นับตั้งแต่นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ฉบับภาษาอาเซียน (ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม) รายสองเดือนถูกตีพิมพ์ออกมา ก็ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบของเพื่อนพี่น้องชาวอาเซียน และบรรดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อาศัยอยู่ในไต้หวัน ตลอดจนได้รับความชื่นชมจากหลากหลายวงการ
นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ภาษาอาเซียนฉบับที่ 49 (เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566) รายงานในหัวข้อหลัก “สัญลักษณ์บนท้องถนนของไต้หวัน” แบ่งออกเป็น 4 บทความคือ ทิวทัศน์ที่ซ่อนอยู่ในตรอกซอกซอย ขอคารวะต่อความมีอิสรเสรีของเหล่าเหล็กดัดหน้าต่าง, เสียงจอแจของฝูงชน ภูมิทัศน์ป้ายร้านค้าสไตล์ไต้หวัน, หินขัด งานก่อสร้างธรรมดาและไม่ธรรมดา รังสรรค์สถาปัตยกรรมด้วยเศษหินและปูนซีเมนต์ และกระเบื้องแผ่นเล็กกับประวัติอันยิ่งใหญ่ ไปฟังสถาปนิกญี่ปุ่นเล่าเรื่องกระเบื้องเคลือบในไต้หวัน จากการเปลี่ยนแปลงของวัสดุก่อสร้างที่มีความแตกต่างกัน 4 ประเภท ได้แก่ เหล็กดัดหน้าต่าง ป้ายร้านค้า หินขัด และแผ่นกระเบื้อง แสดงให้เห็นถึงภาพบรรยากาศของท้องถนนไต้หวันในยุคสมัยต่าง ๆ กับร่องรอยเบาะแสทางวัฒนธรรม
สำหรับคอลัมน์ “รู้จักไต้หวัน” ในฉบับนี้ เป็นบทความ “โฉมหน้าใหม่หมู่บ้านฮากกา “เหม่ยหนง” อบอวลไปด้วยความอบอุ่นและมิตรภาพของพื้นถิ่น” นำเสนอ “เหม่ยหนง” ในบริบทด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการพัฒนาอุตสาหกรรม มีร้านขายก๋วยเตี๋ยว การเพาะปลูกบัวน้ำ และวงดุริยางค์เซิงเสียง เป็นต้น เพื่อแนะนำให้เพื่อนผู้อ่านชาวอาเซียนได้รู้จักกับลักษณะเฉพาะถิ่นของชุมชนฮากกาเล็ก ๆ
นอกจากนี้ยังมีคอลัมน์เกี่ยวกับ “ความพิเศษของอาเซียน” ฉบับนี้เป็นบทความเรื่อง “การหลอมรวมทางวัฒนธรรม นาฏศิลป์ต่างชาติในไต้หวัน” ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของโมฮาเหม็ด มัมดูห์ ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีความสามารถในการเต้นรำสไตล์อียิปต์ กับหลิวเซวียนเจิน นักเต้นระบำอินเดีย เพื่อแนะนำการผสมผสานระหว่างนาฏศิลป์ต่างชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นของไต้หวัน อันแสดงให้เห็นว่า สังคมไต้หวันให้การยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายด้านวัฒนธรรม
นิตยสาร “ไต้หวันพาโนรามา” ภาษาอาเซียน ยังคงยืนหยัดในการทำหน้าที่เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเสริมสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างไต้หวันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ให้มีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันสืบไป