จับเข่าคุยคนดัง : ชายหาดจินจุนอันเจิดจรัส
พิมพ์เขียวไถตงของเหยียนฉางโซ่วและเจียงเสียนเอ้อ
เนื้อเรื่อง‧เซี่ยอี๋ถิง ภาพ‧หลินเก๋อลี่ แปล‧กฤษณัย ไสยประภาสน์
สิงหาคม 2020
提及台東,許多熱血的活動不斷閃過腦海:池上藝術季、金樽衝浪賽、鹿野熱氣球嘉年華。原本「好山、好水、好無聊」的偏鄉形象,經過政府導入設計思維,以及民間團體長期駐點,台東已經蛻變為國際知名的旅遊城市。
除了觀光實力,台東也蘊含豐富的文化能量。嚴長壽創立的公益平台文化基金會,多年來致力挖掘並培養花東在地人才;2008年移居台東的國際級藝術家江賢二,在金樽規劃了一座藝術園區,未來除了展示自己畢生的創作,還計劃邀請音樂家與文學家駐村,希望更多創作者能在台東的大自然找到靈感。
เมื่อกล่าวถึงไถตง ภาพกิจกรรมต่างๆ ที่เต็มไปด้วยความคึกคักก็แล่นเข้ามาในสมองอย่างไม่ขาดสาย ทั้งเทศกาลศิลปะฉือซ่าง การแข่งขันกระดานโต้คลื่นที่หาดจินจุน และเทศกาลบอลลูนตำบลลู่เหย่ ทำให้ภาพลักษณ์เดิมๆ ของชนบทที่ได้รับการขนามนามว่า “เขาสวย น้ำใส แต่เต็มไปด้วยความน่าเบื่อ” เมื่อผ่านการสรรค์สร้างออกแบบของภาครัฐและมีกลุ่มองค์กรเอกชนเข้าตั้งประจำด้วย ปัจจุบันไถตงได้แปลงโฉมกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงก้องโลกไปแล้ว
นอกจากศักยภาพด้านการท่องเที่ยวแล้ว ไถตงยังเปี่ยมล้นไปด้วยพลังแห่งวัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์ยิ่ง The Alliance Cultural Foundation ที่ก่อตั้งขึ้นโดยนายเหยียนฉางโซ่ว (嚴長壽) ได้ทุ่มเทความพยายามในการขุดค้นบุคลากรในท้องถิ่นที่ไถตงอย่างเต็มที่ ส่วนศิลปินแนวศิลปะนามธรรม (Abstract Art) ชื่อดังระดับโลกอย่างเจียงเสียนเอ้อ (江賢二 หรือ Paul Chiang) ได้ย้ายถิ่นพำนักไปยังไถตงเมื่อปีค.ศ.2008 และวางโครงการอุทยานศิลปะที่จินจุน โดยในอนาคตนอกจากจะนำเอาผลงานตลอดชีวิตออกมาจัดแสดงแล้ว ยังมีแผนการที่จะเชิญนักดนตรีและนักวรรณกรรมเข้าประจำในอุทยานศิลปะแห่งนี้ด้วย เพื่อให้บรรดาศิลปิน นักคิด และนักเขียนเหล่านี้ค้นพบแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน จากการได้สัมผัสกับธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ไถตง
เพื่อศึกษาข้อดีและศักยภาพในการพัฒนาของไถตง คุณเฉินเลี่ยงจวิน (陳亮君) บรรณาธิการใหญ่ของนิตยสารไต้หวันพาโนรามา ได้จัดงานเสวนา “จับเข่าคุยคนดัง” โดยเชิญคุณเหยียนฉางโซ่วและเจียงเสียนเอ้อมาร่วมวงสนทนาด้วยทั้งสองได้เล่าให้ฟังถึงความประทับใจและความฝันที่มีต่อไถตงของพวกเขาตลอดจนมิตรภาพอันล้ำลึกระหว่างบุคคลทั้งสอง
TP: เรียนถามท่านประธานเหยียนฉางโซ่วว่า ไถตงมีข้อดีในด้านการสร้างสรรค์ท้องถิ่นอย่างไรบ้าง?
