การเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด
เรียนภาษาจีนที่ไต้หวันแบบ Long Stay
เนื้อเรื่อง‧หลี่อวี่ซิน ภาพ‧หลินหมิ่งเซวียน แปล‧เจนนรี ตันตารา
มิถุนายน 2024
ในไต้หวัน นอกจากการเรียนในชั้นเรียนแล้ว กิจกรรมนอกชั้นเรียน และการท่องเที่ยวนอกสถานที่ ฯลฯ ล้วนเป็นวิธีที่ดีในการพัฒนาทักษะภาษาจีน
(ภาพโดยมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน)
หลังจากที่ลูคัสซึ่งเป็นชาวสวีเดนเดินทางมาไต้หวันเพื่อเรียนภาษาจีนได้ไม่นาน เขาก็มาที่ร้านเครื่องดื่มและต้องการซื้อชานมสักแก้ว ระหว่างรอคิวเขาท่องเป็นภาษาจีนอยู่ในใจ ว่า “ชานมไข่มุกหนึ่งแก้ว ขอบใจนะ” จากนั้นไม่นานก็ถึงคิวของเขา เขาสั่งเครื่องดื่มเป็นภาษาจีนด้วยประโยคที่ฝึกพูดอยู่นานอย่างครบถ้วน และคิดไปว่าเขาพูดสั่งเครื่องดื่มได้อย่างคล่องแคล่ว แต่หลังจากพนักงานที่รับออเดอร์ของเขาทักทายด้วยรอยยิ้มและถามกลับว่า "ความหวานระดับไหน น้ำแข็งเท่าไร?" ลูคัสถึงกับอึ้งนึกไม่ออกพูดไม่ได้ไปชั่วขณะ
เรื่องราวของชาวต่างชาติที่เรียนภาษาจีนและตื่นตกใจกับการใช้ภาษาด้วยคำศัพท์ที่เป็นเอกลักษณ์ของไต้หวัน ไม่ใช่เพียงเรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้น ประโยคที่ว่า “เพิ่มความร้อน” “ฉันมารับพัสดุ” ล้วนเป็นสิ่งที่ฉันเรียนรู้หลังจากที่มาอยู่ในไต้หวันแล้ว" จินอ้ายหยุน (金艾芸) ผู้มีบ้านเกิดอยู่ที่เกาหลีใต้ เล่าถึงความยากลำบากที่เธอเคยเจอ จากการไม่เชี่ยวชาญในการใช้ภาษาจีนเมื่อครั้งมาถึงไต้หวันใหม่ ๆ
เรียนภาษาจีนแบบฝังตัวที่ไต้หวัน
ในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย เธอเคยเข้าเรียนวิชาภาษาจีนในมหาวิทยาลัย เพราะเธอชื่นชอบดาราไอดอลและชอบดูซีรีส์ “แต่ไวยากรณ์และคำศัพท์ที่เราได้เรียนรู้ในเวลานั้น นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ค่อนข้างยาก” จินอ้ายหยุนกล่าว
ดังนั้นเมื่อฉันมาไต้หวันเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ฉันได้พบถึงผลกระทบของการสื่อสารเวลาที่ไปซื้ออาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต เมื่อเจอคำศัพท์ภาษาจีนที่ไม่สามารถพูดได้ ฉันต้องพึ่งภาษาอังกฤษและภาษามือเพื่อขอความช่วยเหลือ ด้วยเหตุนี้ แม้พนักงานร้านต้องการจะช่วย แต่เพราะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ จึงไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไรดี “หลังจากที่ฉันสามารถพูดภาษาจีนได้แล้ว พวกเขาต่างก็กระตือรือร้นที่จะมาช่วยฉัน” จินอ้ายหยุนกล่าว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือนอกจากการฝึกฝนในชีวิตประจำวันแล้ว สิ่งที่เธอเรียนรู้ที่ศูนย์ภาษายังวางรากฐานที่ดีให้กับเธออีกด้วย
เมื่อเปิดดูชุดหนังสือเรียนภาษาจีนร่วมสมัย ซึ่งเป็นแบบเรียนที่เธอใช้ระหว่างเรียนภาษาจีนที่ศูนย์การเรียนการสอนภาษาจีนกลาง (Mandarin Training Center) ของมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University) คุณจะพบคำศัพท์และรูปแบบประโยคที่ชาวไต้หวันใช้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนบทสนทนาในสถานการณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของภาษามักจะพบเจอในไต้หวัน
ฟางสูฮัว (方淑華) หัวหน้าฝ่ายกิจการนักศึกษาของศูนย์การเรียนการสอนภาษาจีนกลาง มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน กล่าวว่า หลังจากฝึกฝนทักษะการสนทนาขั้นพื้นฐานแล้ว ครูจะสนับสนุนให้นักเรียนไปยังสถานที่ที่พวกเขาสามารถนำไปใช้ได้จริง เช่น ตลาดกลางคืน ตลาดสด เป็นต้น การฝึกฝนด้วยวิธีดังกล่าว ทำให้นักเรียนมีโอกาสในการฝึกรับมือกับสถานการณ์ “แบบไต้หวัน” ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
แม้ว่าหลักสูตรออนไลน์จะกลายเป็นหนึ่งในรูปแบบการเรียนรู้ตามปกติ แต่ "การเรียนรู้แบบฝังตัว" ยังคงเป็นตัวเลือกแรกสำหรับนักเรียนต่างชาติส่วนใหญ่ในการเรียนรู้ภาษา
จากสถิติของศูนย์ทรัพยากรการศึกษาภาษาจีนกลางของไต้หวัน (Taiwan Mandarin Educational Resources Center) พบว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักเรียนต่างชาติที่มาเรียนในศูนย์การเรียนการสอนภาษาจีนกลางในไต้หวัน มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยนอกจากหลักสูตรภาษาจีนระดับมืออาชีพและหลักสูตรเพื่อการสอบใบรับรองแล้ว ยังพบแนวโน้มในการเลือกวิธีเรียนภาษาจีนที่ต่างออกไปจากรูปแบบเดิมอีกด้วย เช่น การสัมผัสทางวัฒนธรรมและการเยี่ยมชมนอกสถานที่ เป็นต้น
พัฒนาภาษาจีนให้เก่งขึ้นด้วยการท่องเที่ยว
“เพราะที่ประเทศไทยมีคนจำนวนมากแนะนำให้มาเรียนหนังสือและท่องเที่ยวที่นี่ ฉันเลยมาไต้หวัน” จางลู่ซือ (張露思) มาจากประเทศไทยและตั้งใจจะมาศึกษาต่อทางด้านกายภาพบำบัดที่ไต้หวัน เธอพบว่าการจะเอ่ยปากพูดภาษาจีนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เธอจึงไปเรียนภาษาจีนที่ศูนย์ภาษาก่อน
"ฉันสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน" เธอกล่าวว่าเมื่อเทียบกับหลักสูตรหนึ่งปีครึ่งในประเทศไทย ความสามารถทางภาษาจีนของเธอพัฒนาขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาสั้น ๆ ในไต้หวัน
นอกจากความช่วยเหลือจากหลักสูตรแล้ว การได้ไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ของไต้หวันในช่วงที่เว้นว่างจากการเรียน ยังทำให้จางลู่ซือพูดภาษาจีนได้คล่องขึ้นอีกด้วย เธอยังบอกด้วยว่า การเรียนภาษาจีนมีประโยชน์มากในการเดินทาง “เพราะฉันชอบไปยังสถานที่ที่ไม่เคยมีใครเขียนบทความแนะนำ ดังนั้น หลังจากที่ได้เรียนและเข้าใจภาษาจีนแล้ว ทำให้ฉันสามารถเข้าไปในตรอกซอกซอยและได้เห็นในสิ่งที่คนไทยคนอื่นไม่เคยเห็น การได้พูดคุยกับคนไต้หวัน ทำให้ฉันได้รู้เรื่องต่าง ๆ อีกมากมายที่ไม่เคยรู้มาก่อน”
แม้ว่าเธอจะเคยเดินทางไปตามเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มาแล้วหลายแห่ง แต่แผนการเดินทางในไต้หวันของจางลู่ซือ ยังไม่สิ้นสุด เธอวางแผนไว้ว่าอยากเรียนขี่มอเตอร์ไซค์และไปเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ ที่ยังไม่เคยไปเมื่อครั้งเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟ
จินอ้ายหยุน (ซ้าย) และจางลู่ซือ (ขวา) ไม่เพียงแต่เรียนภาษาจีนเท่านั้น แต่ยังเรียนกู่เจิงที่ศูนย์ภาษาอีกด้วย
ในศูนย์การเรียนการสอนภาษาจีนกลางของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในไต้หวัน นอกจากเนื้อหาในห้องเรียนแล้ว ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้คุณได้สัมผัสอีกด้วย (ภาพโดย ศูนย์การเรียนการสอนภาษาจีนกลางของมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน)
จากเรียนภาษากลายมาเป็น Long stay
การเรียนภาษาจีนทำให้ลูคัสซึ่งเคยมีอาการ “ตื่นกลัว” ในการสั่งเครื่องดื่มจากร้านขายมาแล้ว กลายมาเป็น YouTuber ที่แนะนำเกี่ยวกับไต้หวัน
เขาเปิดช่อง YouTube โดยใช้ชื่อจริงในปี ค.ศ. 2018 แนะนำการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเยี่ยมชมเซี่ยงซาน ซานเตียวหลิง ผิงซี และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ตลอดจนเส้นทางการท่องเที่ยวอย่างละเอียด ผ่านมุมมองของชาวต่างชาติ วิดีโอชุดนี้เป็นที่ชื่นชอบของหลาย ๆ คน เนื่องจากนำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว
แต่ลูคัสเปิดเผยว่า จุดประสงค์เดิมของการถ่ายคลิปเหล่านี้ เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกก่อนเดินทางออกจากไต้หวัน
เมื่อสิบกว่าปีก่อน ลูคัสเคยมาไต้หวันในฐานะเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน จึงไม่ได้ตั้งใจเรียนภาษาจีนอย่างจริงจัง และเดินทางกลับไปยังสวีเดนหลังเสร็จสิ้นภาคการศึกษา ในปีถัดมาเขาเดินทางกลับมาไต้หวันเพื่อเรียนภาษาจีนที่ศูนย์การเรียนการสอนภาษาจีนกลาง มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน เหตุผลง่าย ๆ เพียงเพราะในตอนนั้นเขามีแฟนเป็นสาวไต้หวัน
เมื่อนึกย้อนไปถึงเหตุผลในการเลือกเรียนเรียนภาษาจีน ลูคัสเผยว่า "เขาเลือกตามเพื่อนเป็นหลัก พวกเขาแนะนำอย่างไรผมก็ทำตามนั้น" แม้แต่การเดินทางเพื่อมาเรียนภาษาจีนเป็นเวลาหนึ่งปีตามที่วางแผนไว้แต่แรก ก็ยังยืดเวลาออกไปเรื่อย ๆ เพราะมีสาเหตุหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม แผนที่ไม่แน่ไม่นอนนี้ ไม่เพียงทำให้เขาสามารถพูดภาษาจีนสำเนียงไต้หวันได้อย่างคล่องแคล่วเท่านั้น ยังได้ประสบการณ์สัมผัสกับประเพณีทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของผืนแผ่นดินนี้ จากการเดินตามรอยเพื่อนของเขา
จนกระทั่งในวันหนึ่งเมื่อห้าปีที่แล้ว เมื่อลูคัสตัดสินใจเดินทางกลับสวีเดน เขาได้ซื้อกล้อง GoPro หนึ่งตัว โดยหวังว่าจะใช้กล้องตัวนี้ถ่ายวิดีโอเพื่อบันทึกเรื่องราวสถานที่โปรดของเขาในไต้หวัน และยังมอบให้เพื่อนร่วมทีมพายเรือมังกรที่รู้จักกันเมื่อครั้งเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวันด้วย "เพราะว่าผมอาศัยอยู่ในไต้หวันมา 5 ปีกว่า ใครๆ ก็ขอให้ผมแนะนำว่ามีสถานที่ใดน่าไปเที่ยวบ้าง หรือมีอาหารอะไรอร่อย ๆ บ้าง" เขาพกกล้องติดตัวไประหว่างเดินทางกลับไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ที่เขาเคยไปกับเพื่อน ๆ มาแล้ว และทำให้เขาค่อย ๆ เข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า เขาชอบไต้หวันมากแค่ไหน
เหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจที่จะอยู่ในไต้หวันต่อไป มาจากคลิปวิดีโอบนช่องยูทูบของเขา Lukas in Taiwan ซึ่งใช้ชื่อในภาษาจีนว่า “外國人介紹台灣” (แปลเป็นไทยว่าชาวต่างชาติแนะนำไต้หวัน) ตอน Teapot mountain in Jiufen ซึ่งเป็นหนึ่งในคลิปวิดีโอชุด Best one day trip from Taipei เขาทราบจากเพื่อนว่าคลิปวิดีโอดังกล่าวมียอดวิวมากกว่าสองหมื่นครั้งหลังลงคลิปเพียงสองสัปดาห์ แต่ที่ทำให้เขาแปลกใจมากยิ่งขึ้น คือข้อความที่คนไต้หวันโพสต์ไว้ใต้คลิป เขาบอกว่า "มีคนจำนวนมากเขียนคอมเมนต์ว่า วิวข้างบนนั้นสวยแบบนี้นี่เอง” ผมจึงคิดและอยากจะบอกไปว่า “ทำไมคุณถึงไม่เคยไป ที่นี่เป็นสถานที่ที่ผมชอบมากที่สุดเลยนะ” นับแต่นั้นมา เขาจึงตัดสินใจเป็น YouTuber เพื่อแนะนำไต้หวัน และทริปพำนักระยะยาวของเขาก็ถูกยืดเวลาออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ช่อง YouTube ของลูคัส “Lukas in Taiwan” ใช้ภาพธงชาติไต้หวันในรูปหัวใจเป็นโลโก้ของช่อง
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ลูคัสได้เข้าร่วมทีมเรือมังกรของมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน ทำให้เขาได้รู้จักเพื่อนมากมายที่เป็นความทรงจำที่ล้ำค่า
