แลนด์มาร์กแห่งป่าไผ่โลก
สุดแสนฮีลใจที่ป่าไผ่แห่งสือปี้ หมู่บ้านเฉาหลิง
เนื้อเรื่อง‧กัวเหม่ยอวี่ ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล แปล‧อัญชัน ทรงพุทธิ์
ธันวาคม 2024
ตั้งแต่โบราณกาลเป็นต้นมา เหล่านักปราชญ์ นักเขียนและจิตรกรชาวจีนต่างหลงรักต้นไผ่ มีการขับขานบทกวีและวาดภาพที่เกี่ยวกับไผ่กันอย่างแพร่หลาย ในคัมภีร์ “จื๋อจู๋จี้” (植竹記) หรือคัมภีร์ปลูกไผ่ ผลงานของหลิวเหยียนฟู (劉嚴夫) นักเขียนในยุคราชวงศ์ถัง กล่าวไว้ว่า “คุณธรรมของสัตบุรุษเปรียบดังต้นไผ่” ส่วนซูซื่อ (蘇軾) กวีเอกสมัยราชวงศ์ซ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ขาดไผ่ ไร้รสนิยม” และ “บ้านต้องไม่ขาดไผ่” จะเห็นว่า ไผ่ได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของความสูงศักดิ์และซื่อสัตย์สุจริต
ศูนย์ป่าบำบัดสือปี้ (石壁森林療癒基地) ในเมืองหยุนหลิน ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความสูง 1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ตั้งตระหง่านอยู่กลางป่าไผ่ที่เงียบสงบบนพื้นที่นับร้อยเฮกตาร์ (ประมาณ 625 ไร่) เพิ่มความแปลกใหม่ให้แก่การบำบัดด้วยป่าไผ่ จึงได้รับการขนานนามว่า “แลนด์มาร์กแห่งป่าไผ่โลก”
หมู่บ้านเฉาหลิ่ง ในตำบลกู่เคิง เมืองหยุนหลิน ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,600-1,750 เมตร ถือเป็นหมู่บ้านบนภูเขาที่สูงที่สุดในเมืองหยุนหลิน มีทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงามมากมาย อาทิ หินรูปทรงแปลกประหลาด น้ำตก และลำธาร เป็นต้น
ในอดีตเคยได้รับการยกย่องว่าเป็น “10 ทิวทัศน์แห่งเฉาหลิ่ง” แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกล จึงมีเพียงนักปีนเขาที่ไปปีนภูเขาสือปี้และภูเขาเจียหนานหยุนเฟิงเท่านั้นที่ให้ความสนใจ หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบร้อยปีเมื่อวันที่ 21 กันยายน ปี ค.ศ. 1999 ส่งผลให้เส้นทางเข้าสู่หมู่บ้านเฉาหลิ่งถูกตัดขาด ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงอย่างฮวบฮาบ จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลผลักดันการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย จึงเป็นโอกาสสำหรับป่าไผ่โมโซ (Moso bamboo) ซึ่งพบเห็นทั่วไป ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของชุมชนสือปี้ในหมู่บ้านเฉาหลิ่ง
เหตุแผ่นดินไหวรุนแรง 21 กันยายน 1999 กลายเป็นจุดพลิกผัน