เหยียนฉางโซ่ว: หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 1999 ผมก็ไปช่วยบูรณะฟื้นฟูกิจการท้องถิ่นที่ผูลี่ เมืองหนานโถว ผมบอกกับคนที่นั่นว่า ปลูกชาไม่ใช่จะขายแต่ใบชา แต่ยังต้องพัฒนาให้กลายเป็นห้องครัวแห่งสิ่งบำรุงกำลัง ขยายไปสู่ศิลปะแห่งชาและความเป็นชา ตอนนั้นอุโมงค์เสวี่ยซานยังไม่ได้เปิดใช้ เมืองอี๋หลานก็ยังไม่ได้พัฒนาอะไรเท่าใดนัก ผมตระเวนบรรยายไปตามที่ต่างๆ ผมบอกกับพวกเขาว่า “ขอให้พวกคุณเห็นคุณค่าและทะนุถนอมสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งบ่อน้ำแร่ ที่ราบหลานหยาง และวิวทิวทัศน์อันสวยงามที่มองไปสุดลูกหูลูกตา อย่าคิดเพียงว่าอี๋หลานเป็นเพียงสวนหลังบ้านของไทเปเท่านั้น แต่ต้องสร้างสรรค์ให้มีอัตลักษณ์ของตัวเอง” ต่อมา ที่นี่ก็วางแผนการจัดกิจกรรมเทศกาลการละเล่นพื้นบ้านของเด็กนานาชาติขึ้น ซึ่งมันเป็นเพียงวิธีการและขั้นตอนเท่านั้น เป้าหมายสุดท้ายของเราก็คือ แม้จะไม่มีเทศกาลการละเล่นพื้นบ้านของเด็ก ผู้คนก็ต้องมาเที่ยวที่อี๋หลาน
การบริหารจัดการฮัวเหลียนและไถตงก็มีหลักการและเหตุผลอย่างเดียวกัน เมื่อ 50 ปีก่อน ผมไปเป็นทหารเกณฑ์ที่เมืองฮัวเหลียน เข้าใจวัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์ของชนพื้นเมือง ส่วนที่เมืองไถตงก็เต็มไปด้วยวิวทิวทัศน์ธรรมชาติอันสวยงามที่ยังไม่ถูกทำลาย ปัจจุบันที่นี่ยังมีศิลปินและนักดนตรีชนพื้นเมือง และอาจารย์เจียงเสียนเอ้อ ในฐานะศิลปินระดับนานาชาติ ทำให้ผมคิดถึงตัวอย่างการสรรค์สร้างพื้นที่แถบทะเลเซโตะใน หรือ เซโตะไนไค (Seto Naikai) ของญี่ปุ่น ที่เดิมเป็นเพียงเกาะร้างเท่านั้น แต่เมื่อผ่านการบรรจงปรุงแต่งของศิลปินแล้ว ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง เทศกาลศิลปะที่จัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปีดึงดูดผู้คนเป็นจำนวนมาก อาจารย์เจียงเสียนเอ้อกับผมเห็นตรงกันว่า ไถตงจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกอย่างเซโตะไนไค
TP: ตอนที่อาจารย์เจียงเสียนเอ้อย้ายมาที่ไถตง สไตล์การวาดภาพได้เปลี่ยนจากสไตล์ที่เต็มไปด้วยความมืดมัวปนเศร้า ไปสู่สไตล์ที่เต็มไปสีสันสว่างสดใส ส่วนท่านประธานเหยียนฉางโซ่วก็เคยกล่าวแบบติดตลกว่า “แก่แล้วไม่เจียม” จึงอยากทราบว่า ไถตงส่งผลต่อผลงานของท่านอย่างไรบ้าง?
เจียงเสียนเอ้อ: ผลงานทั้งหมดของผม หัวใจสำคัญที่สุดก็คือแสง บางทีแสงที่ส่องออกมาเป็นแสงริบหรี่ บางครั้งเป็นแสงที่เต็มไปด้วยความอ่อนโยน บางครั้งก็สว่างไสว แต่มันล้วนส่องออกมาจากหัวใจของผมทั้งนั้น ซึ่งอาจอธิบายได้ว่า ทำไมตอนที่ผมอยู่ที่นิวยอร์ก ปารีส และไทเป จึงไม่อยากเผชิญกับโลกภายนอก ก็เป็นเพราะผมต้องการที่จะดื่มด่ำอยู่กับแสงที่ส่องออกมาจากหัวใจดวงนั้น นั่นเป็นแสงแห่งความเลื่อมใสและศักดิ์สิทธิ์ แต่พอย้ายมาอยู่ที่ไถตง ผมก็เริ่มเปิดหน้าต่างห้องแกลเลอรี มีความสุขกับแสงแดด อากาศ ทะเล และดอกหญ้าที่ไถตง นำเอาไถตงในความคิดของผมถ่ายทอดสู่ภาพวาดแห่งนามธรรม
TP: The Alliance Cultural Foundation ที่ท่านประธานเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น และอยู่ที่ไถตงมานานหลายปี ท่านจะบริหารท้องถิ่นอย่างยั่งยืนอย่างไร?