นักเรียนต่างชาติจัดตั้งทีมเรือมังกรเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมประจำปีที่สำคัญของศูนย์การเรียนการสอนภาษาจีนกลางมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน (ภาพโดยมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน)
Teapot Mountain ในรุ่ยฟาง เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่ลูคัสชื่นชอบมากที่สุดในไต้หวัน (ภาพโดย ลูคัส)
ใช้ชีวิตแต่ละวันในค่ายฤดูร้อนให้เต็มที่
ในคลิปวิดีโอชุด “Lukas in Taiwan” ลูคัสพาผู้ชมเพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์ที่สวยงามของไต้หวันอย่างเต็มอิ่ม ล่าสุด เขาเริ่มแนะนำชาวต่างชาติเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนมาไต้หวัน และความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ต้องรู้ ฯลฯ รวมถึงแนะนำให้รู้จักไต้หวันในด้านอื่น ๆ มากขึ้นผ่านการสนทนาพูดคุยกับชาวต่างชาติที่อยู่ในไต้หวัน
นอกจากนี้ เขายังร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าสหภาพยุโรปในไต้หวัน โดยเชิญผู้อำนวยการสำนักงานของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปในไต้หวัน มาร่วมแนะนำวัฒนธรรมและประเพณีในประเทศบ้านเกิดของพวกเขา และแบ่งปันความประทับใจที่พวกเขามีต่อไต้หวัน
หากคุณต้องการฟังภาษาจีนที่พูดได้อย่างคล่องแคล่วไหลลื่นของลูคัส คุณสามารถรับชมได้จากวิดีโอชุดที่เขาแบ่งปันประสบการณ์ของเขาในไต้หวัน แล้วจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนในการเรียนภาษาจีนให้สามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่วในระดับเดียวกับเขาล่ะ? เขาบอกว่า "จริง ๆ แล้ว หนึ่งปีก็เพียงพอแล้วสำหรับการเรียนภาษาจีนในไต้หวัน ถ้าเรียน 1-2 ปีจะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์ส่วนใหญ่ที่คุณจะต้องเผชิญในการใช้ชีวิตได้"
นอกจากนี้เขายังชี้ให้เห็นว่า คำศัพท์และบทสนทนาที่เรียนรู้จากศูนย์การเรียนการสอนภาษาจีนกลางของไต้หวันไม่เพียงแต่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ชาวต่างชาติได้สัมผัสประสบการณ์ในไต้หวันที่แท้จริงอีกด้วย “ไต้หวันไม่ได้มีเพียงไทเป และไม่ได้มีเพียงสถานที่ท่องเที่ยวใกล้แนวรถไฟฟ้าเท่านั้น” โดยเฉพาะหลังจากที่เขาสอบใบขับขี่รถจักรยานยนต์ได้แล้ว เขาสามารถไปยังสถานที่ต่าง ๆ อีกหลายแห่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก
ลูคัสบอกว่าเขาไม่เคยเรียกไต้หวันว่า "บ้าน" "ผมรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในค่ายฤดูร้อนนี้มา 13 ปี ชีวิตในแต่ละวันของที่นี่ผ่อนคลายมาก ดังนั้นผมจึงอยากอยู่ที่นี่ตลอดไป" เขากล่าว
ส่วนลูคัสจะกลับสวีเดนเมื่อไรนั้น เขาเองก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด พร้อมย้ำว่า "ผมใช้ชีวิตทุกปีเหมือนเป็นปีสุดท้าย และคิดอยู่เสมอว่า “ถ้าหากปีนี้เป็นปีที่ผมจะอยู่ในไต้หวันเป็นปีสุดท้าย ผมอยากจะทำอะไร?” นั่นก็คือ พยายามเพลิดเพลินไปกับไต้หวันให้มากที่สุด” การพำนักระยะยาวแบบ long stay ในไต้หวันยังไม่สิ้นสุด โปรดติดตามตอนต่อไป
ไต้หวันมีภูมิประเทศที่สวยงามและหลากหลาย คุณสามารถเดินทางออกจากเมืองเพื่อไปยังชนบทและจากชนบทไปสู่ป่าและภูเขาได้ภายในวันเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนประหลาดใจ (ภาพโดย จวงคุนหรู)
ธงชาติของประเทศต่าง ๆ จำนวนมากถูกแขวนประดับอยู่ในตลาดกลางคืนซือต้า พลิ้วไหวไปมาทักทายผู้คนที่เดินบนถนนอย่างคึกคัก