับปะรด ขนมเปี๊ยะไส้เนย ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วเขียว) ขนมเปี๊ยะที่มีทั้งรสหวานและเค็ม (ขนมเปี๊ยะจู๋เชี่ยน ขนมเปี๊ยะไส้แกงกะหรี่) รวมถึง น้ำตาลมะพร้าว เนียงยา-กูอิฮ์ และน้ำตาลปี๊บ ที่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่นำเข้าสู่ไต้หวัน เพื่อให้ผู้อ่านได้ลิ้มรสความหวานกันอย่างเต็มอิ่ม
สำหรับบทความในฉบับนี้ยังได้สัมภาษณ์บริษัทเทคโนโลยีของไต้หวันที่ได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติอย่างล้นหลาม ตั้งแต่คลังข้อมูลป้องกันกลลวงมิจฉาชีพไปจนถึงระบบยืนยันตัวตนการเงินดิจิทัล อาทิ ใบหน้าและเอกสารประจำตัว เป็นต้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามปกป้องความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศของโลก ดังที่คุณหลี่จี้ก่วง (李紀廣) ซีอีโอของ Authme กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ว่า “นี่คือปัญหาที่ทั่วโลกต้องเผชิญ แต่เทคโนโลยีคือฮาร์ดพาวเวอร์ของเรา หากสามารถค้นพบวิธีแก้ไข ก็หมายความว่าสามารถเผยแพร่ออกไปยังทั่วทุกมุมโลกได้”
นอกจากนี้ยังจะพาผู้อ่านไปเยือน “ฟิลิปปินส์” ประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 8 ของไต้หวันและเป็นเพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันกับไต้หวัน นับเป็นประเทศที่ 2 ของการออกไปสัมภาษณ์ในต่างประเทศของไต้หวันพาโนรามาหลังการไปสัมภาษณ์ที่ “เวียดนาม” มาแล้ว โดยตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไปจะเริ่มนำเสนอ “ความเชื่อมโยงกันทางประวัติศาสตร์” “วัฒนธรรมออสโตร นีเซียน” “ความร่วมมือด้านวิชาการ” และ “กิจกรรมการกุศล” ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนกันในภาคประชาชนและสะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างไต้หวันกับฟิลิปปินส์
ไต้หวันพาโนรามาฉบับภาษาอาเซียน จะยังคงยืนหยัดทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสืบไป