ฝันที่เป็นจริงในต่างแดน
โครงการสานฝัน ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และบุตรธิดา
เนื้อเรื่อง‧หลี่ซานเหว่ย ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧กาญจน์ญาณ์ กฤษณ์ชญาคมน์
กุมภาพันธ์ 2022
夢想不論大小,有勇氣實踐,就是偉大的成就。內政部移民署的「新住民及其子女築夢計畫」(以下簡稱「築夢計畫」)自2015年啟動,至今受益者逾250人,對激發自我成長,推動雙向多元文化交流,成效卓著。
ไม่ว่าความฝันจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่สักเพียงใด ขอแค่มีความกล้าที่จะลงมือทำให้ความฝันนั้นเป็นจริง เท่านี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดแล้ว “โครงการสานฝันผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และบุตรธิดา” (ต่อไปเรียกย่อว่า โครงการสานฝันฯ) ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงมหาดไทยไต้หวัน เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปีค.ศ.2015 จนถึงปัจจุบันนี้มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการแล้วกว่า 250 คน โครงการดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเอง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันหลากหลายซึ่งกันและกัน บังเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเด่นชัด
ด้วยความที่ไต้หวันเป็นประเทศที่มีความเป็นมิตรสูงและยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงทำให้ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ก้าวเข้ามาสู่สภาพแวดล้อมอันไม่คุ้นเคยในดินแดนแห่งนี้ ไม่เพียงแต่จะสามารถหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว ยังสามารถแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของประเทศบ้านเกิดได้อย่างเสรีอีกด้วย ด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรในไต้หวัน ทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตและเติบโตได้อย่างมีความสุข เกิดความมั่นใจที่จะมอบสิ่งดีๆ ตอบแทนกลับคืนสู่สังคมและเจิดจรัสเปล่งประกายแห่งความสุข
การศึกษาวิจัยของ ศ.ไช่จงเต๋อแสดงให้เห็นว่า ศิลปะการแสดงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตและจิตใจของชนชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความปรารถนาที่กินใจผู้คน
“ทุกครั้งที่ฉันหวนนึกถึงความปรารถนาของพวกเขา ก็จะรู้สึกสะเทือนใจขึ้นมาทันที” หลี่หมิงฟาง (李明芳) เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารอาวุโส แผนกกิจการคนเข้าเมือง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แค่ได้เกริ่นถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “โครงการสานฝันฯ” ที่ดำเนินโครงการมานานหลายปีแล้ว เธอก็ตาแดงมีน้ำตารื้นขอบตา ซึ่งแสดงว่ามีเรื่องราวที่เปี่ยมด้วยความซาบซึ้งกินใจเกินกว่าจะใช้ถ้อยคำมาพรรณนา
“อันที่จริง สิ่งที่พวกเขาต้องการนั้นไม่ได้มากมายอะไรนัก แต่เมื่อความใฝ่ฝันของพวกเขาเป็นจริง อารมณ์ความรู้สึกปลื้มปีติและซาบซึ้งใจเหล่านั้น ทำให้ฉันรู้สึกยากที่จะลืมเลือน” เมื่อพลิกดูอัลบั้มรูปผลการดำเนิน “โครงการสานฝันผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และบุตรธิดา” ครั้งที่ 1 เธอได้หยิบยกเรื่องราวของหวงจื้อหยาง (黃志揚) บุตรชายของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ฝันอยากเรียนวิชาศิลปะการป้องกันตัวเทควันโดขึ้นมาเล่าว่า