สอน...เพื่อไต้หวัน
พลังที่เปลี่ยนแปลงการศึกษาในชนบท
เนื้อเรื่อง‧เฉินฉวินฟาง ภาพ‧เสียวเหยี่ยนสตูดิโอ / ฝูโย่วเฉิง แปล‧รุ่งรัตน์ แซ่หยาง
กุมภาพันธ์ 2021
當貧富不均、城鄉差距等議題讓社會瀰漫低迷的氛圍時,有群年輕人選擇收起抱怨,進入問題的核心。他們擁有令人稱羨的學歷,但他們選擇投入偏鄉教育,陪伴孩子。因為他們相信,「Teach for Taiwan,為台灣而教」會是改變社會的契機。
ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน รวมถึงการขาดความสมดุลด้านความเจริญระหว่างในเมืองกับชนบท มักจะเป็นประเด็นที่สร้างความหดหู่ให้กับสังคม แต่กลับมีกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่เลิกพร่ำบ่นแล้วก้าวเข้าไปที่ต้นตอของปัญหา พวกเขาต่างก็มีประวัติการศึกษาซึ่งเป็นที่น่าอิจฉาสำหรับคนรอบข้าง แต่พวกเขากลับทุ่มเทตัวเองให้กับการศึกษาในชนบทที่ห่างไกล และใช้ชีวิตอยู่เป็นเพื่อนของเด็กๆ เพราะพวกเขาเชื่อมั่นในแนวคิดที่ว่า “สอน...เพื่อไต้หวัน Teach for Taiwan” จะช่วยสร้างโอกาสในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้
ภายในงานตลาดนัดแรงงานที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยมีอยู่คูหาหนึ่งที่มีคนมารุมล้อมมากมายหากดูเพียงผิวเผินก็เหมือนกับว่าน่าจะเป็นคูหาของบริษัทข้ามชาติสักแห่งหนึ่งที่มีตำแหน่งงานอันน่าดึงดูดจนเมื่อเราสอบถามแล้วถึงได้รู้ว่าแท้จริงแล้วคือคูหารับสมัครครูที่จะไปสอนในชนบทห่างไกล
เหล่าคนรุ่นใหม่นำเอาความรักไปใส่ให้ชนบทห่างไกล เพื่อนำพาให้เด็กๆ ได้มองเห็นอนาคตอันไร้ขีดจำกัด
การศึกษาคือพันธกิจจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้านบน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทุกๆ ปี ในช่วงที่มูลนิธิ Teach For Taiwan (TFT) ไปเข้าร่วมกิจกรรมตลาดนัดแรงงานตามสถาบันศึกษาต่างๆ
TFT ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.2013 โดยมีพันธกิจที่จะเปลี่ยนแปลงความไม่เท่าเทียมกันด้านการศึกษาจากการที่มีข่าวเกี่ยวกับคุณครูตกงานอยู่เป็นระยะมักจะทำให้ผู้คนเข้าใจว่าปริมาณครูในตลาดมีมากเกินความต้องการแต่จริงๆแล้วโรงเรียนที่อยู่ในชนบทห่างไกลมักจะประสบปัญหาขาดแคลนครูอาจารย์ทั้งที่ตามหลักการแล้วทุกคนควรจะมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันแต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่าคุณภาพด้านการศึกษาขึ้นอยู่กับถิ่นกำเนิดของเด็กแต่ละคนและกลายเป็นชะตาชีวิตที่ยากจะพลิกผันทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนและในเมืองกับชนบทค่อยๆทิ้งห่างกันมากขึ้นทุกที
ในปีค.ศ.2012 คุณหลิวอันถิง (劉安婷) ผู้ก่อตั้งของ TFT ยังทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และมีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวของปัญหาด้านการศึกษาในชนบทห่างไกลของไต้หวันจากคุณพ่อคุณแม่ จึงได้ยกตัวอย่างของ “Teach For America (TFA)” องค์กรที่รวบรวมอาสาสมัครซึ่งเป็นนักศึกษาจบใหม่จากมหาวิทยาลัยชั้นเลิศให้ไปสอนหนังสือในดินแดนห่างไกลความเจริญ ก่อนจะรู้สึกว่าพบหนทางแก้ไขแล้ว หลิวอันถิงจึงได้พูดโทรศัพท์ข้ามประเทศกับคุณพ่อคุณแม่ถึงความฝันที่จะก่อตั้ง TFT ขึ้น
จากนั้น หลิวอันถิงจึงได้พยายามหาทางติดต่อกับ TFA ผ่านช่องทางต่างๆ ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ก็พยายามติดต่อกับองค์กรและบุคคลที่มีความห่วงใยต่อปัญหาด้านการศึกษาในพื้นที่ชนบทของไต้หวัน และหลังจากที่ทำการศึกษาแนวทางและติดต่อผู้คนได้สักระยะ การก่อตัวของ TFT ก็ค่อยๆ ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น จากตอนแรกที่คิดจะเป็นเพียงที่ปรึกษาในการจัดทำรายงานข้อเสนอ เธอกลับเข้ามาคลุกคลีแบบเต็มตัว แน่นอนว่าความรู้สึกผูกผันภายในใจที่มีต่อการศึกษาในพื้นที่ชนบทของไต้หวันก็มากขึ้นตามไปด้วย
คุณหลิวอันถิงเคยกล่าวไว้ในหนังสือ “ออกไป เพื่อกลับบ้าน
(出走,是為了回家)” ว่า “ท้ายที่สุดแล้ว ทำไมต้องทำ TFT? ก็เพราะไม่เพียงแต่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาในชนบท หากแต่ยังต้องการเปลี่ยนแปลงคนรุ่นเราให้หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ แล้วลงมือทำด้วยตัวเอง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง”
วงล้อมอัสดงก่อนเลิกเรียน คือช่วงเวลาสำหรับการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างลักษณะนิสัยอันดีงาม และเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างคุณครูและนักเรียนให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น
ก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน เพื่อค้นหาความสำเร็จอีกแบบหนึ่ง
ในปีค.ศ.2008 คุณหลิวอันถิงได้รับทุนการศึกษาแบบเต็มจำนวนให้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) และหลังจากผ่านการล้มลุกคลุกคลานหลายครั้ง สุดท้ายก็สามารถเรียนจนจบ และคว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม Woodrow Wilson Senior Thesis Prize มาครองได้สำเร็จ ก่อนจะเข้าทำงานในบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่มีชื่อเสียง สำหรับหลิวอันถิงแล้ว เธอรู้ตัวมาตั้งแต่เด็กว่า เธอเป็นเหมือนคุกกี้มอนสเตอร์ที่รู้สึกหิวอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่ทำให้เธอหิวไม่ใช่คุกกี้ แต่เป็นการประสบความสำเร็จในชีวิต จนเธอมีโอกาสได้ไปเป็นครูอาสาสมัครที่กานาและเฮติ ซึ่งทำให้เธอตระหนักว่า คุณค่าของชีวิตไม่ได้อยู่ที่ชื่อเสียงเงินทอง การเข้าใจถึงความสำคัญของการรับฟังและการอยู่เคียงข้าง คือการศึกษา และก็เป็นคุณค่าที่สำคัญระหว่างคนกับคน
สุดท้าย เธอจึงตัดสินใจทิ้งทุกสิ่งที่เคยมีในอเมริกาและเดินทางกลับมาไต้หวัน โดยสิ่งที่รออยู่ตรงหน้าคือเส้นทางอันยาวไกลที่มุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา
การตระหนักถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของหลิวอันถิงน่าจะเป็นสิ่งดึงดูดบุคลากรชั้นเลิศที่มีภูมิหลังอันยอดเยี่ยมมาทำงานร่วมกับเธอ หากตรวจดูรายชื่อของเหล่าครูอาสาสมัครในทีมงานของ TFT จะพบว่า มีไม่น้อยที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง พวกเขามีทางเลือกมากมายสำหรับอนาคตที่รออยู่ตรงหน้า แต่เพราะมีความเห็นพ้องกับแนวคิดของ TFT ทำให้พวกเขาให้นิยามเกี่ยวกับคุณค่าของความสำเร็จขึ้นใหม่ และผันตัวเองมาทุ่มเทให้กับความสำเร็จด้านการศึกษาเป็นการทดแทน
ควานหาครูที่เปี่ยมด้วยจิตสำนึกของความเป็นครู
แม้ว่ายังมีการขาดแคลนครูในชนบทห่างไกล แต่ TFT ก็ไม่ได้รับทุกคนที่มาสมัคร ต้องผ่านขั้นตอนการตรวจเอกสาร การสัมภาษณ์ออนไลน์ และการสัมภาษณ์จริงถึง 3 ขั้นตอน โดยในส่วนของการสัมภาษณ์จริงนั้น ยังแบ่งเป็นการทดลองสอนจริง และการสอบสัมภาษณ์ด้วย
การเรียนการสอนในชนบทห่างไกลนั้น ไม่เพียงแต่จะอยู่ภายในชั้นเรียนเท่านั้น ทั้งในส่วนของโรงเรียน บ้าน หรือชุมชน ต่างก็ถือเป็นความท้าทายสำหรับครูผู้สอนเช่นกัน ดังนั้น TFT จึงได้กำหนดคุณสมบัติของครูผู้สอนที่จะเข้าร่วมโครงการขึ้นใหม่ว่า นอกจากจะมีความสามารถในการสอนแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการแก้ไขปัญหา รู้จักสังเกตและรับรู้ด้วยตัวเอง รับมือกับความผิดหวังได้ดี สื่อสารกับคนรอบข้างได้ และมีความเป็นผู้นำ แม้จะมีการตั้งคุณสมบัติไว้แบบนี้ แต่ในการรับสมัครตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งที่ 5 ก็ยังได้รับใบสมัครมากกว่า 1,700 ชุด ก่อนที่จะรับสมัครครูได้ 120 คน เพื่อส่งไปยังพื้นที่ห่างไกลความเจริญ 38 แห่ง อัตราส่วนของการได้งานคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 เท่านั้น
โดยหลังจากผ่านการคัดเลือกแล้ว ครูเหล่านี้จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเป็นเวลา 6 เดือน และในขั้นสุดท้ายต้องสอบผ่านการฝึกสอนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ด้วย
โรงเรียนประถมเจิ่งหมิน ยึดมั่นสปิริตของ TFT
ร้อยละ 90 ของครูทั้งหมดต่างก็เป็นผลผลิตจากระบบการฝึกอบรมของ TFT และโรงเรียนประถมศึกษาเจิ่งหมินที่อยู่ในเมืองหยุนหลิน ถือเป็นโรงเรียนที่นำเอาหลักการของ TFT ไปใช้อย่างเต็มที่มากที่สุดแห่งหนึ่ง ครูอาจารย์ของที่นี่ต่างก็เป็นบุคลากรที่เปี่ยมไปด้วยความรับผิดชอบ และมีเป้าหมายที่จะยกระดับลักษณะนิสัยและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กๆ ทำให้มีการนำเด็กๆ มาใช้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนทั้งหมด เพื่อช่วยให้เด็กๆ ได้รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเอง ส่งผลให้โรงเรียนประถมเจิ่งหมินพลิกผันตัวเอง เปลี่ยนจากโรงเรียนที่ใกล้จะถูกปิด กลายเป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองแย่งกันส่งบุตรหลานมาเข้าเรียน
สัปดาห์แห่งการประเมินถือเป็นเอกลักษณ์ของเจิ่งหมิน ซึ่งจะไม่นำเอาผลสอบรายเดือนมาคิดคะแนน โดยคุณครูแต่ละคนจะออกแบบการทดสอบทั้งที่เป็นการถามตอบในกระดาษหรือที่ต้องลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เด็กๆ นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาใช้ในการปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วง ซึ่งผลการทดสอบไม่เพียงแต่จะมีการคิดคะแนนเท่านั้น หากแต่ยังมีคำบรรยายของคุณครูเกี่ยวกับขั้นตอนของสิ่งต่างๆ ที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ด้วย คุณซ่งหวั่นหรง (宋婉榕 ) หัวหน้าฝ่ายธุรการของโรงเรียนประถมเจิ่งหมิน ซึ่งเคยเป็นครูรุ่นที่ 2 ของ TFT บอกกับเราว่า “การสอบไม่ใช่เพื่อวัดว่าเด็กๆ สอบได้กี่คะแนน และการประเมินจะทำให้เรารู้ว่าเด็กๆ เรียนรู้ไปได้มากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ยังไม่รู้ก็เพียงพอแล้ว” การจะให้ครูแต่ละคนทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับสภาพการณ์ของเด็กๆถือเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากหากไม่ได้รับการยอมรับและไม่ได้รับความร่วมมือจากครูทั้งโรงเรียน
แล้วในการสอนเกี่ยวกับลักษณะนิสัยจะทำได้อย่างไร? โรงเรียนเจิ่งหมินใช้ประโยชน์จากสิ่งละอันพันละน้อยที่แอบแฝงอยู่ในสภาพแวดล้อม เช่น ทุกวันหลังเลิกเรียน จะมีกิจกรรมวงล้อมอัสดง (Sunset Circle) ซึ่งจะให้เด็กๆ มานั่งเป็นวงล้อมแล้วให้คุณครูมากล่าวชื่นชมว่า ในวันนี้ได้เห็นนักเรียนคนไหนที่มีพฤติกรรมที่น่าชมเชยอะไรบ้าง และให้นักเรียนออกมาแบ่งปันความรู้สึกว่า มีเพื่อนคนไหนทำอะไรที่ตัวเองรู้สึกดีบ้าง นอกจากนี้ ยังมี “ช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ” ซึ่งเมื่อคุณครูพบเห็นว่าเด็กๆ มีพฤติกรรมที่ถือเป็นการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในเวลาใดหรือสถานที่ใด คุณครูจะต้องบอกให้เด็กรู้ทันที สิ่งที่ครูทำไม่ใช่การสอนแต่เป็นการปล่อยให้เด็กได้ปฏิบัติจริง เพื่อให้การปรับปรุงลักษณะนิสัยกลายเป็นความเคยชินที่ค่อยๆ สะสมเพิ่มเติมในชีวิตประจำวัน
กุญแจแห่งการเปลี่ยนแปลงอยู่นอกห้องเรียน
เคยมีครูของ TFT ซึ่งไปสอนในโรงเรียนประถมที่ตำบลซินผีเมืองผิงตงทดลองทำอะไรหลายอย่างเพื่อกระตุ้นให้เด็กๆสนใจเรียนภาษาอังกฤษแต่แทบไม่ได้ผลจนกระทั่งบังเอิญได้มีโอกาสไปสอนในชั้นเรียนของผู้สูงอายุซึ่งในแถบนี้การที่ผู้สูงอายุต้องเลี้ยงหลานถือเป็นเรื่องปกติมากจึงทำให้ผู้สูงวัยเหล่านี้เป็นผู้ปกครองของเด็กๆด้วยเมื่อคุณปู่คุณย่าต้องมาเรียนหนังสือก็จะไม่มีคนดูแลเด็กๆจึงต้องพามาเรียนด้วยกัน
สาเหตุที่ทำให้เหล่าอากงอาม่าอยากมาเรียนภาษาอังกฤษก็เป็นอะไรที่น่าประหลาดใจมาก เช่น เพื่อจะได้อ่านป้ายทะเบียนรถที่เป็นภาษาอังกฤษได้ เวลาที่มีคนชนแล้วหนีจะได้รู้ว่าเป็นทะเบียนรถหมายเลขอะไร หรือว่าอยากจะรู้ไซส์ของเสื้อผ้าที่ตัวเองจะซื้อ เป็นต้น ซึ่งคุณครูก็ต้องออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ผ่านไปไม่นาน เด็กๆ พบว่า ภาษาอังกฤษของอากงอาม่าดีกว่าตัวเอง ในขณะที่ตัวผู้ปกครองเองก็มีความมั่นใจที่จะคุยกับหลานๆ มากขึ้น ทำให้เด็กๆ เริ่มเปลี่ยนจากการจับกลุ่มเล่นกันหลังห้องเรียน และหันมาเรียนไปด้วยกัน ซึ่งถือเป็นภาพหายากของเหล่าอากงอาม่าที่ใช้ภาษาอังกฤษมาพูดคุยกับหลานๆ และนี่ก็คือความสำเร็จของคุณครูจาก TFT ที่ใช้เวลาอยู่ที่นั่นนานถึง 1 ปีกว่าที่จะค่อยๆเริ่มเห็นผล
ดวงไฟที่จุดประกายแห่งการปฏิรูปสังคม
เหล่าคุณครูที่มาเข้าร่วมโครงการของ TFT และมีโอกาสได้ไปสอนหนังสือในชนบทห่างไกล บางคนก็เลือกที่จะใช้ชีวิตเป็นคุณครูอยู่ในชนบท แต่ก็มีบางคนที่เลือกจะผันตัวเองมาทำงานเพื่อชุมชน เช่น คุณอูเจียฮุ่ย (巫家蕙) ครูรุ่นแรกของ TFT ที่ก่อตั้งสมาคม ThereforEd Association ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดทำแบบเรียนภาษาอังกฤษสำหรับแต่ละท้องที่ เพื่อคอยเป็นกำลังหนุนให้เหล่าคุณครูในชนบทห่างไกล
คุณจงอ้ายหลิง (鍾艾凌) หัวหน้าฝ่ายความสัมพันธ์นอกองค์กรของ TFT ให้ความเห็นว่า เคยมีหัวหน้าฝ่ายของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ไม่ค่อยชอบครูที่มาจาก TFT มากนัก เพราะเข้าใจว่าครู TFT มีความกระตือรือร้นที่มากเกินควร เพราะต้องการจะมาปฏิรูปที่นี่ แต่หลังจากผ่านไประยะหนึ่งก็ได้ประจักษ์ว่า ครูคนนี้เอาใจใส่ต่อเด็กๆ อย่างแท้จริง เมื่อเห็นแล้วทำให้หัวหน้าผู้นี้ย้อนนึกถึงตัวเองสมัยยังเป็นครูฝึกสอน TFT จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ครูของ TFT จะสามารถเพิ่มพลังบวกให้กับวงการการศึกษาของไต้หวัน
การวิ่งคนเดียวจะไปได้เร็ว แต่ถ้าจะวิ่งให้ไกลต้องไปเป็นกลุ่ม Teach For Taiwan มิใช่เป็นเพียงชื่อขององค์กร แต่เป็นเสมือนพันธกิจร่วมกันของคนทุกคน