เรื่องราวของผู้ย้ายถิ่น
ยุคแห่งการเกื้อกูลสู่ความรุ่งโรจน์ร่วมกัน
เนื้อเรื่อง‧ซูลี่อิ่ง ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧กฤษณัย ไสยประภาสน์
เมษายน 2025

ไต้หวันได้เริ่มผลักดันนโยบาย “มุ่งใต้” และ “มุ่งใต้ใหม่” มาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1990 ประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ได้กลายเป็นดินแดนสานฝันแห่งความสำเร็จในการลงทุนของชาวไต้หวัน ขณะเดียวกัน ไต้หวันได้เปิดให้แรงงานต่างชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาทำงานในไต้หวัน ตลอดจนคู่สมรสต่างชาติก็มีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ ท่ามกลางผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวเวียดนามได้กลายเป็นกลุ่มใหญ่ของคู่สมรสต่างชาติในไต้หวัน

ความหมายของ “มุ่งใต้” ในใจคุณ
ในวัย 30 ปีต้น ๆ ซึ่งไม่ได้มาจากครอบครัวสูงส่งหรือมีวุฒิการศึกษาโดดเด่นอะไรมากนัก แต่เป็นผู้บริหารของบริษัทผลิตเส้นใยสังเคราะห์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เวียดนาม นอกจากต้องดูแลพนักงานหลายสิบคนแล้ว ยังเป็นผู้บริหารชาวไต้หวันเพียงคนเดียว ในบรรดาพนักงานนับพันคนของบริษัทด้วย สวี่หยวนอวี๋ (許元瑜) สาวไต้หวันที่ค่อนข้างพิเศษผู้นี้ ก้าวสู่โลกแห่งความสำเร็จของตนเองได้อย่างไร?

สวี่หยวนอวี๋ เลือกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหมุดหมายสำคัญในอาชีพของเธอ โดยเดินบนเส้นทางชีวิตที่แตกต่างออกไป (ภาพโดยสวี่หยวนอวี๋)
ทะเลกว้างแห่งชีวิตใหม่
ในบ้านหลังหนึ่งที่นครเถาหยวน พื้นที่ที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย เรียงรายไปด้วยเอกสารทางประวัติศาสตร์พระราชกฤษฎีกา และคำแถลงการณ์ของเวียดนามมากมายนับไม่ถ้วน สวี่หยวนอวี๋กับคุณพ่อสวี่ชั่นหวงยืนอยู่ที่หน้าโต๊ะตัวใหญ่ จุดเริ่มต้นการไปทำงานที่เวียดนามของบุตรสาว ก็มาจากสวี่ชั่นหวงนั่นเอง
ในฐานะตัวแทนของ “นโยบายมุ่งใต้แบบเก่า” สวี่ชั่นหวงเดินทางไปประกอบธุรกิจที่เวียดนาม เมื่อปี ค.ศ. 1992 และอาศัยอยู่ที่นั่นนานกว่า 10 ปี แต่เพื่อใช้เวลากับลูก ๆ ในช่วงที่กำลังเติบโต เขาจึงตัดสินใจทิ้งธุรกิจที่กำลังไปได้ดีเดินทางกลับมาไต้หวัน ด้วยความรู้สึกที่ว่า “เรื่องที่มีคนทำอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปทำอีก” เขาส่งเสริมให้ลูก ๆ เลือกเดินในเส้นทางที่แตกต่าง ดังนั้น ในช่วงที่สวี่หยวนอวี๋บุตรสาวของเขา เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยหยวนจื้อ ไต้หวัน เขาได้แนะนำให้บุตรสาวเรียนรู้ภาษาเวียดนาม ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่ค่อยมีใครอยากเรียน เพื่อเป็นภาษาต่างประเทศภาษาที่ 2 และในช่วงปิดภาคฤดูร้อนของทุกปี คุณพ่อจะส่งเธอไปอยู่กับเพื่อนสนิทที่เป็นชาวเวียดนาม
ทิศทางการให้การศึกษาดังกล่าว มีอิทธิพลต่อคนรุ่นต่อไปอย่างเป็นธรรมชาติ หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว คุณสวี่หยวนอวี๋จึงตั้งเป้าหมายไปที่ตลาดอาเซียน และเป้าหมายแรกก็คือเวียดนาม
จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับชาวเวียดนามมาเป็นเวลานาน คุณสวี่หยวนอวี๋ได้สรุปวิธีการบริหารงานที่น่าสนใจว่า “คนเวียดนามให้ความสำคัญกับศักดิ์ศรีของตัวเองสูงมาก” แม้ในขณะที่เราพูดถึง “เหตุผล” ก็ยังต้องคำนึงถึง “การรักษาหน้าตา” ของพวกเขาด้วย การเป็นผู้บริหาร หากคุณมีความสามารถไม่พอ แล้วทำให้ลูกน้องลำบากใจ ก็ยากที่จะทำให้ลูกน้องยอมรับได้ การบริหารงานก็มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น “แต่ในทางกลับกัน คนเวียดนามก็ยินดีที่จะให้ความเคารพและเทิดทูนผู้ที่มีความสามารถมากกว่า”

หลี่หรูเป่ากับเยาวชนผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 ร่วมกันจัดแคมป์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศในสถาบันการศึกษา (ภาพจาก Foodeast)
เนื่องจากการเข้ามาตั้งรกรากในไต้หวันของ “ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2” ทำให้ไต้หวันมีความอ่อนโยน และมีความเข้าใจผู้อื่นได้มากยิ่งขึ้น (ภาพจาก Foodeast)
จากนักธุรกิจไต้หวันสู่นักสะสมของเก่า
เนื่องจากมีความเข้าใจในลักษณะอุปนิสัยของชาวเวียดนามอย่างลึกซึ้ง ทำให้สามารถปกครองคนด้วยหลักคุณธรรม แต่คนที่จะมีความเข้าใจในวัฒนธรรมเวียดนามจากรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ได้ดี เช่นเดียวกับสวี่ชั่นหวงนั้นหาได้ยากยิ่ง เราก้าวตามรอยเท้าของสวี่ชั่นหวง ขึ้นไปยังชั้นบนของอาคาร เมื่อเดินไปตามทางเดินที่ดูเหมือนหอจัดแสดงนิทรรศการที่มีงานศิลปะภาพวาดและภาพพู่กันตัวหนังสือจีน ประดับไว้เต็มห้อง สุดท้ายก็มาถึงห้องเล็ก ๆ บนชั้นดาดฟ้า มีป้ายขนาดใหญ่เขียนคำว่า “คลังวัฒนธรรมสวี่ชั่นหวง” แขวนอยู่บนผนังกำแพง
อีกหนึ่งบทบาทของคุณสวี่ชั่นหวงก็คือการเป็นนักสะสมโบราณวัตถุเวียดนาม เขาทุ่มเทให้กับการสะสมมานานกว่า 30 ปี มีทั้งพระราชโองการของกษัตริย์ หนังสือราชการ หนังสือโบราณ หมวกขุนนาง และตราประทับไว้ในครอบครอง จำนวนเกินกว่า 3,000 ชิ้น วัตถุสะสมล้ำค่ามหาศาลเหล่านี้ มีจำนวนมากกว่าที่หน่วยงานวิชาการระดับนานาชาติหลายแห่งเก็บสะสมไว้
จากนักธุรกิจไต้หวันผันแปรมาสู่การเป็นนักสะสมของโบราณ ที่ชอบสะสมวัตถุโบราณเวียดนามเป็นชีวิตจิตใจ เรื่องราวเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนที่เขาไปประกอบธุรกิจที่เวียดนาม ในปี ค.ศ. 1985 เป็นช่วงที่เวียดนามเริ่มเดินหน้าสู่การเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจ สวี่ชั่นหวงที่ประสบความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจในไต้หวัน เขานำเงินที่เหลือติดตัวเพียง 2,000 US$ เดินทางไปเวียดนามเพื่อหาโอกาสพลิกฟื้นฐานะของตัวเอง
เมื่อธุรกิจมีความมั่นคงมากขึ้น สวี่ชั่นหวงมีอาการคิดถึงบ้าน เพราะจากบ้านเกิดมานาน ทำให้เขาเกิดความคิดที่จะหันกลับมาอ่านหนังสือเกี่ยวกับตัวอักษรจีนอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1995 ผมซื้อหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “Michuan Wanfa Guizong” ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับ “ลัทธิเต๋าโบราณ” จากร้านหนังสือเก่าบนถนนเหงียน ถิ มินห์ คาย (Nguyen Thi Minh Khai) ในไซง่อน (ชื่อเดิมคือ ตลาดเก่าโฮจิมินห์) ด้วยเงินราว 20,000 ดอง (ประมาณ 50 เหรียญไต้หวัน)
เวียดนามใช้ตัวอักษรจีนเป็นภาษาราชการมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนถึงยุคที่ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส จึงเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรโรมัน ความบังเอิญแบบนี้กลับทำให้คนไต้หวันสามารถอ่านบันทึกพงศาวดารของเวียดนามได้
Nguyễn Phú Huy Quang เจ้าของบ้านที่สวี่ชั่นหวงเช่าอยู่ในตอนนั้น สังเกตเห็นว่าสวี่ชั่นหวงมีความสนใจและหลงใหลในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเวียดนามอย่างมาก จึงให้เขายืมหนังสือ 2 เล่ม เล่มหนึ่งคือ “The Tale of Kieu” วรรณกรรมคลาสสิคของเวียดนามและเป็นสมบัติของชาติ อีกเล่มหนึ่งคือ “ประวัติศาสตร์เวียดนามโดยสังเขป” (An Outline History of Vietnam) ขณะที่พลิกอ่านหนังสือ “ประวัติศาสตร์เวียดนามโดยสังเขป” Nguyễn Phú Huy Quang เล่าให้ฟังเกี่ยวกับภูมิหลังของครอบครัวของเขา ชายผู้นี้ที่เล่นบิลเลียดฝรั่งเศสกับคุณสวี่ชั่นหวงทุกวัน เป็นเพื่อนซี้นั่งกินหม้อไฟเครื่องในวัวในสวนที่บ้าน ความจริงแล้ว Nguyễn Phú Huy Quang เป็นลูกหลานของยุคปลายราชวงศ์เหงียนของเวียดนาม ปู่ทวดของเขาก็คือเจ้าชายเกื่อง เด๋ (Cuong De) นักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชของเวียดนาม ซึ่งเคยพำนักในไต้หวันเป็นเวลาสั้น ๆ เมื่อทราบความบังเอิญเช่นนี้ ก็เสมือนชะตาชีวิตเป็นผู้ชักนำ ดึงเขาเข้าไปสู่โลกแห่งประวัติศาสตร์เวียดนาม

