การพบพานของลม ป่าและภูเขาไฟ
บันทึกการเดินทางบนเส้นทางจักรยานชายฝั่งตอนเหนือ
เนื้อเรื่อง‧ซูลี่อิ่ง ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧ธีระ หยาง
ตุลาคม 2019
與台北城不過近在咫尺的北海岸,萬千年來歷經多次的造山運動與火山活動,海浪與海風的細細雕琢,讓一路曲折多變,不僅沙岸與岩岸相互錯落,奇岩怪石壘壘而立,猶如台灣頂端的皇冠,鑲嵌著滿滿的珍寶。這一回的騎行特輯,我們隨著單車騎士踏入這個上帝大顯神蹟的舞台,共同見證驚奇與不朽。
ในช่วงเวลายาวนานนับพันนับหมื่นปีที่ผ่านมา ชายฝั่งตอนเหนือที่ตั้งอยู่ใกล้กับไทเปต้องเผชิญกับทั้งการก่อตัวของภูเขาและการระเบิดของภูเขาไฟ รวมไปจนถึงการกัดเซาะทั้งจากลมและน้ำทะเล จนทำให้เกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงขึ้นทางภูมิทัศน์อย่างมากมาย โดยที่นี่ไม่เพียงแต่จะมีหาดทราย หากแต่ยังมีชายฝั่งที่เต็มไปด้วยหินรูปร่างประหลาดรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก จนดูราวกับเป็นเหมือนมงกุฎซึ่งสวมอยู่บนส่วนที่อยู่เหนือที่สุดของไต้หวัน และประดับประดาไปด้วยเหล่าอัญมณีล้ำค่า บทความพิเศษของเหล่านักท่องเที่ยวสายปั่นฉบับนี้ จะพาเราตามติดเหล่านักขี่จักรยานไปยังเวทีที่จัดแสดงงานศิลปะชั้นเลิศของเหล่าทวยเทพ และร่วมเป็นประจักษ์พยานถึงความมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติอันตระการตา
ยามฟ้าสาง คนจำนวนมากกำลังอยู่ในความฝัน หากแต่เหล่านักขี่จักรยานกลับเปี่ยมไปด้วยความคึกคัก เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่รอการออกเดินทาง พวกเขามารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าหงซู่หลินซึ่งตั้งอยู่บนชายขอบของไทเป อันถือเป็นจุดเริ่มต้นของทางหลวงหมายเลขไถ 2 ในจังหวะที่บนท้องถนนยังมียวดยานผ่านไปมาไม่มากนัก และแสงแดดก็ยังไม่แรงกล้าจนถูกแผดเผานี้ พวกเขาพร้อมแล้วที่จะออกเดินทางเพื่อท่องเที่ยวตามเส้นทางชายฝั่งตอนเหนือของเกาะไต้หวัน
ทิวทัศน์ชายฝั่งของประเทศแห่งแดนใต้
อ่าวเฉียนสุ่ยวัน (淺水灣) ซึ่งเป็นที่ร่ำลือว่างดงามเหมือนกับเขิ่นติง (墾丁) เป็นจุดแรกที่เราแวะชมในการเดินทางครั้งนี้ ชายหาดของที่นี่โค้งมนเป็นวงสวยราวกับพระจันทร์เสี้ยว ทรายบนหาดอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุ เม็ดทรายสีทองเมื่อนำมาส่องดูแล้วจะมองเห็นเป็นสีสนิมของธาตุเหล็กที่อยู่ภายใน อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสถานที่แห่งนี้
ท้องทะเลที่กว้างใหญ่ของอ่าวเฉียนสุ่ยวัน ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในพื้นที่ หากแต่ยังเป็นสถานที่เล่นน้ำทะเลที่มีชื่อเสียง ซึ่งเหล่านักท่องเที่ยวนิยมมาเยี่ยมเยือนเป็นอย่างมาก คุณจางรุ่ยซง (張瑞松) ไกด์อาสาสมัครประจำสำนักบริหารอุทยานท่องเที่ยวแห่งชาติชายฝั่งตอนเหนือและภูเขากวนอินซานบอกกับเราว่า ก่อนจะลงเล่นน้ำ จะต้องหัดเรียนรู้การมองสภาพอากาศของท้องทะเลให้เป็นเสียก่อน