“มีนักปีนเขา ก็มีโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปได้” เมื่อ 20 กว่าปีก่อน คุณกัวโส่วฟา (郭守發) ผู้เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะไม้ไผ่แห่งสือปี้ได้ร่วมกับชาวบ้านที่เป็นสมาชิกสมาคมพัฒนาชุมชนสือปี้ ขานรับนโยบาย 1 ตำบล 1 เอกลักษณ์ ด้วยการยื่นขอใช้ที่ดินของรัฐในชุมชนสือปี้ หมู่บ้านเฉาหลิ่ง และประยุกต์ใช้ไม้ไผ่โมโซซึ่งเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่น มาสร้างระเบียงสีเขียว “อู่หยวนเหลียงเจี่ยว” (五元兩角) ที่ประกอบด้วยศาลาริมทางและสะพานโค้ง ซึ่งทางตอนเหนือจะเชื่อมต่อกับ “เส้นทางโบราณ มู่หม่า” (木馬古道) ที่ในอดีตเป็นเส้นทางขนส่งไม้ฮิโนกิหรือสนไซเปรสกับอบเชย และยังเชื่อมไปถึง “เนินแห่งหยุนหลิ่ง” ซึ่งเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นยามรุ่งอรุณกับอาทิตย์อัสดงยามพลบค่ำ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างเมืองหยุนหลิน เจียอี้ และหนานโถว จึงได้รับการขนานนามว่า “ยืนเหยียบเขตแดน 3 เมือง” ส่งผลให้ที่นี่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวบนภูเขาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา ป่าไม้ได้กลายเป็นสถานที่สำหรับการดูแลสุขภาพและการบำบัดรักษา อีกทั้งยังเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมในต่างประเทศ ป่าไผ่ผืนใหญ่ที่สือปี้กลายเป็นตัวเลือกเดียวในเมืองหยุนหลินที่เหมาะสำหรับการพัฒนาให้เป็นสถานที่แห่งการบำบัดด้วยป่า
หลังจากทำการซ่อมแซมทางหลวงย่อยหมายเลขเสี้ยนเต้า 149 A ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมเข้าสู่หมู่บ้านเฉาหลิ่งช่วงสุดท้ายเสร็จสิ้นลงในปี ค.ศ. 2022 เทศบาลเมืองหยุนหลินได้วางแผนใช้สวนไผ่ทางฝั่งใต้ของ “อู่หยวนเหลียงเจี่ยว” ที่มีพื้นที่ 100 เฮกตาร์ (625 ไร่) ทำเป็น “สวนไผ่นันทนาการแห่งสือปี้” (Shibi Bamboo Recreational Forest Park) โดยมอบหมายให้ D.Z. Architects & Associates, Forest Union และหลินเจียหมิน (林家民) นักป่าบำบัด ร่วมกันออกแบบโดยผสมผสานแนวคิดของการบำบัดด้วยป่าและใช้ “อู่หยวนเหลียงเจี่ยว” เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงพื้นที่ทางตอนเหนือและใต้เข้าหากัน สร้าง “ศูนย์ป่าบำบัดสือปี้ หมู่บ้านเฉาหลิง” ที่หลอมรวมป่าไผ่เข้ากับป่าไม้ตามธรรมชาติเข้าด้วยกันบนพื้นที่ 156 เฮกตาร์ (975 ไร่) เพื่อให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการบำบัดด้วยป่าของไต้หวัน
โดมไผ่ฉงติ่งที่ถูกออกแบบให้เป็นอาคารโครงสร้างเปลือกบาง ทำให้ภายในโดมมีสภาพแวดล้อมทางเสียงที่ไม่เลวเลยทีเดียว (ภาพจาก D. Z. Architects & Associates ถ่ายโดย หลัวมู่ซิน)
ม้านั่งกลางป่าสนซีดาร์ญี่ปุ่น มุมเอียงของม้านั่งถูกออกแบบมาเพื่อทำให้เมื่อเอนตัวลงนอนจะรู้สึกผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจในเวลาอันรวดเร็ว
อู่หยวนเหลียงเจี่ยว สวยงามปานประหนึ่งป่าไผ่ซากาโนะในนครเกียวโต