เหยียนฉางโซ่ว:เมื่อผมมองเห็นข้อดีของไถตงก็เริ่มคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อมิให้แนวความคิดในการพัฒนาแบบซีกตะวันตกของไต้หวันมาทำลายมันเพราะฉะนั้นเราจึงลงมือฟื้นฟูวัฒนธรรมในท้องถิ่น
ยกตัวอย่างเช่น ที่หาดจินจุน เมืองไถตง หน้าหนาวจะมีลมตะวันออกเฉียงเหนือที่ซัดเอาคลื่นเข้าสู่ฝั่งกลายเป็นคุณสมบัติที่เยี่ยมมากในการเล่นกระดานโต้คลื่น ดังนั้น ในช่วงเดือนพ.ย. จนถึงเดือนเม.ย. ของปีถัดไป จึงสามารถดึงดูดนักเล่นกระดานโต้คลื่นจากญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ ให้มาเล่นกระดานโต้คลื่นที่นี่ นี่เป็นข้อดีของหาดจินจุนในเมืองไถตง อย่างไรก็ดี บริเวณที่เล่นกระดานโต้คลื่นไม่มีห้องน้ำสาธารณะ ผมจึงเชิญท่านรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นมาเยี่ยมชมที่นี่ เพื่อปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เรายังพาสื่อมวลชนมาทำข่าวที่กระท่อมฝ้าย (棉麻屋) ไถตง รายงานข่าวเกี่ยวกับงานหัตถกรรมของชนพื้นเมืองอย่างหลงฮุ่ยเหมย (龍惠媚) ให้ผู้คนได้เห็นผลงานของเธอมากขึ้น ตอนนี้เธอได้กลายเป็นศิลปินประจำหมู่บ้านศิลปินที่อิตาลีและฝรั่งเศส ส่วนออเดอร์จากต่างประเทศ ก็ต้องระดมช่างจักสานหญิงในท้องถิ่นกว่า 30 คน มาร่วมแรงร่วมใจฟื้นฟูหมู่บ้านที่กำลังร่วงโรย
นอกจากการอนุรักษ์วัฒนธรรมในท้องถิ่นแล้วที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือทำให้ไถตงและฮัวเหลียนมีชื่อเสียงก้องโลกตอนนี้ที่ฉางปินเมืองไถตงก็มีร้านอาหารระดับมิชลินในเมนูมีทั้งอาหารชนพื้นเมืองและอาหารฝรั่งเศสเรายังได้เปิดโรงเรียนนานาชาติประถมและมัธยมจวินอีที่ไถตงเพื่อให้คนรุ่นใหม่ที่นี่ได้มีโอกาสเรียนภาษาอังกฤษและเชื่อมโยงกับนานาชาติซึ่งจะทำให้พวกเขามีโอกาสนำเอาทรัพยากรนานาชาติเข้าสู่ฮัวเหลียนและไถตง
TP: ตอนที่อาจารย์เจียงเสียนเอ้อ อยู่ที่ลองไอแลนด์ นิวยอร์ก เริ่มมีแนวคิดที่จะสร้างอุทยานศิลปะขึ้น แต่เมื่อกลับมาถึงไถตงความคิดนี้จึงเป็นจริง ตอนนั้นทำไมจึงคิดอยากจะตั้งอุทยานศิลปะ ลองไอแลนด์ นิวยอร์ก กับไถตงมีอะไรที่เหมือนกันบ้าง?
