ปั่นไปบนเส้นทางหลังเขา :
ชมวิวสุดฟินริมทางหลวงหมายเลขไถ 11
เนื้อเรื่อง‧เติงฮุ่ยฉุน ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧อัญชัน ทรงพุทธิ์
กุมภาพันธ์ 2020
被中央山脈、海岸山脈、太平洋包圍的花東地區,素來被稱作台灣的「後山」,得天獨厚享受大自然的抱擁。這裡收容來自各方的人,只因為他們找到安身立命的地方,找到心的故鄉。
在台11線上,我們以都蘭為起點,慢遊北上,最終停駐在長濱,一路聆聽在地「原住民」、「新移民」的故事。
เขตพื้นที่ฮัวตง (花東) ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเกาะไต้หวัน เนื่องจากอยู่ด้านหลังของแนวเทือกเขาตอนกลาง (中央山脈 : จงยังซันม่าย) ที่ทอดเป็นแนวตั้งอยู่กลางเกาะจากเหนือถึงใต้ ทำให้เขตฮัวตงได้รับสมญานามว่า ดินแดน “หลังเขา” ประกอบกับมีเทือกเขาริมฝั่งทะเลกับมหาสมุทรแปซิฟิกโอบล้อมเอาไว้ ทำให้ดินแดนแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยธรรมชาติอันสวยงาม กลายเป็นแหล่งพักพิงของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ พวกเขาค้นพบสถานที่ที่เหมาะแก่การพำนักอาศัย ทำมาหาเลี้ยงชีพ และเป็นบ้านเกิดของจิตวิญญาณ
เราเริ่มต้นการเดินทางบนทางหลวงหมายเลขไถ 11 จากตำบลตูหลาน มุ่งขึ้นเหนือสู่จุดหมายปลายทางที่ตำบลฉางปิน ตลอดทางได้มีโอกาสรับฟังเรื่องราวของชนพื้นเมือง และเหล่าผู้ย้ายถิ่นฐานใหม่
ที่หมู่บ้านตูหลาน (都蘭村) จะพบเห็นชาวต่างชาติจำนวนมากเดินเอ้อระเหยลอยชายอยู่ทั่วไป ตามท้องถนนมีคนแบกกระดานโต้คลื่นเตรียมตัวไปชายหาดเดินผ่านไปมาไม่ขาดระยะ สตูดิโอของศิลปินซุกตัวอยู่ในซอย ชนพื้นเมืองเผ่าอามิสใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างปรองดอง และนี่คือสิ่งที่ดึงดูดให้คุณจางจิ่งหรู (張景如) ซึ่งมีชื่อภาษาพื้นเมืองว่า Avi เจ้าของแบรนด์สบู่ทำมือ “9 Dulan Soap” ย้ายครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่ตูหลาน
9 Dulan Soap : สร้างความสุขในวัยเด็กให้ลูก
Avi เล่าว่า “ย้ายมาอยู่ที่ตูหลานเพราะอยากให้ลูกได้เติบโตขึ้นท่ามกลางธรรมชาติ” เธอบอกว่า ที่มีลูกเพราะเป็นคนรักเด็ก แต่เพราะยุ่งอยู่กับหน้าที่การงาน วันธรรมดาต้องเอาลูกไปฝากไว้ที่บ้านพี่เลี้ยงเด็ก ได้ทำหน้าที่พ่อแม่เฉพาะในช่วงวันหยุด
Avi อดถามตัวเองไม่ได้ว่า “นี่คือสิ่งที่เราอยากจะมอบให้แก่ลูกหรือ” ในที่สุดเธอกับสามีคือคุณซุนเหว่ยจื้อ (孫偉智ชื่อภาษาพื้นเมืองว่า Dagula) ตัดสินใจย้ายจากไทเปมาอยู่ที่ตูหลาน ก่อนที่ลูกสาวจะถึงวัยเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา
สองสามีภรรยาจัดเรียงลำดับความสำคัญของชีวิตใหม่ จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับการหาเงินเป็นอันดับแรก ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นครอบครัวต้องมาเป็นก่อน Dagula เคยเรียนวิธีทำสบู่กับครูสอนทำสบู่ของบริษัทนำเชา เคมีคัล อินดัสเตรียล จำกัด (Namchow Chemical Industrial Co., Ltd.) และใช้เวลาสองปีในการคิดค้นวิจัยวิธีการทำสบู่ ที่เป็นลิขสิทธิ์ของตนเอง โดยได้ผนวกข้อดีของวิธีทำสบู่แบบกวนเย็น (coldprocess, CP) และแบบกวนร้อน (Hot Process Soap, HP) เข้าด้วยกัน แล้วเติมไอเดียของ Avi ที่ต้องการผสมผสานวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง โดยใช้สารสกัดจากหมาก ใบยาสูบ และข้าวฟ่าง มาเป็นส่วนผสมของสบู่ จนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์สินค้า ที่พวกเขาให้ชื่อว่า “9 Dulan Soap” ซึ่งสะท้อนเรื่องราวการโยกย้ายครอบครัว มาอยู่ที่ตูหลานของพวกเขานั่นเอง
ในวัฒนธรรมของชนเผ่าอามิส หมาก ใบยาสูบ และข้าวฟ่าง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ติดต่อกับวิญญาณบรรพบุรุษ แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ถูกทำให้แปดเปื้อน ด้วยความที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คนทั่วไปเกี่ยวกับหมาก บุหรี่และสุรา Dagula จึงส่งสบู่ทำมือของเขาไปตรวจสอบ ผลปรากฏว่า สบู่ทำมือของเขาสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หมากกับใบยาสูบมีสรรพคุณช่วยลดแบคทีเรีย ข้าวฟ่างช่วยบำรุงและทำให้ผิวขาวขึ้น แก้ปัญหาด้านผิวพรรณให้แก่ผู้คนจำนวนมาก ผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวทำให้ทุกครั้งที่แนะนำผลิตภัณฑ์ของตนเองแก่ลูกค้า Avi จะรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เธอบอกว่า “เพราะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ทำให้เรามีความมั่นใจยิ่งขึ้น”
ปัจจุบันสิ่งที่ครอบครัวนี้ตั้งใจทำมากที่สุดคือ การใช้ชีวิต Avi กล่าวติดตลกว่า “ความจริงแล้วเราไม่ได้เปิดร้านทำกิจการอย่างจริงจัง” สิ่งสำคัญสำหรับชีวิตในช่วงเวลานี้คือ พาลูกไปโต้คลื่น ปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของชุมชน และศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชนพื้นเมือง
บนเส้นทางการกลับคืนสู่ถิ่นกำเนิด ได้สร้างสรรค์รูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม Dagula บอกว่า “ผมรู้สึกขอบคุณความล้มเหลวในอดีต เพราะมันเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผมเกิดความกล้าหาญ”
“ฉันจะชมตัวเองว่า เก่งมาก” Avi กล่าวด้วยความรู้สึกที่ดื่มด่ำและตบท้ายว่า ขอบคุณความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิต และความเพียรพยายามของตัวเอง
Siki Sufin : ติดปีกเหินเวหา พาคนในเผ่ากลับบ้าน
จากถนนสายเล็กๆ หน้าร้าน 9 Dulan Soap หากค่อยๆ ปล่อยให้จักรยานไถลลงเนินไปเรื่อยๆ จะพบกับโรงงานน้ำตาลซินตง (新東糖廠) ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ซึ่งเราได้แวะไปเยี่ยมพบศิลปินนักแกะสลักไม้ชาวอามิสที่ชื่อว่า Siki Sufin
เรื่องราวของ Siki สะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบและความเหลวแหลกของประวัติศาสตร์
Siki เคยฝึกเทคนิคการแกะสลักไม้เป็นระยะเวลาสั้นๆ กับ Rahic Talif ศิลปินนักแกะสลักไม้ ซึ่งเป็นชนพื้นเมือง เมื่อเขากลับมาอยู่ที่ตูหลาน ได้หางานทำและใช้เวลาว่างสร้างสรรค์ผลงาน โดยใช้ไม้ลอยทะเลเป็นวัตถุดิบ เพื่อถ่ายทอดตำนานและเทพนิยายของชนเผ่าอามิส
ผลงานการแกะสลักของ Siki จะไม่มีการขัดผิวภายนอกให้เรียบสวย เขาบอกว่า “ผมชอบเหลือร่องรอยของเลื่อยยนต์เอาไว้” เพื่อให้ผู้ชมรับรู้แนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานได้โดยตรง
เมื่อกลับสู่ถิ่นกำเนิด เขาพบว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านบางคน แม้จะมีเค้าโครงหน้าที่คมเข้มตามแบบชาวอามิส แต่กลับพูดภาษาจีนกลาง ซึ่งขัดกับความรู้สึกและทำให้เขางุนงง Siki เที่ยวสอบถามไปทั่ว ซึ่งนำไปสู่การขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ ที่เกี่ยวกับวีรกรรมของกลุ่มทหารอาสาสมัคร Takasago ที่ถูกปกปิดไว้เป็นเวลาเนิ่นนาน
ในอดีตเมื่ออำนาจการปกครองไต้หวันถูกเปลี่ยนมือ ผู้กุมอำนาจการปกครองจะเกณฑ์ชนพื้นเมือง ไปสู้รบในสมรภูมิ แต่เมื่อสงครามยุติลง พวกเขากลับถูกทอดทิ้งอย่างไม่ไยดี มนุษย์ไม่เคยทบทวนประวัติศาสตร์ เรื่องราวทำนองเดียวกันนี้ เกิดขึ้นกับ “ทหารเก่าไต้หวัน” ในหมู่บ้าน
คนที่รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นมีน้อยมาก Siki จึงได้ถ่ายทำเป็นภาพยนตร์สารคดี และจัดตั้งคณะละครเวที เพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ และจดจำเรื่องราวดังกล่าวมากขึ้น
เขาได้หยิบเอาเทพนิยายของชนเผ่าอามิส ที่กล่าวถึงคนในเผ่าที่ไปเสียชีวิตในต่างแดน สามารถขอให้วิญญาณของบรรพบุรุษมอบปีกให้แก่เขา 1 คู่ เพื่อจะได้พาดวงวิญญาณของตน โบยบินกลับสู่ถิ่นกำเนิด ด้วยเหตุนี้เอง Siki จึงได้นำไม้ลอยทะเลมาแกะสลักเป็นปีกคู่หนึ่ง โดยหวังว่าปีกคู่นี้จะช่วยนำดวงวิญญาณของคนในเผ่า ที่จบชีวิตในต่างแดนกลับสู่บ้านเกิด
ศิลปินทุ่มเทเวลาชั่วชีวิตให้กับการรังสรรค์ผลงาน หวังจะช่วยปลุกจิตสำนึกของผู้คนในสังคม ให้ใส่ใจและทบทวนเรื่องราวที่เคยผิดพลาด Siki บอกว่า “หากมีกำลังเพียงพอ อยากจะช่วยสร้างอนุสรณ์รำลึกถึงคนเหล่านี้ที่แหลมตูหลาน เพื่อให้เป็นที่พำนักร่วมกันของพวกเขา”
ทิวทัศน์อันงดงามสองข้างทางที่ปั่นผ่าน
ปั่นต่อไปตามเส้นทางที่มุ่งขึ้นเหนือ เราจะไปชมสะพานตงเหอ ที่พาดข้ามแม่น้ำหม่าอู่คู (馬武窟溪) ณ จุดที่ไหลลงทะเล ซึ่งมี 2 แห่ง เป็นสะพานเก่ากับสะพานใหม่ และต่างมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง สะพานใหม่เป็นสีแดง ให้ความรู้สึกที่มั่นคงแข็งแรงและทันสมัย สะพานเก่าสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1930 เพื่อให้สอดรับกับสภาพภูมิประเทศของสองฝั่งแม่น้ำ ตอม่อด้านเหนือของสะพานถูกออกแบบเป็นรูปครึ่งวงกลม ส่วนด้านใต้ใช้เสาค้ำไว้ ทำให้รูปทรงของสะพานสองด้านต่างกันโดยสิ้นเชิง
เส้นทางจักรยานที่อยู่ในละแวกใกล้ๆ กัน มีชื่อที่ฟังแล้วชวนให้ผู้คนสนใจ นั่นก็คือ “เส้นทางจักรยาน Baonon” เดิมเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลขไถ 11 สายเก่า ต่อมาถูกดัดแปลงเป็นเส้นทางจักรยาน ทิวทัศน์ของท้องทะเลที่เคียงข้างนักปั่นตลอดเส้นทาง สวยงามสุดจะพรรณนา
ออกจากทางหลวงหมายเลขไถ 11 เราเปลี่ยนเส้นทางเพื่อมุ่งไปที่หมู่บ้านเป่ยซีหลี่อั้น ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับหาดซานเซียนไถ (三仙台) ได้พบเห็นผลงานศิลปะของ Rahic Talif ศิลปินนักแกะสลักไม้ ที่นำคนในเผ่ามาร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่สะท้อนถึงธรรมเนียมการเลี้ยงแกะของชนเผ่าอามิส
เราเดินทางต่อไปยังชุมชนจงหย่ง (忠勇社區) ในตำบลฉางปิน (長濱) เพื่อชมทิวทัศน์ที่ถนนจินกัง ซึ่งเป็นถนนสายหลักของชุมชนแห่งนี้ ทุ่งนาข้าวสองข้างทางจะแปรเปลี่ยนไปตามฤดูกาล จากสีเขียวขจีค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองทอง ถนนสายนี้ทอดยาวตรงดิ่งสู่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพที่สวยงามกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา
ค้นพบอีกแง่มุมหนึ่งของตนเองที่ Sunny Buhouse
จากถนนจินกังปั่นขึ้นเนินไป ก็จะได้เห็นดวงอาทิตย์เล็กๆ มากมาย ถูกนำมาประดับประดาอยู่ตามเสาไฟฟ้าและรั้วเตี้ยๆ Sunny Buhouse คือเกสต์เฮาส์ที่ผุดไอเดียให้นักปั่นจักรยานเก็บสะสมดวงอาทิตย์เล็กๆ ตามข้างทาง เมื่อมาถึง Sunny Buhouse ที่ตั้งอยู่สุดถนน ก็จะได้โอกาสร่วมวงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิด กับเจ้าของเกสต์เฮาส์แห่งนี้
Sunny Buhouse สร้างขึ้นหลังจากที่คุณจางเนี่ยนหยาง (張念陽) กับภรรยาคือ คุณเฉินฉือปู้ (陳慈佈) ตกงานในช่วงวัยกลางคน คุณจางเนี่ยนหยางหน้าตาคล้ายกับคุณปู่ซากุระ โทโมโซ ในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง หนูน้อยจอมซ่า มารุโกะจัง ส่วนคุณเฉินฉือปู้ มีบุคลิกที่อบอุ่นเป็นกันเอง คล้ายกับเจ๊ข้างบ้าน
คุณจางเนี่ยนหยางรับราชการ 17 ปี อยู่มาวันหนึ่งเขาบอกกับตัวเองว่า “พอแล้ว” จึงตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ ไปทำงานในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ แต่เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดีส่งผลให้กิจการซบเซา 8 ปีต่อมาคุณจางเนี่ยนหยางจึงกลายเป็นคนว่างงาน ในช่วงวัยกลางคน
ดวงชะตาชักพาชีวิตของเขาให้ก้าวมาหยุดอยู่ที่ตำบลฉางปิน เมืองไถตง ด้วยการซื้อที่ดินสร้างเกสต์เฮ้าส์ และเริ่มปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น
นอกจากเปิดเกสต์เฮาส์แล้ว สองสามีภรรยายังทำโครงการฉางเฉิง (Chang Cheng Project ) โดยชื่อโครงการฉางเฉิง มาจากคำว่า “ฉางปิน” (長濱) กับคำว่า “ฮัวหยวนซินเฉิง” (花園新城) ซึ่งเป็นชุมชนที่ทั้งสองเคยพำนักอาศัยเป็นเวลายาวนาน ที่นครนิวไทเป
คุณจางเนี่ยนหยางชอบคบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูง เพื่อนฝูงแต่ละคนของเขาล้วนมีความสามารถเฉพาะตัวกันทั้งนั้น ขณะที่ครอบครัวในชนบทมักประสบปัญหาขาดแคลน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ต้นทุนทางสังคม และวัฒนธรรม เด็กๆ ไม่ค่อยมีเป้าหมายในอนาคต โครงการฉางเฉิงได้นำสองสิ่งนี้มาเชื่อมเข้าหากัน โดยสองสามีภรรยาคู่นี้หวังว่าจะอาศัยประสบการณ์ของเพื่อนๆ มาช่วยเปิดโลกทัศน์ให้แก่เด็กๆ ที่กำลังเติบโต ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิต กระตุ้นให้เด็กรู้จักวางเป้าหมายชีวิตในวันข้างหน้า
แนวคิดดังกล่าวได้รับการตอบรับจากผู้คนหลากหลายวงการ คุณหลินอี้เจี๋ย (林義傑) นักวิ่งอัลตร้ามาราธอนที่มีชื่อเสียง แสดงความประสงค์ที่จะมาช่วยฝึกการวิ่งให้แก่เด็กๆ คุณเว่ยกว่างห้าว (魏廣皓) พรีเซ็นเตอร์เครื่องดนตรีทรัมเป็ตของยามาฮ่าในไต้หวัน ขนวงแจ๊สทั้งวงมาเปิดการแสดงที่ฉางปิน นอกจากนี้ยังมีนักออกแบบทรงผม นักออกแบบท่าเต้น และผู้มีชื่อเสียงจากหลายวงการ ต่างก็หลั่งไหลเข้ามาที่ตำบลเล็กๆ แห่งนี้
มนต์เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของ Sunny Buhouse ก็คือ ทำให้แขกที่มาเยือนรู้สึกราวกับว่า ได้กลับมาถึงบ้านของตัวเอง เริ่มต้นวันใหม่ด้วยอาหารเช้า จากฝีมือของภรรยาเจ้าของเกสต์เฮาส์ ทุกคนนั่งรับประทานร่วมกันบนโต๊ะยาว พลางสนทนาพาทีกัน กว่าจะเสร็จก็มักจะกินเวลานาน 2-3 ชม. โต๊ะยาวตัวนี้จึงกลายเป็นสักขีพยานแห่งเรื่องราวชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ที่ได้โคจรมาพบกันที่นี่
คุณจางเนี่ยนหยางถนัดเรื่องสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น ทำให้คนรู้สึกไว้วางใจและกล้าเผยความในใจออกมา ส่วนเฉินฉือปู้มักสัมผัสได้ถึงจุดที่อ่อนไหวที่สุดในใจคน หลายคนตั้งใจมาที่นี่เพื่อพักผ่อน แต่กลับกลายเป็นว่ามานั่งร้องไห้ราวกับเด็กๆ
ตนย้ายมาอยู่ที่ฉางปิน 10 ปีแล้ว เฉินฉือปู้อธิบาย จากเดิมที่เคยชอบใช้ชีวิตตามลำพัง จนเดี๋ยวนี้ก็ยังคิดว่าอยู่คนเดียวสบายดี แต่อยู่กันหลายคนก็ดีเหมือนกัน ในอดีตเป็นพวกนิยมความสมบูรณ์แบบ ปัจจุบันกำลังเรียนรู้การทำให้ตนเองรู้สึกปล่อยวาง และยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
คุณจางเนี่ยนหยางเป็นนักเรียนระดับหัวกะทิตั้งแต่เด็ก อยู่ในระเบียบวินัยมาตลอดชีวิต จนถึงวันนี้แม้มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง แต่ก็ยังเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอยู่เสมอ เขามักมีคำถามในใจตลอดเวลาว่า ควรทำงานมากขึ้นอีกนิด เก็บเงินให้ได้เยอะขึ้นอีกหน่อยจะดีกว่าไหม?
ปัจจุบัน Sunny Buhouse หยุดสัปดาห์ละ 2 วัน และกำลังพยายามจะหยุดสัปดาห์ละ 3 วัน และหากมีอัตราการเข้าพักแค่ 80 % ก็เป็นที่น่าพอใจแล้ว สองสามีภรรยากล่าวด้วยความรู้สึกพอเพียง
ทัศนคติเช่นนี้ ความรู้สึกแบบนี้ เข้ากันได้ดีกับวิถีชีวิตของผู้คนในแถบชายฝั่งตะวันออกของไต้หวัน และเป็นความบังเอิญที่สุดแสนจะลงตัวจริงๆ