เสวนาคนดัง : ซาลอนแห่งวัฒนธรรมมุ่งใต้ใหม่
การปฏิสัมพันธ์ที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง
เนื้อเรื่อง‧เจิงหลันสู ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧แสงชัย กิตติภูมิวงศ์
ตุลาคม 2020
台灣光華雜誌與臺灣亞洲交流基金會共同在思劇場進行「移動中的東南亞──從新住民看新南向」座談,與會人士不約而同提到,新住民在台灣,不只豐富了台灣文化的多元,也展現了無窮的生命力!
นิตยสารไต้หวันพาโนรามา ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนไต้หวัน-เอเชีย (Taiwan-Asia Exchange Foundation : TAEF) จัดประชุมเสวนา “อาเซียนกำลังขับเคลื่อน : มองนโยบายมุ่งใต้ใหม่จากผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” ผู้ร่วมเสวนาเห็นพ้องกันว่า ผู้มาอยู่ใหม่ในไต้หวัน ไม่เพียงทำให้วัฒนธรรมมีความหลากหลาย ยังเป็นพลังขับเคลื่อนแห่งชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุดอีกด้วย
ต่อไปนี้เป็นการบันทึกการพูดคุยของแขกรับเชิญพิเศษ ที่จะเจาะลึกการติดต่อด้านวัฒนธรรมตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของรัฐบาลไต้หวัน
มุ่งใต้ใหม่ที่ยึดถือคนเป็นศูนย์กลาง
เซียวซินหวง (蕭新煌) ประธานมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนไต้หวัน-เอเชีย กล่าวว่า :
“นโยบายมุ่งใต้ใหม่” เป็นเป้าหมายกลยุทธ์เศรษฐกิจสำคัญของไต้หวัน ในการขยายเศรษฐกิจการค้าไปสู่ประเทศอาเซียน ในปีค.ศ.1994 อดีตประธานาธิบดีลีเติงฮุยส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจไปลงทุนในประเทศอาเซียน ถือว่าเป็นนโยบายมุ่งใต้ 1.0 ต่อมาในปีค.ศ.2003 อดีตประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน ดำเนินการต่อเนื่อง ถือเป็นนโยบายมุ่งใต้ 2.0 แต่ภาคประชาชนไม่มีส่วนร่วม ผลสำเร็จจึงอยู่ในวงจำกัด
ในปีค.ศ.2016 ไต้หวันผลักดัน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ความใหม่ของนโยบายนี้ก็คือ ประการแรก ยึดถือคนเป็นศูนย์กลาง ประการที่สอง มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประชาชนมีส่วนร่วม
ผมเชื่อว่า การรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน จะทำให้เงินทองไหลเข้ามาเอง ไต้หวันดำเนินนโยบายมุ่งใต้ใหม่โดยผลักดันผ่านการทำงาน การศึกษา การแต่งงาน และให้ความสำคัญกับผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ โดยถือเป็นพลเมือง ต้องให้การดูแลที่ดี
หวงจื้อหยาง (黃志揚) รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ :
ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและหลอมรวมด้านวัฒนธรรม ทำให้วัฒนธรรมไต้หวันมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นพลังขับเคลื่อนให้ชีวิตดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ทุกท่านในที่นี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีส่วนร่วม
การดำเนินนโยบายและผลสำเร็จ
หวงจงเจ้า (黃中兆) ผู้ช่วยผู้แทนเจรจา สำนักงานเจรจาเศรษฐกิจการค้า สภาบริหาร :
หลังเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 การแพทย์และการรักษาพยาบาลถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการชี้ว่า ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของปีนี้ (2563) ไต้หวันส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ไปอาเซียนเพิ่มขึ้น 10% ถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าการส่งออกไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป
ในด้านการค้าและการลงทุน ผลจากโรคระบาด เศรษฐกิจของประเทศคู่แข่งสำคัญของไต้หวันในอาเซียนคือ ญี่ปุ่นและเกาหลี ล้วนแต่หดตัวในสัดส่วนที่เป็นเลข 2 หลัก แต่ไต้หวันยังมีการเติบโตเล็กน้อย บ่งชี้ว่า นโยบายมุ่งใต้ใหม่เป็นนโยบายที่ถูกต้อง
ในด้านการศึกษา หลังผลักดันมุ่งใต้ใหม่ เมื่อปลายปีที่แล้วนักศึกษาจากเวียดนามเพิ่มขึ้นทะลุ 20,000 คนแล้วแซงหน้ามาเลเซีย และชาวไต้หวันก็ไปศึกษาต่อในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นเช่นกัน
เฉินติ้งเหลียง (陳定良) ผู้ช่วยนักวิจัยฝ่ายวัฒนธรรม มูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนไต้หวัน-เอเชีย :
พวกเรามักถูกถามว่า อาเซียนมีวรรณกรรมหรือไม่? ในแถบแปซิฟิกมีศิลปะหรือไม่? ดังนั้น ผมอยากจะย้อนถามว่า ในใจของพวกเรา มุ่งเน้นแต่บรรทัดฐานศิลปวัฒนธรรมในอาเซียน โดยการวัดมาตรฐานในการสร้างสรรค์หรือกฎเกณฑ์ใช่หรือไม่? หากขจัดเรื่องมาตรฐานออกไป จะเห็นว่าวัฒนธรรมของอาเซียนมีความรุ่งเรือง หลากหลาย ผสมผสาน นี่เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่า มีคุณค่า เป็นสิ่งที่ทางมูลนิธิฯ ได้มีการส่งเสริมอย่างจริงจังตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่
มูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนไต้หวัน-เอเชีย กำลังดำเนินโครงการติดต่อทางวัฒนธรรมใน 4 ทิศทางหลัก ได้แก่ ซาลอนวัฒนธรรมผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ซึ่งร่วมมือกับนิตยสารไต้หวันพาโนรามา ยังมีการร่วมมือกับสถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติและศูนย์วัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงของเวียดนาม รวมทั้งจัดตั้งกลไกการติดต่อกันอย่างเป็นระบบผ่านการเยี่ยมเยือนระหว่างศิลปินและการจัดงานนิทรรศการ
การสร้างสรรค์ศิลปะและการบ่มเพาะตนเอง
ซุนผิง (孫平) ผู้อำนวยการโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ มูลนิธิวัฒนธรรมไต้หวัน :
ตั้งแต่ปีค.ศ.2019 มูลนิธิวัฒนธรรมไต้หวัน ได้มุ่งเน้นโครงการระดับภูมิภาค นอกจากส่งเสริมการติดต่อระหว่างศิลปินแบบทวิภาคี ตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม และมูลนิธิวัฒนธรรมและศิลปะแห่งชาติ (National Culture and Arts Foundation) แล้ว ยังพยายามค้นหาวัฒนธรรมอาเซียนและสิ่งเชื่อมโยงที่ซ่อนเร้นอยู่ในไต้หวันด้วย
พวกเราวางแผนส่งเสริมการจัดกิจกรรมการจัดแสดงผลงานของกลุ่มสตรีที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน นำเสนอความสามารถและการสร้างสรรค์วัฒนธรรมของเหล่าผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน อย่างเช่นปีค.ศ.2019 ร่วมมือกับ Pindy Windy ศิลปินแป้งปั้น และ Lifepatch กลุ่มศิลปินอินโดนิเซีย จัดแสดงในหัวข้อ “เปิดโฉม-ร่วมสมัย” นำเสนอภาพวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย เชื่อมโยงวัตถุทางประวัติศาสตร์และความทรงจำในชีวิต บุกเบิกพัฒนากิจกรรมร่วมกัน
หลี่เพ่ยเซียง (李佩香) นายกสมาคม Trans Asia Sisters Association, Taiwan (TASAT) :