การเดินทางไปยังสือปี้ด้วยรถยนต์จากสถานีรถไฟความเร็วสูงหยุนหลิน เริ่มออกเดินทางจากหูเหว่ย และโต่วลิ่ว ผ่านตำบล จู๋ซาน เมืองหนานโถว จากนั้นวกกลับไปที่ตำบลกู่เคิง แล้ววิ่งรถไปตามทางหลวงหมายเลขไถ 149 ที่วกวนคดเคี้ยวจากที่ราบเบื้องล่างขึ้นสู่บนภูเขา จากหมู่บ้านชนบทและหมู่บ้านชนพื้นเมืองในเชิงเขาไปจนถึงยอดเขาที่ทอดตัวเป็นแนวยาวสุดลูกหูลูกตา และยังมีหน้าผาสูงชันสลับกับหุบเขา ใช้เวลาเดินทางประมาณเกือบ 2 ชั่วโมงจึงเข้าสู่เขตพื้นที่ภูเขาสือปี้
รถยนต์วิ่งจากถนนในหุบเขาที่กว้างใหญ่เข้าสู่ถนนในป่าไผ่ สองข้างทางถูกขนาบด้วยป่าไผ่ที่เขียวขจี สวยงามปานประหนึ่งเส้นทางเดินในป่าไผ่อาราชิยามะ (Arashiyama Park) ย่านซากาโนะ นครเกียวโต ทีมงานจอดรถที่ “อู่หยวนเหลียงเจี่ยว” ซึ่งเป็นทางเข้าศูนย์ป่าบำบัด บริเวณนี้คือระเบียงสีเขียวซึ่งประกอบด้วยศาลาริมทางหลายหลัง เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางขึ้นมา เพื่อสัมผัสกับบรรยากาศที่เรียบง่ายและเงียบสงบ คุณกัวโส่วฟากล่าวว่า “เดิมศาลาเหล่านี้ ใช้เป็นสถานที่หลบฝนของนักเดินเขา ไม่นึกว่าจะกลายเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว ผมเองก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก”
แล้วทำไมสือปี้จึงมีต้นไผ่มากมาย? คุณกัวโส่วฟาซึ่งปัจจุบันอายุ 76 ปี กล่าวถึงตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาและบิดาของเขาเล่าให้ฟังเมื่อครั้งเยาว์วัยว่า หลังรัฐบาลสาธารณรัฐจีนย้ายมาลงหลักปักฐานในไต้หวัน ได้ตัดไม้บนภูเขาไปเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้นมีชายหนุ่ม 3 พี่น้องจากครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ริเริ่มทำการฟื้นฟูป่าด้วยการปลูกไผ่ นอกจากสามารถนำหน่อไม้ไปขายเป็นเงินได้แล้ว ลำไม้ไผ่สามารถใช้ทำเป็นวัสดุก่อสร้างและนำมาสานเป็นภาชนะ ไม้ไผ่จึงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ บรรดาเกษตรกรในพื้นที่จึงทำตาม ด้วยการหันมาปลูกไผ่กัน ส่งผลให้ที่นี่มีป่าไผ่ที่เจริญงอกงามและกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญประจำท้องถิ่น
ระเบียงสีเขียวอู่หยวนเหลียงเจี่ยว สร้างขึ้นโดยใช้ไม้ไผ่โมโซในท้องถิ่นนำมาสานกัน บริเวณโดยรอบถูกโอบล้อมด้วยป่าไผ่ เป็นที่เที่ยวหลบร้อนที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
บรรยากาศแห่งป่าไผ่สือปี้
สือปี้เป็นแหล่งผลิตหน่อไม้โมโซ ในฤดูหนาวก็สามารถเก็บหน่อไม้ฤดูหนาวหรือที่คนไทยเรียกตามภาษาแต้จิ๋วว่าตังซุ่งได้ คุณกัวโส่วฟาเล่าว่า หน่อไม้แตกหน่ออยู่ใต้ดิน ไม่จำเป็นต้องพ่นยาฆ่าแมลงและใส่ปุ๋ย ทำให้ดินสะอาดและปราศจากมลพิษ แม้จะย่ำเท้าเปล่าเดินไปบนทางเดินในป่าไผ่ก็ยังรู้สึกสบายเท้า “การนั่งดูพระอาทิตย์ขึ้นในช่วงเช้ามืด บางครั้งแม้เวลาผ่านไปเป็นชั่วโมงแล้ว แต่เมฆในหุบเขาก็ยังไม่ขยับเขยื้อน เมื่อลมพัดโชยมา ทะเลหมอกจะสลายตัวกลายเป็นกลุ่มหมอกบาง ๆ พวยพุ่งขึ้นสู่เบื้องบนกลุ่มแล้วกลุ่มเล่า แสดงว่าอากาศกำลังจะเปลี่ยนแล้ว” นี่คือหนึ่งวันในสือปี้
คุณกัวโส่วฟายังได้แบ่งปันเรื่องราวที่เกี่ยวกับบรรยากาศในสือปี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตาม ฤดูกาลทั้ง 4 เริ่มจากในฤดูใบไม้ผลิ อุณหภูมิใต้ผิวดินจะเพิ่มสูงขึ้น รากไผ่จะแผ่ขยายออกไป ใบไผ่จะเจริญงอกงาม เมื่อฝนฤดูใบไม้ผลิตกลงมา หน่อไม้จะงอกขึ้นมาเหนือพื้นดิน ใบไม้ใบหญ้าก็จะแตกใบอ่อนจนเขียวชอุ่มพุ่มไสวตามไปด้วย ในฤดูร้อนแสงแดดจะจัดจ้าและท้องฟ้าโปร่งใส ดินโคลนในป่าไผ่ที่ถูกแสงแดดสาดส่องจะส่งกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของไอดินออกมาไม่ขาดสาย ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการจำศีลของทุกสรรพสิ่ง ใบไม้จะหลุดร่วงลงสู่พื้นดินกลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ทำให้ทัศนียภาพใน 4 ฤดูกาลจะแปรเปลี่ยนไปโดยไม่ซ้ำกัน
“หมิงเจิ้น” หรือทางเดินเขาวงกต เป็นสถานที่สำหรับการเดินจงกรมที่ดีที่สุด (ภาพจากเทศบาลเมืองหยุนหลิน)
“เสี่ยวฉายเซวียน” ห้องน้ำสาธารณะที่ได้รับการออกแบบให้หลังคาเปิดโล่งครึ่งหนึ่ง ให้ความรู้สึกราวกับกำลังทำธุระในห้องน้ำกลางแจ้ง
(ภาพจาก D.Z. Architects & Associates ถ่ายภาพโดย หลัวมู่ซิน)
ภูมิสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ การสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมบนยอดแห่งภูผา
“สวนไผ่นันทนาการแห่งสือปี้” ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการบำบัดด้วยป่าที่ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของ “อู่หยวนเหลียงเจี่ยว” แบ่งเป็นเขตสาธารณะกับเขตปลีกวิเวกซึ่งแทบจะไม่ถูกรบกวนจากภายนอก เพื่อแยกพื้นที่ในการให้บริการสัมผัสประสบการณ์บำบัดด้วยป่าแก่ประชาชนทั่วไป นักท่องเที่ยวสามารถใช้แอปพลิเคชัน LINE สแกน QR Code ก็เริ่มการเดินทางเพื่อการเข้าไปอาบป่าบำบัดได้ทันที
คุณกานหมิงหยวน (甘銘源) สถาปนิกของ D.Z. Architects & Associates เล่าถึงแนวคิดในการออกแบบว่า “เมื่อคำนึงถึงลักษณะภูมิประเทศ จากการที่ตำแหน่งที่ตั้งอยู่บนสันเขาทำให้ภูมิสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ของที่นี่ต้องสามารถต้านแรงลมได้ เพื่อให้เกิดการสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมบนยอดแห่งภูผา และนักเดินทางได้ดื่มด่ำกับทัศนียภาพตามธรรมชาติเบื้องหน้าด้วยตนเอง ไม่ว่าจะนั่งหรือจะนอน หรือด้วยอิริยาบถอื่นใดก็ได้ตามใจปรารถนา”
