การผสมผสานระหว่างความใหม่และเก่าที่ต้าเต้าเฉิง
บรรยากาศเมื่อวันวานในภาพ “เทศกาลแห่งถนนใต้” ของกัวเสวี่ยหู
เนื้อเรื่อง‧ซูเฉินหวี ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧ธีระ หยาง
ตุลาคม 2023
ภาพ “เทศกาลแห่งถนนใต้” ของกัวเสวี่ยหู เป็นผลงานคลาสสิคที่บอกเล่าเรื่องราวของต้าเต้าเฉิง (มอบลิขสิทธิ์โดยมูลนิธิกัวเสวี่ยหู เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ไทเป)
百餘年前的大稻埕,是台北市最重要的商業區,港埠繁榮,洋行林立,商業鼎盛的迪化街,米行、南北雜貨、中藥行與布匹店林立,當時便是摩登富裕的象徵。
ต้าเต้าเฉิงเมื่อร้อยกว่าปีก่อน คือย่านธุรกิจที่สำคัญที่สุดของไทเป ท่าเรืออันคึกคัก บริษัทต่างชาติที่ตั้งอยู่มากมาย ย่านถนนตี๋ฮั่วอันสับสนวุ่นวายเต็มไปด้วยร้านค้าต่างๆ ทั้งร้านขายข้าวสาร ร้านขายของชำและของแห้ง ร้านขายยาจีน รวมถึงร้านขายผ้า ในขณะนั้น ที่นี่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่มรวยและทันสมัย
วันเวลาผ่านไปเกือบ 100 ปี แต่ต้าเต้าเฉิงก็ยังคงความเจริญรุ่งเรืองอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ภาพวาด “เทศกาลแห่งถนนใต้ หรือ Festival on South Street” (ถนนใต้หรือหนานเจียในภาษาจีน เป็นชื่อเรียกถนนตี๋ฮั่วในสมัยก่อน เนื่องจากตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงไทเป) ของกัวเสวี่ยหู (郭雪湖) ได้บอกเล่าเรื่องราวของการฉลองอันคึกคักช่วงวันสารทจีนที่ถนนตี๋ฮั่วเจียในปี ค.ศ. 1930 ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ในภาพ ทั้งบรรยากาศของท้องถนน ร้านค้า ท่วงท่าของผู้คน รวมถึงสินค้าที่วางขายในร้านค้า ต่างก็แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์อันน่าสนใจในสมัยนั้น
หากนำบรรยากาศในภาพ “เทศกาลแห่งถนนใต้” มาเปรียบเทียบกับถนนตี๋ฮั่วในปัจจุบัน เรายังคงได้เห็นการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างภาพความเก่าและความใหม่ของที่นี่ ตึกแบบตะวันตกที่สร้างเลียนแบบสไตล์บาร็อกกลายเป็นร้านขายแบรนด์แฟชั่น ร้านค้าเก่าแก่ และร้านกาแฟแนวฮิปสเตอร์ตั้งอยู่ด้วยกัน เมื่อเทียบกับบรรยากาศของวันวานแล้ว ต้าเต้าเฉิงมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างเล่า?
“ตอนที่ผมมาเปิดบริษัทที่นี่ ถนนตี๋ฮั่วยังไม่ค่อยมีคนเดินสักเท่าไหร่ แถวนี้ส่วนใหญ่เป็นคลังสินค้า” อาจารย์อู๋เซิ่งเหวิน (吳勝文) แห่งภาควิชาการออกแบบสื่อสารของมหาวิทยาลัยสือเจี้ยน (Shih Chien University) ที่ถือเป็นผู้มาอยู่ใหม่ของต้าเต้าเฉิงกล่าว ในปี ค.ศ. 2006 อาจารย์อู๋เซิ่งเหวินได้ย้ายบริษัทมาตั้งอยู่บริเวณต้าเต้าเฉิง ในขณะนั้น ค่าเช่าคลังสินค้าในแถบถนนตี๋ฮั่ว มีราคาเพียงแค่เดือนละไม่กี่หมื่นเหรียญไต้หวัน “ผู้คนต่างคิดว่าถนนตี๋ฮั่วซบเซาไปแล้ว” หากแต่ผ่านไปเพียงพริบตา “ตอนนี้ค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าเลยทีเดียว” ภรรยาของอาจารย์อู๋เซิ่งเหวิน เป็นคนต้าเต้าเฉิง ทำให้มีความคุ้นเคยกับร้านค้าและตรอกซอกซอยแถวนี้เป็นอย่างดี จึงสามารถพาเราไปเดินเที่ยวและสัมผัสกับเรื่องราวต่าง ๆ อันน่าสนใจของถนนตี๋ฮั่วได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
อาคารทรงบาร็อกบนถนนตี๋ฮั่ว ทำให้เรายังคงสัมผัสได้
ถึงความเจริญรุ่งเรืองเมื่อวันวานของที่นี่
ร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ในภาพวาด
เวลา 9 โมงเช้า ร้านค้าบนถนนตี๋ฮั่วต่างก็เปิดให้บริการกันแล้ว ความขยันขันแข็งของคนรุ่นก่อน ทำให้สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวสะสมเงินทองได้มากมาย หากพูดถึงความรุ่มรวยของถนนตี๋ฮั่วแล้ว ภาพของรถยนต์ราคาแพงถือเป็นภาพที่เห็นได้อย่างชินตาของที่นี่ เมื่อเรามองย้อนไปในอดีต ในภาพ “เทศกาลแห่งถนนใต้” ก็สะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่งของผู้คนในขณะนั้น ป้ายร้านค้าสีสันสดใส ธงที่โบกสะบัด ผู้คนและรถราอันคึกคัก แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างถึงที่สุด ปัจจุบัน ร้านค้าในภาพต่างก็เปลี่ยนแปลงไป มีเพียงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเสียไห่กับร้านขายยาจีนเฉียนหยวนเท่านั้นที่ยังหลงเหลืออยู่
ร้านขายยาจีนเฉียนหยวน ตั้งอยู่เลขที่ 71 ถนนตี๋ฮั่ว ร้านแห่งนี้ปรากฏตัวในภาพวาดตามป้ายชื่อร้านว่า “ร้านยาเม็ดเฉียนหยวน” โดยร้านเฉียนหยวนคือร้านค้าแห่งแรกที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของยาหม่องตราเสือ ซึ่งในขณะนั้น หากใครซื้อยาหม่องตราเสือ 1 กระปุก ก็จะมีโอกาสได้ไปนั่งชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์หย่งเล่อ คนสมัยก่อนรู้จักวิธีการสร้างความร่วมมือแบบข้ามอุตสาหกรรมตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งทำให้เกิดเป็นโอกาสทางการค้าขึ้นมา
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเสียไห่ที่อยู่ด้านข้าง จะมีฝูงชนแห่แหนมาเซ่นไหว้กันตั้งแต่เช้ามืด ภาพ “เทศกาลแห่งถนนใต้” ได้บรรยายถึงบรรยากาศของถนนตี๋ฮั่วในช่วงเทศกาลสารทจีน ซึ่งในภาพจะเห็นผู้คนมาเซ่นไหว้ที่ศาลเจ้ากันอย่างคึกคัก ตามท้องถนนก็คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนที่มาจับจ่ายซื้อของเพื่อใช้ในการเซ่นไหว้ตามประเพณีวันสารทจีน และเมื่อพิจารณาในภาพอย่างละเอียดก็จะเห็นว่า ตามถนนหนทางจะมีป้ายที่เขียนว่า “ลดกระหน่ำฉลองสารทจีน” “ลดแลกแจกแถมฉลองสารทจีน” และ “ลดราคาฉลองสารทจีน” แขวนอยู่ ดูแล้วบรรยากาศมีความคล้ายคลึงกับช่วงเทศกาลสารทจีนในปัจจุบันไม่น้อยเลยทีเดียว
ร้านขายยา Watsons’ ที่ตั้งอยู่ข้างศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเสียไห่ ถือเป็นโบราณสถานอายุนับร้อยปี
เมื่อร้อยปีก่อน ถนนตี๋ฮั่วถือเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายสินค้าของแห้งและยาจีน ถือเป็นสวรรค์แห่งวัตถุดิบในการปรุงอาหารที่ผู้คนชื่นชอบเป็นอย่างมาก
เมื่อร้อยปีก่อน ถนนตี๋ฮั่วคือแหล่งรวมของร้านขายข้าวสารและร้านขายของชำ ทำให้มีผู้คนจากทุกสารทิศเดินทางมาจับจ่ายซื้อหาสินค้าต่างๆ จากที่นี่
ความยิ่งใหญ่ของเทศกาลสารทจีน
เจียงจื้อเหริน (江志仁) เถ้าแก่ของร้านขายเส้นหมี่บนถนนตี๋ฮั่วเล่าให้เราฟังว่า ในช่วงเทศกาลสารทจีนเมื่อ 60 ปีก่อน ที่นี่จะเต็มไปด้วยผู้คน “คนสมัยนั้นใจกว้าง ชอบจัดโต๊ะเลี้ยงแขก ถ้ามีคนมากินมากเท่าไหร่ ก็ถือว่ามีหน้ามีตามากขึ้นเท่านั้น” นอกจากการเซ่นไหว้ในเทศกาลสารทจีนแล้ว งานฉลองที่เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดทางภาคเหนือของไต้หวัน คืองานฉลองวันเกิดของเจ้าพ่อหลักเมือง ทุกวันที่ 13 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ ถงเจิ้นซี (童振熙) เจ้าของร้านขายเครื่องเซ่นไหว้และงานเย็บปักถักร้อยเก่าแก่ที่ตั้งมานานกว่า 100 ปีเล่าว่า แต่ก่อนนี้ ขบวนแห่ในคืนก่อนวันเกิดของเจ้าพ่อหลักเมือง คึกคักยิ่งกว่าการแห่เจ้าแม่มาจู่ของไป๋ซาถุนเสียอีก หากแต่ในช่วงหลายปีมานี้ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อลำดับความโด่งดังของเทพเจ้าบนถนนตี๋ฮั่ว เพราะเทพเจ้าที่มีชื่อเสียงที่สุดกลับกลายเป็นผู้เฒ่าจันทราที่อยู่ในศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ผู้เฒ่าจันทราจะเป็นเทพเจ้าที่คอยใช้ด้ายแดงมาผูกข้อมือคนที่เป็นเนื้อคู่กันเข้าไว้ด้วยกัน ถือเป็นผู้ที่สร้างบุพเพสันนิวาส เถ้าแก่เนี้ยของร้านค้าที่อยู่ใกล้เคียงเล่าพร้อมหัวเราะว่า “หากเป็นช่วงวันแห่งความรักจีนหรือวันวาเลนไทน์ ผู้ชายจะเข้าคิวยาวไปจนถึงถนนหนานจิงตะวันตก ส่วนผู้หญิงจะเข้าคิวยาวไปถึงถนนหมินเซิงตะวันตก”
แม้เจ้าองค์อื่นจะได้รับความนิยมมากกว่า หากแต่อู๋ม่งหวน (吳孟寰) หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเสียไห่กลับชี้ว่า “เจ้าพ่อหลักเมืองไม่ได้รู้สึกอิจฉาอะไร ท่านกลับดีใจเสียอีกที่ผู้คนสมหวัง เคยมีเกย์มาเซ่นไหว้ขอคู่ ผู้เฒ่าจันทราก็จับคู่ให้จนสำเร็จ เรายังเคยอัญเชิญท่านผู้เฒ่าจันทราไปร่วมพิธีเซ่นไหว้ในเทศกาลไต้หวันที่ญี่ปุ่นหลายครั้งมาแล้วด้วย”
เทพเจ้าในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเสียไห่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ
ผู้เฒ่าจันทรา ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุด และได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากคนหนุ่มสาวเป็นอย่างมาก
มุมมองของกัวเสวี่ยหู
ภาพของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเสียไห่ที่ปรากฏในภาพ “เทศกาลแห่งถนนใต้” ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้พร้อมกับถกเถียงกันว่า ตอนที่วาดภาพนี้อยู่นั้น เขายืนอยู่ที่จุดใดกันแน่ เนื่องจากมุมมองที่มองเห็นในภาพ ถือว่ามีความพิเศษเป็นอย่างมาก อู๋เซิ่งเหวินเห็นว่า “ภาพเทศกาลแห่งถนนใต้” ทำให้คนที่มองภาพนี้เหมือนกับเป็นการมองจากด้านบนลงมาด้านล่าง แต่ทัศนียภาพของฉากหน้ากลับดูแล้วเหมือนมองจากด้านล่างไปข้างหน้า” ในขณะที่กัวเสวี่ยหูวาดโครงร่างของท้องถนนในภาพ โดยใช้มุมมองจากจุดต่าง ๆ ในการวาด แล้วจึงนำภาพของทิวทัศน์ที่แตกต่างกันบนถนนซึ่งอยู่ในจินตนาการของเขามาประกอบเข้าด้วยกัน “ก็เหมือนกับคนสมัยนี้ ที่ใช้ Photoshop ในการวาดภาพ กัวเสวี่ยหูอาจจะเป็นคนไต้หวันคนแรกที่สามารถใช้งาน Photoshop ในสมองของตัวเองได้”
“เทศกาลแห่งถนนใต้” สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของกัวเสวี่ยหูที่มีต่อภาพแห่งความเจริญรุ่งเรืองของต้าเต้าเฉิง และเพื่อสร้างบรรยากาศของการฉลองเทศกาลให้มีความคึกคักมากขึ้น อาคารต่าง ๆ บนถนนตี๋ฮั่วจึงถูกวาดให้มีความสูงเพิ่มขึ้น มองดูแล้วมีความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามเป็นอย่างยิ่ง แต่ตึกรามบ้านช่องบนถนนตี๋ฮั่วในความเป็นจริง ส่วนใหญ่จะมีความสูงเพียงประมาณ 2-3 ชั้นเท่านั้น ส่วนที่มุมล่างด้านซ้ายของภาพ มีป้ายที่เขียนว่า “เซียนกงกั้ว (仙公卦)” หมายถึงเป็นร้านดูดวง อู๋เซิ่งเหวินเล่าว่า “ร้านดูดวงถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับบรรดาร้านค้าในต้าเต้าเฉิง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เหล่าเถ้าแก่ทั้งหลายต้องการจะแต่งงาน มีลูก จัดพิธีเซ่นไหว้ จะเปิดร้านใหม่วันไหน ก็ต้องดูฤกษ์ดูยาม พวกเขาจึงให้ความเชื่อถือต่อซินแสดูดวงเป็นอย่างมาก หรือแม้แต่หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ก็ต้องให้ซินแสดูดวงให้เช่นกัน”
การค้าและธุรกิจในแบบดั้งเดิมที่ถนนตี๋ฮั่วยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน หากแต่มี
การเปลี่ยนแปลงของรูปร่างหน้าตา และมีองค์ประกอบของวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์เข้ามามากขึ้น
ดิ อเวนเจอร์สเมื่อ 100 ปีก่อน
เมื่อพิจารณาในภาพ เราจะเห็นว่า ป้ายโฆษณาหน้าโรงภาพยนตร์หย่งเล่อเป็นภาพโปสเตอร์ขนาดใหญ่ของภาพยนตร์เรื่อง “ฮั่วเซาหงเหลียนซื่อ หรือบุกเผาวัดบัวแดง (火燒紅蓮寺)” โรงภาพยนตร์หย่งเล่อถือเป็นโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในแถบถนนตี๋ฮั่ว สามารถบรรจุคนดูได้ 1,505 ที่นั่ง อู๋เซิ่งเหวินเล่าว่า “ภาพยนตร์เรื่องฮั่วเซาหงเหลียนซื่อ ถือเป็นภาพยนตร์ที่เป็นซีรีส์ในแบบของ ดิ อเวนเจอร์ส ที่โด่งดังในสมัยนั้น แต่ละตอนที่เข้าฉายต่างก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมเป็นอย่างมาก จนมีการเข้าฉาย 3 ภาคติดต่อกัน” ในตอนนั้น ภาพยนตร์ได้รับความนิยมจากผู้ชมสูงมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หนังสือพิมพ์ต่างก็รายงานข่าวกันอย่างคึกคัก “แต่ละคืนจะมีผู้ชมซื้อตั๋วเข้าไปดูกันจนเต็มโรง” ในยุคสมัยที่ยังไม่มีการใช้คอมพิวเตอร์มาทำเทคนิคพิเศษ (CG) ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับสามารถทำให้คนดูได้เห็นถึงการย่อ/ขยายตัวของนักแสดง การปล่อยสายฟ้าจากฝ่ามือ หรือการพ่นกระบี่บินออกจากปาก จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมเป็นอย่างมาก
ในภาพ “เทศกาลแห่งถนนใต้” เรายังเห็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและสินค้าที่เป็นของฝากจากไต้หวัน ซึ่งคนญี่ปุ่นนิยมซื้อเป็นของฝากกลับญี่ปุ่นในขณะนั้นด้วย เช่น กล้วย หมวกสาน และสินค้าของชนพื้นเมือง ในขณะที่ป้ายชื่อของร้านค้าก็มีแขวนอยู่เต็มไปหมด ทั้งที่เป็นร้านนาฬิกา ร้านขายขนม ร้านยา ร้านขายผ้า สมาคมธุรกิจ ร้านขายน้ำมันโมบิล และร้านขายขนมหวานขนมเปี๊ยะ เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงความคึกคักทางการค้าของธุรกิจที่หลากหลายเป็นอย่างยิ่ง ในภาพเรายังเห็นรถลาก รถจักรยาน รถยนต์ เครื่องหมายจราจร หรือแม้แต่ฝาท่อระบายน้ำ ที่ต่างก็แสดงให้เห็นถึงความเจริญด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมืองด้วย
บนถนนตี๋ฮั่วมีร้านขายน้ำแข็งไสไม่น้อย ซึ่งต่างก็มีลูกค้าแวะเวียนมาอุดหนุนอย่างไม่ขาดสาย
กลิ่นอายแห่งหนังสือที่ต้าเต้าเฉิง
100 ปีผ่านไป ต้าเต้าเฉิงยังคงความล้ำสมัยอยู่เสมอไม่เสื่อมคลาย
ปลายปี ค.ศ. 2022 ร้านหนังสือกัวอี๋เหม่ยได้เปิดตัวขึ้นในแถบต้าเต้าเฉิง ตึกเก่า ๆ กาแฟ หนังสือหายากนับหมื่นเล่ม ได้กลายมาเป็นจุดเช็คอินที่ได้รับความนิยมภายในเวลาอันรวดเร็ว
เมื่อเดินเข้าไปในร้านหนังสือกัวอี๋เหม่ยจะพบว่า เนื้อที่ส่วนใหญ่ของอาคารด้านหน้าและด้านหลังถูกเชื่อมเข้าด้วยกันผ่านนอกชาน โดยที่ด้านบนของนอกชานมีบันไดที่ทอดยาวไปสู่ชั้น 3 ของอาคาร ซึ่งช่วยแต่งเติมให้บรรยากาศของพื้นที่มีความโดดเด่นมากขึ้น โคมไฟที่ให้ความสว่างในอาคารจะใช้สีโทนที่อบอุ่น เมื่อประกอบเข้ากับวัสดุแบบเรียบง่ายที่ใช้ในการก่อสร้าง ทำให้เกิดเป็นบรรยากาศย้อนยุคในแบบเรโทร ทำให้ที่นี่เป็นสถานที่ซึ่งเมื่อได้นั่งลงไปแล้ว จิตใจจะรู้สึกถึงความสงบและผ่อนคลาย จึงถือเป็นร้านหนังสือที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้มาเยือนไม่น้อยเช่นกัน
ร้าน DoGa สาขาถนนตี๋ฮั่ว กับขนมพริกกรอบที่ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะรสชาติถูกปากคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก หากได้ไปเยือน ต้องลองชิมให้ได้
ความเปลี่ยนแปลงของต้าเต้าเฉิง
ร้าน Fukohiyokan cafe ซึ่งอู๋เซิ่งเหวินแนะนำให้เราได้รู้จัก ตั้งอยู่บนถนนกุยซุย เป็นร้านกาแฟชื่อดังที่ตกแต่งในสไตล์โชวะแบบญี่ปุ่น เมื่อเดินขึ้นไปที่ชั้น 2 เราจะได้เห็นของสะสมจำนวนมากที่ทางร้านนำมาจัดแสดง แสงไฟสีเหลืองนวลราวกับอาทิตย์อัสดงที่สาดส่อง ทำให้เราเกิดความรู้สึกคิดถึงวันเก่า ๆ ขึ้นมาแบบทันทีทันใด เหมือนได้กลับไปสู่ยุคโชวะที่เปี่ยมด้วยความอบอุ่นและเรียบง่าย การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ก็เต็มไปด้วยบรรยากาศแบบย้อนยุค โคมไฟตั้งโต๊ะซึ่งตกแต่งด้วยแผ่นโมเสกให้แสงไฟสีเหลืองนวล ดูแล้วชวนให้นั่งลงจิบชาหรือกาแฟไปพร้อมกับการนั่งคุยกับมิตรสหายผู้รู้ใจเป็นอย่างมาก
ร้าน DoGa สาขาตี๋ฮั่ว ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินที่โด่งดัง ขนมพริกกรอบที่โด่งดังบนโลกออนไลน์จนขายดิบขายดีทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ ถือเป็นไฮไลท์สำคัญที่ผู้คนต้องซื้อหามาลองรับประทาน การมาอยู่ที่นี่ของร้าน DoGa จึงเปรียบเสมือนกับเป็นแบรนด์แฟชั่นอันล้ำสมัย ที่ตั้งอยู่ในแถบเมืองเก่าที่อาบไปด้วยกลิ่นอายแห่งประวัติศาสตร์อย่างต้าเต้าเฉิง ส่วน inBloom ที่เป็นแบรนด์สินค้าวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ก็มีผ้าพิมพ์ศิลปะแฮนด์เมดวางจำหน่าย พร้อมทั้งเปิดคอร์สสอนการทำงานหัตถศิลป์ การมาเยือนที่นี่จึงทำให้มีโอกาสได้สัมผัสกับสุนทรียศาสตร์แห่งศิลปะผ้าพิมพ์ในแบบไต้หวันแท้
กัวเสวี่ยหูใช้ “เทศกาลแห่งถนนใต้” เก็บภาพบรรยากาศในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของต้าเต้าเฉิงเอาไว้ แม้วันเวลาจะผ่านไปนับร้อยปี แต่ความเจริญรุ่งเรืองของต้าเต้าเฉิงก็มิได้เสื่อมคลายลง ที่นี่มีเรื่องราวที่บอกเล่าได้อย่างไม่สิ้นสุด รอให้คุณมาค้นหา คุณสามารถเดินเข้าไปซื้อของในร้านขายสินค้านำสมัย หรือเดินไปตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ แล้วนั่งลงจิบกาแฟในร้านอันเงียบสงบที่ดัดแปลงมาจากอาคารเก่าแก่เลิศหรู เพื่อดื่มด่ำไปกับอารมณ์และความรู้สึกท่ามกลางบรรยากาศแห่งวันวาน ก่อนจะซื้อหาเครื่องเทศหรือยาจีนแล้วนำกลับไปตุ๋นเพื่อบำรุงร่างกาย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เราได้มีโอกาสสัมผัสกับความละเมียดละไมที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างความเก่าและความใหม่เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัวของต้าเต้าเฉิงนั่นเอง
ร้านหนังสือกัวอี๋เหม่ย ช่วยเพิ่มกลิ่นอายแห่งศิลปวัฒนธรรมให้กับต้าเต้าเฉิงไม่น้อย ถือเป็นจุดเช็คอินที่เหล่าฮิปสเตอร์ชื่นชอบเป็นอย่างมาก