เจียงเสียนเอ้อ: สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองแห่งก็คือ มีคนน้อย อากาศดี วิวทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงาม ไม่มีตึกสูงระฟ้า ในยุคทศวรรษที่ 1980 ผมอาศัยอยู่ที่ฝั่งตะวันออกของ Hampton ลองไอแลนด์ ฤดูร้อนของทุกปี ผมจะต้องคิดว่าจะเปิดแกลเลอรีของผมให้ผู้คนได้เข้าชม ให้ผู้คนมีโอกาสได้สัมผัสกับความงดงามแห่งธรรมชาติ แต่เมื่อย้ายมาไทเปแล้ว เพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป จึงล้มเลิกความคิดนั้นไป ต่อมาก็มาถึงที่ไถตง สภาพแวดล้อมต่างๆ ดีมาก ตัวเองพอมีความสามารถบ้าง และได้รับอิทธิพลจากท่านประธานเหยียนฉางโซ่ว หลายๆ อย่างทำให้ผมคิดว่าควรที่จะต้องตอบแทนสังคมบ้าง
TP: ท่านประธานเหยียนฉางโซ่ว เคยกล่าวไว้ว่า ตัวเองเป็นกองหนุนของอาจารย์เจียงเสียนเอ้อ จึงใคร่ขอเรียนถามว่าท่านชื่นชมอาจารย์เจียงเสียนเอ้อ ตรงไหนบ้าง?
เหยียนฉางโซ่ว: เมื่อ 20 กว่าปีก่อน อาจารย์เจียงเสียนเอ้อกลับมาไต้หวัน เราเพิ่งรู้จักกัน แม้ตอนนั้นผมจะไม่มีความรู้เกี่ยวกับศิลปะเลย แต่ผลงานที่มีชื่อว่า “หยินหู” ของเขาทำให้ผมประทับใจมาก เมื่อผมกำลังวางแผนออกแบบโรงแรมแลนดิส ที่ซูโจว ก็พบว่าในห้องพักมีบรรยากาศสมัยใหม่เกินไป วิธีแก้ปัญหาอย่างแรกที่ผมคิดถึงก็คือ ภาพวาดของอาจารย์เจียงเสียนเอ้อ ผมก็รีบโทรศัพท์กลับมาที่ไทเป ขอยืมรูปถ่ายภาพวาด 2 ชิ้นของอาจารย์เจียงที่ชื่อว่า “หยินหู” พอแขวนไว้บนกำแพง บรรยากาศภายในห้องก็ดีขึ้นทันที ผมจึงเริ่มเข้าใจว่า ผลงานของศิลปินท่านหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลงบรรยากาศภายในห้องได้
อีกสิบกว่าปีต่อมา ผมเห็นผลงานในแต่ละช่วงจังหวะชีวิตของอาจารย์ ซึ่งในแต่ละช่วงชีวิตของอาจารย์ ก็จะมีผลงานใหม่ออกมา ศิลปินส่วนใหญ่ในชั่วชีวิตของตนจะมีเพียง 2-3 ช่วงชีวิตเท่านั้น แต่อาจารย์เจียงเสียนเอ้อมีถึง 10 กว่าช่วงชีวิตทีเดียว
เมื่อแกลเลอรีของอาจารย์เจียงเสียนเอ้อได้กลายเป็นอุทยานแกลเลอรีท่านได้ออกแบบแบ่งเขตสำหรับให้ศิลปินได้เข้าประจำในหมู่บ้านศิลปินด้วยท่านไม่ต้องการที่จะเก็บความประทับใจที่มีต่อฮัวเหลียนและไถตงไว้แต่เพียงผู้เดียวท่านหวังว่าเมื่อศิลปินเข้ามาประจำอยู่ในอุทยานแห่งนี้แล้วกลับไปบรรยากาศของไถตงจะเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์บางอย่างให้แก่พวกเขาเมื่อผมทราบแผนการดังกล่าวก็รู้สึกตื่นเต้นมากเมื่อผมกับอาจารย์ไม่อยู่ในโลกนี้แล้วแต่ความทรงจำนั้นจะต้องหยุดอยู่ที่ไถตงไปตลอดกาลเช่นเดียวกับโรงเรียนนานาชาติประถมและมัธยมจวินอีที่จะยังคงมีอยู่ตลอดไปอย่างยั่งยืนเพื่อบ่มเพาะคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น
TP: อยากให้อาจารย์เจียงเสียนเอ้อได้แบ่งปันประสบการณ์การย้ายมาที่ไถตง ชีวิตและความรู้สึกนึกคิดมีอะไรเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือไม่?
