Home

คอลัมน์

เอกลักษณ์วัฒนธรรม อาหารการกินของไต้หวัน

เอกลักษณ์วัฒนธรรม อาหารการกินของไต้หวัน

เนื้อเรื่อง‧เฉินเลี่ยงจวิน แปล‧เจนนรี ตันตารา

เมษายน 2025

นับตั้งแต่นิตยสาร “Taiwan Panorama” ฉบับภาษาอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม) รายสองเดือนถูกตีพิมพ์ออกมาก็ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนพี่น้องชาวอาเซียน และบรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน ตลอดจนได้รับความชื่นชมจากหลากหลายวงการ

ในบรรดาอาหารไต้หวันที่มีความหลากหลายและรูปแบบต่าง ๆ บางเมนูอาจมีชื่อที่แค่ได้ยิน ก็ทำเอาหลายคนถึงกับต้องตกใจ หรือบางเมนูอาจมีสีดำสนิท แต่รู้หรือไม่ อาหารหรือวัตถุดิบเหล่านี้ล้วนมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และความทรงจำแห่งชีวิตของชาวไต้หวันแฝงอยู่ เรื่องราวจากภาพหน้าปกของนิตยสารฉบับนี้ นำเสนอเมนูสุดลึกลับผ่านบทความที่น่าสนใจ ประกอบไปด้วย “รสชาติแห่งกาลเวลา เรื่องเล่าของไชโป้วดำ” “ความลึกลับและล้ำลึกของอาหารสีดำ เล่าเรื่องไข่เยี่ยวม้าและถั่วดำ” “สูตรลับสีดำที่ช่วยดับกระหายและแก้ร้อนใน หญ้าแห่งเซียนกับเรื่องราวของเฉาก๊วย” และ “ทองคำดำจากผืนดิน : ถั่วลิสงผิวดำและเห็ดทรัฟเฟิลไต้หวัน” มาร่วมไขปริศนาต้นกำเนิดของอาหารและอุตสาหกรรมเหล่านี้ พร้อมกับทำความเข้าใจสาเหตุที่เมนูลึกลับเหล่านี้ ทำให้ผู้คนติดใจและอยากจะลิ้มลองรสชาติซ้ำแล้วซ้ำอีก

สำหรับคอลัมน์ “รู้จักไต้หวัน” ในฉบับนี้  เป็นบทความเรื่อง “เวทมนตร์แห่งป่า เยียวยากายและใจ : อาบป่าฮิโนกิที่อาลีซานสุดแสนฮีลใจ” นำเสนอเส้นทางป่าบำบัดอาลีซาน ซึ่งเป็นเส้นทางเยียวยาจิตใจด้วยป่าแห่งแรกของไต้หวัน ขอเชิญชวนทุกคนเข้าป่า เดินตามรอยผู้นำทางและนักพนาบำบัด เพื่อสัมผัสประสบการณ์อาบป่าแบบเต็มรูปแบบ ดื่มด่ำไปกับความเงียบสงบและกลิ่นหอมจากธรรมชาติอย่างผ่อนคลาย

ในส่วนของคอลัมน์พิเศษเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับนี้ นำเสนอ “เรื่องราวของผู้ย้ายถิ่น : ยุคแห่งการเกื้อกูลสู่ความรุ่งโรจน์ร่วมกัน” บอกเล่าเรื่องราวของคนไต้หวันที่เดินทางไปยัง 10 ประเทศอาเซียน ภายใต้นโยบาย “มุ่งใต้” และ “มุ่งใต้ใหม่”  เพื่อสานฝันการเป็นเจ้าของธุรกิจ และสืบเนื่องจากที่ไต้หวันเปิดให้แรงงานต่างชาติจากประเทศอาเซียนเดินทางมาทำงานในไต้หวัน ส่งผลให้มีคู่สมรสต่างชาติและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 มากขึ้น มีโอกาสใช้ทักษะความสามารถที่ไม่เหมือนใครของตน สร้างช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ในต่างแดน

Taiwan Panorama ฉบับภาษาอาเซียน จะยังคงยืนหยัดทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสืบไป 

บทความเพิ่มเติม

บทความยอดนิยม