อาเถามุมานะและไม่ย่อท้อ เธอใช้วัสดุอุปกรณ์ในการวาดภาพที่หลากหลาย ตั้งแต่การวาดภาพสีน้ำมันและพัฒนาไปสู่การวาดภาพบนผ้าไหมแบบเวียดนามดั้งเดิมที่มีความยากมากขึ้น
วิญญาณเวียดนามสิงสถิตในวัตถุโบราณ
ในเวียดนาม เขาเริ่มต้นจากแผงหนังสือ ตลาดค้าของเก่า และตามไปยังบ้านของชาวบ้านในชนบท มีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาพบแผ่นไม้แกะสลักที่ใช้เป็นแม่พิมพ์สำหรับพิมพ์ธนบัตรจากภรรยาของชาวนารายหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้เมืองดานัง สันนิษฐานว่า แผ่นไม้แกะสลักนี้มีอายุเกินกว่า 400 ปีขึ้นไป บนแผ่นไม้มีภาพแกะสลักของ “Lạc Long Quân” ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของชาวเวียดนาม เป็นรูปแกะสลักที่มีศีรษะเป็นนกฟีนิกส์ และลำตัวเป็นมังกร
วัตถุโบราณแต่ละชิ้น ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์อันซับซ้อนของเวียดนามไว้ทั้งสิ้น และเต็มไปด้วยความโศกเศร้าที่ไม่อาจลบเลือนจากอดีตให้หมดสิ้นไปได้
อย่างไรก็ดี สวี่ชั่นหวงก็ยังคงไม่ยอมขายวัตถุโบราณที่เก็บสะสมไว้แม้แต่ชิ้นเดียว เสมือนหนึ่งว่าเขาได้รับมอบหมายจากโชคชะตาที่กำหนดไว้ให้เขา “วัตถุโบราณเหล่านี้ มีดวงวิญญาณของเวียดนามสิงสถิตอยู่”

