นับตั้งแต่มีการตีพิมพ์นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน (อินโดนีเซีย ไทย และเวียดนาม) รายสองเดือนเป็นต้นมา ทุกฉบับได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้อ่านชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน ตลอดจนได้รับเสียงชื่นชมจากวงการต่างๆ อย่างล้นหลาม
“ไต้หวันพาโนรามา” ภาษาอาเซียน ฉบับที่ 25 (ประจำเดือนธันวาคม 2562) นำเสนอภายใต้หัวข้อ “ภูมิใจที่ได้กลายเป็นคนไต้หวัน” กับ 4 บทความที่เจาะลึกวงการบันเทิง ดนตรี ศิลปะ และการแพทย์ของไต้หวัน จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญต่างชาติซึ่งได้โอนสัญชาติมาเป็นชาวไต้หวัน ได้แก่ “ท่องไปทั่วไต้หวัน ถ่ายทอดพลังงานบวก Rifat Karlova ผู้มาจากตุรกี”, “ฟอร์โมซาคือบ้านของฉัน จังหวะ Scherzo ของ Rolf-Peter Wille”,
“ภาพวาดชนบทจากปลายพู่กัน จิตรกรชาวยูเครน Ivan Yehorov หลงมนต์เสน่ห์ไต้หวัน” และ “ไต้หวันคือแดนสวรรค์ สำหรับคุณหมอผู้รักการผจญภัย นายแพทย์ปีเตอร์ เคนริก” ซึ่งบทความเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการขุดค้นเรื่อง
ราวและประสบการณ์ ของผู้คนจากวงการต่างๆ บนผืนแผ่นดินนี้ โดยไม่มีการแบ่งแยกสัญชาติและเผ่าพันธุ์
สำหรับคอลัมน์ “รู้จักไต้หวัน” ในฉบับนี้ยังคงใช้วิธีขี่จักรยาน ขึ้นไปยังจุดสูงสุดของเมืองผิงตง เพื่อไปทำความรู้จักกับอู้ไถ ดินแดนที่มีสมญานามว่า “ถิ่นกำเนิดของเมฆ” นอกจากได้ชื่นชมทัศนียภาพสองข้างทางที่ขี่ผ่านแล้ว ยังถือโอกาสสำรวจวัฒนธรรม และศิลปะอันสวยงามของชนเผ่าหรูข่าย ตลอดจนน้ำตกตามธรรมชาติ และระบบนิเวศในหุบเขาที่ลี้ลับ ซึ่งสะท้อนถึงความงดงามของชนบทไต้หวันได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ในคอลัมน์ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ประจำฉบับ ยังแนะนำ “ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ” (Center for Southeast Asian Studies, NCCU) เกี่ยวกับวิธีการเชื่อมโยงสถาบันวิจัยไต้หวัน กับกลุ่มสถาบันวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชีย เพื่อร่วมกันผลักดันโครงการวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการบ่มเพาะบุคลากร
“ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน จะยึดมั่นในการทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และเสริมสร้างมิตรภาพอันดีงาม ระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้มีความรุ่งเรืองร่วมกันสืบไป