เนื่องจากบริเวณชายฝั่งตอนเหนือจะมีกระแสน้ำย้อนกลับ (Rip Current) เกิดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งปรากฏการณ์แห่งท้องทะเลนี้มักจะถูกเรียกว่าเป็น “เพชฌฆาตที่มองไม่เห็น” ท้องทะเลที่ดูเหมือนสงบ หากแต่ใต้น้ำกลับมีกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากซึ่งไหลย้อนจากฝั่งกลับสู่ทะเล ดังนั้น หากนักท่องเที่ยวขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ แล้วว่ายน้ำตามคลื่นออกจากฝั่งไปเรื่อยๆ เมื่อคิดจะว่ายกลับเข้าฝั่งก็จะพบว่าต้องเผชิญกับแรงต้านอันรุนแรง สุดท้ายก็จะทำให้ร่างกายหมดเรี่ยวแรงและจมน้ำเสียชีวิต แม้แต่กระทรวงศึกษาธิการก็พยายามอย่างเต็มที่ในการรณรงค์ให้ความรู้แก่นักเรียนตามโรงเรียนในละแวกใกล้เคียง เพราะกลัวว่าเหล่านักเรียนทั้งหลายจะอาศัยช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนพากันมาเล่นน้ำทะเล อาจเกิดอุบัติเหตุจนกลายเป็นโศกนาฏกรรม
สดับสำเนียงของบทเพลงแห่งศิลาและวายุ
จากสถานีรถไฟฟ้าหงซู่หลิน (紅樹林) ไปถึงร้านสะดวกซื้อบริเวณสี่แยกระหว่างทางหลวงหมายเลขไถ 2 ที่ตัดกับถนนจงซิงเจียในเขตซานจือ (三芝) มีระยะทาง 16 กิโลเมตร ถือเป็นเพียงการวอร์มอัพร่างกายเท่านั้น คุณโหยวชังเสี้ยน (游昌憲) ซึ่งเป็นโค้ชด้านการออกกำลังกายบอกกับเราว่า จุดนี้เป็นจุดที่เหล่านักปั่นจักรยานทั้งหลายเรียกว่า “จุดสตาร์ท” เพราะหลังจากนี้ไปก็จะไม่ต้องสนใจไฟแดงไฟเขียวอีกแล้ว พวกเขาจึงหยุดพักที่นี่เพื่อดื่มน้ำและเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย เพื่อให้พร้อมสำหรับการขี่จักรยานเลียบริมทะเลที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นอย่างเต็มตัว
เมื่อขี่จักรยานไปเรื่อยๆ ตามทางหลวงหมายเลขไถ 2 ก็จะมาถึงแหลมแห่งแรกของชายฝั่งตอนเหนือ นั่นก็คือ แหลมหลินซานปี๋ (麟山鼻) สันจมูกเรียวยาวที่ทอดลงไปในทะเลถือเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของหมู่ภูเขาไฟต้าถุนซาน (大屯山) เมื่อ 8 แสนปีก่อน
เขตนันทนาการหลินซานปี๋ที่ตั้งอยู่หลักกิโลเมตรที่ 23 ของทางหลวงสายไถ 2 ถือเป็นไฮไลท์แห่งแรกของเราในทริปนี้ หลังจากที่เลี้ยวเข้าทางเล็กๆ แล้วไปจนสุดทางที่แพปลาหลินซานปี๋ เมื่อเรามองจากจุดนี้ไปในทะเล ทางขวามือคือเส้นทางเดินเขาหลินซานปี๋ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้เขียวชอุ่มเป็นทิวแถว
