ปั่นจักรยานสำรวจเมืองหยุนหลิน
ตามรอยอดีต และเยี่ยมเยือนปัจจุบัน
เนื้อเรื่อง‧หลิวถิงจวิน ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧ อัญชัน ทรงพุทธิ์
ตุลาคม 2024
หยุนหลินเป็นเมืองเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ความรู้สึกของนักปั่นจักรยานที่มีต่อเมืองหยุนหลิน หลังจากที่ได้ปั่นจักรยานสองล้อเลียบธารน้ำจากท้องทุ่งนามุ่งหน้าเข้าสู่ตำบลเล็ก ๆ แล้วก็ปั่นจากตำบลเล็ก ๆ วนกลับไปยังทุ่งนา ก็คือ กลิ่นอายของใบพืชผักสดผสมผสานกับกลิ่นไอดิน รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การสำรวจ
หากปั่นตามทางหลวงหมายเลขไถ 17 ที่มุ่งไปยังศาลเจ้าซานเถียวหลุนไห่ชิงกง (三條崙海清宮) จะพบกับเส้นทางขี่จักรยานเฮยเซินหลิน (黑森林自行車道) ที่ถูกป่าไม้รกทึบล้อมรอบเอาไว้ ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่มุ่งไปยังพื้นที่ชุ่มน้ำเฉิงหลง (成龍濕地) ลมทะเลที่พัดกังหันลมขนาดยักษ์ให้หมุนตัวไป ยังหอบเอากลิ่นเค็มของน้ำทะเลมาสู่ที่ราบหยุนหลินด้วย
ท้องนาที่ถูกลืมกับพื้นที่ชุ่มน้ำที่ฟื้นคืนชีพใหม่
ทีมงานไต้หวันพาโนรามาปั่นไปถึงบริเวณทางเข้าพื้นที่ชุ่มน้ำ หลังนำจักรยานไปจอดเรียบร้อยแล้ว ก็เดินเท้าไปตามทางเดินที่สร้างด้วยไม้ เพื่อเข้าสู่ด้านในของพื้นที่ชุ่มน้ำ พระอาทิตย์ดวงกลมโตที่กำลังจะลาลับขอบฟ้า สะท้อนเงาลงบนผิวน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำที่กว้างใหญ่ถึง 50 เฮกตาร์ (ประมาณ 312.5 ไร่) นกเป็ดน้ำที่มาที่นี่เพื่อหาปลาและกุ้งกินเป็นอาหาร ยืนเอ้อระเหยอยู่ตามพงหญ้า เมื่อถึงยามพลบค่ำฝูงนกต่างพากันกระพือปีก บินย้อนแสงอาทิตย์จากไปท่ามกลางเสียงร้องที่เจื้อยแจ้ว เดิมที พื้นที่ชุ่มน้ำเฉิงหลงเป็นทุ่งนา แต่เนื่องจากมีการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากเกินไปทำให้ชั้นดินเกิดการทรุดตัว กอปรกับน้ำทะเลหนุนสูงอันเนื่องจากพายุไต้ฝุ่น ส่งผลให้เกษตรกรจำต้องละทิ้งที่ดินทำกินและอพยพออกไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม หลังผ่านความพยายามในการฟื้นฟูของชาวบ้านในชุมชน ด้วยการเชิญศิลปินเข้ามาช่วยสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและนำมาจัดวางให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม จนกระทั่งกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กุ้งหอยปูปลา พืชพรรณในพื้นที่ชุ่มน้ำและบรรดานกน้ำชนิดต่าง ๆ
เมื่อเวลาล่วงเข้าสู่ยามรัตติกาล ทีมงานฯ ปั่นไปยังศาลเจ้าเฉาเทียนกง (朝天宮) ในเขตเป่ยกั่ง อันโออ่าสง่างามและน่าเกรงขาม ถนนด้านนอกศาลเจ้าแขวนโคมไฟแบบโบราณสีบานเย็นตลอดสาย ศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 300 ปีแห่งนี้ หลังผ่านการออกแบบแสงไฟโดยคุณโจวเลี่ยน (周鍊) นักศิลปะแสงที่มีชื่อเสียง ทำให้ในยามราตรีเทวรูปทุกองค์ในศาลเจ้าดูมีชีวิตชีวามากขึ้น หลังคาศาลเจ้าที่โค้งงอนถูกระบายด้วยสีสันที่คลาสสิกและงดงาม เสา คานและภาพวาดหมึกจีนบนฝาผนัง ล้วนแต่มีความวิจิตรงดงามเป็นอย่างมาก