ไม่ไกลจากบริเวณปากทางเข้าอู่หยวนเหลียงเจี่ยวที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คนและเสียงจอแจดังระงม คือ “จิ้งจั้ว” (瀞座) หรือ ฐานชำระจิตในเขตสาธารณะ ซึ่งเป็นจุดแรกที่เริ่มสัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งการชำระจิต คุณเยี่ยอวี้ซิน (葉育鑫) หนึ่งในสมาชิกทีมออกแบบของ Protoplain Architects ได้นำไผ่โมโซลำใหญ่มาทำเป็นคานโค้งและใช้ไผ่มากินอยที่ลำไม้ไผ่จะเล็กและตรง มาทำเป็นโครงของอาคารไม้ไผ่ที่มุงหลังคาไว้เพียงครึ่งหนึ่ง เสาตอม่อหล่อด้วยคอนกรีตในปริมาณเพียงเล็กน้อย ด้านในมีม้านั่งหินเป็นแนวยาว นักท่องเที่ยวที่นั่งเอนตัวอยู่บนม้านั่งหินจะสามารถมองเห็นทัศนียภาพของยอดไม้ไผ่ ท้องฟ้าและแสงเงาได้อย่างพอดิบพอดี จึงสามารถดึงความสนใจของผู้คนไปสู่ธรรมชาติได้โดยไม่รู้ตัว
ในช่วงบ่ายของวันอันเงียบสงบ นักป่าบำบัดกำลังเคาะขันทิเบต ท่วงทำนองที่เนิบช้าและอ้อยอิ่งช่วยบรรเทาความตึงเครียดของร่างกายได้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวที่มาทดลองสัมผัสประสบการณ์การบำบัดด้วยป่าต่างหลับใหลและปล่อยเสียงกรนออกมา
ใบไผ่ที่ร่วงโรยลงมาปกคลุมเส้นทางเดินเท้าในป่าไผ่ ช่วยปูพื้นทางเดินให้นุ่มฟูและมีความยืดหยุ่น เมื่อย่ำเท้าลงไปจะเกิดเสียงเบา ๆ ราวกับเสียงกระซิบที่กำชับให้ผู้คนก้าวย่างอย่างช้า ๆ ช้าลงและช้าลงอีก
“ตีอวี่เซวียน” (低語軒) หรือห้องกระซิบเสียง ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าสนซีดาร์ญี่ปุ่น (Japanese cedars) มีม้านั่งสำหรับรองรับคนที่จะมานั่งหรือนอนได้เป็นจำนวนมาก คุณกานหมิงหยวนกล่าวว่า “นักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาบนภูเขา ถ้าไม่เดินเล่น ก็นั่งพักผ่อน น้อยมากที่จะมีประสบการณ์มานอนเล่น การทำเก้าอี้สำหรับเอนนอนก็เพื่อหวังว่าจะให้ทุกคนได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์นอนเล่นนั่นเอง”
เทศบาลเมืองหยุนหลินสร้างศูนย์ป่าบำบัดแห่งแรกของไต้หวันขึ้นที่ชุมชนสือปี้ หมู่บ้านเฉาหลิ่ง โดยใช้ต้นไผ่เป็นองค์ประกอบสำคัญ
เขาวงกตและโดมไม้ไผ่ในเขตปลีกวิเวก
สุดเส้นทางโบราณมู่หม่าเป็นลานชมวิวมุมสูงในเขตปลีกวิเวกที่มีชื่อว่า “เฟิงจืออู่ไถ” (風之舞台) หรือเวทีแห่งสายลม สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของภูเขาเจียหนานหยุนฟงและอวี้ซาน ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดของไต้หวัน
ในละแวกใกล้ ๆ ยังมี “หมิงเจิ้น” (明陣) หรือทางเดินเขาวงกต ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับการเดินจงกรมที่ดีที่สุด พื้นทางเดินใช้ก้อนหินฝังลงไปในดินเพื่อเป็นเส้นนำทาง ออกแบบเป็นรูปทรงเกลียวคู่โดยแยกเส้นทางเดินเข้าและออก ไม่ให้วกมาชนกัน แม้รูปทรงจะดูเหมือนเรียบง่ายแต่ใช้งานได้ดีและมีความเป็นระเบียบ นักท่องเที่ยวสามารถมาเดินที่นี่เพื่อฝึกสมาธิหรือทำกิจกรรมการบำบัดแบบกลุ่มได้
บริเวณด้านในสุดของสวนไผ่นันทนาการแห่งสือปี้ ซึ่งเป็นช่วงปลายสุดของแนวสันเขา เป็นที่ตั้งของโดมไผ่ฉงติ่ง (穹頂竹棚) หรือโดมไผ่หลังคาทรงกลม ทีมออกแบบใช้ลำไม้ไผ่โมโซมามัดสานกัน 3 ชั้นเพื่อสร้างเป็นโดมไผ่ที่เป็นอาคารโครงสร้างเปลือกบาง (Thin-shell structures) มีความกว้างถึง 18 เมตรและยังสามารถต้านแรงลมบนแนวสันเขาได้ด้วย พื้นผิวด้านนอกให้ความรู้สึกเหมือนกับงานจักสานจากไม้ไผ่ หลังคาโดมที่มุงด้วยแผ่นทองแดงซึ่งจะแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากสีทองแดงแวววาวกลายเป็นสีน้ำตาลและสีเขียวขี้ม้า สะท้อนให้เห็นถึงความปรองดองและการหลอมรวมกับสิ่งแวดล้อม
คุณกานหมิงหยวนเล่าว่า “อาคารโครงสร้างเปลือกบางที่พบบ่อยคือใช้คอนกรีตและเหล็ก ที่ใช้ไม้ไผ่จะพบเห็นน้อยมาก สร้างความประทับใจให้แก่สมาชิกองค์การไผ่โลกที่เดินทางมาเยือนเป็นอย่างมาก” ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ รูปทรงของโดมที่เหมือนกับบาตรทองแดง ประกอบกับวัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ อาทิ ไม้ไผ่และแผ่นทองแดง ส่งผลให้โดมไม้ไผ่แห่งนี้มีสภาพแวดล้อมที่ทำให้เสียงดนตรีมีความนุ่มนวล การสัมผัสประสบการณ์ฆ้องบำบัด โดยการวางฆ้องไว้ชิดผนังหรือบริเวณใจกลางของโดมไม้ไผ่ จะทำให้ได้ยินเสียงฆ้องสะท้อนไปมาและคลื่นเสียงจะสั่นสะเทือนในลักษณะที่แตกต่างกันด้วย
ด้านข้างโดมไม้ไผ่เป็นห้องน้ำที่สวยงามและมีเอกลักษณ์ชื่อว่า “เสี่ยวฉายเซวียน” (小柴軒) ทีมออกแบบเลือกใช้ท่อนไม้สนซีดาร์ญี่ปุ่นที่ได้จากการตัดขยายระยะ (thinning) มาประกอบกันขึ้นเป็นกำแพง ห้องน้ำแต่ละห้องมีลักษณะเหมือนสวนหย่อมที่เป็นเอกเทศ หลังคาออกแบบให้เป็นแบบเปิดโล่งไว้ครึ่งหนึ่ง หากมองลงมาจากมุมสูงจะเห็นห้องน้ำเสี่ยวฉายเซวียนเหมือนกับสวมงอบไม้ไผ่เอาไว้ ระหว่างที่นักท่องเที่ยวเข้าห้องน้ำยังจะได้อิ่มเอมกับทัศนียภาพนอกอาคารที่เป็นสวนไผ่และเมื่อแหงนหน้าขึ้นก็จะมองเห็นท้องฟ้าได้ด้วย
คุณกานหมิงหยวนสร้างห้องน้ำที่สามารถชมทิวทัศน์ภูเขาที่งดงามได้ในระหว่างที่ทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ เขากล่าวว่า “นี่คือความหมายของคำว่าปลดปล่อยนั่นเอง ประสบการณ์ทางร่างกายจะบอกกับคุณเองว่า อืม! ช่างสุขาเสียนี่กระไร”
คุณกานหมิงหยวน ผู้รับผิดชอบ D.Z. Architects & Associates เป็นผู้เปิดบริบทใหม่ในการนำอาคารโครงสร้างไม้ไผ่ของไต้หวันไปสู่ความทันสมัย
ไม้ไผ่กลม ๆ กลายเป็นวัสดุก่อสร้างที่น่าสนใจ
เอกลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของสวนไผ่นันทนาการแห่งสือปี้ คือ การเปลี่ยนข้อเสียของไม้ไผ่ให้กลายเป็นข้อดี ความจริงแล้วไม้ไผ่มีคุณลักษณะที่พิเศษมาก ลำไม้ไผ่จะกลมเกลี้ยง มีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกัน ส่วนต้นและปลายของลำไม้ไผ่จะมีรูปทรงที่ไม่เหมือนกัน ทำให้มีความโค้งงอที่แตกต่างกันไปด้วย ส่งผลให้ไม้ไผ่ใช้งานได้ไม่ดีเท่ากับไม้ทั่วไป แต่คุณกานหมิงหยวนบอกว่า หากเป็นอาคารที่มีโครงสร้างทรงโค้งมน ข้อเสียนี้จะกลายเป็นข้อดี สามารถนำไม้ไผ่ไปเผาเพื่อดัดให้โค้งจนได้รูปทรงตามที่กำหนด จากนั้นมัดติดกันแล้วนำมาใช้ทำเป็นโครงหลังคาทรงโค้ง และการออกแบบอาคารภายในสวนไผ่นันทนาการแห่งนี้ ล้วนพยายามนำเสนอเอกลักษณ์ของไม้ไผ่อย่างเต็มที่ คุณหลินเจียหมิน (林家民) นักป่าบำบัดกล่าวว่า ป่าไผ่ที่เขียวชอุ่ม แม้ป่าทั้งผืนจะเป็นสีเขียว แต่ก็มีการไล่เฉดสี หรือสลับสีระหว่างเขียวอ่อนกับเขียวเข้ม จึงเปี่ยมไปด้วยความมีสีสันและช่วยฮีลใจได้อย่างดีเยี่ยม
ไผ่โมโซ เป็นไผ่ลำเดี่ยวที่รากจะชอนไชลงไปในดินและแผ่กระจายในแนวขวางเพื่อหาสารอาหารมาเลี้ยงลำต้น เมื่อย่ำเท้าลงไปบนทางเดินกลางป่าไผ่ จะรู้สึกได้ถึงความฟูและร่วนซุยของดิน สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ผ่อนคลายและลดความเครียดทางจิตใจได้เป็นอย่างดี สิ่งที่พิเศษที่สุดก็คือ ยามที่สายลมพัดโชยมา กิ่งก้านและใบไผ่จะพลิ้วไหวไปตามแรงลม ทำให้เกิดเสียงไผ่เสียดกอดังซู่ ๆ ซ่า ๆ ราวกับท่วงทำนองแห่งสรวงสวรรค์ ยิ่งช่วยบำบัดจิตใจได้มากขึ้น
ในฤดูใบไม้ผลิปี 2024 สมาชิกองค์การไผ่โลก (World Bamboo Organization) 200 คนจากเกือบ 30 ประเทศใน 5 ทวีปของโลก ได้เดินทางมาที่ศูนย์ป่าบำบัดสือปี้เพื่อดื่มด่ำกับบรรยากาศท่ามกลางทางเดินในป่าไผ่โมโซและภูมิสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ ลิ้มลองอาหารเมนูสุดสร้างสรรค์จากการใช้หน่อไม้ในท้องถิ่นเป็นวัตถุดิบและจัดวางบนภาชนะต่าง ๆ ที่ทำจากไม้ไผ่ ถือเป็นการสัมผัสกับงานเลี้ยงแห่งศิลปะไม้ไผ่ที่มีการใช้ไม้ไผ่ในการรังสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เมืองหยุนหลินได้รับการแต่งตั้งจากองค์การไผ่โลกให้เป็น “แลนด์มาร์กแห่งป่าไผ่โลก”
ไผ่ที่หยั่งรากลึกอยู่ในซอกหิน แม้สภาพอากาศจะแปรเปลี่ยนไปเพียงใดแต่ยังคงเจริญเติบโตได้ดี ขอเชิญชวนทุกท่านไปอาบป่าด้วยการไปเดินเล่นในศูนย์ป่าบำบัดสือปี้สักหน พร้อมเปิดโอกาสให้ป่าไผ่ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่นับหมื่นผิง (坪 อ่านว่า ผิง เป็นหน่วยวัดพื้นที่ของไต้หวัน 1 ผิง = 3.3 ตารางเมตร) แห่งนี้ ได้มีโอกาสต้อนรับนักเดินทางจากแดนไกลสักครั้ง