จากการช่วยเหลือด้วยเงินรางวัลของโครงการนี้ ทำให้ความปรารถนาทั้งสองประการของเขาเป็นจริงขึ้นมา ไม่เพียงแต่ได้รับค่าเล่าเรียนสำหรับการเรียนเทควันโดและอุปกรณ์เครื่องใช้ที่เกี่ยวข้อง ด้วยความกตัญญูของหวงจื้อหยาง เขาจึงยื่นขอเครื่องซักผ้าให้คุณแม่อีกด้วย เพื่อที่ต่อไปแม่ของเขาจะได้ไม่ต้องลำบากตรากตรำก้มตัวขยี้ซักชุดเทควันโดที่เปื้อนคราบเหงื่อไคลให้ลูกชายอยู่ทุกวันจนหลังขดหลังแข็ง เมื่อทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนำเครื่องซักผ้าผูกโบจัดส่งไปให้ที่บ้าน คุณแม่ของหวงจื้อหยางถึงกับร้องไห้ออกมาด้วยความซาบซึ้งใจ
ยังมีรูปถ่ายอีกใบหนึ่งเป็นรูปของแม่ลูกกำลังกอดกันที่ริมชายทะเล เบื้องหลังของรูปใบนี้แฝงด้วยเรื่องราวอันน่าประทับใจ “โครงการสานฝันฯ ช่วยต่อเติมความฝันที่จะมีภาพครอบครัวที่ได้อยู่ด้วยกัน” เรื่องราวของเจิ้งชุนซิ่ง (鄭春杏) จากเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ของจีน ลูกสาวผู้กตัญญูของเธอยื่นสมัครในโครงการสานฝันฯ ทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือในการสานฝันของผู้เป็นแม่ที่เคยใฝ่ฝันอยากจะถ่ายรูปชุดแต่งงานให้เป็นจริงขึ้นมาหลังจากกาลเวลาผ่านไปนานนับสิบปี ถึงแม้ว่าสามีที่ป่วยหนักจะเสียชีวิตลงก่อนที่จะได้ถ่ายรูปชุดแต่งงานสำเร็จก็ตาม แต่รูปถ่ายที่เต็มไปด้วยความทรงจำงดงามอันล้ำค่าเหล่านี้ มีส่วนช่วยปลอบประโลมจิตใจของเธอเมื่อต้องเผชิญกับการสูญเสียสามีผู้เป็นที่รัก หากไม่มีเงินช่วยเหลือจากโครงการและไม่ได้ลงมือทำในเวลานั้น เธอคงจะรู้สึกเสียใจไปตลอดชีวิต
การให้เกียรติและความเข้าใจ คือหนทางที่ถูกที่ควร
“ที่จริงแล้ว ทัศนคติของผู้คนในการยอมรับและให้ความเห็นอกเห็นใจพวกเขาเท่านั้นยังไม่เพียงพอ เราควรให้เกียรติและเข้าอกเข้าใจผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ด้วย” แผนกกิจการผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งเป็นด่านหน้าในการให้บริการดูแลและให้คำปรึกษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มาเป็นเวลายาวนาน คาดหวังว่าเจ้าหน้าที่จะใช้มุมมองในการชื่นชมและรับฟังพวกเขา เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบเหมารวมของประชาชนไต้หวันที่มีต่อผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่
“แท้จริงแล้วมีผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จำนวนไม่น้อยที่มีระดับการศึกษาสูง” จากโครงการจุดประกายผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ที่เริ่มต้นดำเนินโครงการเมื่อปีค.ศ.2012 อาจารย์เฉินอ้ายเหมย (陳鑀枚) ซึ่งสอนภาษาอินโดนีเซียและภาษามลายูอยู่ที่สถานศึกษาชั้นนำในเมืองซินจู๋ ขณะนั้นเธอกำลังศึกษาในบัณฑิตวิทยาลัย สาขาวัฒนธรรมจีนฮากกา และได้ผุดแนวคิดริเริ่มในการออกแบบเกมกระดานสำหรับใช้ในการถ่ายทอดความรู้ด้านวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอนำวิธีการเล่นเกมหมากขุม (หรือเรียกอีกอย่างว่า หมากหลุม) ซึ่งเป็นเกมการละเล่นพื้นบ้านในประเทศบ้านเกิดของเธอมาแปลเป็นคู่มือวิธีการเล่นฉบับภาษาต่างๆ รวม 5 ภาษา ได้แก่ ภาษามลายู, ภาษาอินโดนีเซีย, ภาษาเวียดนาม, ภาษาฟิลิปปินส์ และภาษาจีน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอันหลากหลาย เฉินอ้ายเหมยยังหวังใจว่า ทุกคนจะสามารถหลุดพ้นจากวังวนในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หันมาเล่นเกมกระดานแทนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและบุตรหลาน
หลังจากที่ ลินดา ทจินเดียวาตี (Linda Tjindiawati) เดินทางจากอินโดนีเซียไปศึกษาปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่ประเทศอังกฤษ เธอก็ได้กลายมาเป็นสะใภ้ไต้หวัน อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนภาษาในสถานศึกษามากมายหลายแห่ง ตลอด 17 ปีที่ผ่านมา เธอรู้สึกรักและหลงใหลในความงดงามของเกาะไต้หวันแห่งนี้อย่างถอนตัวไม่ขึ้น และได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Beyond Beauty: Taiwan from Above” ของผู้กำกับฉีป๋อหลิน (齊柏林) เธอจึงใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการถ่ายทำบันทึกภาพความงดงามของไต้หวัน หลังจากที่ยื่นสมัครโครงการดังกล่าวสำเร็จ เธอต้องเริ่มเรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมดตั้งแต่ต้น “ตอนที่เริ่มลงมือทำ ในใจก็แอบรู้สึกหวาดกลัวจริงๆ” เนื่องจากเธอเลือกสถานที่ถ่ายทำคืออุทยานแห่งชาติภูเขาหยางหมิงซาน ทำให้ต้องผ่านขั้นตอนการยื่นขออนุญาตก่อนทุกครั้ง ประกอบกับปัจจัยด้านสภาพอากาศ ถือเป็นบททดสอบความอดทนและความแน่วแน่ของเธอในระหว่างขั้นตอนการถ่ายทำอยู่เรื่อยมา “อันที่จริง สิ่งที่ยากลำบากที่สุด คือขั้นตอนหลังการถ่ายทำ (Post-production)” ถึงจะประสบกับปัญหาที่ยากจะแก้ไข แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นมันไปได้ทุกครั้ง จนกระทั่งเมื่อผลงานออกมาเสร็จสมบูรณ์ ลินดาและคนในครอบครัวถึงกับกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ “ฉันหวังว่าไต้หวันจะอยู่ในสายตาของชาวโลก” ลินดาซึ่งยึดไต้หวันเป็นบ้านแห่งที่สอง ปรารถนาที่จะนำความงดงามของไต้หวันไปแบ่งปันให้ปรากฏสู่สายตาของญาติมิตรที่บ้านเกิดเมืองนอนของเธอด้วยความภาคภูมิใจ
ในฐานะที่หูหมิงเยว่เป็นนางรำมืออาชีพระดับสากลของเกาะบาหลี นอกจากเธอจะเปิดชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยแล้ว ยังเปิดอบรมเวิร์กชอปด้วย ในบรรดานักเรียนมีทั้งผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 (ภาพจาก หูหมิงเยว่)
การนำเสนอที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์
โครงการสานฝันฯ แรกเริ่มแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทบุคคล และประเภทครอบครัว แต่เนื่องจากเค้าโครงการนำเสนอของผู้สมัครมีความหลากหลายมาก ทำให้โครงการสานฝันฯ ครั้งที่ 6 ได้เพิ่มประเภทสวัสดิการสังคมเข้าไปด้วย ยกระดับมิติมุมมองเป็นระดับมหภาคยิ่งขึ้น เนื้อหาของโครงการมีความครอบคลุมมากขึ้นและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง “การพิจารณาแผนโครงการมีความเข้มงวดมาก” เพื่อคัดกรองผู้สมัครที่มีความโดดเด่นออกมาจากผู้สมัครเกือบสองร้อยกลุ่ม จึงจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบหลายชั้น คณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วย นักวิชาการ, บุคคลที่สังคมให้ความเชื่อถือ ฯลฯ โดยแบ่งหน้าที่ในการประเมินความเป็นไปได้ในการลงมือปฏิบัติ, ความคิดบุกเบิกริเริ่ม, ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และความต่อเนื่องของโครงการ โดยทำการประเมินด้วยวิธีพิจารณาสลับกันอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม โปร่งใส และเสมอภาค “ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ดำเนินโครงการสานฝันฯ ทางเราจะติดต่อกับผู้สมัครโครงการอยู่เสมอ เพื่อทำความเข้าใจว่าพวกเขาประสบปัญหาใดๆ หรือไม่? และเราจะสามารถให้ความช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง?” จนกระทั่งโครงการเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็ยังคงติดตามความเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้นต่อไป
“ความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผู้สมัครโครงการในช่วงหลายปีมานี้ คือจากกลุ่มเปราะบางที่ต้องการรับความช่วยเหลือ ค่อยๆ เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้ที่อยากตอบแทนสังคม” วิวัฒนาการที่น่าพิศวงดังกล่าวทำให้หลี่หมิงฟางรู้สึกประทับใจอย่างยิ่ง เช่น “โครงการมอบความสุขให้แก่ผู้สูงอายุ” โดยเจี่ยงหมง (蔣萌) ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งแต่งงานมาอยู่ไต้หวัน เนื่องจากพ่อสามีของเธออาศัยอยู่ที่บ้านพักคนชรา เธอจึงนำเสนอโครงการแนวคิดที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุ หลังจากที่เธอผ่านการฝึกอบรมคอร์ส “เทรนเนอร์ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกายและจิตสำหรับผู้สูงอายุ” จากมหาวิทยาลัยชุมชนแล้ว เธอก็นำผู้สูงอายุออกกำลังกาย สอนประดิษฐ์งานฝีมือ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ทั้งมือและสมอง ชะลอความเสื่อมถอยของสภาพร่างกาย ในขณะเดียวกัน เธอก็เปิดบ้านเป็นชั้นเรียนสอนทำงานฝีมือ เช่น สอนทำเยลลี่รูปดอกไม้, ทำไวน์เพื่อสุขภาพ, สานพัดจีน เป็นต้น อีกทั้งยังปลูกฝังให้เพื่อนๆ ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่พัฒนาความรู้และความเชี่ยวชาญเพิ่มเติม และนำพวกเขาเข้าร่วมทีมในการให้บริการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวด้วย “ได้เห็นรอยยิ้มของผู้สูงอายุ ก็รู้สึกว่าตัวเองทำถูกแล้ว” เจี่ยงหมงกล่าว
อู่เหวยจวิ้นผู้ไม่เคยคลุกคลีกับขลุ่ยเวียดนามดั้งเดิมมาก่อนในบ้านเกิด หลังจากมาไต้หวัน เขาอาศัยการเรียนรู้วิธีเป่าขลุ่ยด้วยตนเองจากการดูยูทูป ช่วยคลายความคิดถึงบ้าน
ความสุขบังเกิดเมื่อฝันกลายจริง
“ผู้สมัครโครงการสานฝันฯ มาจาก 16 ประเทศ” ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ยุโรป อเมริกา, อียิปต์, เม็กซิโก, จีนแผ่นดินใหญ่ ล้วนเป็นกลุ่มเป้าหมายของการดูแล “เราไม่เพียงแต่ดูแลผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 1 เท่านั้น ปัจจุบันเรายังขยายขอบเขตไปถึงบุตรธิดาและครอบครัวของพวกเขาด้วย” เพื่อให้บุตรธิดาของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีจำนวนกว่า 430,000 คน ได้เรียนรู้และสัมผัสวัฒนธรรมดั้งเดิมของบิดาหรือมารดาตนเองอย่างลึกซึ้ง ก่อให้เกิดการยอมรับตนเอง และใช้เงินทุนจากโครงการไปดำเนิน “กลวิธีการสอนแบบเสริมต่อการเรียนรู้ (Scaffolding)” ด้วยการจัดหาทรัพยากรที่เพียงพอในการยกระดับความสามารถในการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กๆ เกิดความมั่นใจ ไม่รู้สึกสับสนอีกต่อไป และยังนำไปสู่การทบทวนเกี่ยวกับภูมิหลังทางวัฒนธรรมสองชาติเพื่อใช้ความได้เปรียบอันหลากหลายให้เกิดประโยชน์