ผลจากความพยายามร่วมกันของชาวบ้าน ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำเฉิงหลง ซึ่งดินทรุดตัวลงเพราะสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้มากเกินไป กลายเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์นกน้ำและพืชพรรณในพื้นที่ชุ่มน้ำ
ผงาดขึ้นเพราะศาสนา รุ่งเรืองเพราะเกษตรกรรม
เมื่อมาถึงศูนย์วัฒนธรรมเป่ยกั่ง จากโบราณวัตถุทางศาสนาที่ถูกเก็บรักษาไว้ สะท้อนให้เห็นถึงพิธีกรรม ประเพณี โบราณสถานและมรดกทางวัฒนธรรมที่ก่อกำเนิดขึ้น โดยมีศาลเจ้าเฉาเทียนกงเป็นศูนย์กลาง และเมื่อก้าวขึ้นไปบนชั้นสอง คุณอู๋เติงซิง (吳登興) นายกสมาคมวัฒนธรรมมังกร หงส์หยกและสิงโตจีน และหัวหน้าครูฝึก กำลังจัดเก็บ “ธงเตี้ยวซัง” ซึ่งเป็นธงโบราณที่ใช้ในพิธีศพ คุณอู๋เติงซิงอธิบายว่า “ในสมัยก่อน ธงชนิดนี้ จะถูกนำออกมาแขวนเฉพาะงานศพของบุคคลสำคัญหรือผู้ซึ่งเป็นที่นับหน้าถือตาในท้องถิ่นเท่านั้น เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์”
คุณอู๋เติงซิงยังเก็บสะสมหนังสือ “คำทำนายเซียมซี” ขนาดเท่าฝ่ามือไว้เล่มหนึ่ง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์รื่อรื่อซินเป้า (日日新報社 ) เมื่อปี ค.ศ. 1911 กระดาษที่เก่าจนเหลืองและบางจนโปร่งแสง ถูกเขียนคำทำนายเซียมซีแบบโบราณไว้จนเต็มหน้ากระดาษ คุณอู๋เติงซิงที่ทุ่มเทเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของเป่ยกั่งมาเป็นเวลาสิบกว่าปี กล่าวว่า “ก่อนที่หยุนหลินจะได้รับการยกฐานะเป็นเมือง คนที่นี่ล้วนถือเป็น “ชาวไถหนาน” หลังถูกยกฐานะเป็นเมืองแล้ว ชาวหยุนหลินพบว่า มีเอกสารและโบราณวัตถุทางศาสนามากมายหลงเหลืออยู่ การเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ก็เท่ากับเป็นการเก็บรักษาวัฒนธรรมของหยุนหลินเอาไว้นั่นเอง”
ช่วงก่อนเที่ยง ทีมงานฯ ปั่นจักรยานไปบนทางหลวงหมายเลข เสี้ยน 155 แล้วเลี้ยวเข้าสู่หมายเลข เสี้ยน 153 มุ่งไปยังสวนกระเทียมขนาดใหญ่ในเขตตำบลหยวนฉางและเป่าจง คุณจางเซี่ยหมิง (張夏銘) ทายาทรุ่นที่ 3 ที่สืบทอดกิจการเพาะปลูกกระเทียม จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 50 ปีแล้วกล่าวว่า “กระเทียมไต้หวันมีรสชาติแตกต่างจากกระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยสิ้นเชิง เพราะตั้งแต่วิธีการเก็บเกี่ยวก็ไม่เหมือนกันแล้ว”
คุณจางกู่หรง (張谷榕) บุตรชายของคุณจางเซี่ยหมิง แกะกระเทียมที่เก็บมาใหม่ ๆ พลางอธิบายว่า “กระเทียมไต้หวันเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องดูแลอย่างทะนุถนอม ตั้งแต่การปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ไม่เพียงต้องอาศัยฝนฟ้าและคุณภาพของดิน ยังต้องมีอุณหภูมิที่พอเหมาะด้วย” ที่หยุนหลิน “มีพร้อมทุกเงื่อนไข” ดังนั้นที่นี่จึงผลิตกระเทียมได้มากกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณผลผลิตกระเทียมทั่วไต้หวัน กระเทียมหยุนหลินมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ กลิ่นหอมแรง กระเทียมสดให้รสชาติเผ็ดแต่ชุ่มคอ เมื่อนำไปตากลมจนแห้งแล้วนำมาผลิตเป็นกระเทียมดำจะได้รสชาติอร่อยเหมือนบ๊วยอบแห้ง
หนังสือ “คำทำนายเซียมซี”ของศาลเจ้าเฉาเทียนกงที่จัดพิมพ์ตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน เป็นของล้ำค่าอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงเล่มเดียวเท่านั้น เป็นของล้ำค่าที่คุณอู๋เติงซิงพบเข้าโดยบังเอิญจึงซื้อมาเก็บรักษาเอาไว้
หมู่บ้านทหารเจี้ยนกั๋วเดิมเป็นฐานฝึกของกองกำลังจู่โจมพิเศษคามิกาเซ (ฝูงบินพลีชีพ) และมีหอพักทหารญี่ปุ่นที่เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังรัฐบาลก๊กมินตั๋งย้ายมาปักหลักอยู่ในไต้หวัน ได้มีการปรับปรุงเป็นหมู่บ้านทหาร ทำให้รูปทรงภายนอกของอาคารกลายเป็นสไตล์ “จีนผสมญี่ปุ่น” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
หมู่บ้านลึกลับกลางแสงอาทิตย์ที่เจิดจ้า
จากทางหลวงหมายเลข เสี้ยน 160 ที่ตัดผ่านตำบลหยวนฉาง เมื่อเลี้ยวเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข เสี้ยน 145 ก็จะพบ “ถนนเลียบริมแม่น้ำหูเหว่ย” ซึ่งเป็นถนนที่แทบไม่มีคนต่างถิ่นรู้จัก ท่ามกลางแสงอาทิตย์ที่เจิดจ้า เรามีแม่น้ำหูเหว่ยอยู่เคียงข้างจักรยานไปตลอดทาง
ระยะทางที่ปั่นไปหมู่บ้านทหารเจี้ยนกั๋ว (建國眷村) ไม่ถือว่าไกลมากนักและก็หาไม่ยาก ถนนกลางป่าที่ไม่มีชื่อสายนี้ เป็นถนนสายหลักที่เชื่อมหมู่บ้านทหารกับโลกภายนอก ต้นไม้ใหญ่ที่ขนาบสองข้างถนน โดดเด่นเป็นสง่าด้วยลำต้นที่ตรงและสูงใหญ่ หลังปั่นผ่านถนนกลางป่า สิ่งแรกที่ผ่านเข้าสู่สายตาก็คือ หมู่บ้านทหารเจี้ยนกั๋วซึ่งเป็นหมู่บ้านทหารที่สร้างในรูปแบบของชุมชนเกษตรและกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซม ส่วนที่ซ่อมแซมเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเปิดใช้เป็นพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ ถือเป็นการให้ชีวิตใหม่แก่อาคารเก่า
คุณหลี่อีหนี (李依倪) ผู้ก่อตั้ง Keeping The Culture ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมหมู่บ้านทหารมาเป็นเวลาหลายปี เล่าขณะพาทีมงานฯ เดินชมว่า “แรกเริ่มเดิมที ที่นี่เป็นทุ่งนาและเถียงนา ในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวันได้ปลูกต้นไม้ใหญ่ ๆ ไว้เต็มไปหมด หากมองจากมุมสูงอาจจะนึกว่า ที่นี่เป็นหมู่บ้านเกษตรกร เนื่องจากถูกต้นไม้ปกคลุมอย่างมิดชิด กองทัพญี่ปุ่นจึงสร้างสนามบินสำหรับการฝึกบินไว้ในบริเวณนี้”
