นับตั้งแต่นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม) รายสองเดือนถูกตีพิมพ์ออกมา ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนพี่น้องชาวอาเซียน และบรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน ตลอดจนได้รับความชื่นชมจากหลากหลายวงการ สำหรับนิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ภาษาอาเซียนฉบับที่ 46 (ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566) มีหัวข้อหลักคือ “ทริปเที่ยวแบบเนิบช้าในชนบทของไต้หวัน” แบ่งออกเป็น 4 บทความ คือ “ทริปสุดชิลที่เขตท่องเที่ยวธรรมชาติซีรายา พลิกโฉมพื้นที่รกร้างให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว, ลิ้มลองรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แห่งอี๋หลาน อรรถรสแห่งการหมักบ่มด้วยกาลเวลา, เมืองคู่แฝดซวงปิน ลิ้มรสอาหารสไตล์อามิส สัมผัสเสน่ห์ชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน และเรื่องเล่า “เอ้อทง” กับตำนานของนครแห่งไม้ เดินทอดน่องสู่เจียอี้” เพื่อแนะนำเสน่ห์ที่หลากหลายของไต้หวัน และเมืองเล็ก ๆ ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติควรค่าแก่การมาเยือนเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับคอลัมน์ “รู้จักไต้หวัน” ในฉบับนี้ เป็นบทความที่มีชื่อว่า “วันนี้คุณใช้สมุนไพรหรือยัง? ยินดีต้อนรับสู่โลกสมุนไพรของไต้หวัน” ที่จะแนะนำให้ผู้อ่านชาวอาเซียนได้รู้จักกับวัฒนธรรมการใช้พืชสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์ของไต้หวัน พาไปเยี่ยมชมถนนสมุนไพรในไต้หวัน และการนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังมี “สกู๊ปพิเศษเกี่ยวกับอาเซียน” ซึ่งฉบับนี้เป็นบทความเรื่อง “ภาษาแห่งความรัก : ไต้หวันผลักดันสื่อการเรียนการสอน 7 ภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” นำเสนอเรื่องราวที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจียอี้ ใช้เวลากว่า 5 ปี เพื่อผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาแม่ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จำนวนรวม 30 เล่ม ครอบคลุมภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ทั้ง 7 ภาษา ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา และไทย สนับสนุนให้ครอบครัวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่สอนลูก ๆ ให้เรียนรู้ภาษาแม่ และเห็นถึงความสำคัญต่อการสืบสานความหลากหลายทางวัฒนธรรม
นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน ยังคงยืนหยัดในการทำหน้าที่เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้มีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสืบไป