ปลุกเมืองเก่ามาเล่าเรื่อง
การฟื้นฟูศิลปวิทยาการย่านเมืองเก่าไทจง
เนื้อเรื่อง‧ เฉินฉวินฟาง ภาพ‧จวงคุนหรู แปล‧รุ่งรัตน์ แซ่หยาง
เมษายน 2024
สถานีรถไฟเก่าไทจง สร้างขึ้นในสมัยญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน
สถานที่ซึ่งเป็นสักขีพยานถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเมืองแห่งนี้
การนำบ้านและอาคารเก่าในย่านเมืองเก่าไทจงมาบูรณะซ่อมแซมใหม่ได้กลายเป็นกระแสนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเปิดให้บริการอีกครั้งของร้านหนังสือเก่าจงยาง การฟื้นฟูอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างพื้นที่สีเขียวบนทางรถไฟ เก่า (Taiwan Connection 1908) ราวกับเป็นการป่าวประกาศการมาถึงของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการทางวัฒนธรรมในย่านธุรกิจเก่าของไทจง พร้อม ๆ กับคืนความมีชีวิตชีวาให้แก่เมืองเก่าแห่งนี้อีกครั้ง
“ทางรถไฟนับเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวการปรับเปลี่ยนเมืองเก่าแห่งนี้ไปสู่ยุคใหม่” เก๋อหลู่เค่อ (格魯克) ผู้ก่อตั้งสมาคมไทจงเรอเนสซองส์กล่าว ไทจงได้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญหลังจากที่มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายเหนือ-สายใต้ในปี ค.ศ. 1908 โดยราวทศวรรษที่ 1920 สมาคมวัฒนธรรมไต้หวัน (Taiwanese Cultural Association: TCA) ได้เข้ามาบุกเบิกพื้นที่และสร้างร้านหนังสือจงยางขึ้น ทำให้ไทจงกลายเป็นฐานความคิดทางวรรณกรรมและศิลปะที่สำคัญของไต้หวันอีกหนึ่งบทบาท เก๋อหลู่เค่อเปิดเผยว่า ไทจงตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางของไต้หวัน หากไม่มีการขนส่งทางรถไฟแล้ว เมืองแห่งนี้ก็คงไม่สามารถที่จะเจริญรุ่งเรืองได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้ ดังนั้น การออกสำรวจเรื่องราวของเมืองเก่าไทจง จึงต้องเริ่มต้นจากเส้นทางรถไฟ
เก๋อหลู่เค่อ ผู้ก่อตั้งสมาคมไทจงเรอเนสซองส์และส่งเสริมการสร้างรางรถไฟลอยฟ้าสีเขียว ด้วยความหวังว่ารางรถไฟเก่าจะกลายเป็นสื่อกลางให้ผู้คนได้รู้จักกับเมืองไทจง
อนุรักษ์ชื่อสถานที่เก่าให้มีชีวิตใหม่
ในความทรงจำของคนไทจงรุ่นก่อน ไม่ว่าทำอะไรมักจะต้องมีสถานีรถไฟเก่าไทจงเป็นส่วนหนึ่งเสมอ ทั้งการเดินทาง ไปเรียนพิเศษ หรือนัดออกเดต สถานีรถไฟไทจงก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1917 ตัวอาคารภายนอกมีลักษณะเป็นผนังอิฐสีแดงตกแต่งด้วยแถบสีขาว ส่วนหลังคามุงด้วยกระเบื้องทองแดง และมีหอนาฬิกาตั้งอยู่ภายในตัวสถานี กลิ่นอายที่มีเสน่ห์คือความประทับใจที่สถานที่แห่งนี้ได้มอบให้กับผู้คน
สำหรับเก๋อหลู่เค่อผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟไทจงมาตั้งแต่เด็ก ทางรถไฟคือภาพที่เขาเห็นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เขาจึงมีความคุ้นเคยกับภาพของขบวนรถไฟที่กำลังวิ่งผ่านสะพานเหล็กเพื่อเข้าสู่ตัวสถานีเป็นอย่างดี เก๋อหลู่เค่อกล่าวพร้อมกับหัวเราะเบา ๆ ว่า คนท้องถิ่นเรียกสะพานเหล็กแห่งนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า “ทางรถไฟลอยฟ้า” (ออกเสียงในภาษาไต้หวันว่า hué-tshia-lōo-khang) ซึ่งถ้าถามคนไทจงว่าร้านขายบ้าหวันไปทางไหน ร้อยทั้งร้อยมักจะได้รับคำตอบในภาษาไต้หวันเช่นนี้ว่า จากหน้าสถานี คุณต้องข้าม “hué-tshia-lōo-khang” (ทางรถไฟลอยฟ้า) ไป แล้วเลี้ยวขวาที่ถนนฟู่ซิง จะเจอกับร้านขายบ้าหวัน อย่างไรก็ตาม คนไทจงไม่ได้มองว่า ทางรถไฟลอยฟ้า เป็นเพียงสะพานเหล็กแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่เสมือนเป็นทั้งแลนด์มาร์กและเป็นชื่อของสถานที่อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากสะพานเหล็กนี้หายไปเนื่องจากการปรับเปลี่ยนเส้นทางรถไฟ ความทรงจำทางวัฒนธรรมบางอย่างจะสูญหายไปด้วยหรือไม่ กลายเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของเก๋อหลู่เค่อ ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งยังเหลือเวลาอีกราวสองปีกว่าที่โครงการทางรถไฟลอยฟ้าจะแล้วเสร็จลง เก๋อหลู่เค่อเกิดความคิดที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่ริมทางรถไฟเดิมให้เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า
เพื่อนำเสนอแนวคิดของเขากับทุกคน เก๋อหลู่เค่อจึงใช้โครงการปรับปรุงทางรถไฟเก่าเป็นสวนสาธารณะระดับโลกสองแห่งมาเป็นตัวอย่าง คือ สวนสาธารณะลอยฟ้า the High Line ในนครนิวยอร์กที่ปรับปรุงจากทางรถไฟยกสูงเหนือพื้นดิน และสวนสาธารณะบนรางรถไฟเก่า Promenade Plantée (Planted Walkway) ในกรุงปารีส ที่ถูกปรับเปลี่ยนมาจากเส้นทางรถไฟสายเก่าอายุกว่า 70 ปี โดยทั้งสองโครงการต่างก็เป็นโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางใหม่ ๆ ในการทำให้ผู้คนรู้จักกับเมือง ภายใต้การร่วมแรงร่วมใจระหว่างสมาคมไทจงเรอเนสซองส์ ซึ่งก่อตั้งโดยเก๋อหลู่เค่อและองค์กรต่าง ๆ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนในพื้นที่ พวกเขาได้ร่วมกันพัฒนา “ทางรถไฟลอยฟ้าสีเขียว (Taiwan Connection 1908)” ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและเสมือนเป็นพื้นที่สีเขียวให้แก่เมืองไทจง
โครงสร้างที่อยู่ใต้รางรถไฟลอยฟ้าบนถนนหมินเซิง ไม่ได้เป็นเพียงสะพานเหล็กทั่วไปเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของภาพในชีวิตประจำวันของผู้คนที่นี่
เปิดโลกทัศน์ใหม่ ด้วยการมองเมืองผ่านรถไฟ
ทางรถไฟลอยฟ้าสีเขียวเชื่อมต่อหอศิลปะการต่อสู้ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองไทจง (ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์การ์ตูนแห่งชาติ) และโรงงานน้ำตาล Empire Sugar Factory ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมือง จากสถานีรถไฟไทจงแห่งใหม่ (ที่ถูกยกระดับเป็นทางรถไฟลอยฟ้า) เมื่อออกจากตัวสถานีและเข้าไปภายในสถานีรถไฟเก่า จะสามารถเดินลัดเลาะไปตามเส้นทางรถไฟเก่าซึ่งเชื่อมต่อไปยังทางรถไฟลอยฟ้าสีเขียวได้ ในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน เพื่อแก้ปัญหาการสร้างสถานีรถไฟบนพื้นที่ที่มีระดับความสูงไม่เท่ากัน จำต้องมีการปรับคลองลวี่ชวน (Green Waterway) และสร้างทางรถไฟลอยฟ้าที่ยกสูงขึ้นจากถนน เพื่อให้รถไฟสามารถแล่นผ่านไปมาเหนือบ้านเรือนและยานพาหนะที่วิ่งบนถนนที่อยู่ด้านล่าง สวนบนรางรถไฟนี้มีส่วนที่ยกระดับสูงเทียบเท่าตึกสองชั้นและไล่ระดับลงมาที่ความสูงราวครึ่งชั้น การเดินชมสวนแห่งนี้จึงเป็นการมองเมืองเก่าในอีกแง่มุมหนึ่งผ่านรถไฟในอดีต
การเดินเล่นชมสวนไปตามเส้นทางรถไฟลอยฟ้าสีเขียว นอกจากจะได้ชื่นชมพรรณไม้นานาชนิดที่หลากหลายตลอดเส้นทางแล้ว ยังมีผลงานศิลปะที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมไต้หวันและได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์จากรางรถไฟถูกจัดแสดงไว้เช่นกัน และในบางครั้งจะมีขบวนรถไฟแล่นผ่านเหนือศีรษะไปตามทางรถไฟยกระดับ ขณะที่ด้านล่างคลาคล่ำไปด้วยผู้คนเดินถนนและบรรดารถราที่วิ่งผ่านไปมาจำนวนมาก นับว่าเป็นอีกประสบการณ์ที่พิเศษยิ่ง
ภายใต้การนำชมของเก๋อหลู่เค่อ พวกเรามาถึงสถานีรถไฟลอยฟ้าแห่งแรกที่ตั้งอยู่บนถนนไถจง ซึ่งบริเวณนี้เสมือนเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อพื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง พื้นที่กลางเมือง (เรียกว่า จงชวี) เป็นย่านการค้าที่มีร้านค้าและคึกคัก ส่วนพื้นที่ทางตะวันตก (ซีชวี) เป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ โรงเรียน และที่พักอาศัย เป็นพื้นที่ย่านวัฒนธรรมและการศึกษา ขณะที่พื้นที่ทางตะวันออก (ตงชวี) ซึ่งอยู่ด้านหลังสถานีรถไฟนั้น ในอดีตเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลและโรงงานสุรา ด้วยเหตุนี้บริเวณดังกล่าวจึงถูกพัฒนากลายเป็นเขตอุตสาหกรรม มีโรงงานต่าง ๆ และเป็นพื้นที่ที่มีประชากรทำงานอยู่หนาแน่น
เดินเล่นไปตามเส้นทางรถไฟลอยฟ้าสีเขียว เพื่อชมทิวทัศน์ของถนนผ่านมุมมองของรถไฟในอดีต เพลิดเพลินกับพื้นที่สีเขียวในตัวเมือง
เดินเล่นไปตามรางรถไฟ
ในระหว่างที่เก๋อหลู่เค่อผลักดันเรื่องราวของทางรถไฟลอยฟ้าสีเขียว เขาได้จัดกิจกรรมเพื่อนำคนที่สนใจ “เดินเล่นตามรางรถไฟ” ไปด้วยกัน
เริ่มต้นจากด้านหลังของสถานีรถไฟ และเดินสำรวจไปตามเส้นทางรถไฟสายเก่าไทจง-หนานโถว ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญที่ใช้ในการขนส่งน้ำตาลในอดีต พื้นที่ด้านหลังของสถานีรถไฟเก่าไทจงสร้างขึ้นในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันราวปี ค.ศ. 1916 และถูกใช้เป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างไทจงและหนานโถว โดยขบวนรถไฟจะวิ่งผ่านเข้าไปยังโรงงานน้ำตาลและวิ่งไปถึงตลาดค้ากล้วย เนื่องจากกล้วยเป็นสินค้าที่มีการส่งออกในปริมาณมาก ทำให้มีบริษัทค้าผลไม้ของเอกชนเกิดขึ้นตามมาหลายแห่ง เช่น อาคารเก่าของพ่อค้าผลไม้ “เฉินเหวินหมิง” ที่อยู่บนถนนฟู่ซิง ซึ่งจากลักษณะและองค์ประกอบของตัวอาคารที่ดูงดงาม สะท้อนให้เห็นถึงภาพความเจริญรุ่งเรืองในอดีตได้อย่างไม่ยากนัก