เราเดินผ่านห้องแถวยาวตามแบบมาตรฐานของอาคารญี่ปุ่นหลายแห่ง ซึ่งถูกใช้เป็นหอพักนักบิน ด้านข้างหอพักทุกหลังจะมีที่หลบภัยทางอากาศรูปทรงกระดองเต่า คุณหลี่อีหนีกล่าวว่า “หลังรัฐบาลก๊กมินตั๋งย้ายมาปักหลักที่ไต้หวัน เนื่องจากมีสนามบินอยู่ใกล้ ๆ จึงให้ทหารอากาศพาครอบครัวมาพำนักอาศัยที่นี่ และต่อขยายหอพักเก่าของทหารญี่ปุ่นเพิ่มเติมออกไป เพื่อตอบสนองความต้องการด้านที่อยู่อาศัยในชีวิตประจำวัน ทำให้กลายเป็นหมู่บ้านทหารสไตล์จีนผสมญี่ปุ่น ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นมาก ๆ”
บ้านหูเหว่ย SALON คือบ้านสไตล์ตะวันตกที่สร้างโดยคนไต้หวัน ส่วนของหลังคาสร้างในสไตล์ญี่ปุ่นโบราณ กลายเป็นสถาปัตยกรรม “สไตล์มงกุฎจักรพรรดิ” ที่ล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้น
“ที่ทำการรวม” เป็นสถานที่รวมหน่วยงานราชการ อาทิ ที่ทำการตำบล สถานีตำรวจและหน่วยดับเพลิง ไว้ด้วยกัน หอสังเกตการณ์ของหน่วยดับเพลิงที่สูงตระหง่าน เป็นอาคารที่สูงที่สุดในยุคนั้น สามารถมองเห็นหูเหว่ยได้ทั้งตำบล
เล่าขานเรื่องราวในอดีตเมื่อร้อยปีก่อน
ในอดีต (ยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน) บ้านนิทานหยุนหลิน (Yunlin Storyhouse) คือบ้านพักผู้ตรวจการเขตหูเหว่ยที่ถูกจัดให้เป็นโบราณสถานระดับเมือง ในขณะที่ทีมงานฯ ก้าวเข้าไปในบ้านนิทานหยุนหลิน คุณหลิวฉวนจือ (劉銓芝) อดีตผู้อำนวยการกองวัฒนธรรมเมืองหยุนหลินติดต่อกัน 2 สมัย กำลังนั่งจิบชาพลางสนทนาอยู่กับคุณถังลี่ฟาง (唐麗芳) ผู้ก่อตั้งสมาคมคนเล่านิทานและบรรณารักษ์บ้านนิทานหยุนหลิน คุณหลิวฉวนจือแนะนำว่า “บ้านนิทานของอาจารย์ถังฯ คือต้นแบบที่ดีที่สุดของการคืนชีวิตใหม่ให้แก่อาคารเก่าของเมืองหยุนหลิน”
คุณหลิวฉวนจืออธิบายว่า “ในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน อาคารที่รวมหน่วยงานราชการและหอพัก ที่บริเวณหัวมุมของฝั่งตรงข้าม ถือเป็นสถานที่ทำการรวมของที่ทำการตำบล หน่วยดับเพลิงและสถานีตำรวจ ปัจจุบัน เมื่อเดินเข้าไปจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศในการอ่านหนังสือและกลิ่นหอมของกาแฟ นี่คือคุณค่าของการเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์”
การเข้ามาเปิดตัวของร้านหนังสือเฉิงผิ่น (Eslite) และร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์เดิมของสถาปัตยกรรม ก่อให้เกิดรูปแบบวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ อย่างการซื้อหนังสือ อ่านหนังสือและจิบกาแฟภายในอาคารที่เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ “ประกอบกับหูเหว่ยมีวัฒนธรรมหุ่นกระบอกไต้หวันหรือปู้ไต้ซี่ (布袋戲) และทางรถไฟของโรงงานน้ำตาลไต้หวันที่มีความกว้างเพียงครึ่งหนึ่งของทางรถไฟมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันในไต้หวันเหลืออยู่เพียงแห่งเดียว และยังสามารถผนวกรวมกับสถาปัตยกรรมเก่าแก่ยุคเดียวกันในละแวกใกล้เคียงอีกจำนวนมาก ต่างก็ถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการทำเป็นร้านอาหาร หอพักและร้านหนังสืออิสระ ปัจจุบันหูเหว่ยกลายเป็นแหล่งวัฒนธรรมสำคัญของเมืองหยุนหลิน” คุณหลิวฉวนจือเล่าด้วยใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขและอิ่มเอมใจ