นาฏศิลป์และดนตรีถือเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแบบไร้พรมแดน หลินเสี่ยวถิง (林小婷) ซึ่งมารดาเป็นชาวอินโดนีเซีย รู้สึกสนใจด้านนาฏศิลป์ดั้งเดิมของเกาะบาหลีเป็นอย่างมาก เธอนำเงินทุนที่ได้จากโครงการไปใช้ซื้อเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับแบบดั้งเดิมมาสวมใส่เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมอินโดนีเซียในกิจกรรมด้านสวัสดิการสังคมนับครั้งไม่ถ้วน เหม่ยน่า (美娜) ซึ่งมารดาเป็นชาวเวียดนาม และเลี่ยวเจี้ยนหาว (廖建豪) ซึ่งมารดาเป็นชาวฟิลิปปินส์ ใช้การเขียนหนังสือเพื่อระบายอารมณ์ความทุกข์ โดดเดี่ยว จิตตก และค้นหาตัวเองอีกครั้ง ส่วนหวงเสี่ยวหยุน (黃曉妘) ซึ่งมารดาเป็นชาวเวียดนาม จัดทำวิดีโอแอนิเมชันและหนังสือภาพเรื่อง “เชื่อมั่นในตนเอง” มาแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในตัวเองที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้
อาหารเลิศรสก็ถือเป็นทางลัดที่จะนำพาผู้คนให้เข้ามาใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น สั่นสูเจวียน (閃淑娟) จากเมียนมา นอกจากเธอจะใช้อาหารจากบ้านเกิดมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์กับผู้คนแล้ว ยังกระตุ้นให้ลูกชายเข้าร่วมและจัดตั้งชั้นเรียนมุสลิมศึกษา เพื่อให้ประชาชนไต้หวันมีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมอิสลามมากยิ่งขึ้น ด้านซูลี่เหลียน (蘇麗蓮) จากอินโดนีเซีย ใช้การปลูกต้นวานิลลามาถักทอเป็นความทรงจำในวัยเยาว์ เพื่อให้รสชาติจากบ้านเกิดหอมอบอวลไปทั่วไต้หวัน
“เรามีหลักฐานข้อมูลทางสถิติที่สนับสนุนว่า ความสุขค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี” จากข้อมูลที่มีอยู่มากมายในเว็บไซต์ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความห่วงใยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในทุกๆ ด้าน จากเงินช่วยเหลือทุนการศึกษาสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่, โครงการจุดประกายฯ ระยะเวลา 3 ปี จนถึงปีค.ศ.2012, โครงการสานฝันฯ ที่เริ่มเมื่อปีค.ศ.2015, โครงการอบรมบุตรธิดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในต่างประเทศ, ค่ายสัมผัสประสบการณ์และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมอันหลากหลายสำหรับบุตรธิดาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ วิธีการปลูกฝังแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นทีละตอนเช่นนี้ จะช่วยทำให้ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รู้สึกมีที่พึ่งทางใจ รวมถึงช่วยบรรเทาความว้าวุ่นใจที่เกิดจากต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาพำนักอาศัยอยู่ในไต้หวัน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ได้รับรางวัลในโครงการสานฝันฯ จะได้เข้าร่วมทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหารจัดการกองทุนเพื่อการพัฒนาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ คอยเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ หวงเสี่ยวหยุน (黃曉妘) ผู้ชนะโครงการครั้งที่ 6 ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการที่ปรึกษารุ่นเยาว์ สมัยที่ 3 ของสภาบริหารไต้หวัน ตลอด 7 ปีที่ผ่านมานี้ ทุกโครงการล้วนเป็นเรื่องจริงที่ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งสานฝันอย่างกล้าหาญในไต้หวัน และเริ่มต้นบนเส้นทางใหม่ของชีวิตได้อย่างมั่นใจ