เมื่อมาถึงที่นี่ นอกจากจะมีต้นไม้ที่พบเห็นได้โดยทั่วไปตามชายทะเล เช่น ปอทะเล อโลคาเซีย ขิงไข่มุก ปินตังกุย หยางถี ตีนเป็ดทราย และต้นรวงข้าวไต้หวันแล้ว ยังมีหินสีเทาดำหลงเหลือจากภูเขาไฟ ซึ่งถูกกัดเซาะจากน้ำทะเลมายาวนาน และถูกลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดกระหน่ำ จนกลายเป็นหินที่เรียกว่า “หินฟงเหลิงสือ” ที่ถูกลมพัดเสียดสีจนเรียบ คุณจางรุ่ยซงบอกกับเราว่า จะไม่เหมือนกับหินทั่วไป เพราะมีลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ หน้ากว้าง ระหว่างแต่ละหน้าจะมีสันขอบ และมีมุมหักระหว่างสันแต่ละข้าง จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ “ฟงเหลิงสือ” (風稜石) ที่หมายถึงหินที่มีสันจากการกัดเซาะของลม
ส่วนอีกด้านหนึ่งของท่าเรือก็มีทิวทัศน์ที่แปลกตาออกไป ทางจักรยานที่ปูด้วยขอนไม้ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ มีความยาวมากกว่า 10 กิโลเมตร และเนื่องจากเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างซานจือกับสือเหมิน ทำให้ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็น “ฟงจือเหมิน” (風芝門) โดย “ฟง” หมายถึงลม ส่วนคำว่า “จือ” และ “เหมิน” เป็นการนำคำจากชื่อ “ซานจือ” และ “สือเหมิน” มาใช้ โดยในละแวกใกล้เคียงมีโขดหินใหญ่ๆ อยู่สองก้อน มีตะไคร่น้ำสีเขียวๆ ขึ้นอยู่เต็มไปหมด จนทำให้กลายเป็นทัศนียภาพที่แปลกตาเป็นอย่างมาก
โขดหินที่เกิดขึ้นจากซากทับถมของตะไคร่น้ำจะขยายตัวปีละไม่ถึง 1 เซนติเมตร ดังนั้นโขดหินขนาดยักษ์ที่เห็นอยู่ตรงหน้าจึงถือว่ามีคุณค่าเป็นอย่างมาก และจากการก่อสร้างท่าเรือหลินซานปี๋ก็สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศในท้องถิ่นไม่น้อย จึงพอจะคาดเดาได้ว่าเจ้าโขดหินที่เห็นอยู่บนชายฝั่งนี้ คือสิ่งที่ตั้งใจเก็บรักษาไว้จากการก่อสร้างท่าเรือในตอนนั้น
หากโชคดีมาถึงที่นี่ในช่วงน้ำลด ก็จะเห็นโขดหินที่เต็มไปด้วยตะไคร่น้ำเรียงรายอยู่จำนวนมากในเขตน้ำขึ้นน้ำลง มรดกแห่งธรรมชาติที่หลงเหลืออยู่ด้วยความโชคดีเหล่านี้ เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิจะถูกน้ำทะเลซัดสาดจนทำให้ท้องทะเลเหมือนถูกย้อมด้วยสีเขียว ซึ่งที่จริงแล้ว มันก็คือสาหร่ายผักกาดทะเลนั่นเอง แม้ว่าสาหร่ายผักกาดทะเลจะรับประทานได้และถือเป็นสมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง หากแต่คุณจางรุ่ยซงบอกว่า “คนสมัยนี้เลือกกินกันมาก มีคนไม่น้อยที่รู้สึกว่าพืชชนิดนี้มีกลิ่นคาวมากไปหน่อย” โดยคุณจางได้ย้อนรำลึกถึงยุคสมัยที่ยังอยู่ในสังคมเกษตรว่า บรรดาชาวบ้านในละแวกนี้นิยมเก็บมันมาเพื่อเอาไปเลี้ยงหมู
ส่วนเส้นทางขอนไม้ที่เริ่มต้นจากฟงจือเหมินไปยังซานจือ เป็นเส้นทางเลียบทะเลที่ไม่ธรรมดาเส้นหนึ่งเลยทีเดียว นอกจากจะเป็นโลเคชั่นที่นักร้องดังอย่างเจย์ โชว์ (โจวเจี๋ยหลุน) เลือกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ MV เพลง “ปู้เหนิงซัวเตอะมี่มี่ (ความลับที่บอกไม่ได้)” แล้ว ยังเป็นเส้นทางที่เหล่านักปั่นจักรยานนิยมบอกต่อกันมาก เพราะเป็นเส้นทางลัดที่สามารถเลี่ยงทางขึ้นเนินแบบยาวๆ ที่จะต้องขี่จักรยานผ่านได้ด้วย เพราะฉะนั้นในช่วงขากลับก็อย่าลืมแวะเลี้ยวเข้ามา เพราะนอกจากจะได้ดื่มด่ำกับเส้นทางขี่จักรยานในป่าเขียวแล้ว เมื่อถึงสุดทางยังสามารถลัดกลับไปยังถนนสายหลักคือ ทางหลวงหมายเลขไถ 2 ได้ด้วย
ตลอดแนวชายฝั่งคือสนามฝึกซ้อมของเรา
ก่อนที่จะไปถึงแหลมถัดไป พวกเราต้องผ่านอ่าวไป๋ซาวัน (白沙灣) ก่อน ที่นี่คือทะเลที่ถูกโอบล้อมโดยหลินซานปี๋และแหลมฟู่กุ้ยเจี่ยว (富貴角) ทำให้มีบรรยากาศอีกแบบที่แตกต่างจากอ่าวเฉียนสุ่ยวัน ทรายเปลือกหอยที่มีสีขาวสดใส ทำให้ท้องทะเลของที่นี่ดูแล้วสะอาดสบายตาเป็นอย่างยิ่ง คุณจางรุ่ยซงเล่าว่า ที่นี่ถือเป็นสถานที่ที่คนญี่ปุ่นชอบมาเล่นน้ำทะเลกันมากในยุคที่ไต้หวันยังอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น
คุณโหยวชังเสี้ยนชี้ให้เราดูจุดชมวิวที่เหล่านักปั่นจักรยานชื่นชอบมาก คือฟาร์มจูเซ่อหนงจวงที่ตั้งอยู่ริมทะเล โดยแถบชายฝั่งตอนเหนือถือเป็นแหล่งคนดังแห่งหนึ่ง นอกจากจะมีพิพิธภัณฑ์คนดังในเขตซานจือ ที่มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของอดีตประธานาธิบดีหลี่เติงฮุย (李登輝) เจียงเหวินเหย่ (江文也) หลูซิวอี (盧修一) และตู้ชงหมิง (杜聰明) แล้ว ยังมีความเกี่ยวพันกับจิตรกรชื่อดังอย่างจูเจิ้นหนาน (朱振南) ด้วย คำว่า “จูเซ่อ” (朱舍) ฟังชื่อก็รู้ว่าเป็นบ้านของตระกูลจู ซึ่งเจ้าของฟาร์มแห่งนี้ก็เป็นญาติสนิทของจูเจิ้นหนานด้วย
ตัวฟาร์มแม้จะดูแล้วเรียบง่ายเป็นอย่างมาก ไม่มีอาหารไว้ให้บริการ มีเพียงแค่อุปกรณ์และสถานที่ในการทำบาร์บีคิวและชงชาเท่านั้น หากแต่ด้วยความที่ตั้งอยู่ในทำเลที่สะดวก และห้อมล้อมด้วยทิวป่าเขียวขจี ทำให้แม้ในช่วงหน้าร้อนก็มีอากาศเย็นสบาย จึงกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมบอกต่อกันในระหว่างกลุ่มนักปั่นจักรยาน ซึ่งส่วนใหญ่จะนัดหมายกับทางฟาร์มไว้ล่วงหน้า ก่อนจะหอบลูกจูงหลานมาใช้บริการที่นี่ โดยเตรียมวัตถุดิบในการปรุงอาหารมาด้วย เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้ทำบาร์บีคิวหรือชงชาพร้อมนั่งสนทนากันไปเรื่อยๆ ซึ่งทุกคนสามารถจะจอดรถจักรยานไว้ที่นี่ แล้วเปลี่ยนชุดวิ่งจ๊อกกิ้งไปที่ประภาคารบนแหลมฟู่กุ้ยเจี่ยวซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียงแล้วค่อยวิ่งกลับมา ซึ่งจะเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรพอดี หรือไปว่ายน้ำในทะเลที่อยู่ไม่ไกล ทำให้ที่แห่งนี้เป็นเหมือนสนามฝึกซ้อมไตรกีฬาที่ตั้งอยู่ริมทะเลจริงๆ
แม้จะผ่านวันเวลานับพันนับหมื่นปี ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
ตลอดเส้นทางการขี่จักรยานของเราในทริปนี้ นอกจากจะเที่ยวชมทิวทัศน์อันงดงามตระการตาแล้ว ยังไม่ลืมที่จะแวะชิมของอร่อยที่เป็นสีสันของพื้นที่หลายอย่าง บ๊ะจ่างของชายฝั่งตอนเหนือมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากได้อานิสงส์มาจากชื่อเสียงของศาลเจ้าสือปาหวังกงเมี่ยวโดยแท้ การไหว้เจ้าของที่นี่ หากต้องการให้ขลังจะต้องมาเซ่นไหว้ในเวลากลางคืน ซึ่งมีคนที่อยู่ทางใต้ของไต้หวันไม่น้อยที่หลังเลิกงานก็เดินทางมาเพื่อเซ่นไหว้ก่อนจะเดินทางกลับไปก่อนฟ้าสาง และเพื่อความสะดวกในการรับประทานอาหารขณะอยู่บนรถ รวมถึงซื้อไปฝากญาติสนิทมิตรสหาย จึงทำให้บ๊ะจ่างของที่นี่กลายมาเป็นของฝากเลื่องชื่อแบบแปลกๆ ไปโดยปริยาย ร้านขายบ๊ะจ่างเริ่มจากร้านตระกูลหลิวก่อน จากนั้นเมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้นก็มีร้านตระกูลอวี๋และตระกูลเฉินมาเปิดขายแข่งกันด้วย ทำให้จนทุกวันนี้ เหล่านักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านไปมา แม้จะไม่ได้คิดจะมาไหว้เจ้าก็ยังจะต้องแวะมาซื้อสักลูก เพื่อลองลิ้มชิมรสความอร่อยของบ๊ะจ่างเลื่องชื่อระบือไกลของที่นี่
หลังออกเดินทางจากแหลมฟู่กุ้ยเจี่ยวแล้ว ทริปของเราก็เริ่มเข้าสู่ช่วงท้าย พวกเราได้แวะเที่ยวชมชายฝั่งสีเขียวที่อยู่ในแถบเหล่าเหมย ทิวทัศน์แปลกตาในแบบอันซีนไต้หวันของที่นี่ เป็นผลงานชิ้นเอกของการระเบิดของภูเขาไฟต้าถุนซาน และเนื่องจากตั้งอยู่ริมทะเลและถูกน้ำทะเลซัดสาดมาเป็นเวลายาวนาน ส่วนที่อ่อนของหินจึงถูกกัดเซาะไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดเป็นร่องหินยาวๆ ปูดขึ้นปูดลง ไม่สม่ำเสมอ ประจวบกับช่วงนี้เป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เหมาะสมแก่การเติบโตของบรรดาสาหร่ายทะเล จึงทำให้แนวชายฝั่งที่มีความยาวถึง 1 กิโลเมตรนี้ ปกคลุมไปด้วยสีเขียวของสาหร่ายต่างๆ เมื่อเรายืนอยู่บนแนวชายฝั่งจะได้เสียงของคลื่นที่ซัดสาดอย่างเป็นจังหวะจากไกลๆ ค่อยๆ เข้ามาใกล้ๆ และจะมองเห็นเกลียวคลื่นเป็นฟองๆ ที่พุ่งขึ้นมาจากร่องหินเหล่านี้ มองดูแล้วเหมือนกับเป็นน้ำพุขนาดย่อมๆ เลยทีเดียว