วัตถุโบราณชาวเวียดนามที่สวี่ชั่นหวงสะสมไว้ ประกอบด้วย ภาพแกะสลักเรือพาย 8 ฝีพาย และภาพคนในเทพนิยายของเวียดนาม ทั้งแผ่นไม้แกะสลัก “Lạc Long Quân” (ซ้าย) ตราประทับ “จี๋จิ้วจาง” (ขวาบน) และหมวกนายพลยุคราชวงศ์เหงียน (ขวาล่าง)
การเดินทางสู่ทางเหนือของเธอ
เลี่ยวหยุนจาง (廖雲章) สื่อมวลชนที่ให้ความสนใจประเด็นที่เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะปรากฏตัวในชุดอ๋าวหญ่ายสีคราม (ชุดประจำชาติของเวียดนาม) ในงานนิทรรศการภาพวาดหรือวรรณกรรมสำหรับแรงงานต่างชาติ เป็นชุดร้องเพลงที่พิมพ์รูปแพทย์กับพยาบาล ที่เป็นลายผ้าฝีมือของ Trần Thị Đào จิตรกรชาวเวียดนาม
เมื่อชาวไต้หวันมุ่งสู่ใต้เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ในการประกอบธุรกิจ มีชาวเวียดนามส่วนหนึ่งเดินทางจากเวียดนามขึ้นมาทางเหนือ เพื่อมายังไต้หวัน คุณ Trần Thị Đào ที่มาจาก Đắk Lắk ก็เป็นหนึ่งในนั้น การใช้ชีวิตอยู่ในไต้หวันมานานกว่า 12 ปี ทำให้วิถีชีวิตของเธอเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

อาเถามุมานะและไม่ย่อท้อ เธอใช้วัสดุอุปกรณ์ในการวาดภาพที่หลากหลาย ตั้งแต่การวาดภาพสีน้ำมันและพัฒนาไปสู่การวาดภาพบนผ้าไหมแบบเวียดนามดั้งเดิมที่มีความยากมากขึ้น
จากผู้อนุบาลผันตัวสู่จิตรกร
ก่อนที่ Trần Thị Đào หรือ “อาเถา” จะเดินทางมายังไต้หวัน เนื่องจาก Đắk Lắk บ้านเกิดของเธอเป็นแหล่งปลูกกาแฟชื่อดังในเวียดนาม เธอจึงเคยทำธุรกิจเป็นพ่อค้าคนกลาง จำหน่ายเมล็ดกาแฟที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้เธอต้องล้มละลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่มีทางออก เธอบังเอิญเห็นโฆษณาทางโทรทัศน์ว่ามีโอกาสที่จะไปทำงานในไต้หวัน
เพื่อปลดหนี้สิน เธอจึงเดินทางมาทำงานในไต้หวันเมื่อปี ค.ศ. 2002 เธอมีประสบการณ์เคยเป็นพยาบาลมาก่อน เมื่อมาถึงไต้หวันจึงทำงานเป็นผู้อนุบาล ซึ่งต้องทำงานทั้งวันทั้งคืนดูแลผู้สูงวัยตลอดเวลา และผู้สูงวัยส่วนใหญ่จะพูดภาษาไต้หวันเป็นหลัก นอกจากจะสื่อสารกันยากแล้ว ยังทำให้เธอคิดถึงบ้านอีกด้วย
ในขณะนั้น เธอได้รับหนังสือพิมพ์ “สี่ฝั่ง” ฉบับภาษาเวียดนามที่เพื่อนส่งมาให้ ก็สามารถแก้ความคิดถึงบ้านได้บ้าง และอ่านพบโฆษณาจัดประกวดวรรณกรรมและภาพวาด ซึ่งเธอชอบการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก จึงทดลองถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกไว้บนภาพวาดของเธอ แล้วส่งไปยังหนังสือพิมพ์ “สี่ฝั่ง” ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดังกล่าว ทำให้เธอมีกำลังใจมากขึ้นอย่างมาก

ส่งความรักความเอื้ออาทรให้แก่ผู้มาจากต่างแดน
เธอสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลาย คว้ารางวัลจากการประกวดในเวทีต่าง ๆ มากมาย สั่งสมรางวัลภาพวาดต่าง ๆ มากขึ้นเป็นลำดับ จนได้รับสมญานามว่า “จิตรกรแรงงานต่างชาติ” ในตอนนั้น ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ซี่งกำลังอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในขณะนั้น ยังต้องการขอพบเธอด้วย
“ตอนนั้น ฉันจึงตัดสินใจที่จะส่งลูกมาเรียนหนังสือที่ไต้หวัน” ความมีจิตใจโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อของคนไต้หวัน ทำให้อาเถารู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณ แม้จะถูกจำกัดจากกฎหมายจ้างงานของไต้หวันที่กำหนดให้ทำงานได้ไม่เกิน 12 ปี เมื่อครบกำหนดต้องเดินทางกลับประเทศ แต่เธอได้ส่งลูก ๆ 3 คนมาเรียนต่อในไต้หวัน “สานฝันของตนต่อไป” เมื่อเดินทางกลับถึงเวียดนาม เธอยังคงมีการสร้างสรรค์ผลงานอย่างไม่หยุดหย่อน จนกลายเป็นสมาชิกสมาคมจิตรกรเวียดนาม และได้รับการรับรองคุณสมบัติจิตรกรจากรัฐบาลเวียดนาม
เมื่อลูกสาวคนโตของ “อาเถา” จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยตงไห่ในไต้หวัน (THU) กลับไปจัดตั้งบริษัทที่ปรึกษาการท่องเที่ยวและการศึกษาต่อในไต้หวันที่โฮจิมินห์ และสถานที่ที่เราสัมภาษณ์เธอ ก็คือห้องทำงานของลูกสาว “อาเถา” ส่วนด้านหลังเป็นห้องรับแขก ล้อมรอบไปด้วยผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ บนภาพวาดเต็มไปด้วยบรรยากาศวิวทิวทัศน์ไต้หวันที่ “อาเถา” ยังคงรำลึกถึง ประสานเป็นหนึ่งเดียวกับการแพทย์ที่เธอยึดเป็นอาชีพ

ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 กลับคืนสู่เหย้า
หลี่หรูเป่า (李如寶) นักศึกษาสถาบันบัณฑิตศึกษาการพัฒนาประเทศ (Graduate Institute of national Development) มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน มีความคล่องแคล่วทั้งภาษาแม่ที่เป็นภาษาจีนกลางและภาษาเวียดนาม หลี่หรูเป่ามีคุณแม่เป็นชาวเวียดนาม ส่วนคุณพ่อเป็นชาวไต้หวัน เนื่องจากพ่อกับแม่ประกอบธุรกิจที่เวียดนาม เธอเกิดและเติบโตที่เวียดนาม เรียนในโรงเรียนไทเปที่โฮจิมินห์ เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ล้วนมาจากไต้หวันทั้งสิ้น
“ฉันเป็นเด็กในครอบครัว 2 วัฒนธรรม” รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่เหตุการณ์ต่อต้านชาวจีนในเวียดนามเมื่อปี ค.ศ. 2014 คนไต้หวันถูกลูกหลงไปด้วย ตอนนั้นที่หลี่หรูเป่ายังเป็นนักเรียน ได้อาศัยการพูดภาษาเวียดนามเป็นเกราะกำบัง “ตอนนั้นจึงรู้สึกว่า การบอกสถานะที่แท้จริงของตนออกมาได้ เป็นสิ่งสำคัญมาก”
จุดประกายปฏิวัติสังคมอย่างสงบ
การเดินทางไปมาระหว่างไต้หวันกับเวียดนามบ่อยครั้ง ทำให้หลี่หรูเป่ามีความรู้สึกว่า ไต้หวันกับเวียดนามต่างมีจุดร่วมที่เหมือนกัน ดังนั้น ตอนที่เธอยังศึกษาในมหาวิทยาลัย ได้จัดตั้งบริษัทจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันกับเวียดนามที่มีชื่อว่า Foodeast
นอกจากจะมีความได้เปรียบในเรื่องภาษาแล้ว หลี่หรูเป่ายังได้เล่าว่า ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 อย่างพวกเธอที่มาจากครอบครัว 2 วัฒนธรรม มีจุดร่วมกันมากที่สุดก็คือความเห็นอกเห็นใจกัน และเพื่อเข้าร่วมโครงการเสริมศักยภาพผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 ในปี ค.ศ. 2023 เธอจึงตั้งสมาคมพัฒนาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 และเยาวชนอาเซียน
เธอบอกว่า ประเด็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 มักจะเกี่ยวเนื่องกับประเด็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป พวกเขามีอายุมากขึ้นเป็นลำดับ ก็จะมีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะส่งเสียงให้ภายนอกได้รับรู้ด้วยตนเอง
เมื่อการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้ชิดมากขึ้นเป็นลำดับ “ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2” เข้าใจในความงดงามของไต้หวันเป็นอย่างดี จึงสามารถเป็นตัวแทนของไต้หวันได้ดีที่สุด ที่จะยื่นมือแห่งมิตรภาพสู่ชาวต่างชาติ หลี่หรูเป่ากำหนดสถานะของตัวเองว่าเป็น “ผู้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างสองประเทศ” เธอหวังว่า การดำรงอยู่ของ “ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2” จะทำให้ไต้หวันมีความพรั่งพร้อมมากขึ้น มีความอดทนมากขึ้น มีความคิดกว้างไกลมากขึ้น มีความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น และสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ก็คือ การจุดประกายไฟแห่งการปฏิวัติอย่างเงียบ ๆ ในสังคม