เจียงเสียนเอ้อ: ตอนนี้ผมต้องเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ มากมาย แต่ก็รับมือด้วยท่าทีแบบสบายๆ ไม่เครียด ไม่เหมือนตอนวัยรุ่นที่จะทุ่มเทความพยายามให้กับผลงานอย่างเต็มที่ ต้องจัดการทุกซอกทุกมุมของผลงานแต่ละชิ้น เมื่อเวลาผ่านไป 20-30 ปีผมจึงเรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องเนี้ยบทุกเรื่องควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติจะดีกว่า
TP: แม้ท่านประธานเหยียนฉางโซ่ว กับอาจารย์เจียงเสียนเอ้อจะอายุกว่า 70 ปีแล้ว แต่ยังคงยืนหยัดในอุดมการณ์ของตนไม่เสื่อมคลาย อยากให้ท่านทั้งสองเล่าประสบการณ์ชีวิต และให้กำลังใจแก่คนรุ่นใหม่ด้วยค่ะ
เหยียนฉางโซ่ว: ปีนี้ผมอายุ 73 ปีแล้ว ส่วนอาจารย์เจียงเสียนเอ้อก็อายุ 78 ปี เกือบขึ้นเลข 8 ทั้งสองคนและหนทางที่ก้าวผ่านมาก็เต็มไปด้วยอรรถรสทุกครั้งที่ถึงจุดเปลี่ยนก็ไม่จำเป็นต้องคิดถึงก้าวต่อไปมันจะปรากฏอยู่เบื้องหน้า
ตอนที่ผมมาที่ฮัวเหลียนใหม่ๆ ไม่เคยคิดที่จะเปิดโรงเรียนเลย มันเป็นงานที่ไม่เหมือนกับประสบการณ์ที่ผ่านมาของผมแม้แต่น้อย แต่ที่ผมกำลังทำอยู่ที่ไถตงตอนนี้ มันไม่ใช่เป็นเพียงการเชื่อมต่อสู่ศิลปะเท่านั้น หากยังกลายเป็นกองหนุนของอาจารย์เจียงเสียนเอ้ออีกด้วย เพื่อนร่วมงานทุกคนที่ The Alliance Cultural Foundation ก็ไม่รู้ว่าเราได้ก้าวมาถึงจุดที่มีบทบาทในตอนนี้ได้อย่างไรเพราะฉะนั้นผมจึงอยากจะบอกกับคนรุ่นใหม่ว่าสิ่งที่คุณจะทำนั้นอาจจะไม่ใช่เป้าหมายที่คุณได้ตั้งไว้ในตอนแรกแต่ละช่วงเวลาก็ไม่อาจที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นขอแต่เพียงให้เข้าใจข้อดีของตนและแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไรเท่านั้นสองอย่างนี้ประสมประสานกันก็จะสามารถหาหนทางสู่การพัฒนาในอนาคตได้อย่าสร้างแรงกดดันให้แก่ตนเองมากเกินไป
เจียงเสียนเอ้อ: ในช่วงวัยรุ่น ผมตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานมากเกินไป พิถีพิถันกับงานทุกชิ้น ทุกอย่างที่ทำออกมาต้องสมบูรณ์แบบที่สุด แต่ต่อมาผมก็ค่อยๆ เริ่มปล่อยวาง พูดง่ายๆ ก็คือ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ทำอะไรเลย ต้องพยายามไปในทิศทางที่คุณต้องการ เมื่อเจอปัญหาก็ต้องหาทางแก้
ผมเองก็มักจะบอกกับคนรุ่นใหม่ว่า งานศิลปะก็มาจากคน เพราะฉะนั้นเราต้องใช้ชีวิตอยู่ทุกวัน ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน แล้วจึงสร้างผลงานออกมา คือไม่ต้องวางแผนว่าจะกลายเป็นจิตรกรมือหนึ่งใน 3 ปี 5 ปี จัดงานแสดงผลงานในหอศิลป์ สิ่งเหล่านี้เรายากที่จะควบคุมหรือวางแผนได้ สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้ก็คือ ต้องใช้ชีวิตอย่างจริงจังทุกวัน สร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด คุณก็จะต้องมีผลงานอย่างแน่นอน