งานศิลปะจากฝีมืออันประณีตของธรรมชาติมิได้มีเพียงเท่านี้ สือเหมิน (ประตูหิน) ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ประตูหินโค้งเป็นวงของที่นี่มีความสูงถึง 10 เมตร ซึ่งเราจะเห็นร่องรอยทางภูมิศาสตร์ต่างๆ มากมายเป็นชั้นๆ อยู่บนหิน จึงทำให้ที่นี่เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของคนในพื้นที่ และถือเป็นที่มาของชื่อเขตพื้นที่ที่เรียกกันว่าสือเหมินหรือประตูหินด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสแห่งวันเวลาที่ผันผ่าน แม้เจ้าประตูหินนี้จะยังคงตั้งตระหง่านอยู่อย่างแข็งแกร่ง หากแต่กลับมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่อยู่โดยรอบ เมื่อเราพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่า หาดทรายที่ควรจะเต็มไปด้วยหอยสังข์และเปลือกหอยต่างๆ ไม่เพียงแต่จะหายไปจนหมด สิ่งที่มาอยู่ในทรายแทนกลับเป็นขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆ จำนวนมาก ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะรู้สึกเสียดายต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้
จุดหมายปลายทางของทริปขี่จักรยานในครั้งนี้ คืออ่าวซาจูวัน สถานที่ซึ่งถูกเปลี่ยนชื่อมาหลายครั้งมาก ก่อนหน้านี้ที่นี่เคยถูกเรียกว่า “จงเจี่ยว” แต่คุณจางรุ่ยซงบอกว่า คนเฒ่าคนแก่ที่อาศัยอยู่แถบนี้จะเรียกที่นี่ว่า “กู่เหลียว” เนื่องจากสมัยที่พวกท่านยังเด็กๆ ต้องหากินกับทะเล จึงมักจะสร้างเพิงเล็กๆ ขึ้นริมชายฝั่งเพื่อใช้ในการเก็บแหที่ใช้ในการจับปลา จึงกลายเป็นที่มาของชื่อกู่เหลียวที่หมายถึงเพิงแห หากแต่ในปัจจุบัน การทอดแหจับปลาในแบบเดิมๆ ได้สูญหายไปแล้ว ท้องทะเลในละแวกใกล้เคียงก็เริ่มเหือดแห้ง แทบไม่มีเรือประมงเข้าออกให้เห็นกันแล้ว ภาพชาวประมงที่คอยฟังเสียงจากหอยสังข์ ก่อนจะช่วยกันแบกแหแบกเรือออกทะเล จึงกลายเป็นเพียงภาพแห่งความทรงจำในอดีต
หากแต่ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่ากู่เหลียว จงเจี่ยว หรืออ่าวซาจูวัน เมื่อยืนอยู่ที่ตรงนี้แล้วมองออกไปยังท้องทะเลกับแผ่นฟ้าที่แทบจะกลายเป็นสีเดียวกันแล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าเมื่อเทียบกับธรรมชาติอันแสนจะยิ่งใหญ่แล้ว มนุษย์เราก็เปรียบเสมือนกับเป็นเพียงแมลงเม่าเท่านั้น อย่าไปยึดติดกับลาภยศสรรเสริญใดๆ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเราได้เดินผ่านไปบนผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ ก็จะตระหนักได้ว่าความเปลี่ยนแปลงและการสืบทอดต่างๆ ทางวัฒนธรรมก็แค่เป็นหลักร้อยปี หากแต่ธรรมชาติที่ได้ผ่านพบหรือได้เหยียบยืนอยู่นั้น คือผืนปฐพีที่แทบจะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ และเมื่อคิดได้ดังนี้ ความรู้สึกเคารพนบนอบและอ่อนน้อมถ่อมตนก็จะเกิดขึ้นอย่างเปี่ยมล้นอยู่ภายในใจ