กลิ่นรสแห่งสมุนไพรฮั่น ที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน
มองย้อนกลับไปในเรื่องราวของร้านขายยาจีนอายุร้อยปี
เนื้อเรื่อง‧ซูลี่อิ่ง ภาพ‧หลินหมินเซวียน แปล‧ีระ หยาง
มิถุนายน 2024
ภาพจาก City Explorer
เมื่อเดินอยู่บนท้องถนน จะมีโอกาสได้เห็นร้านขายยาจีนที่ปิดตัวไปแล้ว แต่เรื่องราวของวัฒนธรรมยาจีน ความรู้ ความเคยชิน ได้ฝังรากลึกลงไปในชีวิตประจำวันของชาวไต้หวัน ในบทความนี้ เราจะพาท่านไปร่วมค้นหารากเหง้าแห่งวัฒนธรรมที่สำคัญนี้กัน
บนถนนเก่าเป่ยเหมินในย่านเมืองโบราณซินจู๋ เคยเป็นศูนย์กลางสำคัญในด้านการขนส่งสินค้าทางตอนเหนือของเกาะไต้หวัน แม้ปัจจุบัน จำนวนผู้คนที่เดินทางเข้าออกที่นี่จะไม่ได้มากมายเหมือนเช่นในอดีต หากแต่ร้านขายยาจีนเก่าแก่อายุนับร้อยปีที่ตั้งอยู่ตรงข้ามศาลเจ้าฉางเหอกง ซึ่งมีชื่อว่า “หงอานถัง” (鴻安堂) ที่หน้าร้านยังมีป้ายแบบโบราณสไตล์บารอค และยังคงเปิดดำเนินกิจการอย่างไม่เคยขาดช่วงบนถนนเก่าสายนี้
ภายใต้การต้อนรับอันอบอุ่นของเซี่ยเจี๋ยหราน (謝傑然) และเซี่ยคุนอวี้ (謝坤育) สองพี่น้องผู้เป็นเจ้าของร้านรุ่นที่ 4 ทำให้เรารู้สึกเหมือนได้ก้าวเข้าไปสู่ระเบียงแห่งกาลเวลา
เราสามารถดื่มด่ำไปกับร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ได้จาก
ร้านขายยาจีนหงอานถัง ที่ถูกสืบทอดและผ่านวันเวลา
มาอย่างยาวนานนับร้อยปี
แพทย์แผนฮั่น สมุนไพรฮั่น วัฒนธรรมฮั่น
เดิมที หงอานถังคือร้านขายสมุนไพรเซินเม่าที่ก่อตั้งโดยเซี่ยเซินหง (謝森鴻) ซึ่งเป็นคุณทวดของเซี่ยเจี๋ยหราน และ
เซี่ยคุนอวี้ บ้านตระกูลเซี่ย ซึ่งเป็นลูกหลานของเซี่ยอาน (謝安) ขุนนางใหญ่ในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก เมื่อประมาณ 1,700 ปีมาแล้ว ลูกหลานของตระกูลเซี่ยต่างก็เป็นผู้มีการศึกษา ทั้งเซี่ยเซินหงที่เป็นทั้งแพทย์แผนฮั่นและเป็นคุณครู รวมถึงลูกชายคนโตเซี่ยหลินจี้ (謝麟驥) ที่เป็นผู้บริหารร้านรุ่นที่ 2 ต่างชอบเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ของชมรมกวีเป็นอย่างมาก จนทำให้ทั้งคู่มีชื่อเสียงไม่น้อยในแวดวงวรรณกรรมในขณะนั้น
การตกแต่งภายในร้านยังคงเหมือนเดิมมาโดยตลอด ราวกับถูกเก็บไว้ในไทม์แคปซูล ทำให้ยังคงนึกย้อนภาพบรรยากาศของร้านในสมัยก่อนได้ ตู้ยาที่สูงตระหง่าน เก็บรักษาสมุนไพรหลากหลายชนิดไว้ในแต่ละลิ้นชัก ในช่วงกลางวัน ตู้เตี้ยขนาดกว้างเป็นจุดให้บริการลูกค้าในการจับชีพจร จัดยา ผสมยา พอถึงช่วงกลางคืนจะกลายเป็นโต๊ะที่คุณทวดและคุณปู่ใช้ในการแต่งโคลงกลอนร่วมกัน
เซี่ยคุนอวี้กล่าวว่า ที่ผ่านมา ร้านขายยาจะเปิดทุกวันตลอดทั้งปีโดยไม่มีวันหยุด แม้ในยามค่ำคืน หากมีคนในครอบครัวอยู่บ้าน ก็จะแบ่งเวลากันมาดูแลร้าน พร้อมทั้งเปิดช่องประตูไว้สำหรับลูกค้าที่มีเหตุฉุกเฉินเร่งด่วน แต่การทำแบบนั้น ทำให้ยากที่จะหลีกเลี่ยงการบุกรุกจากเหล่าหนอนแมลงทั้งหลาย
เซี่ยเซินหงนำสมุนไพรที่เก็บอยู่ในตู้มาจัดเป็นยาชุดด้วยตนเอง เพื่อใช้ในการกำจัดแมลง ก่อนจะค่อย ๆ ถูกพัฒนาจนกลายเป็นห่อสมุนไพรไล่ยุงที่ถือเป็นสินค้าชื่อดังของร้านยาหงอานถัง ถุงผ้าฝ้ายสีขาวถูกบรรจุด้วยสมุนไพร 8 ชนิด เช่น กานพลู โกฐจุฬาลัมพา และพิมเสน ตามสัดส่วนที่เหมาะสม เมื่อขยี้ถุงจะส่งกลิ่นหอมกระจายไปทั่ว และทำให้ทั้งยุงและแมลงต่าง ๆ พากันหนีไป
ในปัจจุบัน “ยา” ไม่ใช่สินค้าหลักของร้านขายยาจีนอีกแล้ว พริกไทยขาวและพริกไทยดำที่บดขายสด ๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือตังกุยที่ถูกหั่นไว้เป็นประจำทุกเดือน ถือเป็นส่วนผสมในการทำอาหารที่กลิ่นหอมจากความสดใหม่ของมัน ใช่ว่าสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผสมสารปรุงแต่งจะสามารถเทียบเคียงได้
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มชาสมุนไพรฮั่นที่ทำขึ้นตามแนวคิดตามแบบแผนของแพทย์แผนฮั่น ก็ยังพอมองเห็นร่องรอยของใบสั่งยาในอดีต ชาซองที่มีน้ำหนัก 20 กรัม มีส่วนผสมมากมาย เช่น ดอกเก็กฮวยขนาดใหญ่ ตังเซียม กาฝากไม้โพไทร เป็นต้น โดยมีการใส่วัตถุดิบอย่างเต็มที่ ทำให้มีความแตกต่างจากสินค้าของร้านอื่น ๆ ที่พบเห็นโดยทั่วไปซึ่งมีน้ำหนักเพียงซองละประมาณ 3-5 กรัม ที่นำเอาวัตถุดิบมาบดละเอียดเท่านั้น สินค้าเหล่านี้ ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ในปัจจุบัน ผู้คนยังคงไปซื้อหาสินค้าที่ต้องการจากร้านขายยาจีนอยู่
เซี่ยคุนอวี้ เจ้าของร้านรุ่นที่ 4 ของร้านขายยาหงอานถัง
ศาลเจ้าที่กับร้านสะดวกซื้อในสมัยนั้น
ในสังคมสมัยก่อน ร้านค้าไม่ได้ถูกแบ่งประเภทอย่างชัดเจนเช่นในปัจจุบัน เหล่าร้านขายยาจีนในสมัยนั้น ไม่เพียงแต่จะถูกใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ หากแต่ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเกิดแก่เจ็บตาย และเครื่องใช้ชีวิตประจำวัน ต่างก็มีความเกี่ยวพันกับร้านขายยาจีนแทบทั้งสิ้น
สิ่งต่าง ๆ เช่น ยาต้มสำหรับให้ผู้หญิงที่อยู่เดือนหรือแท้งบุตรรับประทาน ยาตามใบสั่งยาที่ได้รับมาจากวัด พริกไทยขาว และพริกไทยดำที่ใช้ในห้องครัว สมุนไพรปรุงอาหาร ครีมจื่อหยุน (紫雲膏) สำหรับรักษาบาดแผล ผงสีฟัน รวมถึงยาย้อมผม ต่างก็สามารถซื้อหาได้จากร้านขายยาจีนแทบทั้งสิ้น และเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เป็นเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียง หลูจวิ้นสง (盧俊雄) ผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของร้านขายยาจีนซุ่นชาง (順昌) ที่ตั้งอยู่ในเขตฟ่งซานของนครเกาสง ชี้ว่า “แม้แต่ช่วงวันตรุษจีนเราก็ปิดร้านเพียงวันเดียว ที่เหลืออีก 364 วัน จะเปิดร้านตลอด”
แม้ร้านขายยาจีนจะถือเป็นร้านขายยา หากแต่บริการกลับมากกว่าขอบเขตของ “ยา” อย่างมาก และความพิเศษเช่นนี้เอง ที่ทำให้ร้านขายยาจีนยังคงไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา
ถุงไล่ยุงที่เป็นสูตรลับประจำตระกูลของเซี่ยเซินหง ทำขึ้นจากสมุนไพร 8 ชนิด
อยู่ในตู้ยาจะเป็นยา หากอยู่ในครัวก็เป็นเครื่องเทศ
สำหรับคนไต้หวันแล้ว สมุนไพรจีนมิใช่เป็นเพียงแค่ยา หากแต่ยังถือเป็นอาหารที่มีสรรพคุณของยาด้วย มะแขว่นหรือพริกไทยเสฉวน ซึ่งปัจจุบันนิยมนำมาใช้ในการกลั่นน้ำมัน นอกจากจะมีบทบาทสำคัญในหม้อไฟหมาล่าแล้ว หากพิจารณาจากมุมมองของแพทย์แผนจีน สามารถนำมาใช้ในการบรรเทาอาการปวด และใช้เป็นยาชาได้ จึงสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า เป็นสินค้าที่ “อยู่ในตู้ยาก็เป็นยา หากนำมาอยู่ในครัวจะเป็นเครื่องเทศ” หลูจวิ้นสง ซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นที่ 3 ของร้านขายยาจีนซุ่นชางกล่าวสรุปความด้วยประโยคสั้น ๆ เพียงสองประโยค
แม้ผู้คนทั่วไปจะไม่ค่อยรู้ชัดถึงสรรพคุณในสมุนไพรจีน หากแต่การคงอยู่ของสมุนไพรจีนกลับมีความแพร่หลายอย่างที่เราคาดไม่ถึง นอกจากสิ่งที่มักจะมีอยู่ในห้องครัวโดยทั่วไป เช่น พริกไทยดำ พริกไทยขาว พริกไทยเสฉวน โป๊ยกั๊ก รวมถึงอาหารที่ปรุงขึ้นจากสมุนไพรที่พบเห็นได้โดยทั่วไปตามตลาดนัดกลางคืน เช่น ซุป 4 อย่าง (ตังกุย โกฐขี้แมว โกฐหัวบัว และรากโบตั๋นขาว) ซุป 8 อย่าง (ซุป 4 อย่าง ที่ผสมโป่งรากสน โกฐเขมา โสมและชะเอมเทศ) รวมถึง ซุป 10 อย่าง (ซุป 8 อย่างที่ผสม อึ่งงิ้มและอบเชย) อีกทั้งเมนูที่ชาวไต้หวันชื่นชอบอย่างเนื้อแพะตุ๋นและเป็ดต้มขิง รวมถึงไข่ต้มใบชา ข้าวราดพะโล้หมูสับ ในอาหารแสนอร่อยเหล่านี้ ต่างก็มีสมุนไพรเป็นส่วนผสมสำคัญทั้งสิ้น
สมุนไพรแฝงอยู่ทั่วไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัว “เนื่องจากวิธีการรับประทานเครื่องเทศของคนจีน มีความแตกต่างจากรูปแบบของคนอินเดียอย่างเห็นได้ชัด เพราะในอาหารของพวกเรา เครื่องเทศจะถือเป็นรสชาติที่ถูกแฝงเอาไว้”
เติบโตขึ้นมาจากกองยาสมุนไพร หลูจวิ้นชิน (盧俊欽) ชอบตามคุณแม่เข้าครัวตั้งแต่ยังเด็ก ๆ ก่อนจะรวบรวมแนวคิดเกี่ยวกับอาหารและสมุนไพรมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ “สารานุกรมเครื่องเทศจีนบนโต๊ะอาหาร” หลูจวิ้นชิน ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องเทศและมีความชำนาญในการทำอาหาร ทำให้ปัจจุบันได้กลายมาเป็นที่ปรึกษาของร้านอาหารหลายแห่ง
หลูจวิ้นชินเห็นว่า การทำงานร่วมกันระหว่างร้านอาหารและร้านขายยาจีน เป็นผลงานที่มีขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยที่คุณพ่อของเขา คือ หลูซุ่นฝู (盧順福) ยังทำงานอยู่แล้ว เขาเปิดลิ้นชักของโต๊ะเตี้ย แล้วหยิบสมุดบันทึกเก่าๆ ขึ้นมาเล่มหนึ่ง ภายในได้จดบันทึกด้วยลายมือของเจ้าของร้านรุ่นต่างๆ ที่จด “ใบสั่งยา” เอาไว้ (ร้านขายยาจีนจะทำการจดบันทึกสูตรยาแต่ละขนานตามความต้องการของลูกค้าแต่ละรายและทำเป็นใบสั่งยาเก็บเอาไว้) นอกจากมีสูตรยารักษาโรคหอบหืดที่ถูกถ่ายทอดมาจากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และสูตรยาป้องกันเส้นเลือดอุดตันสำหรับคุณลุงข้างบ้านแล้ว ยังมีทั้งสูตรการนึ่งปู สูตรลับของแผงขายหมากแห่งหนึ่ง รวมถึงสูตรเครื่องเทศของร้านเป็ดย่างแห่งหนึ่งด้วย
การนำยาจีนมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อเป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ถือเป็นสิ่งที่สามพี่น้องตระกูลหลูพยายามผลักดันและส่งเสริมอย่างเต็มกำลัง หลูจวิ้นชินได้ใช้ชื่อของคุณพ่อมาออกแบรนด์ 福伯本草 (ฝูปั๋วเปิ๋นเฉ่า – สมุนไพรลุงฝู) พร้อมเปิดตัวสินค้าเครื่องพะโล้ ผงโหงวเฮียงฮุ้ง ผงจับซาฮุ้ง ผงเครื่องเทศชนิดแห้งที่ใช้ในการทำหมูหมักเกลือ ในขณะที่น้องสาวคนเล็ก หลูสูหรู (盧淑如) เป็นผู้ดูแลการขายสินค้าผ่านร้านออนไลน์ที่ชื่อว่า 玖拾柒食堂 (จิ่วสือชีสือถัง – ร้านอาหารเก้าสิบเจ็ด) ก็มีการวางขายสินค้าหม้อไฟหมาล่า ผักกาดดองสำเร็จรูปสำหรับปรุงอาหาร เป็นต้น แม้ว่าร้านขายยาจีนจะไม่สามารถกลับไปสู่ความเฟื่องฟูอันคึกคักเหมือนในอดีตได้อีกต่อไป แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผู้คนน้ำลายสอเหล่านี้ก็ได้บอกเป็นนัยกับเราว่า มันจะไม่เลือนหายไปอย่างแน่นอน
ตู้เก็บยาของร้านขายยาแต่ละแห่ง ถูกทำขึ้นตามความต้องการในการใช้งานของร้าน ซึ่งมักจะมีเรื่องราวต่าง ๆ แอบแฝงอยู่มากมาย
คนไต้หวันชอบรับประทานหม้อไฟ เนื้อแพะตุ๋น หม้อไฟหมาล่า เป็ดต้มขิง ต่างก็มียาจีนเป็นส่วนผสมสำคัญในการทำน้ำซุป
เจ้าของร้านขายยาจีนซุ่นชาง รุ่นที่ 3 นำ
ยาจีนมาต่อยอดเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในตลาด
จากซ้ายมาขวา :
หลูจวิ้นชิน หลูจวิ้นสง หลูสูหรู
ต้าเต้าเฉิง : หัวเรือใหญ่ของอุตสาหกรรม ยาจีน
หากจะกล่าวถึงอุตสาหกรรมยาจีน ก็ต้องพูดถึงต้าเต้าเฉิง ที่มีร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ถือเป็นแหล่งรวมของยาจีน ใบชา ผ้าผืน และสินค้าจีน ๆ ทั้งหลาย เพียงบนถนนตี๋ฮั่วสายสั้น ๆ ก็มีร้านขายยาจีนนับสิบแห่งตั้งอยู่ ที่นี่ไม่เพียงแต่จะมีคนไต้หวันมาจับจ่ายซื้อของ แม้แต่ชาวต่างชาติจากฮ่องกง มาเก๊า เกาหลี และญี่ปุ่น ต่างก็ตั้งใจเดินทางมาเยือนที่นี่ด้วยเช่นกัน
เหตุใดต้าเต้าเฉิงจึงกลายมาเป็นแหล่งสำคัญของยาจีน?
เฉินซื่อเจ๋อ (陳仕哲) เลขาธิการสมาคมพัฒนาย่านการค้าตี๋ฮั่วไทเป เล่าเรื่องราวของถนนตี๋ฮั่วเจียตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า หลังจากที่มีการลงนามในสนธิสัญญาเทียนจินเมื่อปี ค.ศ.1858 ทำให้ต้องเปิดท่าเรือต้านสุ่ยให้ชาวต่างชาติเข้าใช้งาน Mr. John Dodd พ่อค้าชาวสกอตแลนด์ได้ร่วมมือกับหลี่ชุนเซิง (李春生) พ่อค้าชาวจีนที่มาจากเซี่ยเหมิน ในการนำเอาต้นอ่อนของต้นชาจากแถบอันซีของฮกเกี้ยนมาปลูกทางตอนเหนือของไต้หวัน ก่อนจะนำมาแปรรูปอบเป็นใบชาในแถบต้าเต้าเฉิง แล้วส่งออกไปยังต่างประเทศ หลังจากที่มีการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ประกอบกับการค้าใบชา ยา และสมุนไพรฮั่น รวมถึงสินค้าจีน ๆ ในแถบนี้มีความคึกคักมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ที่นี่ค่อย ๆ กลายมาเป็นฮับสำคัญในด้านการค้าและการขนส่งไปโดยปริยาย
สำหรับอุตสาหกรรมยาจีนในไต้หวันแล้ว ที่นี่ถือเป็นผู้นำของอุตสาหกรรม สำหรับผู้บริโภคแล้ว ที่นี่ถือเป็นสวรรค์ของนักชอปซึ่งมีสินค้าครบถ้วนมากที่สุด สดใหม่ที่สุด และมีสินค้าชั้นเลิศวางขายมากที่สุด
หากได้มาเยือนถนนตี๋ฮั่วเจีย จะพบว่าร้านค้าทุกแห่งจะมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ ต่างก็มีความคล่องแคล่วว่องไว และเป็นผู้นำในตลาดที่สามารถจับกระแสความเปลี่ยนแปลงพร้อมทั้งปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
ความพิเศษเช่นนี้เองทำให้ถนนเก่าสายนี้มีพัฒนาการที่โดดเด่น โดยในปี ค.ศ. 1996 มีการทำแคมเปญการตลาดกระตุ้นผู้คนมาจับจ่ายก่อนที่ร้านค้าในแถบต้าเต้าเฉิงจะปิดร้านกันอย่างพร้อมหน้าในวันสุกดิบ (วันไหว้) ของตรุษจีน ที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งชอปปิงสินค้าตรุษจีนที่โด่งดังนับแต่นั้นมา
บรรดาร้านค้าในแถบนี้ ต่างก็มีความภูมิใจที่อยู่ในต้าเต้าเฉิง ทำให้มีความรู้สึกว่ามีหน้าที่ต้องฟื้นฟูอุตสาหกรรมดั้งเดิม
แต่หลังจากพื้นที่แถบนี้ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงคนรุ่นใหม่เริ่มมาสืบทอดกิจการต่อจากคนรุ่นเก่า ส่งผลให้ร้านค้าที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันนี้ ต่างต้องพยายามคิดหาหนทางในการเอาตัวรอดอย่างเต็มกำลัง โดยนอกจากต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาลูกค้าเก่าเอาไว้ แถมยังต้องพยายามหาโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ไปพร้อมกันด้วย
ดังนั้น จึงมีการเปิดตัวของบรรจุภัณฑ์ที่มีความเป็นดีไซน์แบรนด์และให้ความรู้สึกที่เป็นซีรีส์มากขึ้น มีการทำฉลากสินค้าภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ และภาษาจีนมากขึ้น สินค้าที่เป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กสำหรับกลุ่มครอบครัวขนาดเล็กและคนโสดแพร่หลายมากขึ้น อาหารสมุนไพรบรรจุถุงที่สามารถเปิดถุงแล้วอุ่นให้ร้อนก็พร้อมรับประทานทันที รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ชุดเครื่องเทศไวน์แดงที่ได้รับความนิยมในหมู่ลูกค้าวัยรุ่น ต่างก็มีวางจำหน่ายอยู่มากมาย โดยปรับเปลี่ยนไปตามไลฟ์สไตล์และกระแสนิยมของผู้บริโภค จนทำให้มีสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอยู่เสมอ ในขณะเดียวกัน ร้านค้าเหล่านี้ไม่เพียงแต่มีบริการในแบบออฟไลน์เท่านั้น เกือบทุกร้านค้าได้ก้าวไปสู่การบูรณาการระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนจริง ด้วยการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซไปพร้อมกันด้วย
กลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจโดยบูรณาการทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกเข้าด้วยกันนี้ จะเห็นได้ว่า สมุนไพรฮั่นได้ก้าวข้ามพรมแดนประเทศ ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมต่างถิ่นได้อย่างลงตัว และมีศักยภาพทางวัฒนธรรมและการค้าในชีวิตร่วมสมัย ที่เราไม่อาจมองข้ามได้
ก็เหมือนกับต้าเต้าเฉิงที่ผ่านวันเวลาแห่งความเฟื่องฟูและซบเซามานานนับร้อยปี แต่ยังสามารถยืนหยัดอยู่อย่างสง่างามในทุกวันนี้ เชื่อว่าอนาคตของอุตสาหกรรมยาจีน จะยังคงกว้างไกลและคงความหลากหลาย อยู่คู่กับชีวิตประจำวันของคนไต้หวันไปอีกตราบนานเท่านาน
อบเชย、เปลือกส้มเขียวหวาน、กระวานดำ、เซียนจา、โป๊ยกั๊ก、ลูกเร่ว、ชะเอมเทศ、พริกฮัวเจียว、ขิงแห้ง、ยี่หร่า、แปะจี้、จันทน์เทศ、ข่า
-
จับซาเฮียง (สือซานเซียง) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นจากโหงวเฮียง (อู่เซียง) สามารถนำไปใช้ในการปรุงอาหารได้หลากหลาย ทั้งทอด นึ่ง ต้ม ผัด อบ ตุ๋น ย่าง ถือเป็นการผสมผสานเครื่องเทศที่ได้รับความนิยมและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วไต้หวัน
กระเจี๊ยบ เซียนจา ถือเป็นยาจีนที่นิยมนำมาใช้ในการปรุงเครื่องดื่ม (ภาพจาก City Explorer)
ต้าเต้าเฉิงที่ถูกขนานนามว่าเป็น “ถนนโบราณมีชีวิต” คือสถานที่ซึ่งอุตสาหกรรมยาจีนแบบโบราณ ได้รับการพัฒนาจนมีความทันสมัยมากขึ้น และค้นพบจุดเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่และวัฒนธรรมข้ามชาติ