ความตื้นตันที่ยิ่งใหญ่ดุจขุนเขาไท่ซาน
กัวซิ่งฉุน เจ้าของเหรียญทองยกน้ำหนักโอลิมปิก
เนื้อเรื่อง‧ เจิงหลันสู ภาพ‧ จวงคุนหรู แปล‧ธีระ หยาง
กุมภาพันธ์ 2022
郭婞淳在東京奧運場上,憑著挺舉133公斤,抓舉103公斤,確定拿到夢寐以求的2020年東京奧運金牌,接下來她還有一次試舉機會。
郭婞淳說:「一直在想141(公斤)!」希望在奧運場上挑戰個人創下挺舉140公斤的世界紀錄。工作人員將槓鈴調整到141公斤後,她先向裁判一鞠躬,「Aue!」的一聲為自己加油!雙手調整好握桿,努力將141公斤槓鈴搏到肩上之際,沒有成功,當下跌落在地翻滾了一下,但她還是用大姆指向裁判比了「讚」的手勢,露出燦爛的笑容。
日復一日辛苦的訓練,堅持目標衝刺的信念,在拿到金牌的一刻,現場播放著中華民國的國旗歌,看著台灣奧運會旗冉冉升起,讓世界讚嘆台灣舉重的實力。郭婞淳紅了眼眶說:「我非常激動,手發抖著拿起金牌為自己戴上。」她的勝利也為台灣帶來無比的感動。
กัวซิ่งฉุน (郭婞淳) สามารถสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมบนเวทีของโตเกียวโอลิมปิก โดยยกน้ำหนักได้ 133 กก. ในท่าคลีนแอนด์เจิร์ก และ 103 กก. ในท่าสแนตช์ จนส่งผลให้เธอสามารถคว้าเหรียญทองจากโตเกียวโอลิมปิกมาครองได้ตามที่ใฝ่ฝันอย่างแน่นอนแล้ว แต่เธอยังมีโอกาสที่จะยกน้ำหนักเพื่อสร้างสถิติใหม่ได้อีกหนึ่งครั้ง
กัวซิ่งฉุนบอกว่า “คิดมาตลอดว่าจะลองยกที่ 141 กก.” ด้วยความหวังที่จะทำลายสถิติโลกซึ่งตัวเองเป็นผู้ถือครองอยู่ที่ 140 กก. หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ปรับน้ำหนักของบาร์เบลเป็น 141 กก. เรียบร้อยแล้ว กัวซิ่งฉุนก็ก้าวขึ้นบนเวทีพร้อมกับโค้งคำนับกรรมการ ก่อนจะร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังเพื่อให้กำลังใจตัวเองว่า “โอ้ซ” มือทั้งสองข้างขยับไปมาบนบาร์เบลเพื่อหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุด จากนั้นเธอก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะยกบาร์เบลขึ้นมาทาบกับไหล่ น่าเสียดายที่เธอยกขึ้นมาไม่สำเร็จพร้อมกับล้มลงไปกลิ้งอยู่บนพื้น แต่เจ้าตัวก็ยังยกหัวแม่มือกดไลค์ให้กับกรรมการ พร้อมกับส่งรอยยิ้มอันสดใส
การฝึกซ้อมอย่างยากลำบากในทุกๆ วัน และความเชื่อมั่นที่จะพุ่งเข้าสู่จุดหมายด้วยความมุ่งมั่น ณ วินาทีที่สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ เธอได้ยินเสียงเพลงธงชาติของสาธารณรัฐจีนที่เปิดดังกระหึ่มทั่วสนามแข่งขัน พร้อมเห็นธงโอลิมปิกของไต้หวันค่อยๆ ถูกเชิญขึ้นบนยอดเสา ภาพที่ปรากฏอยู่นี้ ทำให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงความยิ่งใหญ่ของวงการยกน้ำหนักไต้หวัน กัวซิ่งฉุนกล่าวขึ้นพร้อมกับน้ำตาที่คลอเบ้าว่า “ฉันรู้สึกตื้นตันใจมาก มือที่หยิบเหรียญทองมาคล้องให้กับตัวเองถึงกับสั่นไม่หยุดเลยทีเดียว” ชัยชนะของกัวซิ่งฉุนนำเอาความตื้นตันใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุดมาให้กับไต้หวันด้วยเช่นกัน
กัวซิ่งฉุนสามารถยกน้ำหนักในท่าคลีนแอนด์เจิร์กได้ 133 กก. และท่าสแนตช์ได้ 103 กก. น้ำหนักรวม 236 กก. ทำลายสถิติโอลิมปิกจนคว้าเหรียญทองจากโตเกียวโอลิมปิกได้ในปี ค.ศ.2020 (ภาพจาก ทบวงกีฬา)
เต้นรำกับบาร์เบล
เหรียญรางวัลที่ทีมไต้หวันได้รับจากการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกในปีที่ผ่านมา (ค.ศ.2021) มีจำนวนมากเท่ากับการเข้าร่วมแข่งขัน 3 ครั้งรวมกัน ผลงานอันยอดเยี่ยมนี้ อ.หลินจิ้งเหนิง (林敬能) หัวหน้าโค้ชของทีมยกน้ำหนัก ซึ่งพาทีมชาติของไต้หวันไปเข้าร่วมแข่งขันระดับนานาชาติมามากมายหลายครั้งเห็นว่า สำหรับนักกีฬาไต้หวันแล้ว การลงแข่งในญี่ปุ่นทำให้ไม่มีปัญหาการปรับตัวเรื่องไทม์โซน ยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เหล่านักกีฬาไต้หวัน เช่น กัวซิ่งฉุน ต่างก็มีความระมัดระวังตัวเองเป็นอย่างมาก ระหว่างที่พักอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาเธอจะนำอาหารกลับมารับประทานในห้องนอนของตัวเองเท่านั้น ซึ่งนักกีฬาทั่วโลกต่างก็รู้สึกขอบคุณที่ญี่ปุ่นกล้าแบกรับความเสี่ยงจนสามารถจัดการแข่งขันโอลิมปิกได้อย่างยอดเยี่ยม และกลายเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้เหล่านักกีฬาได้แสดงฝีมือ กัวซิ่งฉุนที่เคยไปเข้าร่วมการแข่งขันมาแล้วกว่า 20 ประเทศก็บอกว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เธอชื่นชอบมาก “เพราะว่าฉันชอบกินหมี่โซบะมาก”
เมื่อเทียบกับการแข่งขันรายการอื่นก่อนหน้านี้ที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดและความพยายามที่จะคว้าชัยชนะของกัวซิ่งฉุน ในโตเกียวโอลิมปิกครั้งนี้ เธอรู้สึกผ่อนคลายกว่าจึงสวมใส่ทั้งต่างหูเก๋ไก๋และสร้อยข้อมือลงสนามแข่งขันด้วย เป็นความกลมกลืนของพลังกับความสวยงามที่สอดประสานกันอย่างลงตัว จนก้าวขึ้นสู่ระดับที่เรียกได้ว่าเป็นการ “เต้นรำกับบาร์เบล” ไปแล้ว
กัวซิ่งฉุนที่ปัจจุบันอายุ 28 ปี เริ่มฝึกฝนการยกน้ำหนักตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เธอฝึกซ้อมที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นเป่าซังในเมืองไถตงได้เพียง 1 เดือน ก็ไปเข้าร่วมแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ก่อนจะสามารถคว้าอันดับ 6 มาครอง
อ.หลินซั่งอี๋ (林尚儀) โค้ชผู้ค้นพบพรสวรรค์ของเธอเปิดเผยว่า ก่อนที่กัวซิ่งฉุนจะเข้าร่วมการแข่งขันตนก็รู้สึกว่า ตอนที่ฝึกซ้อมกรีฑานั้น กล้ามเนื้อของเธอมีพลังสูงมาก แถมยังเล่นบาสเกตบอลได้ดี แสดงให้เห็นถึงความคล่องแคล่ว โดยระบบประสาทกับกล้ามเนื้อมีการประสานทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว ราวกับว่าเธอ “เกิดมาเพื่อเล่นกีฬายกน้ำหนัก” เลยทีเดียว
ในวันเกิดปีที่แล้วของกัวซิ่งฉุน อ.หลินจิ้งเหนิง โค้ชของเธอได้มอบเค้กรูปแท่นรับเหรียญรางวัลเป็นของขวัญวันเกิด (ภาพจาก กัวซิ่งฉุน)
10 วินาทีบนเวที แลกมาด้วยเวลาฝึกฝน 10 ปี
ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนพลศึกษาสังกัดมหาวิทยาลัยไถตง กัวซิ่งฉุนได้มีโอกาสพบกับโค้ชผู้ฝึกสอนกีฬายกน้ำหนักระดับชาติ คือ อ.หลินจิ้งเหนิง (林敬能) ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นโค้ชประจำตัวผู้คอยชี้แนะในการลงแข่งระดับนานาชาติให้เธอมาตลอดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา หลังจากฝึกซ้อมกับอ.หลินจิ้งเหนิงเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง ในปี ค.ศ.2013 กัวซิ่งฉุนสามารถคว้าเหรียญทองได้ถึง 4 เหรียญจากการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์เอเชีย กีฬามหาวิทยาลัยโลก การแข่งขันกีฬาภูมิภาคเอเชียตะวันออก และการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก โดยในส่วนของเหรียญทองจากการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก ถือเป็นการคว้าตำแหน่งแชมป์โลกเป็นครั้งแรกของเธอและเป็นเหรียญทองเหรียญแรกของไต้หวันในรอบ 14 ปีเลยทีเดียว
แต่เรื่องราวเบื้องหลังของเหรียญรางวัลอันทรงเกียรติเหล่านี้ ต้องแลกมาด้วยความมุ่งมั่นและอดทนของกัวซิ่งฉุนที่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของโค้ชอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด
อ.หลินจิ้งเหนิงที่มักจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับโค้ชระดับโลกอย่างสม่ำเสมอ มีคำเตือนสำหรับเหล่านักกีฬามากมายจนแทบจะเขียนเป็นหนังสือได้บอกว่า “ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์ มันเกิดขึ้นจากการเก็บสะสมด้วยความพยายาม” กิจวัตรประจำวันของเหล่านักกีฬาคือจะต้องตื่นนอนตั้งแต่ 6 โมงเช้า ก่อนจะเริ่มออกกำลังกายตอน 6 โมงครึ่งเป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง จากนั้นก็ต้องเข้าเรียน ฝึกซ้อม หยุดพัก อยู่ในค่ายฝึกซ้อมตลอดเวลา มีโอกาสกลับบ้านแค่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น อ.หลินจิ้งเหนิงยังบอกอีกว่า “คู่แข่งเป็นเสมือนมืออีกข้างหนึ่งที่ช่วยสร้างความสำเร็จให้กับเรา ดังนั้นเราต้องเก่งกว่าคู่แข่งให้ได้” นักกีฬาต้องฝึกซ้อมทุกวัน ไม่มีวันหยุดสัปดาห์ละ 2 วัน ดั่งเช่นคนอาชีพอื่น แม้แต่กัวซิ่งฉุนที่เพิ่งจะคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาครอง ยังต้องใช้เวลาช่วงวันหยุดอยู่ในศูนย์ฝึกซ้อมกีฬาแห่งชาติ
อ.หลินจิ้งเหนิงปลูกฝังความคิดให้เธอมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า “ความลำบากก็เหมือนยาบำรุง ยิ่งลำบากมากยิ่งบำรุงมาก” ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย กัวซิ่งฉุนถูกสั่งห้ามมีแฟน ห้ามดื่มเครื่องดื่มแบบสะเปะสะปะ “ห้ามปล่อยให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ให้เพิ่มน้ำหนักได้เฉพาะบนบาร์เบลเท่านั้น”
กัวซิ่งฉุนหัวเราะแล้วบอกกับเราว่า “ช่วงแรกๆ ก็มีแอบกินบ้าง แต่พอผ่านไปนานๆ เข้า ก็กลายเป็นความเคยชิน ทำให้ตอนนี้แทบไม่มีความอยากในเรื่องการรับประทานอาหารเลย” ตอนแรกเธอคิดว่าพออายุครบ 25 ปี จะมีโอกาสมีความรักกับเขาบ้าง แต่เพื่อการแข่งขัน คำสั่งห้ามมีความรักจึงถูกยืดระยะเวลาออกไปทุกปีโดยอัตโนมัติ ปีที่แล้วคำสั่งนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่เพราะต้องเตรียมตัวลงแข่งโอลิมปิก จึงทำให้ไม่มีเวลามาคิดเรื่องอื่น
กัวซิ่งฉุนอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า การยกน้ำหนักไม่ใช่กีฬาที่ใช้เฉพาะพละกำลังเท่านั้น
เปลี่ยนความสิ้นหวังให้เป็นพลัง
ในปี ค.ศ.2014 ขณะที่กัวซิ่งฉุนกำลังฝึกซ้อม เธอประสบอุบัติเหตุถูกบาร์เบลที่มีน้ำหนัก 141 กิโลกรัม ทับที่ต้นขาขวา จนทำให้กล้ามเนื้อ 70% ฉีกขาด แต่เธอก็พยายามทำกายภาพบำบัดอย่างเต็มที่ หลังจากใช้เวลาพักรักษาตัวนานถึง 4 เดือน กัวซิ่งฉุนได้กลับมาลงแข่งกีฬาเอเชียนเกมส์ที่อินชอนของเกาหลีใต้ และสามารถคว้าอันดับ 4 มาครองได้สำเร็จ
กัวซิ่งฉุนได้พูดถึงตัวเองในช่วงหลังจากได้รับบาดเจ็บว่า มันกลับทำให้เธอมองโลกในแง่ดีมากขึ้น เพราะเมื่อต้องพบกับแรงกดดัน ก็จะช่วยปรับเปลี่ยนอารมณ์และความรู้สึกให้ดีขึ้นได้ เธอกล่าวว่า “ฉันรู้สึกว่าตัวเองโชคดีมาก ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่าหรือเส้นเอ็น”
จริงๆ แล้ว ในวินาทีที่เกิดอุบัติเหตุนั้น เธอพบว่าขาของตัวเองขยับไม่ได้แล้ว ในตอนนั้น เธอรู้สึกทั้งเจ็บและหนาวมาก ช่วงที่รอรถพยาบาลอยู่นั้น เธอบอกว่า “ในใจคิดถึงแต่เรื่องร้ายๆ มากมาย” แต่กัวซิ่งฉุนได้นำเอาความรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังมาเปลี่ยนเป็นพลัง จนทำให้เธอสามารถกลับมายืนอยู่บนเส้นทางของตัวเองได้อีกครั้ง ในปี ค.ศ.2015 เธอบริจาคเงินรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันเกือบ 2 ล้านเหรียญไต้หวันให้กับโรงพยาบาลฮุ่ยหมิน (St. Camillus) ซึ่งตั้งอยู่ที่หม่ากงของเกาะเผิงหู เพื่อใช้ในการซื้อรถพยาบาลมาคอยบริการผู้ป่วยฉุกเฉินบนเกาะ โดยหวังว่าจะช่วยลดเรื่องราวอันน่าเศร้าเสียใจให้เหลือน้อยที่สุด
ในตอนนั้น นายเผิงไถหลิน (彭台臨) รองอธิบดีทบวงกีฬา ได้แนะนำให้กัวซิ่งฉุนไปเข้ารับการรักษาที่ศูนย์ปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายและจิตใจของบริษัทฉางเกิงไบโอเทคโนโลยี ทำให้เธอมีโอกาสรู้จักกับดร.หยางติ้งอี (楊定一) ซึ่งก่อนที่กัวซิ่งฉุนจะออกเดินทางไปเข้าแข่งขันในริโอโอลิมปิกเมื่อปี ค.ศ.2016 ดร.หยางติ้งอีได้ให้กำลังใจเธอว่า ต้องรู้จักแบ่งปันและรู้สึกขอบคุณ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ถูกจัดเตรียมไว้แล้ว
หลังจากที่กัวซิ่งฉุนคว้าเหรียญทองในโตเกียวโอลิมปิก เธอบอกว่า “ในตอนนั้น ฉันยังไม่ค่อยเข้าใจความหมายของประโยคนี้ แต่ประโยคที่ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ถูกจัดเตรียมไว้แล้ว มันทำให้รู้สึกมีพลังมาก และเป็นเหมือนคำบอกเล่าที่ดีที่สุดถึงชีวิตการแข่งขันยกน้ำหนักของฉัน”
ไต้หวันคือพลังที่ช่วยยกมันขึ้นมา
ในการแข่งขันริโอโอลิมปิกเมื่อปี ค.ศ.2016 กัวซิ่งฉุนคว้าได้เพียงเหรียญทองแดง สำหรับอาจารย์และลูกศิษย์ที่ตั้งเป้าหมายจะคว้าเหรียญทองมาครองให้ได้นั้น ถือเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ในชีวิตเลยทีเดียว
เมื่อกลับมาถึงไต้หวัน การฝึกซ้อมก็เริ่มขึ้นใหม่ ซึ่งกัวซิ่งฉุนได้พูดถึงการเตรียมตัวสำหรับศึกใหญ่ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกในปี ค.ศ.2017 ว่า “โชคดีที่มีรุ่นพี่คือหงวั่นถิง (洪萬庭) ฝึกซ้อมด้วยกัน พอเธอเพิ่มน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ฉันก็เพิ่มตาม ในสภาพที่ทั้งเป็นคู่แข่งและเป็นคู่ซ้อม เรียกได้ว่าฝึกซ้อมกันอย่างสนุกมากๆ” แม้ว่าทั้งคู่จะฝึกซ้อมกันจนเหนื่อยล้า และมีแรงกดดันสูงมาก จนทำให้ถึงกับกินข้าวไปร้องไห้ไป แต่ทั้งสองคนต่างก็ช่วยกันปลอบอีกฝ่าย จนทำให้เสียงร้องไห้กลายเป็นเสียงหัวเราะภายในเวลาอันรวดเร็ว
ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกเมื่อปี ค.ศ.2017 ซึ่งไต้หวันเป็นเจ้าภาพ กัวซิ่งฉุนสามารถสร้างสถิติโลกในท่าคลีนแอนด์เจิร์กด้วยน้ำหนัก 142 กิโลกรัม เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตันในระหว่างการแถลงข่าวว่า “ฉันเชื่อว่านั่นคือผลงานที่คนไต้หวันทุกคนช่วยฉันยกมันขึ้นมา” แม้แต่อ.หลินจิ้งเหนิงก็ยังกล่าวชมเธอว่า “ซิ่งฉุนเป็นนักกีฬาไต้หวันคนแรกที่แข่งขันในกีฬาซึ่งมีพิกัดน้ำหนัก และสามารถทำลายสถิติโลกได้บนแผ่นดินไต้หวัน”
ชนะทุกสนาม ปราบทุกสังเวียน
ความยากของกีฬายกน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนน้ำหนักที่มากขึ้น พร้อมทั้งโอกาสที่นักกีฬาจะประสบอุบัติเหตุก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อ 5 ปีก่อน อ.หลินจิ้งเหนิง หัวหน้าผู้ฝึกสอน ได้นำเอาระบบการตรวจสอบและวิเคราะห์ร่องรอยของบาร์เบลที่ดร.เหอเหวยหัว (何維華) อดีตผู้อำนวยการศูนย์ฝึกซ้อมกีฬาแห่งชาติเป็นผู้พัฒนาขึ้นมาใช้งาน เพื่อปรับเปลี่ยนท่วงท่าของนักกีฬาและเพิ่มความแม่นยำในกีฬายกน้ำหนัก
ปี ค.ศ.2019 ด้วยอานิสงส์จากโครงการพิชิตเหรียญทองโตเกียวโอลิมปิกของกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ประกอบกับการเข้ามามีส่วนร่วมของเจิ้งอวี้เอ๋อ (鄭玉兒) ผู้ฝึกสอนด้านกายภาพ และโจวอี้หลุน (周詣倫) นักกายภาพบำบัด เมื่อรวมตัวกับโค้ชก็กลายเป็น “ทีมงานในฝัน” เลยทีเดียว การได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันทุกเช้าค่ำ ทำให้ทีมงานรู้สึกทึ่งในตัวกัวซิ่งฉุนมาก ที่มีทั้งความทรหดอดทน ไม่ยอมแพ้ และมุมานะที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆ จนถึงกับเรียกกัวซิ่งฉุนว่าเป็น “หญิงคลั่ง” เลยทีเดียว
หลังจากพบกับความผิดหวังในริโอโอลิมปิก กัวซิ่งฉุนได้ปรับสภาพจิตใจใหม่เกี่ยวกับเป้าหมายในการคว้าเหรียญทอง โดยหันมาเน้นในการตั้งเป้าหมายว่าจะยกน้ำหนักให้ได้กี่กิโลกรัมในท่าสแนตช์และท่าคลีนแอนด์เจิร์กเป็นการทดแทน ส่งผลให้ตั้งแต่การแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์เอเชียในปี ค.ศ.2017 ไปจนถึงโตเกียวโอลิมปิกในปี ค.ศ.2021 เธอสามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้ในทุกสนามที่ลงแข่งขันรวม 10 กว่ารายการ แบบไร้เทียมทานจนส่งผลให้ชื่อเสียงของเธอโด่งดังไปทั่วโลก
การคงอยู่ของเทพธิดา
เคยคิดจะเลิกการยกน้ำหนักบ้างไหม? เธอส่ายหัวพร้อมหัวเราะแล้วบอกกับเราว่า “พูดตามตรง ไม่เคยเลยจริงๆ ไม่มีเหตุผลที่จะเลิกยกน้ำหนักด้วย”
คุณแม่ของกัวซิ่งฉุนคลอดเธอตอนที่อายุ 18 ปี โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน เธอจึงถูกคุณยายเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กๆ เพราะคุณแม่ต้องตระเวนทำงานหาเงินไปตามที่ต่างๆ จนทุกวันนี้เธอเพิ่งเคยพบหน้าคุณพ่อเพียงครั้งเดียวเท่านั้น เธอเห็นว่า การเล่นกีฬาทำให้เธอสามารถหันไปโฟกัสในเรื่องอื่น จนไม่ถูกรบกวนจากสภาพแวดล้อมในชีวิตของเธอ
กัวซิ่งฉุนซึ่งเป็นคนที่มีจิตใจดีงาม จดจำคำสั่งสอนของ อ.หลินซั่งอี๋ผู้ที่พาเธอเข้าสู่เส้นทางการยกน้ำหนักได้อย่างแม่นยำว่า “ขอเพียงเธอได้ดี ทุกคนก็จะดีตาม” ที่ผ่านมา
เธอพบว่า หลายครั้งมากที่แรงกดดันจะไปตกอยู่กับโค้ชผู้ฝึกสอน “ดังนั้นฉันต้องทำให้ดี เพื่อให้โค้ชไม่ต้องมีแรงกดดันมาก” กัวซิ่งฉุนในทุกวันนี้ นอกจากจะนำเงินรางวัลจากการแข่งขันไปบริจาคให้โรงพยาบาลเซนต์แมรี่ในไถตง รวมถึงมูลนิธิเจเนซิส (Genesis Social Welfare Foundation) แล้ว เธอยังหวังว่าเรื่องราวของเธอจะสามารถกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนด้วยเช่นกัน
สำหรับตัวเธอเองก็อยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเพื่อรับศึกใหม่ ทั้งการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในปีหน้า และโอลิมปิกครั้งต่อไปที่ปารีส “ไม่อยากให้สถิติของตัวเองถูกคนอื่นทำลาย และคิดว่าฉันยังทำได้ดีกว่านี้อีก” เราจึงหวังว่า กัวซิ่งฉุนที่บอกกับตัวเองอยู่เสมอว่า “ขอเพียงเธอได้ดี ทุกคนก็จะดีตาม” จะยังคงใช้พลังในการยกน้ำหนักของเธอ นำพาพลังบวกมาสู่ไต้หวันต่อไปอย่างไม่มีวันหมดสิ้น