นับตั้งแต่นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน (อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม) รายสองเดือนตีพิมพ์เผยแพร่เป็นต้นมา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่านทั้งมิตรชาวอาเซียน และผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน ตลอดจนได้รับคำชื่นชมจากวงการต่าง ๆ มากมาย
“ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน ฉบับที่ 44 (ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566) ฉบับนี้ นำเสนอเกี่ยวกับ “ไต้หวัน – เกาะแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ” มีทั้งสิ้น 4 บทความ ประกอบไปด้วย “ความมหัศจรรย์ของผีเสื้อ : ความหลากหลายและการอนุรักษ์ผีเสื้อไต้หวัน” “ฟาแลนนอปซิส : ออกดอกตลอดปี บานสะพรั่งไปทั่วโลก” “สัญญาณจากผืนแผ่นดิน : ไต้หวัน – พิพิธภัณฑ์ดินโลก (World Soil Museum)” และ “เรียนรู้ความยั่งยืนจากท้องทะเล : ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลของไต้หวัน” แสดงให้เห็นถึงความลึกล้ำของการอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลายในทุกมิติ โดยเริ่มจาก สิ่งแวดล้อม พันธุ์สิ่งมีชีวิต และเทคโนโลยีเกษตรกรรม
คอลัมน์ “รู้จักไต้หวัน” ประจำฉบับนี้ จะนำเสนอภายใต้ธีมหลัก “การเปลี่ยนแปลงที่งดงามของชาอูหลงไต้หวัน : ใช้อัตลักษณ์ไต้หวันคว้าชัยชนะในเวทีโลก” รายงานผลสำเร็จของโรงงานผลิตใบชาเก่าแก่และผู้ผลิตใบชามืออาชีพในไต้หวันที่คว้ารางวัลระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา นำคุณผู้อ่านเยี่ยมชมประเพณีท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์และศิลปะการผลิตใบชาของไต้หวัน
นอกจากนี้ ปี ค.ศ. 2022 เป็นปีแห่งการครบรอบ 30 ปี ของการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนระหว่างไต้หวันกับเวียดนาม ในส่วนของ “รายงานพิเศษอาเซียน” ยังได้รายงานการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไต้หวันประจำปี 2022 และการแสดงกลางแจ้งของ “คณะศิลปะเครื่องกระทบสือกู่” รวม 2 วัน ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานผู้แทนไต้หวันประจำเวียดนามที่กรุงฮานอย ระหว่าง 19-20 พ.ย. 2565 ดึงดูดความสนใจชาวเวียดนามนับหมื่นและนักธุรกิจไต้หวันในเวียดนามอีกหลายร้อยคน รวมทั้งได้แนะนำการตระเวนแสดงใน 20 กว่าประเทศของคณะศิลปะเครื่องกระทบสือกู่ ร้อยเรียงความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนด้วยวัฒนธรรมเครื่องกระทบซึ่งเป็นศิลปะพื้นเมืองของไต้หวัน
“ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียนจะยึดมั่นทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเสริมสร้างมิตรภาพอันงดงามระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีความรุ่งเรืองร่วมกันสืบไป