เมื่อปั่นจักรยานเข้าไปในซอยเล็ก ๆ ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง สามารถมองเห็นบ้านหนังสือชื่อ “บ้านหูเหว่ย SALON” ซึ่งเป็นอาคารทรงญี่ปุ่นผสมตะวันตกตามสถาปัตยกรรมในสไตล์มงกุฎจักรพรรดิ (Imperial Crown Style) มีความสวยงามยิ่งนัก ชายคาเป็นประติมากรรมสไตล์จีนกับตะวันออก ลายฉลุหน้าต่างเป็นรูปทรงโค้งมนสไตล์อาหรับ ส่วนของหลังคาเลือกใช้หลังคาทรงจั่วซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมยุคราชวงศ์ถัง ที่ดูราวกับถูกสวมด้วยมงกุฎจักรพรรดิ อันเป็นที่มาของชื่อสถาปัตยกรรมสไตล์มงกุฎจักรพรรดินั่นเอง
เจ้าของบ้านหูเหว่ย SALON คือคุณหวังลี่ผิง (王麗萍) เป็นคนรักหนังสือ รักการอ่านหนังสือและห่วงใยวัฒนธรรมท้องถิ่นของหยุนหลิน เธอหวังว่าบ้านหนังสือจะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนรู้จักคิดใคร่ครวญด้วยตนเอง หนังสือที่วางอยู่บนชั้นวางตามทางเดินภายในบ้าน คุณหวังลี่ผิงจะเป็นคนคัดสรรเองทุกเล่ม นอกจากนี้ เธอยังจัดการสัมมนาทางวัฒนธรรมขึ้นในบ้านหนังสือแห่งนี้บ่อย ๆ ทำให้บ้านหนังสือแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นพื้นที่ซึ่งเปิดกว้างและให้การยอมรับซึ่งกันและกัน
คุณหลิวฉวนจือ (ซ้าย) เห็นว่า วิธีที่มีความหมายที่สุดก็คือวิธีการของคุณถังลี่ฟาง (ขวา) ที่ใช้บ้านนิทานเป็นสถานที่จัดการแลกเปลี่ยนด้านศิลปวัฒนธรรม ถือเป็นการชุบชีวิตใหม่ให้แก่สถาปัตยกรรมเก่าแก่ยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน
เพราะรักผืนแผ่นดินหยุนหลิน คุณเลี่ยวรุ่ยเซิงจึงยืนหยัดในการทำเกษตรอินทรีย์ ทุกวันนี้ เขายังลงไปตรวจดูผักกินใบทุกต้นในโรงเรือนด้วยตนเองทุกวัน ใช้ความรักมาดูแลอย่างทะนุถนอม และใช้ความเอาใจใส่ในการเพาะปลูกพืชผัก
ทุกอย่างเกิดจากความรัก
ยังไม่ถึงช่วงพลบค่ำ ทีมงานฯ จึงพากันปั่นไปตามทางหลวงสาย เสี้ยน 145 เพื่อไปเยี่ยมและสัมภาษณ์คุณเลี่ยวรุ่ยเซิง (廖瑞生) เจ้าของฟาร์มเกษตรอินทรีย์หัวซิงและหัวหน้าชมรมส่งเสริมการจำหน่ายพืชผักที่ 47 ของสหกรณ์การเกษตรซีหลัว คุณเลี่ยวรุ่ยเซิงได้สร้างห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารตกค้างที่ชั้นบนของโกดังเก็บสินค้าของเขาเอง เพื่อทำการสุ่มตรวจสารกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในผักกินใบทุกล็อต จากนั้น จะส่งรายงานผลการตรวจสอบให้รัฐบาล เมื่อถามเขาไปว่า ทำไมต้องทำแบบนี้ คุณเลี่ยวรุ่ยเซิงตอบโดยไม่ต้องคิดว่า “ผมเป็นคนหยุนหลิน รักทุกอย่างของหยุนหลิน หากไม่คิดค้นวิธีทำเกษตรอินทรีย์ออกมา เอาแต่ใช้สารพิษกำจัดศัตรูพืช แล้วดินจะเป็นยังไง? แหล่งน้ำจะเป็นยังไง? บ้านเกิดของผมจะเป็นยังไง?” ในที่สุดความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของคุณเลี่ยวรุ่ยเซิงก็ได้รับการตอบรับ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างตัวเขาและชมรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่ 