สมาคม TASAT จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1995 โดยกลุ่มสตรีอินโดนีเซียที่แต่งงานกับชาวไต้หวัน ให้มีการเปิดสอนภาษาจีน ในปีค.ศ.2002 ดิฉันแต่งงานมาอยู่ในไต้หวัน สามีของดิฉันได้ช่วยสมัครเรียนภาษาจีนที่ TASAT เขตจงเหอในนครนิวไทเป
ปัจจุบัน 2 ใน 3 คณะกรรมการ TASAT เป็นสตรีผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ผู้คนที่ใช้ภาษาต่างกันมารวมกลุ่มกันไม่ใช่เรื่องง่าย มีผู้กล่าวว่า การประชุม 1 ชั่วโมงไร้ประสิทธิภาพ แต่พวกเราประชุมครั้งหนึ่ง 3-4 ชั่วโมงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้แต่ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเราไม่ได้โดดเดี่ยวอีกต่อไปกลายเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในประเด็นสังคมอย่างกระตือรือร้น
จนถึงปัจจุบัน TASAT ได้ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมมากมาย เช่น จัดกิจกรรมสังสรรค์วัฒนธรรมอาหาร เล่าเรื่องความเป็นมาของอาหาร เล่าเรื่องบ้านเกิดและเรื่องราวชีวิตของพวกเรา ชาวไต้หวันที่มาร่วมงานรู้สึกตื่นเต้น และรับรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเคยได้ยินคือ เมื่อกลุ่มสตรีผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มารวมตัวกันจะชักชวนกันไปในทางที่เสีย ถือเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เพื่อให้ชาวไต้หวันได้ฟังเรื่องราวของพวกเรา เข้าใจพวกเราอย่างแท้จริง พวกเราได้ตีพิมพ์หนังสือ “บ้านเกิดบนโต๊ะอาหาร”
ปีค.ศ.2009 พวกเราจัดตั้งกลุ่มละครสตรี TASAT ถ่ายทำสารคดี “พี่น้องไม่ต้องกลัว” และได้ตีพิมพ์หนังสือ เกมกระดาน “ตลาดน้ำ : เวียดนามในสายคลื่น” และยังได้ออกอัลบั้มเพลง “ฉันไม่อยากพเนจร” ล้วนแต่เป็นสิ่งที่กลุ่มพี่น้องผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาจากใจจริง
TASAT ยังได้เสนอให้มีการปรับแก้นโยบายและกฎหมายเช่นการต้องแสดงหลักฐานทางการเงินตามกฎหมายสัญชาติการตัดสินโทษสถานเบาเพื่อให้กำหนดกฎระเบียบที่เป็นมิตรต่อผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานต่างชาติพวกเราหวังว่าการจัดเทศกาลศิลปะเทศกาลภาพยนตร์ไม่เพียงทำให้ชาวไต้หวันเข้าใจวัฒนธรรมอาเซียนยังทำให้เหล่าผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มีความเข้าใจในประเทศของตนเองเสียใหม่
เฉินเลี่ยงจวิน (陳亮君) บรรณาธิการนิตยสารไต้หวันพาโนรามา :
นิตยสารไต้หวันพาโนรามา รายงานเรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียนมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไต้หวัน ในยุคปีค.ศ.1980 การรายงานจะเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์ความสำเร็จในการส่งออกเทคโนโลยีของไต้หวันไปยังเอเชียอาคเนย์ และอิทธิพลจากไต้หวันที่มีต่อวรรณกรรมของชนเชื้อสายจีนในมาเลเซีย เป็นต้น ยุคปีค.ศ.1990 เริ่มมีบทความเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมต่างถิ่นจากอาเซียน ยุคหลังปีค.ศ.2000 เริ่มมีรายงานบทความเกี่ยวกับรุ่นที่ 2 ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ และผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่หลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมไต้หวันได้อย่างไร หลังปีค.ศ.2015 การเสนอบทความค่อยๆขยายออกไปสู่มุมมองวัฒนธรรมต่างชาติและเรื่องราวภายในประเทศ รวมถึงการมองผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย จะเห็นได้ว่าสังคมไต้หวันได้ผ่านช่วงที่มองผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นคนแปลกหน้า เกิดความขัดแย้ง ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการหลอมรวม
มุมมองของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ต่อนโยบายมุ่งใต้ใหม่
เฉินอวี้สุ่ย (陳玉水) อาจารย์ภาษาเวียดนามของวิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็น :
ที่ผ่านมา การแต่งงานกับชาวต่างชาติถูกมองในทางลบว่า เป็นการแต่งงานเพื่อเงิน หรือแต่งงานปลอม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดิฉันเริ่มรู้ว่าเป็นเพราะคนในสังคมไต้หวันยังไม่เข้าใจ จึงเกิดการรังเกียจโดยไม่ได้ตั้งใจ ที่จริงแล้ว สิ่งที่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เรียกร้องเป็นเรื่องของการปฏิบัติที่เสมอภาค
ในส่วนของหลักสูตรประจำปีการศึกษา 2562 ของไต้หวัน ที่กำหนดการสอนภาษาแม่ ซึ่งก็คือการสอนภาษาอาเซียนสำหรับบุตรหลานของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เพียงสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง ถือว่าไม่เพียงพอ ควรจะให้ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่น 2 เหล่านี้มีตำรา มีโอกาสในการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้น
หลิวเชียนผิง (劉千萍) กรรมการบริหาร TASAT :
ดิฉันเป็นลูกครึ่งเวียดนาม ถือเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 ดิฉันรู้สึกว่า ลูกหลานของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวันยังคงมีความรู้สึกถูกแบ่งชนชั้น ทำไมลูกของชาวไต้หวันที่เกิดกับชาวตะวันตกถูกเรียกว่าเป็นลูกครึ่ง แต่พวกเรากลับถูกเรียกเป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่ 2 ทำไมการเรียนภาษาญี่ปุ่น ถือว่าเรียนภาษาที่สอง แต่การเรียนภาษาอาเซียน กลับถือว่าเรียนภาษาแม่ เมื่อดิฉันตรวจดูในใบทะเบียนบ้าน ถ้านับต่อจากคุณพ่อ ดิฉันจะเป็นรุ่นที่ 8 ของตระกูล แต่พอนับจากคุณแม่ ดิฉันกลายเป็นรุ่นที่ 2 ทันที ดังนั้นพวกคุณจึงเรียกดิฉันว่าเป็นรุ่นที่ 2 ราวกับชาวไต้หวันมีเวทมนตร์จบจากโรงเรียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ มีการสวมหมวกแบ่งชนชั้นล่องหน หมวกแบ่งชนชั้นของชาวไต้หวันมีการกำหนดประเภทไว้ชัดเจน การส่งเสริมวัฒนธรรมจึงต้องหาทางทำลายหมวกแบ่งชนชั้นล่องหนนี้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายเป็นอย่างมาก
หลี่เหมยจวิน (李眉君) นักศึกษาต่างชาติที่เป็นกรรมการจัดตั้งสโมสรนักศึกษาต่างชาติในไต้หวัน :
ฉันมาอยู่ในไต้หวัน 33 ปีแล้ว เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อาศัยในไต้หวันมายาวนานที่สุด ชาวไต้หวันปฏิบัติต่อชาวต่างชาติอย่างเป็นมิตร แต่ด้วยความไม่เข้าใจ จึงได้ใช้คำถามที่ทำลายความรู้สึกคนอื่นโดยไม่ตั้งใจ หวังว่ารัฐบาลและองค์กร NGO จะส่งเสริมชาวไต้หวันให้มีโอกาสและช่องทางหลากหลายในการทำความรู้จักผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มากขึ้น