ในขณะเดียวกัน “โรงงานฟู่ซิง 1962” ซึ่งเคยเป็นโรงงานเก่าแก่ของเซิ่งเซียงถัง บริษัทเครื่องสำอางแห่งแรก ๆ ของไต้หวัน ตั้งอยู่ในซอยแคบ ๆ แม้ว่าตัวโรงงานจะกลายสภาพเป็นโรงงานร้างอยู่พักหนึ่ง เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น แต่ปัจจุบันโรงงานเก่าแห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมหรือครีเอทีฟสเปซด้วยฝีมือของกลุ่มนักออกแบบ โครงสร้างเดิมของโรงงานได้รับการอนุรักษ์ไว้ โดยมีกลุ่มนักออกแบบมารวมตัวและเปิดร้านต่าง ๆ อยู่ภายในอาคาร ทั้งร้านดอกไม้ ร้านอาหาร ร้านแผ่นเสียงเก่า ตลอดจนร้านเสื้อผ้าโบราณ และยังมีการเปิดเป็นตลาดนักออกแบบเป็นครั้งคราวอีกด้วย โรงงานเก่ารกร้างแห่งนี้ได้รับการฟื้นคืนชีวิตขึ้นใหม่ โดยมีรางวัลระดับโลกการันตีในความสำเร็จนี้ ทั้งรางวัล Red Dot Design Award จากเยอรมนี Good Design Award จากญี่ปุ่น และ Golden Pin Design Award ของไต้หวัน
ตึกมายาฮาระ เดิมเป็นคลินิกจักษุแพทย์ทาเคคุมะ เป็นตึกที่ยังคงรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยใช้ตู้หนังสือไม้และเพดานกระจกสูง เพื่อสร้างบรรยากาศและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม
สารพัดวิธีในการเดินชมเมืองเก่า
เมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือนเมืองเก่าไทจง ส่วนใหญ่มักจะไปเยี่ยมชม Mayahara building ลิ้มรสไอศกรีมหรือซื้อสินค้าพื้นเมืองเป็นของฝาก อาคารเก่าหลังนี้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1927 โดยจักษุแพทย์ชาวญี่ปุ่นชื่อว่า ทาเคคุมะ มิยาฮาระ อาคารดังกล่าวเดิมเกือบจะถูกทุบทำลาย แต่ต่อมาบริษัท Dawn Cake ได้ซื้อไว้และทำการบูรณะฟื้นฟู โดยตัวอาคารยังคงรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างดี ตู้หนังสือไม้ถูกนำมาใช้ตกแต่งภายในอาคาร ขณะที่แสงแดดที่ลอดผ่านหลังคากระจกใสยกสูงช่วยสร้างบรรยากาศที่ดูย้อนยุคและหรูหราให้กับพื้นที่ภายใน จึงทำให้อาคารหลังนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในย่านเมืองเก่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ซูรุ่ยปี้ (蘇睿弼) อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยตงไห่ มองว่าย่านเมืองเก่าเปรียบเสมือนสาวน้อยพันหน้า ที่สามารถเดินชมภายใต้ธีมต่าง ๆ ได้หลากหลาย โดยแต่ละครั้งจะได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกัน
อาจารย์ซูรุ่ยปี้ย้ายเข้าไปอยู่ในย่านเมืองเก่าเมื่อปี ค.