47 ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ผู้จัดหาวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนโรงเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาใน 6 นครใหญ่ของไต้หวัน (6 นครใหญ่ ประกอบด้วย ไทเป นิวไทเป เถาหยวน ไทจง ไถหนานและเกาสง) “นี่คือผักที่ปลูกด้วยความรักอย่างแท้จริง หวังว่าทุกคนกินแล้วจะมีสุขภาพดี”
สองล้อของจักรยานหมุนต่อไป ซีหลัวเป็นจุดหมายสุดท้ายที่ทีมงานของเราจะแวะเยือน ที่นี่ได้รับสมญานามว่า “ถิ่นกำเนิดของซีอิ๊ว” สถานที่ที่ดึงดูดทีมงานฯ ให้เดินทางไปเยี่ยมชมคือ โรงงานซีอิ๊วเก่าแก่ชื่อ “อวี้ติ่งซิง” ที่สืบทอดกิจการจากรุ่นอากงจนถึงปัจจุบันนับเป็นรุ่นที่ 3 แต่ยังคงยืนหยัดใช้แรงงานคนในการใส่ฟืนเข้าเตาไฟเพื่อทำซีอิ๊ว
คุณเซี่ยอี๋เฉิง (謝宜澂) และเซี่ยอี๋เจ๋อ (謝宜哲) สองหนุ่มพี่น้อง ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 พกพาความรักที่มีต่อซีอิ๊วร่วมมือกันถางทางเส้นทางสายใหม่และพัฒนา “สุนทรียศาสตร์แห่งซีอิ๊ว” เพื่อผลักดันซีอิ๊วตรา “อวี้ติ่งซิง” ให้ก้าวสู่เวทีสากล โดยในการรุกตลาดนิวยอร์ก พวกเขาใช้แนวคิดด้านการสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ ๆ และการแบ่งปันด้วยการรับประทานร่วมกัน มาแสดงให้ผู้คนได้เห็นกันจริง ๆ ว่า การใช้ซีอิ๊วตราอวี้ติ่งซิงกับวัตถุดิบอาหารที่ต่างกันจะได้อาหารที่มีรสชาติหลากหลาย
ในขณะที่สองพี่น้องกำลังเปิดฝาโอ่งหมักซีอิ๊วโอ่งหนึ่งในลานบ้าน ปรากฏว่าฝูงผึ้งในทุ่งดอกไม้ที่อยู่บริเวณใกล้ ๆ ต่างบินตามกลิ่นหอมมาวนเวียนอยู่รอบ ๆ ปากโอ่ง คุณเซี่ยอี๋เจ๋อพูดพลางหัวเราะว่า “ทุกครั้งที่เปิดฝาโอ่ง ก็มักจะเป็นแบบนี้” คุณเซี่ยอี๋เฉิงกำลังก่อไฟจากไม้ฟืนที่หน้าเตา อาศัยประสบการณ์ในการควบคุมความแรงของไฟในเตา ใช้ทัพพีเหล็กขนาดใหญ่ในการคนน้ำซีอิ๊ว ด้ามทัพพียาวกว่าความสูงของคนและต้องใช้สองมือกุมเอาไว้ เมื่ออุณหภูมิของน้ำซีอิ๊วเพิ่มสูงขึ้น จะมีกลิ่นที่หอมหวนโชยมาตามลม ขจรขจายไปไกลนับพันนับหมื่นลี้
การเดินทางไปตามคันนาในพื้นที่ทำการเกษตรและร่องรอยของวัฒนธรรม เปรียบประหนึ่งการใช้ดินสอสีมาวาดลงบนพื้นที่ราบตามความรู้สึกของตนเอง และวาดออกมาเป็นแผนที่อันงดงามของเมืองหยุนหลิน ที่เก็บรวบรวมความเรียบง่ายของชุมชนเกษตรในชนบท ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ความเป็นมิตรของผู้คนและรสชาติของชีวิตเอาไว้ด้วยกัน
สองพี่น้องที่เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของอวี้ติ่งซิง ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างสรรค์และแนวคิดเรื่องการแบ่งปันด้วยการรับประทานร่วมกัน สร้าง “สุนทรียศาสตร์แห่งซีอิ๊ว” ส่งผลให้ “อวี้ติ่งซิง”ผันตัวเองจากแบรนด์ซีอิ๊วเก่าแก่ มากลายเป็นแบรนด์ที่โดดเด่นและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น