ศ. 2012 เพื่อดำเนินโครงการวิจัยและได้ใช้พื้นที่ว่างบนชั้น 2 ของธนาคารที่ไม่มีการใช้งานมานาน ตั้งเป็น “ฐานปฏิบัติการฟื้นฟูย่านกลางเมือง” เขาอาศัยรูปแบบการทำงานเชิงเวิร์กชอปในการตีพิมพ์สื่อท้องถิ่นหนังสือพิมพ์ “ต้าตุนเป้า” และนำคนรุ่นใหม่กลุ่มแล้วกลุ่มเล่ามาร่วมกันรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับย่านเมืองเก่าแห่งนี้ สถานที่ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์และถูกซุกซ่อนอยู่ทั่วทุกมุมของเมือง ทำให้หนังสือพิมพ์ต้าตุนเป้าแต่ละฉบับสามารถตีพิมพ์เรื่องเล่าได้ไม่ซ้ำหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสตาร์ตอัปรุ่นใหม่ ช่างฝีมือ สถาปัตยกรรม อาหาร สตรีทฟู้ด ร้านหนังสือ และร้านกาแฟ เป็นต้น ซูรุ่ยปี้เปิดเผยว่า เสน่ห์ของเมืองเก่าแห่งนี้คือ เพียงเดินไปตามตรอกซอกซอยก็จะพบทั้งร้านเก่าแก่และร้านใหม่ ๆ ที่สามารถผสมผสานระหว่างความเก่าและความใหม่ได้อย่างลงตัว ช่วยสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา
เมื่อครั้งที่ซูรุ่ยปี้เดินทางไปศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมที่ญี่ปุ่น เขาให้ความสนใจประเด็นของอาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นพิเศษ และเขาพบว่าตึกร้างในย่านเมืองเก่าไทจงต่างก็มีเรื่องราวของตนเอง
ตัวอย่างเช่น อาคาร ChangeX Beer ที่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกถนนหมินจู๋และจี้กวง ก็ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้งเช่นกัน ย้อนกลับไปในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน Seiyoken ร้านอาหารเก่าแก่สไตล์ตะวันตกชื่อดัง ได้เปิดให้บริการขึ้นที่อาคารแห่งนี้ในปี ค.ศ. 1915 และถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นโรงอาหารสาธารณะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งในปี ค.ศ. 1962 ที่นี่จึงกลายมาเป็น ChangeX Beer นับเป็น 1 ใน 4 สถานบันเทิงขนาดใหญ่ของไถจงที่มีความรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 ภายหลังอาคารดังกล่าวถูกเช่าโดยตัวแทนจำหน่ายคราฟต์เบียร์ในปี ค.ศ. 2018 และหลังจากมีการรีโนเวทใหม่โดยใช้เวลานานกว่าสามปี ที่นี่ถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับรับประทานอาหารและชมการแสดงที่ทันสมัยในปัจจุบัน ฟื้นคืนความสง่างามของอาคารเก่า อายุนับร้อยปีแห่งนี้ขึ้นอีกครั้ง
ซูรุ่ยปี้ อาจารย์ผู้หลงใหลในเสน่ห์ของเมืองเก่าไทจงและย้ายถิ่นฐานมาพักที่นี่ ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูอาคารเก่า ๆ
โรงงานฟู่ซิง ยังคงรักษาโครงสร้างของโรงงานเก่าไว้ และกลายเป็นศูนย์กลางของสุนทรียภาพวิถีชีวิตในย่านเมืองเก่าไทจง โดยมีร้านค้าที่น่าสนใจมารวมตัว
เรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่ข้ามผ่านกาลเวลา
นอกจากการขุดค้นเสน่ห์ที่น่าสนใจของเมืองเก่าโดยภาคเอกชนแล้ว ตลอดหลายปีที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามที่จะเติมเต็มความทรงจำในอดีตให้แก่เมืองแห่งนี้ โดยหันมาบูรณะและฟื้นฟูอาคารประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือศาลาว่าการไทจงสมัยญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้เมื่อเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา
ศาลาว่าการไทจงดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1912 โดยการก่อสร้างในระยะที่หนึ่งนั้นแล้วเสร็จลงในปีถัดมา จากนั้นได้มีการขยายการก่อสร้างออกไปอีกถึงห้าระยะจนถึงปี ค.ศ. 1934 ตัวอาคารแห่งนี้จึงมีขนาดใหญ่เท่ากับที่เห็นในปัจจุบัน การบูรณะซ่อมแซมอาคารที่ใหญ่อลังการและงดงามหลังนี้ เริ่มต้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 2019 ก่อนที่จะออกมาปรากฏโฉมใหม่สู่สายตาชาวโลกในปี ค.ศ. 2022
การมาเยี่ยมชมศาลาว่าการเก่าไทจงในวันนี้ สภาพอากาศช่างเป็นใจอย่างยิ่ง ภายใต้แสงแดดอันอบอุ่นในฤดูใบไม้ร่วง อาคารอิฐสีแดงตัดขอบด้วยสีขาวและหลังคาทรงมังซาด (Mansard Roof) แห่งนี้ ดูยิ่งใหญ่ตระการตาท่ามกลางท้องฟ้าสีครามและเมฆสีขาว เราบังเอิญพบกับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่ติดต่อนัดหมายเพื่อเข้าเยี่ยมชมอาคารหลังนี้ไว้ล่วงหน้า จึงใช้โอกาสนี้ร่วมเดินชมและรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ ของอาคารศาลาว่าการไปพร้อมกัน เช่น ซุ้มประตูที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเพื่ออาศัยแสงแดดในการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมีลักษณะแตกต่างออกไปจากสิ่งก่อสร้างสไตล์จีนที่นิยมสร้างอาคารให้หันหน้าไปทางทิศเหนือ ทั้งนี้การยกพื้นสูงขึ้นจากระดับผิวดินเพื่อหลีกเลี่ยงความชื้นก็เพื่อช่วยลดความรู้สึกไม่สบายที่เกิดจากสภาพอากาศที่แตกต่างกันระหว่างไต้หวันและญี่ปุ่น
เมื่อเดินขึ้นไปในห้องที่อยู่บริเวณชั้นสองของตัวอาคาร พื้นห้องถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นไม้จากเดิมที่เป็นพื้นคอนกรีต ห้องดังกล่าวได้ถูกใช้เป็นห้องรับรองมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะในขณะนั้น (ภายหลังคือจักรพรรดิโชวะ) หลังจากที่ผู้นำชมเล่าให้ฟังว่า ในวันที่มีสภาพอากาศดีสามารถมองเห็นยอดเขาอวี้ซานผ่านหน้าต่างบนระเบียงชั้นสองของตัวอาคารได้อย่างชัดเจน นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นจึงพากันไปที่หน้าต่างเพื่อมองออกไปด้านนอก พร้อมกับจินตนาการถึงภาพที่จักรพรรดิโชวะได้เห็นในสมัยนั้น
นอกจากศาลาว่าการเมืองไทจงแล้ว อาคารที่ทำการเทศบาลไทจงในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน และบ้านพักเก่าของเจ้าหน้าที่เรือนจำในสมัยนั้น ก็ได้รับการบูรณะฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพเดิมที่มีความรุ่งโรจน์ในอดีต การเดินเยี่ยมชมย่านเมืองเก่าไทจง หากให้ความสนใจและสังเกตดี ๆ จะพบเห็นร่องรอยในอดีตแฝงอยู่ทั่วทุกมุมเมือง เฉกเช่นเดียวกับที่เก๋อหลู่เค่อได้กล่าวเอาไว้ว่า หากเราเปิดเปลือกภายนอกออก คุณจะค้นพบสิ่งที่น่าสนใจมากมายหลบซ่อนอยู่ภายใน
หลังผ่านการบูรณะซ่อมแซมมาหลายปี ศาลาว่าการเก่าเมืองไทจงกลับมาฟื้นคืนความรุ่งเรืองในอดีตอีกครั้ง นักท่องเที่ยวสามารถนัดหมายเพื่อเข้าชม สัมผัสกับความโอ่อ่าตระการตาของอาคารประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้